31stDecember

31stDecember

31stDecember

 

May 22,2020

โควิดทำปชช.เครียดเพิ่มขึ้น ผอ.จิตเวชแนะหลัก ๓ ส. ป้องกันปัญหาสุขภาพจิต

วิกฤตโควิด-๑๙ ส่งผลให้ประชาชนเครียดเพิ่ม ผอ.รพ.จิตเวชโคราชแนะเคล็ดดูแลสุขภาพใจ สยบความเครียดด้วยหลัก ๓ ส. เพื่อสุขภาพจิตที่ดี ย้ำหากเครียดนานติดต่อเกิน ๒ สัปดาห์ ให้ปรึกษาสถานพยาบาลใกล้บ้านหรือสายด่วน ๑๓๒๓ เปิด ๒๔ ชั่วโมง

นพ.กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ เปิดเผยกับ “โคราชคนอีสาน” ว่า ช่วงของการเกิดสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-๑๙ นั้น อาจมีผลทำให้ประชาชนรู้สึกเครียด กังวล เนื่องจากอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ชัดเจน ไม่แน่นอน เช่น ไม่รู้ว่าการระบาดครั้งนี้จะไปสิ้นสุดลงตรงไหน ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต และยังมีผลกระทบความสัมพันธ์ การถูกกักตัว เรื่องงาน เรื่องเศรษฐกิจ ส่งผลให้ต้องมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่เคยทำตามปกติ

“ทั้งหมดนี้จึงกระตุ้นให้เกิดความเครียด ความวิตกกังวล แต่ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบในมิติใดก็ตาม ทุกคนล้วนได้รับผลกระทบด้วยกันทั้งสิ้น มากน้อยต่างกันไปตามแต่ละบุคคล ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆ อย่าง ประเด็นสำคัญอยู่ที่การบริหารจัดการความเครียด โดยการหันกลับมาสังเกตอาการตนเองว่า มีอาการที่แสดงถึงความเครียดหรือไม่ เช่น อารมณ์แปรปรวน กลัว เครียด กังวล หงุดหงิดง่าย นอนไม่หลับหรือหลับไม่สนิท ฝันร้ายต่อเนื่องเรื้อรัง พฤติกรรมการกินผิดปกติ บางรายกินไม่ลง บางรายกินมากผิดปกติ รู้สึกไม่กระปรี้กระเปร่า ไม่สดชื่น เฉื่อยชา เบื่อ ไม่อยากทำอะไร สมาธิจดจ่อไม่ดี หลงๆ ลืมๆ ทำงานบกพร่อง สูญเสียการตัดสินใจ หลายคนไม่ตระหนักว่ากำลังเกิดความผิดปกติด้านอารมณ์ เมื่อไม่รู้ตัวก็ไม่ได้จัดการอย่างถูกต้อง ประเด็นสำคัญอยู่ที่ตรงนี้มากกว่า หากมีอาการเหล่านี้แล้วก็หาวิธีจัดการกับความเครียดที่เหมาะสม” ผอ.รพ.จิตเวชฯ กล่าว

นพ.กิตต์กวี กล่าวอีกว่า โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต ได้ประเมินความเครียด (ST5) ประชาชน และบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ในระหว่างเดือนมีนาคม–๑๒ พฤษภาคม ๒๕๖๓ ผ่านระบบออนไลน์ มีผู้เข้ามาตอบแบบประเมิน ๑๑๐ คน เป็นเพศชาย จำนวน ๓๗ คน คิดเป็นร้อยละ ๓๓.๖๓ เพศหญิง จำนวน ๗๓ คน คิดเป็นร้อยละ ๖๖.๓๗  พบว่า มีความเครียดระดับมากขึ้นไปที่ต้องได้รับคำปรึกษาจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุข จำนวน ๓๗ คน ร้อยละ ๓๓.๓๖ เป็นเพศชาย ๑๓ คน เพศหญิง ๒๔ คน อายุในช่วงผู้ใหญ่ อายุ ๒๕-๕๙ ปี จำนวน ๒๔ คน ช่วงวัยรุ่น อายุ ๑๕-๒๔ ปี ๑๓ คน

ทั้งนี้ โรงพยาบาลจิตเวชฯ แนะนำ ๙ วิธีจัดการความเครียด ดังนี้ ๑.สังเกต หมั่นสังเกตความผิดปกติของร่างกาย จิตใจและพฤติกรรมเวลาที่มีความเครียด ๒.ผ่อนคลาย ผ่อนคลายความเครียดด้วยวิธีที่คุ้นเคย เช่น คลายกล้ามเนื้อ ฝึกลมหายใจ ทำสมาธิ ๓.สร้างบรรยากาศ จัดสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัวให้สบายตา เป็นระเบียบ น่าดู น่าทำงาน ๔.ทำกิจกรรม ทำกิจกรรมที่ชอบ เช่นเล่นกีฬา ออกกำลังกาย เล่นดนตรี ทำบุญ เป็นต้น ๕.หาวิธีแก้ปัญหา หากรู้ว่าเครียดปัญหาใด ให้พยายามหาวิธีแก้ไขปัญหานั้นโดยเร็ว

๖.ฝึกทักษะ เช่น การสื่อสาร การสร้างสัมพันธภาพ การแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ ๗.คิดบวก ปรับแนวความคิด ทัศนคติ จากมุมมองในแง่ลบเป็นบวก ๘.ชวนพูดคุย ระบายความรู้สึกความทุกข์ในใจ ทั้งนี้ผู้ฟัง รับฟังอย่างตั้งใจและให้กำลังใจกัน และ ๙.ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ บริการคลินิกคลายเครียดหรือสายด่วนสุขภาพจิต 

 “ฝากถึงประชาชนทั่วไปว่า ทุกท่านสามารถมีส่วนร่วมป้องกันปัญหาสุขภาพจิตจากโรคโควิด-๑๙ ได้อย่างดีโดย ใช้หลัก ๓ ส. คือ ๑.สอดส่องมองหาคนในครอบครัว หรือเพื่อนบ้าน ที่มีอารมณ์หรือพฤติกรรมเปลี่ยนไปจากปกติเดิม เช่น มีสีหน้าเศร้าซึม ร้องไห้ นั่งเหม่อลอย หากพบให้รีบเข้าไปพูดคุย ๒.ใส่ใจรับฟัง การได้พูดคุยกัน เป็นวิธีช่วยให้ผู้ที่มีปัญหาได้ระบายความทุกข์ในใจได้อย่างดี และ ๓.ส่งต่อความช่วยเหลือเบื้องต้นเท่าที่ตนเองมี เช่น น้ำ อาหาร ยา หากอาการยังไม่ดีขึ้น ติดต่อกันเกิน ๒ สัปดาห์ขึ้นไป ขอให้แจ้ง อสม.หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน ให้ได้รับการช่วยเหลือต่อไป หรือแนะนำให้โทรปรึกษาที่ ๐๔๔-๒๓๓๙๙๙ และ ๐๖๑-๐๒๓๕๑๕๑ หรือโทรสายด่วนกรมสุขภาพจิต หมายเลข ๑๓๒๓ เปิดตลอด ๒๔ ชั่วโมง” นพ.กิตต์กวี กล่าวท้ายที่สุด

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๒๖๒๘ วันพุธที่ ๒๐ - วันอังคารที่ ๒๖ เดือนพฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๓

 

 


864 1,538