19thApril

19thApril

19thApril

 

September 11,2019

ผังเมืองรวมนครราชสีมา ฝันปั้น‘ลำตะคอง’ เทียบคลอง‘ชองเกชอน’

กรมโยธาธิการและผังเมืองจัดงบกว่า ๖๐๐ ล้าน พัฒนาผังเมืองรวมเมืองนครราชสีมา หวังใช้ “คลองชองเกชอน” เกาหลีใต้ เป็นโมเดลพัฒนาลำตะคองให้น่าสนใจ ชูเป็นแหล่งพักผ่อน และท่องเที่ยว ‘สมเกียรติ’ เผย ต้องการพัฒนาเมืองให้กระจายความเจริญเท่าเทียมกัน

ตามที่กรมโยธาธิการและผังเมือง โดยสำนักสถาปัตยกรรม ได้รับการจัดสรรงบประมาณปี ๒๕๖๒-๒๕๖๓ เพื่อว่าจ้างผู้ให้บริการทำงานศึกษาความเหมาะสมและออกแบบรายละเอียดโครงการพัฒนาในเขตผังเมืองรวมเมืองนครราชสีมา ซึ่งมีการทำสัญญาจ้างบริษัทที่ปรึกษา ได้แก่ บริษัท โปรเกรส เทคโนโลยี คอนซัลแท็นส์ จำกัด และบริษัท บียอน ดีไซน์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด เมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๖๒ ด้วยงบประมาณ ๕,๙๙๕,๐๐๐ บาท เพื่อศึกษาความเหมาะสม รวมทั้งจัดทำแผนแม่บทและจัดลำดับความสำคัญ

ล่าสุด เมื่อวันที่ ๕ กันยายน ๒๕๖๒ เวลา ๐๙.๓๐ น. ที่หอประชุมเปรมติณสูลานนท์ ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา นายจรัสชัย โชคเรืองสกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานการประชุมประชาสัมพันธ์โครงการและชี้แจงผลการจัดทำแผนแม่บทงานค่าใช้จ่ายในการศึกษาความเหมาะสมและออกแบบรายละเอียด โครงการพัฒนาตามผังเมืองรวมเมืองนครราชสีมา โดยมีนายสมเกียรติ วิริยะกุลนันท์ โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดนครราชสีมา, นายชนสรณ์ เกตุงาม ผู้จัดการโครงการ, นายฐากร ปาลิเอกวุฒิ สถาปนิกและรองผู้จัดการโครงการ, นายวัชรพล จอนเกาะ นายก อบต.บ้านเกาะ, นายวัชรินทร์ พัดเกาะ นายก อบต.หมื่นไวย, นางวันเพ็ญ สุวัฒโนดม รองนายกเทศมนตรีตำบลหัวทะเล, นายสุรสิทธิ์ สิงห์หลง ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วยผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ผู้นำชุมชน และประชาชนที่สนใจกว่า ๑๕๐ คนเข้าร่วมประชุม

นายสมเกียรติ วิริยะกุลนันท์ โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า ปัจจุบันจังหวัดนครราชสีมามีการขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็ว ทั้งด้านการค้า อุตสาหกรรม และที่อยู่อาศัย ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจสังคม และการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรองรับกิจกรรมด้านต่างๆ ของชุมชน ส่งผลให้เมืองนครราชสีมามีการเติบโตของชุนแบบก้าวกระโดด จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาในเขตผังเมืองรวมเมืองนครราชสีมา เพื่อรองรับการเจริญเติบโตดังกล่าว อีกทั้ง รัฐบาลเล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาในเขตผังเมืองรวมเมืองนครราชสีมา จึงได้มอบหมายให้กรมโยธาธิการและผังเมืองศึกษาเพื่อพัฒนาพื้นที่ในเขตผังเมืองรวมเมืองนครราชสีมา และได้รับการจัดสรรงบประมาณปี ๒๕๖๒ เพื่อศึกษาความเหมาะสมและออกแบบรายละเอียดโครงการพัฒนาในเขตผังเมืองรวมเมืองนครราชสีมาในด้านโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค เพื่อพัฒนาพื้นที่ชุมชนเมืองนครราชสีมา ให้เกิดสภาพแวดล้อมทางกายภาพของชุมชนที่ได้มาตรฐาน มีความเป็นระเบียบสวยงาม ปลอดภัย และเป็นเมืองน่าอยู่ มีทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีคุณภาพและสภาพแวดล้อมที่ยั่งยืนต่อไป

โครงสร้างพื้นฐานโคราช

นายชนสรณ์ เกตุงาม ผู้จัดการโครงการ กล่าวว่า เนื่องจากจังหวัดนครราชสีมาเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีความเจริญทางเศรษฐกิจมากที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีความหลากหลายของธรรมชาติ และยังมีพื้นที่ป่าไม้ซึ่งเป็นอุทยานแห่งชาติคือ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และอุทยานแห่งชาติทับลาน มีลำตะคองเป็นสาขาของแม่น้ำมูลไหลผ่านตัวเมือง และด้วยความที่ศักยภาพด้านลักษณะทางกายภาพของพื้นที่ และความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติที่เอื้ออำนวยต่อกิจกรรม และวิถีชีวิตต่างๆ รวมถึงภูมิปัญญาท้องถิ่น ประเพณีวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ต่างๆ ก็มีความน่าสนใจ พื้นที่ทำเลไม่ไกลจากกรุงเทพมหานคร และมีการคมนาคมที่สะดวกสบาย จังหวัดนครราชสีมาจึงเป็นอีกหนึ่งจุดหมายปลายทางในการท่องเที่ยว

โครงการนี้จัดขึ้นเพื่อเป็นการศึกษา ทบทวน และวิเคราะห์โครงสร้างพื้นฐานเดิม และแผนงานการพัฒนาของพื้นที่ชุมชน โดยกำหนดแผนแม่บทหลักในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติระยะ ๒๐ ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ ๑๒ และนโยบายของรัฐบาลแผนพัฒนาพื้นที่ รวมทั้งความเป็นไปตามความต้องการของท้องถิ่นและประชาชน พร้อมทั้งศึกษาความเป็นไปได้ของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานตามแผนแม่บทที่กำหนด โดยศึกษาและวิเคราะห์ครอบคลุมทั้งด้านกายภาพ เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ให้สอดคล้องกับผังการใช้ประโยชน์ที่ดินส่งเสริมการท่องเที่ยวและเสริมสร้างรายได้ รวมทั้งการมีส่วนร่วมของประชาชน นอกจากนี้ยังศึกษาระบบโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องเพื่อรองรับระบบขนส่งในอนาคต โดยพื้นที่ที่จะดำเนินการเป็นพื้นที่ชุมชนผังเมืองรวมเมืองนครราชสีมาจำนวน ๕ พื้นที่ ประกอบด้วย เทศบาลนครนครราชสีมา, เทศบาลตำบลหัวทะเล, เทศบาลตำบลสุรนารี, อบต.หมื่นไวย และ อบต.บ้านเกาะ โดยจะออกแบบรายละเอียดงานโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นในระยะเร่งสั้นและระยะกลาง ให้ครอบคลุมวงเงินค่าก่อสร้างรวมไม่น้อยกว่า ๖๐๐ ล้านบาท

ดำเนินการ ๕๐๐ วัน

“ใช้ระยะเวลาศึกษาทั้งหมด ๕๐๐ วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๖๒ สิ้นสุดสัญญาวันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๖๓ โดยในช่วง ๑๕๐ วันแรกเป็นขั้นตอนการศึกษาความเหมาะสม จัดทำแผนแม่บทและจัดลำดับความสำคัญ และ ๓๕๐ วันหลัง เป็นช่วงการออกแบบรายละเอียด โดยระหว่างการศึกษาจะมีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็น ๑ ครั้ง และจัดประชุมเชิงปฏิบัติการอีก ๒ ครั้งเพื่อสรุปความต้องการของท้องถิ่นว่าต้องการให้เป็นรูปแบบใด” ผู้จัดการโครงการ กล่าว

บทบาทของพื้นที่

นายฐากร ปาลิเอกวุฒิ สถาปนิกและรองผู้จัดการโครงการ กล่าวว่า จากการลงพื้นที่จะเห็นว่าพื้นที่ทั้ง ๔ ตำบลที่กล่าวไป เป็นพื้นที่ที่มีโอกาสในการขยายตัวของชุมชน ทั้งนี้เราได้ทราบถึงบทบาทของพื้นที่แต่ละตำบลดังนี้ ตำบลในเมือง พบว่า พื้นที่มีบทบาทเป็นศูนย์กลางการค้า การพาณิชย์ การคมนาคมทางบก การศึกษา และสถานพยาบาลของภาค และจังหวัด ซึ่งสอดคล้องกับผลการศึกษาการจัดลำดับความเป็นศูนย์กลางเมือง, ตำบลสุรนารี พบว่า เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้เกษตรและธรณีวิทยา, ตำบลบ้านเกาะ และหมื่นไวย เป็นเขตที่อยู่อาศัยชั้นดี รองรับการขยายตัวของเมืองทางทิศเหนือ ส่วนตำบลหัวทะเล พบว่า พื้นที่มีบทบาทเป็นเขตที่อยู่อาศัยชั้นดี รองรับการขยายตัวของเมืองทางทิศใต้
ชองเกชอน’โมเดลพัฒนา‘ลำตะคอง’

สำหรับโครงการปรับปรุงพื้นที่เขตเทศบาลนครนครราชสีมา มีลำตะคองผ่านกลางเมือง และเป็นการระบายน้ำหลักผ่านเมือง ซึ่งจากเหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อหลายปีก่อน มีสาเหตุจากการระบายน้ำผ่านตัวลำตะคอง ดังนั้น จึงมีแนวคิดที่จะปรับปรุงภูมิทัศน์ตั้งแต่เขื่อน ตลิ่ง รวมทั้งปรับปรุงพื้นที่ทั้งสองข้างทางให้มีความน่าสนใจมากขึ้น ซึ่งจะใช้แนวคิดเดียวกับ “คลองชองเกชอน” ประเทศเกาหลีใต้ โดยให้มีไฟส่องสว่างตลอดข้างทาง มีทางวิ่งออกกำลังกาย ทั้งนี้เราจะต้องมาดูศักยภาพของพื้นที่ด้วยว่า จะสามารถปรับปรุงอย่างไรได้บ้าง โดยองค์ประกอบหลักของโครงการคือ ๑.ทำเขื่อนป้องกันตลิ่งสองฝั่ง ๒.ปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบ ๓.เพิ่มไฟฟ้าส่องสว่าง ๔.เพิ่มจุดแวะพักสวนขนาดย่อม และ ๕.ทางเดินริมน้ำ โดยข้อสำคัญในการปรับปรุงลำตะคองคือ จะต้องมีการระบายน้ำที่ดีตามระบบของโครงการชลประทาน

พัฒนาบึงหัวทะเล

โครงการปรับปรุงพื้นที่เขตเทศบาลตำบลหัวทะเล ซึ่งถือว่าเป็นเขตเทศบาลที่มีประชากรหนาแน่น ทั้งนี้แนวความคิดที่ปรับปรุงภูมิทัศน์รอบบึงหัวทะเล ซึ่งจากการสอบถามพบว่า พื้นที่นี้มีการใช้กิจกรรมค่อนข้างหลากหลาย เช่น ลอยกระทง แข่งเรือ ในการปรับปรุง ซึ่งจะปรับให้มีทางวิ่ง ทางจักรยาน ศาลาริมน้ำ ก่อสร้างอัฒจันทร์ริมน้ำ รวมทั้งมีอาคารอเนกประสงค์เพื่อใช้ในกิจกรรมส่วนรวม โดยแนวทางการออกแบบค่อนข้างหลากหลาย เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้น่าพักผ่อน ซึ่งจะลงสำรวจพื้นที่จริงอีกครั้ง และนำมาออกแบบเพื่อรายงานให้ทราบในการประชุมครั้งต่อไป

เทศบาลตำบลสุรนารี จุดที่สำคัญคือ อ่างห้วยยาง โดยแนวความคิดในการปรับปรุงคือ จะเป็นสวนสาธารณะที่เป็นหาดทรายเดิม ซึ่งจะเป็นพื้นที่ที่จะเริ่มปรับปรุง ซึ่งเดิมห้องน้ำไม่ค่อยสะดวก จึงปรับปรุงให้ได้มาตรฐาน ปรับปรุงภูมิทัศน์ ปลูกต้นไม้โดยรอบ เพื่อให้สอดคล้องกับการท่องเที่ยวและการพักผ่อนของประชาชน

เพิ่มพื้นที่สาธารณะบ้านเกาะ

เทศบาลตำบลบ้านเกาะ จุดที่น่าสนใจคือ ลำเหมืองหลวง ซึ่งเป็นคลองชลประทานเดิม ถนนเลียบคลองส่งน้ำเดิมเป็นทางลัดจากทางหลวงหมายเลข ๒๐๕ ไปยังทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒ (ถนนมิตรภาพ) ปัจจุบันสัญจรได้เฉพาะรถขนาดเล็ก จึงไม่เอื้ออำนวยต่อการสัญจร และขาดการพัฒนาที่ทั่วถึง โดยแนวความคิดในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของพื้นที่จะเน้นการใช้งานได้อย่างหลากหลาย ทั้งนี้เราจะมีการขยายทาง พร้อมทั้งให้มีจุดกลับรถเป็นระยะ ปรับปรุงให้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะ และเป็นพื้นที่ออกกำลังกายได้ เนื่องจากว่า จากการที่สำรวจพบว่า พื้นที่เขตตำบลบ้านเกาะยังไม่ค่อยมีพื้นที่สาธารณะสำหรับใช้ในการออกกำลังกาย หรือพื้นที่สำหรับพักผ่อน

ปรับโครงสร้างพื้นฐานหมื่นไวย

ตำบลหมื่นไวย เป็นพื้นที่ที่มีปัญหาด้านโครงสร้างพื้นฐานค่อนข้างหลายจุด โดยเริ่มจาก แนวความคิดในการปรับปรุงภูมิทัศน์สวนสาธารณะบ้านประโดก โดยจะปรับปรุงให้ได้มาตรฐานมากขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากเป็นพื้นที่สำหรับจัดกิจกรรมของชุมชน โดยจะปรับให้มีภูมิทัศน์และประสิทธิภาพของพื้นที่ให้ดีขึ้น และมีการกำหนดพื้นที่สาธารณะเพิ่มขึ้น พร้อมทั้งจัดภูมิทัศน์ทางเดิน ทางจักรยาน พื้นที่พักผ่อน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดของคนในพื้นที่ นอกจากนี้ยังมีโครงการปรับปรุงถนนบ้านประโดก-หนองกระทุ่ม ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม ปรับปรุงถนนในพื้นที่ตำบลหมื่นไวยในแยกการไฟฟ้าถึงถนนบายพาส พร้อมท่อระบายน้ำเพื่อให้ใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ทั้งนี้ เนื่องจากปัจจุบันพื้นที่ตำบลหมื่นไวย มีปัญหาด้านโครงสร้างพื้นฐานคือ ขาดสายโครงข่ายถนนสายรองที่มีมาตรฐาน จึงเกิดแนวความคิดในการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม ได้แก่ ถนนเลียบคลองลำบริบูรณ์ เพื่อเป็นถนนสายรอง รองรับการขยายตัวของพื้นที่ตำบลหมื่นไวย และสอดคล้องกับการใช้ประโยชน์ที่ดินในปัจจุบัน พร้อมปรับปรุงท่อระบายน้ำเพื่อให้ใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพ

พิจารณาบึงพุดซาเพิ่ม

นายสุรสิทธิ์ สิงห์หลง ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า ตนเห็นด้วยที่จะมีการพัฒนาในเขตตัวเมือง ซึ่งการพัฒนาครั้งนี้จะเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวที่เราจะต้องรองรับในการที่เมืองโคราชเราจะมีการพัฒนาขึ้น และเห็นด้วยในทุกพื้นที่ที่นำเสนอมา ทั้งนี้ตนอยากจะเพิ่มอีกสถานที่คือ บึงพุดซา มีเนื้อที่ประมาณ ๒,๐๐๐ กว่าไร่ ไม่ไกลจากตัวเมือง และอยู่ใกล้กับเส้นทางมอเตอร์เวย์ ถ้ามีการสำรวจ จะมีพื้นที่ในการปรับปรุงมากพอสมควร ในการรองรับเพื่อเป็นแก้มลิง นอกจากนี้ยังมีแหล่งท่องเที่ยวเมืองเก่า วัตถุโบราณต่างๆ จึงอยากให้พิจารณาพื้นที่นี้เพิ่มเติม

ระดมความเห็นผู้แทนท้องถิ่น

ด้านนายวัชรพล จอนเกาะ นายก อบต.บ้านเกาะ กล่าวว่า ตำบลบ้านเกาะซึ่งเป็นตำบลอยู่ใจกลางเมือง ขนาบด้วยเทศบาลนครนครราชสีมาและเทศบาลตำบลจอหอ ซึ่งไม่มีพื้นที่สาธารณะ ในเรื่องการพัฒนาลำเหมืองหลวง ซึ่งเป็นลำเหมืองสายหลัก สามารถดำเนินการสัญจรระหว่างถนนมิตรภาพกับถนนสุรนารายณ์ และยังเป็นปอดของชาวตำบลบ้านเกาะ ซึ่งส่วนสำคัญที่สุดพื้นที่บ้านเกาะไม่มีพื้นที่สาธารณะใช้งาน เป็นพื้นที่ชุมชนเมือง ทั้งนี้ในงบประมาณการพัฒนาเนื่องจากเป็นตำบลขนาดเล็ก อาจจะไม่มีศักยภาพด้านงบประมาณที่จะทำได้ จึงขอบคุณทางกรมโยธา ธิการฯ ที่ดำเนินการโครงการนี้

นายวัชรินทร์ พัดเกาะ นายก อบต.หมื่นไวย กล่าวว่า สิ่งหนึ่งเราชาวตำบลหมื่นไวยภาคภูมิใจคือ โบสถ์เก่าอายุกว่า ๓๐๐ ปี และภูมิปัญญาท้องถิ่นของคนในพื้นที่ และคนในพื้นที่ก็มองเห็นถึงปัญหาในพื้นที่ อีกทั้งมอตอร์เวย์ที่กำลังสร้าง และอุโมงค์ (ทางลอดแยกประโดก) ที่พวกเรากังวลในเรื่องการระบายน้ำ อยากให้สำรวจในเรื่องการทำงาน และเรื่องผนังกำแพงต่างๆ เพราะมีบางช่วงที่พัง จึงอยากให้บริษัทที่ปรึกษาทำการเขียนแบบและสร้างแบบในเรื่องการทำงานเพื่อปรับภูมิทัศน์ของตำบลหมื่นไวยให้น่าสนใจมากขึ้น

นางวันเพ็ญ สุวัฒโนดม รองนายกเทศมนตรีตำบลหัวทะเล กล่าวว่า ต้องขอบคุณกรมโยธาธิการฯ ที่ผลักดันให้มีงบประมาณส่วนนี้ ซึ่งเทศบาลตำบลหัวทะเลได้รับงบประมาณช่วงเฟสแรกมาแล้ว และในช่วงเฟสสอง คำว่าสาธารณะที่สมบูรณ์ แต่อาจมีบางส่วนที่ยังไม่ครบ เช่น ขาดสะพาน หรือลู่วิ่งต่างๆ อาจจะต้องของบประมาณเพื่อดำเนินการในเฟสต่อๆ ไป ซึ่งต้องการให้อยู่ในงบประมาณปี ๒๕๖๓

กระจายความเจริญให้เท่ากัน

ด้านนายสมเกียรติ วิริยะกุลนันท์ กล่าวท้ายสุดว่า “ก่อนที่เราจะนำเสนอในที่ประชุม เรามีการพูดคุยกับบริษัทที่ปรึกษา และมีการลงพื้นที่แล้วว่า ในแต่ละพื้นที่มีจุดใดที่น่าสนใจในการพัฒนาเมืองให้มีความสมบูรณ์แบบและน่าอยู่ โครงการต่างๆ ของเราจะอยู่ในเขตผังเมืองรวมเมืองนครราชสีมา จะเห็นได้ว่าแต่ละโครงการจะอยู่กันคนละทิศของจังหวัด ซึ่งผมในฐานะตัวแทนของกรมโยธาธิการฯ พยายามที่จะพัฒนาเมืองโคราชให้กระจายความเจริญไปในแต่ละส่วนให้เท่าๆ กัน”

 

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๒๕๙๓ วันพุธที่ ๑๑ - วันอังคารที่ ๑๗ เดือนกันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๒

 

 


796 1357