29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

December 03,2020

แย่ง ‘ชองเกชอน’ เกาหลี โยธาฯอ้างเทศบาลฮุบ โฉมใหม่ ‘ลำตะคอง’ ๒๖๐ ล.

กรมโยธาธิการและผังเมือง อัดงบประมาณปี ๒๕๖๔ พลิกโฉมลำตะคอง เป็น “คลองชองเกชอน” สร้างภูมิทัศน์สวยน้ำใสใจกลางเมือง เฟสแรก ๑๒๐ ล้านบาท เริ่มหลังโรงเรียนอัสสัมชัญถึงอ่างอัษฎางค์ กว่า ๒ กม. อดีตโยธาจังหวัด ยืนยันกรมโยธาฯ เป็นผู้ออกแบบ แต่จ้างเทศบาลฯ ทำประชาคม 

ตามที่ แฟนเพจเฟซบุ๊ก ‘ประชาสัมพันธ์ เทศบาลนครนครราชสีมา’ โพสต์ข้อความว่า “#ปรับปรุงภูมิทัศน์ลำตะคอง วันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๖๓ เวลา ๑๐.๐๐ น. นายบุญเหลือ เจริญวัฒน์ รองนายกเทศมนตรี ประชุมประชาคมโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ลำตะคอง (ระยะเร่งด่วน) พื้นที่เทศบาลนครนครราชสีมา จุดเริ่มต้นหลังโรงเรียนเทศบาล ๔ (เพาะชำ) ถึงอ่างเก็บน้ำอัษฎางค์ ระยะทาง ๑ กิโลเมตร และรอบอ่างเก็บน้ำ โดยก่อสร้างแนวเขื่อนป้องกันตลิ่ง ปรับปรุงสวนอิงธาร สร้างสะพานเชื่อมทางเดิน ๒ ฝั่งคลอง สร้างทางเดินริมคลองลำตะคอง ลานกิจกรรม ประติมากรรมเครื่องปั้นดินเผา ศาลาริมน้ำ และปรับปรุงภูมิทัศน์รอบอ่างเก็บน้ำอัษฎางค์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำ พัฒนาสภาพแวดล้อมให้เป็นระเบียบเรียบร้อยสวยงาม เป็นเมืองน่าอยู่ สถานที่ท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ ยกระดับการท่องเที่ยว เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและส่งเสริมคุณภาพชีวิตของชุมชน ณ ห้องประชุมกองสวัสดิการสังคม ชั้น ๒” และเมื่อมีการเผยแพร่ข้อความดังกล่าวผ่านสื่อออนไลน์ ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เข้าใจว่า โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ลำตะคอง เป็นงานของเทศบาลนครนครราชสีมา 

ต่อมาวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ เวลา ๑๓.๓๐ น. ที่โรงแรมส้มโอเฮาส์ จ.นครราชสีมา นายวิทยา เรืองฤทธิ์ หัวหน้ากลุ่มงานวิชาการผังเมือง สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดนครราชสีมา เป็นวิทยากรในกิจกรรมบรรยายพิเศษ ASA ESAN DINNER TALK หัวข้อ “KORAT ON THE MOVE” ซึ่งมีช่วงหนึ่งกล่าวถึงโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ลำตะคอง ว่า “เมื่อเร็วๆ นี้ คนโคราชทราบข่าวว่า จะมีการปรับปรุงลำตะคองช่วงผ่านเมืองโคราชให้เป็นเหมือนคลองในประเทศเกาหลี ที่ผู้คนสามารถลงเล่นน้ำหรือไปนั่งพักผ่อนได้ ซึ่งแรงบันดาลใจก็มาจากหลายแห่ง ที่นครสวรรค์ก็เป็นแห่งหนึ่งที่พัฒนาเสร็จแล้ว โดยความจริงแล้วโครงการที่จะเกิดขึ้นในโคราชนั้นเป็นของกรมโยธาฯ ซึ่งเป็นผู้ว่าจ้าง ซึ่งเดิมทีไม่ได้ตั้งใจจะทำออกมาแบบนี้ แต่จะทำตลอด ๑๓ กิโลเมตร สร้างเป็นเขื่อนป้องกันตลิ่ง ถ้าออกแบบแล้วก็ทำง่าย แต่ด้วยวิสัยทัศน์ของนายสมเกียรติ วิริยะกุลนันท์ อดีตโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดนครราชสีมา ที่ต้องการให้ทำครั้งเดียวแล้วอยู่ได้นานถึง ๒๐ ปี และทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับเมืองด้วย โดยมีแผนจะทำมีประมาณ ๑ กิโลเมตร อยู่บริเวณหลังโรงเรียนอัสสัมชัญนครราชสีมาถึงอ่างเก็บน้ำอัษฎางค์ โดยพิจารณาจากการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ ซึ่งมีทั้งพื้นที่ของหลวง พื้นที่ของอ่างเก็บน้ำ และพื้นที่ชุมชน”

“โดยโครงการจะมีการผสมผสานกันหลายอย่าง ซึ่งจะมีการขุดลอกคลองเพื่อให้เป็นมาตรฐานของกรมชลประทาน เพราะว่า ทำในพื้นที่ของกรมชลประทาน แต่จะต้องมีพื้นที่รับน้ำเท่าเดิมหรือมากกว่าเดิม พร้อมกับออกแบบให้รอบบริเวณคลองสามารถวิ่งขึ้นลง และปั่นจักรยานออกกำลังกายได้ โดยเริ่มแรกจะทำเพียง ๑ กิโลเมตร นอกจากจะเป็นจุดพักผ่อนแล้ว หากทำให้ครบวงจร ก็ต้องมีเรื่องของสมาร์ทซิตี้ด้วย โดยมีไฟฟ้าส่องสว่างที่สมาร์ท มีการแจ้งเตือนภัยอันตรายต่างๆ ที่เกิดขึ้น แต่อันดับแรกขอให้ทำสำเร็จในด้านกายภาพก่อน เพราะไม่รู้ว่าจะทำได้หรือไม่ แต่ตัวแบบนั้นพร้อมแล้ว”

ล่าสุด เมื่อวันที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๖๓ “โคราชคนอีสาน” ได้ติดต่อสัมภาษณ์ นายสมเกียรติ วิริยะกุลนันท์ ผู้ตรวจราชการกรมโยธาธิการและผังเมือง เขต ๑๔ กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ๒ และอดีตโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดนครราชสีมา เพื่อสอบถามกรณีการออกแบบโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ลำตะคอง มีการใช้งบประมาณเท่าไหร่ และเป็นโครงการของหน่วยงานใด

นายสมเกียรติ วิริยะกุลนันท์ เปิดเผยว่า ในขณะนี้ผมตั้งงบประมาณของกรมฯ ไว้ให้แล้ว จำนวน ๒๖๐ ล้านบาท เป็นงบประมาณของปี ๒๕๖๔ โดยเฟสที่ ๑ ตั้งไว้ ๑๒๐ ล้านบาท เนื่องจากระยะทางทั้งหมดประมาณ ๒,๕๐๐ เมตร โดยบริเวณจากโรงเรียน อัสสัมชัญถึงอ่างอัษฏางค์ประมาณ ๒ กิโลเมตร และบริเวณรอบอ่างอัษฎางค์อีกประมาณ ๕๐๐ เมตร 

เมื่อถามว่า “เนื่องจากโครงการมีมาหลายปีแล้ว คิดว่าโครงการจะสำเร็จหรือไม่” นายสมเกียรติ ตอบว่า ปัจจุบันแบบเพิ่งทำเสร็จและได้ตั้งงบประมาณแล้ว ซึ่งแบบที่ทำออกมาเป็นแบบของผม โดยให้งบประมาณเทศบาลฯ ไปทำประชาคม 

“โคราชคนอีสาน” ถามอีกว่า “จากข่าวที่ออกมา ทำให้ประชาชนคิดว่าเป็นโครงการของเทศบาลฯ ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นโครงการของหน่วยงานใด” นายสมเกียรติ ตอบว่า “นั่นนะสิ เทศบาลฯ เอาผลงานของผมไปหมดเลย เป็นงานของผม เป็นงานของโยธาฯ ไม่ใช่ของเทศบาลฯ แต่เทศบาลฯ ก็มีส่วนร่วมด้วย เนื่องจากเขาเป็นเจ้าของพื้นที่ เขาก็มีส่วนร่วม และช่วยกันทำ เพราะว่าเราประสานงานกันตั้งแต่ต้นแล้ว คือในพื้นที่ เขาเป็นเจ้าของพื้นที่ เขาจึงช่วยเราในเรื่องของการลงพื้นที่ แต่ในเรื่องการออกแบบเป็นโยธาฯ ออกแบบ”

จากนั้น “โคราชคนอีสาน” ติดต่อไปยังนายธนาคม วิมลวัตรเวที ประธานสภาเทศบาลนครนคราชสีมา เพื่อสอบถามถึงผลการทำประชาคมโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ลำตะคอง ซึ่งได้รับคำตอบว่า ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการทำประชาคม ซึ่งครั้งที่ผ่านมาเป็นการทำประชาคมรอบแรก ชาวบ้านรอบข้างโครงการก็เห็นด้วยที่จะมีการปรับปรุง โดยโครงการนี้เป็นการออกแบบของกรมโยธาธิการและผังเมืองจากส่วนกลาง ในเรื่องงบประมาณต่างๆ ก็ผลักดันมาจากส่วนกลางผ่านทางจังหวัด ซึ่งในเฟสที่ ๑ ใช้งบประมาณ ๑๒๐ ล้านบาท ทำบริเวณหลังโรงเรียนอัสสัมชัญไปยังอ่างอัษฏางค์หลังตลาดประปา และเห็นว่า จะมีการทำโครงการในเฟส ๒ และ ๓ ต่อ เพื่อปรับปรุงให้ครบระยะทาง ๙ กิโลเมตร หลังจากการประชาคมรอบแรกแล้ว จากนั้นก็จะมีการทำประชาคมอีกครั้ง เป็นการนำรูปแบบที่ชัดเจนขึ้นมานำเสนอให้ประชาชนทราบว่า หน้าโครงการจะเป็นอย่างไร โดยบริเวณตลาดประปาจะมีการก่อรั้วปิดตลาด เพื่อกันแนวตลาดกับสวนสาธารณะ ซึ่งชาวบ้านแถวนั้นก็เห็นด้วย เพราะว่าการกันรั้ววางท่อระบายน้ำสามารถแก้ปัญหาน้ำเสียที่จะไหลลงลำตะคองได้ และคาดว่า โครงการนี้น่าจะเริ่มก่อสร้างประมาณกลางปี ๒๕๖๔ เพราะทางนายสมเกียรติ วิริยะกุลนันท์ อดีตโยธาธิการและผังเมืองจังหวัด แจ้งมาว่า งบประมาณก่อสร้างได้รับการบรรจุไว้ในงบประมาณปี ๒๕๖๔ แล้ว”

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๖ ฉบับที่ ๒๖๕๖ วันพุธที่ ๒ - วันอังคารที่ ๘ เดือนธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๓

 

951 1627