19thApril

19thApril

19thApril

 

December 19,2020

‘๕ นายก’อวดนโยบาย อ้างโคราชต้องดีกว่าเดิม

เวทีปราศรัยผู้สมัครนายก อบจ. ก้าวสู่ โค้งสุดท้าย ก่อนการเลือกตั้ง ๒๐ ธันวาคมนี้ ทั้ง ๕ ผู้สมัคร อวดนโยบายเรียกคะแนนเสียงอย่างเต็มที่ โวโคราชต้องดีกว่าเดิม สร้างการเมืองสีขาว ปลอดทุจริต สร้างโคราชให้เป็นเมืองหลวงภาคอีสาน 

 

เมื่อวันที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๖๓ เวลา ๑๓.๓๐ น. มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา จัดเวทีแสดงวิสัยทัศน์ของผู้สมัครรับเลือกตั้งนายก อบจ.นครราชสีมาโดยมี ผศ.ดร.อดิศร เนาวนนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เป็นประธาน โดยมีคณาจารย์ นักศึกษา และประชาชนกว่า ๓,๐๐๐ คน ร่วมรับฟังจากผู้สมัครทั้ง ๕ คน

มหาวิทยาลัยพัฒนาท้องถิ่น

ผศ.ดร.อดิศร เนาวนนท์ กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยราชภัฏฯ ถูกออกแบบ โดยตราพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัย มีพันธกิจหลัก ในการเป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ฉะนั้นเมื่อมีการเลือกตั้งนายก อบจ. จึงเป็นเรื่องของท้องถิ่น ซึ่งเกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยฯ โดยตรง มหาวิทยาลัยฯ มีนักศึกษาประมาณ ๑๗,๐๐๐ คน เรากำลังมีโครงการที่จะทลายกำแพงมหาวิทยาลัยร่วมกันเพื่อท้องถิ่น เพื่อให้เด็กและอาจารย์ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันในการพัฒนาท้องถิ่น หาก อบจ.ดำเนินการเพียงกลุ่มเดียวจะสำเร็จยาก หากมหาวิทยาลัยจะพัฒนาท้องถิ่นเพียงฝ่ายเดียวก็ยากเช่นกัน ซึ่ง อบจ.มีงบประมาณกว่า ๓,๐๐๐ ล้านบาทต่อปี หากพูดด้วยความเป็นธรรมว่า อบจ.นำเงินกว่า ๓,๐๐๐ ล้านบาท มานั่งบริหารและนำไปพัฒนา นั่นคืองบประจำ งบบุคลากร ฉะนั้นก็จะเหลืองบพัฒนาอยู่ส่วนหนึ่งเท่านั้นเช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยที่มีงบประมาณในการพัฒนาเกือบ ๑,๐๐๐ ล้านบาทต่อปี แต่ส่วนใหญ่เป็นงบประมาณสิ่งปลูกสร้าง งบบุคลากร และงบพัฒนา ประจวบกับทางรัฐบาลได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยราชภัฏทุกแห่ง ดำเนินการ ๒ ช่องทาง คืองบยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ต้องลงพื้นที่ทำงานกับท้องถิ่น และที่กำลังดำเนินการอยู่ด้วยงบประมาณกว่า ๒๐๐ ล้านบาท คือ งบพัฒนาตำบล ซึ่งมหาวิทยาลัยฯ ได้รับมาทั้งหมด ๘๓ ตำบล ฉะนั้นจึงมีความเกี่ยวข้องกับการปกครองส่วนท้องถิ่นทุกระดับ หากใครได้รับเลือก ผมต้องการให้มหาวิทยาลัยต่างๆ มีพื้นที่นั่งคุยกับทีมงานของนายก อบจ. โดยมีเป้าหมายคือประชาชนในจังหวัดนครราชสีมา”

กระทบต่อนักศึกษา

“นักศึกษามหาวิทยาลัยฯ ๘๐% มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดนครราชสีมา หากย้อนกลับไป ๔-๕ ปีก่อน เราบ่นว่า นักศึกษาหายไปไหน ในเรื่องการแสดงออกทางการเมือง แต่วันนี้ชัดเจน มีเด็กแสดงออกทางการเมือง แต่ประเด็นที่แสดงออกนั้น ส่วนใหญ่เป็นการเมืองระดับชาติ แต่การเมืองในระดับท้องถิ่นน้อยมาก ฉะนั้นวันนี้จึงต้องการให้นักศึกษามารับฟังว่า อบจ.ทำอะไร มีผลกระทบต่อนักศึกษามากน้อยเพียงใดในด้านการศึกษา อบจ.โคราชต้องดูแลโรงเรียนถึง ๕๘ แห่ง จึงต้องการสร้างความตื่นตัว การรับรู้ให้กับนักศึกษาว่า อบจ.เป็นการเมืองท้องถิ่นที่มีผลกระทบกับเรา ไม่ใช่มิติที่เคลื่อนไหวกันในระดับประเทศหรือระดับชาติ ให้ล้อไปด้วยกันว่า พื้นฐานทางการปกครองในระบอบประชาธิปไตย การปกครองส่วนท้องถิ่นมีส่วนสำคัญ ในการที่จะเรียนรู้และเข้าใจความเป็นประชาธิปไตย วันนี้ขอให้เป็นวันเริ่มต้นมาแสดงวิสัยทัศน์ แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ การจัดทำโครงการตาสับปะรด เพื่อติชมและให้ข้อเสนอแนะ เราจะสร้างแอปพลิเคชันตรวจสอบการทำงานของ อบจ.ต้องช่วยกันติดตาม เพื่อเป็นการสร้างพลังที่จะควบคุมและกำกับการใช้เงินซึ่งเป็นภาษีของประชาชน” ผศ.ดร.อดิศร กล่าว 

สภาประชาชนแก้สภาผู้รับเหมา

จากนั้น นพ.สำเริง แหยงกระโทก หรือหมอแหยง เบอร์ ๓ ปราศรัยว่า “มีนโยบาย ๒ กลุ่มใหญ่ ได้แก่ สภาประชาชน และกิจกรรมโดยละเอียด ซึ่งสภาประชาชนจะแก้สภาผู้รับเหมา ซึ่งผู้รับเหมาไม่ใช่สิ่งเลวร้าย แต่เมื่อแบ่งกันโกงกินก็ต้องหยุดยั้งด้วยสภาประชาชนที่ผมจะตั้งขึ้นทุกอำเภอ โดยเชิญกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายก อบต. ผู้สูงอายุ ผู้พิการ อสม. สภา ผอช. กลุ่มสตรีแม่บ้าน และตัวแทนผู้ทรงคุณวุฒิต่างๆ จัดตั้งสภาประชาชนขึ้น โดยนายกฯ จะจัดงบประมาณให้อำเภอเล็ก ๓๐% อำเภอกลาง ๔๐% อำเภอใหญ่ ๕๐% อำเภอเมืองจัดสรรงบประมาณให้ ๑๐๐% ให้พิจารณา เงินทุกบาทที่มอบให้สภาประชาชนแล้ว ก็จะทำให้หยุดสภาผู้รับเหมา ที่เคยตกลงไว้เพียงสองฝ่าย แต่ต่อไปประชาชนจะรับรู้ เพราะทุกอำเภอจะมีสมาชิกในสภาประชาชน ซึ่งสามารถติดตาม และจะไม่ตรวจรับหากโครงการใช้งบประมาณไม่เป็นไปตามที่เสนอ ซึ่งจะให้สภาประชาชนมีส่วนในการตรวจรับตรวจจ้างงานด้วย”

โคราชสีเขียวกระบวนการโปร่งใส

“นโยบาย ๑๒ ด้าน ได้แก่ ๑.การบริหารและพัฒนาคน ๒.สาธารณสุข ๓.การศึกษา ๔.สวัสดิการสังคม ๕.เศรษฐกิจ ๖.เกษตรกร ๗.การท่องเที่ยว ๘.การกีฬา ๙.สิ่งแวดล้อม ๑๐.โครงสร้างพื้นฐาน ๑๑.ศาสนาและวัฒนธรรม และ ๑๒.ความมั่นคง ซึ่งจาก ๑๒ นโยบาย หากเจาะจงในด้านการเกษตร GPP (Gross Provincial Products: GPP) ภาคเกษตรกรรมของจังหวัดนครราชสีมา เป็นอันดับที่ ๑ ในภาคอีสาน แต่เฉลี่ยรายหัวอยู่ที่ ๒ รองจากขอนแก่น เราต้องแก้การเกษตรอีกหลายด้าน โดยจัดตั้งคณะที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร ผู้ชำนาญการด้านเกษตรมาช่วยกันทำ เพื่อเพิ่ม GPP ด้านเกษตร เพิ่มรายได้ เพิ่มอาชีพที่เกี่ยวกับการเกษตร เพื่อเพิ่มเงินในกระเป๋า ไม่ใช่รองบประมาณจาก อบจ. หรืองบประมาณอุดหนุนมาเท่านั้น” นพ.สำเริง กล่าว

สนับสนุนเยาวชนครอบคลุมทุกด้าน

นพ.สำเริง กล่าวอีกว่า “นอกจากนี้ เรายังสนับสนุนเยาวชนในหลายด้าน ได้แก่ ๑.กองทุนนักเรียนแพทย์ตำบล จบแล้วเป็นแพทย์ รพ.สต. ในโคราช ๔๐๐ คน ๒.กองทุนนักกีฬาลูกย่าโม ตำบลละ ๑ คน ๓.กองทุนพัฒนาเยาวชนสตรีลูกย่า เพื่อบริบาลผู้สูงอายุและบริการสุขภาพ ๔.กองทุนเยาวชน HUG บ้านเกิด ๑ หมู่บ้าน ๓ กลุ่ม พัฒนาอาชีพ สามารถตั้งตัวได้ ๕.กองทุนสนันสนุนการจัดตั้งชมรมกีฬาฟุตซอลระดับตำบล และจัดลีกการแข่งขัน ๖.กองทุนสนับสนุนการจัดตั้งทีมฟุตบอลระดับจังหวัดเพิ่มอีก ๓ สโมสร ๗.สนับสนุนการลงทุน Sport Complex ศูนย์ฝึกกีฬามาตรฐานระดับนานาชาติ และศูนย์ฝึกกีฬาฟุตบอลระดับสโมสรโลก ๘.พัฒนาอาคาร อบจ. เป็น Korat E-SPORT World และ Co-working Space ๙.เพิ่มศูนย์การเรียนรู้ดิจิทัล ในอาคารของ อบจ.ทุกอำเภอ และทุกโรงเรียน ๑๐.พัฒนาแพลตฟอร์ม การเรียนการสอนเร่งด่วน ๓ ภาษา (อังกฤษ จีน ญี่ปุ่น) ๑๑.สร้างแพลตฟอร์ม การค้าออนไลน์ Co-RAT Platform @ e-Market Place เพื่อให้เยาวชน และธุรกิจ SME ใช้ในการทำการค้าออนไลน์ก้าวเข้าสู่ตลาดโลก ๑๒.สร้างเสริมให้นักศึกษา บัณฑิต มีงานทำและสร้างรายได้จากแพลตฟอร์มออนไลน์ ๑๓.ส่งเสริมธุรกิจคนรุ่นใหม่ (Start Up) ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนและการระดมทุน ๑๔.จัดตั้งกองทุนพัฒนาอาชีพให้เยาวชนที่ตกงานหลังจากวิกฤตโควิด-๑๙”

“นายก อบจ. ต้องเป็นนักคิด นักวิสัยทัศน์ นักการตลาด และ sale man ที่จะพร้อมให้ความร่วมมือ เพื่อสร้างโคราชให้เป็นศูนย์กลางของอินโดจีน สร้างกิจกรรมตามนโยบาย ๑๒ ด้าน และด้านเยาวชนทั้ง ๑๔ ข้อ” หมอแหยง กล่าวปิดท้าย

พัฒนาท้องถิ่นให้โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์

นายตรีเพชร พรหมนิติพันธุ์ เบอร์ ๕ กล่าวว่า “ต้องพัฒนาการเมืองท้องถิ่นที่เป็นฐานรากของระบอบประชาธิปไตย ผมติดตามการเมืองท้องถิ่นมานาน พบว่า ห่างไกลท้องถิ่นเกินไป ประชาชนสัมผัสไม่ได้ ขาดการประชาสัมพันธ์ และสร้างเอกลักษณ์ ขาดการสร้างความสำคัญกับองค์กร อบจ.เปรียบเสมือนเป็นรัฐบาลของจังหวัด ต้องให้ความสำคัญกับองค์กรที่ประชาชนเลือกเข้ามา ผมจะสร้างองค์การบริหารส่วนจังหวัดใหม่ ต้องสง่างามสมกับเป็นจังหวัดที่ใหญ่ที่สุดในภาคอีสาน มีอาคารสถานที่ ลานกิจกรรม ศูนย์วัฒนธรรม และอื่นๆ ครบในสถานที่เดียว ผมต้องการกระตุ้นจิตสำนึก จึงใช้คำว่า ‘โคราชทำได้’ เพราะโคราชมีศักยภาพ พื้นฐานทางเศรษฐกิจ การคมนาคม แหล่งท่องเที่ยว และศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น โคราชพร้อมหลายด้านแต่ไม่มีแรงขับเคลื่อนหรือผลักดันให้โดดเด่น เป็นสัญลักษณ์ และสร้างรายได้ให้จังหวัด” 

คนโคราชต้องเก่งและฉลาด

“ผมต้องการให้โคราชเป็นเมืองหลวงของภาคอีสาน โดยอันดับแรกคือ สมาร์ทซิตี้ ที่ไม่ใช่เมืองเทคโนโลยีแต่เป็นเมืองของคนฉลาด คนโคราชต้องมีการศึกษา แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตั้งแต่ฉบับที่ ๘ กำหนดให้คนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาประเทศ แต่ไม่เคยมีใครทำอย่างจริงจังตั้งแต่ระดับรัฐบาลถึงระดับท้องถิ่น ขณะนี้มีโรงเรียน ๕๘ แห่ง โรงเรียนคุณภาพทั้งประถมศึกษาและมัธยมศึกษา มีมหาวิทยาลัยอีก ๓ แห่ง ไม่รวมมหาวิทยาลัยเอกชน ต้องสร้างสภาระดมความคิดเพื่อร่วมกันพัฒนาการศึกษาในจังหวัดนครราชสีมา ให้มีความโดดเด่น ฉลาดและเก่ง เพื่อพัฒนาประเทศและท้องถิ่นได้ ระบอบประชาธิปไตยแก้ไขได้ หากประชาชนมีคุณภาพ” 

เน้นสร้างรายได้ระหว่างเรียน

นายตรีเพชร กล่าวต่อไปว่า “ทรัพยากรมนุษย์เป็นทรัพยากรที่สำคัญของโลก การปฏิวัติด้านต่างๆ เกิดจากฝีมือมนุษย์ทั้งสิ้น เมื่อพัฒนาคนให้ฉลาดก็จะโยงไปถึงความอยู่ดีกินดี แก้ปัญหาด้วยตนเอง เกิดภาวะผู้นำ ชุมชนเข้มแข็ง เป็นหัวใจของการพัฒนาประเทศและท้องถิ่น ในฐานะที่เป็นครูและเป็นนักการศึกษามาก่อน รวมทั้งเคยบริหารและเป็นซีอีโอของบริษัทเอกชนทั้งในและต่างประเทศ ผมเห็นจุดแข็งของทุกองค์กร คือ สมอง สติ ปัญญา และสมรรถนะที่มีในตนเอง ปัจจุบันไม่ได้ให้ความสำคัญกับไอคิวเพียงอย่างเดียว แต่ต้องให้ความสำคัญกับสมรรถนะหรือความสามารถของนักเรียนทุกโรงเรียน เปลี่ยนวิสัยทัศน์การเรียน ในระหว่างเรียนให้มีรายได้ ฝึกงานให้มีทักษะในการทำงาน ปรับการเรียนให้สั้นลง เพิ่มเวลาฝึกทักษะเสมือนโรงเรียนสารพัดช่าง ทำให้เมื่อเรียนจบสามารถทำงานได้เลย ไม่เป็นภาระของพ่อแม่และสังคม ผมจะส่งเสริมให้เด็กเรียนฟรี มีรายได้ จบไปมีงานทำ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการเช่นกัน” 

บริหารด้วยธรรมาภิบาล

“ผมเสนอกับอธิการบดีว่า ราชภัฏฯ สามารถจัดเป็น non-Degree ได้หรือไม่ เพื่อให้ประชาชน นักเรียน นักศึกษา สามารถเข้ามานำความรู้ไปทำงาน เพราะหากเรียนเพื่อรอปริญญานั้นใช้ระยะเวลานาน บางคนจบปริญญาแต่สนใจเรื่องใดเรื่องหนึ่ง สามารถมาเรียนได้หรือไม่ เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามาศึกษาและฝึกงานหาความรู้ในสิ่งที่ต้องการรู้ ถ้าทำได้ก็จะเป็นประโยชน์ต่อสังคมต่อไป ผมต้องการนำนโยบายการศึกษามาทำให้โดดเด่น อาจจะใช้เวลาและดูเป็นนามธรรม แต่ทั้งหมดคือหัวใจของการพัฒนาประเทศ ต่อมาเป็นเรื่องกีฬาและการท่องเที่ยว ไม่ใช่เรื่องยาก แต่จะประชาสัมพันธ์อย่างไรให้โดนใจคน โดยเฉพาะหลังโควิด-๑๙ เพื่อให้นักท่องเที่ยวเข้ามาใช้บริการมากขึ้น ส่วนการกีฬา หากจะทุ่มเทอย่างจริงจัง ทุกพื้นที่ควรมีศูนย์เยาวชนของหมู่บ้าน พร้อมทั้งดูแล ให้งบประมาณ ครูฝึก อุปกรณ์ เยาวชนได้ใช้และเล่นอย่างจริงจัง และผมจะบริหารองค์กรด้วยธรรมาภิบาล ไม่ซื้อเสียงแน่นอน” นายตรีเพชร กล่าว

งบท้องถิ่น พัฒนาท้องถิ่น

ด้านนายวิฑูรย์ ชาติปฏิมาพงษ์ หรือแก้วด๊ะดาด ผู้สมัครเบอร์ ๔ แสดงวิสัยทัศน์ว่า “ทุกวันนี้คนโคราชประสบปัญหาเศรษฐกิจถดถอยลง และยังถูกซ้ำเติมด้วยโควิด-๑๙ ทำให้การทำมาหากินของคนโคราชยากลำบาก มีหนี้สินครัวเรือนมากมาย ประชาชนไม่สามารถดำรงชีพอยู่ได้ ผมตั้งใจจะมาแก้ปัญหาโดยใช้งบประมาณท้องถิ่น มาดูแลให้ประชาชนในหมู่บ้านและตำบลมีความอบอุ่น ทำมาหากินได้ มีวิถีชีวิตที่ดีขึ้น และให้ครอบครัวสามารถประกอบการงานต่างๆ ได้ จึงแบ่งท้องถิ่นเป็น ๒ ระดับ คือ ระดับตำบล (อบต.และเทศบาล) และอบจ. ดังนั้น อบจ.สามารถลงไปช่วยท้องถิ่น ทั้ง อบต. และเทศบาลได้ และสามารถเชื่อมโยงร่วมกับท้องที่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน รวมถึงองค์กรต่างๆ ทั้งภาคประชาชนและภาคราชการที่อยู่ในพื้นที่ เพื่อแก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชนได้อีกด้วย”

มุ่งแก้ปัญหาครัวเรือน

“อบจ.ที่ผมเคยบริหารมาแล้วเมื่อ พ.ศ.๒๕๔๐ กับการกลับมาในครั้งนี้ ผมต้องการแก้ไขปัญหาครัวเรือนเป็นลำดับแรก โดยจะนำงบประมาณลงมาแก้ไขและตั้งศูนย์ประสานงาน อบจ. Connect เพื่อเชื่อมต่อทั้ง ๓๒ ศูนย์ ๓๒ อำเภอ ต้องการเข้าไปช่วยให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้นและปลดหนี้ ปัญหาเศรษฐกิจจะต้องแก้ไขจากด้านล่างขึ้นมาด้านบน หากรากฐานแข็งแรง จะสามารถช่วยเหลือรัฐบาลต่อไปได้ โดยที่ภาครัฐไม่ต้องเยียวยา แต่เราจะเสียภาษีให้รัฐบาลมากขึ้น ประเทศก็จะแข็งแรงมั่นคง ส่วนการท่องเที่ยวต้องส่งเสริมทุกทางเพื่อดึงนักท่องเที่ยวให้เข้ามา โคราชมีศักยภาพในการจัดการการท่องเที่ยวหลายด้าน ทั้งเชิงธรรมชาติ ประเพณี และวัฒนธรรม ส่วนการศึกษา เทศบาลและอบจ. จะเข้าไปดูแลตั้งแต่แรกเริ่ม นโยบายเรียนฟรีตั้งแต่เครื่องแบบและหนังสือเรียน เพื่อความสะดวกสบาย รวมถึงการส่งเสริมทักษะด้านกีฬา การแสดง และทักษะเฉพาะ ทั้งนี้ เราจะใช้ระบบ อบจ. Connect เพื่อติดต่อ ติดตาม ตรวจสอบ และเสนอแนะ โดยใช้เพียงโทรศัพท์มือถือเท่านั้น ประกอบกับเจ้าหน้าที่ที่มีความรู้ พร้อมด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย พร้อมที่จะแก้ไขปัญหาทันที” นายวิฑูรย์ กล่าว 

สามารถทำภายใน ๑๐๐ วัน

จากนั้น นายสาธิต ปิติวรา ผู้สมัครเบอร์ ๑ กล่าวว่า ก่อนจะแถลงนโยบาย ขอเล่าถึงอุดมการณ์ของคณะก้าวหน้าโคราช คือ ๑.ยึดในระบอบประชาธิปไตย จะลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมให้ได้ ๒.จะไม่ซื้อสิทธิขายเสียงโดยเด็ดขาด และ ๓.ไม่ทุจริตทุกรูปแบบ บริหารงานด้วยความโปร่งใส ตรวจสอบได้ โดยยึดหลักทำงาน ๓ ประการ คือ ไปพื้นที่จริง เจอประชาชนจริง เจอสถานการณ์จริง เพื่อตอบสนองความต้องการของชาวโคราช ด้านนโยบายจะครอบคลุมทั้ง ๑๒ ด้าน แต่จะยกมา ๔ ด้าน เพื่อนำเสนอ ซึ่งเป็นนโยบายที่สามารถทำได้ทันทีเมื่อเข้าไปบริหารภายใน ๑๐๐ วัน

๑.การศึกษาและเยาวชน การศึกษาเป็นการลงทุนที่คุ้มที่สุด เพราะเป็นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โรงเรียนในสังกัดอบจ.ทั้ง ๕๘ แห่ง ยังมีความเหลื่อมล้ำ ที่ผ่านมานักเรียนเลือกเรียนได้แค่ ๒ สาย คือ วิทย์-คณิต และ สายภาษา เราต้องพัฒนาหลักสูตรให้ตรงกับความสนใจและสอดคล้องกับศักยภาพของผู้เรียนรวมถึงในเชิงพื้นที่ด้วย เรื่องที่สำคัญไม่ต่างกันคือสิทธิและเสรีภาพของนักเรียน หยุดอำนาจนิยม โรงเรียนต้องเป็นที่ปลอดภัยและคุณครูต้องไว้ใจได้ ครูทำหน้าที่สอนในห้องเรียน ไม่ทำหน้าที่อื่น  เพื่อประสิทธิภาพสูงสุดของผู้เรียนและก้าวไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดี เยาวชนโคราชมีจำนวน ๗๙๖,๖๖๖ คน จะสร้างพื้นที่สำหรับเยาวชน “Youth Space” เพื่อมาทำกิจกรรมและค้นหาตัวตน รวมถึงศูนย์ปรึกษาปัญหาโดยผู้เชี่ยวชาญและนักกฎหมายที่คอยดูแล 

๒.ระบบขนส่งสาธารณะ คุณภาพชีวิตคนเมืองกำลังพบปัญหาทั้ง ฝุ่น PM2.5 และชั่วโมงเร่งด่วนรถติด ผมจะนำรถเมล์ไฟฟ้า EV ที่ปลอดมลภาวะ ลงมาวิ่งทันที และจะเชื่อมโยงรถเมล์ไฟฟ้าอีก ๓ สาย คือ สายสีเขียว นารีสวัสดิ์-อำเภอสีคิ้ว, สายสีแดง เซฟวัน-อำเภอสีคิ้ว-อำเภอสูงเนิน และสายสีชมพู โรงเรียนสุรนารี-รพ.มหาราชฯ-ถนนบายพาส ๓.การจัดการขยะ ผมจะประสานกับเทศบาลฯ เพื่อจัดการขยะวันละ ๓,๕๐๐ ตัน โดยวางระบบร่วมกันตั้งแต่ต้นเหตุถึงปลายเหตุ รวมถึงเปิดเผยและให้ความรู้ประชาชนในเรื่องโรงไฟฟ้าขยะ หากมีการสร้างโรงไฟฟ้าขยะในชุมชน ชุมชนต้องได้อานิสงส์ และ ๔.ส่งเสริมการท่องเที่ยว โคราชมีศักยภาพ มีความหลากหลายด้านวัฒนธรรม แต่ขาดการสนับสนุนจากภาครัฐ มีเอกชนที่แข็งแรง มี ๔ มหาวิทยาลัย แต่ขาดการบูรณาการ อบจ.ต้องทำเรื่องใหญ่ๆ เพื่อให้มีผลตอบสนองต่อความต้องการด้านอาชีพ เศรษฐกิจ และการสร้างงาน ฝากถึงเยาวชน ช่วยเป็นหูเป็นตาให้กับคณะก้าวหน้า งบประมาณ ๓,๓๕๗ ล้านบาท ต้องตอบสนองต่อความต้องการของชาวโคราช

สร้างเมือง สร้างเศรษฐกิจ สร้างโคราช

นางยลดา หวังศุภกิจโกศล ผู้สมัครเบอร์ ๒ กล่าวว่า “ทำงานจิตอาสามากว่า ๔๐ ปี เห็นปัญหาของประชาชนที่แตกต่างกัน จึงต้องการเข้ามาแก้ปัญหาเพื่อตอบสนองนโยบาย “สร้างเมือง สร้างเศรษฐกิจ สร้างโคราช” โดย ๑.สร้างคน ระบบสาธารณสุข ตั้งแต่เด็กแรกเกิด วัยเรียน เยาวชน ตลอดจนผู้พิการและผู้สูงอายุ ต้องได้รับการดูแล ด้านการศึกษา นักเรียน นักศึกษา ต้องการเรียนอะไร ต้องการประกอบอาชีพอะไร ต้องส่งเสริมและสนับสนุนรวมถึงพัฒนาศักยภาพครู ด้าน Start Up เยาวชนสามารถเป็นผู้ประกอบการได้ด้วยตนเอง และสนับสนุนผู้ประกอบการที่ต้องการแนวคิดไอเดียของคนรุ่นใหม่ เพื่อการลงทุนและการสร้างอาชีพ ด้านการประกอบอาชีพ ส่งเสริมการค้าขายออนไลน์มากขึ้น รวมถึงสร้างตลาดกลางในการซื้อขายสินค้า ๒.สร้างเศรษฐกิจ จะสร้าง ๑ ตำบล ๑ ศูนย์เกษตรอัจฉริยะ นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาร่วมพัฒนา พร้อมส่งเสริมการท่องเที่ยว โคราช ๑๒ เดือน เที่ยวได้ทุกเดือน จัดมหกรรมการท่องเที่ยวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ต้องส่งเสริมเยาวชนให้เล่นกีฬา เพื่อต่อยอดไปสู่การสร้างอาชีพในอนาคต รวมถึง e-Sports ที่ต้องการผลักดันมากขึ้น ยุคสมัยได้เปลี่ยนไปแล้ว กีฬา e-Sports สามารถสร้างอาชีพและรายได้ให้กับเยาวชนได้” 

“๓.สร้างโคราช เราจะสร้างศูนย์โลจิสติกส์ เพื่อความสะดวกสบาย เพราะอีกไม่นานรถไฟความเร็วสูง มอเตอร์เวย์ รถไฟฟ้ารางเบา ตลอดจนรถไฟทางคู่จะเข้ามาส่งเสริมคมนาคมในจังหวัดมากขึ้น ต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับระบบคมนาคมที่กำลังจะมาถึง โคราชไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่งแต่เป็นของทุกคน เงินที่นำมาพัฒนาโคราชเป็นเงินจากภาษีประชาชน ต้องกระจายอำนาจมาสู่ประชาชน เราจะร่วมบูรณาการ ๓ พี่น้องท้องถิ่น ทั้ง อบต. เทศบาล และอบจ. ต้องทำงานร่วนกัน ต้องร่วมคิด พัฒนา และตรวจสอบให้มีความโปร่งใส” นางยลดา กล่าว 

 

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๖ ฉบับที่ ๒๖๕๘ วันพุธที่ ๑๖ - วันอังคารที่ ๒๒ เดือนธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๓

 

976 1386