29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

December 19,2019

มทส.ประดิษฐ์เครื่องกำจัด PM 2.5 มุ่งขยายผลสู่ชุมชนที่ประสบปัญหา

นักวิจัย มทส. ประดิษฐ์เครื่องกำจัดฝุ่น PM 2.5 ด้วยประจุไฟฟ้าไอออนต้นแบบเป็นผลสำเร็จ สามารถช่วยป้องกันการกระจายของฝุ่น มีประสิทธิภาพเทียบเท่าต้นไม้ที่มีขนาดกลางกว่า ๕๐๐ ต้น ในพื้นที่ ๙ ตร.ม. โดยใช้พลังงานไฟฟ้าเพียงชั่วโมงละ ๑.๕๐ บาท มุ่งขยายสู่วงกว้างเพื่อแก้ปัญหา PM 2.5 อย่างมีประสิทธิภาพ

เมื่อวันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๖๒ เวลา ๑๑.๐๐ น. ที่อาคารสุรสัมมนาคาร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรานารี รองศาสตราจารย์ ดร.อนันต์ ทองระอา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย นวัตกรรม และพัฒนาเทคโนโลยี เป็นประธานในการแถลงข่าว “ผลงานวิจัย เครื่องกำจัดฝุ่น PM 2.5 ด้วยประจุไฟฟ้าไอออน” โดยสิ่งประดิษฐ์ดังกล่าวเป็นผลงานของ รองศาสตราจารย์ ดร.ชาญชัย ทองโสภา หัวหน้าสถานวิจัย สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ และคณะ

รองศาสตราจารย์ ดร.อนันต์ ทองระอา กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มีเป้าหมายในการส่งเสริมและสนับสนุนคณาจารย์และนักวิจัยทุกคน ในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี นำเอาองค์ความรู้ที่มีอยู่มาต่อยอดให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน สามารถนำไปใช้แก้ปัญหาให้กับประเทศได้อย่างแท้จริง และยังตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ ทั้งด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม ซึ่งเครื่องมือในวันนี้จะเน้นการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในสังคม โดยเฉพาะเรื่องสุขภาพ ที่ปัจจุบันประเทศไทยพบปัญหาด้านฝุ่นละออง PM 2.5 โดยเครื่องประดิษฐ์ในวันนี้จะทูลเกล้าถวายให้กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เพื่อนำไปต่อยอดและใช้ประโยชน์ต่อไป”

รองศาสตราจารย์ ดร.ชาญชัย ทองโสภา หัวหน้าสถานวิจัย สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ หัวหน้าทีมวิจัย ได้กล่าวถึงผลงานวิจัยเครื่องกำจัดฝุ่น PM 2.5 ด้วยประจุไฟฟ้าไอออนว่า “ผลงานวิจัยชิ้นนี้เกิดจากแนวคิดในการแก้ปัญหา PM 2.5 ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย โดยมีหลักการทำงานคล้ายเครื่องฟอกอากาศที่ใช้ในระบบปิด แต่คณะนักวิจัยได้ออกแบบให้เครื่องดังกล่าวสามารถที่จะใช้ในระบบเปิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยคำนึงถึงการนำไปใช้งานได้จริง การประหยัดพลังงาน และการออกแบบให้สวยงามกลมกลืนกับสภาพแวดล้อม โดยใช้หลักการปล่อยประจุไฟฟ้าลบ ที่สร้างจากวงจรทวีแรงดันหลายหมื่นโวลต์จากไฟฟ้า 220 Vac ขึ้นไปเป็นแรงดันไฟฟ้าประมาณ 35,000 Vdc ค่ากระแส 18 mA (วงจรสร้างแรงดันสูง กระแสต่ำ) และแรงดันไฟฟ้าสูง 35,000 Vdc เพื่อจ่ายประจุไฟฟ้าไอออนออกไปในอากาศผ่านปลายแหลมของแผ่นเพลททองแดง เพื่อดักจับอนุภาคของฝุ่น PM 2.5 ทำให้อนุภาคฝุ่นเป็นกลางหล่นลงสู่พื้น คงเหลือแต่อากาศที่สะอาดปราศจากฝุ่นควันกลับสู่ธรรมชาติ มีความปลอดภัยต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม โดยเครื่องกำจัดฝุ่น PM 2.5 ต้นแบบนี้ สามารถกำจัดฝุ่นละอองได้ ๑๐๐,๐๐๐ ไมโครกรัม/ชั่วโมง เทียบเท่าประสิทธิภาพของต้นไม้ขนาดกลางที่มีพื้นที่ใบรวมประมาณ ๙ ตารางเมตร จำนวน ๕๐๐ ต้น และค่าพลังงานไฟฟ้าเฉลี่ยประมาณชั่วโมงละ ๑.๕๐ บาท สามารถช่วยป้องกันการกระจายของฝุ่น ลดความเสี่ยงของผู้ป่วยทางเดินหายใจและการเกิดภูมิแพ้ได้ ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายทางด้านสุขภาพ ส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม ตัวเครื่องมีขนาด ๑๒๐ ซม. x ๑๒๐ ซม. x ๑๒๐ ซม. ภายในบรรจุหม้อแปลงไฟฟ้า Step up ขนาด ๕๕ ซม. x ๕๕ ซม. x ๗๒ ซม. เสาปล่อยประจุไฟฟ้าทองแดงมีขนาด ๑๒๐ ซม. x ๑๒๐ ซม. x ๒๕๕ ซม. และมีต้นทุนการผลิตอยู่ที่ ๒๐๐,๐๐๐ บาทต่อเครื่อง

ทั้งนี้ ทีมงานและนักวิจัยคาดหวังว่า เครื่องกำจัด PM 2.5 ด้วยระบบไฟฟ้าไอออนดังกล่าว จะสามารถขยายผลและติดตั้งสู่ชุมชนเมือง ที่มีปัญหาเกี่ยวกับ PM 2.5 เพื่อลดมลพิษได้ โดยสามารถออกแบบตัวเครื่องให้มีความสวยงามกลมกลืนต่อสภาพแวดล้อมและเหมาะสมต่อสถานที่ที่จะทำการติดตั้งต่อไป”  รศ.ดร.ชาญชัย กล่าว

คณะนักวิจัยเครื่องกำจัดฝุ่น PM 2.5 ด้วยประจุไฟฟ้าไอออน ๑.รองศาสตราจารย์ ดร.ชาญชัย ทองโสภา หัวหน้าสถานวิจัย สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ มทส. หัวหน้าทีมวิจัย ๒.ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธนเสฏฐ์ ทศดีกรพัฒน์ หัวหน้าสาขาวิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ มทส. ๓.ดร.สำราญ สันทาลุนัย อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ มทส.

 

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๒๖๐๗ วันพุธที่ ๑๘ - วันอังคารที่ ๒๔ เดือนธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒

 

 

 


789 1447