20thSeptember

20thSeptember

20thSeptember

 

August 01,2020

‘เศรษฐกิจโคราชอยู่จุดไหน?’ ย้ำต้องยั่งยืนด้วยตัวเอง

พลิกฟื้นธุรกิจโคราชหลังวิกฤตโควิด-๑๙ ‘มทร.อีสาน’ จับมือ NBI บรรยายสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุน เพื่อพัฒนาธุรกิจฐานราก แก้ไขปัญหาและพัฒนาผู้ประกอบการให้มีศักยภาพในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน

 

สถาบันชุณหะวัณเพื่อการพัฒนาธุรกิจเอสเอ็มอีอย่างยั่งยืน (CISMED) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน นครราชสีมา (มทร.อีสาน) ร่วมกับสถาบันการสร้างชาติ (NBI) จัดบรรยายพิเศษในหัวข้อ “เศรษฐกิจไทยวิถีใหม่กับโอกาสพลิกฟื้นธุรกิจเมืองโคราชหลังวิกฤต COVID-19” โดยมีนายวิเชียร จันทร โณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วย ผศ.ณรงค์ ผลวงษ์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและทรัพยากรมนุษย์ มทร.อีสาน และบุคลากร มทร.อีสาน ร่วมรับฟัง บรรยายโดยศาสตราจารย์ ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ ประธานสถาบันการสร้างชาติ (NBI) จัดขึ้นเมื่อวันที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๖๓ ณ ห้องประชุมตะโกราย ๑ อาคาร ๓๕ สำนักงานส่งเสริมวิชาการและงานทะเบียน มทร.อีสาน นครราชสีมา

โดยงานดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อพัฒนาธุรกิจ SME อย่างยั่งยืน สร้างความตระหนักและส่งเสริมจิตวิญญาณของผู้ประกอบการ อีกทั้งเป็นการส่งเสริมบทบาทของ มทร.อีสาน ในด้านการบริการอุตสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ให้มีศักยภาพในการแข่งขันและสร้างความเชื่อมั่นกับภาคธุรกิจในเขตจังหวัดนครราชสีมา โดย มทร.อีสาน เป็นกลไกหนึ่งในการขับเคลื่อนพัฒนาผู้ประกอบการของจังหวัดนครราชสีมา โดยมีความพร้อมทางเทคโนโลยี องค์ความรู้ และผู้เชี่ยวชาญที่จะสามารถเข้าไปแก้ปัญหาและพัฒนาผู้ประกอบการให้มีศักยภาพในการดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืน

ปชช.เดือดร้อนจากโควิด-๑๙ 

นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า “เมื่อไวรัสโควิด-๑๙ เกิดขึ้น แต่ในสักวันหนึ่งต้องหมดไป โคราชจะประกาศเป็นแหล่งประชุม สัมมนา และการท่องเที่ยว เร่งให้โรงแรมและผู้ประกอบการเปิดดำเนินการ แต่ถึงอย่างไรก็ตามยังอยู่ในวงจำกัด ในวิกฤตมีโอกาส เป็นคำพูดที่สวยหรู แต่คนที่มองเห็นโอกาสมีน้อยมาก ในช่วงไวรัสโควิด-๑๙ มีหนึ่งสิ่งที่สะท้อนใจและกังวลมากคือ มีคนจนมากกว่าที่คิด มีคนเดือดร้อนมากกว่าข้อมูลที่กรมพัฒนาชุมชนมี เราคิดว่ามีคนจนประมาณ ๑,๒๐๐ ครัวเรือน จาก ๒,๖๗๐,๐๐๐ ครัวเรือน ของจำนวนประชากรจังหวัดนครราชสีมา เมื่อเกิดวิกฤตการณ์ไวรัสโควิด-๑๙ ประชาชนมีความยากลำบาก ตกงาน หลายกิจการต้องหยุดชะงัก ประชาชนได้รับความเดือดร้อนมากกว่าที่คิด ครอบครัวที่ยากจนเมื่อหยุดงานแค่ ๓ วัน ก็ได้รับความเดือดร้อนแล้ว เพราะฉะนั้น คำว่าคนจนในประเทศไทยต้องนิยามความหมายใหม่ สังคมไม่มีความมั่นคงในชีวิต แล้วคนจะมีความสุขได้อย่างไร”

‘โคราชไมซ์ซิตี้’

“วันนี้ตั้งใจมาฟังแนวคิดของ ศาสตราจารย์ ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ เพื่อสร้างเป็นแรงบันดาลใจในการทำงานในอนาคต โคราชเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพ มีโครงการของรัฐบาลเข้ามามากมาย เราพยายามเชื่อมโครงการเหล่านั้นให้เข้ากับจังหวัดและให้ชาวโคราชได้รับประโยชน์ เราขอให้ มทร.อีสาน ที่มีความถนัดด้านวิศวกรรมเข้ามาดูแลเรื่องโลจิสติกส์ และ    ขอให้มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เข้ามาดูแลเรื่องการท่องเที่ยว ทางจังหวัดเสนอเข้าไปในโครงการ Mice City การเดินทางเข้ามาในจังหวัดนครราชสีมา จะไม่ยากอีกต่อไป คิดว่าจะประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี ใช้ประโยชน์จากโลจิสติกส์ที่กำลังเข้ามา ทั้งมอเตอร์เวย์ หรือรถไฟความเร็วสูงที่เชื่อมไปยัง สปป.ลาว ซึ่งโคราชเสนอตัวเป็นเจ้าภาพพืชสวนโลกในปี ๒๕๗๒ เสนอไปแล้วเมื่อปีที่ผ่านมา โดยเลือกพื้นที่อำเภอคง ด้วยเหตุผลที่ว่า เราต้องการกระจายรายได้และความเจริญไปตามเส้นทางรถไฟความเร็วสูง”
นายวิเชียร กล่าวต่ออีกว่า “เมื่อสถาบันการสร้างชาติ (NBI) จัดบรรยายวันนี้ หวังว่าจะมีประโยชน์สำหรับทุกคนที่ร่วมรับฟัง โดยเฉพาะผู้ใหญ่ในจังหวัดนครราชสีมา ทั้งราชการ เอกชน และภาคประชาสังคม อย่างน้อยก็น่าจะจุดประกายให้เราไปคิดต่อว่า สิ่งที่จะได้หลังจากวิกฤตการณ์ไวรัสโควิด-๑๙ ควรจะเป็นไปในทิศทางไหน ผมหวังว่าจะก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งจาก NBI, นักศึกษา มทร.อีสาน และผู้สนใจในจังหวัดนครราชสีมา”

วิกฤตเศรษฐกิจที่ท้าทาย

ศาสตราจารย์ ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ ประธานสถาบันการสร้างชาติ บรรยายว่า “วิกฤตการณ์ไวรัสโควิด-๑๙ ที่เกิดขึ้น ถ้าผลิตวัควีนป้องกันได้จะกลายเป็นปรากฏการณ์ที่สามารถผลิตวัคซีนป้องกันไวรัสได้ภายใน ๑๒ เดือน  ซึ่งโดยปกติจะผลิตวัคซีนป้องกันไวรัสและสามารถกระจายวัคซีนได้ภายใน ๑๒-๑๘ เดือน เพราะต้องมีขั้นตอนในการผลิตอย่างรอบคอบและมีปัจจัยหลายอย่างในการควบคุม คาดหวังว่าจะผลิตวัคซีนที่ป้องกันได้จริงๆ แต่ถ้าผลิตไม่ได้ ให้คิดแง่ร้ายไว้ก่อนเราจะได้ป้องกันตัวเอง วิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ เกิดขึ้นจากโรคภัยไข้เจ็บ ไม่เหมือนวิกฤตเศรษฐกิจที่ผ่านมา ตัวอย่างเช่นเมื่อปี ๒๕๔๐ เกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง ถือเป็นวิกฤตเศรษฐกิจที่หนักมาก แต่ครั้งนี้ถือเป็นวิกฤตเศรษฐกิจที่ท้าทายมากว่า เราจะแก้ไขและผ่านไปได้อย่างไร คนที่หาเช้ากินค่ำจะรู้สึกเร็วเพราะไม่มีเงินสำรอง คนที่มีเงินเก็บในช่วงแรกๆ จะยังไม่รู้สึกอะไร ส่วนในภาคธุรกิจจะได้รับผลกระทบไม่เกิน ๖-๘ เดือน เพราะไม่มีธุรกิจไหนมีสายป่านยาวนานเกินนี้ ถือเป็นสถานการณ์ที่เราต้องเผชิญ เศรษฐกิจโลกกำลังได้รับผลกระทบครั้งยิ่งใหญ่ เศรษฐกิจไทยต้องกู้เงินมาเพื่อประคองระบบไว้ ไม่สามารถแจกเงินไปได้เรื่อยๆ ต้องมีวันสิ้นสุดในการกระตุ้นเศรษฐกิจลักษณะนี้ และเงินนี้ไม่ใช่ของฟรี ต้องมีคนจ่าย นั่นคือคนรุ่นต่อไป ลูกหลานของเราเอง 

ผลกระทบเศรษฐกิจไทย

ครั้งนี้ เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบหนัก ๓ ด้าน ประกอบด้วย ๑.การส่งออกสินค้า เมื่อส่งออกไม่ได้จะเกิดปัญหาใหญ่ตามมา ๒.ด้านการท่องเที่ยว เมื่อมีการปิดประเทศนักท่องเที่ยวก็ไม่สามารถเข้ามาได้ ๓.ด้านการลงทุน ไม่มีนายทุนที่ไหนเข้ามาลงทุน เพราะสถานการณ์ไม่เอื้ออำนวย แม้แต่นายทุนที่ลงทุนไปแล้วยังหยุดลงทุนชั่วคราว หากเราจะดึงนายทุนเข้ามาเราต้องให้เขามองเห็นว่า ประเทศไทยพิเศษกว่าที่เขาเคยไปลงทุน ต้องใช้ศิลปะในการเชิญชวนเข้ามาลงทุนซึ่งยากมากที่จะทำได้ ประเทศเราเป็นเศรษฐกิจระบบเปิดที่ไม่สามารถจะพึ่งพาระบบภายในได้เพียงพอ จะใช้หลักเศรษฐกิจของจีน ญี่ปุ่น หรือประเทศฝั่งตะวันตกมาใช้ไม่ได้ นักลงทุนไทยกระจายความเสี่ยงโดยลงทุนในที่ต่างๆ ไม่ใช่แค่ที่ไทย SME ประเทศไทยคิดเป็น ๙๐% ของธุรกิจไทย มีขนาดรวมเล็กน้อยเมื่อเทียบกับองค์กรขนาดใหญ่ (LE: Large Enterprise)

ดึงคนเก่งเข้าประเทศ

ศาสตราจารย์ ดร.เกรียงศักดิ์ กล่าวต่ออีกว่า “ผมมีนโยบายจะเอาคนเก่งที่สุดระดับโลก ๑ ล้านคน มาอยู่ที่ประเทศไทย ต้องการคนที่มีความถนัดในแต่ละสาขาอาชีพมาทำงานร่วมกับเรา เพราะแรงงานต่างชาติไม่ใช่กำลังสำคัญในระยะยาว เราต้องการคนที่แข็งแกร่งในด้านการศึกษาเข้ามาช่วยพัฒนาและให้คนไทยซึมซับวิธีการ ทุกจังหวัดในประเทศไทยต้องมีจุดแกร่ง โดยวิเคราะห์เป็นวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่ไสยศาสตร์ โคราชมีพื้นที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย จำนวนประชากรกว่า ๒.๖ ล้านคน ผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (GPP) อันดับ ๑ ในภาคอีสาน อันดับ ๑๑ ของประเทศ คนจนเฉลี่ย ๑๑.๕๕ % แต่รายได้ประชากรต่อหัวไม่สูงมาก ประมาณ ๑.๑๘ แสนต่อปี ต้องการให้รายได้ต่อหัวขึ้นมาอีก ๓ เท่าตัวภายใต้การนำของนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดฯ เมื่อตั้งคำถามว่า โคราชอยู่จุดไหนของเศรษฐกิจไทย สิ่งที่สำคัญกว่านั้น โคราชต้องพึ่งพาตัวเอง ยั่งยืนด้วยตัวเอง แล้วรวบรวมความยั่งยืนเข้าด้วยกัน เพื่อกระจายความเสี่ยง เมื่อถึงยามวิกฤตจะรับมือได้ดี”

โคราชเมืองแห่งโลจิสติกส์ฮับ

“สำหรับแนวโน้มด้านการท่องเที่ยว หลังโควิด-๑๙ โคราชควรใช้จุดแข็งระยะยาวในการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยว สร้างกิจกรรม ๕๒ สัปดาห์ เที่ยวไม่ซ้ำสถานที่ มีของดี ๓๒ อำเภอ แล้วจะเกิดการหมุนเวียนผู้คนเข้ามา ต้องจัดระเบียบโคราชโดยให้องค์กรใหญ่เข้ามาช่วยเหลือองค์กรเล็กแล้วดึงกันขึ้นไป ถ้าองค์กรใหญ่ขึ้นไปอยู่ฝ่ายเดียวก็ไม่รอดเพราะนี่คือธุรกิจ จะต้องรอดด้วยกัน จัดเครือข่ายประสานงานให้ดี โคราชจะกลายเป็น Mice City ที่มีกิจกรรมดึงดูดผู้คนเข้าเมือง เกิดการค้าขาย และการขนส่ง ทั้งในแถบภูมิภาคและอินโดจีน โดยเฉพาะจีนตอนใต้ มีโอกาสเข้ามาอย่างมาก ต้องคิดว่าโลจิสติกส์ฮับเชื่อมโยงกับภาคอีสาน สปป.ลาว, กัมพูชา, เวียดนาม และจีนตอนใต้อย่างไร เมื่อทำได้โคราชจะกลายเป็นเมืองแห่งโลจิสติกส์ฮับอย่างแท้จริง โคราชมีความพร้อมอยู่แล้วในด้านคมนาคม อยู่ที่ว่าจะจัดระบบและวางแผนให้ดีอย่างไร เศรษฐกิจโลกยุคใหม่คือเอเชีย และจุดที่มาแรงที่สุดคือ CIA (จีน อินเดีย และอาเซียน) จัดให้โคราชเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ฮับให้ได้ ถ้าโคราชเป็นเมืองหลวงของ CIA โคราชจะมีที่ยืนอย่างสง่างามบนเวทีโลก” ศาสตราจารย์ ดร.เกรียงศักดิ์ กล่าว

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๒๖๓๘วันพุธที่ ๒๙ เดือนกรกฎาคม - วันอังคารที่ ๔ เดือนสิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๓

 

 


996 1,589