28thMarch

28thMarch

28thMarch

 

February 07,2020

บจธ.’ห่วงเกษตรกรพิมาย ซื้อ ๒๐๐ ไร่ตั้งธนาคารที่ดิน

กำชับ บจธ.ให้จัดตั้งธนาคารที่ดิน เปิดเวที รับฟังความคิดเห็นคนโคราช หวังแก้ไขปัญหาที่ดินทํากินเกษตรกรและผู้ยากจน ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม สนับสนุนให้ประชาชนมีที่ดินทํากินของตนเอง พร้อมจัดซื้อที่ดินกว่า ๒๐๐ ไร่ ให้เกษตรกรชาวพิมาย

เมื่อวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ เวลา ๑๐.๓๐ น. ที่โรงแรมสีมาธานี สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) หรือ บจธ. เปิดรับฟังความคิดเห็นของภาคประชาชน เกี่ยวกับร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันบริหารจัดการเพื่อการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม (องค์การมหาชน) โดยมี พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติ ศรีวรขาน คณะทํางานของรองนายกรัฐมนตรี (พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ) ด้านกฎหมายการสร้างการรับรู้และการมีส่วนร่วมของประชาชน ประธานในพิธี นายกุลพัชร ภูมิใจอวด รองผู้อํานวยการปฏิบัติหน้าที่แทนผู้อํานวยการสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (บจธ.) ภาครัฐและเอกชน รวมทั้งกลุ่มตัวแทนประชาชนทั่วภาคอีสาน เช่น จังหวัดนครราชสีมา มุกดาหาร อุบลราชธานี และนครพนม เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างพระราชกฤษฎีกาฯ ดังกล่าว กว่า ๓๐๐ คน

ทั้งนี้ สืบเนื่องจาก พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ (บิ๊กป้อม) รองนายกรัฐมนตรี เล็งเห็นความสําคัญในการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรในเรื่องที่ดินทํากินมาโดยตลอด ซึ่งได้ดําเนินการผ่านโครงการของสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) หรือ บจธ. ให้ดําเนินภารกิจกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในการแก้ไขปัญหาด้านที่ดินทํากินและที่อยู่อาศัย ป้องกันการสูญเสียสิทธิในที่ดินจากการจํานอง ขายฝาก ตลอดทั้งส่งเสริมการใช้ประโยชน์ในที่ดินเพื่อ ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน

เตรียมจัดตั้งธนาคารที่ดิน

นายกุลพัชร ภูมิใจอวด เปิดเผยว่า “ปัญหาที่ดินทํากินเป็นหนึ่งในปัญหาสําคัญและถือเป็นวาระเร่งด่วนแห่งชาติ ซึ่งที่ผ่านมามีเกษตรกรและผู้ยากจนจํานวนมากประสบปัญหาขาดแคลนที่ดินทํากิน พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่กํากับดูแลงานของ บจธ. จึงให้ความสําคัญในการแก้ปัญหาผู้ไร้ที่ดินทํากิน กําชับให้ บจธ. เร่งรัดดําเนินการจัดตั้งธนาคารที่ดินหรือองค์การอื่นที่มีวัตถุประสงค์ในลักษณะทํานองเดียวกับธนาคารที่ดิน เพื่อนําเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ภายในวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๖๓ เพื่อจะได้เป็นที่พึ่งและแก้ไขปัญหาที่ดินทํากินของเกษตรกรและผู้ยากจน ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่ ๔ ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม การสนับสนุนให้ประชาชนมีที่ดินทํากินเป็นของตนเอง และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๒ ยุทธศาสตร์การสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม
“ที่ผ่านมา บจธ.ดําเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติและแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านสังคมให้เกษตรกรผู้ยากจนมีที่ดินทํากินเป็นของตนเอง เพื่อให้รากฐานเข้มแข็งและยั่งยืน ถือเป็นกระบวนการสําคัญที่จะลดความเหลื่อมล้ำด้านที่ดินและสังคม เกษตรกร ผู้ยากจนที่จะให้ บจธ. สนับสนุนจะต้องได้รับการอบรม “ศาสตร์พระราชา” เพื่อจะได้มีความรู้ความเข้าใจ และน้อมนําศาสตร์พระราชามาเป็นแนวทางประกอบอาชีพเกษตร เพื่อดํารงชีวิตได้อย่างยั่งยืน”

ซื้อ ๒๐๐ ไร่ช่วยชาวพิมาย

นายกุลพัชร กล่าวอีกว่า ในพื้นที่ภาคอีสาน ถือว่า โคราชมีพี่น้องเกษตรกรจํานวนมากที่สุด ที่ประสบปัญหาขาดแคลนที่ดินทํากิน รวมไปถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งจากโครงการรถไฟทางคู่ และนโยบายทวงคืนผืนป่า เช่น ที่บ้านช่องโค หมู่ที่ ๓ ตําบลรังกาใหญ่ อําเภอพิมาย มีเกษตรกรจํานวน ๖๓ ครัวเรือน ขาดแคลนที่ดินทํากิน รวมกลุ่มกันเป็นวิสาหกิจชุมชนไร่นาสวนผสม และสํารวจพื้นที่ทํากิน กระทั่งเจอพื้นที่เป้าหมายที่จะจัดซื้อเพื่อใช้ทํากินในระยะยาวจนถึงลูกหลาน กลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ จึงขอรับการสนับสนุนจาก บจธ. เพื่อให้ บจธ. จัดซื้อที่ดินจํานวน ๒๐๐ ไร่ โดยซื้อเป็นกรรมสิทธิ์ของ บจธ. ก่อน หลังจากนั้นกลุ่มฯ ก็จะเช่า หรือเช่าซื้อจาก บจธ. เมื่อผ่อนชําระครบตามเงื่อนไขที่ บจธ.กําหนด กรรมสิทธิ์ในที่ดินผืนดังกล่าวจะถูกโอนเป็นกรรมสิทธิ์ร่วมของชุมชน ซึ่งอาจจะอยู่ในรูปแบบของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนหรือสหกรณ์การเกษตร ที่เกษตรกรจะรวมตัวกันจัดตั้งขึ้น เพื่อเป็นหลักประกันว่า ที่ดินทํากินจะอยู่ในมือของเกษตรกรตลอดไป สําหรับแนวทางการสร้างความมั่นคง ยั่งยืน ในอาชีพให้เกษตรกร ได้นําแนวทางโครงการบริหารจัดการที่ดินแบบครบวงจร ของ บจธ. มาดําเนินการ คือ ให้การสนับสนุนเกษตรกรแบบครบวงจร ตั้งแต่การจัดซื้อที่ดิน การพัฒนาที่ดิน การผลิต และการตลาด โดยจะทํางานร่วมกับภาคีต่างๆ เช่น สถาบันการศึกษา ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน และหน่วยงานรัฐต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง สําหรับความคืบหน้าในการจัดซื้อที่ดิน ขณะนี้ บจธ. และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ อยู่ระหว่างการเจรจาต่อรองกับเจ้าของที่ดิน เพื่อจะได้ทําการจัดซื้อที่ดินให้ได้ราคาที่เหมาะสม จะได้ไม่เป็นภาระในการผ่อนชําระแก่เกษตรกรมากจนเกินไป คาดว่าจะสรุปผลได้ในเร็วๆ นี้”

สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน

พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติ ศรีวรขาน กล่าวว่า “สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) จัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกา ให้จัดตั้งองค์การมหาชนขึ้น เรียกว่า “สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน)” เรียกโดยย่อว่า “บจธ.” และให้ใช้ชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า “The Land Bank Administration Institute (Public Organization)” เรียกโดยย่อว่า “LABAI” ซึ่งจัดตั้งขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๔ โดยมีวัตถุประสงค์การจัดตั้งตามพระราชกฤษฎีกามาตรา ๗ และมาตรา ๘

พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติ กล่าวอีกว่า “บจธ.มีภารกิจหลักในการบริหารจัดการที่ดินในรูปแบบต่างๆ เช่น การกระจายการถือครองที่ดิน การตรวจสอบการใช้ประโยชน์ที่ดิน การป้องกันการสูญเสียสิทธิ รวมถึงการสร้างกลไกในการบริหารจัดการที่ดินด้วยการจัดตั้งธนาคารที่ดิน โดยมีหน้าที่หลักแบ่งเป็น ๒ ประเด็น คือ ประเด็นที่ ๑ คือ ให้จัดตั้งธนาคารที่ดิน บจธ.มีหน้าที่ตามพระราชกฤษฎีกาฯ ให้จัดตั้งธนาคารที่ดิน เพื่อเป็นกลไกในการพัฒนาเศรษฐกิจและบริหารจัดการที่ดิน เป็นแหล่งเงินทุนสำหรับเกษตรกรและผู้ยากจนที่เข้าถึงได้ง่ายและมีความคล่องตัวสูง เพื่อให้เกษตรกรได้มีสิทธิในที่ดิน และได้ใช้ประโยชน์ในที่ดินอย่างมั่นคงในรูปของธนาคาร เพื่อการกู้ยืมแก่เกษตรกรและผู้ยากจนได้มีที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง เพื่อคงสิทธิในที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เช่น การไถ่ถอนจำนอง การไถ่ทรัพย์จากการขายฝาก และเพื่อการใช้ประโยชน์ในที่ดิน 

ประเด็นที่ ๒ คือ การสร้างนวัตกรรมต้นแบบ (Model) ในการลดความเหลื่อมล้ำด้านที่ดินอย่างยั่งยืน โดยทดลองการดำเนินงาน ในการลดความเหลื่อมล้ำด้านที่ดิน ให้ความช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ยากจน ดังนี้ ๑.การกระจาย การถือครองที่ดิน มีวัตถุประสงค์เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมในการถือครองที่ดิน แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนด้านที่ดินทำกินของเกษตรกรและผู้ยากจนที่ไม่มีที่ดินทำกินหรือมีไม่เพียงพอต่อการประกอบอาชีพ เพื่อให้ชุมชนสามารถใช้ประโยชน์ที่ดินในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมและอยู่อาศัย โดยมีสิทธิในการครอบครองที่ดินร่วมกัน รวมทั้งเป็นกรณีศึกษาเพื่อประโยชน์ในการกำหนดแนวทางและหลักเกณฑ์การกระจายการถือครองที่ดินที่เป็นธรรมและยั่งยืนต่อไป 

๒.การตรวจสอบการใช้ประโยชน์ที่ดิน มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจรวบรวมข้อมูลด้านสิทธิและการใช้ประโยชน์ในที่ดิน ระดับอำเภอทั่วประเทศ โดย บจธ.กำหนดเป้าหมายในการเป็นฐานข้อมูลเกี่ยวกับที่ดิน ผู้ถือครองที่ดิน ผู้ไม่มีที่ดินทำกิน ผู้ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ในที่ทำกินที่ถูกต้อง เชื่อถือได้ ข้อมูลมีความทันสมัย และเป็นจริง เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงาน การปฏิรูปที่ดินประเภทต่างๆ สนับสนุนการใช้ประโยชน์ในที่ดินต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน การกำหนดภาษีที่ดิน ตลอดทั้งการสนับสนุนข้อมูลเชิงนโยบายเพื่อประกอบการตัดสินใจของรัฐบาล และเพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ในที่ดินอย่างเต็มศักยภาพ ไม่ว่าจะเป็นการกระตุ้นให้เกิดการใช้ประโยชน์ในที่ดินเพื่อให้เกิดความคุ้มค่า การจัดการการใช้ที่ดินให้ถูกประเภท เพื่อเป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ

๓.การป้องกันการสูญเสียสิทธิ ให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อยหรือเกษตรกรซึ่งใช้ที่ทำกิน เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันในการกู้ยืมเงิน โดยดำเนินการในรูปแบบกองทุนรับฝากซื้อที่ดินดังกล่าวไว้ เนื่องจากปัญหาการสูญเสียสิทธิในที่ดินของเกษตรกรและผู้ยากจนทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง บจธ.จึงมุ่งหมายที่จะป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยให้ความสำคัญกับการป้องกันการสูญเสียสิทธิเป็นลำดับแรก คือให้การช่วยเหลือในรูปแบบต่างๆ ก่อนเข้าสู่กระบวนการขายฝาก

ปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น

“สำหรับการประชุมในวันนี้ จัดเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชน สถาบันการศึกษา และประชาชนทั่วภาคอีสานว่า มีความประสงค์ให้ บจธ.มีกรอบแนวทางหรือบทบาทหน้าที่อย่างไร หากจัดตั้งขึ้นมาเป็นหนึ่งหน่วยงานของรัฐ ผู้ใดมีความคิดเห็นอย่างไรสามารถเขียนอธิบายไว้ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเปลี่ยนชื่อ เพราะบางคนบอกว่า ชื่อยาวไป จำยาก หรือต้องการให้มีหน่วยงานนี้หรือไม่ ซึ่งหน่วยงานที่ทำหน้าที่ช่วยเหลือประชาชนในเรื่องที่ดิน ปัจจุบันมีอยู่หลายหน่วยงาน ซึ่งที่ผ่าน บจธ.พยายามทำหน้าที่ให้ดีที่สุด กระทั่งพลเอกประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ต้องการแก้ปัญหาเรื่องที่ดินอย่างจริงจัง โดยเน้นให้ประชาชนทุกคนมีความเป็นอยู่ที่ดีเป็นหลัก เชื่อว่าทุกคนที่มาประชุมในวันนี้ มีเงื่อนไขหรือว่าข้อเสนอแนะ วันนี้จึงต้องมาคุยกันว่า ปัญหาจริงๆ เป็นอย่างไรและจะแก้ปัญหานั้นได้ไหม ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา บจธ.ได้ไปเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นแล้วทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นจังหวัดเชียงใหม่ กาญจนบุรี อุดรธานี โดยเวทีสุดท้ายหลังจากวันนี้ ขึ้นอยู่ที่จังหวัดกำแพงเพชร” พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติ กล่าว

บจธ.ทำอะไรได้บ้าง?

พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติ กล่าวในตอนท้ายว่า “หากใครยังมีข้อสงสัยว่า บจธ.ทำหน้าที่อะไร ผมจะยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น สมมติว่าผม มีที่ดินอยู่ ๑๐๐ ไร่ ซึ่งทิ้งร้างไว้ ต้องการแบ่งให้ชาวบ้านเข้ามาทำการเกษตร ผมจึงนำที่ดินมาให้ บจธ.จัดการ โดยผมและ บจธ.จะได้ค่าเช่าที่ไม่มาก ซึ่งดีกว่าผมจะปล่อยทิ้งร้างเอาไว้ และชาวบ้านก็จะได้ไม่ไปเช่าที่นายหน้าในราคาแพง อีกข้อหนึ่ง สมมติว่า ผมนำที่ดินไปกู้เงินมา แล้วเข้าไปทำกินในที่ตัวเองไม่ได้ ผมจึงมาให้ บจธ.ช่วย โดย บจธ.จะเป็นผู้จ่ายหนี้ให้ผม ส่วนผมก็จะมาเป็นหนี้กับ บจธ.แทน ในระหว่างที่ผมกำลังหาเงินมาใช้หนี้ บจธ. ผมสามารถเข้าไปทำกินในที่ดินนั้นได้ และ บจธ.จะนำศาสตร์พระราชาหรือเกษตรพอเพียงมาช่วย เพื่อสอนให้ผมรู้จักประหยัด อดออม และสามารถหาเงินมาใช้หนี้ได้ กระทั่งผมได้ที่ดินคืนมา ดังนั้นผมต้องการให้ทุกคนที่มาประชุมในวันนี้ ได้บอกเล่าแสดงความคิดเห็น เพื่อ บจธ.จะได้นำไปพิจารณาการจัดตั้งองค์กรต่อไป” 

 

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๒๖๑๔ วันพุธที่ ๕ - วันอังคารที่ ๑๑ เดือนกุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๖๓

 

 


772 1417