26thApril

26thApril

26thApril

 

May 17,2017

บีโอไอชี้เอกชนลงทุน ๕๗๐,๐๐๐ ล. บริษัทชั้นนำโลกตั้งฐานผลิตในไทย

            “บีโอไอ” เผยเอกชนทุ่มลงทุนจริงแล้วกว่า ๕๗๐,๐๐๐ ล้านบาท มีทั้งบริษัทชั้นนำของไทยและต่างชาติ ทั้งรายเดิมและรายใหม่ที่ลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย มั่นใจภายใน ๓ ปี จะเกิดการลงทุนจริงอีกไม่น้อยกว่า ๑ ล้านล้านบาท เดินหน้าจัดกิจกรรมโรดโชว์ชักจูงการลงทุนต่อเนื่อง

            นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยถึงภาพรวมการลงทุนตั้งแต่ปี ๒๕๕๙ ถึงไตรมาสแรกคือเดือนมีนาคม ๒๕๖๐ ว่า เกิดการลงทุนจริงแล้วคิดเป็นมูลค่ารวมกว่า ๕๗๐,๐๐๐ ล้านบาท และคาดว่าจะเกิดการลงทุนจริงจากโครงการ อื่นๆ ในช่วง ๑-๓ ปีนี้ อีกไม่น้อยกว่า ๑ ล้านล้านบาท โดยในช่วงที่ผ่านมา มีโครงการลงทุนทั้งกิจการของคนไทย และจากต่างประเทศ ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ ได้แก่ กลุ่มนักลงทุนไทย เช่น บริษัท กรุงเทพ สเต็มเซลล์ วิจัยและพัฒนา จำกัด ทำการวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงเซลล์ต้นกำเนิด เพื่อใช้ในการรักษาโรคมะเร็ง, บริษัท ไทยยานยนต์ไฟฟ้า จำกัด ทำการวิจัยพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า และบริษัท อินทรีดิจิตอล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทของคนไทยที่พัฒนาซอฟต์แวร์ขนาดใหญ่สำหรับบริหารจัดการองค์กรขนาดใหญ่ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มบริษัทใหม่ๆ จากต่างประเทศ ที่เข้ามาลงทุนในไทย ได้แก่ บริษัท อีเลฟเว่น สตรีท (๑๑Street) จากเกาหลีใต้ เข้ามาลงทุนกิจการซอฟต์แวร์และอีคอมเมิร์ซ ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของบริษัท SK Group บริษัทชั้นนำใหญ่เป็นอันดับ ๓ ของประเทศเกาหลีใต้ ที่มีบริษัทในเครือหลายอุตสาหกรรม เช่น พลังงาน เคมีภัณฑ์ ไอที และธุรกิจบริการ และการลงทุนในครั้งนี้ ถือเป็นการลงทุนในไทยครั้งแรกของบริษัท  


นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)

            “สำหรับบริษัทชั้นนำรายเดิมที่มีการลงทุนอยู่แล้ว และได้ขยายการลงทุนเพิ่มในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ปัจจุบันไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์เกือบทุกค่าย ขณะเดียวกันก็มีบริษัทผู้ผลิตยางรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของโลกทุกรายได้เข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทยแล้ว และขยายการลงทุนเพิ่ม เช่น บริษัท สยามมิชลิน จำกัด ขยายกิจการผลิตยางเรเดียลสำหรับยานพาหนะ, บริษัท คอนติเนนทอล ไทร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ขยายกิจการผลิตยางเรเดียล และบางรายได้ขยายไปสู่การผลิตยางล้ออากาศยาน เช่น บริษัท บริดจสโตน สเปเชียลตี้ไทร์ แมนูแฟค เจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ขยายกิจการผลิตยางล้ออากาศยาน และบริษัท กู๊ดเยียร์ (ประเทศไทย) จำกัด ขยายกิจการผลิตยางล้ออากาศยาน ขณะที่ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ชั้นนำของโลกอย่างบริษัท โรเบิร์ตบ๊อช ออโตโมทีฟเทคโนโลยีส์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเข้ามาลงทุนในไทยระยะเวลายาวนาน ก็ได้ขยายการลงทุนไปสู่กิจการวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ และมีการพัฒนาบุคลากรด้านยานยนต์ของไทย เป็นต้น หรือในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ บริษัท มินิแบฯ ซึ่งนอกจากขยายการลงทุนผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์แล้ว ยังขยายการลงทุนไปสู่การผลิตชิ้นส่วนอากาศยานด้วย และบริษัท โซนี่ฯ ก็ได้ขยายการลงทุนไปผลิตสมาร์ทโฟนและชิ้นส่วนด้วยเช่นกัน” เลขาธิการ บีโอไอ กล่าว

            นอกจากนี้ ในด้านกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี บริษัท ชิน-เอทสุ ซิลิโคนส์ฯ ผู้ผลิตซิลิโคนส์อันดับหนึ่งจากประเทศญี่ปุ่น มีการขยายการลงทุนครั้งที่ ๓ ของบริษัท และทำให้ประเทศไทยเป็นการขยายฐานที่ใหญ่กว่าในประเทศญี่ปุ่น เพื่อทำการผลิตพอลิเมอร์ชนิดพิเศษ และบริษัท เอ็กซ์พาลแกน ผู้ผลิตกรดแลคติก ได้ต่อยอดไปสู่การผลิตพลาสติกชีวภาพย่อยสลายได้ในประเทศไทย เป็นต้น

            นางหิรัญญา กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับภาพรวมของการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนในช่วง ๓ เดือนปีนี้มีจำนวน ๒๙๓ โครงการมูลค่าเงินลงทุน ๖๑,๙๘๐ ล้านบาท โดยเป็นโครงการลงทุนใหม่ ๑๘๒ โครงการ เงินลงทุนรวม ๔๒,๔๕๒ ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ ๖๘ ของเงินลงทุนทั้งสิ้น และเป็นโครงการขยายจากกิจการเดิมที่ได้ลงทุนแล้ว ๑๑๑ โครงการเงินลงทุน ๑๙,๕๒๘ ล้านบาทหรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ ๓๒ ของเงินลงทุนทั้งสิ้น นอกจากนี้ ยังพบว่า ร้อยละ ๕๕ ของมูลค่าการขอรับส่งเสริมการลงทุนเป็นกิจการที่อยู่ใน ๑๐ อุตสาหกรรมเป้าหมาย ตามนโยบายรัฐบาล เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (New S Curve) จำนวน ๗๖ โครงการ เงินลงทุนรวม ๗,๘๐๐ ล้านบาท เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายเดิม (First S Curve) จำนวน ๑๔๒ โครงการ เงินลงทุนรวม ๓๔,๓๐๐ ล้านบาท

            “ในช่วงไตรมาสที่เหลือของปีนี้ บีโอไอจะติดตามสถานการณ์การลงทุนอย่างใกล้ชิด โดยมั่นใจว่าหลังจากนักลงทุนได้ทราบรายละเอียดและความชัดเจนของการส่งเสริมการลงทุนตามพ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุนฉบับแก้ไขใหม่ และพ.ร.บ.การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งจะมีการให้สิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้น จะทำให้การขอรับส่งเสริมการลงทุนจะเพิ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงไตรมาส ๒ ของปีนี้ ทั้งนี้ ในช่วงไตรมาสแรกของปี ๒๕๖๐ บีโอไอได้พบปะหารือกับคณะนักลงทุนจากต่างประเทศที่แสดงความสนใจจะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย รวม ๑๒ คณะ จาก ๘ ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน สิงคโปร์ อินเดีย สวิตเซอร์แลนด์ แอฟริกาใต้ บราซิล และเนปาล รวมจำนวนนักลงทุน ๑๒๔ ราย ซึ่งมีความสนใจจะลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตร รถยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนกิจการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ พลาสติก แม่พิมพ์ ยา เหล็ก ซอฟต์แวร์ และสนใจการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก

            นางหิรัญญา สุจินัย กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ในเดือนพฤษภาคมนี้ สำนักงานบีโอไอในต่างประเทศ จะนำคณะนักธุรกิจนักลงทุนเดินทางมาร่วมดูลู่ทางการลงทุน และเยี่ยมชมพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)และร่วมกิจกรรมจับคู่ธุรกิจภายในงาน ซับคอน ไทยแลนด์ ๒๐๑๗ รวมจำนวนกว่า ๑๒ คณะ จำนวนรวมประมาณ ๔๐๐ ราย อาทิ จากประเทศญี่ปุ่น จีน เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส อิตาลี อังกฤษ สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ และอินเดีย เป็นต้น รวมทั้งระหว่างเดือนพฤษภาคม–กันยายน ๒๕๖๐ บีโอไอยังมีกิจกรรมเดินสายชักจูงการลงทุนในประเทศเป้าหมายรวมอีก ๒๑ ครั้ง อาทิ จีน ญี่ปุ่น อินเดีย เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา กลุ่มประเทศในยุโรป และออสเตรเลีย


 นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๒ ฉบับที่ ๒๔๓๓ วันอังคารที่ ๑๖ - วันเสาร์ที่ ๒๐ เดือนพฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๐


689 1342