30thOctober

30thOctober

30thOctober

 

August 01,2020

มั่นใจ‘โคราชไมซ์ซิตี้’ จังหวัดที่ ๖ ของไทย รออนุมัติสร้างศูนย์ประชุม

เตรียมยกระดับสู่ MICE City เมืองแห่งการประชุมสัมมนาและจัดนิทรรศการ เป็นจังหวัดที่ ๖ ของประเทศ ยืนยัน ๒๔ สิงหาคมนี้รู้ผล เผยศึกษาความเหมาะสมการก่อสร้างศูนย์ประชุมสัมมนาเสร็จแล้ว แต่ต้องรอความพร้อม เพื่อให้ ครม.อนุมัติงบฯ โดยเบื้องต้นเล็งปักหมุดที่ มทส. และที่ดินรถไฟ

สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๖๓ นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานประชุมคณะกรรมการส่งเสริมและขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรม MICE จังหวัดนครราชสีมา และส่วนราชการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมรับการตรวจประเมินเมือง MICE City ขั้นตอนที่ ๒ จังหวัดนครราชสีมา จากสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน)  หรือ TCEB (ทีเส็บ)

ประเมินโคราชเป็นเมือง MICE

จากนั้น เมื่อวันที่ ๑๓-๑๔ กรกฎาคม ๒๕๖๓ คณะทีเส็บ นำโดย นางศุภวรรณ ตีระรัตน์ รองผู้อำนวยการทีเส็บ นางสาวสุรัชสานุ์ ทองมี ผู้อำนวยการฝ่ายสำนักส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พร้อมด้วยคณะกรรมการตรวจประเมินเมืองเข้าร่วมประชุมการประเมินศักยภาพเมืองไมซ์ หรือ MICE City ของจังหวัดนครราชสีมา โดยมีนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วยนายจรัสชัย โชคเรืองสกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดฯ และผู้แทนภาคีเครือข่ายของจังหวัดนครราชสีมา หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา และภาคประชาชนที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมผนึกกำลังเตรียมความพร้อมตรวจประเมินเมือง
คณะทำงานทีเส็บและจังหวัดลงสำรวจพื้นที่ โดยมีจุดเยี่ยมชมที่มีศักยภาพความพร้อม อาทิ Exhibition Hall Terminal 21 Korat บนพื้นที่ ๓,๐๐๐-๕,๐๐๐ ตารางเมตร ที่ใช้ในการจัดงานแสดงสินค้า, สถานที่จัดประชุมที่ได้มาตรฐาน เช่น โรงแรมแคนทารี โคราช และสถานที่จัดงาน Special Venue เรือนโคราช รวมทั้งสถานที่ต่างๆ ในจังหวัดที่สามารถจัดทำกิจกรรมรองรับ pre-post tour ของนักธุรกิจกลุ่มไมซ์ด้วย ในการนี้จังหวัดนครราชสีมาได้จัดประชุมคณะกรรมการไมซ์เพื่อเตรียมแผนขับเคลื่อนและกิจกรรมดำเนินการในพื้นที่ร่วมกับทีเส็บ

ต่อมา เมื่อวันที่ ๒๔-๒๕ กรกฎาคม ๒๕๖๓ ที่โรงแรมแคนทารี โคราช ทีเส็บเริ่มกระตุ้นตลาดไมซ์ในประเทศ ด้วยการสนองนโยบายรัฐบาล ด้วยการจัดประชุมคณะกรรมการทีเส็บครั้งที่ ๖/๒๕๖๓ เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจภูมิภาค โดยมีวาระประชุมร่วมกับจังหวัดนครราชสีมา เพื่อขับเคลื่อนให้จังหวัดนครราชสีมาเป็นเมืองไมซ์ หลังจากได้ร่วมผลักดันพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับกิจกรรมไมซ์ โดยมีนางอรรชกา สีบุญเรือง ประธานกรรมการฯ นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการทีเส็บ และนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดฯ เป็นประธานในการประชุมร่วม ซึ่งจังหวัดนครราชสีมาได้นำผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นชุมชนมาจัดแสดงก่อนการประชุม เพื่อแสดงความหลากหลายของเศรษฐกิจชุมชนที่พร้อมสร้างประสบการณ์แปลกใหม่ให้กับผู้มาประชุมในอนาคต ทั้งนี้ คณะกรรมการทีเส็บลงพื้นที่เยี่ยมชมชุมชนท้องถิ่น และสถานที่จัดประชุมใหม่ของจังหวัด ก่อนเดินทางกลับด้วย

รวมพลัง ๓ สถานศึกษา

ล่าสุด เมื่อวันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๖๓ เวลา ๑๑.๓๐ น. ผศ.ดร.ณัฏฐินี ทองดี รองผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา และรองผู้อำนวยการอุทยานธรณีโคราช (Khorat Geopark) ในฐานะคณะทำงาน MICE City จังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยกับ “โคราชคนอีสาน” เกี่ยวกับความคืบหน้าการประเมินจังหวัดนครราชสีมา เพื่อเป็น MICE City ว่า “ตามที่ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา แต่งตั้งสถาบันการศึกษาทั้ง ๓ แห่ง ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (มทร.อีสาน) และมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เป็นเครือข่ายในการศึกษาเรื่อง MICE City ของโคราช มีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมาเป็นประธานข่ายสถาบัน โดยทั้ง ๓ สถาบันจะมีหน้าที่แตกต่างกัน เช่น มทร.อีสาน จะศึกษาเรื่อง Dry Port (ท่าเรือบก), มทส.ศึกษาเรื่อง Smart City และราชภัฏฯ ศึกษาเรื่อง MICE City ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเตรียมข้อมูลด้านต่างๆ ที่ศึกษามาสนับสนุนการทำงานของจังหวัด”

ลุ้นผลโคราชเป็นเมือง MICE

ผศ.ดร.ณัฏฐินี กล่าวอีกว่า “การที่จังหวัดใดขอเป็น MICE City จะมีการทำงานทั้งหมด ๖ ขั้นตอน โคราชเพิ่งผ่านขั้นที่ ๔ ขั้นการประเมินเมือง และขณะนี้อยู่ในขั้นตอนที่ ๕ คือ การพิจารณาและแจ้งผลว่าโคราชจะได้เป็น MICE City หรือไม่ และจะได้เป็น MICE City ระดับใด โดยการเป็น MICE City แต่ละจังหวัดจะได้รับระดับเมือง ดังนี้ ๑.MICE City ระดับภูมิภาค เช่น จังหวัดขอนแก่น และเมืองพัทยา ๒.เมือง MICE City ระดับประเทศ เช่น จังหวัดภูเก็ต และเชียงใหม่ ๓.เมือง MICE City ระดับนานาชาติ อยู่ที่กรุงเทพฯ แห่งเดียว ซึ่งแต่ละระดับจะมีความแตกต่างกันอยู่ที่ความพร้อมของเมืองเมื่อต้องจัดงานขนาดใหญ่ เช่น ที่กรุงเทพฯ เป็นระดับนานาชาติ เนื่องจากมีความพร้อมทุกด้าน ทั้งการคมนาคม ความเป็นมืออาชีพของผู้จัดงาน และความพร้อมของสถานที่”

ความพร้อมของเมือง

“สำหรับโคราช ผู้ว่าฯ ได้ผลักดันการเป็น MICE City เมื่อ ๒ ปีที่แล้ว ในการประชุม ครม.สัญจรที่จังหวัดบุรีรัมย์ ในการดำเนินการโดยจังหวัด จะกำหนดยุทธศาสตร์ของเมือง การศึกษาเมือง ซึ่งขั้นตอนเหล่านี้ได้รับความร่วมมือจากทีเส็บ เมื่อโคราชมีความพร้อม ผู้ว่าฯ ก็ส่งความจำนงในการขอรับการประเมินเมือง โดยส่งไปเมื่อปี ๒๕๖๒ เมื่อผ่านการประเมินแล้ว โคราชก็จะส่งเสริมการประชุมและจัดนิทรรศการที่เกี่ยวข้องกับ MICE City และทุกๆ ๕ ปี จะมีการประเมินเมืองอีกครั้ง สมมติว่า รอบนี้โคราชได้รับการประเมินเป็น MICE City ระดับประเทศ หากใน ๕ ปีนี้ โคราชมีความพร้อมมากขึ้น เช่น มีรถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง หรือสายการบิน และสิ่งอำนวยความสะดวกมากขึ้น โคราชก็อาจจะขยับตัวเองขึ้นไปอยู่ในระดับนานาชาติได้ โดยหลังจากนี้ หากโคราชได้เป็น MICE City ทีเส็บ จะคอยช่วยเหลือเรื่องการหาการประชุมสัมมนาใหญ่ๆ มาให้ เช่น การจัดประชุมสัมมนาขนาดใหญ่ของภาคธุรกิจการค้า หรือการศึกษา” ผศ.ดร.ณัฏฐินี กล่าว

“MICE ประกอบขึ้นมาจาก ๔ คำ ดังนี้ ๑.M คือ Meetings เป็นการประชุม การพบปะสังสรรค์ทางความคิด ความรู้ และสร้างสัมพันธ์ขององค์กรต่างๆ ด้วยกัน ๒.I คือ Incentives เป็นการท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล ก่อให้เกิดแรงกระตุ้นและแรงผลักดัน ให้เกิดการพัฒนาศักยภาพการทำงานของบุคลากร ๓.C คือ Conventions เป็นการประชุมขนาดใหญ่ที่จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมความรู้ เกิดการแลกเปลี่ยน การอภิปรายอย่างเข้มข้น โดยมีจำนวนผู้เข้าร่วมอาจถึงหลักหมื่น โดยสมาคม สมาพันธ์ และอื่นๆ เป็นเจ้าของงาน และ ๔.E คือ Exhibitions เป็นงานแสดงสินค้า นวัตกรรม บริการ และอื่นๆ ที่มุ่งเน้นให้เกิดการเจรจาธุรกิจระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย ความหมายของ E ในที่นี้รวมไปถึงงาน Trade Show, Trade Fair, Trade Expo และงาน Fair รวมทั้งงานที่สร้างรายได้มหาศาลให้แก่ประเทศด้วย เช่น งานมหกรรมศิลปะนานาชาติ ครั้งที่ ๒ Thailand Biennale Korat และงานพืชสวนโลกที่โคราเสนอตัวขอจัดขึ้นในอีก ๑๐ ปีข้างหน้า”

ประโยชน์การเป็น MICE City

ผศ.ดร.ณัฏฐินี กล่าวอีกว่า “ในการเป็น MICE City จะทำให้ภาคธุรกิจการค้า การลงทุน และภาคประชาชน ได้รับประโยชน์เต็มๆ เช่น ศูนย์ประชุม ห้างสรรพสินค้า โรงแรม และแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ เพราะเมื่อมีคนมาร่วมประชุมหรือจัดนิทรรศการ ก็จะต้องมีการท่องเที่ยวเกิดขึ้น มีการจับจ่ายใช้สอยในระดับท้องถิ่นมากขึ้น นอกจากในเชิงเศรษฐกิจที่จะได้รับประโยชน์แล้ว ก็จะได้รับในเรื่องขององค์ความรู้ต่างๆ จะกระจายมาสู่โคราชและท้องถิ่นมากขึ้น เช่น หากมีการประชุมขนาดใหญ่เรื่องอุตสาหกรรมทางการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องมันสำปะหลัง เรื่องการแปรรูป องค์ความรู้เหล่านี้ก็จะถูกนำมาถ่ายทอดต่อไปยังท้องถิ่นมากขึ้น หรือการที่โคราชเป็นเมืองอุตสาหกรรม เมื่อมีการจัดงานด้านอุตสาหกรรม เช่น เครื่องจักรหรือเครื่องยนต์ เราก็สามารถนำสินค้าเหล่านี้มาจัดแสดงในโคราช ทำให้ประชาชนได้เห็นเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมต่างๆ เหล่านี้ว่า มีความทันสมัยและก้าวหน้าไปมากน้อยเพียงใด และจะส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมในโคราชเติบโตมากขึ้น”

เล็งสร้างศูนย์ประชุมสัมมนา

“ส่วนการก่อสร้างศูนย์ประชุมนานาชาติ ตามที่โคราชเคยเสนอเมื่อครั้ง ครม.สัญจร ที่จังหวัดบุรีรัมย์นั้น ครม.ให้ศึกษาความต้องการหรือความเหมาะสมที่จะสร้างหรือไม่ และจะก่อสร้างเป็นรูปแบบใด เพราะศูนย์ประชุมแต่ละแห่งจะต้องหาความเป็นเอกลักษณ์ของเมือง จากนั้นก็ขึ้นอยู่กับความพร้อมของโคราชว่า จะยื่นของบประมาณเมื่อใด โดยจะต้องยื่นผลการศึกษาไปให้รัฐบาลพิจารณาต่อไป ซึ่งขณะนี้ศึกษาเสร็จเรียบร้อยแล้ว เบื้องต้นคาดว่าจะก่อสร้างที่ มทส. และบริเวณที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย นอกจากนี้ ในการศึกษาความเหมาะสม ยังได้ศึกษาทั้งกลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์และเชื่อมโยงไปกัมพูชาด้วย เพราะงบประมาณก่อสร้างสูง จะต้องมีความคุ้มค่าในการใช้ประโยชน์ ทางผู้ศึกษามองว่า พื้นที่อื่นก็มีโอกาสที่จะก่อสร้างศูนย์ประชุมเช่นกัน ดังนั้นจึงศึกษาที่จังหวัดบุรีรัมย์และสุรินทร์ด้วย” ผศ.ดร.ณัฏฐินี กล่าว

โคราชเป็น MICE City แน่นอน

ผศ.ดร.ณัฏฐินี กล่าวท้ายสุดว่า “การประเมินโคราชเพื่อเป็น MICE City จะสิ้นสุดในวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๖๓ ถ้าโคราชผ่านการประเมิน คาดว่าช่วงต้นเดือนสิงหาคมก็คงจะทราบผลแล้ว โดยวันที่ ๒๔ สิงหาคม ผู้ว่าราชการจังหวัดจะเดินทางไปรับโล่การเป็น MICE City จากนายกรัฐมนตรี ในงาน Thailand’s MICE United จัดโดยทีเส็บ แต่ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงก็ต้องดูสถานการณ์ว่าจะเป็นอย่างไรในช่วงนั้น แต่เชื่อว่า โคราชน่าจะผ่านการพิจารณาการเป็น MICE City เป็นจังหวัดที่ ๖ ของประเทศ”

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๒๖๓๘วันพุธที่ ๒๙ เดือนกรกฎาคม - วันอังคารที่ ๔ เดือนสิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๓

 

 


30 1,663