19thApril

19thApril

19thApril

 

May 22,2019

‘ทางลอดบิ๊กซี’รองบปี ๖๔-๖๖ ท่าเรือบก’โคราช-ขก.ไม่รู้ใครเริ่มก่อน

          คณะอนุกรรมการร่วมประชุม จัดระบบการจราจรทางบกจังหวัดนครราชสีมา หลายโครงการชี้แจงความคืบหน้าใกล้แล้วเสร็จ ทางหลวง ๓๐๔ กบินทร์บุรี-ปากช่อง พร้อมใช้งาน พบปัญหาชะลอการพัฒนาเส้นทางสาย ง.๑ ง.๒ และ ง.๕ คาดรอแนวชัดเจนจากผังเมืองใหม่อีกครั้ง รถไฟทางคู่รอมติครม. ทุบ/ไม่ทุบสะพานสีมาธานี

          เมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๖๒ เวลา ๑๓.๓๐ น. ว่าที่ร้อยตรี นิรันดร์ ดุจจานุทัศน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานประชุม คณะอนุกรรมการจัดระบบการจราจรทางบกจังหวัดนครราชสีมา (อจร.นม.) ครั้งที่ ๑/๒๕๖๒ พร้อมด้วย คณะอนุกรรมการ และผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ณ ห้องประชุมหลวงพ่อคูณปริสุทโธ ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา ชั้น ๓

          ว่าที่ร้อยตรี นิรันดร์ ดุจจานุทัศน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า เนื่องจากการประชุมคณะอนุกรรมการจัดระบบการจราจรทางบกจังหวัดนครราชสีมา (อจร.นม.) ครั้งที่ ๔/๒๕๖๑ เมื่อวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๖๑ ที่ผ่านมา ที่ประชุมมีมติมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขปัญหาจราจรในระยะเร่งด่วน และการแก้ไขปัญหาจราจรในระยะยาว เพื่อเป็นการติดตามความคืบหน้าผลการประชุมฯ จึงเชิญคณะอนุกรรมการฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแจ้งรายละเอียดในที่ประชุม

รถไฟความเร็วสูงเชื่อมโยงภูมิภาค

          สำหรับโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง เพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพฯ-หนองคาย ในช่วงเส้นทางกรุงเทพฯ-โคราช ทั้งสองฝ่ายจะใช้ความร่วมมือในรูปแบบรัฐบาลต่อรัฐบาลในการดำเนินโครงการ สำหรับเส้นทางช่วงนี้ประเทศ ไทยเป็นผู้ลงทุนโครงการทั้งหมด มูลค่าโครงการอยู่ที่ ๑๗๙,๔๑๓ ล้านบาท สำหรับเส้นทางของโครงการกรุงเทพฯ-หนองคาย มีระยะเส้นทาง ๖๐๘ กม. เปิดให้บริการระยะที่ ๑ ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง ๒๕๓ กม. เริ่มเปิดบริการช่วงปี ๒๕๖๖ ในระยะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้าง ส่วนระยะที่ ๒ ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง ๓๕๕ กม. เริ่มเปิดบริการช่วงปี ๒๕๖๗ ขณะนี้อยู่ระหว่างทบทวน F.S. ก่อน D.D. วิ่งด้วยความเร็วสูงสุด ๒๕๐ กม./ชม. ระยะเวลาเดินทางอยู่ที่ ๓ ชม. ๑๕ นาที

เชื่อมต่อช่วงหนองคาย-เวียงจันทน์

          ทั้งนี้ ได้มีการประชุมร่วม ๓ ฝ่าย ระหว่างไทย ลาว และจีน เมื่อวันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๖๒ ได้ผลเบื้องต้นคือ เห็นชอบหลักการเกี่ยวกับสะพานใหม่ซึ่งจะตั้งอยู่ทิศใต้ของสะพานมิตรภาพไทย-ลาว ประมาณ ๓๐ เมตร โดยสะพานแห่งใหม่จะมีทั้งขนาด ๑ เมตร กับ ๑.๔๓๕ เมตร ซึ่งฝ่ายลาวและไทยจะดำเนินกระบวนการภายในของแต่ละประเทศโดยเร็ว และเร่งรัดให้การก่อสร้างระยะแรกของโครงการเชื่อมต่อหนองคาย-เวียงจันทน์แล้วเสร็จในช่วงเวลาเดียวกับโครงการรถไฟจีน-ลาว

          ทั้งนี้ รัฐบาล ๓ ประเทศได้ลงนาม MOC เชื่อมโยงรถไฟในการประชุม BRF ครั้งที่ ๒ เมื่อวันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๖๒ ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน

โครงการรถไฟทางคู่ชุมทางจิระ-ขอนแก่น 

          โครงการรถไฟทางคู่มีการดำเนินการอยู่ ๓ โครงการ คือโครงการที่ ๑ โครงการก่อสร้างช่วงชุมทางถนนจิระ–ขอนแก่น ดำเนินการแล้ว ๙๙.๖๗%  โครงการที่ ๒ ช่วงมาบกะเบา ชุมทางถนนจิระ แบ่งออกเป็น ๓ สัญญา โดย สัญญาที่ ๑ ช่วงมาบกะเบา-คลองขนานจิตร เมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๖๒ ผลงานโดยรวม ๒๔.๙๐%  สัญญาที่ ๒ คลองขนานจิตร-ชุมทางจิระ ปัจจุบันมีการออกแบบเสร็จแล้ว อยู่ระหว่างการรถไฟฯ เตรียมนำเสนอต่อคณะกรรมการรถไฟฯ และกระทรวงคมนาคมทั้ง ๒ แนวทาง เพื่อให้ผู้มีอำนาจพิจารณา เนื่องจากทั้ง ๒ แนวทางมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน กล่าวคือ แนวทางไม่ทุบสะพานสีมาธานี จะมีค่าใช้จ่ายต่ำกว่าและเกิดผลกระทบด้านจราจรต่ำกว่า แต่ไม่สามารถพัฒนาพื้นที่รอบบริเวณ        ดังกล่าว และไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชนในพื้นที่ ส่วนแนวทางทุบสะพานสีมาธานี จะมีค่าใช้จ่ายและผลกระทบทางด้านจราจรสูงกว่า แต่จะสามารถพัฒนาพื้นที่รอบบริเวณดังกล่าวและได้การยอมรับจากประชาชนในพื้นที่ อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะสรุปแนวทางต่อผู้มีอำนาจได้ในเดือนมิถุนายน ๒๕๖๒ และสัญญาที่ ๓ ช่วงมาบกะเบา–มวกเหล็ก เป็นการก่อสร้างอุโมงค์ มีการเปิดดินปากอุโมงค์และทำตัวอุโมงค์ และโครงการที่ ๓ ช่วงสถานีชุมทางถนนจิระ-อุบลฯ อยู่ระหว่างขออนุมัติโครงการจาก ครม.

ระบบขนส่งมวลชนนครราชสีมา

          สำหรับความคืบหน้าในเรื่องโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดนครราชสีมา (รฟม.)  ผู้แทนจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ได้มีการเสนอ พ.ร.ฎ. ให้ รฟม. ดำเนินกิจการรถไฟฟ้าในจังหวัดนครราช สีมา ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ ๖ เมษายน ๒๕๖๒ และมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา (วันที่ ๗ เมษายน ๒๕๖๒)

          ปัจจุบัน อยู่ระหว่างดำเนินการจ้างที่ปรึกษาฯ โครงการระบบขนส่งมวลชน จังหวัดนครราชสีมา สายสีเขียวฯ โดยวิธีคัดเลือก ทั้งนี้ รฟม.คาดว่า จะจัดจ้างที่ปรึกษาฯ แล้วเสร็จ โดยสามารถลงนามสัญญาฯ และเริ่มศึกษารายละเอียดความเหมาะสมได้ในเดือนมิถุนายน ๒๕๖๒

รถโดยสารโทรลลีล้อยาง

          ในส่วนของโครงการการศึกษาเชิงนโยบายเกี่ยวกับศักยภาพของรถโดยสารโทรลลีล้อยาง: กรณีศึกษาเมืองนครราชสีมา ซึ่งการคาดการณ์การเดินทางในอนาคต จะเปิดให้บริการวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๖๕ รศ.ดร.ธนัดชัย กุลวรวานิชพงษ์ ตัวแทนจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี กล่าวว่า หากพิจารณาความเหมาะสมของโครงการรถโดยสารไฟฟ้าที่ใช้ล้อยางสำหรับเมืองนครราชสีมาเปรียบเทียบกันระหว่าง ๓ เส้นทาง ได้แก่ ๑.สถานีรถไฟจังหวัดนครราชสีมา-สถานีรถขนส่งนครราชสีมา (บขส.ใหม่) ๒.สถานีรถไฟจังหวัดนครราชสีมา-สำนักงานขนส่งจังหวัดนครราชสีมาแห่งที่ ๒ และ ๓.เส้นหน้าเดอะมอลล์นครราชสีมา-สถานีรถไฟนครราชสีมา ด้วยอัตราผลตอบแทนภายใน (internal of return, IRR) พบว่า เส้นทางที่ ๑ รูปแบบเดินรถ headway ๑๐ นาที ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด ทั้งมิติของทางการเงินและทางเศรษฐศาสตร์ รวมทั้งใช้เงินลงทุนค่อนข้างต่ำ เมื่อนำมาวิเคราะห์ค่า sensitivity ต่อความผันผวนของราคาการลงทุน +/-๒๐% โครงการนี้ยังให้ค่า IRR ไม่น้อยกว่า ๑๘% อีกด้วย

เชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะ

          นางสาวสุวรรณา ปลอดโคกสูง นักวิชาการขนส่งชำนาญการ สำนักงานขนส่งจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า ทางสำนักงานขนส่งเป็นเจ้าภาพในการวางแผนเชื่อมต่อระหว่างสถานีรถไฟถึงสถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดนครราชสีมา เนื่องจากโครงการโทรลลีล้อยางในอนาคตจะไปทิศทางใดยังไม่แน่ชัด แต่รถโดยสารสาธารณะจำเป็นต้องมีบริการประชาชน หากรถไฟความเร็วสูงเปิดให้บริการ ในส่วนของขนส่งได้วางแผนในการให้บริการรถโดยสาร ทางขนส่งได้หยิบเส้นทางเดียวกับโครงการโทรลลีล้อยางเพื่อเป็นเส้นทางในการเดินรถโดยสาร และมาตรฐานรถที่กำหนดไว้เป็น Mini Bus ปรับอากาศ หรือรถมาตรฐาน ๒ (จ) ซึ่งจำนวนรถที่กำหนดไว้อยู่ที่ ๔-๘ คัน สำหรับผู้ประกอบการทางขนส่งได้มีการพูดคุยไว้เบื้องต้นบ้างแล้ว 

          “ผู้ประกอบการที่เป็นเจ้าของเส้นทางกลุ่มเดิม หากเรานำเส้นทางเดิมมาปรับปรุงเส้นทางใหม่ ทางผู้ประกอบการไม่พร้อมที่จะลงทุนเพิ่ม และไม่พร้อมที่จะใช้เป็นลักษณะของรถบัสปรับอากาศ ทางขนส่งจึงพิจารณาและเห็นว่าควรจะกำหนดเส้นทางใหม่ เพื่อประกาศรับผู้ประกอบการรายใหม่”

          นางสุวรรณา กล่าวเพิ่มเติมว่า หากรถไฟความเร็วสูงพร้อมให้บริการ ทางขนส่งจะนำเส้นทางนี้มาประกาศรับคำขอ หาผู้จัดการเดินรถต่อไป แต่ช่วงที่ยังไม่มีประชาชนใช้บริการมากพอ หรือรถไฟความเร็วสูงยังไม่แล้วเสร็จ หากให้ผู้ประกอบการวิ่งรถเส้นนี้ อาจทำให้เกิดการขาดทุนแน่นอน 

คืบหน้า Dry Port

          สำหรับโครงการศึกษาจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port) ทาง สนข.เลือกรูปแบบพื้นที่ที่เหมาะสม ซึ่งคาดว่าจะมีปริมาณการขนส่งเพิ่มขึ้นในอนาคต มี ๔ จังหวัด คือ ๑.ต.กุดจิก อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา ๒.ต.ดอนทราย และต.หนองตีนนก อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา ๓.ต.ม่วงหวาน อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น และ ๔.ต.เขาทอง อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ ซึ่งจังหวัดนครราชสีมาคาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงปี ๒๕๖๘

          ด้าน นายภานุ เล็กสุนทร เจ้าของเพจ เฟซบุ๊กโคราชเมืองที่คุณสร้างได้ สอบถามเพิ่มเติมว่า เนื่องจากภาคอีสานจะมีท่าเรือบกที่โคราช และขอนแก่น จึงอยากทราบว่าจะเริ่มดำเนินการที่ไหนก่อนระหว่างโคราชกับขอนแก่น โดยผู้แทนจากสำนักส่งเสริมระบบการขนส่งฯ กล่าวว่า สำหรับส่วนนี้ไม่ได้เจาะจงว่าจะเริ่มดำเนินการที่จังหวัดใดก่อน เนื่องจากยังไม่มีความชัดเจนจากภาคเอกชน แต่ทราบว่าจะเริ่มดำเนินการในช่วงปี ๒๕๖๕

          ทั้งนี้ ผู้แทนจากสำนักส่งเสริมระบบการขนส่งและจราจรในภูมิภาค กล่าวต่ออีกว่า ทางหน่วยงานที่มีหน้าที่บริหารจัดการท่าเรือบก มี ๓ ทางเลือก คือ การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.), การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และจังหวัด ซึ่งทางเลือกที่เห็นว่าเหมาะสมที่สุดคือ กทท. เป็นหน่วยงานเจ้าของโครงการ เนื่องจากมีสภาพคล่องสูง มีประสบการณ์บริหารงานโดยตรง และมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสายเรือ

          ในปัจจุบัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มอบหมายเมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๖๒ ให้ สนข. จัดทำข้อมูลเตรียมนำเสนอคณะกรรมการพัฒนาระบบการบริหารจัดการขนส่งสินค้าและบริการของประเทศ (กบส.) พิจารณาให้ความเห็นชอบบรรจุเป็นส่วนหนึ่งในแผนแม่บทโลจิสติกส์ ระยะ ๓ (พ.ศ. ๒๕๖๐-๒๕๖๔) และปรับปรุงตัวชี้วัดให้มีความเหมาะสม โดยให้จัดเตรียมข้อมูลเสนอ กบส.พิจารณาให้ความเห็นชอบและนำเสนอให้ ครม.ทราบในวาระรัฐบาลชุดใหม่ตามลำดับ ซึ่งคาดว่าเสนอได้ในเดือนมิถุนายน ๒๕๖๒

มอเตอร์เวย์บางปะอิน–โคราช

          สำหรับในเรื่องการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายบางปะอิน-โคราช นายจรินทร์ เข็มประสิทธิ์ ผู้แทนจากสำนักงานทางหลวงที่ ๑๐ กล่าวว่า สำหรับโครงการนี้เป็นมอเตอร์เวย์เก็บค่าผ่านทางขนาด ๔-๖ ช่องจราจร ระยะทาง ๑๙๖ กม. วงเงินลงทุน ๘๔,๖๐๐ ล้านบาท โดยแบ่งเป็นค่าก่อสร้าง ๗๗,๙๗๐ ล้านบาท และค่าเวนคืน ๖,๖๓๐ ล้านบาท ในส่วนของความคืบหน้าโครงการ จังหวัดนครราชสีมามีทั้งหมด ๒๐ ช่วง ลงนามสัญญา ๒๐ สัญญา ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินก่อสร้างปี ๒๕๕๙-๒๕๖๒

          นายจรินทร์ กล่าวเพิ่มเติมถึงโครงการก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดแยกประโดก (พีกาซัส)ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอขอรับงบประมาณปี ๒๕๖๓-๒๕๖๕ สำหรับปีงบประมาณ ๒๕๖๑ นั้น ได้ทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งดำเนินการแล้วเสร็จโดย บริษัท เทสโก้ จำกัด และ บริษัท ธารา ไลน์ จำกัด ส่วนอุโมงค์ลอดทางแยกนครราชสีมา (บิ๊กซี) เคยได้รับงบประมาณปี ๒๕๕๐ วงเงิน  ๔๐๐ ล้านบาท แต่มีผู้คัดค้านในการทำการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการรองบเพื่อศึกษา EIA และอยู่ระหว่างเสนอขอรับงบประมาณปี ๒๕๖๔-๒๕๖๖

ถนนสาย ๓๐๔

          นายจรินทร์ เข็มประสิทธิ์ ผู้แทนจากสำนักงานทางหลวงที่ ๑๐ กล่าวว่า ในส่วนของวงแหวนรอบเมืองมีทั้งสิ้น ๗ ตอน ในปัจจุบันมีการก่อสร้างแล้วเป็นขนาด ๒ ช่องจราจร ในทิศใต้ ตอนที่ ๑ โครงการถนนวงแหวนรอบเมืองนครราชสีมา ระหว่างกม.ที่ ๐+๐๐๐ – ๑๗+๙๔๑ ระยะทาง ๑๗.๙๔๑ กม. งบประมาณก่อสร้าง ๓๑๔.๙๗๔ ล้านบาท แผนงานรวมในช่วงเดือนเมษายนอยู่ที่ ๔๔.๕๒๕% ผลงานรวม ๓๘.๑๘๓%

          ทั้งนี้ นายจรินทร์ กล่าวถึงความคืบหน้าในโครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข ๓๐๔ ตอน กบินทร์บุรี–ปักธงชัย เพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน สาย อ.กบินทร์บุรี–อ.ปักธงชัย (ทางเชื่อมผืนป่า) จ.ปราจีนบุรี กม. ๑๙๑+๘๖๐-กม. ๑๙๕-๓๑๐ ระยะทาง ๓.๔๕๐ กม. ในช่วงเดือนเมษายน ๒๕๖๒ ดำเนินการแล้วเสร็จ ๑๐๐% สามารถเปิดใช้งานได้แล้ว สาย อ.กบินทร์บุรี–อ.วังน้ำเขียว ตอนที่ ๓ ส่วนที่ ๑ กม.๒๐๗+ ๗๖๐-กม.๒๑๖+๕๖๐ ระยะทาง ๘.๘๐๐ กม. การดำเนินการเดือนเมษายนอยู่ที่ ๙๓.๐๒๓% และสาย อ.กบินทร์บุรี–อ.วังน้ำเขียว ตอน ๓ ส่วนที่ ๒ กม.๒๖๑+๕๖๐-กม.๒๒๓+๒๖๙ ระยะทาง ๖.๗๐๙ กม. การดำเนินการเดือนเมษายนอยู่ที่ ๓๐.๗๑๗% โดยแผนงานรวมเดือนเมษายนอยู่ที่ ๘๘.๑๐๗% และผลงานรวมอยู่ที่ ๗๙.๑๗๕%

          สำหรับโครงการแก้ไขน้ำท่วมแยกหัวทะเล นายจรินทร์ กล่าวเสริมว่า อยู่ระหว่างดำเนินการ ซึ่งในปัจจุบันดำเนินการไปได้แล้ว ๖๘% ด้านนายเอกภพ โตมรศักดิ์ นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลหัวทะเล กล่าวว่า ในปัจจุบันยังไม่มีภาวะน้ำท่วมในเขตพื้นที่ แต่ทางหน่วยงานเตรียมรับมืออยู่ตลอดเวลา

          นายเอกภพ โตมรศักดิ์ นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลหัวทะเล กล่าวอีกว่า ในส่วนบริเวณทางแยกหัวทะเลล่าสุดทางเทศบาลได้ออกหนังสือไปทางสำนักงานที่ดินจังหวัด เพื่อทำการรังวัดแนวเขต ซึ่งผลสรุปเบื้องต้น สำนักที่ดินจะทำการรังวัดที่ดินสำหรับพื้นที่ที่จะดำเนินการในการก่อสร้างในโครงการดังกล่าว งบประมาณ ๕.๗ ล้านบาท เมื่อทางสำนักงานที่ดินแจ้งผลการรังวัดมาแล้ว ทางเทศบาลจะแจ้งให้ทราบอีกครั้ง และทำการออกประกาศ เพื่อขยายเขตไปอีกครั้งหนึ่ง

ถนนเลียบทางรถไฟหัวทะเล

          นายเอกภพ โตมรศักดิ์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของถนนเลียบทางรถไฟ ล่าสุดทางเทศบาลได้ประสานงานทางการรถไฟ โดยวันนี้หัวหน้ามาร่วมประชุมด้วย ในส่วนของพื้นที่ต้องการเอกสารบันทึกในเรื่องของการปรับแบบล่าสุด ขณะนี้ทางเทศบาลได้ทำหนังสือเพื่อร้องขอจากทางสำนักงานการรถไฟแห่งประเทศไทย รวมถึงบริษัทที่ปรึกษา เพื่อที่จะให้ทางคณะกรรมการที่ตรวจร่วมได้ให้เป็นหลักฐานยืนยันว่า ในกรณีที่มีการปรับแบบ ซึ่งก่อนหน้านี้แบบเดิมจะทำเป็นอุโมงค์ลอดทางรถไฟ ซึ่งอาจส่งผลกระทบในเรื่องของการระบายน้ำหรือปัญหาในอนาคต จึงได้มีการปรับแบบให้เหมาะสม อย่างไรก็ตามอยู่ระหว่างการรอจากการรถไฟแห่งประเทศไทยก่อน

ขยายถนนแยกโลตัสหัวทะเลฯ

          นายเกรียงไกร เมืองโคตร ตัวแทนจากแขวงทางหลวงชนบทนครราชสีมา กล่าวว่า โครงการนี้เป็นโครงการซ่อมสร้างถนนลาดยางแอสฟัลติกส์คอนกรีตทางหลวงหมายเลข ๒๒๔–ศูนย์อนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง มทร.อีสาน  มีโครงการก่อสร้างระยะทาง ๓ กม. ใช้งบประมาณ ๑๘ ล้าน ปัจจุบันโครงการก่อสร้างเป็น ๓ ตอน ในการดำเนินการปัจจุบันจำเป็น ๔ ช่องจราจร มีไหล่ทาง ๕๐๐ ม. ยาว ๗๕ ม. หลังจากนั้นจะไม่มีไหล่ทางไปจนถึงระยะทาง ๑๘๕ เมตร โดยจะเป็นถนน ๔ ช่องจราจรตลอดเส้นทาง หลังจากนั้นจะเชื่อมจากถนนที่มีอยู่แล้ว ซึ่งคาดว่าจะไม่มีปัญหาอะไร และขึ้นอยู่กับทางจังหวัดในการประสานกับทางเจ้าของที่ดิน สำหรับแขวงมีหน้าที่ที่จะเข้าไปดำเนินการก่อสร้างเท่านั้น

          ด้าน นายเอกภพ โตมรศักดิ์ นายกเทศมนตรีตำบลหัวทะเล กล่าวว่า ในส่วนของเจ้าของที่ดินฝั่งทางโลตัส ซึ่งอยู่ระหว่างการรอหนังสือจากบริษัทเอก-ชัยฯ (ผู้ประกอบธุรกิจเทสโก้ โลตัส) ซึ่งยืนยันแล้วว่าไม่มีปัญหาในการยกมอบที่ดิน แต่ขอให้มีการก่อสร้างกำแพงเพิ่มเติมเข้าไปเท่านั้น ทั้งนี้หนังสือจากทางจังหวัดที่ตอบรับไป ทางจังหวัดยินดีที่จะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย และหลังจากนี้บริษัทเอก-ชัยจะแจ้งศูนย์ประจำจังหวัด เพื่อจะตอบมาทางจังหวัดในเรื่องขอยินยอมให้ปรับลดค่าเช่าตามสัญญา และยินยอมให้เจ้าของที่ดินดำเนินการยกมอบที่ดินให้กับทางราชการ

การพัฒนาเส้นทางสาย ง.๑, ง.๒ และ ง.๕

          นายกิติพงษ์ ประพันธ์อนุรักษ์ ผู้แทนจากสำนักงานทางหลวงชนบทที่ ๕ กล่าวว่า จากการทำการศึกษาถนนสาย ง.๑ และ ง.๒ อยู่ระหว่างการขอรับสนับสนุนงบประมาณในการออกแบบรายละเอียด คาดว่าจะขอรับประมาณในปี ๒๕๖๔ ระหว่างนี้ทางนายภานุ เล็กสุนทร ได้สอบถามเกี่ยวกับแนวเส้นทางที่จะดำเนินการว่าจะเป็นแนวทางเดิม หรือแนวตามผังเมืองใหม่สำหรับ ง.๑ และ ง.๒ โดย นายกิติพงศ์ ชี้แจงว่า การศึกษาทั้งถนนแนวตามผังเมืองเดิม และแนวเสนอแนะ ซึ่งผลการศึกษาพบว่าประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับแนวเสนอแนะ 

          นายเกรียงไกร เมืองโคตร กล่าวเสริมว่า จากการศึกษาเรื่องของแนวที่เป็นแนวใหม่ พบว่าประชาชนไม่เห็นด้วยอย่างมีนัยสำคัญ ทางกรมจึงต้องขอชะลอการดำเนินการถนนสาย ง.๑ และ ง.๒ ไปก่อน และจะต้องรอดูผังเมืองใหม่ที่จะประกาศใช้อีกไม่นาน เพื่อประกอบการพิจารณาอีกครั้ง ในส่วนสาย ง.๕ ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการ ซึ่งยังไม่ได้เสนอเข้ารับงบประมาณ อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องรอความชัดเจนของผังเมืองใหม่เช่นกัน 

          อนึ่ง นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เคยให้สัมภาษณ์กับ “โคราชคนอีสาน” ถึงความคืบหน้ากรณีทุบ/ไม่ทุบสะพานสีมาธานีว่า ขณะนี้รับทราบมาว่า การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) มีการสรุปแบบออกมาเป็นที่เรียบร้อยแล้วว่า จะทุบหรือไม่ทุบสะพานสีมาธานี ช่วงผ่านเมืองนครราชสีมา แต่ยังไม่มีการเปิดเผยให้กับประชาชนได้รับทราบ ทางจังหวัดนครราชสีมาจึงได้ทำหนังสือถึงกระทรวงคมนาคม และผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยให้เปิดเผยเรื่องราวดังกล่าวให้ประชาชนได้รับทราบ ซึ่งทางจังหวัดกำลังรอหนังสือตอบกลับจากทางกระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย เพราะส่วนตัวก็ยังไม่ทราบเช่นกันว่า จะออกมาในรูปแบบใด

 

 

 ปีที่ ๔๔ ฉบับที่ ๒๕๗๓ วันอังคารที่ ๒๑ - วันเสาร์ที่ ๒๕ เดือนพฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒

 

811 1365