1stMay

1stMay

1stMay

 

January 01,1970

‘บีโอไอ’สรุปผลลงทุนปี ๖๐ อีสานอนุมัติ ๑๓,๖๙๖ ล. โคราช-บุรีรัมย์-ขอนแก่น’โดดเด่น

         สรุปผลขอรับการลงทุนทั้งประเทศ ๑,๔๕๖ โครงการ มูลค่า ๖๔๑,๙๗๘ ล้านบาท ภาคอีสานได้รับอนุมัติ ๖๐ โครงการ เป็นเงิน ๑๓,๖๙๖ ล้านบาท โคราชมาอันดับ ๑ จำนวน ๔๒ โครงการ ๗,๑๙๔ ล้านบาท การจ้างงาน ๑,๙๘๗ คน ตามมาด้วยบุรีรัมย์  ๒๑ โครงการ ๑,๙๙๔ ล้านบาท และขอนแก่น ๑๒ โครงการ เงินลงทุน ๑,๐๐๙ ล้านบาท 

         เมื่อเร็วๆ นี้ ศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ ๒ (บีโอไอ นครราชสีมา) รายงานภาวะการส่งเสริมการลงทุน ปี ๒๕๖๐ (มกราคม-ธันวาคม) ซึ่งภาพรวมการส่งเสริมการลงทุนทั้งประเทศปี ๒๕๖๐ มีจำนวนทั้งสิ้น ๑,๔๕๖ โครงการ เงินลงทุน ๖๔๑,๙๗๘ ล้านบาท ส่วนการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือในปี ๒๕๖๐ มีจำนวน ๑๐๗ โครงการ เงินลงทุน ๑๙,๙๒๔ ล้านบาท โดยการอนุมัติให้การส่งเสริมรวมทั้งประเทศ จำนวน ๑,๒๒๗ โครงการ เงินลงทุน ๖๕๐,๐๘๐ ล้านบาท สำหรับการอนุมัติให้การส่งเสริมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน ๖๐ โครงการ เงินลงทุนจำนวน ๑๓,๖๙๖ ล้านบาท ส่วนการออกบัตรส่งเสริม รวมทั้งประเทศในปี ๒๕๖๐ มีจำนวน ๑,๒๙๔ โครงการ และมีมูลค่าเงินลงทุน ๗๓๒,๐๓๐ ล้านบาท ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในปี ๒๕๖๐ จำนวน ๘๔ โครงการ เงินลงทุน ๓๖,๓๘๐ ล้านบาท


          สำหรับคำขอรับการส่งเสริมจำแนกตามอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปี ๒๕๖๐ มีการขอรับการส่งเสริม จำนวน ๑๐๗ โครงการ มูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น ๑๙,๙๒๔ ล้านบาท อุตสาหกรรมเป้าหมาย จำนวน ๗๔ โครงการ คิดเป็นร้อยละ ๖๙ ของโครงการที่ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุน และมีมูลค่าลงทุนทั้งสิ้น ๑๑,๒๑๕ ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ ๕๖ ของมูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุน หากพิจารณาในแง่ของจำนวนโครงการพบว่าส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมเกษตร ซึ่งจำนวนโครงการและมูลค่าของเงินลงทุนสูงสุด โดยมีรายละเอียดดังนี้ ๑.อุตสาหกรรมการเกษตร มีคำขอรับการส่งเสริมการลงทุน ๖๐ โครงการ เงินลงทุน ๑๐,๕๑๘ ล้านบาท ได้แก่ กิจการขยายพันธุ์ปศุสัตว์หรือสัตว์น้ำ (เลี้ยงไก่เนื้อ) กิจการคัดคุณภาพ บรรจุ เก็บรักษา พืชผัก ผลไม้ หรือดอกไม้ กิจการผลิตหรือถนอมอาหาร เครื่องดื่ม วัตถุเจือปนอาหาร หรือสิ่งปรุงแต่งอาหาร ๒.อุตสาหกรรมผลิตเครื่องจักร มีคำขอรับการส่งเสริมการลงทุน จำนวน ๗ โครงการ เงินลงทุน ๔๒๗ ล้านบาท ๓.อุตสาหกรรมดิจิทัล มีคำขอรับการส่งเสริม ๔ โครงการ เงินลงทุน ๑๗ ล้านบาท ได้แก่ กิจการซอฟต์แวร์ และ ๔.อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์โทรคมนาคม มีคำขอรับการส่งเสริม ๓ โครงการ เงินลงทุน ๒๕๓ ล้านบาท


          ในขณะที่การขอรับการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือแยกตามประเภทกิจการ ได้แก่ ๑.หมวดเกษตรกรรมและผลิตผลทางการเกษตร ได้รับความสนใจลงทุนมากที่สุดในภาคอีสาน ในปี ๒๕๖๐ ซึ่งส่วนใหญ่ ได้แก่ กิจการขยายพันธุ์ปศุสัตว์หรือสัตว์น้ำ (เลี้ยงไก่เนื้อ) กิจการคัดคุณภาพ บรรจุ เก็บรักษา พืชผัก ผลไม้หรือดอกไม้ กิจการผลิตหรือถนอมอาหาร เครื่องดื่ม วัตถุเจือปนอาหาร หรือสิ่งปรุงแต่งอาหาร มีคำขอรับการส่งเสริมจำนวน ๖๐ โครงการ เงินลงทุน ๑๐,๕๑๘ ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ ๕๖ ของจำนวนโครงการทั้งหมด รองลงมา ได้แก่ หมวดบริการและสาธารณูปโภค มีคำขอรับการส่งเสริม ๒๑ โครงการ มูลค่าการลงทุนรวม ๗,๓๖๕ ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ ๒๐ ของจำนวนโครงการทั้งหมด โดยแยกเป็น กิจการบริการและสาธารณูปโภค ๒๑ โครงการ เงินลงทุนจำนวน ๗,๓๖๕ ล้านบาท, อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ๗ โครงการ เงินลงทุน ๒๗๐ ล้านบาท, อุตสาหกรรมชิ้นส่วนโลหะ อุปกรณ์ขนส่งจำนวน ๗ โครงการ เงินลงทุน ๔๒๗ ล้านบาท, อุตสาหกรรมเบา ๖ โครงการ เงินลงทุนจำนวน ๒๗๕ ล้านบาท, เคมีภัณฑ์ พลาสติก และกระดาษ ๓ โครงการ เงินลงทุน ๖๐๗ ล้านบาท, เหมืองแร่เซรามิกส์ โลหะขั้นพื้นฐาน ๒ โครงการ เงินลงทุน ๑๑๙ ล้านบาท และการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมจำนวน ๑ โครงการ เงินลงทุนจำนวน ๓๔๓ ล้านบาท รวมโครงการทั้งสิ้น ๑๐๗ โครงการ และเงินลงทุนจำนวน ๑๙,๙๒๔ ล้านบาท


          อย่างไรก็ตาม ในจำนวนโครงการที่ยื่นขอรับการส่งเสริมนี้ เป็นโครงการคนไทยถือหุ้นทั้งสิ้น มีจำนวน ๘๕ โครงการ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ ๗๙ ของจำนวนโครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนทั้งหมด เงินลงทุน ๑๔,๙๕๐ ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ ๗๕ ของมูลค่าการลงทุนทั้งหมด, โครงการต่างชาติลงทุนทั้งสิ้น มีจำนวน ๑๓ โครงการ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ ๑๒ ของจำนวนโครงการ เงินลงทุน ๓,๘๔๓ ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ ๑๙ ของมูลค่าการลงทุนทั้งหมด และโครงการร่วมหุ้นทั้งสิ้น มีจำนวน ๙ โครงการ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ ๘ ของจำนวนโครงการ เงินลงทุน ๑,๑๓๑ ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ ๖ ของมูลค่าการลงทุนทั้งหมด


          สำหรับที่ตั้งโครงการลงทุนนั้นกระจุกตัวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างมากที่สุด จำนวน ๘๑ โครงการ คิดเป็นร้อยละ ๗๖ ของจำนวนโครงการทั้งหมด เงินลงทุน ๑๓,๗๘๐ ล้านบาท การจ้างงาน ๒,๘๓๒ คน โดยอยู่ในจังหวัดนครราชสีมา จำนวน ๔๒ โครงการ เงินลงทุน ๗,๑๙๔ ล้านบาท การจ้างงาน ๑,๙๘๗ คน จังหวัดบุรีรัมย์เป็นอันดับที่ ๒ โดยมีคำขอรับการส่งเสริม ๒๑ โครงการ เงินลงทุน ๑,๙๙๔ ล้านบาท จังหวัดขอนแก่นมีมากเป็นอันดับ ๓ โดยมีคำขอรับการส่งเสริม ๑๒ โครงการ เงินลงทุน ๑,๐๐๙ ล้านบาท 


          นอกจากนี้ ในการขอรับส่งเสริมตามมาตรการพิเศษของภาคอีสาน ประจำปี ๒๕๖๐ แยกเป็นโครงการขอรับการลงทุนตามมาตรการเพิ่มขีดความสามารถ ๑.โครงการขอรับการส่งเสริมการลงทุนตามมาตราการเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) จำนวน ๓๐ โครงการ เงินลงทุน ๒,๗๙๖ ล้านบาท การจ้างงาน ๖๒๒ คน ส่วนใหญ่เป็นโครงการเลี้ยงไก่เนื้อ ๒.โครงการขอรับการส่งเสริมการลงทุนตามมาตราการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตเครื่องจักร จำนวน ๑ โครงการ เงินลงทุน ๘๒ ล้านบาท การจ้างงาน ๒๔๖ คน ส่วนใหญ่เป็นโครงการเลี้ยงไก่เนื้อ ๓.โครงการขอรับส่งเสริมการลงทุนตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อการประหยัดพลังงาน การใช้พลังงานทดแทน หรือการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จำนวน ๗ โครงการ เงินลงทุน ๒๘๔ ล้านบาท การจ้างงาน ๘,๐๕๔ คน และ ๔.โครงการขอรับส่งเสริมการลงทุนตามนโยบายส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (MEDICAL HUB) จำนวน ๑ โครงการ เงินลงทุน ๑๔๖ ล้านบาท การจ้างงาน ๕๔ คน


          สำหรับโครงการที่อนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปี ๒๕๖๐ มีการอนุมัติการส่งเสริมจำนวน ๖๐ โครงการ มูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น ๑๓,๖๙๖ ล้านบาท อุตสาหกรรมเป้าหมาย จำนวน ๒๘ โครงการ คิดเป็นร้อยละ ๔๖ ของโครงการที่อนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุน และมีมูลค่าลงทุนทั้งสิ้น ๕,๐๑๑ คิดเป็นร้อยละ ๓๖ ของมูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุน โครงการที่อนุมัติให้การส่งเสริมที่สำคัญและสอดคล้องกับนโยบายภาครัฐ ในปี ๒๕๖๐ ได้แก่ อุตสาหกรรมเกษตร จำนวน ๑๖ โครงการ เงินลงทุน ๔,๓๗๐ ล้านบาท ได้แก่ กิจการผลิตแป้งแปรรูป กิจการผลิตอาหารพร้อมรับประทาน กิจการเลี้ยงไก่เนื้อ กิจการเลี้ยงสุกรเนื้อ กิจการคัดคุณภาพข้าว กิจการผลิตก๊าซชีวภาพ, อุตสาหกรรมดิจิทัล มีจำนวน ๓ โครงการ เงินลงทุน ๗ ล้านบาท ได้แก่ กิจการซอฟต์แวร์, อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ มีจำนวน ๓ โครงการ เงินลงทุน ๒๕๓ ล้านบาท และอุตสาหกรรมผลิตเครื่องจักร มีจำนวน ๕ โครงการ เงินลงทุน ๓๓๐ ล้านบาท 


          โดยโครงการที่ได้รับอนุมัติตามมาตราการเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) จำนวน ๑๐ โครงการ เงินลงทุน ๖๑๙ ล้านบาท การจ้างงาน ๒๓๒ คน ส่วนใหญ่เป็นโครงการเลี้ยงไก่เนื้อ เลี้ยงสุกรเนื้อ กิจการซอฟต์แวร์, โครงการที่ได้รับอนุมัติตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อการประหยัดพลังงาน การใช้พลังงานทดแทน หรือการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จำนวน ๓ โครงการ เงินลงทุน ๗๕ ล้านบาท และโครงการที่ได้รับอนุมัติตามมาตรการเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(SMEs) กิจการ พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวชุมชน จำนวน ๑ โครงการ เงินลงทุน ๕๒ ล้านบาท การจ้างงาน ๖๐ คน


 
 นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๓ ฉบับที่ ๒๔๘๗ วันพุธที่ ๒๑ - วันอาทิตย์ที่ ๒๕ เดือนกุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๖๑


694 1,343