26thDecember

26thDecember

26thDecember

 

January 31,2020

‘วีรศักดิ์’ ลุยจัดร้านโชห่วย มุ่งให้เข้มแข็งเติบโตยั่งยืน

‘กำนันป้อ’ ลงพื้นที่โคราช นำร่องปล่อยคาราวานจัดร้าน Smart โชห่วย ส่งเสริมและพัฒนาร้านค้าโชห่วยท้องถิ่นให้มีความเข้มแข็ง อีกทั้งเพื่อเป็นขับเคลื่อนและผลักดันเศรษฐกิจฐานราก เผยเตรียมเสนอกระทรวงพลังงานนำอ้อยและมันสำปะหลังไปทำพลังงาน เพื่อกระตุ้นราคาให้ดีขึ้น

เมื่อวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๖๓ เวลา ๐๙.๐๐ น. ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (มทร.อีสาน) นครราชสีมา นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ หรือกำนันป้อ เป็นประธานปล่อยคาราวานจัดร้าน Smart โชห่วย พร้อมด้วยว่าที่ร้อยตรีอภินันท์ เผือกผ่อง รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา, นายเชวงศักดิ์ เร่งไพบูลย์วงษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายพรชัย อำนวยทรัพย์ ส.ส. เขต ๑๐ นครราชสีมา พรรคภูมิใจไทย, นางลลิดา จิวะนันทประวัติ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า รักษาการตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวงพณิชย์, ผศ.ณรงค์ ผลวงษ์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ มทร.อีสาน หัวหน้าส่วนราชการ และภาคเอกชน ร่วมงาน

ว่าที่ร้อยตรีอภินันท์ เผือกผ่อง รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า นคร ราชสีมาเป็นจังหวัดใหญ่อันดับ ๒ รองจากกรุงเทพมาหานคร มีประชากร ๒.๖ ล้านคน มีระบบเศรษฐกิจที่ใหญ่สุดในภาคอีสาน รวมทั้งเป็นศูนย์กลางทางด้านต่างๆ ของภาคอีสาน ไม่ว่าจะเป็น ด้านอุตสาหกรรม ด้านการเกษตร ด้านการศึกษา และเรื่องการค้าปลีก-ส่ง ซึ่งจังหวัดนครราชสีมามีการค้าปลีก-ส่งถึง ๑๕% 
“จังหวัดนครราชสีมามีร้านโชห่วยมากกว่า ๑๐,๐๐๐ ร้าน ซึ่งเป็นสถานที่สร้างรายได้ และเป็นช่องทางในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ และรัฐบาลใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างรายได้กับประชาชน แต่ปัญหาที่สำคัญขณะนี้คือ ร้านต่างๆ ยังขาดความรู้ในการจัดการร้านค้า การตลาด บัญชี หรือภาษี ประกอบกับมีการแข่งขันธุรกิจค่อนข้างสูง ดังนั้นรัฐบาลจึงเข้าไปดูแล ซึ่งมีภาคีเครือข่าย โดยเฉพาะวันนี้มีรองประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายสื่อสารองค์กรของ Makro ที่เป็นภาคีเครือข่ายมาร่วมในครั้งนี้ด้วย” รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าว

ว่าที่ร้อยตรีอภินันท์ กล่าวอีกว่า การจัดงานปล่อยคาราวานทีมพัฒนาร้านค้าปลีกสู่ Smart โชห่วย ถือว่าเป็นกิจกรรมสำคัญที่ให้นักศึกษาที่เรียนด้านนี้ ได้มีประสบการณ์ และมีโอกาสเรียนรู้ นับว่าเป็น learning by doing คือได้เรียนรู้และทำงานไปด้วย ที่สำคัญยังสามารถใช้ความรู้ไปต่อยอด และเป็นผู้ประกอบการที่ดีในอนาคต

นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เป็นหน่วยงานหลักในการส่งเสริมและพัฒนาร้านค้าโชห่วยท้องถิ่นให้มีความเข้มแข็ง เพื่อขับเคลื่อนและผลักดันเศรษฐกิจฐานราก โดยมีการปรับรูปแบบร้านค้าให้ทันสมัย และใช้เทคโนโลยีในการผลิต เพื่อช่วยลดต้นทุน เพิ่มยอดขาย และทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น 

“กรมพัฒนาธุรกิจการค้าร่วมกับภาคีเครือข่ายส่งเสริมความรู้การจัดการร้านค้าให้แก่นักศึกษา เพื่อช่วยพัฒนาธุรกิจร้านค้า โดยลงพื้นที่ปรับร้านค้าให้มีความทันสมัย เพื่อดึงดูดและตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค กิจกรรมในครั้งนี้เป็นการเริ่มต้น เพื่อพัฒนาร้านค้าสู่การเป็น Smart โชห่วย ผมมีความตั้งใจทำให้ร้านค้าโชห่วยมีความเข้มแข็ง แข่งขัน และเติบโตได้อย่างยั่งยืนกิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในการขับเคลื่อนภารกิจต่างๆ ให้สัมฤทธิ์ผลตามวัตถุประสงค์” นายวีรศักดิ์ กล่าว

นายวีรศักดิ์ เปิดเผยกับสื่อมวลชนเพิ่มเติมว่า การมาปล่อยคาราวานจังหวัดนครราชสีมา เนื่องจากเป็นจังหวัดที่ใหญ่อันดับ ๒ จึงเลือกมาดำเนินการที่นี่ และต้องดำเนินการต่อเรื่อยๆ เพื่อให้โคราชเป็นต้นแบบ อีกทั้งยังมีร้านค้าโชห่วยถึง ๑๐ กว่าเปอร์เซ็นต์ของประเทศไทย ดังนั้น เราจึงต้องมาพัฒนาจังหวัดที่ใหญ่ก่อน และเริ่มต้นเป็นต้นแบบของประเทศไทย วันนี้นักศึกษาจาก มทร.อีสานได้ช่วยกันผลักดัน เนื่องจากเมื่อจบมาอาจได้ทำงานเป็นเจ้าของกิจการร้านโชห่วย ก็สามารถนำความรู้ตรงนี้ไปพัฒนา และต่อยอด เพื่อขับเคลื่อนประเทศให้เข้มแข็งต่อไป

“จังหวัดนครราชสีมามีร้านโชห่วยหมื่นกว่าร้าน เราต้องดูว่าร้านที่เข้ามาเป็นสมาร์ท     โชห่วยได้กี่เปอร์เซ็นต์ จึงต้องการฝากรองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้าดูแลว่า จะทำอย่างไรให้ร้านโชห่วยในโคราชเป็น Smart โชห่วยได้เกินครึ่งจากที่มี และจะทำอย่างไรต่อเพื่อผลักดันเรื่องสมาร์ทโชห่วยให้ได้ ๗๐-๘๐% เพื่อให้นครราชสีมาเป็นจังหวัดที่มีการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ เนื่องจากที่ผ่านมาเรื่องสงครามการค้าก็มีส่วนทำให้ประเทศไทยเศรษฐกิจแย่ลง เราจึงนำร่องเพื่อให้สมาร์ทโชห่วยเป็นตัวขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจดีขึ้น” นายวีรศักดิ์ กล่าว

นายวีรศักดิ์ กล่าวอีกว่า ยกตัวอย่างเรื่องปาล์ม ซึ่งตนก็มีส่วนบอกกับกระทรวงพลังงานว่า ให้นำปาล์มไปทำพลังงาน เห็นได้ว่า จากเมื่อก่อนปาล์มกิโลกรัมละ ๒.๕๐ บาท ปัจจุบันอยู่ที่กิโลกรัมละ ๖-๗ บาท ทำให้เกิดการขับเคลื่อน ในอนาคตตนก็พยายามผลักดันให้นำอ้อยและมันสำปะหลังไปทำพลังงานเช่นกัน หากปาล์ม อ้อย และมันสำปะหลังราคาขึ้น ก็จะไปเบียดราคายางพารา ซึ่งจากการไปประชุม ครม.สัญจรที่สามจังหวัดชายแดนใต้ได้เสนอนายกรัฐมนตรีว่า ทำอย่างไรเพื่อลดพื้นที่ปลูกยางให้มาปลูกปาล์ม เนื่องจากปาล์มขาดตลาด อีกทั้งยางสามารถทำอุตสาหกรรมได้อย่างเดียว แต่ปาล์มสามารถทำได้ทั้งอาหาร พลังงาน และอุตสาหกรรม นอกจากนี้ ในวันเข้าประชุม ครม.ครั้งต่อไป ตนจะเสนอกระทรวงพลังงานว่า ให้นำอ้อยและมันสำปะหลังไปทำพลังงานด้วย

“หากปาล์ม อ้อย และมันสำปะหลังมีราคาเพิ่มขึ้น ผมคิดว่า เศรษฐกิจประเทศไทยจะมีการขับเคลื่อนที่ดีขึ้น ซึ่งผมดูแล้วเกษตรกรมี ๖๘-๗๐% ของประชากรในประเทศ ซึ่งหากเกษตรกรจำนวนเหล่านี้มีคุณภาพชีวิต มีฐานะดีขึ้น จะทำให้กล้าใช้เงิน และเศรษฐกิจก็ดีขึ้นตามไปด้วย” นายวีรศักดิ์ กล่าว

นอกจากนี้นายวีรศักดิ์ และคณะได้เดินทางไปร้านโอ๋ ต.หนองกระทุ่ม อ.เมืองนคร ราชสีมา เพื่อร่วมจัดร้านและปรับภาพลักษณ์ให้ร้านโชห่วย ซึ่งการจัดร้านถือเป็นประตูด้านแรกจาก ๕ ด้าน ในการพัฒนาเข้าสู่ร้าน Smart โชห่วย ประกอบไปด้วย การจัดร้าน, การใช้ IT มาบริหาร, การสร้างโปรโมชั่น, การเพิ่มรายได้เสริม และหาแหล่งเงินทุน อีกทั้งมอบตราสัญลักษณ์ร้าน Smart โชห่วย สำหรับติดหน้าร้าน เพื่อเป็นเครื่องหมายการันตีสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าอีกด้วย

จากนั้นเดินทางไปเยี่ยมชมสถานดูแลผู้สูงอายุจำนวน ๒ แห่งในจังหวัดนครราชสีมา ได้แก่ ๑.ศูนย์ฟื้นฟูบ้าน ผู้สูงอายุพาดี ตำบลหนองจะบก มีพยาบาลวิชาชีพเป็นผู้ดำเนินกิจการ และมีพนักงานที่ผ่านการฝึกอบรมดูแลตลอด ๒๔ ชั่วโมง อัตราค่าบริการรายเดือน ๑๕,๐๐๐-๒๓,๐๐๐ บาท และ ๒.บ้านผู้สูงอายุราชสีมา อำเภอเมืองนครราชสีมา หน่วยงานภายใต้มูลนิธิคณะนักบุญคามิลโลแห่งประเทศไทย เป็นองค์กรสาธารณกุศลที่ไม่แสวงหากำไร บริหารงานโดยนักบวชคณะคามิลเลียนที่ทำงานบริการด้านสุขภาพในประเทศไทยกว่า ๖๐ ปี อัตราค่าบริการรายวันอยู่ระหว่าง ๕๐๐-๑,๕๐๐ บาท และรายเดือน ๑๕,๐๐๐-๒๕,๐๐๐ บาท ทั้งนี้ สถานดูแลผู้สูงอายุทั้ง ๒ แห่ง เปิดให้บริการดูแลผู้สูงอายุหรือบุคคลทั่วไปที่มีภาวะพึ่งพิง ไม่สามารถช่วยเหลือตนเอง และเป็นผู้ป่วยติดเตียง โดยมีบริการที่พักแบบชั่วคราว  และแบบประจำ

“การลงพื้นที่เยี่ยมชมธุรกิจดูแลผู้สูงอายุในครั้งนี้ เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้ประกอบการอันจะนำไปสู่การผลักดันแนวทางการส่งเสริมธุรกิจดังกล่าวในระดับนโยบายประเทศ รวมไปถึงจังหวัดนครราชสีมาเป็นจังหวัดที่มีประชากรผู้สูงอายุมากเป็นอันดับที่ ๒ ของประเทศไทยรองจากกรุงเทพมหานคร โดยมีผู้สูงอายุ ๔๓๕,๓๔๗ คน คิดเป็นร้อยละ ๑๖.๔๕ ของประชากรในจังหวัด (ข้อมูลจาก กรมการปกครอง ณ วันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๖๑) ซึ่งธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ จะมีส่วนสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรในจังหวัดให้มีความเป็นอยู่ที่ดีต่อไป” นายวีรศักดิ์ กล่าวท้ายที่สุด

 

 นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๒๖๑๓ วันพุธที่ ๒๙ มกราคม - วันอังคารที่ ๔ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๖๓

 

 


889 1,598