20thApril

20thApril

20thApril

 

December 19,2020

อบจ.อย่าทำแต่ถนน-ขุดคลอง เปิดใจรับฟังเอกชนบ้าง

ประธานสภาอุตฯ แสดงความคิดเห็นต่อผู้ที่จะมาเป็นนายก อบจ. ต้องพัฒนาชุมชน ไม่เน้นแค่สาธารณูปโภค สร้างถนน ลอกคลอง ควรพัฒนาเศรฐกิจ ใช้งบให้เกิดประสิทธิภาพ และส่งเสริมการสร้างรายได้ให้ทุกชุมชน รวมทั้งเปิดใจรับฟังแนวคิดเอกชนบ้าง ย้ำประชาชนออกไปใช้สิทธิ์เพื่อแสดงความต้องการของตัวเอง

 

ตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดให้มีการเลือกตั้งนายก อบจ. และสมาชิกสภา อบจ. ที่จะเลือกตั้งในวันอาทิตย์ที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๖๓ ซึ่งจังหวัดนครราชสีมามีผู้สมัครนายก อบจ. ๕ คน ได้แก่ เบอร์ ๑ ดร.สาธิต ปิติวรา จากคณะก้าวหน้าโคราช เบอร์ ๒ นางยลดา หวังศุภกิจโกศล จากกลุ่มโคราชโฉมใหม่ เบอร์ ๓ นพ.สำเริง แหยงกระโทก จากกลุ่มรักษ์โคราช เบอร์ ๔ นายวิฑูรย์ ชาติปฏิมาพงษ์ และเบอร์ ๕ นายตรีเพชร พรหมนิติพันธุ์ รวมทั้งผู้สมัคร ส.อบจ.ทั้ง ๔๘ เขตเลือกตั้ง ๑๗๓ คน 

พัฒนาจากความต้องการของพื้นที่

“โคราชคนอีสาน” จึงสัมภาษณ์ นายหัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฏ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา ถึงเรื่องดังกล่าว ซึ่งแสดงความคิดเห็นว่า “ต้องการให้นายก อบจ.ออกจากกรอบเดิมๆ เมื่อก่อนจะใช้งบประมาณในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งน่าจะเป็นหน้าที่หลักของภาครัฐ แต่กรณีของอบจ. น่าจะเป็นโครงการที่เข้ามาเสริมโครงการของภาครัฐตามความประสงค์ของพื้นที่ เช่น บางพื้นที่ต้องการทำโครงการที่ทำให้ชุมชนมีรายได้ก็จะต้องทำให้สามารถเพิ่มเงินในกระเป๋าของคนในชุมชน ต้องการให้มุ่งเป้าไปในด้านเศรษฐกิจของชุมชนให้ชุมชนเพิ่มรายได้ของโครงการที่มาจากชุมชนเอง ซึ่งอาจจะไม่เหมือนโครงการพัฒนาศักยภาพหมู่บ้านและชุมชน (SML) ในสมัยก่อน ผมอยากเห็นรูปแบบการพัฒนาของ อบจ. เป็นการพัฒนาพื้นที่จริงๆ เกิดจากความต้องการของพื้นที่ โดยประชาชนเสนอโครงการผ่าน ส.อบจ.ในพื้นที่ เข้ามายังสภาจังหวัดว่า ต้องการจะพัฒนาเรื่องใดที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจของชุมชน ต้องการด้านใดเป็นหลัก แทนที่จะให้จากจังหวัด หรือเสนอจากนายก อบจ.ลงไปทำโครงการทั้งจังหวัด เพราะแต่ละพื้นที่มีความต้องการที่แตกต่างกัน มีความถนัดไม่เหมือนกัน” 

ไม่เน้นแค่สาธารณูปโภค

“จะสังเกตว่า บางทีเราทำสินค้าโอทอปคล้ายกันทุกพื้นที่ ผลิตภัณฑ์เดียวกัน แล้วก็มาแข่งขันกันขาย ทำให้ขายไม่ออก ซึ่งความจริงแต่ละพื้นที่ควรทำโครงการขึ้นมาเสนอผ่านชุมชน มาถึง ส.อบจ. ต่อมาที่จังหวัด และนำเสนอในสภา เพื่อบอกเล่าความต้องการของพื้นที่ จะมีอะไรบ้าง นายกฯ ก็จัดทำนโยบายเพื่อตอบสนองความต้องการของพื้นที่ แทนที่จะไปโฟกัสเรื่องการลอกคลอง ถ้าหากลอกคลองเป็นความต้องการของชุมชนจริงๆ ที่ร้องขอขึ้นมา แต่ไม่ควรไปทำเฉพาะสาธารณูปโภคเพียงอย่างเดียว อาจจะแบ่งงบประมาณเรื่องสาธารณูปโภค ๑๐% พัฒนาอาชีพชุมชน ๓๐% นโยบายตามความต้องการของพื้นที่ ๔๐% หรืออาจจะร่วมกันในพื้นที่ใกล้เคียง เนื่องจากโครงการหากต่างคนต่างทำก็จะไม่ต่อเนื่อง ซึ่งหากมีการกำหนดการพัฒนาและแนวทางการพัฒนาเอาไว้ ก็จะทำให้การตอบสนองต่อความต้องการของคนในพื้นที่ดีขึ้น ไม่ใช่เป็นการคิดไปเอง เพราะโคราชใหญ่มาก มี ๓๒ อำเภอ พื้นที่ใหญ่ความต้องการก็ย่อมไม่เหมือนกัน ซึ่งหากคิดและทำโครงการเหมือนกัน บางอำเภออาจไม่มีความต้องการ ซึ่งทำให้โครงการไม่ใช่ความต้องการของคนในชุมชนจริงๆ” นายหัสดิน กล่าว       

ชุมชนต้องร่วมตรวจสอบ

นายหัสดิน กล่าวต่อไปว่า “อบจ.ต้องมีระบบระเบียบในเรื่องการคอร์รัปชัน ซึ่งถือว่าเป็นเนื้อร้ายจริงๆ ถ้า อบจ.มีงบประมาณ ๔,๐๐๐ ล้าน นำเงินลงไปใช้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย การพัฒนาโคราชจะไปได้ไกล แต่ทุกวันนี้ หากฟังตามคำครหาก็คือ เงินลงไปไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย อีกทั้งพื้นที่จังหวัดนครราชสีมากว้าง ซึ่งแต่ละพื้นที่ได้คนละนิดละหน่อยไม่เต็มที่ก็จะทำให้การพัฒนาเดินทางไปช้า และที่ต้องมีความรัดกุมก็คือ การใช้งบประมาณต้องมีการตรวจสอบ ซึ่งการตรวจสอบจะมาจากการให้ชุมชนเข้ามาตรวจสอบ เนื่องจากเป็นงบประมาณบริหารส่วนท้องถิ่น ต้องให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมมากที่สุดตั้งแต่เริ่มโครงการ สมมุติชาวบ้านเสนอโครงการ ให้งบประมาณลงไป เขาก็จะตรวจสอบเนื่องจากเป็นโครงการของชุมชนเอง หรือแม้ว่าจะเป็นโครงการของนายกฯ ที่สั่งการลงไป ก็ต้องให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบให้มากที่สุด ก็จะทำให้งบประมาณในการพัฒนาที่ลงไปนั้นได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยด้วย” 

สร้างจุดเช็คพ้อยท์ทุกอำเภอ

“สิ่งที่ต้องการฝากนายก อบจ. ก็คือ เรื่องการพัฒนาโคราชโดยองค์รวม เมื่อเป็นนายกฯ ที่ต้องดูแลทั้ง ๓๒ อำเภอ ต้องมีการแบ่งส่วนคือจากพื้นที่ขึ้นมาและการเชื่อมโยงในพื้นที่ เช่น การพัฒนาด้านการท่องเที่ยวที่กลายเป็นสิ่งสำคัญ แม้โคราชจะไม่ค่อยมีนักท่องเที่ยวในพื้นที่จำนวนมาก ซึ่งส่วนมากเป็นนักท่องเที่ยวคนไทย เราจึงต้องพัฒนาเพิ่มขึ้น ต้องเพิ่มจุดเช็คพ้อยท์ ที่ทำให้นักท่องเที่ยวสนใจ ไปที่เขาใหญ่มีจุดเช็คพ้อยท์เยอะๆ ก็จะทำให้คนเดินทางเข้ามา พูดง่ายๆ คือ ผมต้องการให้มีจุดเช้คพ้อยท์เยอะๆ ทุกอำเภอ นั่นคือการกระจายการท่องเที่ยวไปยังอำเภอต่างๆ ไม่ใช่การกระจุกอยู่จุดใดจุดหนึ่ง ต้องการให้สร้างจุดเช็คพ้อยท์ทุกอำเภอ อีกสิ่งหนึ่งคือ การท่องเที่ยวเชิงศรัทธา เช่น วัดต่างๆ พัฒนาให้เป็นจุดท่องเที่ยว หรือบางวัดที่เป็นพุทธพาณิชย์ หรือความเชื่อ เช่น ย่าโม ใครผ่านมาก็ต้องมาแวะสักการะสักครั้ง ส่วนนี้อบจ. น่าจะมีโครงการในพื้นที่ที่เป็นจุดเด่นของแต่ละอำเภอ ทำการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติหรือการท่องเที่ยวเชิงศรัทธาในพื้นที่ ก็จะทำให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจมากขึ้น  ซึ่งนายก อบจ. ต้องมองภาพรวมของจังหวัด โดยทำการพัฒนาผ่านความต้องการของชุมชนในพื้นที่จริงๆ”    

ต้องใช้เงินให้มีประสิทธิภาพ

ต่อข้อถามที่ว่า “นายก อบจ.สมัยที่ผ่านๆ มา มีการบริหารงานที่ถือว่าตอบโจทย์ในการพัฒนาพื้นที่หรือไม่?” นายหัสดิน ตอบว่า “ที่ผ่านมา โครงการไม่ได้เสนอขึ้นมาจากชุมชน ทำให้ไม่เกิดประโยชน์หลัก คือเงินในระบบเศรษฐกิจมีจำกัด ต้องใช้เงินให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลที่สุด อีกทั้งการจัดลำดับของโครงการก็มีความสำคัญ หากมีงบประมาณที่มากเพียงพอก็สามารถทำได้ทุกโครงการ แต่ดูแล้วการจัดลำดับของโครงการในอดีตที่ผ่านมานั้น ไม่ได้มองผลประโยชน์สูงสุดของพื้นที่ เป็นโครงการที่ไม่ตอบสนองต่อพื้นที่ การใช้งบประมาณที่มีอยู่จำกัดยังใช้ไม่ได้เต็มประสิทธิภาพ ซึ่งต้องดูจากพื้นที่จึงจะทำให้โครงการต่างๆ มีประสิทธิภาพสูง และหากควบคุมการทุจริต เรื่องเงินทอนที่รั่วไหลได้ การพัฒนาก็จะเต็มพื้นที่ เงินที่มีอยู่สามารถพัฒนาได้อีกมากมาย”

อบจ.ต้องรับฟังเอกชนบ้าง

เมื่อถามว่า “ต้องการให้ผู้ที่ได้รับเลือกเป็นนายก อบจ.คนใหม่ เข้ามาช่วยหรือมีส่วนร่วมในภาคอุตสาหกรรมอย่างไร” นายหัสดิน เปิดเผยว่า ต้องการแค่ให้เข้ามาช่วยเหลือในเรื่องของโครงการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการดึงนักลงทุนเข้ามาในพื้นที่ มาร่วมกันมองเรื่องผังเมือง เพราะที่ผ่านมา คนที่ทำงานด้านอุตสาหกรรม ทำงานไปก็โวยไป เนื่องจากส่วนราชการมักกำหนดบทบาทของพื้นที่ว่า พื้นที่นั้นทำอะไรได้บ้าง ซึ่งแตกต่างกับการกำหนดว่า พื้นที่ใดทำอะไรไม่ได้บ้าง เช่น พื้นที่สีเขียวจะต้องทำเฉพาะเกษตร ทำไร่ทำนา ห้ามทำอุตสาหกรรมอื่น ซึ่งแบบนี้ถือว่าผิด เพราะนักลงทุนก็จะไม่สามารถเข้าไปทำเรื่องอื่นๆ ได้อีกเลย หากผมต้องการทำโรงงานแปรรูปสินค้าเกษตรส่งออก ไม่ทำลายพื้นที่สีเขียว ก็ไม่สามารถทำได้ ซึ่งปกติแล้ว การทำอุตสาหกรรม เมื่อมีวัตถุดิบอยู่ที่ใด ก็ต้องทำใกล้กับบริเวณนั้น กลับกลายเป็นว่า ทำอะไรไม่ได้สักอย่าง เพราะส่วนราชการกำหนดไว้แล้วว่า พื้นที่นี้ต้องทำเฉพาะการเกษตรเท่านั้น แต่ถ้าเปลี่ยนมา บอกว่า พื้นที่นี้ไม่สามารถทำอะไรได้ เช่น ไม่สามารถประกอบอุตสาหกรรมที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม มีการปล่อยน้ำเน่าเสีย หรือมลพิษออกมา หากกำหนดเช่นนี้ ก็สามารถเข้าใจได้ว่า อะไรทำได้และอะไรทำไม่ได้ วิธีคิดของราชการนั้นไม่เหมือนเอกชน อาจจะตรงกันข้ามด้วยซ้ำไป ราชการจะบอกว่า พื้นที่นี้ทำอะไรได้ ส่วนที่เหลือทำไม่ได้ แต่เอกชนมองว่า คุณต้องมาบอกว่า พื้นที่นี้ทำอะไรไม่ได้ต่างหาก เพราะมาบอกว่าทำได้แต่เรื่องนี้ ซึ่งผมทำอย่างอื่นก็อาจจะไม่ผิดก็ได้ ดังนั้น ต้องการให้ผู้บริหาร อบจ.ชุดใหม่ มาร่วมรับฟังภาคเอกชนบ้าง เราไม่ได้เรียกร้องในสิ่งที่มากเกินไป หากสิ่งที่เราทำมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจริง ก็คงไม่ต้องการทำ

นายหัสดิน กล่าวท้ายสุดว่า เราไม่ได้เลือกตั้งกันมานานแล้ว ต้องการใช้โอกาสนี้ เป็นการออกไปบอก เป็นฉันทามติว่า ประชาชนต้องการคนแบบไหน อย่างการสัมภาษณ์ครั้งนี้ ผมก็ต้องเรียกร้องว่า ต้องการอะไร ซึ่งคำว่า ต้องการอะไรเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ไม่ใช่ว่า เลือกเข้าไปเฉยๆ เลือกเข้าแล้วไปทำอะไร วันนี้ประชาชนต้องส่งเสียงดังๆ ว่า ความต้องการของทุกคนคืออะไร ออกไปใช้สิทธิ์ใช้เสียงให้มาก เพื่อให้บรรยากาศในพื้นที่บ่งบอกว่า คนในพื้นที่นี้เลือกตัวแทนเข้ามาด้วยเสียงถล่มทลาย เพราะพื้นที่ต้องการให้คุณทำตามที่เสนอนโยบายไว้ ไม่ใช่รับปากไว้อย่างหนึ่ง แต่เมื่อเข้าไปแล้วกลับไปทำอีกอย่างหนึ่ง หากเป็นเช่นนี้ ก็คงต้องขอตรวจสอบ ดังนั้น การที่คนออกมาเลือกตั้งจำนวนมาก ถือเป็นการบอกว่า ประชาชนต้องการนโยบายแบบไหน ต้องการใคร วันนี้ประชาชนให้โอกาส แสดงว่า ประชาชนกำลังบอกถึงความต้องการ หากเป็นสิ่งที่ไม่ผิดกฎหมาย ก็ควรจะตอบสนองให้กับประชาชนที่เลือกเข้ามา

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๖ ฉบับที่ ๒๖๕๘ วันพุธที่ ๑๖ - วันอังคารที่ ๒๒ เดือนธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๓

 

967 1390