29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

August 01,2020

‘ชาวสวนยางโนนสุวรรณ’บุรีรัมย์ รวมกลุ่มแปรรูปยางสร้างมูลค่าเพิ่ม

เกษตรกรโนนสุวรรณรวมกลุ่มแปรรูปยางพารา หวังสร้างมูลค่าและรายได้เพิ่ม ปัจจุบันผลิตยางแผ่นรมควัน และยางเครปบางสีน้ำตาล มาตรฐาน GMP แห่งแรกของโลก ส่งขายบริษัทยางล้อรถยนต์ และโรงงานรองเท้าเดือนละเกือบ ๒๐๐ ตัน 

 

ชาวสวนยางตำบลดงอีจาน อำเภอโนนสุวรรณ จังหวัดบุรีรัมย์ รวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มเกษตรกร “ฐานเกษตรยางพารา” เพื่อหวังสร้างมูลค่าและรายได้เพิ่มให้กับเกษตรกร โดยการรับซื้อรวบรวมน้ำยางดิบ และยางก้อนถ้วย จากสมาชิก และเครือข่ายเกษตรกรในพื้นที่ อ.โนนสุวรรณ และ อ.หนองกี่ แล้วนำไปแปรรูปเป็นยางแผ่นรมควัน ยางเครปบางสีน้ำตาล ยางเครปบางสีน้ำตาลอัดแท่ง ส่งขายให้กับบริษัทยางล้อรถยนต์ และโรงงานผลิตรองเท้า เฉลี่ยเดือนละเกือบ ๒๐๐ ตัน สามารถสร้างรายได้ให้กับสมาชิกกว่า ๒๐๐ ราย เฉลี่ยเดือนละกว่า ๒๐,๐๐๐ บาท และสิ่งที่สร้างความภาคภูมิใจให้กับกลุ่มฯ คือ รางวัลและประกาศเกียรติคุณจากหน่วยงานต่างๆ ที่การันตีถึงความมุ่งมั่นตั้งใจในการแปรรูปยางพาราให้มีคุณภาพมาตรฐาน  โดยเฉพาะ เมื่อปี ๒๕๖๑ กลุ่มเกษตรฐานเกษตรยางพาราแห่งนี้ ได้รับการรับรองมาตรฐาน การผลิตยางเครปบางสีน้ำตาล ชั้นพิเศษ และยางแผ่นรมควันชั้นพิเศษ ได้มาตรฐาน GMP เป็นแห่งแรกของประเทศไทย และแห่งเดียวในโลก ทำให้มียอดส่งออกไปจีนจำนวนมากถึง ๒๐,๐๐๐ ตัน โดยปัจจัยที่ทำให้ยางมีคุณภาพเกิดจากความใส่ใจในขั้นตอนการอบยาง เพราะใช้อุณหภูมิต่ำความร้อนไม่เกิน ๗๐ องศาเซลเซียส หากเทียบกับโรงงานทั่วไปอาจจะใช้อุณหภูมิสูงถึง ๑๔๐ องศา จะทำให้ความยืดหยุ่นของยางเสื่อมคุณภาพเร็ว

นายธนากร จีนกลาง ประธานกรรมการกลุ่มเกษตรกร ฐานเกษตรยางพารา อ.โนนสุวรรณ กล่าวว่า ที่ผ่านมาเกษตรกรจะนิยมขายน้ำยางดิบ และยางก้อนถ้วย เพราะไม่ต้องการ ยุ่งยาก แม้จะได้ราคาต่ำ แต่เมื่อ กยท.เข้ามาสนับสนุนส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาแปรรูปยางพารา เพื่อเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่ม จึงเป็นที่มาของการรวมกลุ่มแปรรูปยางพาราดังกล่าว

โดยเมื่อปี ๒๕๕๑ ดำเนินการในนามกลุ่มพันธมิตรผลิตยาง ต่อมาได้จัดตั้งและขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตรเป็น “วิสาหกิจชุมชนกลุ่มฐานเกษตรยางพารา” เพื่อร่วมมือกันแปรรูปยางแผ่นรมควัน เพิ่มอำนาจการต่อรองกับผู้ซื้อ กระทั่งปี ๒๕๖๑ ได้ยกระดับเป็น “กลุ่มเกษตรกร ฐานเกษตรยางพารา” มีสถานะเป็นนิติบุคคล ทุกวันนี้ถึงแม้กลุ่มจะมีความเข้มแข็ง แต่ในยุคปัจจุบันที่การแข่งขันด้านการตลาดค่อนข้างสูง รวมถึงภาวะเศรษฐกิจ และสถานการณ์ของโรคระบาด จำเป็นจะต้องมีการปรับตัวให้เท่าทันสถานการณ์ โดยเฉพาะการแปรรูปยางที่จะต้องมีคุณภาพมาตรฐาน และกำลังผลิตที่เพียงพอ จึงอยากให้ กยท.หาแนวทางสนับสนุนเรื่องเงินทุนหรือสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องในการดำเนินการ และขยายกำลังการผลิตได้มากขึ้น เพราะที่ผ่านมา เวลาเสนอขอรับการสนับสนุนในด้านต่างๆ ค่อนข้างล่าช้า ทำให้เกษตรกรเสียโอกาส

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๒๖๓๘วันพุธที่ ๒๙ เดือนกรกฎาคม - วันอังคารที่ ๔ เดือนสิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๓

 

 


900 1465