29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

August 22,2018

เฮ‘รถไฟความเร็วสูง’ ไม่เวนคืนที่ดิน คาดเปิดบริการปี’๖๖

           การรถไฟแห่งประเทศไทย จัดประชุมชี้แจง รถไฟความเร็วสูง ไทย-จีน ‘กรุงเทพฯ-โคราช’ ผ่านสูงเนินยกระดับ ประกาศแบบก่อสร้างใหม่ จีนออกแบบให้ไม่ต้องเวนคืนที่ดิน ไทยลงทุนเองทั้งหมด ๑๗๙,๔๑๓ ล้านบาท คาดเปิดบริการปี ๒๕๖๖

           เมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๖๑ ที่ห้องประชุมอำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา นายวัฒนา มณีโชติ วิศวกรกำกับการกองปรับปรุงทางเขต ๒ นายทศวรรณ นิจพาณิชย์ ตัวแทนบริษัท เอ็ม เอ เอ คอนซัลแตนท์ จำกัด ที่ปรึกษาโครงการ และนายกนก เข็มนาค ผู้ชำนาญการด้านสิ่งแวดล้อม ร่วมกันเปิดการประชุมกลุ่มย่อยการมีส่วนร่วมของประชาชนอำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา งานปรับแบบรายละเอียดในโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงสระบุรี-นครราชสีมา ผ่านช่วงอำเภอสูงเนิน ระยะทาง ๑๑ กิโลเมตร โดยมี พ.อ.วินัย สมพงษ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ตลอดทั้ง ภาคเอกชน ร้านค้า ประชาชนในพื้นที่เข้าร่วมประชุมกว่า ๒๐๐ คน

           ทั้งนี้ตามที่รัฐบาลไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐบาล ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงการพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ.๒๕๕๘-๒๕๖๙ เพื่อร่วมกันพัฒนาโครงการรถไฟฟ้าทางคู่ขนาดมาตรฐาน เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา-หนองคาย และเส้นทางแก่งคอย-ท่าเรือมาบตาพุด ระยะทางรวมประมาณ ๘๖๗ กิโลเมตร ซึ่งฝ่ายรัฐบาลไทยตกลงให้รัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมโครงการ ศึกษาความเหมาะสมและความเป็นไปได้ของโครงการ และดำเนินการก่อสร้างงานโยธา

           นายวัฒนา มณีโชติ วิศวกรกำกับการ กองปรับปรุงทางเขต ๒ กล่าวว่า เมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๕๙ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีประเทศไทย หารือทวิภาคีกับนายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ณ เมืองไหหนาน ประเทศจีน ที่ประชุมสรุปการลงทุนโครงการ ฝ่ายไทยจะเป็นผู้ลงทุนเองทั้งหมด โดยกำหนดนโยบายเริ่มก่อสร้างเส้นทาง กรุงเทพฯ-นครราชสีมา และส่วนต่อขยายเมื่อมีความพร้อม การประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทยจีนครั้งที่ ๑๐ ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบให้มีการเริ่มต้นก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงช่วง กรุงเทพ-นครราชสีมา เป็นอันดับแรก 

           โดยฝ่ายจีนเป็นผู้ออกแบบรายละเอียดการก่อสร้าง และควบคุมการก่อสร้าง โดยจะแบ่งสัญญาโครงการออกเป็น ๒ ส่วนดังนี้ สัญญาที่ ๑ สัญญาการก่อสร้างงานวิศวกรรมโยธา ฝ่ายไทยจะเป็นผู้คัดเลือกผู้รับจ้างก่อสร้างงานวิศวกรรมโยธา สำหรับสัญญาที่ ๑ ส่วนสัญญาที่ ๒ งานวางระบบราง งานระบบไฟฟ้า เครื่องกล และรถจักรล้อเลื่อน ฝ่ายจีนจะเป็นผู้คัดเลือกผู้รับจ้างวางระบบ สำหรับสัญญาที่ ๒ โดยฝ่ายไทยจะเข้ามาสังเกตการณ์ทำงานของผู้รับจ้างจีน เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามนโยบายและข้อบังคับของฝ่ายไทย

           ในการนี้คณะกรรมการการรถไฟฯ มีมติอนุมัติให้การรถไฟแห่งประเทศไทย ดำเนินการจ้างและสั่งจ้างบริษัทเอ็มเอ เอ คอนซัลแตนท์ จำกัด เป็นที่ปรึกษาเพื่อดำเนินการตรวจสอบรายละเอียดการออกแบบของฝ่ายจีน ออกแบบเพิ่มเติมในส่วนที่ฝ่ายจีนไม่ได้ดำเนินการ สำรวจรายละเอียด อสังหาริมทรัพย์เพื่อการเวนคืน และการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติม โครงการความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ช่วงบ้านภาชี-แก่งคอย-นครราชสีมา 

           สำหรับการประชุมการมีส่วนร่วมของประชาชน เป็นกิจกรรมที่มีความมุ่งหมายที่สำคัญเพื่อเผยแพร่ข้อมูลและการดำเนินงาน ที่ฝ่ายจีนเป็นผู้ออกแบบรายละเอียดการก่อสร้างและควบคุมการก่อสร้าง ซึ่งอาจมีความจำเป็นต้องปรับปรุงจากรูปแบบเดิมจากที่สำนักงานนโยบาย และแผนการขนส่งการจราจรได้ศึกษา และจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ช่วงชุมทางบ้านภาชี-นครราชสีมา ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติแล้วในการประชุมครั้งที่ ๔/๒๕๖๐ เมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ และเพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะนำไปพิจารณาประกอบการสำหรับออกแบบรายละเอียด โดยเฉพาะการก่อสร้างช่วง ๑๑ กิโลเมตรแรก กิโลเมตรที่ ๒๑๔-๒๒๕ ที่อำเภอสูงเนิน ตามนโยบายของรัฐบาลที่เร่งรัดให้ดำเนินการโดยเร่งด่วน

           นายทศวรรณ นิจพาณิชย์ ตัวแทนบริษัท เอ็ม เอ เอ คอนซัลแตนท์ จำกัด กล่าวว่า สำหรับเส้นทางเดินรถไฟความเร็วสูงช่วงที่ ๑ กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง ๒๕๓ กิโลเมตร จะผ่าน ๕ จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ-ปทุมธานี-อยุธยา-สระบุรี และนครราชสีมา ซึ่งจะมีตัวสถานี ๖ สถานี ได้แก่ บางซื่อ–ดอนเมือง–อยุธยา–สระบุรี–ปากช่อง และนครราชสีมา ส่วนเส้นทางการเดินรถจะมี ๓ ระดับคือ ทางยกระดับ ระยะทาง ๑๙๐ กิโลเมตร ทางระดับดิน ระยะทาง ๕๔.๕ กิโลเมตร และทางอุโมงค์ ระยะทาง ๗.๘ กิโลเมตร ความเร็วในการเดินรถอยู่ที่ ๒๕๐ กม./ชั่วโมง ๑ ขบวนบรรจุผู้โดยสาร ๕๙๔ คน ระยะเวลาเดินทางจากสถานีต้นสาย กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ๑ ชั่วโมง ๓๐ นาที ค่าโดยสารเริ่มต้น ๑๐๗ บาท สูงสุด ๕๓๔ บาท คาดเปิดให้ใช้บริการปี ๒๕๖๖ โดยรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ใช้เงินลงทุน ๑๗๙,๔๑๓ ล้านบาท รัฐบาลไทยเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายลงทุนทั้งหมด ปัจจุบันเริ่มมีการก่อสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เฟสแรก กลางดง-ปางอโศก ระดับถมคันดิน ๓.๕ กิโลเมตร ตั้งแต่เดือนมีนาคม ๒๕๖๑

           พ.อ.วินัย สมพงษ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ต้องการคำยืนยันจากการรถไฟแห่งประเทศไทยว่า การมาของรถไฟความเร็วสูงที่จะผ่านบริเวณอำเภอสูงเนิน จะทำให้ประชาชนบริเวณเส้นทางรถไฟได้รับความเดือดร้อนเรื่องการเวนคืนที่ดินหรือไม่ ซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทยก็ประกาศกลางที่ประชุมอย่างชัดเจนแล้วว่า แบบที่วิศวกรจากประเทศจีนออกแบบมาใหม่จะไม่มีการเวนคืนที่ดินอย่างแน่นอน ซึ่งสร้างความดีใจให้กับประชาชนเป็นอย่างมาก

           นายกนก เข็มนาค ผู้ชำนาญการด้านสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า สำหรับเส้นทางเดินรถไฟความเร็วสูงช่วงที่ ๑ กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง ๒๕๓ กิโลเมตร ที่จะผ่านบริเวณอำเภอสูงเนิน ระยะทางยาว ๑๑ กิโลเมตร เส้นทางจะอยู่ในแนวของทางการรถไฟทั้งหมด จะไม่มีการเวนคืนที่ดินแน่นอน แล้วแนวเส้นทางรถไฟความเร็วสูงที่จะผ่านบริเวณชุมชนอำเภอสูงเนินจะเป็นแบบยกระดับทั้งหมด มีส่วนสูงของเสาตอม่ออยู่ที่ประมาณ ๒๐-๒๒ เมตร และจะมีกำแพงกันเสียงกั้นยาวตลอดไม่ให้เกิดความรำคาญกับประชาชนเมื่อเวลารถไฟมา ส่วนจุดกลับรถยนต์เกือกม้าจะมีอยู่สองจุด ซึ่งจะเป็นแบบทูเวย์ รถยนต์สามารถวิ่งสวนกันได้ ส่วนเส้นทางรอดจะมีความกว้าง ๒.๕ เมตร และสูง ๓ เมตร ขนาดรถตู้สามารถวิ่งผ่านได้

           ทั้งนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จะมีการจัดประชุมใหญ่การมีส่วนร่วมของประชาชน งานปรับแบบรายละเอียดในโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนช่วง สระบุรี-นครราชสีมา ในวันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๖๑ ที่โรงแรมสีมาธานี จังหวัดนครราชสีมา เพื่อชี้แจงและรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน เพื่อนำไปเป็นข้อมูลในการพิจารณาประกอบการปรับแบบรายละเอียดของโครงการต่อไป  

 

 

 

 

 นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๔ ฉบับที่ ๒๕๒๒ วันอังคารที่ ๒๑ - วันศุกร์ที่ ๓๑ เดือนสิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๑


788 1439