July 18,2020
จัดรถบัสรับ-ส่งนักเรียนฟรี หวังช่วยลดปัญหาจราจร
ประสาน ๕ หน่วยงาน ร่วมมือบริการรถบัสสาธารณะรับ-ส่งนักเรียนฟรี หวังแก้ปัญหาจราจรหนาแน่นเวลาเร่งด่วน แบ่งเบาภาระของผู้ปกครองและลดค่าใช้จ่ายไปส่งบุตรหลาน
เมื่อวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๖๓ เวลา ๑๑.๐๐ น. ที่ ศูนย์การค้าเทอร์มินอล ๒๑ โคราช พล.ต.ต. สุจินต์ นิจพานิชย์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วย นายสุรวุฒิ เชิดชัย นายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา, นางปพิชญา ณ นครพนม ผู้อำนวยการศูนย์การค้าเทอร์มินอล ๒๑ โคราช, นายบำรุง เจริญพจน์ รองนายกเทศมนตรีฯ ตัวแทนบริษัท เชิดชัย คอร์ปอเรชั่น จำกัด, นายอุดมศักดิ์ โสมคำ หัวหน้าส่วนการปฏิบัติการภูมิภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AIS) และนายทวีศักดิ์ พันธ์วิเศษศักดิ์ ปลัดเทศบาลนครนครราชสีมา ร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อบริการรถบัสสาธารณะ สำหรับนักเรียนในเขตเมืองของช่วงเวลาเร่งด่วน
นายสุรวุฒิ เชิดชัย กล่าวว่า “การจราจรในเขตเมืองหนาแน่น โดยเฉพาะช่วงเวลาเร่งด่วนในบริเวณสถานศึกษา ทำให้เกิดปัญหาจราจร ปัญหาค่าใช้จ่ายในการเดินทาง เสียเวลา รวมทั้งความปลอดภัยของผู้ปกครองและบุตรหลาน ส่งผลเสียทางสังคมและเศรษฐกิจ เทศบาลนครฯ พร้อมทั้งหน่วยงานที่เห็นความสำคัญและปัญหาดังกล่าว จึงได้ร่วมกันทำโครงการนี้เพื่อแก้ปัญหา โดยจัดหารถบัสสาธารณะที่มีความปลอดภัย และส่งนักเรียนได้จำนวนมาก เพื่อให้บริการ รับ-ส่ง นักเรียนจากศูนย์การค้าเทอร์มินอล ๒๑ โคราช ไปยังบริเวณสถานศึกษา ในช่วงเวลาเร่งด่วนภาคเช้าและรับกลับในตอนเลิกเรียน รวมทั้งลดจำนวนรถที่จะต้องเข้าไปส่งนักเรียนซึ่งจะช่วยลดปัญหารถติดและลดมลภาวะบริเวณสถานศึกษา และแบ่งเบาภาระของผู้ปกครองและลดค่าใช้จ่ายในการไปส่งบุตรหลาน”
“ทั้งนี้ เทศบาลนครฯ เป็นผู้ประสานความร่วมมือกับเทอร์มินอล ๒๑ โคราช เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ตลอดทั้งอำนวยความสะดวกที่จอดรถให้กับผู้ปกครอง ส่วนบริษัท เชิดชัย คอร์ปอเรชั่น เป็นผู้จัดหารถยนต์และซ่อมบำรุงตลอดการให้บริการโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ทางด้านภูธรจังหวัดนครราชสีมา เป็นผู้จัดรถนำขบวนเพื่อความปลอดภัยตลอดการเดินทาง ในขณะที่เอไอเอส ช่วยติดตั้งและบริการไวร์เลส อินเทอร์เน็ต เพื่อบริการนักเรียนให้สามารถติดต่อกับผู้ปกครองได้สะดวกตลอดการเดินทาง ทั้งนี้แต่ละหน่วยงานไม่คิดค่าใช้จ่ายจากผู้ปกครองนักเรียน” นายสุรวุติ กล่าว
พล.ต.ต.สุจินต์ นิจพานิชย์ กล่าวว่า “ปัญหาการจราจรเป็นเรื่องสำคัญ ทำให้สูญเสียทั้งเศรษฐกิจ และสังคม อย่างปฏิเสธไม่ได้ ซึ่งการช่วยแบ่งเบาภาระดังกล่าว เป็นหน้าที่ของทุกภาคส่วน ที่มีกำลังความสามารถช่วยกันร่วมมือช่วยเหลือแก้ปัญหาดังกล่าว จึงเป็นเรื่องที่ควรให้การยกย่องชื่นชมเป็นอย่างยิ่ง การจราจรที่ติดขัดสร้างปัญหาหลายประการ เช่น การสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงและสร้างมลพิษมากกว่าปกติ เสียเวลาในการเดินทางมากขึ้น ทั้งนี้ ถ้าคิดเป็นมูลค่าก็ทำให้เสียหายมากมาย การใช้บริการรถบัสสาธารณะ จะช่วยลดความหนาแน่นของการจราจร ลดการใช้น้ำมัน มลพิษก็จะลดลงอย่างเห็นได้ชัด เป็นแนวคิดที่ได้รับความนิยม และแก้ปัญหาได้จริงในอนาคต ขณะนี้ในส่วนของเทศบาลฯ กำลังพัฒนามากขึ้น ในเร็วๆ นี้ก็จะมีการประชุมไมซ์ (MICE) เพื่อรองรับการเจริญเติบโตของเมือง ทั้งรถราง รถไฟฟ้า ตลาดเซฟวัน รถไฟทางคู่ รวมทั้งการจราจรภายในเมือง ที่จะเริ่มดำเนินการในปลายปี ๒๕๖๓ ซึ่งจะเห็นการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น โครงการนี้ก็เป็นส่วนหนึ่ง ที่แสดงให้เห็นถึงการช่วยเหลือจากศูนย์การค้าเทอร์มินอล ๒๑ โคราชเป็นอย่างดี ในส่วนของการจราจร จะดูแลในด้านความปลอดภัย ความสะดวกในด้านการจราจร ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง”
“โคราชคนอีสาน” สอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับกรณี การติดตั้งสายชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าที่สถานีบริการขนส่งมวลชนแห่งที่ ๑ (บขส.เก่า) นายสุรวุฒิ ชี้แจงว่า “เป็นการติดตั้งเพื่อรองรับการเดินทางระยะไกล ด้วยความร่วมมือของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ที่ต้องการทดสอบรถยนต์ไฟฟ้า ถ้าหากวิ่งในเส้นทางต่างจังหวัด จะสิ้นสุดที่ใด เพื่อการทดลองต่อเนื่อง ซึ่ง มทส.ขอความร่วมมือมาที่เทศบาลฯ ในการจัดตั้งสถานีชาร์จ โดย มทส.จะเป็นผู้ลงทุนในกระบวนการ เทศบาลฯ จึงมอบพื้นที่ให้ และในอนาคตอาจได้เห็นรถยนต์ไฟฟ้าในหลากหลายบริบท ซึ่งจะเริ่มเห็นประมาณปลายปี ๒๕๖๓”
นางปพิชญา ณ นครพนม ให้สัมภาษณ์ เกี่ยวกับโครงการรถบัสสาธารณะที่เกิดขึ้นว่า “เป็นการช่วยลดภาระรถติดในจังหวัดนครราชสีมา ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง นักเรียนมีความสะดวก การใช้บริการรถสาธารณะร่วมกัน ถือเป็นการลดใช้พลังงานอย่างหนึ่ง และขณะนี้มีการทำ Social Distancing ทำให้ในการเดินทางด้วยรถบัสสาธารณะสอดคล้องกับมาตรการนี้ โดยจะมองถึงปริมาณที่มีผู้ใช้บริการ เพื่อปรับระยะเวลาให้เหมาะสม ในวันนี้เป็นการทดลอง เพื่อตรวจสอบเส้นทางและนำมาปรับปรุง ซึ่งจะเริ่มเดินทางเวลา ๐๗.๐๐ น. แต่มีความกังวล เนื่องจากเริ่มในสถานการณ์หลังโควิด-๑๙ อาจทำให้ไม่ได้รับความไว้วางใจจากผู้ปกครอง เชื่อว่าหลังการผ่อนคลายมาตรการมากขึ้น จะช่วยให้โครงการมีความคล่องตัว อีกทั้งยังลดภาระของผู้ปกครอง ลดค่าใช้จ่าย เพื่อความสะดวกในเศรษฐกิจของทุกคน”
นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๒๖๓๖ วันพุธที่ ๑๕ - วันอังคารที่ ๒๑ เดือนกรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๓
905 1,551