July 24,2020
‘วิเชียร’เยี่ยมศูนย์พักพิงสุนัข นำหมาจรจัดในเมืองมาปล่อย
“ผู้ว่าโคราช”ลงพื้นที่ปากช่องเยี่ยม “ศูนย์พักพิงสุนัขจรจัดนครชัยบุรินทร์” เดินหน้าแก้ปัญหาโรคพิษสุนัขบ้า และลดจำนวนสุนัขในพื้นที่ พร้อมศึกษาดูงานจัดการน้ำเสียปากช่อง ย้ำน้ำเสียที่ไหลลงลำตะคองผ่านการบำบัดแล้ว ประชาชนมั่นใจได้
เมื่อวันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๖๓ เวลา ๑๒.๐๐ น. นางสาวสีตลา จุฑะรพ ผู้อำนวยการศูนย์พักพิงสุนัขจรจัด นครชัยบุรินทร์ ให้การต้อนรับ นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา และสื่อมวลชน เข้าเยี่ยมชม ศูนย์พักพิงสุนัขจรจัด นครชัยบุรินทร์ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อสนองพระปณิธาน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ อัครราชกุมารี ในฐานะองค์ประธานกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินโครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า ที่มีพระปณิธานแน่วแน่ที่จะให้โรคพิษสุนัขบ้าหมดไปจากประเทศไทยในปี ๒๕๖๓ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในการจัดการสถานพักพิงสัตว์ และเป็นแนวทางในการดำเนินงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหา ควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า และควบคุมการขยายพันธุ์ของสุนัขจรจัดอย่างยั่งยืน
นางสาวสีตลา จุฑะรพ กล่าวว่า “ศูนย์พักพิงสุนัขจรจัดฯ แห่งนี้ อยู่ในความดูแลของพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา, ชัยภูมิ, บุรีรัมย์, และสุรินทร์ ปี ๒๕๖๒ เป็นปีแรกที่ดำเนินการ และรับสุนัขมาบำบัดครบทั้ง ๔ จังหวัดพอดี จำนวนกว่าหนึ่งพันตัว มีคนมารับสุนัขเพื่อไปเลี้ยงดูต่อ และมีข้อเสียเกิดขึ้นบางส่วน คือสุนัขปรับตัวกับเจ้าของใหม่ไม่ได้ ในส่วนของปีนี้มีแผนว่าจะรับสุนัขใหม่ทุก ๘ สัปดาห์ๆ ละ ๒๐๐ ตัว เพิ่งเปิดรับในเดือนมกราคมที่ผ่านมา และไวรัสโควิด-๑๙ เข้ามาพอดี จึงปิดการรับชั่วคราวมาจนถึงวันนี้ ไวรัสโควิด-๑๙ ไม่เกี่ยวอะไรกับสุนัข แต่เกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ ที่ต้องไปจับสุนัข หากสถานการณ์ดีขึ้นในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม ก็จะเปิดรับตามแผน เพื่อจะได้แก้ไขปัญหาในกรณีที่สุนัขจรจัดทำร้ายเด็กหรือผู้สูงอายุ ไม่สร้างความเดือดร้อนในด้านมลภาวะ ความสกปรก รวมทั้งลดการเพิ่มจำนวนประชากรสุนัขจรจัดในพื้นที่”
“เมื่อรับเข้ามาแล้วจะมีการทำหมันให้สุนัขทุกตัว ตอนนี้มีสุนัขในความดูแล ๘๕๐ ตัว ๑ คอกมีสุนัขประมาณ ๑๕๐-๑๘๐ ตัว ค่าใช้จ่ายค่าอาหารสำหรับสุนัขประมาณ ๒ แสนบาทต่อเดือน โดยให้กินอาหารเม็ด เพราะจัดการง่าย เจ้าหน้าที่จากวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์มีทั้งหมด ๑๐ ท่าน ซึ่งไม่เพียงพอต่อจำนวนสุนัข และได้รับความอนุเคราะห์จากทหารเกณฑ์ ๒๐ นาย ศูนย์ฝึกสุนัข รวมถึงเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวกับโครงการสัตว์ของอำเภอปากช่องเข้ามาร่วมดูแล โดยให้อาหารเพียงวันละ ๑ มื้อ ในช่วงเวลา ๑๑.๐๐-๑๔.๐๐ น. นอกจากค่าอาหารแล้ว ยังมีอีกหนึ่งปัจจัยหลักคือค่าน้ำ เพราะใช้น้ำล้างคอก ล้างภาชนะ อุปโภคบริโภค รวมถึงอาบน้ำ ถือเป็นปัจจัยหลักที่ถูกมองข้าม” นางสาวสีตลา จุฑะรพ กล่าว
นายวิเชียร จันทรโณทัย กล่าวว่า “เมื่อสถานการณ์โควิด-๑๙ คลี่คลายมีเป้าหมายว่า จะนำสุนัขจรจัดจากบุ่งตาหลั่ว สวนภูมิรักษ์ และตามโรงเรียนต่างๆ ในเขตเทศบาลฯ เข้ามาบำบัด จึงขอนำสุนัขในเขตจังหวัดนครราชสีมา มาไว้ที่นี่ และในอีก ๓ จังหวัดที่เหลือก็พิจารณาตามลำดับความเหมาะสมต่อไป”
สำหรับสุนัขจรจัดที่จะมาเข้ารับบริการในศูนย์ฯ ต้องผ่านการคัดกรองจากสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดก่อน เพื่อตรวจรักษาเบื้องต้น และฝังไมโครชิพบันทึกข้อมูล โดยสัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ จากนั้นศูนย์ฯ จะคัดแยกเพื่อนำสุนัขจรจัดไปดูแลและฝึกพฤติกรรมให้เหมาะสม สามารถเชื่อฟังคำสั่งอย่างง่าย เพื่อให้สัตว์จรจัดมีสุขภาพดี แข็งแรง และมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยผู้ที่มีความประสงค์ขออุปถัมภ์สุนัขที่มีสุขภาพสมบูรณ์ สามารถนำสุนัขไปเลี้ยงดูโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งเป็นอีกหนึ่งแนวทางในการแก้ปัญหาสุนัขจรจัดอย่างยั่งยืน
จากนั้นเวลา ๑๔.๐๐ น. ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เข้าเยี่ยมชมและศึกษาการทำงานของระบบบำบัดน้ำเสียเทศบาลเมืองปากช่อง ณ สำนักงานจัดการน้ำเสียสาขาปากช่อง หมู่ ๑๓ (บ้านท่างอย) ตำบลจันทึก อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา โดยกล่าวว่า “เนื่องจากประชาชนร้องเรียนระบบบำบัดน้ำเสียของเทศบาลอำเภอปากช่อง ที่ปล่อยน้ำลงไปยังลำตะคอง ซึ่งเป็นต้นน้ำและใช้เพื่ออุปโภคบริโภคของประชาชนจังหวัดนครราชสีมา เมื่อได้รับทราบปัญหาดังกล่าว จึงได้เชิญผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และผู้อำนวยการสิ่งแวดล้อมภาค ๑๑ ร่วมหารือกันก่อนหน้านี้ และให้สิ่งแวดล้อมภาค ๑๑ สุ่มตัวอย่างน้ำที่ผ่านการบำบัดของเทศบาลเมืองปากช่องไปตรวจสอบ ซึ่งใช้ระยะเวลานานพอสมควร เมื่อทราบผลแล้วจึงลงพื้นที่ในวันนี้ ได้ทราบว่ามีน้ำเสียที่ออกจากการบำบัดวันละประมาณ ๙ ร้อยคิว ซึ่งได้มาตรฐานก่อนที่จะปล่อยลงลำตะคอง”
“ในขณะเดียวกัน ก่อนที่จะลงลำตะคอง มีประชาชนนำน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้ว ไปใช้ประโยชน์ทางด้านเกษตรและปศุสัตว์ เพราะฉะนั้นเหลือปริมาณน้ำที่ลงลำตะคองจริงๆ วันละประมาณ ๕ ร้อยคิวเท่านั้น ในอนาคต สำนักงานจัดการน้ำเสียสาขาปากช่อง จะสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียเพิ่มขึ้น เพื่อเพิ่มคุณภาพในการบำบัดน้ำเสียด้วยคลอรีน อยากให้ประชาชนที่ใช้น้ำจากลำตะคอง ตั้งแต่อำเภอสีคิ้วไปจนถึงอำเภอเมืองนครราชสีมา สบายใจได้ว่า น้ำเสียในเขตอำเภอปากช่องที่ไหลลงสู่ลำตะคอง เป็นน้ำเสียที่ผ่านการบำบัดและได้รับมาตรฐานแน่นอน” นายวิเชียร กล่าว
ทั้งนี้ บ่อเติมอากาศ (Aerated Lagoon) มีปริมาณ ๑๘,๓๖๐ ลูกบาศก์เมตร กว้าง ๗๐ เมตร ยาว ๑๐๐ เมตร ลึก ๓ เมตร เป็นระบบบำบัดน้ำเสียที่อาศัยการเติมออกซิเจนจากเครื่องเติมอากาศ (Aerator) ที่ติดตั้งแบบทุ่นลอยเพื่อเติมออกซิเจนในน้ำให้มีปริมาณเพียงพอสำหรับจุลินทรีย์ สามารถนำไปใช้ย่อยสลายสารอินทรีย์ในน้ำเสียได้เร็วขึ้น โดยการปล่อยสารสลายตามธรรมชาติ ทำให้ระบบบำบัดน้ำเสียแบบบ่อเติมอากาศสามารถบำบัดน้ำเสียได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถลดความสกปรกของน้ำเสีย โดยอาศัยหลักการทำงานของจุลินทรีย์ภายใต้สภาวะที่มีออกซิเจนเป็นผลทำให้ค่า BOD ในน้ำลดลง
913 1,555