29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

November 29,2019

“สยามแรปเตอร์” ไดโนเสาร์กินเนื้อพันธุ์ใหม่ สุวัจน์’ปฏิเสธไม่ใช่‘นักล่า’

อุทยานธรณีโคราชเปิดตัว ไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดใหญ่สุดในอาเซียน “สยามแรปเตอร์ สุวัจน์ติ” ตั้งชื่อสดุดี ‘สุวัจน์’ ในฐานะสนับสนุนการค้นคว้าวิจัยแก่สถาบันไม้กลายเป็นหินฯ กว่า ๒๕ ปี พร้อมจับมือภาครัฐ-เอกชน ขับเคลื่อนสู่จีโอพาร์คโลก หวังเป็นดินแดนแห่ง ๓ มงกุฎของยูเนสโกเป็นเมืองที่ ๓ ของโลก และส่งเสริม Geotourism เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีมาตรฐาน

เมื่อวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ เวลา ๐๙.๓๐ น. ที่สถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และนายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เป็นประธานในพิธีแถลงข่าว เปิดตัวไดโนเสาร์โคราชกินเนื้อสายพันธุ์ใหม่ขนาดใหญ่ของโลก “สยามแรปเตอร์ สุวัจน์ติ” พร้อมด้วย นายสมหมาย เตชวาล อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี, นายจรัสชัย โชคเรืองสกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา, ผศ.ดร.อดิศร เนาวนนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา, ดร.ดวงสุดา โชคเฉลิมวงศ์ ผู้สนับสนุนการอนุรักษ์และวิจัยฟอสซิล, ดร.โยอิชิ อาซูมะ (Dr.Yoichi Azuma) ผู้อำนวยการพิเศษพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์จังหวัดฟูกุอิ ประเทศญี่ปุ่น และผศ.ดร.ประเทือง จินตสกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ และผู้อำนวยการอุทยานธรณีโคราช ร่วมแถลงข่าว และเสนอผลงานวิจัย

สยามแรปเตอร์ สุวัจน์ติ

ผศ.ดร.ประเทือง จินตสกุล กล่าวว่า สำหรับ สยามแรปเตอร์ สุวัจน์ติ หรือ Siamraptor suwati ค้นพบจากแหล่งขุดค้นบ้านสะพานหิน ตำบลสุรนารี อำเภอเมืองนครราชสีมา ตั้งชื่อสกุลตามชื่อเดิมของประเทศไทย (สยาม) อันหมายรวมถึง “นักล่าแห่งสยาม” และตั้งชื่อชนิดเพื่อเป็นเกียรติแก่นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา และอดีตรองนายกรัฐมนตรี ที่ส่งเสริมสนับสนุนการดำเนินงานอนุรักษ์และวิจัยฟอสซิลของสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ มาถึง ๒๕ ปี ซึ่งสยามแรปเตอร์ มาจากการศึกษา ค้นคว้าจากฟอสซิลที่พบรวมทั้งสิ้น ๒๒ ชิ้น ประกอบไปด้วย ชิ้นส่วนกะโหลก กระดูกขากรรไกรบน-ล่าง กระดูกคอ กระดูกหลัง กระดูกหาง กระดูกสะโพก กระดูกขาหลัง กรงเล็บ กระดูกนิ้วเท้า โดยคาดว่า ฟอสซิลดังกล่าวมาจากสยามแรปเตอร์ไม่ต่ำกว่า ๔ ตัว

สยามแรปเตอร์ จัดเป็นไดโนเสาร์กินเนื้อสกุลใหม่และชนิดใหม่ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทยเท่าที่มีการศึกษามา โดยมีขนาดยาวไม่ต่ำกว่า ๘ เมตร ทั้งนี้คำนวณจากชิ้นส่วนกระดูกขากรรไกรล่างที่ค่อนข้างสมบูรณ์  จัดอยู่ในสายวิวัฒนาการของพวกอัลโลซอรอยเดีย ในไดโนเสาร์จำพวกคาร์คาโรดอนโตซอเรียน

ตั้งชื่อสดุดี ‘สุวัจน์’

จากนั้น ผศ.ดร.อดิศร เนาวนนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยฯ กล่าวสดุดีนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ว่า ในฐานะที่นายสุวัจน์ผู้นำภาครัฐและการเมืองที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกลด้านบรรพชีวินวิทยา สนับสนุนการอนุรักษ์วิจัย และการบริการทางด้านซากดึกดำบรรพ์ของจังหวัดนครราชสีมามากว่า ๒๕ ปี อาทิ เมื่อ พ.ศ.๒๕๔๐ เป็นรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม ลงตรวจติดตามการดำเนินงานโครงการอุทยานไม้กลายเป็นหิน ในส่วนของการรวบรวมไม้กลายเป็นหินที่วัดโกรกเดือนห้า และได้บริจาคเงิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท ให้กับทางวัด เพื่อมอบไม้กลายเป็นหินให้กับโครงการ, เมื่อ พ.ศ.๒๕๔๒ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เสนอโครงการจัดสร้างอุทยานและพิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหินเฉลิมพระเกียรติ ร.๙ ในวโรกาสมีพระชนมายุครบ ๖ รอบ ใน พ.ศ.๒๕๔๒ จึงได้รับการจัดสรรงบประมาณ ๙๕ ล้านบาทจากรัฐบาลขณะนั้น, ใน พ.ศ.๒๕๕๙ เดินทางเยี่ยมชมงานแถลงข่าวพบไดโนเสาร์ สิรินธรน่า โคราชเอนซิส พันธุ์ใหม่ของโลก และเป็นประธานเปิดงานฟอสซิลเฟสติวัล ๒๐๑๖ ครั้งที่ ๓ “มหานครแห่งบรรพชีวิน ถิ่นอุทยานธรณี” นอกจากนี้ยังมีอีกหลายกิจกรรมที่นายสุวัจน์ให้การสนับสนุน จึงได้รับการยอมรับจากนักวิชาการด้านบรรพชีวินวิทยาเสนอเป็นชื่อของไดโนเสาร์โคราชกินเนื้อ สกุลและชนิดใหม่ของโลก ตั้งแต่วันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๖๒ ในชื่อ สยามแรปเตอร์ สุวัจน์ติ (Siamrapter suwati)

จุดเริ่มต้นสถาบันไม้กลายเป็นหิน

นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และนายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา กล่าวว่า ต้องขอบคุณท่านอธิการบดี ที่ได้กรุณากล่าวสดุดีเนื่องในโอกาสการแถลงข่าวการค้นพบไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่ของโลก และต้องขอบคุณคณะวิจัยที่ได้ให้เกียรติตั้งชื่อตนเป็นส่วนหนึ่งของไดโนเสาร์ที่ค้นพบ และต้องแสดงความยินดีกับสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ และมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา นับได้ว่าเป็นอีกหนึ่งหน่วยงานของจังหวัด ที่มีผลงานที่โดดเด่นในการพัฒนา และมีความรับผิดชอบเรื่องของการค้นพบแหล่งฟอสซิลต่างๆ ที่เกิดขึ้นในจังหวัดนครราชสีมา สมัยที่ตนเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้มีโอกาสเดินทางมาเยี่ยมพิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน ซึ่งขณะนั้นยังไม่เรียกว่าสถาบัน และทราบว่าที่โคราชเป็นแหล่งฟอสซิล ยังไม่มีการขุดพบไดโนเสาร์ หรือซากช้างโบราณ หรือฟอสซิลต่างๆ โดยพูดถึงเฉพาะไม้กลายเป็นหินเท่านั้น ซึ่งช่วงนั้น ยังไม่มีการตื่นตัวเรื่องนี้ และมีการเก็บสะสมไว้เป็นที่ระลึก หรือประดับตามบ้าน กระทั่งเจ้าอาวาสวัดโกรกเดือนห้า มีการพูดคุยว่า มีชาวบ้านนำไม้กลายเป็นหินมาถวายไว้ ไม่มีที่เก็บ จึงยกให้กับพิพิธภัณฑ์ จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผู้คนเริ่มรู้จักไม้กลายเป็นหินมากขึ้น หลังจากนั้นตนได้มีส่วนร่วมในการสนับสนุนงานด้านการศึกษา วิจัยเรื่อยมา รวมถึงเรื่องของการสนับสนุนงบประมาณในการสร้างอาคาร สถานที่ ทำให้เป็นจุดเริ่มต้นพัฒนาจากพิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน จากนั้นมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมาได้ยกสถานะให้เป็นสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหิน และเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ และเริ่มการค้นพบซากช้างโบราณ ซากไดโนเสาร์ และต่างๆ มากมาย ทำให้กลายเป็นเรื่องของฟอสซิลทั้งหมด และมีการจัดงานฟอสซิลขึ้น เพื่อเป็นการประกาศความสำเร็จของประเทศไทยในการยกเรื่องฟอสซิลเข้าสู่งานวิชาการระดับโลก ซึ่งมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมามีบทบาทที่สำคัญในการผลักดันการค้นพบวิจัยฟอสซิล
“๕ ปีที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวปีละ ๒ แสนคน ๕ ปี ก็ตกล้านคน ๑๐ ปีก็ตก ๒ ล้านคน ที่มาเที่ยวชมสถาบันฯ ถือว่าจากงานวิชาการกลายเป็นงานเศรษฐกิจ งานท่องเที่ยว และวันนี้มีการพัฒนามากขึ้น กระทั่งล่าสุด ครม.ได้อนุมัติตามข้อเสนอของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ที่จะผลักดันให้อุทยานธรณีโคราชเข้าสู่อุทยานธรณีโลกของยูเนสโก เป็น ๓ มงกุฏของยูเนสโก ต่อจากอิตาลีและเกาหลีใต้ ก็จะทำให้เป็นที่รู้จัก และมีประชาชนเข้ามาท่องเที่ยว กระตุ้นเศรษฐกิจในจังหวัด และภาคอีสานเพิ่มขึ้น” นายสุวัจน์ กล่าว

นครแห่งไดโนเสาร์

ต่อมาเป็นการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการ เริ่มจาก นายสมหมาย เตชวาล อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาได้มีการค้นพบไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่ สยามแรปเตอร์ สุวัจน์ติ ที่เกิดจากความร่วมมือกับทางญี่ปุ่น และถือว่าเป็นไดโนเสาร์ตัวที่ ๑๒ ของประเทศไทย ซึ่งต้องขอแสดงความยินดีกับจังหวัดนครราชสีมา ที่นับได้ว่าเป็นอีกจังหวัดที่เป็นดินแดนไดโนเสาร์ที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย จากการค้นพบซากฟอสซิลต่างๆ เรียกได้ว่าจังหวัดนครราชสีมาเป็นนครแห่งไดโนเสาร์ ซึ่งกรมทรัพยากรธรณีเป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่ส่งเสริม สนับสนุนงานวิจัย การค้นพบซากฟอสซิลไดโนเสาร์มาโดยตลอด รวมทั้งต้องขอแสดงความยินดีเนื่องในโอกาสที่ ครม.มีมติเสนออุทยานธรณีโคราช หรือ โคราชจีโอพาร์ค (Khorat Geopark) ต่อยูเนสโก (UNESCO) เพื่อรับการประเมินรับรองเป็นมรดกโลก ซึ่งหากผ่านการรับรองโคราชจะกลายเป็นอุทยานธรณี ๑ ใน ๓ แห่งของโลกที่เป็นดินแดน ๓ มงกุฎด้วย

นายจรัสชัย โชคเรืองสกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า ในวาระครบรอบ ๒๕ ปี ของสถาบันไม้กลายเป็นหินนั้น ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี ๒๕๓๗ และมาเป็นรูปเป็นร่างเมื่อปี ๒๕๔๒ ซึ่งในปีนั้นเอง สถาบันไม้กลายเป็นหินได้รับงบสนับสนุนจากรัฐบาลก้อนใหญ่ ซึ่งเกิดจากการสนับสนุนของท่านสุวัจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมในขณะนั้น และได้มีการก่อสร้างเพิ่มเติมเรื่อยมา โดยกรมทรัพยากรธรรมชาติ และได้ส่งมอบให้กับจังหวัดนครราชสีมาในปี ๒๕๔๗ เพื่อใช้ประโยชน์ที่ดินและอาคาร จากนั้นจังหวัดนครราชสีมาได้ส่งต่อให้กับมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมาเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ เนื่องจากบุคลากรที่ดำเนินงาน เป็นของมหาวิทยาลัยฯ ตั้งแต่ก่อนหน้านี้แล้ว ผลการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยฯ ตั้งแต่ปี ๒๕๔๗ รวม ๑๕ ปี ถือเป็นเรื่องที่น่าพึงพอใจอย่างมาก

“จังหวัดนครราชสีมาตั้งงบประมาณสนับสนุนมาโดยตลอดทุกปี และในปัจจุบันมีการผลักดันและขับเคลื่อนอุทยานธรณีโคราช หรือโคราชจีโอพาร์ค ในพื้นที่ ๕ อำเภอ โดยมีสถาบันไม้กลายเป็นหินเป็นศูนย์กลางการบริหาร และประสานงานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคส่วนต่างๆ ในจังหวัด ซึ่งการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยฯ ทำให้เกิดผลสำเร็จ ส่งผลให้อุทยานธรณีโคราชได้รับการรับรองจากกรมทรัพยากรธรณี ประกาศให้เป็นอุทยานธรณีของประเทศไทย เป็นแห่งที่ ๒ ต่อจากที่จังหวัดสตูล ซึ่งหลังจากนี้ จังหวัดนครราชสีมาและทุกภาคส่วน ต้อง เตรียมการและความพร้อม ในการประเมินรับรองจากยูเนสโกในช่วงกลางปี ๒๕๖๓ เพื่อรับรองอุทยานธรณีโคราชเป็นอุทยานธรณีระดับโลกของยูเนสโก โดยจะส่งผลให้โคราชกลายเป็น ๓ มุงกุฎของยูเนสโก และในวันนี้การแถลงข่าวการค้นพบฟอสซิลไดโนเสาร์ ถือเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะนี่จะเป็นสิ่งที่โดดเด่นของอุทยานธรณีโคราช เป็นเมืองแห่งฟอสซิล ดังนั้นการจัดแถลงข่าวครั้งนี้ เสมือนการประกาศศักยภาพดังที่กล่าวมาให้ทั่วโลกรับรู้” นายจรัสชัย กล่าว

ไดโนเสาร์ตัวที่ ๑๒ ของไทย

ผศ.ดร.อดิศร เนาวนนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา กล่าวว่า จุดเด่นในวันนี้อยู่ที่การแถลงข่าว การค้นพบไดโนเสาร์กินเนื้อพันธุ์ใหม่ของโลก เป็นตัวที่ ๑๒ ของประเทศไทย ซึ่งเราได้ขออนุญาตนายกสภาฯ เพื่อนำชื่อของท่านมาตั้งเป็น สยามแรปเตอร์ สุวัจน์ติ แต่หัวใจของงานในวันนี้คือ การที่ ครม.ได้มีมติจะเสนอตัวให้อุทยานธรณีโคราชเป็นอุทยานธรณีโลก จึงอาจจะทำให้หลายคนที่มาในวันนี้สับสนว่า นี่เป็นงานอะไรกันแน่ ซึ่งการค้นพบไดโนเสาร์นั้น เป็นแค่ส่วนหนึ่งที่จะช่วยผลักดันการรับรองจากยูเนสโก โดยจีโอพาร์ค คืออีกองค์กรหนึ่ง ที่เกิดจากการรวมตัวของหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนในพื้นที่ แต่หัวใจของการดำเนินงานทั้งหมด คือ สถาบันไม้กลายเป็นหินของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ซึ่งเป็นจุดเด่นที่ไม่เหมือนมหาวิทยาลัยราชภัฏอื่น

“เมื่อ ๔ ปีก่อน เราเคยค้นพบฟอสซิลไดโนเสาร์และมีข่าวใหญ่โต มาปีนี้เราก็ได้ค้นพบไดโนเสาร์ตัวใหม่อีกครั้ง เป็นไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ของโลก โดยได้รับเกียรตินำชื่อของท่านสุวัจน์มาตั้งเป็นชื่อไดโนเสาร์ด้วย ตอนแรกท่านสุวัจน์ได้แอบดูชื่อแล้วมีวงเล็บ “นักล่าแห่งสยาม” ท่านอมยิ้มเลย ดังนั้นในวันนี้ เราจึงประกาศก้องให้โลกได้รับรู้ว่า โคราชได้ค้นพบไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่ชื่อว่า สยามแรปเตอร์ สุวัจน์ติ” ผศ.ดร.อดิศร กล่าว

ความร่วมมือกับญี่ปุ่น

ดร.ดวงสุดา โชคเฉลิมวงศ์ นักวิจัย กล่าวถึงการวิจัยครั้งนี้ว่า เป็นผลจากความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ ที่ได้ตกลงทำบันทึกความร่วมมือ (MOU) ระหว่างประเทศกับพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์จังหวัดฟูกุอิ ประเทศญี่ปุ่น ร่วมกันสำรวจและขุดค้นซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์ตั้งแต่ปี ๒๕๕๐ มาถึงปัจจุบัน นับเป็นระยะเวลากว่า ๑๐ ปี ผลการขุดค้น ในปี พ.ศ.๒๕๕๔ ได้ค้นพบไดโนเสาร์อิกัวโนดอนต์พันธุ์ใหม่ของโลกนาม “ราชสีมาซอรัส สุรนารีเอ” (Ratchasimasaurus suranareae; Shibata et al., 2011) ผลงานวิจัยได้ตีพิมพ์ในวารสาร ACTA GEOLOGICA SINICA ต่อมาปี พ.ศ.๒๕๕๘ มีการค้นพบไดโนเสาร์อิกัวโนดอนต์พันธุ์ใหม่ของโลกนาม “สิรินธรน่า โคราชเอนซิส”(Sirindhorna khorat ensis; Shibata et al., 2015) ผลงานวิจัยได้ตีพิมพ์ในวารสาร PLOS ONE และล่าสุดในปีนี้ ผลงานวิจัยการค้นพบไดโนเสาร์กินเนื้อสายพันธุ์ใหม่ของโลก นำโดย ดร.ดวงสุดา โชคเฉลิมวงศ์ Dr. Soki Hattori Dr. Elena Cuesta ผศ.ดร.ประเทือง จินตสกุล Dr.Masateru Shibata และ Dr.Yoichi Azuma ตีพิมพ์เผยแพร่ใน วารสาร PLOS ONE

“การค้นคว้าครั้งนี้ พบฟอสซิลทั้งสิ้น ๒๒ ชิ้น ประกอบไปด้วย ชิ้นส่วนกะโหลก กระดูกขากรรไกรบน-ล่าง กระดูกคอ กระดูกหลัง กระดูกหาง กระดูกสะโพก กระดูกขาหลัง กรงเล็บ กระดูกนิ้วเท้าจากการอธิบายลักษณะทางกายภาคของตัวอย่าง ร่วมกับการวิเคราะห์ความหลากหลายและความสัมพันธ์ทางพันธุกรรม สยามแรปเตอร์จัดอยู่ในจำพวกไดโนเสาร์กินเนื้อฟันฉลาม ที่มีความเก่าแก่และมีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การค้นพบนี้ถือเป็นหลักฐานว่า ไดโนเสาร์กินเนื้อฟันฉลามนี้ มีการกระจายตัวในทวีปเอเชีย แอฟริกา และยุโรป ตั้งแต่ยุคครีเทเชียส ตอนต้น หรือเมื่อประมาณ ๑๑๕ ล้านปีก่อน โดยปี๒๕๕๔ ได้ค้นพบไดโนเสาร์อิกัวโนดอนต์พันธุ์ใหม่ของโลกนาม “ราชสีมาซอรัส สุรนารีเอ” ซึ่งผลงานวิจัยได้ตีพิมพ์ในวารสาร ACTA GEOLOGICA  SINICA ต่อมาปี ๒๕๕๘ ได้ค้นพบไดโนเสาร์อิกัวโนดอนต์พันธุ์ใหม่ของโลกนาม “สิรินธรน่า โคราชเอนซิส ผลงานวิจัยได้ตีพิมพ์ในวารสาร PLOS ONE   และล่าสุดในปีนี้ การวิจัยได้ค้นพบไดโนเสาร์กินเนื้อสายพันธุ์ใหม่ของโลก โดย ดร.ดวงสุดา โชคเฉลิมวงศ์, Dr.Soki Hattori, Dr.Elena Cuesta, ผศ.ดร.ประเทือง จินตสกุล, Dr.Masateru Shibata และ Dr.Yoichi Azuma” ดร.ดวงสุดา กล่าว

นักล่าแห่งสยาม ‘สุวัจน์ติ’

นายสุวัจน์ กล่าวความรู้สึกว่า สำหรับการค้นพบไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ครั้งนี้ ถือว่าเป็นตัวที่ ๑๒ ของประเทศไทย และนับว่าเป็นความสำเร็จจากความร่วมมือของนักวิจัยจากประเทศญี่ปุ่น กับนักวิจัยของไทย ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความหลากหลายของแหล่งฟอสซิล ที่ค้นพบในพื้นที่ จ.นครราชสีมา ภายหลังจากเริ่มค้นพบไม้กลายเป็นหินตั้งแต่ ๒๐ กว่าปีที่แล้ว จนเป็นที่มาของการจัดตั้งสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ ขึ้นที่จังหวัดนครราชสีมา โดยมีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เป็นผู้รับผิดชอบ หลังจากนั้นสถาบันมีการศึกษาวิจัยจนค้นพบซากฟอสซิลไดโนเสาร์ และไม้กลายเป็นหินอีกเป็นหมื่นชิ้น

“ส่วนการนำชื่อผมไปตั้งชื่อไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่ของโลกที่เพิ่งค้นพบในครั้งนี้ ก็นับว่าเป็นเกียรติอย่างมาก อาจจะเป็นเพราะว่านักวิจัยทั้งไทยและญี่ปุ่นเห็นว่า ผมมีส่วนในการสนับสนุนการค้นคว้าวิจัยให้กับสถาบันไม้กลายเป็นหินฯ และเป็นนายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ซึ่งเป็นหน่วยงานต้นเรื่อง จึงได้ให้เกียรตินำชื่อไปตั้งว่า สยามแรปเตอร์ สุวัจน์ติ ส่วนฉายานักล่าแห่งสยามนั้น ก็เป็นการตั้งฉายาให้ดูน่าสนใจและตื่นเต้นมากยิ่งขึ้น ซึ่งอาจจะมองจากรูปร่าง ลักษณะความคล่องตัว ในการล่าหาอาหารของไดโนเสาร์สายพันธุ์นี้ ไม่ได้เกี่ยวกับลักษณะของผม” นายสุวัจน์ กล่าว

ฟอสซิลพันธุ์ใหม่ ๑๔ ชนิด

จากนั้นเวลา ๑๑.๐๐ น. นายสุวัจน์ เป็นประธานเปิดนิทรรศการผลงานวิจัยพบฟอสซิลในโคราชพันธุ์ใหม่ของโลก ๑๔ ชนิด ประกอบด้วย ๑.สยามแรปเตอร์ สุวัจน์ติ ชื่อวิทยาศาสตร์ Siamraptor suwati Chokchalormwong et al., 2019 ตั้งชื่อสกุลตามชื่อเดิมของประเทศไทย (สยาม) หมายถึง “นักล่าแห่งสยาม” และตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่ นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และนายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ที่ส่งเสริมสนับสนุนการดำเนินงานอนุรักษ์และวิจัยฟอสซิลของสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ มากว่า ๒๕ ปี เริ่มตั้งแต่ปี ๒๕๓๘-๒๕๖๒

๒.สิรินธรน่า โคราชเอนซิส Sirindhorna khoratensis Shibata et al., 2015 ตั้งชื่อสกุลเพื่อถวายเป็นเกียรติแด่สมเด็จพระเทพรัตนสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ผู้ทรงสนพระทัยส่งเสริมสนับสนุนการศึกษาวิจัยและอนุรักษ์ซากดึกดำบรรพ์ และชื่อระบุชนิดเพื่อเป็นอนุสรณ์ของแหล่งที่พบคือ จังหวัดนครราชสีมาหรือโคราช

๓.ราชสีมาซอรัส สุรนารีเอ Ratchasimasaurus suranareae Shibata, Jintasakul & Azuma,2011 ตั้งชื่อสกุลเป็นอนุสรณ์แก่แหล่งที่พบคือจังหวัดนครราชสีมา และชื่อระบุชนิดตั้งถวายเป็นเกียรติแด่ท้าวสุรนารี วีรสตรีที่กอบกู้เมืองนครราชสีมา

๔.สยามโมดอน นิ่มงามมิ Siamodon nim ngami Buffetaut & Suteethorn, 2011 ตั้งชื่อสกุลเป็นอนุสรณ์แก่แหล่งที่พบคือ สยาม ซึ่งหมายถึงชื่อของประเทศไทยในอดีต และชื่อระบุชนิดตั้งเป็นเกียรติแก่ นายวิทยา นิ่มงาม ผู้ที่มอบชิ้นตัวอย่างให้เพื่อการศึกษาวิจัย

๕.โคราโตซูคัส จินตสกุลไล Khoratosuchus jintasakuli Lauprasert et al., 2009 ตั้งชื่อสกุลเป็นอนุสรณ์แก่แหล่งที่พบคือ นครราชสีมาหรือโคราชและตั้ง ชื่อระบุชนิดเป็นเกียรติแก่ผู้พบตัวอย่างต้นแบบและให้ความอนุเคราะห์ ตัวอย่างมาทําการวิจัย คือผศ.ดร.ประเทือง จินตสกุล ผู้อํานวยการสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ

๖.คิซิลคูเมมิส โคราชเอนซิส Kizylkumemys khoratensis Tong et al., 2005 ตั้งชื่อระบุชนิดเป็นอนุสรณ์แก่แหล่งที่พบคือ จังหวัดนครราชสีมาหรือโคราช ๗.โคราชอิกธิส จิบบิส ชื่อวิทยาศาสตร์ Khoratichthys gibbus Deesri, Jintasakul, & Cavin, 2016 ตั้งชื่อสกุลเป็นอนุสรณ์แก่แหล่งที่พบคือ จังหวัดนครราชสีมาหรือโคราช และชื่อระบุชนิดมาจากลักษณะเด่นของปลาชนิดนี้ คือ มีโหนกชัดเจน ๘.เมอริโคโปเตมัส ท่าช้างเอนซิส Merycopotamus thachangensis Hanta et al., 2008 ตั้งชื่อระบุชนิดเป็นอนุสรณ์แก่แหล่งที่พบคือ ตําบลท่าช้าง

๙.อาเซราธีเรียม พอพันธ์ไน Aceratherium porpani Deng, Hanta & Jintasakul, 2013 ตั้งชื่อระบุชนิดเป็นเกียรติแก่ รศ.ดร.พอพันธ์ วัชจิตพันธ์ ผู้บริจาคตัวอย่างต้นแบบ ๑๐.โคราชพิเธคัส พิริยะอิ Khoratpithecus piriyai Chaimanee et al., 2004 ตั้งชื่อสกุลเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่แหล่งที่พบคือ จังหวัดนครราชสีมา หรือโคราช และชื่อระบุชนิดตั้งเป็นเกียรติแก่ นายพิริยะ วัชจิตพันธ์ ผู้บริจาคตัวอย่างต้นแบบ ๑๑.ชอริออกซิลอน ไทยแลนด์เดนส์ Shoreoxylon thailandense Vozenin-Serra & Privé-Gill, 1989 ตั้งชื่อชนิดตามประเทศที่ค้นพบเป็นครั้งแรกคือ ประเทศไทย

๑๒.เทอมินาลิออกซิลอน พาราคอริเอเชียม Terminalioxylon paracoriaceum Vozenin-Serra & Privé-Gill, 2001 ตั้งชื่อตามไม้กลายเป็นหินจากอินเดียชนิด Terminatioxylon cariaceum เพราะมีลักษณะคล้ายกัน ๑๓.ดิบเทอร์โรคาร์พอกซิลอน สารภีเอนส์ Dipterocarpoxylon sarapeense Vozenin-Serra & Privé-Gill, 2001 ตั้งชื่อชนิดตามสถานที่ค้นพบเป็นครั้งแรก บริเวณบ้านสารภี และ ๑๔.ไซซีฟุส โคกสูงเอนซิส Ziziphus khoksungensis Grote, 2007 ตั้งชื่อระบุชนิดเป็นอนุสรณ์แก่แหล่งที่ขุดค้นพบคือ ตําบลโคกสูง อําเภอเมืองนครราชสีมา 
นายสุวัจน์  ลิปตพัลลภ กล่าวว่า ขณะนี้จังหวัดได้ยื่นเรื่องขอการรับรองอุทยานธรณีโคราชหรือ โคราชจีโอพาร์ค (khorat Geopark) ต่อยูเนสโก (UNESCO) เพื่อรับการประเมินรับรองเป็นอุทยานธรณีโลก ซึ่งหากผ่านการรับรอง โคราชจะกลายเป็น ๓ มงกุฏของยูเนสโก ๑ ใน ๓ แห่งของโลกต่อจากอิตาลีและเกาหลีใต้ จะทำให้โคราชเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลกและจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของจังหวัดในด้านการท่องเที่ยวด้วย โดยในปีหน้าทางยูเนสโกจะส่งเจ้าหน้าที่ลงมาประเมินชุมชนที่อยู่ในพื้นที่อุทยานฯ และส่วนที่เกี่ยวข้อง หากไม่มีปัญหาคาดว่าต้นปี ๒๕๖๔ เราจะได้รับข่าวดี และเป็นความโชคดีที่ช่วงนี้ทางญี่ปุ่นจะให้การช่วยเหลือด้วยการเข้ามาติวเข้มให้ก่อนเพราะเขาเคยมีประสบการณ์ เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาด

ลงนามร่วม อปท. ๒๑ แห่ง

ต่อมาในเวลา ๑๓.๐๐ น. นายจรัสชัย โชคเรืองสกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นสักขีพยาน ในพิธีลงนามความร่วมมือระหว่าง อุทยานธรณีโคราช (จีโอพาร์คโคราช) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ๒๑ แห่ง โดยมี ผศ.ดร.ประเทือง จินตสกุล ลงนามร่วมกับ ร้อยตรีหญิงระนองรักษ์ สุวรรณฉวี นายก อบจ.นครราชสีมา และตัวแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง ๒๑ แห่ง ได้แก่ เทศบาลนครนครราชสีมา, อบจ.นครรชสีมา, เทศบาลตำบลเมืองใหม่โคกกรวด, เทศบาลตำบลสุรนารี, อบต.หมื่นไวย, เทศบาลตำบลโคกสูง, เทศบาลตำบลบ้านโพธิ์, อบต.บ้านเกาะ, อบต.พระพุทธ, อบต.ท่าช้าง, อบต.ช้างทอง, อบต.โป่งแดง, เทศบาลตำบลสูงเนิน, อบต.เสมา, อบต.มะเกลือใหม่, อบต.มะเกลือเก่า, เทศบาลเมืองสีคิ้ว, อบต.มิตรภาพ, อบต.ลาดบัวขาว, อบต.คลองไผ่ และเทศบาลตำบลหนองน้ำใส เพื่อร่วมมือในการสำรวจ อนุรักษ์ส่งเสริม สนับสนุนและพัฒนา ขับเคลื่อนจีโอพาร์คสู่จีโอพาร์คยูเนสโก ตลอดทั้งพัฒนาการท่องเที่ยวในพื้นที่อุทยานธรณีและชุมชนในพื้นที่ร่วมกัน และการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่นเจ้าของทรัพยากรอย่างเป็นธรรม และนำไปสู่คุณค่าระดับผู้นำของโลก ในลักษณะของดินแดนแห่ง ๓ มงกุฏของยูเนสโก หรือ “The UNESCO Triple Crown” ในอนาคต โดยมีระยะเวลาลงนามร่วมกัน ๕ ปี นับตั้งแต่วันที่ลงนาม

สำหรับรายละเอียดการลงนามความร่วมมือ การมีส่วนร่วมขององค์การท้องถิ่นในการขับเคลื่อน           จีโอพาร์คโคราชสู่จีโอพาร์คโลกยูเนสโก เพื่อให้ทั้ง ๒๒ หน่วยงาน ตกลงให้มีความร่วมมือกันในการสำรวจ อนุรักษ์ ส่งเสริมสนับสนุน และพัฒนา ในการขับเคลื่อนจีโอพาร์คโคราชสู่จีโอพาร์คยูเนสโก ตลอดทั้งการพัฒนาการท่องเที่ยวในพื้นที่ อุทยานธรณีและชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ร่วมกัน โดยการมีส่วนร่วมขององค์กรปกครองท้องถิ่นอุทยานธรณีโคราช และการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่นเจ้าของทรัพยากรอย่างเป็นธรรมและนำไปสู่คุณค่าระดับผู้นำของโลก ในลักษณะของดินแดนแห่ง ๓ มงกุฎของยูเนสโกหรือ “The UNESCO Triple Crown” ในอนาคตอันจะยังประโยชน์ให้เกิดกับท้องถิ่นไปตราบนานเท่านาน

ลงนามส่งเสริม Geotourism

จากนั้นมีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง อุทยานธรณีโคราช กับ ๑๓ ชุมชนท่องเที่ยวอุทยานธรณีโคราชต้นแบบ ในเขตพื้นที่อุทยานธรณีโคราช (Khorat Geopark) และองค์กรสื่อมวลชน โดยมี ผศ.ดร.ประเทือง จินตสกุล ผู้อำนวยการอุทยานธรณีโคราช ลงนามร่วมกับตัวแทน ๑๓ ชุมชนท่องเที่ยวอุทยานธรณีโคราชต้นแบบ และองค์กรสื่อมวลชน ๒ องค์กร ได้แก่ นายประสิทธิ์ เทศสูงเนิน ประธานสมาพันธ์สื่อมวลชนพันธมิตรนครราชสีมา และนายผดุงศักดิ์ จตุรภักดิ์ ประธานมูลนิธินักข่าวจังหวัดนครราชสีมา เพื่อร่วมกันวางแผนพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงภูมิศาสตร์ (Geotourism) ในเขตอุทยานธรณีโคราช ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีมาตรฐานและรองรับนักท่องเที่ยวได้ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการพัฒนา อันจะนำไปสู่การพัฒนาท้องถิ่นและชุมชนในทุกมิติ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม โดยมีระยะเวลาลงนามร่วมกัน ๕ ปี นับตั้งแต่วันที่ลงนาม

สำหรับการลงนามความร่วมมือระหว่างอุทยานธรณี กับ ๑๓ ชุมชนท่องเที่ยวในเขตพื้นที่อุทยานธรณีโคราช และองค์กรสื่อมวลชน มีวัตถุประสงค์เพื่อให้องค์กรที่ลงนาม ให้มีความร่วมมือกันในการวางแผนพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงภูมิศาสตร์ (Geotourism) ในเขตอุทยานธรณีโคราช ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีมาตรฐานและรองรับนักท่องเที่ยวได้ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการพัฒนา อันจะนำไปสู่การพัฒนาท้องถิ่นและชุมชนในทุกมิติ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

 

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๒๖๐๔ วันพุธที่ ๒๗ พฤศจิกายน - วันอังคารที่ ๓ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒

 

 


822 1445