
24thSeptember
24thSeptember
24thSeptember
หนังสือพิมพ์โคราชรายวัน ถือกําเนิดขึ้นภายหลังประชาชนโค่นล้มเผด็จการทรราชเมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ โดยสุนทร จันทร์รังสี ได้ศึกษาเพิ่มเติมความรู้ในระบอบประชาธิปไตยและการปกครองในระบบรัฐสภา แล้วตั้งกลุ่มสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดกับนักวิชาการและนักศึกษา แล้วความคิดก็ลุกวาบขึ้นในสมองของคนหนุ่มที่มีความมุ่งมั่น ทั้งที่ไม่มีประสบการณ์ และความรู้ด้านนิเทศศาสตร์หรือวารสารศาสตร์ เคยศึกษามาเพียงการบริหารธุรกิจ แต่ปรารถนาจะทําหนังสือพิมพ์สักฉบับที่เสนอข่าวตรงไปตรงมา
กําเนิด‘โคราชรายวัน’
เริ่มจากการทําหนังสือพิมพ์ “โคราชสัปดาห์วิจารณ์” โดยตระเวนนําต้นฉบับไปว่าจ้างโรงพิมพ์ทั่วเมืองและสุดท้ายได้พบโรงพิมพ์เล็กๆ ซึ่งเจ้าของโรงพิมพ์คือ “รัตน์ ผาสุกมูล” ซึ่งเป็นครูที่เคยให้ความรู้สมัยมัธยม การว่าจ้างจึงเป็นไปโดยง่าย สุนทร จันทร์รังสี ทุ่มเทเวลาเรียนรู้การผลิตหนังสือพิมพ์ จากช่างเรียงและช่างพิมพ์ โดยการควบคุมงานอย่างใกล้ชิดในโรงพิมพ์ ซึ่ง “โคราชสัปดาห์วิจารณ์” หนังสือพิมพ์แนวใหม่ของท้องถิ่นขณะนั้น เนื้อหาวิจารณ์การบ้านในท้องถิ่น และการเมืองระดับชาติ ปกหน้าเป็นภาพของข่าวภายในฉบับ (Cover Story) โดยฉบับปฐมฤกษ์วางตลาดต้นเดือนมีนาคม พ.ศ.๒๕๑๗ ได้รับการตอบรับด้วยดี เพราะความแปลกใหม่ที่ไม่เคยมี
เวลาผ่านไป ๔ เดือน ผลิตหนังสือพิมพ์ได้ ๑๖ ฉบับ ผู้บริหารจึงเห็นพ้องต้องกันว่า ควรปรับ “โคราชสัปดาห์วิจารณ์” ให้รับใช้ประชาชนได้รวดเร็วขึ้น จึงก่อตั้ง “โคราชรายวัน” เมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๑๗ ในขนาดตัด ๔ (TABLOID) มีเพียง ๘ หน้า ราคา ๑ บาท กระดาษบรู๊ฟ ปก ๒ สี วางตลาดทุกเย็น และกระทําการท้าทายหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นทั่วไป โดยหยุดตีพิมพ์และวางตลาดในวันออกสลากกินแบ่ง หรือหยุดเพียงเดือนละ ๒ ฉบับ การตอบรับจากลุ่มผู้อ่านมีมากยิ่งขึ้น เพราะการเสนอข่าวอย่างตรงไปตรงมา พร้อมด้วยบทวิจารณ์ที่มีสาระและเข้มข้น
โดยเฉพาะเมื่อปีพ.ศ.๒๕๑๙ สถานการณ์ของบ้านเมืองเริ่มเลวร้ายยิ่งขึ้น แม้นักศึกษาและปัญญาชนจะรวมพลังขับไล่ฐานทัพต่างชาติ (อเมริกัน) ออกไปสําเร็จแล้ว เพราะ ๓ ทรราช ถนอม ประภาส ณรงค์ ถึงจะแยกไปอาศัยคนละประเทศ แต่ก็แวะเวียนมาหยั่งพลังประชาชนเสมอ โดยผลัดกันลักลอบเข้าประเทศเป็นระยะๆ ส่งผลให้กระบวนการประชาธิปไตยต้องตื่นตัวรวมพลังขับไล่ทุกครั้งไป และแน่นอนว่า โคราชรายวันก็เป็นกลไกหนึ่งในการต่อต้านฝ่ายเผด็จการ ฝ่ายรัฐบาลโดยพลตรีประมาณ อดิเรกสาร พรรคชาติไทยผู้รับตําแหน่งรัฐมนตรีมหาดไทยในรัฐบาลผสม ประกาศนโยบายขวาพิฆาตซ้าย โดยพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนํารัฐบาล และม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี บริหารประเทศด้วยความปวกเปียก จึงไม่แปลกที่ผู้นําทางความคิดหรือนิสิต-นักศึกษา จะถูกสังหารอย่างอุกอาจและโหดเหี้ยมเสมอ อีกทั้งโคราชรายวันนําเสนอข่าวเจาะอย่างรุนแรง เช่น ขบวนการพิมพ์ธนบัตรปลอมโดยพ่อตาของนายทหารใหญ่สูงสุดของกองทัพภาคที่ ๒ กระทั่งในวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๑๙ เวลาประมาณ ๒๒.๐๐ น. สุนทร จันทร์รังสี ก็ถูกระดมยิงด้วยอาวุธสงคราม ทั้ง M16 และ ๑๑ มม. แต่ดวงชะตายังไม่ถึงฆาต ต้องตัดไตทิ้งไป ๑ ข้างและลําไส้ จึงรอดชีวิตอย่างหวุดหวิด แต่ต้องพักรักษาเกือบ ๒ เดือนจึงเริ่มหัดเดินใหม่ มารดาขอร้องให้เลิกอาชีพนักหนังสือพิมพ์ และจะสนับสนุนเงินลงทุนในอาชีพใหม่ แต่ ‘สุนทร’ ก็ยังยึดมั่นในวิชาชีพนักหนังสือพิมพ์ ขอทุนจากมารดาเป็นเงิน ๓ หมื่นบาท จัดซื้อแท่นพิมพ์ฉับแกระผสมเงินส่วนตัวจัดตั้งโรงพิมพ์ เนื่องจากไม่มีใครกล้ารับพิมพ์หนังสือพิมพ์ให้ เพราะเกรงจะได้รับผลกระทบไปด้วย และเดินหน้าพัฒนาทั้งโรงพิมพ์และหนังสือพิมพ์เต็มกําลังโดยไม่ครั่นคร้ามหวั่นเกรง
ความตายและอิสรภาพ
นอกจากถูกลอบฆ่าอย่างทารุณและอุกอาจกลางเมือง ด้วยเนื้อหาที่เข้มข้นจึงถูกฟ้องดําเนินคดีอาญาหลายครั้ง และครั้งที่เป็นประวัติศาสตร์ของวงการหนังสือพิมพ์คือ พ.ศ.๒๕๒๑ หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นกลุ่มหนึ่งที่ก่อตั้งมาก่อน แจ้งความว่า สุนทร จันทร์รังสี กระทําผิดมาตรา ๑๑๒ กล่าวหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หลังการต่อสู้คดีในกฎหมายอาญา ซึ่งเป็นห้วงเวลาของการประกาศกฎอัยการศึก หลังการยึดอํานาจจากรัฐบาลประชาธิปัตย์ เมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ ศาลทหารพิพากษาว่า สุนทร จันทร์รังสี กระทําการเพื่อปกป้องพระบรมเดชานุภาพ จึงยกฟ้อง และคดีหมิ่นประมาทเกือบ ๒๐ คดี สุนทร จันทร์รังสี ผ่านพ้นมาได้ทั้งหมด มิได้ถูกพิพากษาลงโทษถึงขั้นจําคุก ด้วยเสนอแต่ความจริง ที่สําคัญคือสามารถล้มเลิกการฟ้องซ้อนในศาลแห่งต่างๆ ซึ่งปรากฏในคําพิพากษาศาลฎีกา
แนวทางในการดําเนินงาน
แนวทางในการทําหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นนั้น สุนทร จันทร์รังสี ผู้ร่วมก่อตั้งและบุกเบิก กําหนดกฎเหล็กว่า คนทําหนังสือพิมพ์ต้องมีความทุ่มเทในการนําเสนอความจริงต่อผู้อ่านอย่างกล้าหาญและซื่อสัตย์ จึงจะครองใจประชาชนในท้องถิ่นได้ สุนทร จันทร์รังสี ย้ําผู้ร่วมงานว่า จะต้องตอบคําถามให้ได้ทุกข่าวหรือทุกข้อความที่รายงาน หากตัวเองไม่ทราบก็อย่ารายงาน และหลายครั้งสื่อหนังสือพิมพ์ส่วนกลางหรือโทรทัศน์รายงานข่าวไม่ตรงความจริง ต้องกล้าโต้แย้งด้วยเหตุผลและหลักฐาน โดยไม่หวังในผลประโยชน์ และด้วยพลังของกองบรรณาธิการ จึงผลักดันเดินหน้าสู่หนังสือพิมพ์ระดับภูมิภาคที่เน้นเนื้อหาสาระ การรายงานข่าวและบทความเป็นสําคัญ
พัฒนาการ
“โคราชรายวัน” เป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับจากผู้อ่านทั่วไป ไม่เพียงแค่ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาเท่านั้น หากแต่ยังเป็นที่ยอมรับในระดับภาค ได้รับเลือกเป็นประธานสมาพันธ์สื่อมวลชนพันธมิตรแห่งนครราชสีมา ๒ สมัย ในพ.ศ.๒๕๓๔-๒๕๓๗ ได้รับเลือกเป็นประธานเครือข่ายบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ภาคอีสาน ๒ สมัย ระหว่างพ.ศ.๒๕๔๖-๒๕๕๐ และระดับชาติ โดยเป็นหนึ่งในสมาชิกก่อตั้งของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และยิ่งกว่านั้นยังเป็นที่ยอมรับในต่างประเทศ ซึ่งได้รับทุนไปศึกษาการผลิตหนังสือพิมพ์ในหลายประเทศ อาทิ อเมริกา เยอรมนี ญี่ปุ่น มีตําแหน่งเป็นกรรมการบริหารหลายสมัย กระทั่งทะยานขึ้นครองตําแหน่งรองประธานคนที่ ๑ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ซึ่งต่อมาเมื่อวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๕๑ ได้ปรับชื่อเป็น “โคราชคนอีสาน” วางจําหน่ายเป็นราย ๕ วัน ทุกวันที่ ๑, ๖, ๑๑, ๑๖, ๒๑ และ ๒๖ ของเดือน ในพื้นที่ ๑๐ จังหวัดภาคอีสาน ได้แก่ นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี อํานาจเจริญ ขอนแก่น อุดรธานี และหนองบัวลําภู โดยเป็นหนังสือพิมพ์ขนาดตัด ๒ จํานวน ๑๒ หน้า นําเสนอข่าวการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และทั่วไป นอกจากนี้ ยังมีเว็บไซต์ www.koratdaily.com เพื่อบริการผู้อ่านในแดนไกลทั่วโลก
เป้าหมายของ “โคราชคนอีสาน” นอกเหนือจากการพัฒนาคุณภาพข่าวสารให้เข้มข้นยิ่งขึ้น ภายใต้จริยธรรมแห่งวิชาชีพแล้ว ยังมีกิจกรรมเพื่อสาธารณกุศลตลอดมา โดยเฉพาะในวาระสําคัญต่างๆ อาทิ ในวาระครบรอบ ๓๐ ปีโคราชรายวัน ได้จัดงาน “๓๐ ปีโคราชรายวัน ๓๐ หมื่นคืนสู่เยาวชน”โดยมอบเงิน ๓๐๐,๐๐๐ บาท เพื่อสร้างห้องสมุดเยาวชนในโรงเรียนกีฬาเทศบาลนครนครราชสีมา(อนุสรณ์ ๗๐ ปีเทศบาล), ในวาระครบรอบ ๓๖ ปี จัดงาน “๓๖ ปี ๓๖ หมื่นคืนสู่มวลชน” มอบเงินจํานวน ๓๖๐,๐๐๐ บาท เพื่อสมทบสร้างห้องพักผู้ป่วย โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา โดยมี ฯพณฯ พลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ร่วมเป็นสักขีพยาน และล่าสุดเมื่อวาระครบรอบ ๓๙ ปี มีการจัดมหกรรมอุตสาหกรรมอีสานสู่อาเซียน ร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม นําผลิตภัณฑ์และสินค้าคุณภาพดีมาจําหน่ายแก่ประชาชนด้วยราคาถูกกว่าปกติ นอกจากนี้ “โคราชคนอีสาน” ยังมีส่วนร่วมกับกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมมาโดยตลอด กระทั่งประสบความสําเร็จงดงามทุกครั้ง
การก่อเกิดของ “โคราชคนอีสาน”
แม้จะมาจากจุดเริ่มต้นของหนุ่มคนหนึ่งที่เต็มไปด้วยความมุ่งมั่นในการทําหนังสือพิมพ์ และขับเคลื่อนต่อด้วยการทํางานของกองบรรณาธิการที่แข็งแกร่ง ผสานกับกองการผลิตที่มีคุณภาพ แต่สิ่งสําคัญที่ทําให้หนังสือพิมพ์ฉบับนี้ ยืนหยัดมาถึง ๔๒ ปีในวันนี้ คือ แรงสนับสนุนจากผู้อ่านและสังคม ที่ผลักดัน และประคับประคอง ให้หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นประจําจังหวัด ขึ้นเป็นหนังสือพิมพ์ภูมิภาค แม้จะอยู่ในยุคสมัยของการตกต่ําของสื่อกระดาษก็ตาม และเติบโตขึ้นเรื่อยๆ เพื่อทําหน้าที่ตามความมุ่งมั่นในอุดมการณ์สื่อมวลชน รายงานข่าวอย่างตรงไปตรงมา ดํารงไว้ซึ่งประโยชน์ของสาธารณชน และรักษาจริยธรรมของวิชาชีพ
ข้อมูล ณ เมษายน ๒๕๕๗