20thApril

20thApril

20thApril

 

September 11,2019

ขอเวลา ๑ ปี สายไฟฟ้าลงดิน ลุยเฟสแรก ๒,๔๐๐ ล.

กฟภ.โคราชเริ่มแล้ว เอาสายไฟฟ้าและสายสื่อสารลงใต้ดิน แบ่งเป็น ๖ ล็อต งบประมาณกว่า ๒,๔๐๐ ล้านบาท ขยับล็อตที่ ๒ บริเวณ ๕ แยกหัวรถไฟไปตามถนนสุรนารีก่อน ชี้ล็อตแรกถนนราชดำเนิน ติดเขตเมืองเก่ายังขุดไม่ได้ ยืนยันระบบปลอดภัย มีความมั่นคงสูง คาดเสร็จในปี ๒๕๖๔

 

ตามที่ คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ดำเนินโครงการพัฒนาระบบไฟฟ้าในเมืองใหญ่ (คพญ.) ระยะที่ ๑ ประกอบด้วย เชียงใหม่ นครราชสีมา พัทยา และหาดใหญ่ โดยอนุมัติงบประมาณลงทุน ๑๑,๖๖๘.๕๖ ล้านบาท โดยใช้เงินกู้ภายในประเทศ จำนวน ๘,๗๔๘.๕๖ ล้านบาท และเงินรายได้ของ กฟภ.อีกจำนวน ๒,๙๒๐ ล้านบาท ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ ซึ่งในส่วนของจังหวัดนครราชสีมา กฟภ.ได้ลงนามสัญญาจ้างบริษัท เด็มโก้ จำกัด (มหาชน) รับเหมาก่อสร้างปรับปรุงระบบจำหน่าย ๒๒ เควี เป็นเคเบิลใต้ดิน บริเวณถนนชุมพลและถนนราชดำเนิน รอบอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ในเอกสารที่ มท ๕๓๐๕.๑๕/๒๑๙๑๕ ลงวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๖๒ โดยต่อมา เมื่อวันที่ ๒ กันยายน ๒๕๖๒ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดนครราชสีมา ขึ้นป้ายระบุข้อความว่า “ครม.อนุมัติแล้ว นำสายไฟฟ้าลงดินเมืองโคราช ถนนชุมพล, ถนนราชดำเนิน, ถนนสุรนารี, ถนนบุรินทร์, ถนนพิบูลละเอียด, ถนนจอมสุรางค์ยาตร์ และถนนโพธิ์กลาง ระหว่างเดือนกันยายน ๒๕๖๒-กันยายน ๒๕๖๒ จะปิดช่องจราจรดังกล่าวในเวลา ๒๑.๐๐-๐๔.๐๐ น.”

โคราช’นำสายไฟฟ้าลงดิน

ล่าสุดเมื่อวันที่ ๖ กันยายน ๒๕๖๒ เวลา ๑๓.๓๐ น. การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดนครราชสีมา ได้เชิญ นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วยนายนุกูล ตูพานิช ผู้ช่วยผู้ว่าการก่อสร้างและบริหารโครงการ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค นายกฤษณะ แย้มวจี ผู้จัดการส่วนวิศวกรรมท่อร้อยสาย ฝ่ายธุรกิจท่อร้อยสาย บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) นายสมเกียรติ ประสมทรัพย์ ผู้จัดการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอำเภอโนนสูง และคณะผู้บริหารการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดนครราชสีมา ร่วมรับฟังรายงานรายละเอียดโครงการนำสายไฟฟ้าและสายสื่อสารลงใต้ดิน ก่อนจะมีการแถลงข่าวในวันที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๖๒ โดยมีนายอิทธิชัย ปกินนกะ รองผู้อำนวยการกองก่อสร้างและบริหารโครงการ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เขต ๓ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (กฟฉ.๓) เป็นผู้ชี้แจง

เสร็จสิ้นภายในปี’๖๔

นายนุกูล ตูพานิช ผู้ช่วยผู้ว่าการก่อสร้างและบริหารโครงการ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กล่าวว่า “ตามที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติโครงการนำสายไฟฟ้าและสายสื่อสารลงใต้ดิน ในเขตเทศบาลนครนครราชสีมา โดยให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งงานดังกล่าวจำเป็นต้องประสานความร่วมมือกับหลายหน่วยงานในจังหวัดนครราชสีมา เพื่ออำนวยความสะดวกและลดผลกระทบกับประชาชน ในระหว่างการก่อสร้าง จึงจัดให้มีการรับฟังรายละเอียดของโครงการและซักถาม รวมทั้งรับฟังข้อเสนอแนะในการปฏิบัติงาน การนำสายไฟฟ้าลงใต้ดินงบประมาณทั้งโครงการน่าจะอยู่ที่ประมาณ ๒,๔๐๐ ล้านบาท จะใช้เวลาดำเนินการเฟสละ ๑ ปี มีทั้งหมด ๖ เฟส ซึ่งบางเฟสอาจจะทำควบคู่กันไป เช่น เฟสที่ ๑ เริ่มกันยายน ๒๕๖๒-กันยายน ๒๕๖๓ เฟสที่ ๒ อาจจะเริ่มประมาณเดือนมกราคม ๒๕๖๓ ดังนั้น ทั้ง ๖ เฟสอาจจะใช้เวลารวมไม่กี่ปี โดยจะพยายามให้โครงการนี้เสร็จภายในปี ๒๕๖๔ ให้ได้ ส่วนรูปแบบการก่อสร้าง จะเป็นแบบ HDD คือเครื่องจักรจะเจาะปากท่อลงไป แล้วไปโค้งออกอีกจุดหนึ่ง จึงไม่จำเป็นต้องเปิดผิวถนนให้กว้างอย่างที่ทำในพัทยา และสะดวกต่อการคืนผิวถนนในช่วงเช้าด้วย”

ล็อตที่ ๒ เริ่มก่อน

นายอิทธิชัย ปกินนกะ รองผู้อำนวยการ กองก่อสร้างและบริหารโครงการ กฟฉ.๓ กล่าวว่า “โครงการนำสายไฟฟ้าและสายสื่อสารลงใต้ดิน ในเขตเทศบาลนครนครราชสีมา แบ่งเป็น ๖ เฟส หรือ ๖ ล็อต ซึ่งในขณะนี้ได้เริ่มดำเนินการ ล็อตที่ ๒ ก่อน บริเวณห้าแยกหัวรถไฟหน้าการไฟฟ้าฯ รวมไปถึงถนนสุรนารี เนื่องจาก ล็อตที่ ๑ ถนนราชดำเนิน พบปัญหาเรื่องโบราณสถานในเขตเมืองเก่า จึงต้องหารือกับคณะกรรมการเมืองเก่า และส่วนราชการในจังหวัดเสียก่อน ส่วนล็อตที่ ๓ อยู่บริเวณถนนโพธิ์กลาง และถนนจอมสุรางค์ยาตร์ ล็อตที่ ๔ อยู่บริเวณถนนประจักษ์และถนนไชยณรงค์ ล็อตที่ ๕ ถนนมนัส ยาวมาสุดที่สถานีตำรวจภูธรเมืองนครราชสีมา และล็อตที่ ๖ ถนนจักรีและถนนวัชรสฤษดิ์”

ระบบไฟฟ้าใต้ดินมั่นคง

“รูปแบบของการนำสายไฟฟ้าลงใต้ดินคือ จะเป็นร้อยท่อลงไป โดยจะมีจุดพักสายอยู่ตลอด ไม่ใช่รูปแบบอุโมงค์ หากสายเกิดความเสียหายก็ต้องดึงออกมาแล้วร้อยเข้าไปใหม่ หากเกิดเหตุสายไฟฟ้าชำรุดขึ้นมา ไฟฟ้าก็จะไม่ดับนาน เพราะเราได้ใช้ระบบไฟฟ้าสองทาง หากทางหนึ่งไฟฟ้าดับ ก็ไม่ต้องกังวลว่าจะไม่มีไฟฟ้าใช้ นี่ถือเป็นความมั่นคงของระบบไฟฟ้าใต้ดินอย่างหนึ่ง ส่วนปัญหาน้ำท่วมก็ไม่ต้องกังวล เพราะถ้ามีไฟฟ้ารั่วออกมา จะมีระบบตรวจจับและตัดไฟอัตโนมัติ แต่สิ่งที่จะเป็นปัญหาได้คือ ระยะเวลาในการซ่อมแซมแต่ละครั้ง เพราะบางครั้งจะต้องหาว่าจุดไหนชำรุด ซึ่งจะต้องมารื้อสายไปทีละจุด ก็อาจจะทำให้ใช้เวลานาน และอีกเรื่องคือ หม้อแปลงไฟฟ้าที่ปัจจุบันอยู่บนนั่งร้านของเสาไฟฟ้า เราจะต้องมาหาว่า จะวางไว้จุดไหนได้บ้าง ซึ่งหากไปวางไว้หน้าบ้านใครก็คงจะไม่สะดวก” นายอิทธิชัย กล่าว

นายอิทธิชัย กล่าวอีกว่า “ในส่วนของการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้ ได้มีการประสานงานกับผู้รับเหมาแล้ว โดยจะเป็นรูปแบบของการเดินประชาสัมพันธ์ตามบ้าน ในเขตเทศบาลนครนครราชสีมา ซึ่งอาจจะไม่ทั่วถึงทั้งจังหวัดและต่างจังหวัด โดยเร็วๆ นี้จะมีการประชาสัมพันธ์โดยรถขยายเสียงอีกครั้ง”

นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา สอบถามว่า คาดว่าจะเริ่มดำเนินการล้มเสาล็อตแรกได้ประมาณช่วงใด นายอิทธิชัย ปกินนกะ ชี้แจงว่า เท่าที่ลงหน้างาน เนื่องจากล็อต ๑ เป็นสัญญาและส่งมอบพื้นที่ก่อน ปัจจุบันเรายังให้ทำงานไม่ได้ จึงให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการหล่อบ่อที่ไซต์ออบติก เนื่องจากเราต้องรอมติคณะกรรมการเมืองเก่า จึงยังไม่สามารถเจาะได้ แต่ในขณะเดียวกันล็อต ๒ เราได้ดำเนินการไปก่อน โดยเริ่มไปแล้วเมื่อต้นเดือนกันยายน ๒๕๖๒ และใช้ระยะเวลาก่อสร้าง ๓๖๐ วัน คาดว่าจะดำเนินการเสร็จช่วงกันยายน ๒๕๖๓ ใกล้เคียงกับระยะเวลาสัญญา

รอลุ้นลงดินถนนมิตรภาพ

ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ถามต่อว่า เมื่อดำเนินการเสร็จทั้ง ๖ ล็อตแล้ว ฝั่งซ้ายของถนนมิตรภาพจะมีโครงการต่อหรือไม่ นายนุกูล ตูพานิช ชี้แจงว่า โครงการเคเบิลใต้ดินและสายไฟฟ้าลงใต้ดิน มี ๓ ลักษณะ คือ ๑.ท้องถิ่นค่อนข้างมีกำลังทรัพย์ อยากให้เมืองสวยงาม มีจุดดึงดูด ท้องถิ่นจะออกงบประมาณ ๑๐๐% และให้การ     ไฟฟ้าฯ ช่วยดำเนินการ ๒.เป็นความร่วมมือของท้องถิ่น และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือโครงการแบบ ๕๐ : ๕๐ คือท้องถิ่นจ่ายค่าโยธาฯ การไฟฟ้าฯ จ่ายในส่วนของไฟฟ้า ๓.โครงการที่การไฟฟ้าฯ จ่าย ๑๐๐% ซึ่งมีอยู่ ๔ เมือง คือ เชียงใหม่ พัทยา หาดใหญ่ และนครราชสีมา ทั้งนี้กำลังมีการเสนอสำหรับโครงการพัฒนาระบบไฟฟ้าในเมืองใหญ่ (คพญ.๒) ซึ่งเริ่มศึกษาว่าจะมีความเหมาะสมในพื้นที่ใดต่อไป ทั้งนี้ต้องชี้แจงว่า การดำเนินการสายไฟฟ้าลงดิน และการจัดระเบียบสายสื่อสารนั้นจะเป็นคนละโครงการ

ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวอีกว่า ช่วงที่ผ่านมาจังหวัดนครราชสีมา ทางการไฟฟ้า TOT และเครือข่ายพันธมิตรต่างๆ มีโครงการการจัดระเบียบสายสื่อสารกันมาบ้างแล้ว ดำเนินการมาปีกว่าแล้ว และตนเห็นจุดไหนหรือมีชาวบ้านมาร้องเรียน ก็จะประสานงานเพื่อให้ไปจัดระเบียบเพิ่มเติม ล่าสุดดำเนินการที่ลานพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ ๕ (หน้าศาลากลาง) โดยทำให้เห็นถึงความแตกต่างกัน

วอนขอพื้นที่วางหม้อแปลง

นายอิทธิชัยฯ กล่าวว่า อาจจะขอความร่วมมือกับผู้ว่าฯ และสื่อมวลชน ช่วยกันชี้แนะว่าต้องการให้นำตู้หม้อแปลงไปตั้งไว้ตำแหน่งใด โดยนายนุกูลฯ เสนอเพิ่มเติมว่า ให้ลองจัดทำด้วยไม้อัด และลองนำไปตั้งในบริเวณที่เหมาะสม แล้วดูผลการตอบรับ เพราะหากเราดำเนินการเรียบร้อย และมีการนำหม้อแปลงไปตั้งไว้ แล้วมีผลกระทบตามมาก็จะทำให้เกิดความเสียหายภายหลังได้ นอกจากนี้พื้นที่บางส่วนที่เป็นเมืองเก่า ที่จะใช้เป็นพื้นที่จัดแสดงมหกรรมศิลปะ Thailand biennale เราอาจจะมีการตกแต่งตู้หม้อแปลงให้มีความสวยงาม ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดฯ กล่าวเสริมว่า ในจุดที่เป็นหน้าบ้านประชาชน หากไม่สามารถเลี่ยงได้จริงๆ อาจจะต้องมีการพูดคุยกับประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบด้วย
หลังจากนี้จะเป็นอย่างไร?

ผู้ว่าราชการจังหวัดฯ ถามอีกว่า ในส่วนของไฟส่องถนนจะเป็นอย่างไร เนื่องจากไม่มีเสาไฟแล้ว นายนุกูลฯ ชี้แจงว่า ยกตัวอย่างที่เมืองพัทยา เมื่อไม่มีเสาไฟแล้ว เทศบาลได้นำโคมไฟมาตั้งตามริมทาง ซึ่งอาจจะมีการทำเป็นรูปสัญลักษณ์ต่างๆ ของแต่ละท้องถิ่น นายอิทธิชัย เสริมว่า จากการพูดคุยกับเทศบาลนครนครราชสีมา ซึ่งเทศบาลทราบว่าเสาไฟอาจจะไม่มี และแจ้งว่าจะมีการทำไฟสาธารณะเป็นเสาเฉพาะของเทศบาล และถือโอกาสนี้ในการปรับปรุงทางเท้า (footpath) เพิ่มเติมด้วย

ทั้งนี้ นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ถามในข้อกังวลที่ว่า เมื่ออยู่ในผิวถนนเวลาก่อสร้าง บริเวณใกล้ๆ ริมทางเท้าจะเป็นท่อระบายน้ำ จะทำให้ได้รับผลกระทบต่อการระบายน้ำในพื้นที่เมืองหรือไม่ นายอิทธิพลฯ ชี้แจงว่า ในส่วนของไฟฟ้าความแรงสูงเราลง พื้นที่กลางถนน และแรงต่ำ จะเว้นระยะมาหนึ่งเลน เนื่องจากส่วนใหญ่บริเวณที่ติดริมถนนจะมีท่อระบายน้ำ ซึ่งเรามีการสำรวจ และพยายามเลี่ยงพื้นที่ส่วนตรงนั้นอยู่แล้ว

นอกจากนี้ “โคราชคนอีสาน” ถามว่า ตัวสถานีไฟฟ้าจะตั้งอยู่บริเวณไหนและมีกี่จุด นายนุกูล ตูพานิช ชี้แจงว่า จะมีสถานีไฟฟ้ารับไฟแรงสูง 115 kv มาจ่ายไฟให้ระบบไฟฟ้าใต้ดิน และ ลดหลั่นแรงดันไปเรื่อยๆ ขณะนี้คาดว่าจะสร้างสถานีไฟฟ้าที่สำนักงานการไฟฟ้าจังหวัดนครราชสีมา เพื่อให้ระบบเคเบิ้ลใต้ดินมีความมั่นคง จึงต้องสร้างสถานีไฟฟ้าขึ้นมาหนึ่งจุด และด้วยเหตุที่สำนักงานการไฟฟ้ามีพื้นที่เพียงพอเราจึงสร้างที่จุดนี้ และจะเป็นจุดศูนย์กลางความมั่นคงของเคเบิลใต้ดิน

 

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๒๕๙๓ วันพุธที่ ๑๑ - วันอังคารที่ ๑๗ เดือนกันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๒

 

 


806 1360