15thJanuary

15thJanuary

15thJanuary

 

June 19,2020

‘โคราช’น้ำท่วมไม่เลิก แก้ปัญหาไม่เบ็ดเสร็จ อ้างเกิดจากเมืองเติบโต

พายุ “นูรี” ถล่มโคราช เกิดน้ำท่วมขังหลายชั่วโมง พ่อเมืองเรียกประชุมด่วน สั่งจัดกำลังรับผิดชอบตามจุด ตั้งศูนย์บัญชาการติดตามฤดูฝน ให้ทุกที่แก้ปัญหาทางไหลของน้ำ ด้าน “สุรวุฒิ เชิดชัย” อ้างน้ำท่วมเกิดจากความเจริญเติบโตของเมือง ทำให้ทิศทางน้ำเปลี่ยนตาม

สืบเนื่องจาก เมื่อช่วงกลางดึกวันที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๖๓ พายุโซนร้อน “นูรี” เคลื่อนผ่านพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ส่งผลให้ฝนตกหนัก เกิดน้ำท่วมขังในเขตเทศบาลนครนครราชสีมาหลายจุด เช่น ตลาดเซฟวัน หน้าวัดใหม่อัมพวัน หน้าจวนผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา สามแยกสถานีขนส่งผู้โดยสารนครราชสีมาแห่งที่ ๑ (บขส.เก่า) ไนท์บาซาร์วัดบูรพ์ และสามแยกไอทีพลาซ่า 

จากนั้น วันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๖๓ เวลา ๑๑.๐๐ น. ที่สวนน้ำบุ่งตาหลั่วเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ ๙ นครราชสีมา ซึ่งเป็นโครงการแก้มลิงกองทัพภาคที่ ๒ ค่ายสุรนารี นายสุรวุฒิ เชิดชัย นายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ส่วนสุขาภิบาลสำนักการช่างเทศบาลนครนครราชสีมา พร่องน้ำดิบออกจากพื้นที่กักเก็บน้ำ เพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นจากพายุโซนร้อน “นูรี” โดยมีนายชยุธพงศ์ อำรุงสุข ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำตะคอง สำนักงานชลประทานที่ ๘ นครราชสีมา (ชป.๘) ร่วมติดตามการทำงาน

นายสุรวุฒิ เชิดชัย เปิดเผยว่า “ขณะนี้สภาพภูมิประเทศได้เปลี่ยนแปลงไปตามความเจริญเติบโตของชุมชนเมืองขนาดใหญ่ ทำให้ทิศทางน้ำเปลี่ยนตามไปด้วย เมื่อเกิดฝนตกหนักก็ทำให้มีน้ำท่วมขัง แม้สถานการณ์จะคลี่คลายได้ค่อนข้างเร็ว แต่เทศบาลฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจ พยายามหาแนวทางแก้ไขปัญหาตลอด เบื้องต้นได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพื่อระบายน้ำจากถนนราชดำเนิน บริเวณหน้าทางเข้าค่ายสุรนารี และถนนสุรนารี ช่วงหน้าทางเข้าสถานีขนส่งผู้โดยสารนครราชสีมาแห่งที่ ๑ เพื่อให้น้ำฝนไหลลงลำตะคองด้านประตูอัษฎางค์โดยเร็วที่สุด นอกจากนี้ ยังระบายน้ำส่วนหนึ่งออกจากสวนน้ำบุ่งตาหลั่ว เพื่อเพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำด้วย”

“สาเหตุหลักของน้ำท่วมเกิดจากมวลน้ำฝนที่ระบายมาจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทางด้านทิศใต้และตะวันตก ซึ่งมีระดับพื้นที่สูงหลายสิบเมตร รวมกับฝนที่ตกในพื้นที่ ทำให้ น้ำฝนเอ่อล้นจากท่อระบายน้ำ ไหลท่วมตามถนนและบ้านเรือนราษฎรที่ตั้งอยู่ตามแนวเส้นทางระบายน้ำลงลำตะคองและบริเวณพื้นที่ต่ำกว่า สร้างปัญหาในการดำรงชีพของประชาชนอย่างมาก” นายกเทศมนตรีนครฯ กล่าว

นายชยุธพงศ์ อำรุงสุข กล่าวว่า สถานการณ์น้ำในเขื่อนลำตะคองขณะนี้ มีปริมาณน้ำดิบ ๘๙ ล้าน ลบ.ม. หรือ ๒๘.๔๖% ของพื้นที่เก็บกัก ๓๑๔ ล้าน ลบ.ม. การบริหารจัดการได้สงวนน้ำไว้อุปโภคบริโภคและน้ำที่ใช้หล่อเลี้ยงระบบนิเวศเอาไว้ โดยให้การประปาท้องถิ่นใช้น้ำฝนที่ตกท้ายเขื่อนเพื่อกักเก็บน้ำให้มากที่สุด ส่วนสาเหตุของน้ำท่วมในเขตเมืองเกิดจากฝนตกหนัก โดยมีสิ่งกีดขวางรวมทั้งการระบายน้ำที่ไม่สามารถรองรับปริมาณน้ำฝนได้ทันท่วงที จึงเกิดลักษณะน้ำไหลหลากเอ่อท่วม ซึ่งในเส้นทางลำตะคองช่วงไหลผ่านเขตเมืองนครราชสีมา เหลือพื้นที่ในคลองสาธารณะรองรับน้ำได้อีกค่อนข้างมาก จึงไม่น่าเป็นห่วงแต่อย่างใด ขณะนี้ชป.๘ ได้พร่องน้ำที่ประตูระบายน้ำมะขามเฒ่า ต.บ้านใหม่ ประตูระบายน้ำคนชุม ต.ปรุใหญ่ และประตูระบายน้ำข่อยงาม อ.เมือง เพื่อเตรียมรับน้ำฝนที่ตกซ้ำมา

ต่อมา เวลา ๑๓.๐๐ น. ที่หอประชุมเปรมติณสูลานนท์ ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วยนายสุรวุฒิ เชิดชัย นายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา นายฉัตรณรงค์ ศิริพร ณ ราชสีมา หัวหน้าสำนักงาน ปภ.จังหวัดนครราชสีมา เจ้าหน้าที่ทหารกองทัพภาคที่ ๒ ค่ายสุรนารี ตำรวจภูธรจังหวัดนครราชสีมา สำนักงานชลประทานที่ ๘ นครราชสีมา และผู้อำนวยการแขวงทางหลวงนครราชสีมาที่ ๒ นครราชสีมา ร่วมประชุมป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมชุมชนจังหวัดนครราชสีมา ครั้งที่ ๑/๒๕๖๓ ซึ่งมีระเบียบวาระสรุปข้อมูลพื้นที่น้ำท่วมและความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาทั้งระบบ

นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า “ผลกระทบของพายุโซนร้อน “นูรี” ที่เคลื่อนผ่านโคราช ทำให้เกิดฝนตกหนักเมื่อช่วงกลางดึกของวันที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๖๓ โดยวัดปริมาณน้ำฝนได้ ๑๒๐ มิลลิเมตร ส่งผลให้น้ำท่วมขังในตัวเมืองหลายจุด สร้างปัญหาความเดือดร้อน ในพื้นที่ต่างๆ ได้แก่ ๑.ถนนราชดำเนิน ช่วงหน้าจวนผู้ว่าฯ ระดับน้ำสูง ๗๐-๘๐ เซนติเมตร น้ำรอการระบายใช้เวลา ๒ ชั่วโมง ๒.ทางแยกไอที ๓.ตลาดนัดเซฟวัน ๔.วัดบูรพ์ ๕.หมู่บ้านเทคโนวิลเลจ ระดับน้ำเฉลี่ย ๓๐-๔๐ ซม. หลังจากนี้ต้องมีหัวหน้าส่วนและผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับผิดชอบชัดเจน หากมีฝนตกหนักและมีน้ำท่วม ผู้รับผิดชอบต้องลงพื้นที่กำกับดูแลแก้ไขปัญหาทันที เบื้องต้นได้สั่งการให้พร่องน้ำออกจากบุ่งตาหลั่ว พื้นที่แก้มลิงก่อนน้ำไหลผ่านเมือง ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มและจัดกำลังเจ้าหน้าที่ประจำจุดระบายน้ำหลัก ซึ่งมีปัญหาเศษขยะและวัชพืชติดคา ทำให้น้ำไหลไม่สะดวก”

“พายุโซนร้อนนูรี ถือเป็นฝนแรกของปี ๒๕๖๓ ที่มีน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำ ฝากถึงการประปาท้องถิ่นและพี่น้องเกษตรกรให้รีบสูบน้ำเข้าไปเก็บในสระของตัวเอง ส่วนการเพาะปลูกให้สอบถามเกษตรอำเภอ ซึ่งเกรงว่า หลังจากนี้ฝนอาจทิ้งช่วง เนื่องจากส่วนใหญ่สภาพอากาศของจังหวัดนครราชสีมา มักจะมีฝนตกในช่วงเดือนสิงหาคม” ผวจ.นครราชสีมา กล่าว

ล่าสุด เมื่อวันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๖๓ เวลา ๐๙.๐๐ น. “โคราชคนอีสาน” ติดต่อสัมภาษณ์ นายฉัตรณรงค์ ศิริพร ณ ราชสีมา หัวหน้าสำนักงาน ปภ.จังหวัดนครราชสีมา ถึงวิธีการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในจังหวัดนครราชสีมาที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้ ซึ่งได้คำตอบว่า “ขณะนี้จังหวัดนครราชสีมา ได้จัดตั้งศูนย์บัญชาการติดตามฤดูฝน ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.๒๕๕๐ โดยเป็นการตั้งศูนย์ทั้งในระดับจังหวัด อำเภอ และทุกท้องถิ่น ทุกหน่วยงานต้องเตรียมหาเครื่องมือและประสานงาน รวมถึงมองหาพื้นที่เสี่ยงต่อน้ำท่วม พื้นที่เสี่ยงหมายถึง พื้นที่ที่เคยประสบปัญหามาก่อน จากนั้นทุกหน่วยงานจะต้องติดตามดูสถานการณ์ โดยเป้าหมายของการจัดตั้งศูนย์แห่งนี้ เพื่อให้ทุกชุมชนได้ติดตามเส้นทางการระบายน้ำ ไม่ว่าจะเป็นน้ำในชุมชน น้ำใต้ทางเท้า (footpath) น้ำในตลาด เส้นทางของน้ำเหล่านี้มีอะไรไปขวางหรือไม่ หากพบมีสิ่งกีดขวางก็ต้องรีบไปจัดการ ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัด ต้องการให้ทุกพื้นที่มีการแก้ปัญหาไปในทิศทางเดียวกัน จึงได้มอบหมายให้ทุกท้องถิ่นประเมินแหล่งน้ำในชุมชน และในกรณีที่ฝนตกลงมา แล้วเกิดน้ำหลากฉับพลัน ซึ่งปัญหานี้ควบคุมได้ยาก จึงมอบหมายให้ทุกท้องถิ่นหาทางควบคุมให้ได้ ไม่ว่าจะใช้วิธีเปิดร่องให้กว้าง เพื่อไม่ให้น้ำไหลออกบริเวณด้านข้าง ไม่ให้น้ำกระจายออกนอกพื้นที่ และถ้าคิดว่า น้ำบริเวณไหนสามารถนำไปเก็บกักไว้ใช้ประโยชน์ได้ ให้นำไปเก็บไว้ด้วยการสูบการดูดอะไรก็ตาม แต่อย่าปล่อยทิ้งเอาไว้เฉยๆ เพราะจะไม่ช่วยแก้ปัญหาอะไร”

“ทุกท้องถิ่นจะต้องไปดูในเรื่องของการระบายน้ำ ทางเดินของน้ำ และเส้นทางไหลของน้ำ โดยการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมา ที่จังหวัดทำหลายโครงการนั้น เป็นเพียงการขุดบ่อกักเก็บน้ำ และขุดลอกคลองต่างๆ ซึ่งเป็นเพียงการแก้ปัญหาพื้นที่รองรับน้ำ แต่ปัญหาที่พบในขณะนี้คือ จะนำน้ำฝนไปเก็บไว้อย่างไร จึงเกิดเป็นนโยบายตามที่กล่าวมา หากทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในฤดูแล้งเราก็จะมีน้ำไว้ใช้ และในฤดูฝนน้ำท่วมก็จะลดน้อยลง และถ้าการแก้ปัญหาในระดับชุมชนไม่สามารถทำได้ ก็ให้รีบแจ้งมายังจังหวัด เพื่อจะได้เร่งลงไปช่วยเหลือ”

ทั้งนี้ ปัญหาน้ำท่วมในเขตอำเภอเมืองนครราชสีมา เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทุกปีและมีการจัดสรรงบประมาณจำนวนมากเพื่อแก้ไขปัญหานี้ โดยในปี ๒๕๖๑ นายสมเกียรติ วิริยะกุลนันท์ โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดนครราชสีมา (ในขณะนั้น) นำคณะจากกรมโยธาธิการและผังเมือง ประกอบด้วย นายสหรัฐ พิมพศักดิ์ รักษาการวิศวกรโยธาเชี่ยวชาญ สำนักสนับสนุนและพัฒนาตามผังเมือง และเจ้าหน้าที่ พร้อมด้วย รศ.ชัยวัฒน์ ขยันการนาวี บริษัทที่ปรึกษา บริษัท แมคโครคอนซัลแตนท์ จำกัด ร่วมชี้แจงการสำรวจออกแบบเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังระยะเร่งด่วน ๘ จุดในพื้นที่เขตเมืองนครราชสีมา ประกอบด้วย ๑.บริเวณบุ่งตาหลั่ว ๒.บริเวณแยกหน้าค่ายสุรนารี ๓.บริเวณแยกไอทีพลาซ่า ๔.บริเวณถนนมิตรภาพ หน้าห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ ๕.บริเวณสามแยกปักธงชัย ๖.บริเวณถนนมิตรภาพ หน้าตลาดเซฟวัน ๗.บริเวณโค้งหน้าวัดศาลาลอย และ ๘.บริเวณหน้าสำนักงาน ปภ.จังหวัดนครราชสีมา โดยโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดนครราชสีมา แจ้งที่ประชุมทราบว่า สืบเนื่อง จากการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ที่จังหวัดนครราชสีมาที่ผ่านมา ได้มอบหมายให้กรมโยธาธิการและผังเมืองดำเนินการช่วยเหลือการแก้ไขปัญหาระบบการระบายน้ำในจุดที่วิกฤตเร่งด่วน ซึ่งทางกรมฯ ได้สำรวจและศึกษาพื้นที่ที่มีน้ำท่วมจำนวน ๘ จุดดังกล่าว โดยใช้งบประมาณจำนวน ๘๘๕ ล้านบาท ในปีงบประมาณ ๒๕๖๓ เป็นงบผูกพันประมาณ ๓ ปี

ในปี ๒๕๖๒ จังหวัดนครราชสีมา จัดประชุมการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในเขตพื้นที่อำเภอเมืองนครราชสีมา จุดตลาดนัดเซฟวัน ซึ่งครั้งนั้นที่ประชุมมีมติสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการดังนี้ ๑.เทศบาลนครนครราชสีมา สนับสนุนงบประมาณให้แขวงทางหลวงนครราชสีมาที่ ๒ ดำเนินการวางท่อจำนวน ๒ แถว บริเวณสะพานสามแยกปักธงชัย เพื่อเพิ่มการระบายน้ำจากตลาดนัดเซฟวันลงสู่ลำตะคอง งบประมาณทั้งหมด ๑๖ ล้านบาท โครงการวางท่อบริเวณข้างโฮมโปรเพื่อเพิ่มการระบายน้ำอยู่ระหว่างการเสนอรูปแบบ โครงการส่งน้ำจากลำตะคอง อยู่ระหว่างการขอใช้พื้นที่ของกรมชลประทาน

 

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๒๖๓๒ วันพุธที่ ๑๗ - วันอังคารที่ ๒๓ เดือนมิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๓

 

 


946 1,811