18thApril

18thApril

18thApril

 

December 03,2020

เปิดเวทีวิพากษ์ผังเมือง โคราชไม่สามัคคีพัฒนายาก แนะเอกชนสนับสนุน‘ผู้ว่า’

สถาปนิกอีสานระดมสมอง สร้างแบรนด์ให้เมือง มองหาอัตลักษณ์อวด เผยโคราชยังไร้จุดเด่น วิสัยทัศน์ไม่ชัดเจนนักวิชาการชี้ ‘เมืองพอกะเทิน’ ทำได้ทุกอย่าง แต่เป็นอะไรไม่ได้สักอย่าง ประชาชนมีความขัดแย้ง ราชการสนใจแต่นโยบาย ควรแนะและทำงานร่วมกัน 

เมื่อวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ เวลา ๑๓.๓๐ น. ที่โรงแรมส้มโอเฮาส์ จ.นครราชสีมา สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ นำโดยนายวีรพล จงเจริญใจ ประธานกรรมาธิการสถาปนิกอีสาน จัดบรรยายพิเศษ ASA ESAN Dinner Talk  ในหัวข้อ “City Branding” โดย รศ.ดร.พนิต ภู่จินดา นายกสมาคมนักผังเมืองไทย และหัวหน้าภาควิชาการวางแผนและเมืองคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และในหัวข้อ “KORAT ON THE MOVE” โดยนายวิทยา เรืองฤทธิ์ หัวหน้ากลุ่มงานวิชาการผังเมือง สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดนครราชสีมา และผศ.ดร.นิคม บุญญานุสิทธ์ คณบดี คณะศิลปกรรมและการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (มทร.อีสาน) มีผู้เข้าร่วมรับฟังกว่า ๔๐ คน

สร้างเอกลักษณ์ตัวเมือง

รศ.ดร.พนิต ภู่จินดา นายกสมาคมนักผังเมืองไทย กล่าวว่า “City Branding คือเรื่องของอนาคต ต่อไปเมืองจะเปลี่ยนวิถีชีวิตของโลก ทุกคนต้องการสินค้าและบริการที่ดีที่สุด ปัญหาคือ เราจะหาสิ่งที่ดีที่สุดนั้นได้จากที่ไหน คอนเซ็ปต์ของ City Branding คือเปลี่ยนจาก Location เป็น Destination ต่อไปประชากรเมืองจะเพิ่มขึ้น และประชากรชนบทจะลดลง สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้ ๑.ประชากรต้องการโครงสร้างพื้นฐานแบบเมืองมากขึ้น ไม่สามารใช้ชีวิตอยู่แบบชนบทได้ ๒.ประชากรเมืองมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ใครเก่งด้านไหนมุ่งไปด้านนั้น แล้วใช้เงินตราเพื่อแลกเปลี่ยนในสิ่งที่ต้องการและสิ่งที่ไม่ถนัด สิ่งที่พิเศษของเมืองมุ่งไปสู่ City Branding คือ ในเมื่อทำโดยผู้เชี่ยวชาญก็ต้องได้สองอย่างที่มากขึ้น คือจำนวนที่มากขึ้นและคุณภาพที่มากขึ้นเพราะทำโดยคนเก่ง จึงเกิดการรวมตัวกันเพื่อพัฒนาคุณภาพของความเก่งนั้นเข้าไปอีก”

สร้างจุดเด่นให้เป็นที่จดจำ

“พื้นที่ของมนุษย์มีแค่สองอย่างคือพื้นที่ส่วนตัวและพื้นที่ส่วนรวม ต่อไปพื้นที่ส่วนตัวจะลดลงและพื้นที่ส่วนรวมจะเพิ่มขึ้น ผลักเอาสิ่งที่ไม่จำเป็นออกไปอยู่ข้างนอกและแชร์กับคนอื่น เราจะได้ของที่ดีขึ้นในราคาที่ถูกลง ต่อไปโลกจะเข้าสู่ยุคอัตโนมัติ สะดวกขึ้น และแชร์ทรัพยากรได้ดีขึ้น ตั้งแต่ปี ค.ศ.๒๐๐๐ เป็นต้นมา ทุกเมืองพยายามทำ City Branding ทั้งที่ความจริงแล้ว City Branding เกิดขึ้นมานานแล้ว แต่เราไม่รู้ตัว เรารู้จักโรมเพราะถนนทุกสายมุ่งเข้าสู่กรุงโรม นั่นคือ City Branding แล้ว กรุงศรีอยุธยาก็มีแบรนด์ของตัวเอง สุโขทัยก็มีแบรนด์ของตัวเอง เอโดะญี่ปุ่นก็มีแบรนด์เป็นของตัวเอง เพราะพื้นที่บริเวณนั้นมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน นี่คือลักษณะพิเศษของเมือง เมื่อเราเห็นสัญลักษณ์ “I LOVE NEW YORK” ใช้หัวใจสีแดงแทนคำว่า “LOVE” เพราะต้องการสะท้อนถึงความหลากหลาย หัวใจสีแดงแสดงถึงความมีชีวิตชีวาของนิวยอร์ก สัญลักษณ์นี้มีความคิดอยู่เบื้องหลังเพื่อสะท้อนตัวตนของนิวยอร์กออกมา” รศ.ดร.พนิต กล่าว

รู้จักเมืองตนเองอย่างถ่องแท้

รศ.ดร.พนิต กล่าวต่ออีกว่า “นิตยสารฟอร์บส์ทำการสำรวจและพบว่า City Branding ที่ทำออกมาในปี ค.ศ. ๒๐๐๐ เกิน ๘๖% ล้มเหลวเพราะว่าไม่รู้จักเมืองตัวเองดีพอ ไม่รู้จักเมืองตัวเองอย่างถ่องแท้ว่า มีจุดเด่นอะไร และจุดแข็งนี้ต้องขายได้ด้วย City Branding จึงเป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ของพื้นที่ แล้วนำมาเปิดเผยให้คนทั่วโลกยอมรับ และสามารถแข่งขันเชิงตลาดของเมืองอื่นๆ ได้ อีกทั้ง City Branding ต้องสร้างความจดจำให้นักท่องเที่ยว หน่วยธุรกิจ การลงทุน แล้วเผยแพร่เอกลักษณ์ และอัตลักษณ์ ไปสู่กลุ่มเป้าหมายอย่างกว้างขวาง เพราะฉะนั้นการทำ City Branding ต้องสะท้อนความเป็นตัวเองออกมา ไม่ทำในสิ่งที่ตัวเองไม่ถนัด ต้องวิเคราะห์ว่า เราจะดึงเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ของเมืองออกมาได้อย่างไรบ้าง”

เป้าหมายเดียวกัน

“การสร้าง City Branding ต้องได้รับมติความเห็นชอบของพลเมืองนั้นๆ เพื่อเดินไปยังทิศทางเดียวกัน จุดหมายเดียวกัน และเดินไปสู่ศูนย์กลางเศรษฐกิจ คนเข้าถึงได้และประพฤติตามกฎหมายของพื้นที่นั้นๆ ราคาของ City Branding ก็มีความแตกต่างกันคือ ๑.Inside Out การสร้างจากฐานเดิมที่มี เช่น อำเภอคลองท่อม จ.กระบี่ มีสินทรัพย์เป็นน้ำพุร้อนเค็มเป็นของตัวเอง แต่จัดการไม่เป็น หรือ หมู่บ้านคีรีวง อำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นสถานที่ที่อากาศดีที่สุดในประเทศไทยใช้โอกาสนี้เป็นจุดขาย สร้างรีสอร์ต ดึงดูดนักท่องเที่ยว และกิจกรรมวิ่งเดอะ คีรีวง เทรล ถือเป็นจุดขายให้คนมาวิ่งในสถานที่ที่อากาศดีติดอันดับโลก หรือบุรีรัมย์ ที่สร้างตัวเองให้เป็นสปอร์ตซิตี้ ๒.Outside In ตอนนี้ยังไม่เกิดขึ้น แต่ในอนาคตจะต้องเกิดขึ้น เช่น พิษณุโลก วางแผนสร้างสี่แยกอินโดจีน ขณะนี้ยังไม่เกิดการพัฒนาเต็มที่ แต่ในอนาคตถนนเส้นนี้จะเชื่อมและทะลุออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้น ชุมชนบริเวณนี้ต้องหาประโยชน์จากสี่แยกอินโดจีนให้ได้”

หาตัวเองให้เจอ

“ไม่ว่าจะ Inside Out หรือ Outside In ล้วนต้องได้รับความร่วมมือจากมหาชนทั้งสิ้น ต้องตกลงกันให้ได้ อ.เมืองโคราชจะเป็นอะไร อ.สีคิ้วจะเป็นอะไร ฟาร์มโคนมต่างๆ จะเป็นอะไร แล้วเดินไปในทิศทางเดียวกัน ความยากของการทำ City Branding ๑.เป้าหมายที่กำหนดต้องเดินไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ขัดแย้งกัน ๒.กำหนดเอกลักษณ์ที่เป็นจุดขายที่ผ่านการหารือมาแล้ว จุดแข็งของโคราชคือทุกคนพร้อมที่จะช่วยกันและผลักดัน ถ้าตกลงกันได้ก็จะไปได้ดี แต่ปัญหาของสังคมไทยคือความคิดที่แตกต่าง ๓.ศึกษาว่าจะแข่งกับคนอื่นได้อย่างไร ๔.สร้างวิสัยทัศน์และวัตถุประสงค์ในการทำ City Branding และ ๕.ยุทธศาสตร์ในการพัฒนา และสิ่งที่ขาดไม่ได้คือการได้รับการยอมรับจากสากล” รศ.ดร.พนิต กล่าว

ให้อำนาจท้องถิ่นตัดสินใจ

นายวิทยา เรืองฤทธิ์ หัวหน้ากลุ่มงานวิชาการผังเมือง สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า “เมืองต่างๆ ที่มีความเจริญก้าวหน้า ส่วนใหญ่เกิดจากการมีสวนร่วมของท้องถิ่นที่แข็งแรง แต่ประเทศไทยส่วนกลางและส่วนภูมิภาคยังมีบทบาทมาก โครงการต่างๆ ส่วนใหญ่เกิดจากการผลักดันและขับเคลื่อนมาจากส่วนกลาง หากในอนาคตต้องการที่จะพัฒนาเมืองอย่างแท้จริง จะต้องกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ให้อำนาจท้องถิ่นตัดสินใจเมืองของตัวเอง เพื่อให้คนในท้องถิ่นผลักดันอัตลักษณ์เมืองของตัวเองว่า จะไปในทิศทางใด และในการพัฒนาผังเมือง ก็อาจจะไม่สำเร็จในเร็วๆ นี้ หากการวางผังเมืองยังไม่อยู่ในมือของคนในท้องถิ่นเต็มตัว รับรองได้ว่า ผังเมืองก็ไม่สามารถชี้นำในการพัฒนาพื้นที่ได้ ตาม พ.ร.บ.ผังเมืองฯ ซึ่งมีการยกเลิกฉบับ พ.ศ.๒๕๑๘ ขณะนี้ใช้กฎหมายฉบับใหม่ พ.ศ.๒๕๖๒ โดยที่ผ่านมา ๔๐-๕๐ ปี เรื่องการทำผังเมืองอยู่ภายใต้กระทรวงมหาดไทย เมื่อทำออกมาแล้วก็ไม่มีหน่วยงานไหนสนใจ ไม่เคยปฏิบัติตาม ไม่ว่าส่งเสริมอัตลักษณ์มากเท่าไหร่ก็ไม่มีคนสนใจ ท้องถิ่นก็ทำส่วนของท้องถิ่นไป แผนก็เรียงไว้ว่าจะทำอะไรต่อ นี่คือปัญหาที่พบ แม้ว่าการวางผังเมืองจะขัดต่ออัตลักษณ์ของแต่ละเมืองออกมาก็ตาม แต่หน่วยงานท้องถิ่น หน่วยงานในอำเภอทำตามหรือไม่ ก็ไม่ นี่คือปัญหาใหญ่มากที่ไม่สามารถรวมเอาทุกหน่วยงานเข้าด้วยกัน”

“ผังเมืองตาม พ.ร.บ.ปี พ.ศ.๒๕๖๒ ระบุไว้ ๒ แบบ คือ ผังเชิงนโยบายและผังกำหนดการใช้ที่ดิน ซึ่งผังเชิงนโยบาย เป็นการกำหนดนโยบายแบบกว้างๆ ไว้กำหนดบทบาทของภูมิภาค เล็กลงมาคือผังเมืองตามกฎหมาย เช่น ผังเมืองรวม และผังเมืองเฉพาะ ในจังหวัดนครราชสีมา มีทั้งหมด ๑๖ ผัง แต่บังคับใช้จริงเพียง ๔ ผังเท่านั้น เนื่องจากว่ากระบวนการตาม พ.ร.บ.ปี พ.ศ.๒๕๑๘ ช้ามาก ซึ่งตามจริงการวางผังเมืองเมื่อยกร่างออกแบบใช้เวลาไม่เกิน ๑ ปี แต่กระบวนการทางกฎหมายใช้เวลามากกว่า ๕-๑๐ เท่า เมื่อวางผังเมืองเสร็จปีนี้แล้วไปประกาศใช้ใน ๕-๑๐ ปีข้างหน้า ในเร็วๆ นี้ ผังเมืองที่ค้างอยู่ ๑๒ ผัง ซึ่งทำไว้เมื่อ ๕ ปีที่แล้ว จะออกมา หากนำไปบังคับใช้กับภาคเอกชนและประชาชน ลองคิดดูว่าจะเกิดอะไรขึ้น ซึ่งเรากำลังแก้ไขและให้ท้องถิ่นพยายามรับเรื่องของผังเมืองตัวเอง”

โคราชไร้คนสนใจ

นายวิทยา กล่าวอีกว่า “ผังเมืองโคราช ใช้เวลาทำ ๗-๘ ปีแล้ว แต่ก็ยังไม่ออกมา ซึ่งมีปัญหามาก หรือคนโคราชอาจจะไม่มีใครรักผังเมือง หากเป็นที่เชียงใหม่เขาฟ้องไปแล้ว ใช้เวลาเกิน ๖ ปี เขาก็ฟ้องกรรมการสิทธิมนุษยชน แต่โคราชไม่มีคนสนใจ อาจจะดีก็ได้ เพราะว่าสามารถบังคับใช้เลยก็ได้ แต่การก่อสร้างถนนเส้นต่างๆ ก็จะไม่สามารถขับเคลื่อนต่อไปได้ เนื่องจากโคราชยังไม่มีกฎหมายบังคับใช้ ซึ่งในแต่ละพื้นที่ของโคราช ก็พยายามฉายภาพอัตลักษณ์ของตนเอง ไม่ใช่ว่าโคราชไม่มี ซึ่งโคราชใหญ่มาก จึงสร้างเป็น กลุ่มคลัสเตอร์ ๘ กลุ่ม เช่น อำเภอครบุรีและเสิงสาง เป็นคลัสเตอร์ชุมชนต้นน้ำ คนวางผังทราบดีว่า กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ไม่ควรไปส่งเสริมการขยายตัวของเมืองหรืออุตสาหกรรม ซึ่งแท้จริงแล้วรายได้ของอุตสาหกรรมโรงงานน้ำตาล ได้จากบริเวณนี้มาก แต่ไม่สามารถเข้าไปส่งเสริมให้เกิดการขยายตัวของเมืองมากไปกว่านี้ได้ เพราะว่า แถบนี้เป็นชุมชนต้นน้ำ หากไปทำอาจจะเกิดปัญหาขึ้นทันที และที่บริเวณอำเภอบัวใหญ่ ก็มองว่าในอนาคตจะกลายเป็นคลัสเตอร์โลจิสติกส์ เพราะว่า จะมีรถไฟความเร็วสูง รถไฟทางคู่ และถนนมอเตอร์เวย์ ผ่านในพื้นที่ ซึ่งเหล่านี้เป็นตัวอย่างของการฉายภาพเด่น แต่จะจริงหรือไม่ มีคนยอมรับหรือไม่ เราไม่สามารถบอกได้ เพราะเป็นเรื่องที่ส่วนกลางและส่วนภูมิภาคกำลังดำเนินการอยู่”

มองหาพื้นที่สร้างเมืองใหม่

“นอกจากการวางผังเมืองคลัสเตอร์แล้ว ยังมีการทำเมืองใหม่ด้วย ซึ่งที่ผ่านมามีการพูดคุยกัน ๒ ครั้งแล้ว ทุกคนก็พยายามมองหาจุดเด่นหรือความโดดเด่นของโคราชออกมา ซึ่งเดิมทีแล้วหอการค้าฯ เป็นผู้ริเริ่ม เพื่อต้องการสร้างเมืองหลวงแห่งใหม่ แต่เมื่อเรื่องมาถึงสำนักงานโยธาธิการและผังเมือง เราก็สะดุ้ง เพราะว่ามีแรงต้านจากรอบทิศทาง จึงเปลี่ยนจากเมืองหลวงใหม่เป็นเมืองใหม่ ซึ่งก็แล้วแต่ว่าจะมองการออกแบบหรือภาพในอนาคตให้เป็นอย่างไรบ้าง โดยในปีนี้จะเป็นการมองหาพื้นที่ที่เหมาะสมในการวางเมืองใหม่ แต่เท่าที่บริษัทที่ปรึกษาทำการบ้านมาก็มีอยู่ ๓ แห่ง ดังนี้ ๑.อำเภอปากช่อง ๒.อำเภอเมือง และ ๓.อำเภอบัวใหญ่ โดยมีตัวแปรสำคัญคือสถานีหรือจุดจอดรถไฟความเร็วสูงเป็นหลัก ซึ่งจะดึงดูดผู้คนและการลงทุนให้เพิ่มมากขึ้น โดยหลังจากนี้จะมาพูดคุยกันอีกว่า กลุ่มประชาชนหรือเอกชนในโคราช จะเห็นด้วยหรือไม่กับเรื่องเมืองใหม่ ซึ่งหอการค้าฯ ก็บอกไว้ว่า เมืองใหม่แห่งนี้จะต้องไม่มีข้อจำกัดมากในเรื่องของผังเมือง และเงื่อนไขในการพัฒนาต่างๆ แต่ก็ต้องลองดูว่า กฎหมายจะเอื้ออำนวยให้ได้มากน้อยเพียงใด” นายวิทยา กล่าว

โคราชเป็นเพียงทางผ่าน

ทางด้าน ผศ.ดร.นิคม บุญญานุสิทธ์ คณบดี คณะศิลปกรรมและการออกแบบ มทร.อีสาน กล่าวว่า “การทำ City Branding จะต้องมาจากการทำประชามติ และมีไว้เพื่ออวดคนอื่น แต่คนโคราชเคยคุยกันไหมว่า ต้องการเป็นอะไร ตั้งแต่สมัยสร้างเมือง คนโคราชก็ไม่เคยคุยกันว่า ต้องการจะเป็นเมืองอะไร แต่สร้างเพราะพระนารายณ์สั่งมา กลายเป็นเมืองชายแดนเป็นเมืองหน้าด่าน ซึ่งไม่เคยมีว่า คนโคราชต้องการจะเป็นอะไร และโคราชมีอะไรที่จะไปอวดคนอื่น จะทำอย่างไรให้ Location กลายเป็น Destination ซึ่งโคราชไม่เคยเป็น Destination เราเป็นเพียงประตูผ่าน ต่างกับเชียงใหม่ที่เขาเป็น Destination แล้วทำอย่างไรโคราชถึงจะพัฒนาได้ ในการทำ City Branding ไม่ใช่การเรียกนักท่องเที่ยว การเรียกนักท่องเที่ยวมาเป็นเรื่องที่ง่ายและคิดน้อยที่สุด แต่ City Branding คือการหาคนเข้ามา แล้วเมืองจะดีขึ้น คนจะมีรายได้เพิ่มขึ้น อยู่อย่างสุขสงบขึ้น และมีการพัฒนาที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งหมดนี้คือเป้าหมายหลัก แล้วอะไรที่โคราชต่างจากจังหวัดอื่นๆ ซึ่งผมคิดได้อย่างเดียวคือ โคราชใหญ่กว่าเมืองอื่นๆ และเป็นจังหวัดเดียวที่จะไม่ยอมให้มีการแบ่งแยกออกไป ถ้าเรายังเป็นแบบนี้ จะกลายเป็น City Branding ได้หรือไม่”

จุดบอดของโคราช

“เนื่องจากการเป็นจังหวัดใหญ่ เมื่อมีคนถามว่าโคราชต้องการเป็นอะไร ก็ตอบว่า ฉันต้องการเป็นเมืองท่องเที่ยว เพราะมีเขาใหญ่ ฉันต้องการเป็นเมืองอุตสาหกรรม เพราะมีนวนคร ฉันต้องการเป็นเมืองโลจิสติกส์ ตอบแต่ว่าฉันมีๆ นี่จึงเป็นจุดบอดของโคราช เพราะไม่สามารถบอกได้ว่าแท้จริงแล้วต้องการเป็นอะไร ตามที่นายวิทยา เรืองฤทธิ์ กล่าวไว้ว่า โคราชมีชุมชนต้นน้ำ มีเมืองโลจิสติกส์ แต่การบริหารรวมศูนย์อำนาจอยู่ที่จุดเดียว คอยดูแลพื้นที่ทั้งหมด แล้วฉันทามติจะเกิดขึ้นได้อย่างไร การทำแบรนด์ให้สำเร็จคือ คนที่เขาเข้ามาในพื้นที่แล้วต้องการเป็นเรา นั่นคือเรื่องจริง ผมไปญี่ปุ่น นอกจากผมจะใส่เสื้อผ้าเหมือนคนญี่ปุ่นแล้ว ผมยังต้องการมีครอบครัวแบบคนญี่ปุ่นด้วย แล้วมองกลับมาที่โคราช มีบ้างหรือไม่ที่คนเข้ามาโคราชแล้วเขาต้องการเป็นคนโคราช เรามีอะไรให้เขาเป็น จุดนี้ก็เป็นสิ่งที่ต้องคิด”

รู้จักตัวเองไม่ดีพอ

ผศ.ดร.นิคม กล่าวว่า “ขณะนี้โคราชมีอะไร และอนาคตจะเป็นอะไร โคราชไม่เคยคิดเอง เมกะโปรเจ็กต์ต่างๆ ก็เป็นเรื่องที่ส่วนกลางส่งมาให้ เช่น LRT คนโคราชก็ไม่ได้ขอ แต่เมื่อโครงการมาแล้ว คนโคราชก็เถียงกันไม่จบว่า จะไปวิ่งตรงไหน วิ่งแล้วจะมีใครทำต่อ นี่คือสิ่งที่มีในขณะนี้ แต่ถ้าถามว่าอนาคตจะเป็นอะไร คนที่ไม่รู้ว่า วันนี้ฉันเป็นอะไร ไม่มีทางที่จะรู้ว่าอนาคตจะเป็นอะไร การอวดคนอื่นมีคำว่า แข่งกับขาย ถ้าเราไม่รู้จักตัวเอง ไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นอะไร แล้วจะไปแข่งกับใครเขาได้ เราจะขายอะไรทั้งที่ยังไม่รู้จะขายอะไร ถ้าให้ผมสรุปแบบแง่ร้าย โคราชคือเมืองพอกะเทิน คือ โคราชไปได้ทุกอย่าง แต่เป็นอะไรไม่ได้สักอย่าง ซึ่ง City Branding ความสำคัญอยู่ที่ตัวบุคคล ไม่ใช่การหานักท่องเที่ยวเข้ามา แน่นอนว่าเมืองที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามา ทำให้เศรษฐกิจดี แต่เมืองก็บอบบาง วันนี้ภูเก็ตเป็นอย่างไร เชียงใหม่เป็นอย่างไร แต่โคราชด้วยความที่เป็นอะไรหลากหลาย ก็เป็นจุดแข็งได้เช่นกันว่า ไม่ว่าจะมีนักท่องเที่ยวหรือไม่ โคราชก็ไม่ตาย เราไม่เคยมีวิสัยทัศน์หรือมีวิสัยทัศน์มากเกินไป เมื่อไม่มีวิสัยทัศน์หรือวิสัยทัศน์ไม่ชัดเจน ยุทธศาสตร์ก็ไม่เกิดขึ้น เมื่อยุทธศาสตร์เราไม่เกิด แล้วเราจะบอกโลกได้อย่างไร ซึ่งการเป็น City Branding จะต้องได้รับการยอมรับระดับใดระดับหนึ่งเสมอ เราก็ต้องกลับมามองโคราชว่า ตัวตนคืออะไร ทางที่จะเดินไปเป็นอย่างไร คนที่ให้การยอมรับเขาให้การยอมรับเรื่องอะไร” 

โคราชมองตัวเองไม่ออก

จากนั้น นายภานุ เล็กสุนทร กรรมการผู้จัดการ บริษัท มอร์ครีเอชั่น จำกัด และเจ้าของแฟนเพจ korat : เมืองที่คุณสร้างได้ ถามว่า “โคราชมองตัวเองไม่ออกว่า เป็นเมืองแบบไหน แนวคิดร่วมไม่มี คนไม่ยอมรับความแตกต่าง ต้องการให้ช่วยแนะนำว่า โคราชควรจะทำอย่างไร” ซึ่ง รศ.ดร.พนิต ภู่จินดา ตอบว่า “การพัฒนาโคราชไม่ได้ยากเพราะเนื้อหา แต่ยากเพราะคน คนไม่ยอมรับความคิดต่าง ในที่นี้ถ้ามีคนได้ต้องมีคนเสียและจะชดเชยกันอย่างไร และสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ต้องมีการเปิดใจกันมากพอ ช่วยกันหาจุดหมายปลายทาง และสิ่งสำคัญรัฐบาลไทยไม่ได้เป็นตัวกลางเพื่อให้เกิดความเชื่อถือได้ ปัญหาหลักจึงเกิดจากการที่คนไม่ยอมรับความเห็นต่างของกันและกัน และขาดคนกลางที่เชื่อถือได้”

นายภานุ เล็กสุนทร ถามอีกว่า “ควรจะเริ่มที่ใครดี รัฐ เอกชน อปท. หรือประชาชนทั่วไป เพราะต่างฝ่ายก็ได้เสียต่างกัน ซึ่ง รศ.ดร.พนิต ภู่จินดา ตอบว่า “เอกชนจะเป็นคนผลักดันและเดินไปหารัฐ และเกิดการทำมติร่วมกัน ถ้ารัฐฯ เดินไปด้วยกันโดยเฉพาะรัฐบาลกลาง ส่วนใหญ่ประเทศไทยประสบความสำเร็จด้วย Inside Out เพราะมีทรัพยากรอยู่แล้ว ควรเริ่มจากจุดที่เล็กและชัดเจนที่สุดก่อน จะได้ไม่ต้องเสียเยอะ โดยแบ่งโคราชออกเป็นพื้นที่ต่างๆ แล้วดึงสิ่งที่โดดเด่นออกมา เลือกจุดง่ายทำให้สำเร็จก่อน”

‘ผู้ว่าฯ โคราช’สนใจแต่ MICE

นายภานุ เล็กสุนทร กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า “ในส่วนของ MICE โคราช ยังต้องประกอบกับมอเตอร์เวย์ รถไฟทางคู่ คมนาคมต่างๆ แต่ทั้งหมดนี้ ยังไม่มีอะไรที่เสร็จสมบูรณ์สักอย่าง เลื่อนไปแล้ว ๓ ปี ๕ ปี และ ๗ ปี กลายเป็นว่า MICE มาก่อน การคมนาคมเสียอีก แล้วผู้ว่าฯ ก็ไม่ได้สนใจ สนเพียงแค่ว่าโคราชจะต้องเป็น MICE ให้ได้ ต้องการเพียงผลงาน จึงไม่เข้ากัน หากเอกชนขับเคลื่อนแล้วมีตัวกลางจากรัฐฯ เข้ามาก็คงดี”

รศ.ดร.พนิต ภู่จินดา กล่าวว่า “จากการทำ MICE ของผู้ว่าฯ ไม่ได้อะไรหรอก ได้เพียงผลงาน เราควรสนับสนุนผู้ว่าฯ ส่วนหนึ่ง เสนอในมุมมองของเรา แลกกับเป้าหมายของผู้ว่าฯ น่าจะเป็นทางออกที่ดี ผู้ว่าฯ ก็มีเป้าหมายว่า จะต้องทำงานที่ได้รับมอบหมายอย่างไรให้สำเร็จ แต่อีกมุมหนึ่งของผู้ว่าฯ ก็น่าจะมีความคิดและเห็นด้วยกับเราในบางส่วน ให้เราเป็นเหมือนขาอีกข้าง แล้วช่วยกันเดินไปพร้อมกัน”

ด้าน นางสาวฉัตรสุรางค์ กองภา ประธานสมาพันธ์สื่อมวลชนพันธมิตรนครราชสีมา  และเจ้าของแฟนเพจ : Korat times บ้านเอ็ง  กล่าวว่า “ขอแชร์ข้อมูลของหมู่บ้านด่านเกวียน ชาวบ้านสร้างผลงานที่ไปละเมิดลิขสิทธิ์โดยไม่รู้ตัว คือกระถางเพ้นท์ลายสตรอว์เบอร์รี ชาวบ้านถูกฟ้องร้องหลายรายมาก อบจ.ก็ไม่เข้าไปดูแล เขาจึงหมดกำลังใจในการต่อสู้ ช่วงหลังหมู่บ้านด่านเกวียนดูร้างไปมาก และเรื่องสนามบินโคราช มองเพียงว่าจะบินไปลงที่ไหน แต่ไม่เคยมองเรื่องศูนย์ซ่อมเครื่องบิน ซึ่งก่อนหน้านี้เคยผลักดันเรื่องศูนย์ซ่อมเครื่องบินระดับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่น่าจะติดปัญหาในเรื่องของการใช้พื้นที่ เป็นเรื่องของกฎหมาย แต่ถ้าเกิดการผลักดันกันจริงๆ ก็น่าจะไปได้ เพราะโคราชมีมหาวิทยาลัยหลายแห่ง ที่เมื่อนักศึกษา จบออกมาน่าจะสร้างอาชีพได้ แต่ก็ไม่เคยมีการผลักดันในส่วนนี้” 

รศ.ดร.พนิต ภู่จินดา กล่าวเสริมว่า “ความจริงต้องเริ่มขยับจากการออกแบบเอง ไม่ใช่ไปลอกมา เมื่อมีปัญหาในเรื่องของกฎหมายแล้วจะตัดทิ้งง่ายๆ ต้องมีคนมีความรู้ด้านกฎหมายเข้ามาช่วยทำ Branding ทำสื่อ และอื่นๆ ไม่ให้ชาวบ้านทำง่ายจนเกินไป หรือไปลอกเขามา ซึ่งต้องอาศัยผู้มีความรู้ความสามารถ เข้ามาทำให้ขยับขึ้นไปได้”

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๖ ฉบับที่ ๒๖๕๖ วันพุธที่ ๒ - วันอังคารที่ ๘ เดือนธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๓

 

 


1001 1388