May 21,2020
CEO Class ลุยเจาะใจ คนโคราชสร้างชื่อ
CEO คลาสคาเฟ่ ลุยรายการเจาะใจ เจาะลึกพลิกวิกฤตโควิดเป็นโอกาส
คุณมารุต ชุ่มขุนทด (กอล์ฟ) CEO Class cafe เปิดเผยในรายการเจาะใจ ที่ได้ออกอากาศไปเมือวันที่ ๑๗ พ.ค. ๖๓ ว่า “ก่อนจะมาทำร้านกาแฟ ผมก็เป็นหนึ่งคนที่ครึ่งชีวิตอยู่หน้าคอมฯ มาโดยตลอด เพราะจบวิศวคอมพิวเตอร์โดยตรง ที่ผ่านมาก็ทำงานในสายงานที่ตนเองจบมาโดยตลอด
ในฐานะนักการตลาดเทคโนโลยีก็มองว่า ธุรกิจอื่นน่าจะง่าย และรู้สึกตัวเองเจ๋งมาก เพราะช่วงนั้นเราทำงานเกี่ยวกับด้านโหลดเพลง ต้องคอยออกโปรโมชัน แคมเปญต่างๆ ก็คิดว่าหากมาทำธุรกิจกาแฟ อาหารก็ต้องง่าย”
จุดเริ่มต้นสร้างอาณาจักร
จุดที่ทำให้พลิกหันมาเริ่มธุรกิจขายกาแฟ คุณกอล์ฟ เล่าว่า “จริงๆ เราก็เป็นลูกแม่ค้ามาตั้งแต่เด็ก เป็นคนทำธุรกิจ ยกของได้ ทำอะไรเองได้ เหมือนมันอยู่ในสายเลือด ระหว่างที่เราทำงานในองค์กรที่มั่นคง แต่ก็มีความคิดในใจว่า วันหนึ่งจะต้องเป็นเจ้าของธุรกิจ
แต่มันก็ยากที่จะทิ้งเงินเดือนหกหลัก ยกตัวอย่าง เราเคยได้เงินเดือน ๑๐๐,๐๐๐ บาท แปลว่าเราต้องทำธุรกิจให้มีรายได้อย่างน้อย ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท ถึงจะได้กำไร ๑๐% ในใจเวลาคิดก็ไม่ใช่ออกมาเป็นร้านกาแฟเล็กๆ” กว่าจะหันมาเริ่มทำร้านกาแฟ คุณกอล์ฟบอกว่า ใช้เวลาตัดสินใจอยู่พักหนึ่ง ไปเดินดูร้านกาแฟ เก็บข้อมูลมาเรื่อยๆ ก็เห็นว่า ถ้าเราจะทำร้านกาแฟแบบอิตาเลี่ยนบาร์ เราต้องมีรายได้เท่าไหร่ ที่เขาบอกกันว่าขายดีมากๆ คือ ๓๐๐ แก้วต่อวัน หักค่าเช่า ค่าแรง จบสิ้นเดือนได้กำไรประมาณ ๔-๕ หมื่นบาท นี่คือกรณีที่ขายดีมากๆ แต่กำไรมันน้อย
เมื่อช่วง ๗ ปีก่อน คนก็จะวาดฝันว่า ขายกาแฟกำไรเยอะมาก แต่จริงๆ ไม่ใช่เลย ธุรกิจกาแฟแข่งขันกันแรงมาก ซึ่งที่เปิดแล้วเจ๊งก็มี ประมาณ ๙๐% เพราะเป็นธุรกิจที่เริ่มต้นง่ายมาก คู่แข่งเกิดใหม่ทุกๆ ๒ ชั่วโมง เพราะเรียนทำกาแฟแค่ ๒ ชั่วโมงก็ชงกาแฟได้แล้ว ยิ่งเริ่มง่าย คู่แข่งก็มากขึ้น
สร้างเชนร้านกาแฟ
“จริงๆ ผมไม่ได้คิดจะเปิดร้านกาแฟ แต่ผมคิดที่จะทำเชนกาแฟ เราต้องมีหลายร้าน เริ่มต้นเรามีเงินอยู่ ๒ แสน เราก็คิดว่าจะทำยังไงดี ซึ่งถือว่าเป็น Start up สำหรับผมคำนี้ค่อนข้างเป็นคำที่ยืดหยุ่น เราเริ่มต้นทำอะไรก็ได้มันก็เป็นสตาร์ทอัพ แต่จริงๆ แล้วคำจำกัดความของการเป็นบริษัท
สตาร์ทอัพคือ มีอัตราการเติบโตที่เร็วและพุ่งเป็น S-Curve ผมก็เริ่มต้นในลักษณะแบบนั้น ซึ่งการจะขายกาแฟสาขาเดียว เฉลี่ยรายได้จะไม่สูงนัก ดั้งนั้นทุก ๖ เดือน คุณกอล์ฟจะเปิดสาขาใหม่ โดยการจะเปิดสาขาใหม่ได้นั้น สาขาก่อนๆ ต้องสำเร็จ และค่อยเก็บกำไร จากสาขาก่อนๆ มาต่อยอด
ความโชคดีของเราคือ ผ่านไป ๓ ปีเราไม่มีหนี้ เพราะไม่มีใครให้เรายืม ธนาคารก็กู้ไม่ได้ เพราะเป็นธุรกิจกาแฟอัตรากู้ผ่านก็จะยาก ผมก็บริหารบนเงินสดของตัวเองมาตลอด”
แบรนด์ต้องแข็งแรง
คุณกอล์ฟ เล่าถึงจุดเริ่มต้นว่า มาร์เก็ตติ้งแรกทีทำเลยคือ กาแฟต้องรสชาติดี เพราะเราทำธุรกิจร้านอาหาร เครื่องดื่ม ต้องรสชาติดีเสมอ เราก็ต้องปิดตาและลองชิม และต้องแยกให้ออกว่าแก้วไหนเป็นกาแฟเรา รสชาติดีหรือไม่ดีไม่รู้ แต่รสชาติมันแตกต่าง เราสร้างแบรนด์ของเราเข้าไปในหัวได้แล้ว และกาแฟ Class ต้องแตกต่างตั้งแต่คำแรกที่ดื่ม “ต่อมา ร้านค้าต้องมีแบรนด์ที่ชัดเจน ต้องมีคาแรกเตอร์ของตัวเอง เรามองว่า ร้านกาแฟคือสิ่งที่ให้พลังงานต่อวัน เรามาเริ่มต้นวันที่ Class พนักงานจะต้องมี energy อยู่ตลอด เพลงที่เปิดต้องมีบีทหรือเป็นแนว EDM ที่นั่งไม่ใช่โซฟาสบายๆ แต่ต้องเป็นจุดที่สามารถนั่งทำงานได้ เราออกแบบทั้งหมดตั้งแต่ต้นจนจบ มีแบรนด์ดิ้งชัดเจน ซึ่งทุกครั้งที่เปิดสาขา เราต้องเก็บรายละเอียดเรื่องแบรนด์ดิ้งให้ครบ และสร้างมาตรฐานของแบรนด์ให้ได้”
ตอบแทนสังคม
คุณกอล์ฟ เล่าอีกว่า สาขาแรกของเราคือที่โคราช ถนนจอมสุรางค์ยาตร์ ที่เลือกโคราช เพราะเป็นจังหวัดบ้าน หากมองในโอกาสทางธุรกิจ ปกติเวลานึกถึงกาแฟคนไม่ค่อยนึกถึงภาคอีสาน จะนึกถึงเชียงใหม่ คลาสจึงโฟกัสที่ภาคอีสาน ตั้งแต่วันแรกเราคิดไว้เลยว่า “คลาสจะต้องเป็นส่วนหนึ่งของสังคม” เราเห็นเชนบริษัทใหญ่ๆ ที่เติบโตขึ้น จะเบียดกับชุมชน พอเริ่มโต เริ่มไปเบียดกับคนขายของที่เป็น Local ก็จะเกิดแรงต่อต้าน ซึ่งในโลกยุคใหม่ไม่สามารถเติบโตในลักษณะที่กินรวบคนเดียวได้ เราต้องทำให้ทุกอย่างเกิดการมีส่วนร่วม อย่างพนักงานเราใช้คนในท้องถิ่นเท่านั้น เราต้องเข้าไปมีส่วนร่วม ใช้แนวคิดว่า เขาเป็นเจ้าของสาขานี้ ไม่ใช่เรา
ซึ่ง Class ได้มีส่วนร่วมและตอบแทนสังคมมาโดยตลอด ซึ่งการสนับสนุนของ Class ไม่ใช่รูปแบบของการให้เงิน ซึ่งคุณกอล์ฟมองว่า การให้เงินเป็นเรื่องที่ง่ายเกินไป การให้ที่ดีที่สุดคือ ให้แล้วผู้รับสามารถนำไปต่อยอดและใช้ประโยชน์ได้จริง ยกตัวอย่าง Class เปิดสาขาใกล้มหาวิทยาลัยอยู่หลายสาขา ย่อมมีนักศึกษามาขอสปอนเซอร์ อยู่ตลอดๆ แต่ Class สนับสนุนโดยการให้กาแฟให้กับน้องๆ เอาไปหัดชง ไปหัดขายเอง เพื่อให้น้องๆ ฝึกทำมาหากินเองด้วย รวมถึงกิจกรรมทางสังคมต่างๆ Class ก็ได้นำกาแฟไปแจกอยู่เสมอ
พลิกวิกฤตเป็นโอกาส
ช่วงที่ผ่านมา ถือว่าโคราชเจอวิกฤตซ้ำซ้อน ซึ่งคุณกอล์ฟ เล่าว่า “ช่วงต้นกุมภาพันธ์โคราชเจอปัญหาที่เทอร์มินอล คลาสก็เทิร์นตัวเองไปเป็นคนที่มีส่วนร่วมในสังคม ร่วมกับชุมชน ก่อตั้งกลุ่ม KoratStrong ทำอย่างไรก็ได้ให้โคราชกลับมามีภาพที่สวยงาม จากการร่วมแรงร่วมใจ มีศิลปินมากมายมาช่วยเหลือ และเกิดภาพของความร่วมมือร่วมใจ กำลังจะจบได้สวย ก็มีปัญหาโควิด-๑๙ มา สิ่งที่เกิดขึ้นในครั้งที่สอง ถือว่าเราวางแผนได้ดีขึ้น เราวางแผนไว้รองรับเป็น A B C เลย ลงถึงรายละเอียดว่า เราจะรับมือยังไง หากมีสาขาที่ต้องปิด เราก็ปิดทันที เพราะหากเรายื้อไว้จะแย่ไปเรื่อยๆ
แต่หากเราปิดเลย เจ๊งชั่วคราว ค่าเช่า ค่าไฟ ค่าแรงจะหยุด พนักงานก็ย้ายไปทำที่สาขาอื่น ของต่างๆ ที่อยู่ในร้าน เราก็ย้ายไปทำในสาขาที่ยังขายได้ อย่างบาริสต้าที่กรุงเทพ ตอนนี้ก็ต้องย้ายมาทำที่สาขาโคราช
วิธีการคิดเราต้องเปลี่ยน เราต้องไม่ยอมแพ้ ถ้าเรายังคิดที่จะขายกาแฟแก้วละร้อย เพื่อให้เรามานั่งจิบสุนทรีกับคุกกี้หนึ่งชิ้น นั่นผิดแล้ว หลังจากโควิด เราจึงคิดว่าจะสามารถให้ลูกค้าซื้อเครื่องดื่มกลับไปกินที่บ้านได้หลายๆ วัน คลาสเกิดโปรดักส์ใหม่ค่อนข้างเยอะ เช่น เราขายน้ำส้มเพิ่มขึ้น
เครื่องดื่มบรรจุขวดเป็นแบบลิตร ข้าวเหนียวหมูปิ้ง หมูทอดเราก็ทำ เดลิเวอรี่เองเราก็ทำ ซึ่งเราแบ่งกันหลายๆ ทีม แต่ละทีมก็ไปคิดว่าจะทำอะไร ชั่วโมงนี้ทำอะไรได้ ทำหมด อย่าท้อแท้ และอย่าเลือก ลูกค้ามาหาเราไม่ได้ เราก็ไปหาลูกค้าได้
สำหรับการเป็นผู้นำ คุณกอล์ฟ เล่าว่า “เราทำงานกับคนหลายเจน อย่างคนเจน Z เขาเติบโตมาในแพลตฟอร์มที่ไม่ใช่ที่เราเป็น หน้าที่เราคือถามเขาว่า เราจะทำอย่างไรดี เขาก็แนะนำเราว่าทำแบบไหน ถือเป็นมิติใหม่ของการทำงาน เราต้องถามเขา เพราะเราไม่มีทางรู้ เจนเนอเรชั่นมันเปลี่ยน
รุ่นน้องๆ เขาเกิดมาบนอะไรไม่รู้เต็มไปหมด น้ำท่วม ไฟไหม้ เหตุการณ์ต่างๆ เขาจะมีความแข็งแรงของความคิดต่างจากเรา เพราะฉะนั้นเราต้องฟังเขา และเราจะเกิดความคิดอะไรใหม่ๆ เราแค่ตั้งกรอบให้เขา แต่อย่าไปบีบ และเราจะได้นวัตกรรมใหม่ๆ เกิดขึ้นจากไลฟ์สไตล์ของพวกเขา”
คุณกอล์ฟ พูดถึงสถานการณ์ช่วงหลังวิด-๑๙ ไว้ว่า สาขาของเราที่กรุงเทพฯ การออกแบบต่างๆ จะต้องเกิดพื้นที่รูปแบบใหม่ เจ้าของธุรกิจต้องคิดไว้เลยว่า สามารถทำอะไรใหม่ได้ ร้านอาหาร ร้านกาแฟต้องปรับตัว ทุกวันนี้โควิดทำให้ทุกอย่างมันเร็วขึ้น การทำงาน มีการประชุมผ่านทางไกลต่างๆ คิดว่า คนจะออกไปร้านกาแฟไหม ก็ไม่ เขาไปนั่งคนเดียวได้ เพราะเขาออนไลน์คุยกับคนอื่นได้ แต่มนุษย์เป็นสัตว์สังคม ต้องการเจอกัน แต่จะเจอกันที่ไหน เพราะฉะนั้นก็ไม่ต้องตื่นตูมว่า เดลิเวอร์ลี่จะเป็นทุกอย่าง สุดท้ายร้านอาหารที่ทำใหม่สดได้จริงๆ ก็เป็นสิ่งที่ขับเคลื่อนธุรกิจต่อไป เรายังคงต้องทำแบบนั้นอยู่ แต่ในภาพการมีส่วนร่วมกับผู้คน การจัดสเปซ การออกแบบต่างๆ อาจจะต้องมาดีไซน์กันใหม่
“ถ้าเราจะต้องเจ๊ง เจ๊งเลย และหยุดไว้ก่อน เดี๋ยวเราเก็บแรงไว้ ปลดล็อกเมื่อไหร่ เอาเงินที่จะต้องไปอดทน กลับมาเปิดใหม่ เพราะเดี๋ยวไม่มีเงินไว้เพื่อมาเปิดใหม่ ก็เจ๊งถาวร โลกยุคใหม่เราไม่ต้องรอรวย ไม่ต้องรอเป็นบริษัทขนาดใหญ่ ไม่ต้องรอเข้าตลาดหลักทรัพย์ วันนี้เราทำได้ ก็ทำเลย
และเด็กรุ่นใหม่ก็จะเข้าใจบริบทใหม่ว่า การเป็นบริษัทที่ดี สร้างสรรค์สังคมไปพร้อมกัน ในเวลาวิกฤตแบบนี้ คนก็ยังจดจำเราได้ และรู้ว่าเรายังทำอะไรอยู่ และอยากแชร์กับทุกคนว่า อย่าไปมองกำไร-ขาดทุน เรื่องนี้เราต้องอยู่ได้ แต่สุดท้ายส่วนหนึ่งเราต้องเติบโตไปกับสังคมร่วมกันได้
และการทำธุรกิจ และช่วยเหลือสังคมเรื่อยๆ มา ทำให้เกิดเรื่องราวสุดประทับใจที่คุณกอล์ฟได้เล่าว่า “ล่าสุด ผมมีอาการปวดหลัง จึงได้ไปรักษาที่โรงพยาบาล ด้วยความที่วันนั้นผมได้ใส่เสื้อ Class ไปและคุณหมอถามผมว่า พี่เป็นเจ้าของร้าน Class เหรอ?
ผมตอบว่าใช่ น้องเขาบอกว่า ที่จบหมอมาได้ ต้องขอบคุณ Class มากๆ เลย เพราะได้อาศัยที่ร้านเป็นที่อ่านหนังสือตลอด”
และวันนี้ก็ได้มารักษาเจ้าของ Class ซึ่งคุณกอล์ฟประทับใจกับเหตุการณ์นี้มาก จากเรื่องราวๆ ดีๆ นี้ คงแน่ชัดแล้วว่า การทำความดี ไม่ต้องเห็นผลชาติหน้า
883 1,573