26thApril

26thApril

26thApril

 

April 20,2017

กกพ.ปรับค่าเอฟทีในรอบ ๒ ปี สะท้อนต้นทุนที่สูงขึ้น

 
นายวีระพล จิรประดิษฐกุล

              คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีมติเห็นชอบให้ปรับค่าเอฟทีงวดเดือนพฤษภาคมถึงสิงหาคม ๒๕๖๐ ที่ -๒๔.๗๗ สตางค์ต่อหน่วย เพิ่มขึ้นจากงวดที่แล้วเดือนมกราคมถึงเมษายน ๒๕๖๐ เท่ากับ ๑๒.๕๒ สตางค์ต่อหน่วย เพื่อสะท้อนภาระต้นทุนที่ปรับสูงขึ้น

              นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยภายหลังจากการประชุม ว่า กกพ. ได้พิจารณาผลการคำนวณค่าเอฟทีสำหรับการเรียกเก็บในงวดเดือน พฤษภาคม-สิงหาคม ๒๕๖๐ ที่ -๑๙.๔๖ สตางค์ต่อหน่วย ปรับเพิ่มขึ้นจากงวดก่อน ๑๗.๘๓ สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งเป็นไปตามที่คาดการณ์ในการพิจารณาค่าเอฟทีครั้งก่อนที่คาดว่าจะมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่องจนถึงสิ้นปีนี้ และมีผลทำให้ค่าไฟฟ้าปีนี้อยู่ในช่วงขาขึ้นด้วย โดยสาเหตุหลักมาจากราคาก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้ามีการปรับตัวสูงขึ้นตามรอบการปรับราคาตามสัญญาจากทั้งอ่าวไทยและพม่า และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปีนี้ ดังนั้นเพื่อไม่ให้ค่าเอฟทีมีความผันผวนมากเกินไป กกพ. จึงมีมติปรับลดค่าเอฟทีจากที่คำนวณได้ในงวด พฤษภาคม - สิงหาคม ๒๕๖๐ ลงมาอยู่ที่ -๒๔.๗๗ สตางค์ต่อหน่วย หรือเพิ่มขึ้นจากงวดก่อนเพียง ๑๒.๕๒ สตางค์ต่อหน่วย โดยปรับลดค่าเชื้อเพลิงในช่วงที่แหล่งก๊าซยาดานา ประเทศพม่า หยุดซ่อมเมื่อวันที่ ๒๕ มีนาคม - ๒ เมษายน ๒๕๖๐ เนื่องจากความต้องการใช้ไฟฟ้าที่ลดลง ๑.๐๕ สตางค์ต่อหน่วย และนำเงินค่าปรับและค่าชดเชยต่างๆ ที่ได้รับจากการบริหารสัญญาจัดหาเชื้อเพลิงและสัญญาซื้อขายไฟฟ้าต่างๆ มาลดค่าเอฟทีอีก ๔.๒๖ สตางค์ต่อหน่วย

              นอกจากนี้ โฆษก กกพ. ยังได้กล่าวสรุปถึงปัจจัยอื่นที่มีผลกระทบต่อราคาเชื้อเพลิงและการผลิตไฟฟ้าในช่วงเดือน พฤษภาคม - สิงหาคม ๒๕๖๐ ดังนี้

๑. อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทแข็งค่ากว่าช่วง มกราคม - เมษายน ๒๕๖๐ อยู่ที่ ๐.๑๐ บาทต่อเหรียญสหรัฐ โดยใช้อัตราแลกเปลี่ยนขายถัวเฉลี่ยธนาคารแห่งประเทศไทยที่เกิดขึ้นจริงเฉลี่ยเดือน กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ ที่ ๓๕.๑๙ บาทต่อเหรียญสหรัฐ

๒. ความต้องการพลังงานไฟฟ้าในช่วงเดือน พฤษภาคม - สิงหาคม ๒๕๖๐ เท่ากับ ๖๘,๑๙๘ ล้านหน่วย ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดือน มกราคม-เมษายน ๒๕๖๐ เท่ากับ ๕,๘๕๓ ล้านหน่วย คิดเป็นร้อยละ ๙.๓๙

๓. สัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงการผลิตไฟฟ้าในช่วงเดือน พฤษภาคม - สิงหาคม ๒๕๖๐ ยังคงใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลัก ร้อยละ ๖๕.๑๔ รองลงมาเป็นรับซื้อไฟฟ้าจากลาว ร้อยละ ๑๐.๗๐ ถ่านหินนำเข้า ร้อยละ ๘.๕๘ และลิกไนต์ ร้อยละ ๘.๕๕

หมายเหตุ : อื่นๆ ประกอบด้วย SPPs Coal และ Non Firm SPPs

          ๔. แนวโน้มราคาเชื้อเพลิง คาดว่าราคาก๊าซธรรมชาติรวมค่าผ่านท่อ อยู่ที่ ๒๔๔.๕๘ บาทต่อล้านบีทียู ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากงวดที่ผ่านมา ๙.๓๕ บาทต่อล้านบีทียู ราคาน้ำมันเตาอยู่ที่ ๑๒.๔๗ บาทต่อลิตร ปรับตัวลดลง ๓.๓๙ บาทต่อลิตร ส่วนราคาน้ำมันดีเซลอยู่ที่ ๒๐.๗๗ บาทต่อลิตร ปรับเพิ่มขึ้น ๐.๐๙ บาทต่อลิตร ราคาถ่านหินนำเข้าเฉลี่ยของโรงไฟฟ้าเอกชนอยู่ที่ ๒,๕๕๔.๗๙ บาทต่อตัน ปรับลดลง ๘.๐๒ บาทต่อตัน และราคาลิกไนต์ กฟผ. อยู่ที่ ๖๙๓ บาทต่อตัน ไม่เปลี่ยนแปลง

 

 

          สำหรับค่าใช้จ่ายในการส่งเสริมการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนตามนโยบายของภาครัฐ  ในส่วน Adder และ FiT ในเดือน พฤษภาคม - สิงหาคม ๒๕๖๐ ได้ปรับเพิ่มขึ้นจาก ๑๓,๑๔๘.๑๐ ล้านบาทในงวดที่แล้ว มาอยู่ที่ ๑๓,๕๓๖.๔๑ ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น ๓๘๘.๓๒ ล้านบาท แต่เนื่องจากจำนวนหน่วยไฟฟ้าในงวดเดือน พฤษภาคม - สิงหาคม ๒๕๖๐ มีสูงขึ้น ดังนั้นเมื่อเทียบเป็นอัตราต่อหน่วยแล้วจะทำให้อัตราการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในงวดเดือน พฤษภาคม - สิงหาคม ๒๕๖๐ ซึ่งอยู่ที่ ๒๑.๗๗ สตางค์ต่อหน่วย ลดลงจากงวด มกราคม - เมษายน ๒๕๖๐ ที่ ๒๒.๙๗ สตางค์ต่อหน่วย เท่ากับ ๑.๒๐ สตางค์ต่อหน่วย

          จากการปรับลดค่าเอฟทีเรียกเก็บงวดเดือน พฤษภาคม - สิงหาคม ๒๕๖๐ ในอัตรา -๒๔.๗๗ สตางค์ต่อหน่วย เพิ่มขึ้นจากงวดที่แล้ว ๑๒.๕๒ สตางค์ต่อหน่วย จะมีผลทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยผู้ใช้ไฟฟ้าทุกประเภทอยู่ที่ ๓.๕๐๗๙ บาทต่อหน่วย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) หรือคิดเป็นร้อยละ ๓.๗๐ ของค่าไฟฟ้าทั้งหมด ซึ่งจากมติ กกพ. ดังกล่าวข้างต้น สำนักงาน กกพ. จะเผยแพร่รายละเอียดทั้งหมดผ่านทาง www.erc.or.th  เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ตั้งแต่วันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๒๕๖๐ - ๓ พฤษภาคม ๒๕๒๕๖๐ เวลา ๑๒.๐๐ น. ก่อนที่จะนำผลการรับฟังความคิดเห็น มาพิจารณาและให้การไฟฟ้าประกาศเรียกเก็บค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับค่าเอฟทีสำหรับเรียกเก็บในรอบดังกล่าวอย่างเป็นทางการต่อไป

 


702 1343