June 21,2012
ชิงสจ.โคราช ๔๘ เขตระทึก ‘เพื่อไทย’ขอท้าชน‘ชาติพัฒนา’
กองเชียร์มาให้กำลังใจผู้สมัครส.อบจ.
รับสมัครส.อบจ.โคราชทั้ง ๓๒ อำเภอ รวม ๔๘ เขตวันแรกครึกครื้น ด้านกลุ่มโคราชชาติพัฒนาหวังชัยชนะทั้ง ๘ เขตอ.เมือง และอ.สูงเนิน พร้อมจัดหาผู้สมัครมาคั่นเพื่อให้ได้เบอร์ที่ต้องการ “วรรณรัตน์” ต้องการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ ในขณะที่ส.อบจ. ๒ สมัยไม่ลงสมัคร ไม่คิดสู้กับผู้รับเหมา เพราะรู้ว่าต้องแพ้ ชี้สองสมัยที่ผ่านมาไม่เคยใช้เงินซื้อเสียง แต่สมัยนี้ยากที่จะฝ่าพายุ
ตามที่สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา (ส.อบจ.) หมดวาระเมื่อวันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๕๕ ซึ่งเดิมคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดนครราชสีมา(กกต.จว.นม) กำหนดจะเปิดรับสมัครระหว่างวันที่ ๓๐ เมษายน-๔ พฤษภาคม ๒๕๕๕ และเลือกตั้งในวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๕๕ แต่เนื่องจากพบว่า ในพื้นที่อำเภอเมืองนครราชสีมา เขตเลือกตั้งที่ ๒ และเขตเลือกตั้งที่ ๕ พบว่ามีส่วนต่างของจำนวนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งของเขตที่มากที่สุดและเขตที่น้อยที่สุดตามลำดับ เกินจำนวนที่กฎหมายกำหนดไว้ว่าต้องไม่เกินร้อยละ ๑๐ จึงจำต้องมีการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ โดยเปิดให้มีการแสดงความคิดเห็นและเสนอต่อกกต.กลางเพื่อพิจารณา กระทั่งมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปเมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๕๕ โดยมี ๔๘ เขตเท่าเดิม มีส.อบจ.เขตละ ๑ คน ซึ่งต่อมากกต.ได้กำหนดวันรับสมัครเลือกตั้งระหว่างวันที่ ๑๘-๒๒ มิถุนายน ๒๕๕๕ และจะมีการเลือกตั้งในวันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๕๕
วันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๕๕ จึงเป็นวันแรกการเปิดรับสมัครเลือกตั้งส.อบจ. ที่โรงยิมเนเซียม ๒,๐๐๐ ที่นั่ง ภายในสนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐ บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก โดยผู้สมัครต่างมาถึงสถานที่รับสมัครก่อนเวลา พร้อมด้วยบรรดากองเชียร์ของผู้สมัครจาก ๓๒ อำเภอในจังหวัดนครราชสีมา กว่า ๒,๐๐๐ คน ถือป้ายรูปผู้สมัครเขตต่างๆ และส่งเสียงเชียร์กึกก้องไปทั่วโรงยิมเนเซียม โดยมีนายชวน ศิรินันท์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา และกกต.จว.นครราชสีมาทั้ง ๕ คนนำโดยพลโทอัศวิน รัชฎานนท์ ประธานกกต.นครราชสีมา และพันเอกสันธิรัตน์ มหัทธนชาติ ผอ.กต.จว.นครราชสีมา มาร่วมสังเกตการณ์ด้วยเช่นกัน รวมทั้งนายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล หัวหน้าพรรคชาติพัฒนา และส.ส.เขต ๑ นครราชสีมา พร้อมด้วยนายวัชรพล โตมรศักดิ์ ส.ส.นครราชสีมา เขต ๒ และนายประเสริฐ บุญชัยสุข ส.ส.นครราชสีมา เขต ๓ ที่เดินทางมาให้กำลังใจผู้สมัครในกลุ่มโคราชชาติพัฒนาด้วย พร้อมทั้งนายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย และลูกชายคือนายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ ส.ส.นครราชสีมา เขต ๗ พรรคเพื่อไทยที่เดินทางมาให้กำลังใจผู้สมัครที่ให้การสนับสนุนส่งลงสมัคร รวทั้งนายวิสิทธิ์ พิทยาภรณ์ ส.ส.นครราชสีมา เขต ๑๕ พรรคภูมิใจไทยด้วย
พลโทอัศวิน ประธานกรรมการการเลือกตั้งจังหวัดนครราชสีมา ให้สัมภาษณ์กับ “โคราชคนอีสาน” ถึงการเลือกตั้งครั้งนี้ว่า “ยืนยันว่าจะทำด้วยความเป็นกลาง และทุกอย่างจะอยู่ในกรอบของกฎหมาย ไม่มีการนอกลู่นอกทางเด็ดขาด ทุกอย่างมีเหตุที่ผมสามารถชี้แจงได้ ถ้าผู้สมัครส.อบจ.ไม่เข้าใจในเรื่องใด เพราะฉะนั้น สิ่งที่กกต.จังหวัดทำอยู่ในขณะนี้จะยึดกฎหมายเป็นหลัก ฝากไปถึงผู้สมัครทุกคนเรื่องการติดป้ายหาเสียงขอให้กระทำตามมาตรา ๖๐ ของกฎหมายการเลือกตั้งหลังจากนี้ในพุธที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๕๕ ทางกกต.จังหวัดจะจัดโครงการเลือกตั้งเชิงสมานฉันท์ ขึ้นที่โรงเรียนเทศบาล ๑ บูรพาวิทยากร โดยผมจะไปย้ำกับผู้สมัครอีกครั้ง เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจในเรื่องกฎหมายการหาเสียงต่างๆ หากผู้สมัครคนใดสงสัยก็ขอให้สอบถาม เพราะบางครั้งกฎหมายเลือกตั้งจะต้องตีความให้เข้าใจ บางสิ่งบางอย่างอาจจะมีการร้องคัดค้านขึ้นมา เช่นมีกรณีตัวอย่างที่เกิดขึ้นในอดีตที่ผ่านมา บางครั้งอาจจะเป็นมติของกกต.กลางที่วินิจฉัยบางเรื่อง ซึ่งผู้สมัครอาจจะไม่ทราบเพราะอ่านแต่กฎหมายการเลือกตั้งเท่านั้น ทั้งที่เป็นมติกกต.กลางที่วินิจฉัยออกมาแล้ว ผมก็จะได้ไปชี้แจงในวันนั้น
พลโทอัศวิน ซึ่งถูกร้องเรียนไปยังกกต.กลางว่าลำเอียงเข้าข้างนายสุรวุฒิ เชิดชัย ในการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีที่ผ่านมา ยกตัวอย่างถึงการขึ้นเวทีในงานพิธีต่างๆ ของผู้สมัครรับเลือกตั้งว่า “มีคำวินิจฉัยของกกต.กลางออกมาแล้วว่า ในขณะที่มีการหาเสียงเลือกตั้งนั้น ถ้าผู้สมัครได้รับเชิญให้ไปร่วมงานพิธีต่างๆ สามารถขึ้นเวทีไปบนเวทีได้ แต่ต้องไม่กระทำการสิ่งใดที่เป็นการกล่าวหาเสียงให้กับตัวเอง แต่ในการเลือกตั้งที่ผ่านมาผู้สมัครมักไม่เปิดอ่านคำวินิจฉัยนี้ หรือผู้สมัครบางคนเปิดอ่านแล้วแต่ทำเป็นไปไม่รู้ไม่ชี้ หรือทำเป็นแกล้งโง่ ทั้งที่กกต.จังหวัดได้แจกหนังสือไปแล้วช่วงที่จัดโครงการเลือกตั้งเชิงสมานฉันท์”
ผู้สมัครส.อบจ.อ.เมืองนครราชสีมา (จากซ้าย) กิติพงศ์ พงศ์สุรเวท-น.ส.พรทิพย์ บำรุงกลาง-นายจำนงค์ กันสำโรง-นายการันต์ พลฤทธิ์
อดีตรมต.คุมเข้ม
นายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล หัวหน้าพรรคชาติพัฒนา และส.ส.เขต ๑ นครราชสีมา ซึ่งเดินทางมาให้กำลังใจผู้สมัครส.อบจ.ในสังกัดกลุ่มโคราชชาติพัฒนา เปิดเผยว่า ในการทำงานเพื่อพัฒนาพื้นที่นั้น มีความจำเป็นที่จะต้องมีการประสานงานหรือบูรณาการกัน ทั้งภาคการเมืองและภาคประชาชน ซึ่งในภาคการเมืองนั้น จำเป็นต้องมีการประสานงานทั้งการเมืองระดับชาติและระดับท้องถิ่น มีการวางแผนการพัฒนาโคราชให้เป็นระบบมีทิศทางที่ชัดเจนทั้งในการจัดสรรงบประมาณต่างๆ ให้มีความสอดคล้องกัน ส่วนเรื่องการซื้อสิทธิขายเสียงก็ต้องเป็นหน้าที่ของกกต. ซึ่งผมก็ต้องการให้การเลือกตั้งมีความบริสุทธิ์ยุติธรรม โปร่งใส ไม่มีการซื้อสิทธิขายเสียง และขอฝากให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง ออกมาเลือกตั้งโดยใช้วิจารณญาณเลือกผู้ที่มีความรู้ความสามารถ มีความเหมาะสม และมีประสบการณ์มารับใช้พี่น้องประชาชนเพื่อประโยชน์สูงสุดของโคราชบ้านเอง
เมื่อถึงเวลาสมัคร ๐๘.๓๐ น. นายอภิวัตน์ พลสยม ปลัดอบจ.ในฐานะผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำองค์การบริการส่วนจังหวัดนครราชสีมา กำหนดวิธีจับสลากเข้าสมัครเป็นรายเขตเลือกตั้ง เพื่อป้องกันความสับสน เนื่องจากมีผู้สนใจมาสมัครพร้อมกันจำนวนมาก โดยอำเภอบัวลายได้ดำเนินการรับสมัครเป็นเขตแรก และปิดท้ายด้วยอำเภอบัวใหญ่เป็นเขตสุดท้าย ก่อนที่จะให้ผู้สมัครทั้ง ๔๘ เขต จาก ๓๒ อำเภอ จับสลากเลือกหมายเลขที่จะใช้ในการหาเสียงเลือกตั้ง
อำเภอเมืองนครราชสีมา มี ๘ เขตเลือกตั้ง มีส.อบจ. ๘ คน จากทั้งหมด ๘ เขตเลือกตั้ง ซึ่งในเขตเลือกตั้งที่ ๑ มีผู้สมัคร ๔ คน ได้แก่ นายกิติพงศ์ พงศ์สุรเวท กลุ่มโคราชชาติพัฒนา อดีตส.อบจ.หลายสมัย, นายจำนงค์ กันสำโรง อดีตส.จ., นางสาวพรทิพย์ บำรุงกลาง (ดร.ตุ้ย) ในนามชมรมคนโคราชรักประชาธิปไตย (พรรคเพื่อไทย) และนายการันต์ พลฤทธิ์ หรือโก๋ การันต์ นักร้องและนักจัดรายการชื่อดังในโคราชและเป็นผู้สมัครส.ท.เขต ๔ กลุ่มเพื่อประชา ปรากฏว่านส.พรทิพย์ จับสลากหมายเลขได้หมายเลข ๑ นายการันต์ได้หมายเลข ๒ นายจำนงค์ได้หมายเลข ๓ และนายกิติพงศ์ได้หมายเลข ๔ ซึ่งจากการที่นายกิติพงศ์จับได้หมายเลข ๔ ในเขตเลือกตั้งที่ ๑ ส่งผลให้ในเขตเลือกตั้งที่ ๒-๘ อ.เมืองนครราชสีมา ซึ่งเบื้องต้นมีผู้สมัครไม่ถึง ๔ คน ทางผู้สมัครกลุ่มโคราชชาติพัฒนาจะยื่นเอกสารการเลือกตั้งไม่ครบ เพราะมีความต้องการให้ผู้สมัครทั้ง ๘ เขตเลือกตั้งในอำเภอเมืองหมายเลข ๔ เหมือนกันทุกเขต โดยอ้างว่าเพื่อความสะดวกในการหาเสียง จึงจำเป็นที่จะต้องมีผู้สมัครรายอื่นมาสมัครครบ ๔ คน ซึ่งมีกระแสข่าวว่า ทางกลุ่มโคราชชาติพัฒนาต้องไปจัดหาผู้สมัครมาให้ครบ ๔ คน เพื่อให้ผู้สมัครในกลุ่มฯ ได้หมายเลข ๔
เขต ๒ อ.เมืองนครราชสีมา มีผู้สมัคร ๔ คน ได้แก่ หมายเลข ๑ นายระบิล(บอย) บำรุงกลาง น้องดร.ตุ้ย สังกัดชมรมคนโคราชรักประชาธิปไตย โดยสวมเสื้อพรรคเพื่อไทย พร้อมมีข้อความที่เป็นลายมือของนายจตุพร พรหมพันธุ์ ข้างหลังเสื้อว่า “ขอให้ประสบความสำเร็จ”, หมายเลข ๒ นายชัยรัตน์ จิตรโคกกรวด, หมายเลข ๓ นายจิรวัฒน์ จำนงค์วิทย์ และหมายเลข ๔ นายอดุลย์ อยู่ยืน อดีตส.อบจ.สมัยที่ผ่านมาในกลุ่มรักษ์โคราชของนพ.สำเริง แหยงกระโทก(หมอแหยง) แต่ครั้งนี้ย้ายมาสังกัดกลุ่มโคราชชาติพัฒนา
เขต ๓ อ.เมืองนครราชสีมา มีผู้สมัคร ๔ คน ได้แก่ หมายเลข ๑ นางสาวนันทิกา จิตศรีพิทักษ์เลิศ, หมายเลข ๒ นายจักรวุธ ไตรวัลลภ, หมายเลข ๓ นางสาวจำลอง ขอบโคกกรวด และหมายเลข ๔ นายองอาจ(โจ้) พฤกษ์พนาเวศ อดีตส.อบจ.สมัยที่ผ่านมาซึ่งเคยลงสมัครในสังกัดกลุ่มประชาธิปัตย์ แต่ครั้งนี้ย้ายมาสังกัดกลุ่มโคราชชาติพัฒนา
เขต ๔ อ.เมืองนครราชสีมา มีผู้สมัคร ๔ คน เบื้องต้นมีผู้สมัครเพียง ๓ คน คือ นายประพจน์ ธรรมประทีป อดีตส.อบจ.สมัยที่ผ่านมาสังกัดกลุ่มรักษ์โคราช แต่ครั้งนี้ลงสมัครอิสระ, นายขรรค์ชัย สุภิมารส อดีตส.อบจ.กลุ่มโคราชชาติพัฒนา ซึ่งสอบตกในสมัยที่แล้ว และนายบริพัตร กุมารบุญ อดีตส.ท.กลุ่มโคราชชาติพัฒนา ซึ่งเคยสมัครส.อบจ.ในสมัยที่แล้วแต่สอบตก ครั้งนี้ลงสมัครโดยสวมเสื้อพรรคเพื่อไทย และบอกว่าอยู่ในสังกัดร.ต.หญิงระนองรักษ์ สุวรรณฉวี นายกอบจ.นครราชสีมา จึงต้องมีผู้มาสมัครเพิ่มอีก ๑ คน เพื่อให้นายขรรค์ชัย ได้หมายเลข ๔ เป็นผลให้นายประพจน์ได้หมายเลข ๑, นายบริพัตรได้หมายเลข ๒, นายสามารถได้หมายเลข ๓ และนายขรรค์ชัยได้หมายเลข ๔
เขต ๕ อ.เมืองนครราชสีมา ซึ่งเป็นพื้นที่เดิมของกลุ่มโคราชชาติพัฒนา ครั้งนี้มีผู้สมัคร ๔ คน ได้แก่ หมายเลข ๑ นายสรายุทธ ตัณฑ์เอกคุณ, หมายเลข ๒ นายสายัณห์ ปริกจินดา, หมายเลข ๓ นายสรายุทธ ลิ้มในเมือง และหมายเลข ๔ นางสาวรัชฎา(นก) ใจกล้า อดีตส.อบจ.สมัยที่ผ่านมา กลุ่มโคราชชาติพัฒนา
เขต ๖ อ.เมืองนครราชสีมา มีผู้สมัคร ๕ คน ได้แก่ หมายเลข ๑ นายนรภัท์ ทองแสน, หมายเลข ๒ นางสาวรัตนา ชัยวงษ์, หมายเลข ๓ นางบุญเสริม กาจโคกกรวด, หมายเลข ๔ นายณัฐชัย ธิติรัตนานนท์ อดีตส.อบจ.สมัยที่ผ่านมากลุ่มโคราชชาติพัฒนา และหมายเลข ๕ นายสมศักดิ์ เสมา
เขต ๗ อ.เมืองนครราชสีมา มีผู้สมัคร ๔ คน ได้แก่ หมายเลข ๑ นายมนู ใหญ่สูงเนิน, หมายเลข ๒ นางสาวกฤษณี เลิศชัยพงษ์, หมายเลข ๓ นางสาวสุวรรณา ทองเกิด และหมายเลข ๔ นายวีระวัฒน์ มิตรสูงเนิน อดีตส.อบจ.สมัยที่ผ่านมากลุ่มโคราชชาติพัฒนา
เขต ๘ อ.เมืองนครราชสีมา มีผู้สมัคร ๔ คน ได้แก่ หมายเลข ๑ นายสมคิด ไชยณรงค์, หมายเลข ๒ นางสาวกันย์ลภัส เลิศชัยพงศ์, หมายเลข ๓ นางสาวนิภาพร เลิศชัยพงศ์ พี่น้องกับเบอร์ ๒ และหมายเลข ๔ นายสมบัติ กาญจนวัฒนา อดีตส.อบจ.สมัยที่ผ่านมากลุ่มโคราชชาติพัฒนา
ผู้สมัครกลุ่มโคราชชาติพัฒนา อ.เมืองนครราชสีมา ๘ เขต
‘โก๋’หวังคะแนนคนรุ่นใหม่
ทั้งนี้ ในส่วนของผู้สมัครหน้าใหม่ในสนามเลือกตั้งส.อบจ.นครราชสีมา นายการันต์ พลฤทธิ์ หรือโก๋ การันต์ นักร้องและนักจัดรายการชื่อดัง ซึ่งเคยลงสมัครสมาชิกสภาเทศบาลนครนครราชสีมา(ส.ท.) เขต ๔ ในสังกัดกลุ่มเพื่อประชา เปิดเผยเหตุผลการเปลี่ยนมาสมัครสนามส.อบจ.ว่า “ผมจัดรายการวิทยุมานาน มีแฟนๆ รายการกระจัดกระจายไปทั่ว จึงอยากจะให้เข้าไปทำงานเป็นปากเป็นเสียงบ้าง หลายคนก็ถามว่าทำไมถึงเลือกมาลงเดี่ยวๆ ไม่มีกลุ่มมีพรรค จริงๆ แล้วก็มีผู้หลักผู้ใหญ่หลายท่าน เช่นกลุ่มเพื่อประชา แต่ก็ไม่ได้ออกตัวเต็มๆ ในนามของกลุ่ม เพราะมาคนเดียว ซึ่งในเขตเมืองก็จะมีกลุ่มคนรุ่นใหม่ค่อนข้างเยอะ อยากขอคะแนนจากคนรุ่นใหม่ ครั้งที่แล้วเลือกตั้งส.ท.ก็พลาด แต่ผมก็ยังไม่ละความพยายาม อยากจะขอทำงานต่อไป ถ้าผมได้เป็นตัวแทนประชาชน ผมก็จะเป็นฝ่ายค้าน เพราะอยากทำงาน อยากเข้ามาดูแลผลประโยชน์ให้พี่น้องประชาชนด้วย เพราะเห็นการเมืองเดี๋ยวนี้ผมทนไม่ไหวที่จะอยู่นิ่ง เพราะผมก็เป็นประชาชนคนหนึ่งเหมือนกัน บางทีเห็นอะไรที่ไม่ดี แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะยังไม่มีสิทธิ์มีเสียงตรงนั้น แต่ถ้าวันหนึ่งเรามีสิทธิ์มีเสียงเข้าไป คิดว่าผมน่าจะนำเสนอแนวความคิดได้ และอีกอย่างผมเป็นสื่อด้วย รวมทั้งเป็นคนบันเทิงเหมือนกัน เดี๋ยวก็จะมีกลุ่มคนบันเทิงอีกมากมายที่จะเข้ามาร่วมสนับสนุนการหาเสียงด้วย”
“การหาเสียงก็จะไม่ได้เรียบๆ เหมือนนักการเมืองทั่วไป แต่จะใช้ความเป็นศิลปินของเรา แต่ไม่ใช่ไปร้องเพลงให้ชาวบ้านฟังนะ เรื่องของระบบนายทุน มันยังผูกพันกับประชาชน ผมว่าก็อยากจะใช้ความเป็นตัวเอง เข้าไปบอกพ่อแม่พี่น้องประชาชนว่า ตราบใดนายทุนยังครอบงำอยู่ บ้านเราอาจจะอยู่นิ่งอยู่กับที่ และไม่พัฒนา เพราะฉะนั้น อยากให้ตัดสินใจด้วยวิจารณญาณของตัวเอง อย่างผมก็ไม่ใช่เด็กแล้ว ดูอาจจะทำอะไรแบบวัยรุ่นคนรุ่นใหม่ คือเราต้องทำทั้งจิตใจและตัวของเราให้สดใสอยู่เสมอ เพื่อที่จะทำให้ทุกคนเห็นว่าเรายังแอ็คทีพอยู่ ไม่ใช่ปล่อยตัวให้โทรม อีกอย่างความรู้ผมก็จบปริญญาโทแล้วด้วย ก็อยากจะนำความรู้ความสามารถมาทำงาน มาพัฒนาด้วย ส่วนการซื้อสิทธิขายเสียงนั้น จริงๆ แล้วผมว่าอยู่ที่ประชาชน ตราบใดที่ประชาชนยังรับเงินซื้อเสียงอยู่ สิ่งพวกนี้มันก็ยังอยู่ตลอด แต่ถ้าเขาให้มาแล้วไม่รับ ไม่เอาเลย ไม่สนใจเลย เปลี่ยนใหม่ซะ ต่อให้เค้าทุ่มมาเท่าไร ก็ไม่มีใครรับอยู่แล้ว การเมืองก็จะเปลี่ยนไป”
เสื้อแดงสาว ‘ขอเป็นทางเลือก’
นางสาวพรทิพย์ บำรุงกลาง หรือดร.ตุ้ย ซึ่งลงสมัครในนามชมรมคนโคราชรักประชาธิปไตย และสวมเสื้อพรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า “จริงๆ แล้วคืออยากมีโอกาส เป็นทางเลือกให้พี่น้องชาวโคราชมากกว่า อยากเสนอตัวเข้ามาทำงาน ที่ใส่เสื้อพรรคเพื่อไทย พอดีว่าเป็นกลุ่มเพื่อนๆ และดูนโยบายแล้วตรงกับที่เราตั้งหวังว่าจะทำงาน แม้จะเป็นคนครบุรี แต่ก็ย้ายตามพ่อแม่มาอยู่ในเมืองตั้งแต่เรียนมัธยมต้นแล้ว และอยู่ยาวมาถึงปัจจุบัน แม้ว่ายังไม่มีประสบการณ์ทางการเมือง แต่คุณแม่เคยเป็นกำนันหญิงคนแรกของโคราช เห็นคุณแม่ทำงานด้านการเมืองช่วยเหลือชาวบ้านมาตลอด มีความรู้สึกว่าถ้าทำได้อย่างแม่ ก็คงเก่ง แต่ก็เป็นความฝันเล็กๆ ไม่ได้คิดว่าจะทำได้จริง แต่มาถึงวันนี้ทางพรรคเพื่อไทยโดยพี่สมโภชน์(ปราสาทไทย-อดีตผู้สมัครส.ส.เขต ๑ พรรคเพื่อไทย) รู้จักกับพี่สาว จึงทาบทามว่า ลองเสนอตัวทำงานให้พี่น้องชาวโคราชไหม มันน่าจะเป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ เพราะเป็นการเมืองระดับท้องถิ่น อยากใช้ความคิดและความสามารถที่มีอยู่ที่เรียนมาหรือประสบการณ์ทั้งหมด มาทำให้ดีขึ้น ส่วนนโยบายตอนนี้อยากจะเน้นเรื่อง AEC มากกว่า จะรองรับ AEC ทั้งผู้ประกอบการ ชาวบ้าน หรือพี่น้องประชาชนว่าจะมีผลกระทบด้านไหน ยังไงบ้าง ตอนนี้กำลังศึกษาอยู่ กำลังหาแนวทางว่าจะทำแบบไหนดี จริงๆ อยากทำงานแบบนักการเมืองรุ่นใหม่มากกว่า อยากเสนอว่าเราทำอะไรได้บ้าง เรามีศักยภาพหรือความสามารถทำอะไรได้บ้าง ให้พี่น้องประชาชนได้เห็นและให้โอกาส แต่จังหวะที่เราเข้าไปและจะทำได้ดีแค่ไหน คือไม่ใช่ว่าสิ่งที่เราพูดจะทำได้ทุกเรื่อง แต่จะทำให้ดีที่สุดในสิ่งที่ทำได้ ถ้าเรามั่นใจในตัวเรา และมั่นใจในทีมงาน
เมื่อถามว่า การสวมเสื้อพรรคเพื่อไทยมาลงสมัครทำให้มีความมั่นใจมากขึ้นใช่หรือไม่? นางสาวพรทิพย์ ตอบว่า “จริงๆ แล้วที่เราสวมเสื้อพรรคเพื่อไทย เรามั่นใจกับทีมพี่น้องประชาชนที่เป็นแรงสนับสนุนเพื่อไทยเดิมอยู่แล้ว แต่ตัวเราเป็นลูกหลานโคราช เราอยากให้มองการเมืองท้องถิ่นมากกว่า ว่าเราจะทำอะไรให้พี่น้องได้มากแค่ไหน” แต่สำหรับกรณีหมอแหยง(นพ.สำเริง แหยงกระโทก) ที่ใช้สัญลักษณ์พรรคเพื่อไทยแล้วแพ้การเลือกตั้งนายกอบจ.นครราชสีมานั้น อาจเพราะประชาชนในเขตเมืองไม่ชอบเสื้อแดงหรือพรรคเพื่อไทย ซึ่งเรื่องนี้นางสาวพรทิพย์ตอบว่า “ก็มีส่วน เพราะประชาชนก็มีหลายๆ ความคิด แต่ส่วนหนึ่งอาจจะเรื่องผลงานที่ทำมา เพราะท่านก็เคยทำมาแล้ว ๑ สมัย ประชาชนอาจจะอยากเปลี่ยนมากกว่า คือว่าการสวมเสื้อพรรคเพื่อไทยแล้วทำให้ไม่ได้รับเลือกตั้งอาจเป็นแค่เหตุผลเล็กๆ อยากให้มองที่ตัวบุคคลมากกว่า สำหรับการหาเสียงคงไปเดินตามชุมชน ถึงเราจะสวมเสื้อพรรคเพื่อไทย แต่เป็นการเมืองระดับท้องถิ่น ทางพรรคก็ไม่ได้ลงมาช่วยมากนัก เพียงแต่ว่าส่วนหนึ่งเราอาจจะได้คะแนนเสียงจากพี่น้องที่ชอบพรรคเพื่อไทย เคยเชียร์พรรคเพื่อไทย แต่ก็ต้องเดินเข้าไปหาพี่น้องโคราช จะทำอย่างไรให้ประชาชนชื่นชมและชอบเรา หรือรู้จักเรามากขึ้น เพราะว่าเขาไม่รู้จักเราเลย การเลือกตั้งครั้งนี้ มีน้องชายมาลงสมัครในเขต ๒ ด้วย(นายระบิล บำรุงกลาง-บอย) ซึ่งเขามีความมุ่งมั่น และตั้งหวังการทำงานทางอาชีพทางการเมืองมากๆ จึงขอฝากเลือกเบอร์ ๑ อยากขอโอกาสทำงานบ้าง อยากให้ลองให้โอกาสดู เพราะว่าเรายังไม่เคยทำงาน แต่เราเป็นเลือดใหม่มีความคิดใหม่ๆ ที่อยากทำงานเพื่อชาวโคราช และทางพรรคเพื่อไทยก็พร้อมจะสนับสนุน”
ชมรมเสื้อแดง ‘วิรัช’
กรณีที่นายสมโภชน์ ปราสาทไทย อดีตผู้สมัครส.ส.เขต ๑ นครรราชสีมา พรรคเพื่อไทย ให้ข่าวว่าพรรคเพื่อไทยจะส่งผู้สมัครส.อบจ.ครั้งนี้ให้ครอบคลุมทั้ง ๓๒ อำเภอในนามชมรมคนโคราชรักประชาธิปไตยนั้น นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย เปิดเผยกับ “โคราชคนอีสาน” ว่า “ในส่วนตัวผมนั้น ไม่ได้ส่งใครลงสมัคร ให้เขามาสมัครตามสภาพ เพียงแต่วันสมัครนั้นผมไปให้กำลังใจคนที่รู้จักกัน คนที่เคยทำงานร่วมกันมาก่อน ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นคนในพื้นที่หรือเขตเลือกตั้งของส.ส.ทัศนียาและส.ส.อธิรัช รัตนเศรษฐเท่านั้น เพราะอยู่ด้วยกันกว่า ๒๐ ปีแล้ว และก็ไม่มีการลงสมัครในชมรมอะไรทั้งสิ้น หากจะเป็นก็เป็นในนามชมรมเสื้อแดง แต่เสื้อแดงก็มีหลายกลุ่ม เป็นชมรมเสื้อแดงวิรัชก็แล้วกัน แต่ก็ไม่ได้วางฐานอะไรหรอก ถ้าวางฐานเสียงก็ต้องวางตั้งแต่เขตในเมืองแล้ว”
ในเขตเลือกตั้งต่างอำเภอ เริ่มจากอำเภอสีคิ้ว เขต ๑ มีผู้สมัคร ๒ คน หมายเลข ๑ นายสาธิต ด่านกุล อดีตผู้สมัครส.ส.นครราชสีมา ซึ่งอ้างว่าได้รับการสนับสนุนจากนายคณะวัฒน์ อังสนานิวัฒน์ อดีตส.อบจ.และอดีตประธานสภาอบจ.นครราชสีมา ซึ่งภายปัจจุบันดำรงตำแหน่งเลขานุการนายกอบจ.นครราชสีมา ส่วนหมายเลข ๒ นายศิริพงศ์ มกรพงศ์ ซึ่งมีข่าวว่าเป็นคณะทำงานของนายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.พรรคเพื่อไทย ส่วนในเขตเลือกตั้งที่ ๒ ซึ่งส.อบจ.ที่เพิ่งหมดวาระไปคือนางสาวกนกกาญจน์ ตรงจันทึก มีผู้สมัคร ๒ คนคือ หมายเลข ๑ นายเลิศชัย ธนประศาสน์ และหมายเลข ๒ นายรังษี จีระมะกร
อดีตกำนันถอยพายุเงิน
อ.คง มีผู้สมัคร ๓ คน หมายเลข ๑ นายพยุงศักดิ์ จายะภูมิ์, หมายเลข ๒ นายไกรวัจน์ จุลศิริวัฒนกุล และหมายเลข ๓ นายสุระเมษฐ์ ธนภัทร์คงโกมล ซึ่งการไม่ปรากฏตัวในวันแรกของนายประชา ฉัตรวงศ์วาน อดีตส.อบจ. ๒ สมัย ทำให้ “โคราชคนอีสาน” สอบถามไปยังนายประชาถึงสาเหตุการไม่ลงสมัครส.อบจ.ครั้งนี้ โดยได้รับการเปิดเผยว่า “ผมไม่ลงสมัครในสมัยนี้ เนื่องจากดูจากปรากฏการณ์การเลือกตั้งที่ผ่านมาในภาพรวมทั้งจังหวัดไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายกอบต. ส่วนใหญ่มีการซื้อเสียงทั้งสิ้น ซึ่งโดยส่วนตัวของผมเป็นส.อบจ.มาแล้ว ๒ สมัยไม่เคยใช้เงินซื้อเสียงเลย ใช้เพียงความนับถือศรัทธาที่พี่น้องประชาชนมีให้ แต่สำหรับการสมัครครั้งนี้ผมได้ข่าวว่ามีผู้รับเหมารายหนึ่งจะมาลงสมัครด้วย ซึ่งถ้าผมไม่ใช้ในเงินซื้อเสียงก็คงไม่ได้รับเลือกตั้งอย่างแน่นอน นอกจากนี้เพื่อนของผมบางคนยังบอกว่า คนที่จะอยู่ได้ในสังคมการเมืองต้องมีคุณสมบัติ ๓ ข้อคือ ๑.เป็นคนดี ๒.เป็นคนเก่ง และ ๓. ต้องจ่ายเงิน สมัยที่ผมสมัครส.ว.(สมาชิกวุฒิสภา) และมีการเลือกตั้งเมื่อวันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๔๙ ครั้งนั้นเลือกตั้งทั้งจังหวัดมีส.ว.ได้ ๘ คน ผมได้คะแนนมาเป็นลำดับที่ ๙ (๓๗,๖๓๓ คะแนน) คะแนนน้อยกว่าลำดับที่ ๘ เพียง ๒๖๒ คะแนนเท่านั้น ซึ่งขณะนั้นเพื่อนผมบอกว่าหมายเลขอื่นเขาจ่ายกันหัวละ ๒๐-๔๐ บาท แต่ผมได้รับแรงสนับสนุนจากส.ส.และท่านสุวัจน์(ลิปตพัลลภ) โดยคิดว่าตัวเองต้องได้อย่างน้อยก็ลำดับที่ ๖-๗ เพราะเคยไปเป็นวิทยากรบรรยายเรื่องรัฐธรรมนูญพ.ศ.๒๕๔๐ เรื่องการซื้อสิทธิ์ขายเสียง แต่ผมก็ไม่ได้รับเลือกตั้งแพ้ไปเพียง ๒๖๒ คะแนน เพราะไม่ต้องการเป็นส.ว.ที่จ่ายเงินซื้อเสียง ฉะนั้น การไม่ลงสมัครส.อบจ.ครั้งนี้ เพราะคิดว่าหากไม่ใช้เงินก็ไม่ได้รับเลือกตั้ง จึงไม่ลงสมัครดีกว่า อยู่แบบไม่มีตำแหน่งเราก็สามารถสร้างประโยชน์ให้กับประชาชนได้
อ.แก้งสนามนาง เดิมเป็นพื้นที่ของนายสุชาติ ภิญโญ แต่ภายหลังลาออกไปสมัครส.ส.นครราชสีมา พรรคเพื่อไทยและได้รับเลือกตั้ง จึงมีการเลือกตั้งซ่อมเมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๕๔ และนายอนันตศักดิ์ ดาวโคกสูง ได้รับเลือกตั้งเป็นส.อบจ.ที่เพิ่งหมดวาระ สำหรับในครั้งนี้มีผู้สมัคร ๓ คนได้แก่ หมายเลข ๑ นายอนันตศักดิ์ ดาวโคกสูง, หมายเลข ๒ นายสมชาย ภิญโญ น้องชายนายสุชาติ ภิญโญ และหมายเลข ๓ นายภูมิพัฒน์ ดวงเงิน
อ.ขามทะเลสอ เป็นพื้นที่นายกิตติ เชาวน์ ดี แต่ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองนายกอบจ.นครราช สีมา จึงส่งภริยาคือนางอัญชลี เชาวน์ดี มาลงสมัครแทนและได้หมายเลข ๑ เพราะมาสมัครในวันแรกเพียงคนเดียว
อ.ขามสะแกแสง เดิมเป็นพื้นที่ของนายชวาล(หมง) พัฒนกำชัย ส.อบจ.ที่เพิ่งหมดวาระ ซึ่งครั้งนี้ได้หมายเลข ๑ ส่วนนายพร้อมชนะ สันติกุลกิจ หมายเลข ๒
อ.พระทองคำ เดิมเป็นพื้นที่ของนายไพฑูรย์ เพ็ญจันทร์ ส.อบจ.ที่หมดวาระ ซึ่งครั้งนี้ได้หมายเลข ๒ และมีคู่แข่งหมายเลข ๑ คือนายบัณฑิต ชูชื่น
อ.บ้านเหลื่อม เดิมเป็นพื้นที่ของนายโกวิทย์ เลาวัณย์ศิริ ส.อบจ.ที่เพิ่งหมดวาระ ซึ่งครั้งนี้ได้หมายเลข ๑ และมีคู่แข่งหมายเลข ๒ คือนายจิรายุ โพธิ์นอก
อ.ปักธงชัย เขต ๑ เดิมเป็นพื้นที่ของนายศักดิ์เกษม สัตยานุชิต ส.อบจ.ที่เพิ่งหมดวาระ แต่ครั้งนี้มีข่าวจะลงสมัครนายกเทศมนตรีเมืองปัก จึงส่งลูกชายคือนายวันเกษม สัตยานุชิต มาลงสมัครแทน ได้หมายเลข ๒ และมีผู้แข่งขันอีก ๓ คนคือ หมายเลข ๑ นายภาณุ ยนต์สุข, หมายเลข ๓ นายอานุภาพ โรจน์นิรภัย และหมายเลข ๔ นายธนวัฒน์ ญาติสระน้อย
อ.ปักธงชัย เขต ๒ เดิมเป็นพื้นที่ของนายโป้ย พรหมอภิบาล ส.อบจ.ที่เพิ่งหมดวาระ ได้หมายเลข ๒ และมีผู้สมัครอีก ๒ คนคือหมายเลข ๑ นายเอนก แพปรุ และหมายเลข ๓ นายภูกิจ พันธุ์เกษม
อ.ปากช่อง เขต ๑ เดิมเป็นพื้นที่ของนาย ศรัณยพงศ์ อนิวัตกูลชัย ส.อบจ. แต่ยังไม่ปรากฏตัวไปสมัครในวันแรก แต่มีเครือญาติคือนายณัฎฐพัชร์ อนิวัตกูลชัย มาลงสมัคร ได้หมายเลข ๑ ส่วนหมายเลข ๒ คือนายเชาวลิต ทรัพย์ประเสริฐ และหมายเลข ๓ นายเทิดศักดิ์ เปียซื่อ
อ.ปากช่อง เขต ๒ เดิมเป็นพื้นที่ของนายอัฏฐกร อินทร์ศร ส.อบจ. สมัครหมายเลข ๑ ส่วนหมายเลข ๒ นายพัฒน์เชวง อภิชัยอนันต์ และหมายเลข ๓ นายสนธยา ชะวาลา
อ.ปากช่อง เขต ๓ เดิมเป็นพื้นที่ของนายศิรสิทธิ์ เลิศด้วยลาภ แต่ภายหลังลาออกไปสมัคร ส.ส.นครราชสีมา จึงมีการเลือกตั้งซ่อมเมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๕๔ และน้องชายคือนายสมพงษ์ เลิศด้วยลาภ ได้รับเลือกตั้งเป็นส.อบจ. ลงสมัครในครั้งนี้ได้หมายเลข ๓ มีคู่แข่งคือหมายเลข ๑ นายธนากร จันทรวราภร และหมายเลข ๒ นายสมยศ คุณเวียง
อ.ครุบรี เขต ๑ เดิมเป็นพื้นที่ของนายชยุต พงศ์ธนทรัพย์ สมัครได้หมายเลข ๒ ส่วนหมายเลข ๑ นายประสิทธิ์ ลอยครบุรี และหมายเลข ๓ นายพระราม รังกระโทก
อ.ครุบรี เขต ๒ เดิมเป็นพื้นที่ของนายพรชัย อำนวยทรัพย์ ได้หมายเลข ๑ และหมายเลข ๒ นายเลียบ บุญเชื่อง และหมายเลข ๓ นายปั่น รั้งกระโทก
อ.ด่านขุนทด เขต ๑ เดิมเป็นพื้นที่ของนายรชตะ ด่านกุล ภายหลังลาออกไปสมัครส.ส.นคร ราชสีมา พรรคเพื่อไทยแต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง และมีการเลือกตั้งซ่อมเมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๕๔ โดยนายไกรฤกษ์ เสียนขุนทด ได้รับเลือกตั้งเป็นส.อบจ. และลงสมัครในครั้งนี้ได้หมายเลข ๓ และมีคู่แข่งคือหมายเลข ๑ นายรชฎ(ระชด) ด่านกุล และหมายเลข ๒ นายเสริมพงษ์ ลิ้มชูวงศ์
อ.ด่านขุนทด เขต ๒ เดิมเป็นพื้นที่ของนายธนวัฒน์ ศิริปริญญานันต์ ครั้งนี้ลงสมัครได้หมายเลข ๑ ซึ่งยังไม่ปรากฏว่ามีคู่แข่ง
อ.โนนสูง เขต ๑ เดิมเป็นพื้นที่ของนายสถาพร โชติกลาง ส.อบจ. ลงสมัครได้หมายเลข ๑ ซึ่งยังไม่ปรากฏว่ามีคู่แข่งแต่อย่างใด ส่วนอ.โนนสูง เขต ๒ เดิมเป็นพื้นที่ของนายสมพร จินตนามณีรัตน์ ส.อบจ.ที่เพิ่งหมดวาระ และครั้งนี้ลงสมัครได้หมายเลข ๑ ซึ่งยังไม่ปรากฏว่ามีคู่แข่งแต่อย่างใดเช่นกัน
อ.พิมาย เขต ๑ เดิมเป็นพื้นที่ของนายสมบูรณ์ นิยมไร่ ส.อบจ. สมัครได้หมายเลข ๑ มีนายสาทิช บวชสันเทียะ ผู้สมัครหมายเลข ๒ มาท้าชิง ส่วนอ.พิมาย เขต ๒ เดิมเป็นพื้นที่ของนายพงษ์พันธุ์ พันธุ์ศรีนคร ลงสมัครได้หมายเลข ๑ มีคู่แข่งคือนายกมลรัตน์(การ์ด) วิเศษจินดาวัฒนา ลูกชายนายประพัฒน์ วิเศษจินดาวัฒนา (อดีตส.ส.พรรคภูมิใจไทย) มาลงสมัครด้วย ได้หมายเลข ๒
อ.บัวใหญ่ เขต ๑ เดิมเป็นพื้นที่ของนายพิชัยศักดิ์ ชัยศรี ลงสมัครได้หมายเลข ๑ มีนายพันศักดิ์ พันอร่ามเรืองชัย มาลงสมัครในวันที่สอง(๑๙ มิถุนายน) ได้หมายเลข ๒ ส่วนอ.บัวใหญ่ เขต ๒ เดิมเป็นพื้นที่ของนายพิเชฎฐ์ ชัยศรี ส.อบจ.ที่เพิ่งหมดวาระ และยังไม่มีคู่แข่งมาสมัคร
อ.สีดา เดิมเป็นพื้นที่ของนายสมจิตร คิดการ ได้หมายเลข ๑ ซึ่งยังไม่มีคู่แข่ง
อ.บัวลาย เดิมเป็นพื้นที่ของนางสาวจุฑาสัณห์ ตั้งตรีวีระกุล ได้หมายเลข ๑ มีนายกิตติศักดิ์ พร้อมจิตต์ ได้หมายเลข ๒
อ.โนนแดง เดิมเป็นพื้นที่ของนายสมโภชน์ จินตนามณีรัตน์ ได้หมายเลข ๑ นายฉลอง แสงราษฏร์เมฆินทร์ ได้หมายเลข ๒
อ.ประทาย เดิมเป็นพื้นที่ของนายราเมศ เรืองธนานุรักษ์ ได้หมายเลข ๑ ยังไม่มีคู่แข่ง
อ.ลำทะเมนชัย เดิมเป็นพื้นที่ของนายสมศักดิ์ แสงแก้ว แต่ยังไม่ปรากฏตัวมาสมัครในวันแรก มีเพียงหมายเลข ๑ นายชยกฤต ยินดีสุข และหมายเลข ๒ นายมังกร ผ่องพรรณวงศ์
อ.เมืองยาง เดิมเป็นพื้นที่ของนายประเวทย์ ชุมสงฆ์ แต่ยังไม่ปรากฏตัวมาสมัครในวันแรก มีเพียงหมายเลข ๑ คือนางสาวรมย์ธีรา แปลนดี มาสมัครเพียงคนเดียว
อ.ชุมพวง เดิมเป็นพื้นที่ของนายกลวัชร อึ้งสวัสดิ์ และครั้งนี้ได้หมายเลข ๑ ซึ่งยังไม่มีคู่แข่ง
อ.ห้วยแถลง เดิมเป็นพื้นที่ของอรอนงค์ ธนสุนทรสุทธิ์ ส.อบจ.ที่เพิ่งหมดวาระ และครั้งนี้ได้หมายเลข ๑ ยังไม่มีคู่แข่ง
อ.จักราช เดิมเป็นพื้นที่ของนายวิสูตร เจริญสันธิ์ ได้หมายเลข ๑ ซึ่งยังไม่มีคู่แข่ง
อ.เฉลิมพระเกียรติ เดิมเป็นพื้นที่ของนายชาคริต ทิศกลาง ได้หมายเลข ๑ ยังไม่มีคู่แข่ง
อ.โชคชัย เดิมเป็นพื้นที่ของนายบุญดี วงศ์ไตรรัตน์ ส.อบจ.ที่เพิ่งหมดวาระและเป็นพี่ชายของนายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ อดีตรมช.มหาดไทยและส.ส.พรรคภูมิใจไทย และมีคู่แข่งคนเดิมคือนายซ้าย ผลกระโทก มาสมัครได้หมายเลข ๑ ซึ่งนายบุญดีได้หมายเลข ๒ ในเขตนี้เป็นที่จับตามองและประชาชนให้ความสนใจมาก เนื่องจากนายซ้ายเคยลงสมัคร ส.ส.และชนะนายบุญจง แต่ภายหลังกกต.ให้ใบเหลืองต้องจัดเลือกตั้งใหม่ คะแนนพลิกนายบุญจงเป็นผู้ชนะ ต่อมานายบุญจงส่งภริยา(นางกาญจนา) ลงสมัครส.อบจ.และชนะนายซ้าย และในสมัยที่ผ่านมานายบุญดีลงสมัครส.อบจ.แทนนางกาญจนาและชนะนายซ้ายอีก ครั้งนี้นายซ้ายจึงกลับมาสมัครอีกครั้งหวังจะรับชัยชนะ สวมเสื้อพรรคเพื่อไทย
อ.หนองบุนมาก เดิมเป็นพื้นที่ของนายชาญ เขียวแก้ว ได้หมายเลข ๑ หมายเลข ๒ วีระวัฒน์ สีหเนตร และหมายเลข ๓ นายกรีธาพล วรรณทาป สวมเสื้อพรรคเพื่อไทยลงสมัคร
อ.เทพารักษ์ เดิมเป็นพื้นที่ของนายสมพงษ์ เทียบขุนทด มีผู้สมัคร ๒ คนคือ หมายเลข ๑ นายชาญชัย ศรีวิพัฒน์ และหมายเลข ๒ นางพชร เชษฐ์ศักดา
อ.โนนไทย เดิมเป็นพื้นที่ของนายมนัส ศรีบงกช ได้หมายเลข ๒ ส่วนหมายเลข ๑ คือ นายสุรศักดิ์ ตันติสวัสดิ์
อ.เสิงสาง เดิมเป็นพื้นที่ของนางจินตนา จันทะเมนชัย ส.อบจ.ที่หมดวาระ แต่มีเพียงนายวีระชาติ ทุ่งไผ่แหลม มาสมัครได้หมายเลข ๑
อ.วังน้ำเขียว เดิมเป็นพื้นที่ของนายชุณห์ ศิริชัยคีรีโกศล ซึ่งครั้งนี้ลงสมัครแบบไร้คู่แข่ง
และท้ายสุดคืออ.สูงเนิน ซึ่งเดิมเป็นพื้นที่ของนายประสงค์ มีสวัสดิ์ มีเพียงนายรักชาติ กิริวัฒนศักดิ์ อดีตส.อบจ.หลายสมัยที่มาลงสมัครและได้หมายเลข ๑ ซึ่งอยู่ในกลุ่มโคราชชาติพัฒนา แต่สมัยที่แล้วแพ้นายประสงค์กลุ่มรักษ์โคราช
นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๓๗ ฉบับที่ ๒๐๙๑ วันพุธที่ ๒๐ - วันอาทิตย์ที่ ๒๔ เดือนมิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๕๕
747 1,488