28thMarch

28thMarch

28thMarch

 

June 19,2020

ปิดสถานที่กักตัว‘ปัญจดารา’ ฝ่าวิกฤตโควิด ๗๘ วัน เตรียมเปิดห้องพักรับลูกค้า

โคราชปิดโรงพยาบาลสนาม หลังใช้ ‘โรงแรมปัญจดารา’ ฝ่าวิกฤต   โควิด-๑๙ กว่า ๗๘ วัน เริ่มติดตั้งเครื่องพ่นฆ่าเชื้อโรค เตรียมเปิดให้บริการห้องพักอีกครั้ง “สมชัย ฉัตรพัฒนศิริ” เชื่อโคราชมีระบบสาธารณสุข เข้มแข็ง ด้าน “ผู้ว่าฯ วิเชียร” เผย วิกฤตโควิด-๑๙ ทำให้เห็นความลำบาก พร้อมตั้งเป้ายกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน

 

สืบเนื่องจาก นายสมชัย ฉัตรพัฒนศิริชัย ประธานกรรมการบริหารโรงแรมปัญจดารา เสนอให้โรงแรมปัญจดาราเป็นโรงพยาบาลสนาม เพื่อรองรับผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-๑๙ รวมถึงเปิดให้แพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ และผู้ต้องการกักตัวเอง ๑๔ วัน เข้าพัก โดยคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา เริ่มใช้โรงแรมปัญจดารา เป็นโรงพยาบาลสนาม เมื่อวันที่ ๕ เมษายน ๒๕๖๓ นั้น

ล่าสุดเมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๖๓ เวลา ๑๕.๐๐ น. ที่โรงแรมปัญจดารา นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วย นพ.สุผล ตติยนันทพร รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา นายสมชัย ฉัตรพัฒนศิริชัย ประธานกรรมการบริหารโรงแรมปัญจดารา และหัวหน้าส่วนราชการ ภาคเอกชน มูลนิธิในจังหวัดนครราชสีมา ร่วมแถลงข่าวพิธีปิดโครงการศูนย์พักอาศัยชั่วคราว COVID-19 (Local Quarantine) โดยนางสาวกนกพร รุ่งเรือง ผู้อำนวยการโครงการร้อยล้านดวงใจด้านภัยวิกฤตอากาศ ได้นำเครื่องพ่นฆ่าเชื้อโรคโควิด-๑๙ ในอากาศและบนพื้นผิวสัมผัสด้วยเทคโนโลยี PCL จำนวน ๒๕ เครื่อง มามอบให้กับโรงแรมปัญจดารา เพื่อติดตั้งและสร้างความมั่นใจแก่ผู้เข้าใช้บริการหลังจากเปิดให้บริการตามปกติ

เปิดโรงพยาบาลสนามกว่า ๗๘ วัน

นพ.สุผล ตติยนันทพร รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า หลังจากมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (COVID-19) เป็นโรคติดต่ออันตราย เพื่อให้สามารถใช้ข้อกำหนดตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.๒๕๕๘ ในการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค และสามารถควบคุมโรคได้มีประสิทธิภาพ ลดผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมอำนวยความสะดวกกับเจ้าหน้าที่ในการค้นหาผู้ป่วย สอบสวน และควบคุมโรคได้เร็ว ภายใต้การนำของนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา และผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-๑๙ จังหวัดนครราชสีมา ได้มอบนโยบายให้ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา สถานบริการสาธารณสุขทุกแห่งทั้งภาครัฐ-เอกชน รวมทั้งภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ร่วมมือป้องกันควบคุมโรคโควิด-๑๙ หนึ่งในกิจกรรมที่สำคัญคือ โครงการ Local Quarantine (ศูนย์พักอาศัยชั่วคราว COVID-19) ควบคู่กับการดำเนินงานรักษาพยาบาลดูแลด้านการแพทย์และการสาธารณสุข รวมทั้งการดำเนินการตามมาตรการควบคุมการป้องกันโรคโควิด-๑๙ ตามนโยบายของจังหวัดนครราชสีมา โดยเฉพาะในด้านการดำเนินการกักตัวกลุ่มเสี่ยง และผู้เดินทางจากประเทศกลุ่มเสี่ยงเข้าจังหวัดนครราชสีมา ใน Local Quarantine (ศูนย์พักอาศัยชั่วคราว COVID-19) ซึงเป็นสถานที่กักตัวชั่วคราวของจังหวัดนครราชสีมา เริ่มดำเนินการระหว่างวันที่ ๓๐ มีนาคม ถึง ๑๔ มิถุนายน ปัจจุบันคงเหลือผู้ต้องกักตัวที่บ้าน จำนวนเพียง ๓ คน เป็นเด็กอายุต่ำกว่า ๗ ปี 

“โคราชได้ดำเนินงานรวม ๗๘ วัน แยกผู้กักตัวเพื่อสังเกตอาการ ดังนี้ ๑.ผู้กลับจากต่างประเทศไม่ผ่าน SQ ๒.ผู้กลับจากต่างประเทศไม่ผ่าน HQ ๓.ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ๔.ผู้หายป่วยออกจากโรงพยาบาล ๕.ผู้ป่วยเข้ามาในจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งได้รับความอนุเคราะห์ ความร่วมมืออย่างดียิ่งจากโรงแรมปัญจดารา, โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (โรงพยาบาล มทส.), โรงแรมศรีพัฒนา, ศูนย์ วิจัย มหาวิทยาลัยมหิดล อ.สูงเนิน, โรงพยาบาลในพื้นที่ รวมการกักตัวทั้งสิ้น ๑๗๓ ราย หากโคราชไม่ดำเนินการเช่นนี้ อาจพบผู้ติดเชื้อยืนยันโควิด-๑๙ เกิดขึ้นอีกจำนวนมาก หรือการระบาดในระลอก ๒ และ ๓ ขึ้น ดังนั้นสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา ต้องขอบคุณร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ โรงแรมปัญจดารา ที่ช่วยทำให้ชาวโคราชปลอดภัยจากโรคโควิด-๑๙ นี้” รองนายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา กล่าว

ต้องร่วมมือจึงจะสำเร็จ

นายสมชัย ฉัตรพัฒนศิริ ประธานกรรมการบริหารโรงแรมปัญจดารา กล่าวว่า “ผมตั้งกลุ่มขึ้นมาและศึกษาว่า ในบั้นปลายชีวิตจะเป็นอย่างไร อย่างที่เราเห็นมูลนิธิต่างๆ เขาเสียสละทำงานด้านต่างๆ เช่น การกู้ภัย เนื่องจากโคราชเป็นจังหวัดใหญ่ มีประชากรเกือบ ๓ ล้านคน ดังนั้น งานของมูลนิธิจึงอาจจะครอบคลุมทุกพื้นที่ โดยเฉพาะเวลาเกิดวิกฤตต่างๆ อย่างในขณะนี้คือ วิกฤตไวรัสโควิด-๑๙ ผมและทีมงานจึงได้มีส่วนเข้ามาร่วมเสียสละทำประโยชน์ให้สังคม ซึ่งผู้ว่าฯ ได้เรียกคณะทำงานในองค์กรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหอการค้าจังหวัด อดีตประธานหอการค้า ภาคเอกชน เพื่อหาแนวทางและมอบหมายให้ผมศึกษาว่า สังคมในขณะนี้มีปัญหาอะไร ปรากฏว่า ปัญหาหลักก็คือความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะกฎหมายที่มีในปัจจุบัน อย่างกฎหมายด้านสาธารณสุขที่ไม่สามารถครอบคลุมทั่วประเทศ ผมจึงเรียน ผู้ว่าราชการจังหวัดฯ ว่า เราต้องตั้งคณะทำงานอีกหนึ่งทีม เพื่อให้เข้าถึงชุมชนและสั่งตรงลงไปยังระดับตำบลหรือหมู่บ้าน ในการที่เราทำเช่นนี้ จะเห็นว่าหากไม่มีโควิด-๑๙ ปัญหาต่างๆ ก็จะยังคงอยู่เช่นเดิม”

โคราช’สาธารณสุขเข้มแข็ง

“ประเทศไทยมีโครงการไม่กี่เรื่อง เช่น การเมือง เศรษฐกิจ และสังคม หากเราจับโครงการเหล่านี้มาเชื่อมกัน มีความร่วมมือกับภาครัฐ อย่างช่วงนี้ เมื่อมีโควิด-๑๙ ผมเห็นการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงสาธารณสุข จึงทำให้เราสามารถคลี่คลายวิกฤตได้ การทำงานมีประสิทธิภาพ และในกรณีตู้ปันสุข ต่อไปเราจะต้องทำให้เหลือเพียงตู้เดียว ทำให้เห็นว่า จังหวัดของเรานั้นปลอดภัยแล้ว มีความร่วมมือกัน น้ำใจท่วมท้น มีระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็ง ประกาศตามเพจต่างๆ เราสามารถสื่อสารให้ทั่วโลกรับรู้ว่า โคราชมีความพร้อมในการดูแลคุณภาพชีวิตประชาชน จึงขอฝากประเด็นเหล่านี้ให้ช่วยกัน และขอย้ำว่า โคราชของเราจะเดินหน้าต่อไปได้ ภายใต้หลักสังคมสุขภาวะ ๕ ด้าน คือ ร่างกาย จิตใจ ปัญญา ทรัพย์สิน และสิ่งแวดล้อม สิ่งเหล่านี้คือความหวังใหม่หลังวิกฤตไวรัสโควิด-๑๙” นายสมชัย กล่าว

โควิด-๑๙ ทำให้เห็นสังคม

นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า “ในช่วงวิกฤตการณ์โควิด-๑๙ ผมคิดว่า ปรากฏการณ์หลายเรื่องอาจจะไม่ได้บันทึกไว้ แต่จะอยู่ในความทรงจำของคนโคราช ภาพความร่วมมือของส่วนราชการ ตลอดระยะเวลา ๗๘ วัน ที่พวกเราช่วยกันแก้ปัญหาวิกฤตโควิด-๑๙ ในโคราช ถึงแม้ว่า วันนี้ปัญหายังไม่หายไป แต่เมื่อปัญหานี้จบลง เราจะต้องมีการจัดกิจกรรมขอบคุณคนที่คอยช่วยเหลือพวกเรา ซึ่งในช่วงการแก้ปัญหาไวรัสโควิด-๑๙ เรามีการประชุมทุกวัน โดยไม่มีวันหยุด และส่วนราชการที่มาร่วมประชุม จะไม่ได้รับหนังสือเชิญ ถึงเวลามาประชุมโดยพร้อมเพรียงกัน นี่เป็นเรื่องที่ดีงามที่ต้องการจะเล่าให้ฟัง นอกจากนี้ เรายังเห็นความร่วมมือของประชาชน ทุกคนต่างช่วยกันคนละไม้คนละมือ และที่สำคัญ ในวิกฤตนี้ผมได้เห็นความยากลำบากของประชาชน เมื่อเรามีการประกาศกิจกรรมกิจการตามนโยบายของรัฐบาล จึงทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งมีความลำบากมากขึ้น ไม่มีงานทำ ไม่มีเงิน ผมจึงคิดหาทางช่วยเหลือประชาชน ด้วยการแจกถุงยังชีพ ๑๕๖๗ ผมทราบว่า คนโคราชน่าจะเดือดร้อนในการดำรงชีวิตประจำวันอย่างมาก ทุกคนต้องกินต้องอยู่ มีค่าใช้จ่ายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นค่าไฟฟ้า ค่าน้ำ และค่าเช่าบ้าน จากการที่เราปิดกิจกรรมกิจการ คนเหล่านี้ ๓ วันเขาก็หมดเงินแล้ว ซึ่งในทางราชการเคยให้ข้อจำกัดความว่า คนเหล่านี้คือคนที่มีรายได้ปานกลาง เช่น คนขายก๋วยเตี๋ยว คนขายอาหารตามสั่ง ทำงานสนามกอล์ฟ คนขับรถทัวร์  จึงคิดว่า คนเหล่านี้น่าจะอยู่ได้ในระยะหนึ่ง น่าจะมีเงินเก็บ แต่ความจริงแล้วไม่ใช่อย่างนั้นเลย คนเหล่านี้เขาอยู่ไม่ได้ เพราะเขาต้องมีค่าใช้จ่ายมากมาย คนกลุ่มนี้เขาคือคนยากจน เพียงแต่ก่อนหน้านี้เขามีรายได้เข้ามาทุกวัน ในการพัฒนาบ้านเมือง ประชาชนจะต้องทำงานแล้วมีเงินเก็บ ต่อไปเป้าหมายในการพัฒนาประเทศคือ ยกระดับคุณภาพชีวิตของป ระชาชน เมื่อหยุดงาน ๑ เดือน ต้องอยู่ได้”

ขอบคุณที่เสียสละ

“ในช่วงแรกที่มีการระบาดของไวรัส โควิด-๑๙ คนโคราชมีความตื่นตระหนกอย่างมาก ซึ่งผมคิดว่าประมาณ ๒ เดือนอาจจะมีคนติดเชื้อกว่า ๕๐ คน แต่หากเราคุมเอาไว้ไม่ให้เกิน ๓๐ คน เราก็จะควบคุมสถานการณ์ได้  ซึ่งด้วยความร่วมมือร่วมใจ และการเสียสละของทุกหน่วยงาน ทำให้ผู้ติดเชื้อในโคราชมีเพียง ๑๙ ราย โดยจากข้อมูลที่นายแพทย์สุพลฯ ได้กล่าวสรุปถึงความสำเร็จของความร่วมมือในการต้านภัย COVID-19 นั้น จากสถานการณ์ปัญหา COVID-19 ในโคราช เราได้รับความร่วมมือ สนับสนุนจากทุกภาคส่วน ทั้งราชการ ภาคเอกชน และภาคประชาชน จึงทำให้มาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลกำหนดไว้มีความเข้มแข็งและประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง การที่โรงแรมปัญจดารา โดยนายสมชัย ฉัตรพัฒนศิริ ได้เสนอเสียสละโรงแรมปัญจดาราเป็นศูนย์พักอาศัยชั่วคราว เป็นความร่วมมือและสนับสนุนการแก้ไขปัญหา ที่ไม่ใช่ความรับผิดชอบแต่ภาครัฐ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเท่านั้น แต่เอกชน หรือทุกภาคส่วนต้องเข้ามาช่วยกัน ร่วมกัน ร่วมมือและสนับสนุน จึงจะทำให้ประสบความสำเร็จได้ ศูนย์แห่งนี้เริ่มรับผู้ที่มากักตัวตั้งแต่        วันที่ ๕ เมษายน ๒๕๖๓ ถึงวันนี้ รวมทั้งสิ้น ๗๒ คน ซึ่งได้รับการดูแลตามหลัก มาตรการทางสาธารณสุขมาตลอด และวันนี้เป็นวันปิดศูนย์พักอาศัยชั่วคราวอย่างเป็นทางการ ในนามประธานศูนย์ COVID-19 จังหวัดนครราชสีมา ขอขอบคุณ ประธานกรรมการบริหารโรงแรมปัญจดารา นายสมชัย ฉัตรพัฒนศิริ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พนักงานของโรงแรม และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะได้รับความร่วมมือและให้การสนับสนุนในโอกาสต่อไป” ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวท้ายสุด

 

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๒๖๓๒ วันพุธที่ ๑๗ - วันอังคารที่ ๒๓ เดือนมิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๓

 

 


775 1437