29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

December 19,2019

ตั้ง‘ดอกสาธร’ ข้างลานย่าโม อ้างอัตลักษณ์โคราช

วัฒนธรรมจังหวัดตั้งประติมากรรมร่วมสมัย “ดอกสาธร” หวังเป็นแลนด์มาร์คใหม่ เป็นศูนย์กลางกิจกรรมของเมืองด้านต่างๆ อ้างสื่ออัตลักษณ์เมืองโคราช เพิ่มศักยภาพยกระดับสถานที่ท่องเที่ยวให้ได้มาตรฐาน

เมื่อวันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๖๒  เวลา ๑๖.๐๐ น. ที่สวนสุรนารี อำเภอเมืองนคร ราชสีมา นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วยนายไชยนันท์ แสงทอง วัฒนธรรมจังหวัดนครราชสีมา, อาจารย์ศราวุธ ดวงจำปา ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (ประติมากรรม) ปี พ.ศ.๒๕๖๐,  ผศ.ชยารัฐ จุลสุคนธ์ รองคณบดีฝ่ายวิชาการและวิจัย คณะศิลปกรรมและออกแบบอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน  และนายสุรวุฒิ เชิดชัย  นายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา ร่วมแถลงข่าวพิธีเปิดผลงานประติมากรรมร่วมสมัยดอกสาธร พร้อมทั้ง อาจารย์ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี ศิลปินแห่งชาติ (สาขาศิลปะการแสดง ประจำปี ๒๕๕๙)  มาร่วมเป่าขลุ่ย รวมทั้งผู้มีเกียรติเข้าร่วม อาทิ อาจารย์ทวี รัชนีกร ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์

นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า ตามที่จังหวัดนครราชสีมาได้รับเกียรติให้เป็น ๑ ใน ๓ เมืองศิลปะของประเทศไทย ซึ่งประกอบไปด้วยจังหวัดกระบี่ จังหวัดเชียงราย และจังหวัดนครราชสีมา โดยนำความภาคภูมิใจมาให้ชาวจังหวัดนครราชสีมา ทั้งนี้เราได้รับมอบหมายให้เป็นจังหวัดที่ได้รับการจัดงานมหกรรมศิลปะนานาชาติ Thailand Biennale Korat 2020  ซึ่งจะเกิดขึ้นระหว่าเดือนธันวาคม ๒๕๖๓-มีนาคม ๒๕๖๔ ดังนั้น จังหวัดนครราชสีมาร่วมกับหลายภาคส่วนได้ร่วมกันคิดเพื่อเตรียมเมือง ทำอย่างไรให้คนที่เข้ามาในจังหวัดนครราชสีมาเห็นว่า จังหวัดนครราชสีมาเป็นเมืองศิลปะ นั่นคือ เราจะต้องมีงานศิลปะตามสถานที่ต่างๆ ที่สามารถเห็นได้ชัด และเพื่อเตรียมรับการจัดงาน Thailand Biennale Korat 2020 ดังกล่าว เราจึงต้องมีการกระตุ้นให้คนในจังหวัดนครราชสีมาเตรียมพร้อมการเป็นเจ้าภาพในงานมหกรรมศิลปะอันยิ่งใหญ่นี้ จึงเร่งให้มีการสร้างงานศิลป์เพื่อจัดแสดงในพื้นที่ต่างๆ ของจังหวัด

นายไชยนันท์ แสงทอง วัฒนธรรมจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า การดำเนินโครงการจัดสร้างผลงานประติมากรรมร่วมสมัย “ดอกสาธร” ซึ่งออกแบบและสร้างสรรค์โดย อาจารย์ศราวุธ ดวงจำปา ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (ประติมากรรม) พ.ศ.๒๕๖๐ ในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งโครงการศิลปะสร้างอัตลักษณ์โคราชเมืองศิลปะ ตามนโยบายของจังหวัดนครราชสีมา โดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครราชสีมา ร่วมกับคณะศิลปกรรมและออกแบบอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน และเทศบาลนครนครราชสีมา ภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพและยกระดับสินค้าและบริการการท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๖๒ อีกทั้งใช้เตรียมความพร้อมจัด Thailand Biennale Korat 2020 ซึ่งจังหวัดนครราชสีมา ร่วมกับสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม จะเป็นเจ้าภาพในปี ๒๕๖๓

“การจัดสร้างสรรค์ผลงานประติมากรรมร่วมสมัยดอกสาธรจะตั้งในพื้นที่สวนสุรนารี เพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพในการยกระดับสถานที่ท่องเที่ยวให้ได้มาตรฐาน รวมทั้งเป็นศูนย์กลางกิจกรรมของเมืองในด้านต่างๆ เช่น เป็นพื้นที่กิจกรรมนันทนาการ การออกกำลังกาย ตอบยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ระดับกลุ่มจังหวัดโดยการจัดสร้างและติดตั้งประติมากรรม ตามแบบที่กําหนด ที่สะท้อนความเป็นวิถีของชาวจังหวัดนครราชสีมา ตลอดทั้งเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ซึ่งจังหวัดนครราชสีมาและนักท่องเที่ยวทั่วไปจะได้มีสถานที่ที่น่าสนใจมาเยี่ยมเยือน และเป็นสถานที่สร้างจินตนาการด้านศิลปะให้ผู้คนได้พัฒนาความคิดการสร้างสรรค์ผลงาน การรับรู้ถึงความละเอียดอ่อนลึกซึ้งของงานประติมากรรม เรียนรู้และถ่ายทอดศิลปวัฒนธรรมจากรุ่นสู่รุ่นได้เป็นอย่างดีในฐานะเป็นเมืองศิลปะของประเทศ” นายไชยนันท์ กล่าว

ทั้งนี้ สำหรับแนวความคิดในการสร้างสรรค์อาจารย์ศราวุธ ดวงจำปา ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (ประติมากรรม) ปี พ.ศ.๒๕๖๐ กล่าวว่า ดอกสาธร เป็นการนำสัญลักษณ์ของจังหวัดนครราชสีมา คือดอกและต้นสาธรมาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์งานประติมากรรมกับสิ่งแวดล้อม และชุมชนเพื่อให้ความรู้สึก ถึงความเจริญเติบโต รุ่งเรือง และงอกงามของประชาชน เหมือนแสงเทียนส่องนำทางให้โชติช่วง สว่างไสว ทั้งภายในและภายนอกของจิตใจมนุษย์  ที่เป็นสุขในชีวิตเพื่อดำรงอยู่ และดำเนินตามจุดมุ่งหมายต่อไปด้วยศรัทธา มั่นคงในจิตวิญญาณแห่งตน

“งานชิ้นนี้ถือเป็นอีกผลงานเพื่อรอต้อนรับแขกที่จะเข้ามาเยี่ยมชมงาน Thailand Biennale Korat 2020 ที่จะจัดขึ้นในเดือนธันวามคม ๒๕๖๓-มีนาคม ๒๕๖๔ สำหรับพื้นที่การจัดแสดงที่เลือกสวนสุรนารีตนมองว่า พื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่ที่เหมาะสมที่สุดแล้ว ก่อนหน้านั้นมีความคิดจะไปทำแยกเทอร์มินอล ๒๑ โคราช แต่ตรงจุดนั้นมีรถค่อนข้างสัญจรไปมามาก และเห็นว่ากำลังจะมีการก่อสร้างอุโมงค์จึงทำไม่ได้ เมื่อจะมาทำหน้าวัดพายัพ แต่ด้วยความเป็นพื้นที่รอบคูเมืองต้องขออนุญาต ซึ่งอาจทำให้เกิดความล่าช้า จึงมีการพูดคุยกับทางกรมโยธาธิการฯ และผู้ว่าฯ รวมทั้งนายกเทศมนตรีฯ จึงเลือกเป็นพื้นที่ตรงนี้ ซึ่งเป็นพื้นที่ว่าง พอลองนำงานมาจัดก็เห็นว่าดูดี และเหมาะสมสวยงาม ในส่วนของการปรับภูมิทัศน์รอบๆ ชิ้นงานก็อาจจะต้องเป็นเรื่องของทางเทศบาลว่าจะทำอย่างไร” อาจารย์ศราวุธ กล่าว

ล่าสุด วันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๖๒ นายไชยนันท์ แสงทอง วัฒนธรรมจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยกับ ‘โคราชคนอีสาน’ ถึงกรณีการเลือกพื้นที่ตั้งที่สวนสุรนารีว่า เราพยายามหาจุดที่ตั้งที่เหมาะสมที่สุด และหลักๆ คือต้องการให้อยู่ในเกาะเมือง อีกทั้งผู้ว่าฯ มีดำริที่อยากจะให้ตั้งในเขตตัวเมืองด้วยเช่นกัน ซึ่งก่อนนี้คิดว่าจะตั้งที่หน้าวัดพายัพ แต่เมื่อดูสถานที่แล้วไม่ได้ จากนั้นไปดูที่หน้าศาลากลาง ก็มีหอนาฬิกาอยู่แล้ว ซึ่งจะสูงกว่า จึงพยายามหา สถานที่อื่น และมาลงตัวที่บริเวณนี้ ก่อนหน้านี้จะมีอ่างน้ำ ซึ่งไม่ได้ใช้ประโยชน์ ตนจึงเสนอให้ทุบทิ้ง เพื่อที่จะได้มีลานกิจกรรม และเชื่อมโยงกับเอกลักษณ์ของโคราช เนื่องจากปกติเราก็มีย่าโมเป็นเอกลักษณ์ของโคราชอยู่แล้ว เราสร้างงานนี้ขึ้นมาก็เป็นเอกลักษณ์ของโคราชเช่นกัน แต่เป็นเอกลักษณ์ที่ร่วมสมัยขึ้นมา ซึ่งหลายๆ คนอาจจะไม่รู้ว่าดอกสาธรเป็นดอกไม้ประจำจังหวัดนครราชสีมา 

ต่อข้อซักถามว่า พื้นที่เหมาะสมหรือไม่ เนื่องจากเป็นพื้นที่โบราณสถานและด้วย รูปแบบของประติมากรรมอาจดูไม่กลมกลืนกับอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีและอนุสรณ์สถานต่างๆ  นายไชยนันท์ กล่าวว่า “พื้นที่ตรงนี้มีการอนุญาตจากกรมศิลปากรให้อนุญาตติดตั้งแล้ว หากไปตั้งข้างวัดพายัพก็ยังติดพื้นที่รอบคูเมือง แต่พื้นที่ที่เราจัดจะเห็นได้ว่ามีงานศิลปะอยู่ตลอดเวลา และของเราไม่ได้ขุด หรือเจาะอะไร เป็นการจัดวางเท่านั้น ซึ่งอาจจะตั้งไว้ถาวรได้ และยืนยันว่าพื้นที่ตรงนี้เหมาะสม และได้รับอนุญาตเรียบร้อยแล้ว” นายไชยนันท์ กล่าว

ในการดำเนินการจัดสร้างประติมากรรมร่วมสมัย “ดอกสาธร” ในครั้งนี้ เป็นความร่วมมือกันของหลายภาคส่วน ประกอบไปด้วยจังหวัดนครราชสีมา โดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครราชสีมา ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสานและเทศบาลนครนครราชสีมา ตามนโยบายของนายวิเชียร จันทร โณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ตามโครงการพัฒนาศักยภาพและยกระดับสินค้าและบริการท่องเที่ยวและกีฬา (ผลผลิตการพัฒนา ด้านการท่องเที่ยว และบริการ) กิจกรรมหลักการพัฒนาปัจจัยพื้นฐานด้านการท่องเที่ยว กีฬา และเครือข่าย กิจกรรมย่อยเมืองศิลปะวัฒนธรรม (ART and  Culture) สู่การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ดำเนินกิจกรรมปฏิบัติการงานศิลปะสร้างอัตลักษณ์เมืองศิลปะ (Korat the city of art) เพื่อสนับสนุนการเตรียมตัวของจังหวัดนครราชสีมาในการเป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรมศิลปะนานาชาติ Thailand Biennale Korat 2020  ซึ่งจะเกิดขึ้นระหว่าเดือนธันวาคม ๒๕๖๓-มีนาคม ๒๕๖๔

สำหรับประติมากรรมร่วมสมัย ดอกสาธร นี้เป็นผลงานการออกแบบและสร้างสรรค์โดย อาจารย์ศราวุธ ดวงจำปา ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (ประติมากรรม) โดยผลงานประติมากรรมนี้มีขนาดความกว้าง ๓๐๐ เซนติเมตร และความสูง ๖๐๐ เซนติเมตร ใช้เทคนิคการเชื่อมโลหะ ประกอบไปด้วยการดัด เจาะ ตัด ฉลุ แผ่นโลหะที่มีความหนาของแผ่นเหล็ก ๙ มิลลิเมตร ประกอบชิ้นส่วนและทำสีทอง สีทองแดง และสีเงิน โดยมีประติมากรรมดอกสาธรขนาดเล็ก จำนวน ๕๐  ดอก ซึ่งจังหวัดนครราชสีมาโดย สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครราชสีมา จัดอบรมเยาวชน  นักศึกษา จากหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน และมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ให้ทราบเทคนิคจากศิลปินแห่งชาติ และผู้เชี่ยวชาญได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านประติมากรรม  ศึกษาดูงาน ตามโครงการอบรมปฏิบัติการงานประติมากรรมสร้างอัตลักษณ์โคราชเมืองศิลปะ มาประดับเป็นส่วนหนึ่งของประติมากรรมดอกสาธร                                               

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๒๖๐๗ วันพุธที่ ๑๘ - วันอังคารที่ ๒๔ เดือนธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒

 

 


838 1475