January 31,2020
‘วิเชียร’อยู่เฉยไม่ได้แล้ว โดนภัยแล้ง-ฝุ่นพิษรุกราน ใช้ยาแรงลงโทษคนชอบเผา
“วิเชียร” ลุยแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 เปิดปฏิบัติการลดฝุ่นจับจริงคนเผาไร่อ้อย ให้รางวัลผู้แจ้ง ๕,๐๐๐ บาท สั่งตรวจรถควันดำทุกเช้า-เย็น พร้อมแก้ปัญหาภัยแล้ง หลังเมษายนคาดมีหมู่บ้านขาด แคลนน้ำ ๕๔๑ แห่ง ส่งรองผู้ว่าฯ ลงพื้นที่ต่อเนื่อง วอนงดใช้น้ำเพื่อการเกษตร หวังส่งน้ำหล่อเลี้ยงอำเภอโนนสูง
เมื่อวันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๖๓ เวลา ๑๓.๐๐ น. ที่ไอทีพลาซา นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานเปิดกิจกรรม kick off มาตรการลดฝุ่น PM 2.5 โดยมีนางณัฏฐิณีภรณ์ จันทรโณทัย นายกเหล่ากาชาดจังหวัดนครราช สีมา, นายสมบัติ ไตรศักดิ์ ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต ๕ นครราชสีมา และนายวิสูตร ชัชวาลวงศ์ ปลัดจังหวัดนครราชสีมา เข้าร่วม
จับปรับคนเผาอ้อย
นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า เนื่องจากจังหวัดพยายามรณรงณ์เรื่องฝุ่น PM 2.5 โดยดูสาเหตุที่ทำให้เกิด PM 2.5 ไม่ว่าจะเป็น โรงงานอุตสาหกรรม การจราจร การเผาพื้นที่การเกษตร และการจุดธูปเทียนไหว้พระ เราพยายามดำเนินการทุกวิธี โรงงานในจังหวัดนครราชสีมามีกว่า ๒,๐๐๐ แห่ง โดยตรวจสอบแล้วว่า มีโรงงานที่จะก่อให้เกิดปัญหา PM 2.5 จำนวน ๔๗ โรงงาน ขณะนี้ตรวจแล้ว ๑๒ โรงงาน มีหนึ่งโรงงานที่ต้องมีการปรับปรุง ซึ่งในวันนี้มีการออกตรวจที่อำเภอโชคชัย โดยชุดตรวจของจังหวัดนครราชสีมา การรณรงค์ไม่ให้มีการเผาพื้นที่เกษตรต่างๆ ในระยะสั้นมีการประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือ ขณะเดียวกันมีการสืบสวนในกรณีที่มีการเผาพื้นที่เกษตรอย่างจริงจัง ทั้งนี้มีการตั้งรางวัลในการแจ้ง และนำไปสู่การจับกุมว่า ใครเป็นผู้ดำเนินการเผาพื้นที่การเกษตร พื้นที่ริมถนน รวมทั้งพื้นที่ป่า เราจะให้รายละ ๕,๐๐๐ บาท สำหรับผู้แจ้งเบาะแสในการจับกุมคนเผา หากไม่ทราบว่าใครเผา ก็ให้ตำรวจจับเจ้าของไร่มาก่อน คิดไว้ก่อนว่าเจ้าของไร่คือคนเผา เพราะคงไม่มีใครอยู่ๆ ไปเผาไร่คนอื่นแน่นอน”
เอาจริงลดฝุ่น PM 2.5
นายวิเชียร กล่าวอีกว่า ด้านการจราจร ขอความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ และขนส่งให้มีการตรวจจับควันดำ โดยดำเนินการอย่างจริงจัง ปรากฏว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม มีการตรวจจับและระงับไปแล้ว ๑๐๑ คัน ซึ่งจะให้ตรวจอย่างเข้มงวดต่อไป โดยเรื่องนี้ต้องการให้ตำรวจ ไปตรวจจับที่บริเวณหน้าโรงเรียนเมืองนครราชสีมา ในช่วงเช้าและเย็น ประชาชนจะได้เห็นว่าเรามีการจับจริงๆ ไม่ใช่ไปดักจับอยู่แถวปากช่อง-สีคิ้ว ซึ่งประชาชนไม่เห็น และจะพูดได้ว่าเจ้าหน้าที่ไม่ทำอะไร อีกจุดหนึ่งที่เป็นปัญหาคือ การก่อสร้าง ทำให้มีฝุ่นจากการก่อสร้าง โดยทางจังหวัดประสานงานกับกรมโยธาธิการและผังเมืองให้แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น กรมทางหลวง เทศบาลนครนครราชสีมา องค์การบริหารส่วนตำบล ให้ควบคุมการก่อสร้าง โดยเฉพาะการขนวัสดุก่อสร้าง ต้องคลุมให้มิดชิด และฉีดล้างพื้นที่บริเวณที่มีการก่อสร้าง เพื่อให้น้ำไปชะล้างฝุ่น PM 2.5 และกลายเป็นโคลนไหลไปกับน้ำ เนื่องจากหากเราไม่ทำเช่นนั้นก็จะทำให้ฝุ่นลอยอยู่ในชั้นบรรยากาศ เมื่อมีลมหรือรถวิ่งผ่านฝุ่นก็จะฟุ้งอยู่ตลอดทาง
“ในบริเวณห้าแยกสวนอนุสรณ์สถานประตูเมืองจำลอง (ช้างคู่) เป็นจุดที่การจราจรค่อนข้างแออัด โดยเฉพาะช่วงเวลาเร่งด่วน เนื่องจากมีโรงเรียนบริเวณนี้หลายแห่ง เป็นจุดที่อากาศแย่มากที่สุดในจังหวัดนครราชสีมา จึงขอความร่วมมือจากนายสมบัติ ไตรศักดิ์ ผู้อำนวยการศูนย์ ปภ. นำเครื่องพ่นน้ำ มาพ่นน้ำละอองเพื่อให้จับกับ PM 2.5 ที่เกิดจากควันรถให้ลดน้อยลง สำหรับมาตรการอื่นๆ จำเป็นต้องใช้ยาแรงในพื้นที่ เพราะไม่อย่างนั้นจะแก้ไขไม่ได้ อีกทั้งอากาศเริ่มร้อน แล้ง ฝุ่นก็จะมากขึ้น จึงต้องการฝากประชาชนว่า เราจะดำเนินการอย่างเข้มงวด ร่วมกับการรณรงค์ในทุกรูปแบบ” นายวิเชียร กล่าว
มาตรการจัดการฝุ่น
ทั้งนี้ จังหวัดนครราชสีมามีมาตรการ เพื่อลดผลกระทบจากฝุ่นในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาไปแล้ว ๗ มาตรการ ดังนี้ ๑.มาตรการด้านการขนส่งและจราจร การตรวจจับควันดำ ซึ่งเป็นมาตรการด้านการขนส่งและการจราจร ที่จังหวัดนครราชสีมาได้เน้นให้บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดและเคร่งครัด โดยสำนักงานขนส่งจังหวัดนครราชสีมา สถานีตำรวจภูธรจังหวัดนครราชสีมา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ๒.มาตรการตรวจสอบและควบคุมการปล่อยมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม จังหวัดนครราชสีมาได้มอบหมายให้ กอ.รมน.จว.นม. บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเร่งตรวจสอบ ควบคุมกำกับโรงงาน ที่มีความเสี่ยงสูงในการปล่อยมลพิษทางอากาศ จำนวน ๔๗ โรงงาน
๓.มาตรการควบคุมฝุ่นละอองจากการก่อสร้างขนาดใหญ่ ควบคุมโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่และโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่คาดว่าจะก่อให้เกิดผลกระทบ ฝุ่นละอองในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา จำนวน ๒๒ โครงการ ๔.มาตรการควบคุมการเผาในที่โล่งและพื้นที่เกษตร มุ่งเน้นการรณรงค์ และสนับสนุนให้เกษตรกรนำเศษวัสดุการเกษตรไปใช้ประโยชน์หรือย่อยสลายด้วยวิธีที่เหมาะสมแทนการเผา ส่วนพื้นที่ที่จำเป็นต้องมีการเผา ให้กำหนดมาตรการควบคุมและแนวทางการจัดการในพื้นที่ ๕.มาตรการเร่งคืนสภาพพื้นผิวจราจรจากการก่อสร้าง ๖.มาตรการรณรงค์ขอความร่วมมืองดจุดธูป เทียน และ ๗.มาตรการรณรงค์ประชาสัมพันธ์
สำหรับการดำเนินกิจกรรมในครั้งนี้เป็นการดำเนินการเพื่อฉีดพ่นน้ำ ละอองฝอยเพื่อลดฝุ่น PM 2.5 ในอากาศ โดยจังหวัดได้ประสานงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ ได้แก่ เทศบาลนครนครราชสีมาติดตั้งเครื่องพ่นไอหมอก บริเวณลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี และศาลาทรงไทยด้านข้างถึงโรงเพลงโคราช ริมถนนชุมพล เพื่อลดปริมาณฝุ่นขนาดเล็ก PM 2.5 และ PM 10 ตั้งแต่เวลา ๐๖.๐๐-๒๔.๐๐ น และให้เทศบาลนครฯ เทศบาลตำบลจอหอ อบต.บ้านเกาะ ดำเนินการจัดรถดับเพลิงหรือรถบรรทุกน้ำฉีดพ่นเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นในอากาศเพื่อลดปริมาณฝุ่นละอองด้วย
แก้ไขปัญหาภัยแล้งโคราช
จากนั้น ในเวลา ๑๓.๓๐ น. ที่ห้องประชุมหลวงพ่อคูณปริสุทโธ ชั้น ๓ ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วยนางปิยะฉัตร อินสว่าง และนายศักดิ์สิทธิ์ สกุลลิขเรศสีมา รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ร่วมประชุมคณะกรรมการศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง จังหวัดนครราชสีมา ครั้งที่ ๒/๒๕๖๓ โดยมีหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุม รวมทั้ง นายอำเภอ การประปาส่วนภูมิภาคสาขา โรงพยาบาล และหน่วยงานในพื้นที่อำเภอต่างๆ เข้าร่วมประชุมผ่านระบบ VDO Conference ณ ที่ทำการอำเภอทุกแห่ง
นายวิเชียร จันทรโณทัย กล่าวว่า “สำหรับการแก้ปัญหาภัยแล้งนั้น เบื้องต้นมีการแจกจ่ายน้ำให้ ๓๖ หมู่บ้านที่ประสบภัย โดยผมและรองผู้ว่าฯ ทั้ง ๔ คน จะลงพื้นที่ไปยังหมู่บ้านต่างๆ เพื่อหาวิธีแก้ปัญหา โดยการแก้ปัญหานั้น จะต้องไม่พบปัญหาอีกในภายหลังกระทั่งเดือนพฤษภาคม และหมู่บ้านที่ได้รับการแก้ไขแล้ว จะต้องไม่กลับไปดูอีก เพื่อเราจะได้เร่งรีบดูแลให้ทั่วทุกพื้นที่ จากการสำรวจของทุกอำเภอ มีรายงานว่า ในช่วงสิ้นเดือนเมษายนนี้ มีหมู่บ้านที่ขาดแคลนน้ำเพิ่มเป็น ๕๔๑ จากเดิมคาดไว้เพียง ๒๙๘ หมู่บ้านเท่านั้น ซึ่งจังหวัดได้ให้อำเภอแยกหมู่บ้าน ที่เกินขีดความสามารถในการดูแลของอำเภอออกมา จะได้ทราบว่า หมู่บ้านเหล่านี้มีกี่หมู่บ้าน และผมกับรองผู้ว่าฯ จะต้องลงพื้นที่ไปช่วยแก้ปัญหาให้ได้ ส่วนหมู่บ้านที่อำเภอสามารถแก้ปัญหาได้ ก็ต้องเร่งดำเนินการแก้ปัญหาโดยด่วน หากมีความต้องการให้จังหวัดสนับสนุนด้านใด สามารถแจ้งได้ทันที”
ห่วงโรงพยาบาลขาดน้ำใช้
“ปัญหาภัยแล้งที่จะมาถึงนี้ กระทบไปถึงโรงพยาบาลต่างๆ ในจังหวัด จากข้อมูลพบว่า มีโรงพยาบาลที่จะได้รับผลกระทบคือ โรงพยาบาลอำเภอคง และโรงพยาบาลแก้งสนามนาง จากที่นายอำเภอคงรายงานนั้น โรงพยาบาลอำเภอคง ขึ้นอยู่กับการประปาส่วนภูมิภาคอำเภอคง ซึ่งจากการลงพื้นที่เมื่อวันก่อน พบว่า โรงพยาบาลยังสูบน้ำจากหนองแขมมาใช้อยู่และมีแหล่งน้ำสำรองคือ บ่อน้ำหลังที่ว่าการอำเภอ ซึ่งเป็นบ่อที่มีน้ำใสสะอาดและมีปริมาณน้ำค่อนข้างมาก และบ่อนี้ยังมีน้ำจากบ่อบาดาลเข้ามาเติมอยู่ตลอดเวลาด้วย คิดว่า โรงพยาบาลอำเภอคงน่าจะไม่มีปัญหาในเร็วๆ นี้ ส่วนอีกหนึ่งโรงพยาบาลที่มีการรายงานปัญหาเข้ามาคือ โรงพยาบาลบัวลาย แต่ในที่ประชุมวันนี้ นายอำเภอบัวลายรายงานว่า สามารถหาทางแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำได้แล้ว โดยจะนำงบประมาณของ อปท.มาทำระบบประปา ซึ่งในส่วนนี้ผมจะต้องติดตามในรายละเอียดและเร่งรัดให้ดำเนินการโดยด่วน ส่วนโรงพยาบาลที่กำลังเข้าสู่ภาวะฉุกเฉินมีอยู่ ๒ แห่งคือ โรงพยาบาลเทพารักษ์และโรงพยาบาลบ้านเหลื่อม อาจจะต้องดำเนินการเจาะบ่อบาดาลเพิ่ม ซึ่งหลังจากนี้ จังหวัดจะเร่งดำเนินการในส่วนของการขออนุญาตเจาะบ่อบาดาล ดังนั้นโรงพยาบาลทั้งสองแห่งนี้ ยังคงต้องเฝ้าระวังอยู่”
ส่งน้ำช่วยคนโนนสูง
“ในส่วนของน้ำลำตะคอง วันนี้มีปริมาณลดน้อยลงมาก เดิมทีจะส่งน้ำไปช่วยประชาชนในอำเภอโนนสูง ซึ่งเป็นปลายน้ำ ซึ่งระหว่างการส่งน้ำไป ระหว่างทางมีการผันน้ำไปใช้ในการอุปโภคบริโภคและเพื่อการเกษตร ในวันนี้จึงต้องขอความร่วมมือจากประชาชนในอำเภออื่นๆ ที่ลำตะคองไหลผ่านว่า ในวันที่ ๒๓-๓๑ มกราคมนี้ ต้องงดใช้น้ำเพื่อการเกษตรโดยเด็ดขาด จะได้ส่งน้ำไปให้อำเภอโนนสูง ซึ่งน้ำที่จะส่งไปนี้จะเป็นรอบสุดท้าย เนื่องจากมีความจำเป็นที่จะต้องรักษาน้ำในลำตะคองไว้ด้วย โดยน้ำที่ส่งไปอำเภอโนนสูงครั้งนี้ คาดว่าจะใช้ได้ถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม และเรื่องการขุดเจาะบ่อบาดาล ก็ยังถือว่า เป็นเรื่องที่สำคัญ ซึ่งสำนักงานทรัพยากรน้ำภาค ๕ ได้งบประมาณจากนายกรัฐมนตรีมาจำนวน ๓๖ บ่อ โดยขณะนี้กำลังเร่งดำเนินการขุด และจังหวัดยังได้งบประมาณจากพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ เพิ่มอีก ๓๒ บ่อ ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้าง นอกจากนี้ยังสนับสนุนให้ประชาชนหรือคนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการขุดเจาะบ่อบาดาลด้วย แต่ปัญหาที่พบคือ ในหลายพื้นที่ของโคราชสภาพน้ำบาดาลส่วนใหญ่จะพบเป็นน้ำกร่อยหรือน้ำเค็ม” นายวิเชียร กล่าวท้ายสุด
นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๒๖๑๓ วันพุธที่ ๒๙ มกราคม - วันอังคารที่ ๔ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๖๓
846 1,518