19thApril

19thApril

19thApril

 

December 30,2020

‘๒ ทางลอด’รองบปี’๖๕ ติดปัญหาสัมปทานตลอดชาติ

อจร.โคราช ประชุมรายงานความคืบหน้าเมกะโปรเจ็กต์ เพื่อพัฒนาระบบจราจรในระยะยาว เผยรถไฟความเร็วสูง รอผลการพิจารณา EIA ยังคืบหน้าตามเป้าหมาย ด้านรถไฟทางคู่ปรับแบบแล้ว คาดแล้วเสร็จปี ๒๕๖๘ เตรียมสร้างระบบขนส่งเชื่อมต่อเพื่อความสะดวกผู้โดยสาร แต่ติดปัญหาผู้ประกอบการสัมปทานรถเมล์ตลอดชาติ ทางลงมอเตอร์เวย์เชื่อมถนนสุรนารี ๒ ได้งบแล้ว ๔๐๐ ล้าน

ตามที่มีการประชุมคณะอนุกรรมการจัดระบบการจราจรทางบกจังหวัดนครราชสีมา (อจร.นม.) ครั้งที่ ๓/๒๕๖๓ โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชน เข้าร่วมประชุมเมื่อวันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๖๓ ที่ห้องประชุมนางสาวบุญเหลือ ชั้น ๒ ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา โดยมีนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา และนายศักดิ์สิทธิ์ สกุลลิขเรศสีมา รองผู้ว่าฯ เข้าร่วมด้วยนั้น

รถไฟความเร็วสูงรอผล EIA

โดยการประชุมมีทั้งหมด ๕ วาระ ซึ่งวาระสำคัญคือ การติดตามความคืบหน้าการประชุมครั้งที่ผ่านมา แผนงาน/โครงการแก้ไขปัญหาจราจรในระยะยาว โดยเริ่มจากวาระที่ ๔.๒.๑ ความคืบหน้าโครงการพัฒนารถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพ-หนองคาย ซึ่งว่าที่ร้อยเอกศุภวัฒน์ ไขยประพันธ์ ผู้แทนกรมการขนส่งทางราง เปิดเผยว่า “โครงการรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา วงเงินการก่อสร้าง ๑๗๙,๔๑๓ ล้านบาท มีระยะทาง ๒๕๒ กิโลเมตร แบ่งเป็นทางยกระดับ ๑๙๐ กิโลเมตร และอุโมงค์ (แก่งคอย-ลำตะคอง) ๕๔.๕ กิโลเมตร มีสถานีทั้งหมด ๖ แห่ง ประกอบด้วย สถานีกลางบางซื่อ สถานีดอนเมือง สถานีอยุธยา สถานีสระบุรี สถานีปากช่อง และสถานีนครราชสีมา สถานภาพปัจจุบันของโครงการส่วนใหญ่ยังอยู่ในกรอบที่วางเอาไว้ โดยการเวนคืนอยู่ระหว่างที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) รอผลการพิจารณา EIA เพื่อออก พ.ร.ฎ.การเวนคืนที่ดิน”

เสร็จแล้ว ๑ สัญญา

“สำหรับความคืบหน้าการก่อสร้าง ปัจจุบันก่อสร้างแล้วเสร็จ ๑ สัญญา คือ สัญญาที่ ๑-๑ งานโยธาช่วงกลางดง-ปางอโศก ระยะทาง ๓.๕ กิโลเมตร และอยู่ระหว่างก่อสร้างอีก ๑ สัญญา คือ สัญญาที่ ๒-๑ งานโยธาช่วงสีคิ้ว-กุดจิก ระยะทาง ๑๑ กิโลเมตร มีความคืบหน้า ๔๖.๓๐% ส่วนความคืบหน้าของสัญญาอื่นๆ มีรายละเอียดดังนี้ ๑.อยู่ระหว่างรอลงสัญญาจ้าง ๔ สัญญา คือ สัญญาที่ ๔-๒ ช่วงดอนเมือง-นวนคร, ๔-๓ ช่วงนวนคร-บ้านโพ, ๔-๕ ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว และ ๔-๖ ช่วงพระแก้ว-สระบุรี ๒.ลงนามก่อสร้างแล้ว ๕ สัญญา ได้แก่ สัญญาที่ ๓-๒ งานอุโมงค์มวกเหล็กและลำตะคอง, ๓-๓ ช่วงบันไดม้า-ลำตะคอง, ๓-๔ ลำตะคอง-สีคิ้ว-กุดจิด-โคกกรวด, ๓-๕ ช่วงโคกกรวด-นครราชสีมา และ ๔-๗ สระบุรี-แก่งคอย ๓.คกร.อนุมัติสั่งจ้างแล้วหรือประกาศผู้ชนะจำนวน ๒ สัญญา คือ สัญญาที่ ๓-๑ ช่วงแก่งคอย-กลางดง และช่วงปางอโศก-บันไดม้า และสัญญาที่ ๔-๔ ศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย ๔.จัดเตรียมเอกสารประกวดราคา สัญญาที่ ๔-๑ ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ๕.สัญญาที่ ๒-๑ รฟท.ลงนามกับรัฐวิสาหกิจ (CRDC และ CRIC) เมื่อวันที่ ๔ กันยายน ๒๕๖๐ ปัจจุบันออกแบบเสร็จแล้ว ๖.สัญญาที่ ๒-๒ การควบคุมงานก่อสร้าง รฟท.ลงนามกับรัฐวิสาหกิจ เมื่อวันที่ ๔ กันยายน ๒๕๖๐ ปัจจุบันรับจ้างและเริ่มดำเนินงานควบคุมการก่อสร้างแล้ว และ ๗.สัญญาที่ ๒-๓ งานระบบราง ระบบไฟฟ้า เครื่องกล และการจัดหาขบวนรถไฟและจัดฝึกอบรมบุคลากร ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ลงนามในสัญญาแล้ว เมื่อวันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๖๓”

โคราช-หนองคายเริ่มคืบคลาน

“สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงเส้นทางนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง ๓๕๖ กิโลเมตร มีสถานีทั้งหมด ๕ สถานี ประกอบด้วย สถานีบัวใหญ่ สถานีบ้านไผ่ สถานีขอนแก่น สถานีอุดรธานี และสถานีหนองคาย มีหน่วยซ่อมบำรุงทาง ๔ แห่ง ประกอบด้วย ๑.บริเวณสถานีรถไฟบ้านมะค่า ๒.สถานีรถไฟหนองเม็ก ๓.สถานีรถไฟโนนสะอาด และ ๔.สถานีรถไฟนาทา ความคืบหน้าปัจจุบัน ได้จัดทำร่างการออกแบบรายละเอียดช่วงนครราชสีมา-บ้านไผ่เสร็จแล้ว และคณะกรรมการตรวจรับฯ เห็นชอบเมื่อวันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๖๓ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างปรับแก้ไขรายละเอียด และอยู่ระหว่างจัดทำร่างแบบรายละเอียดช่วงบ้านไผ่-หนองคาย โดยเบื้องต้นแบ่งระยะเวลาของโครงการได้ดังนี้ ๑.ออกแบบรายละเอียดงานโยธาให้สอดคล้องกับมาตรฐานของจีน ระหว่างเดือนธันวาคม ๒๕๖๒-มีนาคม ๒๕๖๔ ๒.จัดทำรายงาน EIA ระหว่างเดือนธันวาคม ๒๕๖๒-มีนาคม ๒๕๖๔ ๓.ประมาณราคาค่าก่อสร้าง ระหว่างเดือนธันวาคม ๒๕๖๓-มีนาคม ๒๕๖๔ ๔.จัดทำเอกสารและจัดประกวดราคางานโยธา ระหว่างเดือนมกราคม ๒๕๖๔-สิงหาคม ๒๕๖๔ และ ๕.สำรวจและจัดทำร่าง พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดิน ระหว่างเดือนมีนาคม ๒๕๖๔-ตุลาคม ๒๕๖๔” ผู้แทนกรมการขนส่งทางราง กล่าว

‘รถไฟทางคู่’เปิดใช้ปี’๖๘

วาระต่อมา ความคืบหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ และช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี ซึ่งว่าที่ร้อยเอกศุภวัฒน์ ไขยประพันธ์ เปิดเผยว่า รถไฟทางคู่ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง ๑๓๒ กิโลเมตร ปัจจุบันสัญญาที่ ๑ ช่วงมาบกะเบา-คลองขนานจิตร มีความคืบหน้า ๘๒.๗๐% และสัญญาที่ ๓ งานอุโมงค์ มีความคืบหน้า ๕๖.๐๑% ส่วนสัญญาที่ ๒ ที่ผ่านมาพบปัญหาติดขัดช่วงผ่านเมืองนครราชสีมา (ทุบสะพานสีมาธานี) ทำให้เกิดความล่าช้าเป็นพิเศษ ซึ่งบอร์ด รฟท.และกระทรวงคมนาคมเห็นชอบการออกแบบแล้ว อยู่ระหว่างรอความเห็นหน่วยงานประกอบเสนอ ครม. คาดว่ารถไฟทางคู่เส้นทางนี้จะเปิดให้บริการในปี ๒๕๖๘ ส่วนการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลฯ ความคืบหน้าล่าสุดคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เห็นชอบรายงาน EIA ของโครงการแล้ว เมื่อวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๖๓ และ รฟท.อยู่ระหว่างทบทวนจัดลำดับความสำคัญโครงการรถไฟทางคู่ระยะที่ ๒ จำนวน ๖ เส้นทางที่เหลือ ไม่รวมช่วงขอนแก่น-หนองคาย เพื่อเสนอกระทรวงคมนาคมให้ความเห็นชอบก่อนเสนอขออนุมัติโครงการ”

‘LRT สีเขียว’รอผล EIA

ความคืบหน้าโครงการขนส่งระบบขนส่งมวลชนฯ (LRT) สายสีเขียว ตลาดเซฟวัน-สถานคุ้มครองบ้านนารีสวัสดิ์ นางสาวจริยา ทองจันทึก ตัวแทนที่ปรึกษาโครงการ เปิดเผยว่า “ปัจจุบันดำเนินการรับฟังความคิดเห็นภาคประชาชนเสร็จสิ้นแล้ว โดยเริ่มตั้งแต่การลงนามสัญญาเมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๖๒ และมีการดำเนินงานเรื่อยมา กระทั่งสิ้นสุดสัญญาเมื่อวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๓ รวมระยะเวลา ๑๖ เดือน โดยล่าสุดที่ปรึกษาได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ ๒ สรุปผลการศึกษาโครงการ เมื่อวันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๖๓ ถือว่าโครงการมีความก้าวหน้าครบ ๑๐๐% ตรงตามแผนทั้งหมด ส่วนงานที่อยู่ระหว่างดำเนินงานคือ การจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)”

ด้านนายภานุ เล็กสุนทร เจ้าของเพจ “โคราชเมืองที่คุณสร้างได้” สอบถามว่า “ที่ผ่านมาของภูเก็ตมีการยกเลิกการก่อสร้าง และมีข่าวว่าโคราชมีการปรับลดขนาดการลงทุน มีความชัดเจนหรือยัง” ซึ่งนางสาวจริยา ทองจันทึก ตอบว่า “ขณะนี้กำลังศึกษาข้อมูล

ท่าเรือบกได้ไปต่อ

ความคืบหน้าโครงการศึกษาจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port) เพื่อนำไปสู่การเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาค ผู้แทนจาก สนข. เปิดเผยว่า “จากการประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบการบริหารจัดการและขนส่งสินค้า (กบส.) ครั้งที่ ๑/๒๕๖๓ เมื่อวันที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๖๓ มีมติเห็นชอบในหลักการของแผนพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port) ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอการดำเนินโครงการพัฒนาท่าเรือบกใน ๔ จังหวัด ได้แก่ จังหวัดฉะเชิงเทรา ขอนแก่น นครราชสีมา และนครสวรรค์ โดยให้นำความเห็นฝ่ายเลขานุการ และความเห็นคณะกรรมการ กบส. ไปประกอบการพิจารณาตามขั้นตอนต่อไป อีกทั้งในการประชุม ครม. วันที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๖๓ มีมติรับทราบผลการประชุม กบส. ครั้งที่ ๑/๒๕๖๓ ทั้งนี้ สศช. ได้กำหนดการประชุม กบส. ครั้งที่ ๒/๒๕๖๓ ในวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๖๓ เพื่อพิจารณาแนวทางการขับเคลื่อนของกระทรวงคมนาคม”

สร้างโครงข่ายถนนใหม่

ส่วนการพัฒนาโครงข่ายทางถนนเชื่อมโยงสถานีรถไฟความเร็วสูง ผู้แทนกรมทางหลวงชนบท เปิดเผยว่า “ตามที่จังหวัดได้ขอความอนุเคราะห์กรมทางหลวงชนบทสำรวจและออกแบบ ก่อสร้างพัฒนาโครงข่ายทางถนนเชื่อมโยงระหว่างถนนทางหลวงหมายเลข ๒๒๔๓-๒๒๔๗-๒๔๒๒-๒ (มิตรภาพ) กับสถานีรถไฟความเร็วสูงในพื้นที่อำเภอปากช่อง ขณะนี้ สนข.ได้เข้าไปสำรวจเบื้องต้นแล้ว พบว่าพื้นที่ดังกล่าวพาดผ่านพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งจะต้องจัดทำรายงาน EIA และกำลังตั้งงบศึกษาความเหมาะสม เบื้องต้นจะใช้งบประมาณปี ๒๕๖๖”

นายวิเชียร จันทรโณทัย ผวจ.นครราชสีมา กล่าวว่า “ผมคิดว่าปี ๒๕๖๖ อาจจะล่าช้าเกินไป เช่น รถไฟความเร็วสูงมาปี ๒๕๖๘ แต่เรื่องนี้ศึกษาปี ๒๕๖๖ ออกแบบ ๒๕๖๗-๒๕๖๘ และเริ่มก่อสร้าง ๒๕๖๙ คาดว่าจะล่าช้าเกินไป ดังนั้นขอฝากว่า หากนำงบปีนี้มาศึกษาได้ก็น่าจะดี ช่วยย่นระยะเวลาได้ถึง ๒ ปี”

เชื่อมรถไฟ-รถทัวร์

สำหรับความคืบหน้าการเชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะจากสถานีรถไฟนครราชสีมาถึงสถานีขนส่งผู้โดยสารนครราชสีมา นายจรูญ จงไกรจักร ผู้แทนขนส่งจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า “การเชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะรถไฟฟ้ารางเบา (LRT) กับรถโดยสารประจำทาง ในเขตอำเภอเมืองนครราชสีมา สืบเนื่องจากการนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกประจำจังหวัดนครราชสีมา ครั้งที่ ๒/๒๕๖๓ เมื่อวันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๖๓ ซึ่งมติที่ประชุมเห็นชอบให้กำหนดเส้นทางรถโดยสารประจำทางหมวด ๑ ชื่อเส้นทาง สถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดนครราชสีมา แห่งที่ ๒–สถานีรถไฟนครราชสีมา ระยะทาง ๓.๔ กิโลเมตร โดยเส้นทางเริ่มจากสถานีรถไฟนครราชสีมา ผ่านบริเวณห้าแยกหัวรถไฟ วิ่งตามถนนสุรนารี แยกเข้าไปยังสถานีขนส่งผู้โดยสาร แห่งที่ ๑ จากนั้นวิ่งไปที่แยกเทอร์มินอล ๒๑ สถานีขนส่งผู้โดยสาร แห่งที่ ๒ และไปวนกลับมาจากตำบลจอหอ ส่วนขากลับก็วิ่งตามแนวเส้นทางเดิม โดยคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกประจำจังหวัดนครราชสีมา เห็นชอบเส้นทางนี้แล้ว และปัจจุบันอยู่ระหว่างคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางพิจารณา จากนั้นจึงจะกำหนดเป็นเส้นทางเดินรถต่อไป”

นายวิเชียร จันทรโณทัย กล่าวเสริมว่า “เมื่อเร็วๆ นี้จังหวัดได้เชิญผู้ประกอบการเดินรถ เจ้าของสัมปทานเดิมมาร่วมประชุม ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ยอม เพราะเส้นทางที่จังหวัดคิดไปทับกับเส้นทางของเขา เราจึงมีแนวทางที่จะกำหนดเส้นทางใหม่ขึ้นมา ผมสงสัยว่า ผู้ประกอบการเส้นทางเดิมมีโอกาสที่จะยกเลิกได้หรือไม่” ซึ่งนายจรูญ จงไกรจักร ตอบว่า “สำหรับเส้นทางเดินรถเดิม นอกจากผู้ประกอบการขอเลิกเองแล้ว อีกประเด็นหนึ่งคือการเสื่อมประโยชน์ต่อประชาชนที่ใช้บริการ ไม่สามารถจัดหารถมาให้บริการได้”

สัมปทานตลอดชีวิต

นายวิเชียร จันทรโณทัย กล่าวอีกว่า “ปัญหาอยู่ตรงนี้ เราคิดเส้นทางใหม่ไปทับเส้นทางเดิมเพียงนิดเดียวเขาก็ไม่ยอม ซึ่งการที่จังหวัดคิดเพื่ออำนวยความสะดวกประชาชนที่มาใช้บริการรถไฟความเร็วสูง ทำอย่างไรให้เขาไปเดอะมอลล์ เทอร์มินอล ๒๑ ท้ายที่สุดผมสรุปได้ว่า จะทำเป็นรถในลักษณะปิด ซึ่งจากการพูดคุยกับผู้ประกอบการเดินรถ เขาก็บอกว่า ให้จังหวัดซื้อกิจการเขา แต่เมื่อเราบอกให้เขามาลงทุน เขาก็ไม่ยอม บอกให้เลิกทำก็ไม่เลิก จะต้องให้ซื้อกิจการเขาทั้งหมด ดังนั้น เราจึงจะจัดรถ Shultle Bus วิ่งตามแนวเส้นทางที่วางแผนไว้ โดยไม่รับผู้โดยสารระหว่างทาง รับเฉพาะคนที่จะไปสถานีรถไฟ ซึ่งแนวคิดนี้ ผู้ประกอบการก็ไม่ยอม เขาบอกว่า ผู้โดยสารจะต้องนั่งรถของเขา หากทำเส้นนี้เราโดนฟ้องแน่ แต่เราก็ต้องทำ ต้องเตรียมเส้นทางนี้ไว้ เมื่อรถไฟมาแล้วเดี๋ยวประชาชนจะไม่มีรถใช้”

นายศักดิ์สิทธิ์ สกุลลิขเรศสีมา  กล่าวว่า “การที่ผู้ประกอบการได้รับสัมปทานตลอดชีวิต อีก ๑๐๐-๒๐๐ ปีก็ยังคงอยู่ แบบนี้ถือว่าไม่ถูกต้อง บ้านเมืองมีการพัฒนา มีการเปลี่ยนแปลง ก็ต้องเป็นไปตามยุคสมัย คำว่า เสื่อมประโยชน์ต่อประชาชน ต้องมาทำสถิติดูว่า รถสายไหนวิ่งกี่รอบ มีคนขึ้นหรือไม่ ตรงเวลาหรือไม่ สำนักงานขนส่งจะต้องทำสถิตินี้ เพราะบางรายที่ผมเห็นก็วิ่งเพียงวันละรอบ วิ่งเพื่อรักษาสถานภาพเท่านั้น การรักษาสภาพก็ถือเป็นการเสื่อมประโยชน์อย่างหนึ่ง ถ้าเราทำอะไรไม่ได้ก็ต้องแจ้งไปยังส่วนกลาง ให้มีการกำหนดนโยบายใหม่ แบบนี้สามารถทำได้หรือไม่ ไม่ใช่ทำไปตลอดไม่มีสิ้นสุด อีก ๑๐๐ ปีก็ไม่หมดสัมปทาน แบบนี้ถือว่า ไม่ถูกต้อง”

มอเตอร์เวย์เปิดปี’๖๖

ระเบียบวาระที่ ๔.๒.๗ ความคืบหน้าการก่อสร้างถนนมอเตอร์เวย์ บางปะอิน-นครราชสีมา และการสร้างทางเชื่อมต่อทางลงถนนมอเตอร์เวย์กับถนนสุรนารี ๒ ซึ่งผู้แทนกรมทางหลวง เปิดเผยว่า “มอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน–สระบุรี-นครราชสีมา มีขนาด ๔-๖ ช่องจราจร ระยะทาง ๑๙๖ กม. วงเงินลงทุน ๘๔,๖๐๐ ล้านบาท ค่าก่อสร้าง ๗๗,๙๗๐ ล้านบาท ค่าเวนคืน ๖,๖๓๐ ล้านบาท เดิมทีมีแผนดำเนินงานก่อสร้าง ปี ๒๕๕๙-๒๕๖๓ โดยโครงการที่อยู่ในโคราชมี ๒๐ ตอน ระยะทางรวม ๑๐๘.๗๑๗ กม. แล้วเสร็จ ๑๖ กลุ่มงาน ระยะทาง ๗๖.๙๔๓ กม. คงเหลือยังไม่แล้วเสร็จ ๔ โครงการ ระยะทาง ๓๑.๗๗๔ กม. ประกอบด้วยตอนที่ ๑ ช่วงที่ ๒๑ ระยะทาง ๒.๔๒๗ กิโลเมตร ค่าก่อสร้าง ๑,๘๕๐ ล้านบาท รับจ้างงานโดย บริษัท กรุงธนเอนยิเนียร์ จำกัด, ตอนที่ ๒ ช่วงที่ ๒๒ ระยะทาง ๑๒.๓๔๗ กิโลเมตร ค่าก่อสร้าง ๑,๔๔๗ ล้านบาท รับจ้างงานโดย บริษัท บัญชากิจ จำกัด, ตอนที่ ๓ ช่วงที่ ๒๓ ระยะทาง ๘.๙ กิโลเมตร ค่าก่อสร้าง ๑,๖๔๐ ล้านบาท รับจ้างงานโดย หจก.กิจรุ่งเรืองก่อสร้าง และตอนที่ ๔ ช่วงที่ ๒๔ ระยะทาง ๘.๑ กิโลเมตร ค่าก่อสร้าง ๑,๒๔๐ ล้านบาท รับจ้างงานโดย หจก.แพร่วิศวกรรม ทั้งนี้คาดว่า ตอนที่ ๒-๓-๔ จะแล้วเสร็จต้นปี ๒๕๖๔ ส่วนตอนที่เหลือซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อกับเขตจังหวัดสระบุรี มีการปรับแก้ไขแบบและของบประมาณเพิ่มเติม คาดว่าจะเปิดใช้ทั้งโครงการได้ประมาณปี ๒๕๖๖ ส่วนความคืบหน้าโครงการก่อสร้างทางเชื่อมมอเตอร์เวย์ ตอนที่ ๔๐ กับถนนทางหลวงชนบท นม.๑๑๒๐ (สุรนารี ๒) ขณะนี้ได้รับงบประมาณปี ๒๕๖๔ จำนวน ๔๐๐ ล้านบาท และอยู่ระหว่างหาผู้รับจ้าง”

‘๒ ทางลอด’รองบปี’๖๕

“ในส่วนของความคืบหน้าอุโมงค์ทางลอดแยกประโดก และทางลอดแยกเทอร์มินอล ๒๑ ซึ่งทั้ง ๒ แห่งทำการมีส่วนร่วมของประชาชนเสร็จแล้ว ขณะนี้รอเพียงการเสนอขอรับงบประมาณปี ๒๕๖๕ ซึ่งจะก่อสร้างเพื่อให้แล้วเสร็จพร้อมกัน ขณะเดียวกันโครงการทางหลวงหมายเลข ๒๙๐ ถนนวงแหวนรอบเมืองนครราชสีมา ระยะทางรวมทั้งสิ้น ๑๑๐ กม. ความคืบหน้าล่าสุดดังนี้ ๑.แล้วเสร็จ ๓๑.๙๔ กม. คือ เส้นทิศใต้ตอนที่ ๑ กม.๐+๐๐๐–กม.๑๗+๙๔๑ ระยะทาง ๑๗.๙ กิโลเมตร และทิศใต้ตอนที่ ๒ กม.๒+๔๐๐–กม.๑๖+๕๐๐BK./๐+๐๐๐ AHD.๑๒+๕๒๓.๔๘๖ ระยะทาง ๑๔ กิโลเมตร ๒.กำลังก่อสร้าง ๕๔.๒๕ กม. ประกอบด้วยทิศเหนือตอนที่ ๑ ทิศเหนือตอนที่ ๒ และทิศใต้ตอนที่ ๕ และ ๓.ได้รับงบประมาณปี ๒๕๖๓ ๒๙.๐๐ กม. ประกอบด้วย ทิศเหนือตอนที่ ๓ และทิศใต้ตอนที่ ๔ ทั้งนี้คาดว่าจะแล้วเสร็จทั้งโครงการภายในปี ๒๕๖๗”

แยกหัวทะเลส่อล่ม

“สำหรับโครงการสำรวจและออกแบบทางแยกต่างระดับจุดตัดทางหลวงหมายเลข ๒๒๔ กับทางหลวงหมายเลข ๒๒๖ แยกหัวทะเล ปัจจุบันทำการมีส่วนร่วมของประชาชนไปแล้ว ๒ ครั้ง โดยที่ปรึกษาโครงการได้นำทางเลือกการออกแบบเส้นทางไปเสนอให้ประชาชนเลือก ๔ รูปแบบ ซึ่งที่ปรึกษาได้กำหนดรูปแบบทางเลือกที่ ๑ เป็นการก่อสร้างสะพานยกระดับด้านเดียว เส้นทางจากถนนหมายเลข ๒๒๖ มายังในเมือง ซึ่งจากการประชุมการมีส่วนร่วม ประชาชนไม่เห็นด้วยทั้ง ๒ ครั้ง เนื่องจากไม่ต้องการสะพาน แต่ถ้าออกแบบเป็นทางราบ ก็มีแนวโน้นไปในทิศทางที่ดี ส่วนประเด็นการทำอุโมงค์ทางลอดนั้น ด้วยลักษณะแอ่งกระทะ ทำให้มีปัญหาน้ำท่วมบ่อยครั้ง จึงไม่สามารถทำได้ หลังจากนี้จะมีการจัดประชุมการมีส่วนร่วมของประชาชนอีก ๒ ครั้ง โดยครั้งต่อไปจะจัดขึ้นในเดือนมกราคม ๒๕๖๔ ซึ่งที่ปรึกษาจะนำรูปแบบที่ ๑ ไปปรับปรุงและลงรายละเอียด ส่วนการประชุมครั้งสุดท้ายเป็นการสรุปผลการมีส่วนร่วมของประชาชน” ผู้แทนกรมทางหลวง กล่าวทิ้งท้าย


1010 1398