July 18,2020
ไร้เสียงค้าน‘ลอดบิ๊กซี’ ตั้งงบไว้ ๘๐๐ ล้าน ทบทวนถ้าไม่คุ้ม
อุโมงค์ทางลอดแยกบิ๊กซี เปิดเวทีนัดแรกศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ยังไร้เสียงคัดค้าน ประชาชนเชื่อทำเพื่อรองรับอนาคตเมือง ห่วงปัญหาน้ำท่วมและทางโค้งในอุโมงค์เสี่ยงอันตราย ด้าน “ผอ.แขวง ๒” เผย ก่อสร้างใช้งบไม่เกิน ๘๐๐ ล้านบาท คาดสร้างเร็วสุดปี ๒๕๖๖ ชี้หากศึกษาแล้วไม่คุ้มค่า อาจจะต้องทบทวนใหม่
เมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๖๓ เวลา ๐๙.๐๐ น. ที่โรงแรมซิตี้พาร์ค นายศักดิ์สิทธิ์ สกุลลิขเรศสีมา รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วย นางสาวกอบกุล โมทนา หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม นายพรชัย ศิลารมย์ ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงนครราชสีมาที่ ๒ หัวหน้าส่วนราชการ และประชาชน เข้าร่วมรับฟังชี้แจงข้อมูลโครงการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมอุโมงค์บริเวณจุดตัดทางหลวงหมายเลข ๒ กับทางหลวงหมายเลข ๒๒๔ (แยกนครราชสีมา) โดยมีนายนคร ศรีธิวงค์ ผู้จัดการโครงการ จากบริษัท ธรรมชาติ คอนซัลแตนท์ จำกัด และนายเอนก สงสระบุญ วิศวกรงานทาง จากบริษัท ซิตี้ แพลน โปรเฟสชันนอล จำกัด เป็นวิทยากร
ฟื้นทางลอดบิ๊กซี
นายนคร ศรีธิวงค์ ผู้จัดการโครงการ กล่าวว่า “จุดตัดระหว่างทางหลวงหมายเลข ๒ และทางหลวงหมายเลข ๒๒๔ เป็นบริเวณที่มีปริมาณการจราจรคับคั่ง และมีชุมชนหนาแน่น ปัจจุบันจัดการจราจรด้วยไฟสัญญาณจราจร ซึ่งไม่สามารถรองรับปริมาณการเดินทางได้อย่างเพียงพอ ส่งผลกระทบต่อการจราจรบนทางหลวงหมายเลข ๒ และทางหลวงหมายเลข ๒๒๔ ทำให้เกิดความล่าช้าในการเดินทางและติดขัด ดังนั้น กรมทางหลวงจึงมีแนวคิดก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว แต่จากการตรวจสอบพื้นที่โครงการ พบว่า มีแหล่งโบราณสถานในระยะ ๑ กิโลเมตรจากถนนโครงการ ทำให้โครงการเข้าข่ายต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เพื่อเสนอในขั้นตอนอนุมัติหรือขออนุญาตโครงการ
“กรมทางหลวงให้ความสำคัญกับการดำเนินงานการมีส่วนร่วมของประชาชนซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับทราบข้อมูลและร่วมแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ เพื่อให้การพัฒนาโครงการมีความเหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการของทุกภาคส่วน สำหรับการดำเนินงานการมีส่วนร่วมของประชาชนของการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม จะดำเนินงานตามแนวทางการมีส่วนร่วมของประชาชนและการประเมินผลกระทบทางสังคมในการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม พ.ศ.๒๕๖๒ ของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และแนวทางการจัดทำแผนงานการมีส่วนร่วมของประชาชน ของกรมทางหลวง เมื่อวันที่ ๓ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๕ โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับทราบข้อมูลข่าวสารและร่วมแสดงความคิดเห็น และข้อเสนอแนะอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาการศึกษา เพื่อให้การพัฒนาโครงการมีความเหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่นมากที่สุด โดยขณะนี้อยู่ในช่วงเริ่มต้นของการศึกษา ดังนั้น กรมทางหลวงจึงได้จัดประชุมเพื่อหารือแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในครั้งนี้ขึ้นมา เพื่อจะได้นำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะดังกล่าวมาเพิ่มเติมข้อมูลการศึกษาผลกระทบในด้านต่างๆ ให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่โครงการต่อไป” นายนคร ศรีธิวงค์ กล่าว
งานด้านวิศวกรรมอุโมงค์
นายเอนก สงสระบุญ วิศวกรงานทาง กล่าวว่า “ในส่วนของการศึกษาด้านวิศวกรรม เราจัดเตรียมแผนในมาตราส่วนที่เหมาะสมให้ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดของโครงการ พร้อมทั้งรวบรวมข้อมูลด้านการสำรวจสภาพภูมิประเทศ ลักษณะเส้นทาง อุปสรรคสิ่งกีดขวางและจุดควบคุมอื่นๆ รวมถึงองค์ประกอบต่างๆ ของโครงการที่ได้มีการออกแบบไว้แล้ว เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หากมีอุปสรรคหรือสิ่งกีดขวางต่อการพัฒนาโครงการ จะแนะนำแนวทางแก้ไขที่เหมาะสม พร้อมทั้งออกแบบเบื้องต้นตามรูปแบบที่เสนอแนะ เพื่อนำไปเป็นข้อมูลประกอบการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และทำการคำนวณปริมาณงานก่อสร้างที่เกี่ยวข้องกับโครงการ พร้อมทั้งประเมินราคาค่าก่อสร้างของโครงการ ตลอดจนการศึกษาและประเมินค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาตลอดอายุโครงการ”
นายเอนก สงสระบุญ กล่าวอีกว่า “โดยรูปแบบด้านงานทางของอุโมงค์ ประกอบด้วยรูปร่างทางเรขาคณิตทางราบ ทางดิ่ง และรูปตัดตามขวางของถนนโครงการ แบ่งออกเป็น ๑.การออกแบบแนวทางราบของโครงการ จะซ้อนทับกับแนวของทางหลวงหมายเลข ๒ ทั้งหมด โค้งแนวราบในทิศทางจากจังหวัดสระบุรี ไปจังหวัดขอนแก่น รองรับความเร็วออกแบบได้ ๕๐ กม./ชม. และมีการยกโค้งร้อยละ ๔.๐ และ ๒.การออกแบบระดับก่อสร้าง ได้คำนึงถึงความปลอดภัยต่อการขับขี่ โดยกำหนดความสูงของช่องลอดไม่น้อยกว่า ๕.๕๐ เมตร ความลาดชันของอุโมงค์ร้อยละ ๔ ความยาวอุโมงค์ ๙๒๙ เมตร ความยาวอุโมงค์ช่วงปิด ๑๒๖ เมตร จากการตรวจสอบแบบรายละเอียดพบว่า ความลาดชันของอุโมงค์ได้ออกแบบมีความลาดชัน ร้อยละ ๔.๐ ความยาวของโค้งแนวดิ่งโค้งหงายและโค้งคว่ำเท่ากับ ๑๐๐ เมตร โดยมีความเร็วการออกแบบ ตามระยะหยุดรถปลอดภัยตามแนวดิ่ง ๖๐-๗๐ กม./ชม. สำหรับความสูงช่องลอดบริเวณอุโมงค์ช่วงปิด เท่ากับ ๕.๕๐ เมตร”
“ขนาดความกว้างช่องจราจร มีการออกแบบช่องจราจรของอุโมงค์ให้มีขนาด ๒ ช่องจราจรๆ กว้าง ๓.๒๕ เมตร และมีทางเท้าขนาดกว้าง ๑.๐๐ เมตร โดยขนาดช่องจราจรได้กำหนดตามกายภาพและข้อจำกัดพื้นที่เขตทาง และให้สอดคล้องกับความเร็วที่ได้ออกแบบ ๕๐ กม./ชม. และในช่วงความโค้งจะมีขนาดช่องจราจรเพิ่มมากขึ้นเพื่อความปลอดภัยในการสัญจร ซึ่งแนวเส้นทางอุโมงค์จะอยู่ตามแนวของทางหลวงหมายเลข ๒ รองรับการจราจรในทิศทางจากจังหวัดขอนแก่นเลี้ยวขวาไปจังหวัดสระบุรี และในการกำหนดช่องจราจรระดับดินออกแบบให้มีช่องจราจร ๔ ช่องจราจร (ทิศทางไปจังหวัดขอนแก่น) ซึ่งมีขนาดความกว้างช่องจราจรช่องละ ๓.๐๐ ถึง ๓.๒๕ เมตร และออกแบบให้มี ๓ ช่องจราจร (ทิศทางไปจังหวัดสระบุรี) ซึ่งมีขนาดความกว้างช่องจราจรช่องละ ๓.๐๐ ถึง ๓.๒๕ เมตร” นายเอนก กล่าว
นายเอนก สงสระบุญ กล่าวอีกว่า “ระบบไฟฟ้าส่องสว่างของโครงการ เป็นระบบจ่ายไฟแสงสว่างครอบคลุมทุกพื้นที่บริเวณอุโมงค์ในช่วงเปิดและช่วงปิด ทางแยก ทางเชื่อม ทุกพื้นที่โดยมีระดับความเข้มของแสงที่เพียงพอ เหมาะสม ตลอดทั้งการกระจายของแสงมีค่าความสม่ำเสมอตามมาตรฐาน CIE ซึ่งรูปแบบของโคมไฟที่จะใช้แบ่งออกได้ดังนี้ ๑.บริเวณทางแยก ทางเชื่อม ถนนด้านข้าง จะใช้โคมไฟถนนติดตั้งบนเสาไฟเหล็กความสูง ๙ เมตร ชนิดแขนกิ่งเดี่ยวหรือกิ่งคู่ขึ้นอยู่กับตำแหน่งของเสา ๒.บริเวณอุโมงค์ช่วงปิดจะใช้โคมไฟประเภท ชนิดให้แสงสว่างภายในอุโมงค์ โดยติดกับเพดานอุโมงค์ และ ๓.บริเวณอุโมงค์ช่วงเปิดจะใช้โคมไฟประเภท Floodlight โดยติดตั้งเกาะผนังอุโมงค์บริเวณทางเข้าและทางออกของอุโมงค์”
นายเอนก สงสระบุญ กล่าวต่อไปว่า “ระบบระบายน้ำระดับดินของโครงการฯ โดยรูปแบบของถนนในปัจจุบันได้ขยายช่องจราจรเต็มเขตทาง ระบบระบายน้ำเดิมมีท่อขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑.๒๐ เมตร พร้อมบ่อพักวางทุกๆ ๑๕.๐ เมตร ใต้ทางเท้า ซึ่งจากสภาพปัจจุบันของระบบระบายน้ำยังสามารถระบายน้ำได้ดี แต่ในส่วนของรูปแบบโครงการได้เพิ่มเติมระบบระบายน้ำใต้ผิวจราจรเป็นท่อเหลี่ยมขนาด ๒.๐๐ เมตร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำให้ดียิ่งขึ้น โดยระบบระบายน้ำในอุโมงค์จะไหลเข้าสู่ท่อและขอบ ซึ่งติดตั้งเพื่อรับน้ำฝนบริเวณริมทางเท้า จากนั้นระบายเข้าสู่ RC Ditch แล้วไหลไปยังระบบระบายน้ำของอุโมงค์ที่อยู่ในระดับต่ำสุดเพื่อรับน้ำจากพื้นอุโมงค์ทั้งหมดลงสู่บ่อเก็บน้ำแล้วทำการสูบระบายออกทิ้งไประบบระบายน้ำเดิม จุดที่ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ และตู้ควบคุมอยู่บริเวณทางแยกเกาะกลางถนนโดยมีปั๊มน้ำ ๕ เครื่อง ติดตั้งเพื่อรองรับระบบระบายน้ำในอุโมงค์”
เปิดเวทีแสดงความคิดเห็น
จากนั้นที่ประชุมเปิดให้ประชาชนร่วมแสดงความคิดเห็นและเสนอแนะ โดยนายคมกฤช วรจินดา ผู้ทรงคุณวุฒิผังเมืองรวมจังหวัดชัยภูมิ กล่าวว่า “สำหรับตัวอุโมงค์ทางลอด ไม่ได้มีปัญหา ต้องทำอยู่แล้ว แต่ปัญหาอยู่ที่การก่อสร้างและการออกแบบ ต้องดูว่าจะทำอย่างไรไม่ให้น้ำท่วม เพราะอย่างที่เห็นๆ กันอยู่ โคราชมีปัญหาน้ำท่วมบ่อยมาก ส่วนหนึ่งก็มาจากการก่อสร้างผังเมืองที่ไม่มีคุณภาพ บดบังทางไหลของน้ำ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญอย่างมาก”
เสนอทำอุโมงค์ยาวที่สุด
นายนะโม สุขปราณี นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า “มี ๒ ประเด็นที่น่าสนใจ คือ เรื่องท่อระบายน้ำที่โครงการออกแบบไว้ ๒ เมตรนั้นเล็กไป อาจต้องขยายเพิ่ม และเรื่องอุโมงค์ จะเห็นว่า เมื่อขึ้นจากอุโมงค์แล้วก็จะเจอกับแยกไฟแดง รถก็ติดเช่นเดิม ดังนั้นถ้าเป็นไปได้ ต้องการให้ทำเป็นอุโมงค์ที่ยาวที่สุดในประเทศไทย เช่น ออกจากแยกหน้าศูนย์การค้าเทอร์มินอลฯ ทะลุจนถึงแยกโรงแรมพีกาซัส ซึ่งอนาคต โคราชจะรองรับการขยายตัวของภาคธุรกิจ ภาคเอกชน ส่วนราชการ และประชากรที่หลั่งไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ดำเนินการจับจองบริเวณวงแหวนรอบนอกหมดแล้ว ทำให้มีมูลค่าที่ดินเพิ่มขึ้น คนอยู่อาศัยมากขึ้น จึงต้องการให้มองระยะไกล เป็นไปได้หรือไม่ถ้าจะขยายทางลอด เพื่อเป็นอุโมงค์ที่ยาวที่สุดในประเทศไทย แต่อย่างไรก็ตาม ผมยืนยันว่า โครงการนี้เป็นโครงการที่ดี เพื่ออนาคตที่ดีของโคราช”
สร้างทางลอดเป็นเรื่องที่ดี
นายอัคคชา พรหมสูตร อดีตผู้สมัคร ส.ส. พรรคประชาชาติ กล่าวว่า “สถานการณ์ของแยกบิ๊กซีขณะนี้ รถที่เดินทางเข้ามาบริเวณแยกดังกล่าวเป็นรถของประชาชนที่อยู่ในเขตอำเภอเมืองนครราชสีมา ไม่ใช่รถบรรทุกทางไกลที่แยกออกไปบนเส้นเลี่ยงเมืองแล้ว ดังนั้น รถที่หนาแน่นจะเป็นรถในเมืองและรถที่เดินทางข้ามจังหวัด อีกทั้งมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น ส่วนของแยกประโดกในช่วงเวลาเร่งด่วนจะหนาแน่น ซึ่งขณะนี้กำลังมีมอเตอร์เวย์ ที่มุ่งหน้าถนนสุรนารี ๒ ซึ่งทุกคนจะมุ่งหน้าเข้ามาภายในเมือง และจอดสนิทอยู่บริเวณแยกประโดก การสร้างอุโมงค์ทางแยกประโดก เป็นการแก้ปัญหาที่ถูกต้องแล้ว เป็นการแก้ปัญหาที่ดี ต่อมาคือแยกบิ๊กซี ถ้าสร้างแยกประโดกเสร็จแล้ว ความหนาแน่นของรถจะมาตกที่แยกบิ๊กซี เส้นมุ่งหน้าเข้ากรุงเทพฯ การสร้างทางลอดแยกบิ๊กซีถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ดำเนินการได้ยาก ยิ่งถ้าหากทุกโครงการดำเนินการใกล้เคียงกัน อาจได้รับผลกระทบทางจราจร การสร้างอุโมงค์จะให้ความคุ้มค่า เนื่องจากการจราจรในชั่วโมงเร่งด่วนประสบปัญหาอย่างหนัก แต่อย่างไรก็ตาม ต้องการให้สนับสนุนงบประมาณที่จะดำเนินงาน และผลกระทบในขณะดำเนินการเกี่ยวกับมลภาวะเสียง อากาศ การระบายน้ำ เรื่องฝุ่น เรื่องอุบัติเหตุ ความเสี่ยงจากการลอดอุโมงค์ มาตรการป้องกัน และการเยียวยาผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโครงการ ความคุ้มค่าที่เกิดขึ้นจากโครงการที่สร้างขาไปแต่ไม่สร้างขากลับ และระยะทางที่ขึ้นมาจากอุโมงค์และติดไฟแดง ทำไมไม่แก้การจราจรให้ครบรูปแบบ หรือใช้รูปแบบการจราจรอัตโนมัติ ถ้านำมาใช้กับแยกบิ๊กซี จะสามารถทำได้หรือไม่ การจัดให้มีการรับฟังนั้นเป็นเรื่องที่ดี แต่ไม่ต้องการให้เป็นการขัดแย้ง ต้องการให้เป็นพื้นที่แสดงความคิดเห็นรับฟังเสียงของทุกคน”
เวลาคือสิ่งสำคัญ
นายชัชวาล วงศ์จร ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า “หลายโครงการที่โคราชได้รับมานั้น ประชาชนมักจะทราบภายหลังเสมอ ในครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่ทุกคนให้ความสนใจ จึงต้องการให้มีพื้นที่รับฟังมากกว่านี้ ขณะนี้มอเตอร์เวย์กำลังดำเนินการเสร็จสิ้น ทำให้เกิดความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ทุกโครงการที่เกิดขึ้นในจังหวัดฯ ล้วนแล้วแต่สร้างความเจริญเติบโตให้เกิดขึ้น ต้องยอมรับว่ามีความเหมาะสม ซึ่งมีความกังวลในเรื่องของระยะเวลาในการก่อสร้าง เกือบทุกโครงการไม่สามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมาย ล่าช้าเสมอ ทำให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อจังหวัดนครราชสีมาโดยตรง ซึ่งหลังจากการที่ได้สำรวจเรียบร้อยแล้ว ขอให้ความสำคัญกับการกำหนดระยะเวลาด้วย”
อุโมงค์โค้งอันตราย
นายอนันตศักดิ์ ตั้งสิทธิประเสริฐ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ.ที.ไฮ-ไฟ ๒๐๐๓ จำกัด กล่าวว่า “ผมห่วงอยู่ไม่กี่เรื่องโดยเฉพาะปัญหาน้ำท่วมและปัญหาทางโค้งอุโมงค์ การก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดที่เป็นแบบทางโค้งอันตราย ทำไมถึงไม่ทำเป็นเส้นตรง รถจะได้วิ่งไปมาสะดวกสบาย และอีกอย่าง ต้องการให้มีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้มากกว่านี้ ผมเพิ่งจะทราบเมื่อช่วงเช้านี้เอง ถ้าไม่มีเพื่อนส่งข้อความมาบอกก็คงไม่รู้ ทั้ง ๓ ประเด็นขอฝากที่ปรึกษารับไปทำการบ้านด้วย”
ด้าน นายเอนก สงสระบุญ วิศวกรงานทาง กล่าวชี้แจงว่า “สำหรับรูปแบบอุโมงค์ที่ต้องทำเป็นทางโค้งนั้น เมื่อครั้งออกแบบ มี ๔ แบบ ซึ่งแบบที่ ๑ เป็นทางตรง ส่วนแบบที่ ๒ คือแบบที่นำมาใช้ในปัจจุบัน โดยทั้ง ๔ แบบ เมื่อศึกษาความคุ้มค่าแล้ว แบบที่นำมาใช้มีความคุ้มค่าที่สุด เป็นเส้นทางที่มีการจราจรหนาแน่นมากที่สุด เรื่องความอันตรายทางโค้งนั้น ผมยอมรับว่าอุโมงค์ทางโค้งมีความอันตรายจริง ซึ่งเราจะมีมาตรการกำชับให้รถยนต์วิ่งด้วยความเร็ว ๕๐ กม./ชั่วโมง และทาสีบนเส้นทางแจ้งให้ทราบว่าข้างหน้าจะมีทางโค้งด้วย ส่วนในประเด็นน้ำท่วมที่ทุกฝ่ายเป็นห่วง เรามีการติดตั้งปั๊มน้ำทั้งหมด ๕ ตัว ใช้งาน ๒ ตัว และสำรอง ๓ ตัว เมื่อน้ำท่วมแล้วตัวใดพัง ก็จะมีตัวสำรองเสมอ และหากพบปัญหาไฟดับ เจ้าหน้าที่ของกรมทางหลวงจะเป็นผู้เข้ามาดูแลแก้ไข จะนำไฟสำรองมาใช้ และเรื่องความสูงของอุโมงค์ รถทัวร์สามารถเข้าได้แน่นอน”
นายนคร ศรีธิวงค์ ผู้จัดการโครงการกล่าวว่า “ในส่วนของการประชาสัมพันธ์ ขณะนี้เพิ่งเริ่มทำโครงการมาเพียง ๑ เดือน แต่หลังจากนี้จะมีการลงพื้นที่เข้าพบกับคนในชุมชนต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบ แล้วเราจะมีข้อมูลคนที่ได้รับผลกระทบทุกราย และเมื่อถึงการประชุมสรุปผลการศึกษาฯ เราจะเชิญทุกคนมาร่วมรับฟังและแสดงความคิดเห็นอีกครั้ง”
ศึกษาผลกระทบ ๑ ปี
หลังจบการประชุม นายพรชัย ศิลารมย์ ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงนครราชสีมาที่ ๒ ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า การจัดประชุมครั้งนี้เพื่อเตรียมศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ของโครงการทางลอดแยกบิ๊กซี วันนี้เป็นเพียงการเริ่มต้นนำรูปแบบที่เคยออกแบบไว้เมื่อคราวก่อนมาศึกษาต่อ เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทของจราจรในปัจจุบัน โดยหลักๆ ตัวอุโมงค์ยังเป็นเหมือนเดิม คือ เน้นทางลอดจากเส้นทางมาจากจังหวัดขอนแก่นมุ่งหน้าจังหวัดสระบุรี แต่สิ่งที่เพิ่มเติมมาในวันนี้ คือการป้องกันผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม อันดับแรกคือโบราณ สถานที่มี ในรัศมี ๑ กิโลเมตรของโครงการ เช่น อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี และประตูชุมพล ส่วนด้านสังคม คือชุมชนต่างๆ ที่อยู่ในรัศมีของโครงการ ๕๐๐ เมตร วันนี้ถือเป็นการนับหนึ่งว่าจะดำเนินการอะไร โดยหลังจากนี้ ๑ ปี ก็จะทราบข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมและผลกระทบต่างๆ แต่ระหว่างการศึกษานั้นจะมีการเข้าพบประชาชนในชุมชนที่ได้รับผลกระทบ และมีการจัดรับฟังความคิดเห็นแบบกลุ่มย่อย และเมื่อศึกษาเสร็จเรียบร้อย ทางบริษัทที่ปรึกษาฯ จะนำปัญหาต่างๆ ที่พบ มาปรับเป็นมาตรการป้องกัน เช่น การจัดการจราจรระหว่างก่อสร้าง เป็นต้น
เริ่มสร้างเร็วสุดปี’๖๖
“สำหรับระยะเวลาในการทำโครงการนี้ เริ่มจากวันนี้ทำ EIA จะใช้เวลาประมาณ ๑ ปี แล้วเสร็จเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๔ จากนั้นจะนำรายงานไปเสนออนุมัติต่อ สผ. แปลว่า ขั้นตอนนี้โครงการพร้อมที่จะลงทุนแล้ว หลังจากนั้นจะเข้าสู่การจัดการด้านแผนและงบประมาณ ซึ่งกรมทางหลวงจะมาพิจารณาว่า จะนำเสนอขอปีงบประมาณใด หากเรามีความพร้อมหลังจากการทำ EIA ก็จะสามารถขออนุมัติโครงการในปี ๒๕๖๕ ได้ เร็วสุดคาดว่า เป็นปีงบประมาณ ๒๕๖๕ จากนั้นอาจจะมีคำถามเพิ่มเติมว่า แล้วแยกประโดกจะเป็นอย่างไร ซึ่งผมต้องการให้งบประมาณของทั้ง ๒ แห่งมาพร้อมกัน แต่ไม่ได้หมายความว่าจะมาเป็นโครงการเดียวกัน เป็นคนละรายการ แต่ที่ต้องการให้มาพร้อมกันเพราะ เพื่อสะดวกต่อการจัดวางแผนสาธารณูปโภค การจัดการจราจรระหว่างก่อสร้าง และผลกระทบระหว่างก่อสร้าง ทั้งนี้ การก่อสร้างทั้งหมดถ้าได้รับงบประมาณในปี ๒๕๖๕ ก็คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างช่วงเดือนมกราคม ปี ๒๕๖๖ แต่ไม่แน่ว่า ในการรื้อย้ายสาธารณูปโภคก็อาจจะใช้เวลาเกือบครึ่งปี ๒๕๖๖ ซึ่งขณะนี้ก็มีการตั้งงบเอาไว้ทั้งหมดไม่เกิน ๘๐๐ ล้านบาท ซึ่งเมื่อ ๑๐ ปีที่แล้วอยู่ที่ ๓๐๐ ล้านบาท แต่ทำไมปัจจุบันต้องตั้งไว้ ๘๐๐ ล้านบาท เพราะว่า จะต้องมีการจัดการจราจรระหว่างก่อสร้าง จะต้องมีการทุบทางเท้าเพิ่ม และในการป้องกันผลกระทบต่ออนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ก็จะต้องมีการลงทุนเพิ่ม รวมถึงมาตรการต่างๆ ที่ต้องเพิ่มเข้ามาด้วย” นายพรชัย กล่าว
ทำเพื่อรองรับอนาคต
ต่อข้อถามว่า “อุโมงค์ทางลอดแห่งนี้จะตอบโจทย์เรื่องการจราจรหรือไม่ เนื่องจากมีวงแหวนรอบนอกอยู่แล้ว อย่างที่เคยมีเสียงคัดค้านก่อนหน้านี้” นายพรชัย ศิลารมย์ กล่าวว่า จากที่เคยมีผู้คัดค้านได้ให้ข้อสังเกตไว้ว่า ถนนวงแหวนรอบเมืองจะเป็นตัวช่วยในเรื่องการระบายรถยนต์ที่จะเข้าเมือง ซึ่งถนนวงแหวนมีระยะทาง ๑๑๐ กิโลเมตร เป็นวงแหวนขนาดใหญ่ ก็ทำให้รถบรรทุกต่างๆ ที่จะต้องผ่านโคราช ไม่จำเป็นต้องเข้ามาในเขตเมือง รถบรรทุกจะมีจำนวนน้อยลง ดังนั้นการจราจรในเมืองจะเหลือแค่นักท่องเที่ยว ภาคธุรกิจ และประชาชน แต่ถ้ามองในเรื่องการเจริญเติบโตของเมือง จะเห็นว่า นักท่องเที่ยวจะมีมากขึ้น การติดต่อค้าขายจะเพิ่มมากขึ้น และประชาชนที่เข้ามาอาศัยในเขตเมืองก็จะเพิ่มมากขึ้นด้วย ฉะนั้นการจราจรในเขตเมืองก็จะมีมากขึ้นเช่นกัน ในการศึกษาด้านการจราจรของโครงการนี้เมื่อครั้งที่แล้ว เราศึกษาการจราจรที่จะเกิดขึ้นใน ๑๐ ปีข้างหน้า วันนี้จึงเป็นโอกาสที่จะมาทบทวนอีกครั้ง ผมเชื่อว่าโครงการนี้จะเพิ่มศักยภาพเชิงบวกให้กับโคราช แน่นอนว่า เมื่อ ๑๐ ปีที่แล้ว ที่ทำการศึกษา ยังไม่มีโครงการรถไฟความเร็วสูง โครงการรถไฟทางคู่ โครงการถนนมอเตอร์เวย์ที่จะมาเชื่อมกับแยกประโดกและผ่านบริเวณแยกบิ๊กซีเพื่อมุ่งหน้าเข้าตัวเมือง ดังนั้นในการศึกษาใหม่ครั้งนี้ จะต้องมาดูกันว่า เมืองโคราชจะมีการเติบโตไปมากน้อยเพียงใด หากพบว่า ในอนาคตเมืองโคราชจะมีความหนาแน่นอย่างมาก การที่จะมีอุโมงค์ทางลอดก็ถือว่า เป็นการทำเพื่อรองรับอนาคต และผมเชื่อว่า อนาคตเมืองโคราชจะต้องมีความหนาแน่นแน่นอน ดังนั้นเราจึงควรทำในขณะที่เมืองยังไม่หนาแน่นมากนัก แต่ถ้าวันนี้ศึกษามาแล้วพบว่า ประชาชนจะหันไปใช้ระบบขนส่งสาธารณะแบบอื่นมากกว่ารถยนต์ส่วนตัว การก่อสร้างนี้ก็อาจจะไม่คุ้มค่า ก็อาจจะต้องมาทบทวน พูดคุยและประเมินกันใหม่
ทั้งนี้ โครงการก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดแยกนครราชสีมา (แยกบิ๊กซี) กรมทางหลวงมีการศึกษาไว้ตั้งแต่ปี ๒๕๔๙ และเคยได้รับการจัดสรรงบประมาณจำนวน ๔๐๐ ล้านบาท ซึ่งเป็นงบประมาณปี ๒๕๕๐ ต่อเนื่องปี ๒๕๕๑ แต่มีเสียงคัดค้านอย่างหนัก จึงทำให้โครงการถูกระงับไป แต่ภายหลังมีการรื้อขึ้นมาศึกษาใหม่ โดยวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๖๐ กรมทางหลวงได้จัดเวทีให้ประชาชนร่วมแสดงความคิดเห็น การประชุมการมีส่วนร่วมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน แต่โครงการก็ถูกคัดค้านเช่นเดิม เนื่องจากประชาชนมองว่า ทำแล้วไม่คุ้มค่า ส่งผลให้ไม่มีความคืบหน้ากระทั่งปัจจุบัน
นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๒๖๓๖ วันพุธที่ ๑๕ - วันอังคารที่ ๒๑ เดือนกรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๓
983 1,640