30thOctober

30thOctober

30thOctober

 

May 22,2020

เล็งตั้งเอกชนร่วมลงทุน LRT สีเขียว ๗.๕ พันล. ธันวาคม‘ทุบสะพานสีมา’

LRT โคราช ยังตามหลัง ภูเก็ต เชียงใหม่ ถึง ๔ เดือน วนเวียนเสนอขยายเส้นทางไปจอหอ บริษัทที่ปรึกษาย้ำ มีส่วนต่อขยายเส้นทางอยู่แล้ว ด้านภาคเอกชนเสนอจัดตั้งบริษัทร่วมลงทุน เพื่อติดตามความก้าวหน้า พูดคุยและ  แบ่งเบาภาคส่วนราชการ ส่วนการทุบและสร้างทางลอดรถไฟทางคู่ช่วงสีมาธานี คาดเริ่มธันวาคมนี้

เมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๖๓ เวลา ๑๓.๓๐ น. ณ หอประชุมเปรมติณสูลานนท์ ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นข้อเสนอแนะข้อมูลโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดนครราชสีมา สายสีเขียว (ตลาดเซฟวัน-สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์) และข้อมูลการออกแบบก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดรถไฟทางคู่บริเวณสะพานสีมาธานี โดยมีที่ปรึกษาโครงการทั้ง ๒ โครงการ นำเสนอข้อมูลผ่านระบบวิดีทัศน์ทางไกล

สำหรับการรับฟังความคิดเห็นข้อเสนอแนะข้อมูลโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดนครราชสีมา สายสีเขียว (ตลาดเซฟวัน-สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์) ที่ปรึกษาโครงการได้นำเสนอข้อมูลทั้งหมด ๙ หัวข้อ คือ ๑.แนวเส้นทางโครงการ ๒.รูปแบบของสถานี ๓.การลงทุนและงบประมาณ ๔.การรับน้ำหนักของรถไฟฟ้าบนถนนที่จะรองรับการนำสายไฟฟ้าลงใต้ดิน ๕.ระบบการเชื่อมต่อระหว่าง LRT และการขนส่งเดิมหรือรถประจำทาง ๖.การเดินรถ ๒ ช่องจราจรบนถนนเดียวกัน ๗.การจัดการระหว่างก่อสร้าง ๘.สรุปผลการประชุมกล่อมย่อมครั้งที่ ๒ และ ๙.แผนดำเนินงานโครงการ โดยสรุปรายละเอียดสาระสำคัญได้ดังนี้

แนวเส้นทาง LRT

แนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเขียว (ตลาดเซฟวัน-สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์) มีจุดเริ่มต้นที่บริเวณตลาดเซฟวัน (ถนนมิตรภาพ) ฝั่งมุ่งหน้าเข้าตัวเมืองนครราชสีมา โดยออกแบบโครงสร้างเป็นทางวิ่งระดับดิน วิ่งไปตามแนวถนนมิตรภาพ ผ่านสามแยกปักธงชัย แล้วเบี่ยงขวาตามทางรถไฟ แล้วมุ่งหน้าตามถนนสืบศิริซอย ๖ เลี้ยวซ้ายผ่านทางรถไฟไปตามแนวถนนสืบศิริ จากนั้นเลี้ยวขวาตรงบริเวณวัดใหม่อัมพวัน ไปตามแนวถนนมุขมนตรี ผ่านสวนภูมิรักษ์และตลาด ๑๐๐ ปี โรงเรียนมารีย์วิทยา สถานีรถไฟนครราชสีมา ห้าแยกหัวรถไฟ บริเวณนี้แนวเส้นทางแยกเป็น ๒ เส้นทางคือ เส้นทางขาไปตามถนนโพธิ์กลาง จนถึงบริเวณหน้าอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี จากนั้นเลี้ยวซ้ายไปตามถนนราชดําเนินฝั่งคูเมือง แล้วเลี้ยวขวาไปตามทางหลวงหมายเลข ๒๒๔ ผ่านโรงเรียนเมืองนครราชสีมา วิทยาลัยอาชีวศึกษานครราชสีมา โรงเรียนอนุบาลนครราชสีมา โรงเรียนสุรนารีวิทยา และวัดสามัคคี แล้วเลี้ยวซ้ายบริเวณแยกสุรนารายณ์ (ทางหลวงหมายเลข ๒๒๔ ตัดกับถนนสุรนารายณ์) มุ่งหน้าไปตามถนนสุรนารายณ์ ผ่าน มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ไปสิ้นสุดที่บริเวณสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์ ส่วนเส้นทางขากลับ มาตามเส้นทางเดิมแต่ช่วงอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี จะวิ่งตามถนนชุมพล ถนนจอมสุรางค์ยาตร์

รูปแบบสถานี

ในแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเขียว จะมีจุดซ่อมบำรุงอยู่ที่สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์ โดยตลอดเส้นทางจะมี ๒๑ สถานี อยู่บนทางหลวง ๙ สถานี เขตเมือง ๑๒ สถานี รูปแบบสถานีมี ๒ รูปแบบ คือ ๑.ชานชาลากลาง (Central Platform) บนถนนทางหลวง (ทล.๒ ทล.๒๒๔ ทล.๒๐๕) เป็นรูปแบบที่ชานชาลาใช้ร่วมกัน มีสะพานข้ามถนน ผู้โดยสารสามารถเลือกเดินทาง ๒ ทิศทาง ขนาบข้างด้วยทางวิ่งรถไฟฟ้าด้านนอกทั้ง ๒ ข้าง นอกจากนี้ชานชาลากลาง ยังมีอยู่บนถนนเขตเมือง คือที่ถนนสืบศิริและถนนมุขมนตรี และ ๒.ชานชาลาข้าง (Side Platform) เป็นรูปแบบชานชาลาแยกกันตามแต่ละทิศทางการเดินรถ คั่นกลางด้วยทางวิ่งรถไฟฟ้า โดยมีสถานีชานชาลาข้างที่ออกแบบคล้ายประตูเมืองอยู่ที่ถนนราชดำเนิน ๑ สถานี และถนนชุมพล ๒ สถานี 

รูปแบบขบวนรถที่จะนำมาพิจารณามีอยู่ ๒ แบบคือ เป็นรถไฟฟ้ารางเบาแบบล้อเหล็ก และรถไฟฟ้ารางเบาแบบล้อยาง โดยจะมีระบบควบคุมความปลอดภัยในการเดินรถทั้งหมด ๔ แบบ คือ ๑.ศูนย์ควบคุมส่วนกลาง ๒.ระบบควบคุมสัญญาณไฟที่ให้ความสำคัญกับระบบขนส่งสาธารณะ ๓.ระบบการบันทึกภาพเคลื่อนไหวด้วยกล้องวงจรปิด และ ๔.ระบบเครื่องกั้นแบบอัตโนมัติ สำหรับน้ำหนักของรถรางที่จะวิ่งบนถนน ที่มีการนำสายไฟฟ้าลงดินนั้น ที่ปรึกษาโครงการได้คำนวณแล้วว่า น้ำหนักของรถรางเบากว่ารถบรรทุก ซึ่งถนนที่ออกแบบมาให้รับน้ำหนักรถบรรทุกได้ ก็สามารถรับน้ำหนักรถรางได้เช่นกัน

รัฐเตรียมลงทุนร่วมเอกชน

ในเรื่องของการลงทุน โครงการนี้มีการลงทุนทั้งหมด ๗,๕๑๐ ล้านบาท แบ่งเป็นค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและชดเชยทรัพย์สิน ๑,๑๓๕ ล้านบาท ค่าก่อสร้างงานโยธา ๒,๔๐๙ ล้านบาท ค่างานระบบรถไฟฟ้า ๒,๕๒๓ ล้านบาท ค่าจัดหาขบวนรถไฟฟ้า ๙๘๒ ล้านบาท ค่าที่ปรึกษาบริหารและควบคุมงานก่อสร้าง ๑๙๑ ล้านบาท ค่าเผื่อเหลือเผื่อขาด ๒๖๗ ล้านบาท ส่วนรูปแบบการลงทุน ที่ปรึกษาโครงการได้ศึกษาในกรณีที่รัฐลงทุนเองและเอกชนร่วมลงทุน ซึ่งในการที่เอกชนร่วมลงทุนนั้น มีอยู่ ๓ รูปแบบ คือ ๑.PPP Net Cost ผลประโยชน์รายได้จากการดำเนินงาน ภาครัฐจะได้ค่าสัมปทานและส่วนแบ่งรายได้ กรณีมีกำไร ภาคเอกชนจะได้รายได้จากการดำเนินงาน และค่าชดเชยกรณีขาดทุน ซึ่งภาระค่าใช้จ่ายนั้น ภาครัฐจะเสียค่ากำกับดูแล ส่วนภาคเอกชนจะเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ๒.PPP Gross Cost ผลประโยชน์รายได้จากการดำเนินงาน ภาครัฐจะได้รายได้จากการดำเนินงาน เอกชนจะได้ค่าจ้างเดินรถและค่าดำเนินงาน ส่วนภาระค่าใช้จ่าย ภาครัฐจะเสียค่ากำกับดูแลมากกว่าแบบแรก เอกชนจะเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ๓.PPP Modified Gross Cost ผลประโยชน์จากรายได้การดำเนินงาน ภาครัฐจะได้รายได้จากการดำเนินงาน เอกชนจะได้ค่าจ้างเดินรถ ค่าดำเนินงาน และส่วนแบ่งรายได้กรณีมีกำไร ส่วนภาระค่าใช้จ่าย ภาครัฐจะเสียค่ากำกับดูแลมากกว่าแบบแรก เอกชนจะเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน

ทั้งนี้ แผนการดำเนินงานโครงการ มีดังนี้ ครม.อนุมัติให้ก่อสร้างในเดือนมกราคม ๒๕๖๔ จะพิจารณากำหนดรูปแบบการลงทุนระบบรถไฟฟ้าและงานระบบเดินรถ เดือนมิถุนายน ๒๕๖๓-มกราคม ๒๕๖๔, สำรวจและจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๔-ธันวาคม ๒๕๖๗, เริ่มงานก่อสร้างเดือนเมษายน ๒๕๖๕, คัดเลือกเอกชน PPP เดือนมีนาคม ๒๕๖๔-มีนาคม ๒๕๖๕ และคาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๘

ปชช.เสนอความคิดเห็น

จากนั้นที่ประชุมเปิดให้ประชาชนร่วมแสดงความคิดเห็นและเสนอแนะ โดยนายจักริน เชิดฉาย ประธานกลุ่มโคราชเพื่อโคราช กล่าวว่า “ต้องขอบคุณที่ทำตามข้อเสนอของผมเมื่อครั้งก่อนที่ว่า ในการเดินรถขากลับให้เลี่ยงไปใช้เส้นทางถนนจอมสุรางค์ยาตร์ เพื่อเลี่ยงปัญหารถติด แต่ผมยังมีข้อกังวลอยู่ ๒ ประเด็น คือ ๑.หากเกิดน้ำท่วมขังบริเวณแยกไอทีพลาซ่า และ ๒.หากบริเวณหน้าย่าโมมีการจัดกิจกรรม ทั้ง ๒ ข้อกังวลจะแก้อย่างไร”

ด้านนายอรชัย ปุณณะนิธิ อดีตประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา เสนอว่า จุดเริ่มของโครงการน่าจะขยายออกไปถึงโรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย ส่วนปลายทางก็ขยายออกไปถึงจอหอ

นายรัฐกิตติ์ วัชรไพศาลสิน (ชื่อเดิม นายเรืองชัย รังสิโรจน์) อ้างเป็นอนุกรรมการผู้แทนภาคประชาชน กล่าวว่า “มีความกังวลเรื่องความลึกของล้อเหล็กของรถไฟฟ้ารางเบา คำถามก็คือ รางทั่วๆ ไปที่จะฝังลงไปราวๆ ๕๐ ซม. ถ้าทำแล้วจะมีปัญหาเรื่องสายไฟฟ้าลงดินหรือไม่ อีกส่วนหนึ่งคือโคราชมีการวางท่อประปาใหม่ และผมเคยเสนอความเห็นว่า เราควรจะขยายปลายทางออกไปจากบ้านนารีสวัสดิ์ เพราะปลายทางไม่ควรไปอยู่ที่บ้านนารีสวัสดิ์ตั้งแต่แรก หากเราขยายไปที่จอหอเชื่อว่าจะทำให้มีผู้โดยสารมากขึ้น”

โดยผู้แทนจากบริษัทที่ปรึกษาระบบการเดินรถ ตอบข้อซักถามว่า กรณีที่มีงานบวงสรวงย่าโม ยังคงเดินรถปกติจากสถานีเซฟวันถึงสถานีบริเวณลานย่าโม และด้านขวาจากสถานีบ้านนารีสวัสดิ์มาก่อนถึงบริเวณลานย่าโม ยังคงเดินรถปกติ นอกจากนี้การขยายเส้นทางไปถึงจอหอ ในแผนของ รฟม.จะมีเส้นทางที่ต่อขยายไปถึงจอหออยู่แล้ว ฉะนั้น เส้นทางที่เราศึกษาจะจบที่บ้านนารีสวัสดิ์ก่อน จากนั้นจะศึกษาต่อขยายไปถึงจอหอ

เสนอตั้งบริษัทศึกษาโครงการ

นายสมชัย ฉัตรพัฒนศิริ อดีต ส.ส. กล่าวว่า จากการประชุมครั้งนี้ มีความประสงค์ให้ภาคธุรกิจร่วมลงทุน สัดส่วนเท่าไหร่ คุ้มหรือไม่อย่างไร ซึ่งต้องเสนอรัฐบาล เพื่อกำหนดว่าจะแบ่งสัดส่วนกันอย่างไร จึงมองว่า การเกิดของบริษัทภาคเอกชน หากต้องการให้มีความแข็งแรง และติดตามงานนี้ไปได้อย่างใกล้ชิด สามารถขออนุญาตตั้งบริษัทก่อนได้หรือไม่ เนื่องจากเรามีโครงการร่วมกัน ก็ต้องมีบริษัทบุกเบิกเบื้องต้น หากจะมีบริษัทคู่แข่งเกิดในอนาคตก็ไม่เป็นอะไร แต่ผลดีของการเกิดบริษัทเริ่มต้น จะทำให้ระดมวิศวกร ผู้มีความรู้ต่างๆ มาช่วยกันคิด ซึ่งในประเด็นนี้ผู้แทนจาก สนข. กล่าวว่า เรื่องการร่วมลงทุน ที่ผ่านมา รฟม.เปิดโอกาสให้เอกชนที่มีศักยภาพ หากมีบริษัทของจังหวัดนครราชสีมา หรือนักลงทุนในจังหวัดยื่นขอเสนอเพื่อร่วมลงทุน ก็สามารถทำได้

ด้านนายสุรวุฒิ เชิดชัย นายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา กล่าวว่า ผู้ที่จะมาลงทุนจะต้องให้ความสนใจเรื่องการทดลองเดินรถว่า จะได้ผู้โดยสาร หรือมีเม็ดเงินเท่าไหร่ ซึ่งตนเคยเสนอหลายครั้งแล้วว่า น่าจะทดลองเดินรถ เพื่อให้เห็นผลที่ชัดเจน เมื่อได้ผลตามที่ทดลองจริง ผู้ที่สนใจร่วมลงทุนก็สามารถตอบโจทย์ได้ อีกทั้งการทดลองเดินใช้เงินเพียงไม่กี่บาท รวมถึงรถไฟทางคู่มีการปรับแบบแล้ว เส้นทางที่วิ่งร่วมกับแทรมมีการปรับด้วยหรือไม่ ซึ่งประเด็นนี้ผู้แทนบริษัทที่ปรึกษา ชี้แจงว่า แนวเส้นทางที่ผ่านสะพานสีมาธานี โครงการ LRT จะวิ่งในระดับพื้นดิน ภายใต้โครงสร้างของรถไฟทางคู่ของ รฟท.

สุรวุฒิ’เสนอเรื่องเดิมๆ

นายสุรวุฒิ กล่าวอีกว่า เรื่องอุบัติเหตุ ปัญหาในเส้นถนนมุขมนตรีพบปัญหา เป็นรางร่วม ซึ่งถนนค่อนข้างแคบ เมื่อเกิดปัญหาจะทำให้ไป-กลับไม่ได้ทั้งระบบ จึงเสนอว่า หากต้องหาเอกชนมาร่วมลงทุน ถนนเส้นมิตรภาพจะเป็นเส้นหลักที่ใช้งานจริง อีกทั้งยังตอบโจทย์ได้ครบ เช่น ใช้เกาะกลางถนนทำสถานี 

“ปัจจุบันมีเรื่องของ พ.ร.บ.กรมราง จะทำอะไรก็ต้องสร้างรางใหม่ ซึ่งกรมรางก็บอกอยู่แล้วว่า สามารถแชร์รางได้ หากทำได้ก็ไม่ต้องลงทุน สามารถใช้รางรถไฟทางคู่ไป-กลับ โดยที่ไม่ต้องลงทุนเลย อีกทั้งเรามีกฎเกณฑ์หรือกฎหมายใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น ที่ทำให้สามารถคิดเรื่องอื่นได้มากขึ้น และถนนมิตรภาพ ผ่านหลายโรงเรียน และห้างสรรพสินค้า โรงพยาบาลหลักๆ ซึ่งจะอยู่เส้นนี้ทั้งหมด”

นายรัฐกิตติ์ กล่าวเสริมมาว่า เห็นด้วยกับความคิดของนายสุรวุฒิ เนื่องจากคนโคราชส่วนใหญ่จะเดือดร้อน และพบปัญหาคือเส้นถนนมิตรภาพ หากปรับได้ไม่ต้องไปยุ่งที่อื่น เมื่อแก้ปัญหาตรงนี้ได้เชื่อว่า เอกชนเข้าร่วมแน่นอน เนื่องจากประชาชนที่จะใช้บริการจะเพิ่มขึ้น

โคราชไม่เดินหน้าเพราะใคร?

นายจักริน กล่าวว่า “ในการประชุมถ้าเสนอให้ย้อนกลับไปเรื่องเดิมๆ ทุกครั้ง ผมว่าโคราชไม่ไปไหน เหมือนเราต่อสู้เรื่องรถไฟทางคู่กรณีทุบ ไม่ทุบสะพานสีมาธานี ก็มีคนบอกว่าผมทำให้ช้าลงเฉยๆ ซึ่งผมไม่เคยคิดแบบนั้น วันนี้ก็เช่นเดียวกัน เรามีอยู่ ๓ สาย ผ่านการประชาพิจารณ์เป็นขั้นตอน แต่มีคนจะดึงว่า เอาใหม่ หากมีใครมาเสนอแบบนี้อีกในครั้งต่อๆ ไป ก็ไม่จบ นี่คือตัวอย่างของการดึง และไม่มีการพัฒนา หากต่อไปมีคนมาเสนอแบบนี้อีก โคราชจะเดินไปข้างหน้าอย่างไร หากยังดึงเกมแบบนี้ ปี ๖๘ ก็ยังไม่ได้ใช้ เพราะโคราชมีความขัดแย้งกันตลอด”

นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า เรื่องการเลือกเส้นทาง มาจากการศึกษา ซึ่ง สนข.เลือกแล้วว่า ควรจะเริ่มเส้นไหนก่อน ปัญหาที่เราเคยพูดกันว่า ทำไมไม่วิ่งไปอีกเส้น แต่ด้วยเหตุผลหลายๆ อย่าง โดยเฉพาะ เรื่องการเชื่อมต่อรถไฟความเร็วสูงที่มาสถานีนครราชสีมาในอนาคต จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่เลือกเส้นนี้ก่อน

หาทางออกร่วมกัน

นายสมชัย กล่าวว่า “ทำไมเราไม่ตั้งบริษัทธุรกิจ เพื่อเจรจาพูดคุยกันให้เกิดกระบวนการแลกเปลี่ยนข้อมูล เพราะวันนี้ยังไงก็ต้องการให้ผ่านภาคประชาชนก่อน และต้องทำให้เกิดให้ได้ ซึ่งขณะนี้เป็นเวลาที่ต้องมาติดตาม และควรเสนออะไรเพิ่ม แต่ต้องผ่านวันนี้ไปก่อน ซึ่งก็เป็นขั้นตอนปกติของเมืองใหญ่ มีเจ้าของเมืองค่อนข้างเยอะ หลายคนที่มีแนวคิดดีๆ ซึ่งมีการสอบถามเรื่องการตั้งบริษัท เพื่อประชุมติดตาม เพื่อแลกเปลี่ยน เหมือนเป็นการทำแทนหน่วยงานราชการ ซึ่งก็ค่อนข้างมีงานเยอะอยู่แล้ว หากมีข้อสงสัย ก็เชิญ ผู้ว่าฯ เชิญนายกฯ มาร่วมพูดคุยกัน”

นายวิเชียร กล่าวเสริมว่า ยินดีที่จะมีการจัดตั้งบริษัทจากภาคเอกชน เพื่อมาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็น ถือว่าจะช่วยทางราชการทำงานอีกทางหนึ่ง เนื่องจากความรู้ด้านเหล่านี้ ทางหน่วยงานราชการอาจจะมีจำกัด 

อย่างไรก็ตาม ภายหลังการเสนอความคิดเห็น และมีผู้ค้านข้อคิดเห็นในบางประเด็น ทำให้นายสุรวุฒิ เดินออกจากที่ประชุมทันที ทั้งนี้ นายวิเชียร สอบถามเพิ่มเติมถึงสถานภาพของโครงการของจังหวัดนครราชสีมา เมื่อเปรียบเทียบกับจังหวัดอื่นๆ เช่น ภูเก็ต เชียงใหม่

โดย ผู้แทนจาก รฟม. กล่าวว่า “เมื่อเทียบกับจังหวัดอื่นๆ ขณะนี้ รฟม.ได้รับมอบหมายให้ทำโครงการรถไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ๓ จังหวัด คือ ภูเก็ต เชียงใหม่ และนครราชสีมา ความก้าวหน้าของงานตอนนี้ภูเก็ตมีความก้าวหน้ามากที่สุด มีการศึกษา ออกแบบ จัดทำรายงานร่วมทุนเอกชนครบถ้วนแล้ว ซึ่งอยู่ระหว่างการนำเสนอ ที่เชียงใหม่ รฟม.ว่าจ้างที่ปรึกษาในเวลาใกล้เคียงกับโคราช แต่ปัจจุบันเชียงใหม่จัดการมีส่วนร่วมของประชาชนจบแล้วทั้ง ๒ ครั้ง ซึ่งมีความก้าวหน้าเป็นลำดับที่ ๒ และกำลังรวบรวมในขั้นตอนสุดท้าย เพื่อเสนอหน่วยเหนือต่อไป สำหรับโคราช ยังติดปัญหาที่เราจัดการประชุมการมีส่วนร่วมของประชาชนในครั้งที่ ๒ ไม่ได้ จึงขยายเวลา และทำล่าช้าออกไปจากโครงการอื่นประมาณ ๔ เดือน”

ทางลอดสีมาธานี

ต่อมา เป็นการประชุมในประเด็นการออกแบบก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดรถไฟทางคู่บริเวณสะพานสีมาธานี โดย ผู้แทนจาก รฟท. กล่าวว่า การออกแบบทางลอดใต้สะพานสีมาธานี ขณะนี้ออกแบบเสร็จสิ้นแล้ว หากมาจากสามแยกปักธงชัย ยังคงสภาพถนนเส้นหลักไว้คือฝั่งละ ๓ ช่องจราจร และทางคู่ขนานอีกฝั่งละ ๒ ช่องจราจร เมื่อถึงทางเข้าอุโมงค์ ตัวอุโมงค์จะมีทางเข้าฝั่งละ ๓ ช่องจราจร และก่อนเข้าภายในตัวอุโมงค์ พื้นถนนจะมีเนินสำหรับป้องกันน้ำท่วม ส่วนบริเวณข้างบนอุโมงค์ออกแบบให้เป็นวงเวียน จากการคาดการณ์การจราจรในอนาคตที่จะเกิดขึ้น เดิมทีจะออกแบบช่องจราจรในวงเวียนไว้เพียง ๑ ช่องจราจร แต่เมื่อศึกษาปริมาณรถแล้ว จึงต้องขยายเป็น ๒ ช่องจราจร โดยขนาดของวงเวียน ซึ่งเป็นรูปวงรี มีรัศมี ๕๐x๘๐ เมตร นอกจากนี้ยังมีการศึกษาว่า อาจจะลดช่องจราจรบนถนนสืบศิริให้เหลือ ๑ ช่องจราจร แต่ติดปัญหาว่า รถไฟฟ้ารางเบาที่จะวิ่งผ่าน จะสามารถวิ่งได้หรือไม่

การจัดการจราจรขณะก่อสร้าง

นายพรชัย ศิลารมย์ ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงนครราชสีมาที่ ๒ กล่าวเสริมจากที่ปรึกษาโครงการนำเสนอไปว่า หลังจากการประชุมคราวที่แล้ว มติที่ประชุมยอมรับจะใช้อุโมงค์ทางลอดแยกสีมาธานีโดยมีการทุบสะพาน จากนั้นที่ปรึกษาฯ ได้ไปทำการบ้านและมาปรึกษากรมทางหลวง ในประเด็นการปรึกษาคือ รูปแบบของโครงสร้าง และวิธีการก่อสร้าง ซึ่งสิ่งที่นำเสนอในวันนี้คือรูปแบบที่แล้วเสร็จ ทุกคนจะได้เห็นตัวโครงสร้าง ขนาดความกว้าง ความยาวของตัวอุโมงค์ จากที่ปรึกษาฯ ได้นำเสนอเรื่องการยกพื้นผิวถนนขึ้นเพื่อป้องกันน้ำท่วม และที่ปรึกษาฯ พิจารณาแล้วว่า จะสูบน้ำออกอย่างไร ซึ่งปัญหาการจัดการจราจรอย่างที่หลายคนสงสัยว่าจะจัดการอย่างไร ต้องบอกว่า การจัดการจราจรนั้น อาจจะขึ้นอยู่กับผู้รับจ้าง เพราะผู้รับจ้างแต่ละราย เขาจะมีวิธีการที่แตกต่างกันไป ซึ่งในขณะก่อสร้างจะต้องทำควบคู่กันไปกับการย้ายรถไฟทางคู่ด้วย ดังนั้นหากโครงการได้ผู้รับจ้าง ถึงตอนนั้นจึงจะต้องนำแบบการจัดการขณะก่อสร้างมานำเสนอ และเรื่องการก่อสร้างที่จะใช้เวลาถึง ๓ ปี แต่เมื่อตัวดีเทลดีไซด์แล้วเสร็จ และนำไปผนวกกับตัวรถไฟทางคู่ เราก็จะได้เห็นเวลาทำการของทั้งสัญญา และในส่วนการทุบรื้อถนน คงจะเป็นหลังจากที่เราได้ผู้รับจ้าง ดังนั้นในวันนี้เราจึงจะยังไม่ได้เห็นรูปแบบการจัดการจราจร และขั้นตอนการทุบรื้อต่างๆ

ทางเข้า-ออกอุโมงค์

นายรัฐกิตติ์ กล่าวว่า “ผมถามการรถไฟฯ ไปก็ยังไม่ได้คำตอบ ๑.ช่วงที่เป็นช่วงลอด เรามุดใต้สะพานสีมาธานีมาแล้ว จะไปโผล่ตรงไหน หากดูตามแบบจะเห็นว่า เลยปั๊มเชลล์มาแล้ว ตรงนั้นจะใกล้กับ ๔ แยกหรือไม่ ๒.จากการประชุมครั้งที่แล้ว เรายังไม่มีความชัดเจนของรถไฟความเร็วสูง ที่ปรึกษาจึงตอบไม่ได้ว่า สถานีรถไฟเดิมที่ขยับออกมา ๑๖๐ เมตร ทางรถไฟจะยกระดับอย่างไร และยาวมาถึงจวนผู้ว่าฯ ตรงนั้นจะยกระดับอย่างไร เพราะผมเป็นห่วงว่า บริเวณนั้นน้ำจะท่วม
ด้านบริษัทที่ปรึกษาตอบว่า จุดขึ้นและจุดลงของอุโมงค์จะอยู่ห่างจากตัวอุโมงค์ประมาณ ๓๕๐ เมตร ซึ่งทั้ง ๒ จุดจะอยู่ใกล้เคียงกันกับทางขึ้นลงของสะพานสีมาธานีในขณะนี้ หากมาจากทางขาเข้าเมืองจุดเริ่มต้นจะอยู่บริเวณหน้าอู่เชิดชัยพอดี ส่วนปลายอุโมงค์จะเลยถนนมุขมนตรีออกมา ๑๐๐ เมตร

อยากเห็นรูปแบบทั้งโครงการ

นายอรชัย กล่าวว่า ประเด็นที่ ๑ เมื่อเราได้ตัวผู้รับจ้างมาแล้ว ผมอยากให้สร้างถนน ๓ ช่องจราจรขึ้นมาก่อน เนื่องจากในขณะก่อสร้างปริมาณรถจะติดขัดมาก หากทำตรงนี้ได้ก็จะช่วยให้คนโคราชสามารถเข้าออกเมืองได้สะดวกขึ้น ประเด็นที่ ๒ ในขณะที่กำลังก่อสร้างอุโมงค์ รถไฟก็ยังต้องวิ่งอยู่ ปัญหานี้จะมีวิธีแก้อย่างไร และประเด็นที่ ๓ เมื่อสร้างทางรถไฟยกระดับแล้วไปลงหลังจากเลยโรงแรมปัญจดารา ตรงนั้นจะเป็นอย่างไร อยากให้ทำรูปแบบตลอดการผ่านเมืองของรถไฟทางคู่มานำเสนอ ทุกคนจะได้เห็นภาพชัดๆ ว่า รถไฟทางคู่ผ่านเมืองโคราชนั้นเป็นอย่างไร

นายจักริน เชิดฉาย กล่าวว่า จากการฟังข้อเสนอของนายอรชัย ผมเห็นว่า ที่ปรึกษาน่าจะทำเป็นภาพเคลื่อนไหวมานำเสนอ โดยอธิบายอย่างช้าๆ และในการทุบสะพานสีมาธานีและการก่อสร้างอุโมงค์ทางลอด จะมีการเริ่มทุบเมื่อไหร่และจะใช้เวลาในการก่อสร้างนานเพียงใด เพราะในการประชุมครั้งก่อน เวลาก็ผ่านมาเกือบปีแล้ว ซึ่งตอนนั้นบอกว่า จะใช้เวลาก่อสร้างนาน ๓ ปี ขณะนี้ยังใช้เวลา ๓ ปีเหมือนเดิมอยู่หรือไม่

ผู้แทนบริษัทที่ปรึกษา กล่าวว่า ระยะเวลายัง ๓ ปีเหมือนเดิม ขณะนี้กำลังส่งเรื่องเข้าสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เพื่อขออนุญาตศึกษา EIA ส่วนการนำเรื่องเข้า ครม. การรถไฟจะต้องขออนุมัติงบอีกครั้ง เนื่องจากปัจจุบันค่าก่อสร้างต่างๆ เพิ่มขึ้น โดยการรถไฟฯ ประมาณการว่า ที่ปรึกษาจะต้องทำทุกอย่างให้แล้วเสร็จเพื่อเริ่มดำเนินการก่อสร้างภายในเดือนธันวาคมนี้

เสนอสมาร์ทบัสแก้ขัดไปก่อน

นายจักริน กล่าวท้ายสุดว่า เรื่องเหล่านี้คนโคราชมีการพูดคุยกันมากว่า ๒ ปี แล้ว ก่อนที่เราจะมีระบบขนส่งที่ทันสมัย ผมคิดว่า หากเรามีการพัฒนาเรื่องสมาร์ทบัสขึ้นมาทดแทนก่อนในขณะนี้ มาเสริมศักยภาพพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนก่อนได้หรือไม่ผมทราบมาว่า ปัญหาที่ทำเรื่องนี้ไม่ได้ ติดขัดอยู่ที่ขนส่งจังหวัด เรามีศักยภาพในการลงทุนสมาร์ทบัสโดยภาคเอกชน แต่ติดขัดเรื่องใบอนุญาต

นายวิเชียร กล่าวว่า เรื่องนี้เราจะต้องมาคุยกันหาทางออกร่วมกัน ซึ่งผมเห็นด้วยว่าน่าจะทำได้ ส่วนเรื่องใบอนุญาตต่างๆ จะต้องนัดมาคุยกันระหว่างขนส่งและผู้ประกอบการเดิม เรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก อาจจะตั้งขึ้นเป็นวาระจังหวัดก็ได้ ในการปฏิรูประบบขนส่งสาธารณะในโคราช

ทั้งนี้ เมื่อปี ๒๕๕๙ รัฐบาลมีมติให้ก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง ๑๓๕ กิโลเมตร รวมทั้งสิ้น ๓ สัญญา ในสัญญาที่ ๒ ช่วงคลองขนานจิตร-ชุมทาง ถนนจิระ (โคราช) ระยะทาง ๖๙ กิโลเมตร  จากนั้นบริษัทที่ปรึกษาได้ปรับรูปแบบการก่อสร้างรถไฟทางคู่ยกระดับผ่านเมืองนครราชสีมา โดยไม่จำเป็นต้องทุบสะพานสีมาธานี ส่งผลให้เกิดการคัดค้านจากประชาชนส่วนหนึ่ง ทำให้การรถไฟแห่งประเทศไทยจำเป็นต้องจัดให้มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นเรื่อยมา เป็นเวลากว่า ๒ ปี กระทั่งเมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๖๒ จังหวัดนครราชสีมาจัดการประชุมพิจารณาเสนอแนะรูปแบบการก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่ มาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ช่วงผ่านเมืองนครราชสีมา บริเวณสะพานข้ามทางรถไฟโรงแรมสีมาธานี โดยที่ประชุมมีมติให้ทุบสะพานสีมาธานี และสร้างทางอุโมงค์ลอดทดแทน

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๒๖๒๘ วันพุธที่ ๒๐ - วันอังคารที่ ๒๖ เดือนพฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๓

 

 


863 1,567