30thDecember

30thDecember

30thDecember

 

July 07,2020

เตือนผงชูรสปลอมอันตรายถึงชีวิต แนะตรวจสอบก่อนใช้ปรุงอาหาร

อาจารย์ภาควิชาชีววิทยาเตือน ผงชูรสปลอมละเมิดลิขสิทธิ์ยี่ห้อดังที่ปากช่องอาจปนเปื้อนสารบอแร็กซ์ รับประทานมากเกินอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตแนะวิธีตรวจสอบและเลือกซื้อก่อนใช้ปรุงอาหาร

จากกรณีตำรวจ บก.ปอศ.(กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ) ได้เข้าทำการจับกุมสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ลักลอบปลอมแปลงเครื่องหมายการค้าผลิตผงชูรสยี่ห้อดัง ในพื้นที่บริเวณตลาดเทศบาลปากช่อง และได้ทำการตรวจยึดของการจำนวนกว่า ๗๐๐ ชิ้น ทำให้เกิดความวิตกกังวลต่อผู้บริโภคในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ถึงความปลอดภัยหากนำผงชูรสปลอมมาใช้ในการประกอบอาหาร ว่าจะเกิดผลกระทบต่อร่างกายอย่างไร

อ.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์โคราชคนอีสาน “โดยปกติแล้วผงชูรสแท้ภาษาทางวิทยศาสตร์ถูกเรียกว่าโมโนโซเดียมกลูตาเมต ซึ่งโดยพื้นฐานสารนี้ถูกใช้ในการปรุงแต่งอาหาร โดยจะมีสารโซเดียมหนึ่งชนิด ส่วนกลูตาเมตนั้นจะเป็นโครงสร้างของโปรตีน โดยปกติเมื่อใช้สำหรับปรุงแต่งอาหารจะไม่มีอันตรายแต่อย่างใด หากบริโภคในปริมาณที่เหมาะสม ไม่ต่างกับเกลือที่มีสารโซเดียมเช่นกัน แต่จะเป็นอันตรายหากรับประทานในปริมาณมาก ซึ่งอาจจะเกิดอาการที่รับประทานไปแล้วคอแห้งปากแห้งได้”

จากการจับกุมในครั้งนี้ อ.เจษฎา แบ่งเป็นสองประเด็นหลักด้วยกัน คือ ๑.เป็นเรื่องของการละเมิดลิขสิทธิ์สินค้าของผงชูรสยี่ห้อดังเพื่อให้ได้ราคาที่สูงขึ้น โดยภายในบรรจุภัณฑ์อาจจะเป็นผงชุรสแท้แต่ไม่ได้คุณภาพ และ ๒.คือใช้สารชนิดอื่นที่มีลักษณะที่คล้ายคลึงผงชูรสซึ่งมีราคาถูกกว่า เช่นสารบอแร็กซ์หรือสารโซเดียมเมตาฟอสเฟตที่จะมีลักษณะคล้ายผลึกเช่นเดียวกับผงชูรส แต่จะมีความแตกต่างกันออกไปในเชิงรสชาติในความเป็นสารปรุงรส และอาจเกิดอันตรายต่อร่างกายหากได้รับประทาน

“ในปัจจุบันสารบอแรกซ์เป็นสารที่ถูกห้ามใช้ ซึ่งเมื่อก่อนอาจจะเคยได้ยินสำหรับการนำมาผสมอาหารเพื่อทำให้มีความเด้งและกรอบเพิ่มขึ้น ซึ่งสารบอแรกซ์มีอันตรายต่อระบบทางเดินอาหาร ทำให้เกิดอาการอาเจียน อาการท้องร่วง ท้องเสีย เกิดการสะสมที่ไตหรือกรวยไต ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้ทางเดินปัสสาวะอักเสบ และหากรับประทานมากเกินไปอย่างต่อเนื่องก็อาจจะทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิต ในส่วนของสารโซเดียมเมตาฟอสเฟตอาจจะเจอน้อยกว่าซึ่งสารชนิดนี้โดยปกติหากรับประทานเข้าไปก็จะทำให้เกิดอาการท้องร่วงหรือท้องเสีย ซึ่งสารทั้งสองชนิดนี้ปัจจุบันได้ถูกห้ามขายแล้ว” อ.เจษฎา กล่าวถึงผลข้างเคียง

นอกจากสถานที่ในการเลือกซื้อที่น่าเชื่อถือบรรจุภัณฑ์ที่ได้มาตรฐาน หากประชาชนทั่วไปมีความสงสัยว่าผงชูรสที่ใช้อยู่ในครัวเรือนนั้นเป็นผงชูรสแท้หรือไม่ อ.เจษฎา ได้กล่าวถึงวิธีการทดสอบทิ้งท้ายว่า “วิธีการทดสอบผงชูรสแท้และผงชูรสปลอมสามารถทำได้โดยนำผงชูรสใส่ช้อนแล้วเผา หากเป็นผงชูรสแท้ที่ประกอบด้วยสารโมโนโซเดียมกลูตาเมต เมื่อโดนความร้อนจะเกิดการไหม้เกรียมติดที่ช้อน แต่หากมีการผสมบอแรกซ์หรือโซเดียมเมตาฟอสเฟตเมื่อเผาด้วยความร้อนแล้วจะกลายเป็นผลึกสีขาวและไม่มีการละลาย เนื่องจากสาร ๒ ชนิดนี้จะทนความร้อนสูง”


888 2,290