19thMarch

19thMarch

19thMarch

 

May 11,2019

ครม.บิ๊กตู่ต่อสัญญาอีก ๑๐ ปี ให้ปตท.ขุดน้ำมันในอีสาน รัฐตอบรับข้อเสนอ ๒.๘ หมื่นล.

          ครม.อนุมัติบริษัทในเครือ ปตท.สผ. ต่อระยะเวลาผลิตปิโตรเลียม อีก ๑๐ ปี ในพื้นที่แปลงสำรวจบนบกหมายเลข EU1 และ E5 เฉพาะในพื้นที่โคราช ภายใต้โครงการแหล่งก๊าซสินภูฮ่อม ด้าน ปตท.สผ.เสนอค่าภาคหลวงและภาษีเงินได้ปิโตรเลียม รวมกว่า ๒.๘ หมื่นล้านบาท

 

          ตามที่ คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติให้บริษัท พีทีทีอีพี เอสพี ลิมิเต็ด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของปตท.สผ. และคณะ ต่อระยะเวลาผลิตปิโตรเลียม  เมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๖๒ เวลา ๑๑.๐๐ น. ณ ห้องประชุม ๕๐๑ ตึกบัญชาการ ๑ ทำเนียบรัฐบาล โดยมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี 

          คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้บริษัท พีทีทีอีพี เอสพี ลิมิเต็ด และคณะ ต่อระยะเวลาผลิตปิโตรเลียมสำหรับ ๑.สัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ ๑/๒๕๒๔/๑๙ แปลงสำรวจบนบกหมายเลข EU1 ออกไปอีก ๑๐ ปี นับตั้งแต่วันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๖๒ ถึงวันที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๗๒ และ ๒.สัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ ๒/๒๕๒๒/๑๗ แปลงสำรวจบนบกหมาย E5 เฉพาะในพื้นที่โคราช ออกไปอีก ๑๐ ปี นับตั้งแต่วันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๖๔ ถึงวันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๗๔ โดยอาศัยความตามมาตรา ๒๖ แห่งพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ.๒๕๑๔ และที่แก้ไขเพิ่มเติม และให้ออกเป็นสัมปทานปิโตรเลียมเพิ่มเติมฉบับที่ ๕ ของสัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ ๑/๒๕๒๔/๑๙ และสัมปทานปิโตรเลียมเพิ่มเติมฉบับที่ ๖ ของสัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ ๒/๒๕๒๒/๑๗ ตามแบบ ชธ/ป๓/๑ ที่กำหนดในกฎกระทรวงกำหนดแบบสัมปทานปิโตรเลียม พ.ศ.๒๕๕๕ ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ

          โดยกระทรวงพลังงาน ได้เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติให้ บริษัท พีทีทีอีพี เอสพี ลิมิเต็ด และคณะ (ผู้รับสัมปทาน) ต่อระยะเวลาผลิตปิโตรเลียมสัมปทานโครงการแหล่งก๊าซสินภูฮ่อม ซึ่งประกอบด้วย ๒ สัมปทาน คือ ๑.สัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ ๒/๒๕๒๒/๑๗ แปลงสำรวจบนบกหมายเลข E5 เฉพาะในพื้นที่โคราช และสัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ ๑/๒๕๒๔/๑๙ แปลงสำรวจบนบกหมายเลข EU1 ออกไปอีก ๑๐ ปี โดยมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้ ๑.แปลงสำรวจ ช่วงผลิต สัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ ๒/๒๕๒๒/๑๗ แปลงสำรวจบนบกหมายเลข E5 ส่วนสัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ ๑/๒๕๒๔/๑๙ แปลงสำรวจบนบกหมายเลข EU1 ๒.พื้นที่การผลิต (อยู่ในเขตจังหวัดขอนแก่น และอุดรธานี) สัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ ๒/๒๕๒๒/๑๗ พื้นที่ผลิตปิโตรเลียมภูฮ่อม (บริเวณพื้นที่โคราช) จำนวน ๓๙.๓๑ ตารางกิโลเมตร ส่วนสัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ ๑/๒๕๒๔/๑๙ ๒ พื้นที่ คือ พื้นที่ผลิตปิโตรเลียมภูฮ่อม ๑ จำนวน ๑.๙๖ ตารางกิโลเมตร และพื้นที่ผลิตปิโตรเลียมภูฮ่อม จำนวน ๑๙๐.๙๓ ตารางกิโลเมตร

          ๓.มูลค่าปิโตรเลียมที่ผลิตได้ สัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ ๒/๒๕๒๒/๑๗ มูลค่า ๑๗,๖๖๔ ล้านบาท (เฉพาะบริเวณพื้นที่โคราช) ตั้งแต่ปี ๒๕๕๐ ถึงเดือนธันวาคม ๒๕๖๑ ส่วนสัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ ๑/๒๕๒๔/๑๙ มูลค่า ๗๐,๖๕๖ ล้านบาท ตั้งแต่ปี ๒๕๕๐ ถึงเดือนธันวาคม ๒๕๖๑

          ๔.ค่าภาคหลวงที่รัฐได้รับ สัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ ๒/๒๕๒๒/๑๗ จำนวน ๒,๒๐๘ ล้านบาท ส่วนสัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ ๑/๒๕๒๔/๑๙ จำนวน ๘,๘๓๒ ล้านบาท 

          ๕.ระยะเวลาการผลิต (ปัจจุบัน) สัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ ๒/๒๕๒๒/๑๗ ตั้งแต่วันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๓๔ ถึงวันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๖๔ (๓๐ ปี) ส่วนสัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ ๑/๒๕๒๔/๑๙ ตั้งแต่วันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๓๒ ถึงวันที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๖๒ (๓๐ ปี)

          ซึ่งมีข้อเสนอขอต่อระยะเวลาผลิตปิโตรเลียมออกไปอีก ๑๐ ปี เสนอคณะรัฐมนตรีในครั้งนี้ ดังนี้ ๑.ระยะเวลาการผลิตใหม่ สัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ ๒/๒๕๒๒/๑๗ ตั้งแต่วันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๖๔ ถึงวันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๗๔ ส่วนสัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ ๑/๒๕๒๔/๑๙ ตั้งแต่วันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๖๒ ถึงวันที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๗๒ ๒.ปริมาณสำรองปิโตรเลียม ที่พิสูจน์แล้ว ณ สิ้นปี ๒๕๖๐ ก๊าซธรรมชาติ ๑๑๔.๒๗ พันล้านลูกบาศก์ฟุต และก๊าซธรรมชาติเหลว ๐.๓๘ ล้านบาร์เรล และหากมีการลงทุนเพื่อสำรวจและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง คาดว่าจะมีโอกาสพบทรัพยากรปิโตรเลียมเพิ่มเติม ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติประมาณ ๕๒๗ พันล้านลูกบาศก์ฟุต และก๊าซธรรมชาติเหลวประมาณ ๑ ล้านบาร์เรล และ ๓.ผลตอบแทนที่รัฐจะได้รับ ดังนี้ ได้รับค่าภาคหลวงประมาณ ๒๘๔ ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ ๙,๐๒๒ ล้านบาท และภาษีเงินได้ปิโตรเลียมประมาณ ๖๒๑ ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือปรระมาณ ๑๙,๗๙๒ ล้านบาท (ภายใต้สัมปทาน Thailand I) ได้เงินผลประโยชน์ซึ่งผู้รับสัมปทานเสนอเพิ่มเติมให้แก่รัฐ (ภายใต้สัมปทาน Thailand III) ประมาณ ๗๔ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งประกอบด้วยเงินให้เปล่าในการลงนามสัมปทานต่อระยะเวลาการผลิต เงินให้เปล่าจากปริมาณการขายก๊าซธรรมชาติสะสมหรือโบนัสการผลิต และค่าตอบแทนการต่อระยะเวลาผลิต จ่ายเป็นรายปี มีข้อผูกพันการสำรวจที่ผู้รับสัมปทานเสนอว่าจะเจาะหลุมสำรวจหรือหลุมประเมินผลหรือหลุมผลิตจำนวน ๒ หลุม ในแปลงสำรวจบนบกหมายเลข EU1 โดยมีค่าใช้จ่ายขั้นต่ำ ๑๘ ล้านดอลลาร์สหรัฐ รับการฝึกอบรมบุคลากรของกระทรวงพลังงานเพื่อเตรียมการสำรวจการรับช่วงต่อความเป็นผู้ดำเนินงานภายใน ๒ ปี ก่อนสิ้นระยะเวลาสัมปทาน และการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการรื้อถอน บริษัทฯ จะปฏิบัติตามกฎกระทรวงว่าด้วยการรื้อถอนและประกาศกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติที่เกี่ยวข้องที่มีอยู่ในปัจจุบันและที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

          ซึ่งเรื่องดังกล่าวกระทรวงพลังงานได้พิจารณาและตรวจสอบโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญแล้วพบว่า การต่อระยะเวลาผลิตสำหรับสัมปทานปิโตรเลียมแปลงนี้อยู่ภายใต้กติกาและเงื่อนไขที่ใช้เป็นการทั่วไปในปัจจุบัน และผู้รับสัมปทานรายนี้ได้ปฏิบัติตามข้อกำหนดของสัมปทานและบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียม รวมทั้งได้ตกลงในเรื่องข้อกำหนด ข้อผูกพัน และเงื่อนไขที่ใช้อยู่ในปัจจุบันอย่างครบถ้วน โดยผู้รับสัมปทานมีประสบการณ์ในพื้นที่ผลิต และได้เสนอแผนการดำเนินงาน แผนการลงทุน และผลประโยชน์พิเศษให้แก่รัฐอย่างเหมาะสม และสอดคล้องกับศักยภาพของแปลงสำรวจ คณะกรรมการปิโตรเลียมพิจารณาแล้วเห็นควรให้บริษัท พีทีทีอีพี เอสพี ลิมิเต็ด และคณะ ต่อระยะเวลาผลิตปิโตรเลียมสัมปทานโครงการแหล่งก๊าซสินภูฮ่อมทั้ง ๒ สัมปทานข้างต้น โดยให้ออกเป็นสัมปทานปิโตรเลียมเพิ่มเติมฉบับที่ ๕ ของสัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ ๑/๒๕๒๔/๑๙ และสัมปทานปิโตรเลียมเพิ่มเติมฉบับที่ ๖ ของสัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ ๒/๒๕๒๒/๑๗ 

          ทั้งนี้ แหล่งผลิตปิโตรเลียมแปลงสำรวจบนบกหมายเลข E5 และแปลงสำรวจบนบกหมายเลข EU1 มีพื้นที่ผลิตอยู่ในเขตจังหวัดขอนแก่นและอุดรธานี เป็นหลัก แปลงสำรวจ E5 เฉพาะบริเวณพื้นที่โคราช มีจำนวน ๓๙.๓๑ ตารางกิโลเมตร ภายใต้โครงการแหล่งก๊าซสินภูฮ่อม มีความสำคัญในการเสริมสร้างความมั่นคงของระบบไฟฟ้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นอย่างมาก เนื่องจากก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้จากแหล่งนี้จะถูกนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงหลัก สำหรับผลิตไฟฟ้าในโรงไฟฟ้าน้ำพอง ที่ตั้งอยู่ในเขตจังหวัดขอนแก่น ซึ่งตั้งแต่ช่วงปี ๒๕๕๐-ธันวาคม ๒๕๖๑ แปลงสำรวจบนบกหมายเลข E5 เฉพาะบริเวณพื้นที่โคราช มีมูลค่าปิโตรเลียมที่ผลิตได้ รวม ๑๗,๖๖๔ ล้านบาท รัฐได้รับค่าภาคหลวง ๒,๒๐๘ ล้านบาท ส่วนแปลง EU1 มีมูลค่า ๗๐,๖๕๖ ล้านบาท รัฐได้รับค่าภาคหลวง ๘,๘๓๒ ล้านบาท รวมทั้งสองแปลงมีมูลค่าปิโตรเลียมที่ผลิตได้ กว่า ๘๘,๓๒๐ ล้านบาท และรัฐได้รับค่าภาคหลวงรวม ๑๑,๐๔๐ ล้านบาท

 

 

 

 ปีที่ ๔๔ ฉบับที่ ๒๕๗๑ วันเสาร์ที่ ๑๑ - วันพุธที่ ๑๕ เดือนพฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒

 

784 1395