29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

May 07,2019

๕ ปีแรกต้องยอมขาดทุน เร่งเจรจาลงทุน‘ท่าเรือบก’ ๗,๐๐๐ ล้านที่ดิน ๑,๘๐๐ ไร่

          เสวนา “โอกาสทางโลจิสติกส์การค้า การลงทุน กับการพัฒนาท่าเรือบก” หลัง สนข.ชี้โคราช ๑ ใน ๔ ตั้งท่าเรือบก ด้วยงบ ๗ พันล้าน เล็งพื้นที่ ๑,๘๐๐ ไร่ ที่ต.กุดจิก อ.สูงเนิน เริ่มปี ๖๕ เสร็จปี ๖๘ ‘หัสดิน’ ปธ.สภาอุตสาหกรรมย้ำเกิดขึ้นแน่ เร่งเจรจาสายเรือร่วมทุน เผย ๕ ปีแรกอาจขาดทุน ให้มองระยะยาว เตรียมสร้างการรับรู้ ‘ท่าเรือบก’ ให้ชาวอีสานเข้าใจ   

          ตามที่ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) รับมอบหมายจากกระทรวงคมนาคม ให้ดำเนินงานศึกษาจัดทำแผนพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port) เพื่อนำไปสู่การเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาค โดยผลการศึกษาพบว่า พื้นที่ที่เหมาะสมจะพัฒนาท่าเรือบกมี ๔ จังหวัด ได้แก่ ๑.อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา ไปยังท่าเรือแหลมฉบัง ระยะทาง ๗๐ กิโลเมตร ๒.อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา ไปยังท่าเรือแหลมฉบัง ๓๒๐ กิโลเมตร ๓.อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น ไปยังท่าเรือแหลมฉบัง ๕๕๐ กิโลเมตร และ ๔.อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ ไปยังท่าเรือแหลมฉบัง ๓๗๐ กิโลเมตร ทั้งนี้ การลงทุนจะเป็นในรูปแบบรัฐร่วมลงทุนกับเอกชน (PPP- Public Private Partnerships) โดยรัฐจะจัดหาที่ดิน ซึ่งต้องดูความเหมาะสม เพราะใช้พื้นที่จำนวนมาก อาจเป็นพื้นที่ที่มีอยู่แล้ว หรือต้องเวนคืนเพิ่มเติม ส่วนเอกชนทำหน้าที่บริหารจัดการ

          เนื่องจากปัจจุบันท่าเรือแหลมฉบังมีปริมาณตู้คอนเทนเนอร์ผ่านเข้า–ออกท่าเรือ จำนวน ๗.๖๗ ล้านตู้ และรถยนต์ ๑.๒ ล้านคัน กระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างพัฒนาโครงการท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ ๓ ซึ่งทำให้ท่าเรือแหลมฉบังมีขีดความสามารถรองรับปริมาณตู้สินค้าปีละ ๑๘ ล้านตู้ จึงมีการกำหนดแนวทางการพัฒนาและกำหนดพื้นที่ที่มีความเหมาะสมในการพัฒนาท่าเรือบก เพื่อลดความแออัดบริเวณรอบท่าเรือแหลมฉบัง โดยกระทรวงคมนาคมกำหนดเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนการขนส่งทางรางเข้าสู่ท่าเรือแหลมฉบังจากปัจจุบันที่มีสัดส่วนร้อยละ ๕.๕ เพิ่มเป็นร้อยละ ๓๐ 

          โดยจะเริ่มดำเนินการที่ จ.ฉะเชิงเทรา เป็นแห่งแรก เนื่องจากอยู่ในพื้นที่ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC คาดว่าจะเปิดประมูลปลายปี ๒๕๖๒ เริ่มสร้างปี ๒๕๖๓ เปิดบริการในปี ๒๕๖๗ ส่วนที่โคราชและขอนแก่นจะดำเนินการเป็นอันดับต่อไป คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี ๒๕๖๘ จากนั้นที่นครสวรรค์จะเปิดดำเนินการในปี ๒๕๗๐ราชภัฏโคราช เสวนา “ท่าเรือบก”

          ล่าสุดเมื่อวันที่ ๒ พฤษภาคม ๒๕๖๒ เวลา ๐๙.๐๐ น. ที่อาคาร ๓๑  มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ว่าที่ร้อยตรีนิรันดร์ ดุจจานุทัศน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานเปิดโครงการ “โอกาสทางโลจิสติกส์ การค้า การลงทุน กับการพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port) จังหวัดนครราชสีมา เพื่อนำไปสู่การเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาค การปรับตัวของผู้ประกอบการ SMEs ไทย และการส่งเสริมผู้ประกอบธุรกิจ SMEs เพื่อรองรับโลจิสติกส์ทางการค้า” โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.สุธานันธ์ โพธิ์ชาธาร รองอธิการบดีฝ่ายบริหารทั่วไป มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา พร้อมบุคลากรทางการศึกษา ผู้แทนภาครัฐ-เอกชน ผู้ประกอบการ SMEs กว่า ๑๐๐ คน รับฟังการชี้แจงยุทธศาสตร์การพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port) กับการพัฒนาประเทศ โดย ดร.ทองอยู่ คงขันธ์ ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย, นายหัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฏ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา และนายประชา มีธรรม อุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งมีนายทวิสันต์ โลณานุรักษ์ อดีตเลขาธิการหอการค้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นผู้ดำเนินรายการ

         รองศาสตราจารย์ ดร.สุธานันธ์ โพธิ์ชาธาร รองอธิการบดีฝ่ายบริหารทั่วไป มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา กล่าวว่า อุตสาหกรรมโลจิสติกส์เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายหลัก ที่นํามาใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพิ่มขีดความสามารถของประเทศ กระจายความเจริญสู่ภูมิภาค ลดความเหลื่อมล้ำ ยกระดับคุณภาพชีวิต ของประชาชนและแก้ปัญหาความมั่นคง จากนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล โดยมีการเร่งรัดพัฒนาระบบขนส่งในทุกรูปแบบ ซึ่งจะนําไปสู่การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ในภูมิภาค ให้เกิดการเคลื่อนย้ายให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ในจังหวัดและกลุ่มจังหวัด ประกอบกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีเป้าหมายภาคคือ “ศูนย์กลางเศรษฐกิจ ของอนุภาคลุ่มแม่น้ำโขง” จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของภูมิภาค สู่ประตูอินโดจีนเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน นโยบายรัฐบาลได้มุ่งเน้นด้านโลจิสติกส์ระหว่างจังหวัด ภูมิภาคและประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อให้เกิดการเคลื่อนย้ายปัจจัยการผลิตและผลผลิตอย่างเสรี เพื่อรองรับการขยายตัวของเมือง เช่น รถไฟความเร็วสูง เริ่มตั้งแต่จังหวัดนครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี หนองคาย ที่จะเชื่อมไป สปป.ลาว เวียดนาม และจีนตอนใต้ ทําให้อุตสาหกรรมในพื้นที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ขณะที่ผู้ประกอบการ SMEs และบุคลากรในอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมด้านโลจิสติกส์ ยังขาดแรงงานที่มีทักษะด้านโลจิสติกส์ และผู้ประกอบการต้องการให้หน่วยงานทางการศึกษา พัฒนาบุคลากรด้านโลจิสติกส์ให้มีคุณภาพและได้มาตรฐานเพื่อรองรับการเติบโตของระบบโลจิสติกส์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการประเทศเพื่อนบ้าน

          “จังหวัดนครราชสีมา ได้จัดทําแผนพัฒนาจังหวัดนครราชสีมา ระยะ ๕ ปี (พ.ศ.๒๕๖๑-พ.ศ.๒๕๖๕) โดยกําหนดเป็าหมายการพัฒนาโคราชเป็นเมืองน่าอยู่ จังหวัดนครราชสีมาจึงความจํามีเป็นในการพัฒนาศักยภาพ ทางด้านอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ในการเป็นท่าเรือบก เพื่อเป็นการพัฒนาศักยภาพและส่งเสริมบุคลากรด้านโลจิสติกส์ ได้แก่ ผู้ประกอบการ SMEs ในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ ในจังหวัดนครราชสีมา มีความรู้ความ เข้าใจเกี่ยวกับการค้า การลงทุน และการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อขยายตลาดการค้าชายแดน ทั้งยัง เป็นแนวทางการสร้างความร่วมมือกับองค์กรหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ ทําให้เกิดการสร่าง องค์ความรู้ให้กับผู้ประกอบการ SMEs ในจังหวัดนครราชสีมา และเป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือทาง ด้านอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ นําไปสู่การพัฒนาและสร้างมูลค่า ให้กับธุรกิจขององค์กรต่อไป” รศ.ดร.สุธานันธ์ กล่าว 

สินค้าและสายเรือสำคัญ 

          ดร.ทองอยู่ คงขันธ์ ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย กล่าวว่า นิยามของท่าเรือบก (Dry Port) คือ บริเวณพื้นที่ตอนในของประเทศที่มีการดำเนินงานเป็นศูนย์ โลจิสติกส์ ซึ่งทำหน้าที่เสมือนท่าเรือ (ยกเว้นการขนถ่ายสินค้าขึ้น-ลงเรือ) รองรับการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศในระบบตู้สินค้า มีการเชื่อมต่อการขนส่งได้ตั้งแต่สองรูปแบบขึ้นไป มีการขนส่งทางรางเป็นหลัก โดยโครงสร้างพื้นฐานด้านสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการขนส่งสินค้าท่าเรือบกจะประกอบด้วย สถานีขนส่งสินค้า, สถานีบรรจุ/ส่งมอบสินค้า, สถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง, ย่านกองเก็บคอนเทน เนอร์, คลังสินค้า และศูนย์รวบรวมและกระจายสินค้า ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เกิดท่าเรือบก ต้องมีบริษัทสายเดินเรือที่เข้มแข็ง, ต้องมีปริมาณสินค้าที่เพียงพอ, ต้องวางระบบรางรถไฟอยู่ตรงกลางระหว่างท่าเรือบกและสถานีขนส่งสินค้า, ต้องมีระบบคมนาคมทางถนนที่สะดวก และต้องมีอุปกรณ์เครื่องมือที่ทันสมัย ถ้ามีปัจจัยเหล่านี้เกิดท่าเรือบกได้สบาย

          “จังหวัดนครราชสีมาเปนเมืองใหญ่ มีศักยภาพสูง หากมีท่าเรือบกเกิดขึ้นจะทําให้ส่งผลดีต่อจังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดในเขตภาคอีสาน เกิดความสะดวกในเรื่องของด้านศุลกากร การนําเข้าและส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศ ปัจจุบันผู้ประกอบการใช้บริการที่แหลมฉบังและลาดกระบัง ซึ่งเกิดความล่าช้าในการตรวจศุลกากร หากมีท่าเรือบกเกิดขึ้นจะทําให้เกิดความสะดวกสบาย ประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทางของผู้ประกอบการในภาคอีสาน” ดร.ทองอยู่ กล่าว

ศึกษาพื้นที่ตั้งแต่ยุคน้าชาติ

          นายหัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฏ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า จังหวัดนครราชสีมามีการศึกษาพื้นที่จะจัดตั้งท่าเรือบกมาตั้งแต่สมัยพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี ดูได้จากตัวอย่างการก่อสร้างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒๙๐ หรือถนนวงแหวนรอบเมืองนครราชสีมา บริเวณทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒ (ถนนมิตรภาพ) ที่หลักกิโลเมตรที่ ๑๒๗ บริเวณตำบลนากลาง อำเภอสูงเนิน จุดนั้นมีการเว้นพื้นที่สำหรับจัดตั้งสถานีขนส่งสินค้า (Truck Terminal) ขนาด ๕๐๐ ไร่ ซึ่งจะอยู่ติดกับรางรถไฟของสถานีกุดจิก ซึ่งเป็นจุดที่สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เป็นผู้ศึกษาและมีการให้คะแนนมาเป็นอันดับหนึ่ง ๖๘ คะแนน มากกว่าที่บริเวณ ต.หนองน้ำขุน อ.สีคิ้ว และที่บริเวณต.หนองไข่น้ำ อำเภอเมืองนคราชสีมา 

ส่วนประกอบพื้นที่พร้อม

          “โดยพื้นที่ที่จะสร้างท่าเรือบกจังหวัดนครราชสีมาจะแบ่งออกเป็น ๒ ส่วนคือ สถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง (Inland Container Depot: ICD) จำนวน ๑,๘๐๐ ไร่ และสถานีขนส่งสินค้า (Truck Terminal) จำนวน ๕๐๐ ไร่ ซึ่งจะตั้งอยู่บริเวณตำบลกุดจิก อำเภอสูงเนิน ห่างจากสถานีรถไฟกุดจิก ๒ กิโลเมตร ระบบการคมนาคมทางบกสะดวก มีทั้งวงแหวนรอบเมืองและมอเตอร์เวย์ผ่าน มั่นใจว่า ท่าเรือบกเกิดขึ้นที่โคราชแน่นอน เพราะมีความพร้อมสูงมาก ปัจจุบันจังหวัดนครราชสีมามีโรงงานอุตสาหกรรม กว่า ๗,๐๐๐ โรง มีจำนวนตู้คอนเทนเนอร์ที่ส่งไปแหลมฉบังจำนวนกว่าสามแสนตู้ต่อปี” นายหัสดิน กล่าว 

เดินหน้าหาสายเรือร่วมทุน

          นายหัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฏ กล่าวอีกว่า ขณะนี้เริ่มมีบริษัทสายเรือในกรุงเทพฯ สนใจติดต่อที่จะมาร่วมลงทุนกับเรา แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้มาก เพราะบริษัทเหล่านี้ยังมีทางเลือกอีกมาก โดยจังหวัดนครราชสีมามีการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เป็นผู้ช่วย ซึ่งก็ทราบดีว่า ร.ฟ.ท.ไม่มีงบประมาณลงมาช่วยมาก ผิดกับจังหวัดขอนแก่นที่มีการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เป็นที่ปรึกษา แต่โคราชเดินหน้าเต็มที่แน่นอน คงไม่มีการย้อนกลับไปทำการวิจัยศึกษาใหม่อีกแน่ เพราะมีงบประมาณในการทำค่อนข้างสูงถึง ๓๐ กว่าล้านบาท จากนี้ต้องเดินหน้าหาบริษัทเอกชนสายเรือ และเอกชนรายย่อยภายในจังหวัดนครราชสีมาที่ต้องการจะเข้ามาร่วมลงทุนและบริหารจัดการไปด้วยกัน เพราะการลงทุนเป็นในรูปแบบรัฐร่วมลงทุนกับเอกชน (PPP- Public Private Partnerships) แต่ขอย้ำว่า การเข้าร่วมลงทุน ๕ ปีแรกขาดทุนแน่นอน จึงอยากฝากกลุ่มทุนที่จะเข้ามาถ้าจะหวังผลกำไรตั้งแต่ปีแรกๆ คงเป็นไปไม่ได้

ขนส่งเยอะขึ้นประหยัดทุน ๒๐%

          “ส่วนการขนส่งทางรางจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้อย่างไร ปัจจุบันการขนส่งทางรางจะไปที่แหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี จะกำหนดระยะเวลาได้ไม่แน่นอน เพราะการขนส่งยังเป็นระบบรางเดียว แต่เมื่อปรับเป็นการขนส่งระบบรางคู่จะทำให้สามารถกำหนดระยะเวลาได้แน่นอน และในปัจจุบันการขนส่งทางรางจะทำการปรับเปลี่ยนการบรรทุกสินค้าจาก ๑ แคร่ (โบกี้) ใส่ได้ ๑ ตู้คอนเทนเนอร์ เป็น ๑ แคร่ ใส่ได้ ๒ ตู้คอนเทนเนอร์ ทำให้รถไฟ ๑ ขบวนจะมีทั้งหมด ๓๕ แคร่ จะบรรจุตู้คอนเทนเนอร์ได้ ๗๐ ตู้ และบรรทุกได้สูงสุด ๖๒ ตันต่อ ๑ แคร่ ทำให้ลดการขนส่งทางถนนลงไปได้ ซึ่งจะช่วยประหยัดต้นทุนถึง ๒๐%” นายหัสดิน กล่วาปิดท้าย

สร้าง ๕ ปัจจัยเดินหน้าการรับรู้

          นายทวิสันต์ โลณานุรักษ์ อดีตเลขาธิการหอการค้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวสรุปปิดท้ายว่า จากนี้ไปคงต้องดำเนินเรื่องขับเคลื่อนกันอย่างจริงจัง ไม่ใช่เมื่อจบการเสวนาครั้งนี้เรื่องก็เงียบไป ๕ หลักการที่ต้องดำเนินต่อจากนี้ ๑.สร้างองค์ความรู้เรื่องทางบก ๒.สร้างสื่อโซเชียลขับเคลื่อนในการให้ข้อมูล ๓.หาบริษัทเอกชนเจรจาเรื่องสายเดินเรือ เพื่อมาสนับสนุนท่าเรือบก ๔.จัดเสวนาให้ความรู้เรื่องท่าเรือบกทั่วภาคอีสาน เพื่อให้เกิดความเข้าใจซึ่งกันและกัน และ ๕.ออกมาเคลื่อนไหวเป็นกลุ่ม เพื่อกดดันภาครัฐให้เห็นความสำคัญของท่าเรือบก ทั้งหมดนี้ต้องขับเคลื่อนไปด้วยกัน เพื่อให้เกิดท่าเรือบกขึ้นในโคราชให้ได้

งบ ๗ พันล้านผุดท่าเรือบก

          ทั้งนี้ จากการศึกษาแผนแม่บทการพัฒนาท่าเรือบกจังหวัดนครราชสีมา จะเป็นศูนย์ท่าเรือบกขนาดกลาง มีปริมาณตู้คอนเทนเนอร์ ๒๐๐,๐๐๐ ตู้ต่อปีขึ้นไป บนเนื้อที่ ๑,๘๐๐ ไร่ โดยมีค่าดำเนินการ ดังนี้ ค่าชดเชยที่ดิน/สิ่งปลูกสร้าง ๓,๑๔๐ ล้านบาท, ค่าปรับสภาพดิน ๗๔๐ ล้านบาท, ค่าออกแบบรายละเอียด ๗๐ ล้านบาท, ค่าก่อสร้าง ๒,๑๖๐ ล้านบาท, ค่าอุปกรณ์ ๘๐๐ ล้านบาท, ค่าใช้จ่ายตามมาตรการสิ่งแวดล้อม ๒๐ ล้านบาท และค่าควบคุมงานก่อสร้าง ๗๐ ล้านบาท รวม ๗,๐๐๐ ล้านบาท (ต้นทุนราคาปี ๒๕๖๑) ค่าดำเนินการและบำรุงรักษา ต่อปี ๖๒ ล้านบาท โดยมีเวลาออกแบบก่อสร้างและติดตั้งระบบ ตั้งแต่ปี ๒๕๖๕-๒๕๖๗ ก่อนจะเปิดใช้ได้จริงปี ๒๕๖๘

 

 

 ปีที่ ๔๔ ฉบับที่ ๒๕๗๐ วันจันทร์ที่ ๖ - วันศุกร์ที่ ๑๐ เดือนพฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒

 

795 1423