19thApril

19thApril

19thApril

 

August 08,2020

รับฟังปัญหาน้ำท่วม-ภัยแล้ง-รถไฟ ถ้าเดือดร้อน‘ทุบสะพานหัวทะเล’

“กำนันป้อ” ลุยติดตามความคืบหน้าโครงการใหญ่ พร้อมรับฟังปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้ง ขอเป็นตัวแทนคนโคราชนำเรื่องให้ ครม.พิจารณา เผยเตรียมหารือคมนาคม เรื่องทุบสะพานหัวทะเลยันต้องรับฟังประชาชนส่วนมาก

เมื่อวันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๖๓ ที่หอประชุมเปรมติณสูลานนท์ ชั้น ๒ ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล (กำนันป้อ) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เดินทางมาตรวจราชการจังหวัดนครราชสีมา เพื่อประชุมหารือติดตามผลการดำเนินงานของกระทรวงพาณิชย์ และความคืบหน้าการดำเนินโครงการสำคัญของจังหวัดนครราชสีมา จำนวน ๕ โครงการ ได้แก่ ๑.โครงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังบริเวณตลาดเชฟวัน ๒.โครงการสูบน้ำจากลำตะคองสู่ตัวเมืองนครราชสีมา ๓.โครงการท่าเรือบก ๔.โครงการรถไฟทางคู่ และ๕.โครงการศูนย์ซ่อมรถไฟ สถานีรถไฟชุมทางถนนจิระ โดยมีนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา หัวหน้าส่วนราชการ และเอกชนในจังหวัดนครราชสีมา รวมทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา ประกอบด้วย นายอภิชา เลิศพชรกมล เขต ๑๐ นายพรชัย อำนวยทรัพย์ เขต ๑๑,  และนายวิสิทธิ์ พิทยาภรณ์ เขต ๑๓ ให้การต้อนรับและร่วมประชุม

โคราช’เมืองสินค้า GI

นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวต้อนรับและรายงานว่า “ในนามของจังหวัดนครราชสีมา ขอขอบคุณรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์และคณะ ที่เดินทางมาติดตามและรับฟังข้อคิดเห็นความคืบหน้าของโครงการสำคัญของจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ลงพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ทั้งในหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์ นำคณะมาตรวจเยี่ยมการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์หรือ GI ในโคราช เพื่อยกระดับสินค้าชุมชน ของดีจังหวัดนครราชสีมา ทั้งกาแฟดงมะไฟ น้อยหน่าเพชรปากช่อง มะขามเทศเพชรโนนไทย ผ้าไหมคึมมะอุบัวลาย เครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน ผ้าไหมปักธงชัย รวมทั้งที่กำลังดำเนินการคือ ทุเรียนเสิงสาง และสิ่งที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเพิ่มแล้วคือข้าวหอมมะลิทุ่งสัมฤทธิ์ ซึ่งเรามีการจำหน่ายสินค้าเหล่านี้ไปยังพื้นที่ต่างๆ เพื่อให้มีคนรู้จักมากขึ้น

แก้ปัญหาโรคใบด่าง

“ในช่วงที่ผ่านมาประชาชนได้รับผลกระทบจากโควิด-๑๙ กระทรวงพาณิชย์จัดทำโครงการช่วยเหลือพี่น้องประชาชน มาจำหน่ายสินค้าราคาประหยัดให้ชาวจังหวัดนครราชสีมาในพื้นที่ทั้ง ๓๒ อำเภอ ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน ที่สามารถเลือกซื้อสินค้าในราคาเป็นธรรม เป็นการลดภาระค่าใช้จ่าย โครงการนี้เสร็จสิ้นไปเมื่อวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๖๓ ที่สำคัญในช่วงที่ผ่านมา ได้ประสานงานเชิญร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มารับฟังปัญหาเรื่องโรคใบด่างมันสำปะหลังที่แพร่ระบาดถึง ๒๖๐,๐๐๐ ไร่ ในพื้นที่โคราช ซึ่งมีความขัดข้องในการดำเนินการในหลายๆ เรื่อง ทั้งการจ่ายค่าชดเชย การจ่ายค่าทำลาย รวมทั้งเรื่องเอกสารสิทธิ์ที่ดินของประชาชน ทำให้เกิดการไม่ร่วมมือของประชาชนในการทำลายโรคใบด่าง จากนั้นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์เข้ามาผลักดันในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี กระทั่งนายกรัฐมนตรีมีความเห็นชอบและคาดว่า จะมีความชัดเจนในการสั่งการมาภายในสัปดาห์หน้า” นายวิเชียร กล่าว

นายศารุมภ์ โหม่งสูงเนิน พาณิชย์จังหวัดนครราชสีมา กล่าวรายงานผลการดำเนินงานตามนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ ที่ดำเนินการในจังหวัดนครราชสีมา ว่า “ผลการดำเนินงานของกระทรวงพาณิชย์ในการดูแลช่วยเหลือเกษตรกรในการจำหน่ายสินค้าเกษตร การส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน การดูแลค่าครองชีพประชาชน และการส่งเสริมสินค้าการขึ้นทะเบียนสินค้า GI ภายใต้โครงการสำคัญ เช่น โครงการพาณิชย์ลดราคาช่วยประชาชน และการส่งเสริมการขึ้นทะเบียนสินค้า GI ของจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งมีว่าที่และอนาคตสินค้า GI รวม ๔ สินค้า โดยอยู่ระหว่างรอประกาศ ๑ สินค้า คือ ผ้าไหมคึมมะอุบัวลาย และอยู่ระหว่างเตรียมยื่นคำขอ ๓ สินค้า ได้แก่ ผ้าไหมปักธงชัย น้อยหน่าปากช่อง และทุเรียนปากช่อง จากที่มีสินค้า GI เดิมอยู่แล้ว ๗ สินค้า ได้แก่ กาแฟดงมะไฟ ไวน์เขาใหญ่ ข้าวหอมมะลิทุ่งสัมฤทธิ์ สินค้ากาแฟวังน้ำเขียว เครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน เส้นไหมไทยพื้นบ้านอีสาน มะขามเทศเพชรโนนไทย ซึ่งหากขึ้นทะเบียนสินค้า ทั้ง ๔ สินค้า แล้วเสร็จ จะทำให้จังหวัดนครราชสีมาเป็นจังหวัดที่มีสินค้า GI มากที่สุดในประเทศไทย”

แก้น้ำท่วมเซฟวัน

จากนั้น หน่วยงานต่างๆ มีการนำเสนอข้อมูลความคืบหน้าการดำเนินโครงการสำคัญของจังหวัดนครราชสีมา โดยเริ่มจากนายฉัตรณรงค์ ศิริพร ณ ราชสีมา หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครราชสีมา กล่าวรายงานโครงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังบริเวณตลาดเซฟวัน ว่า “จากการตรวจสอบในจังหวัดนครราชสีมา มีจุดที่ให้ความสำคัญที่มีน้ำท่วมอยู่ ๘ จุดหลักๆ ๑.ถนนราชดำเนิน ช่วงหน้าค่ายสุรนารี ๒.สามแยกไอทีพลาซ่า ๓.ตลาดเซฟวัน ๔.ถนนสุรนารายณ์ ช่วงหน้าหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา ๕.สามแยกหัวทะเล ๖.หมู่บ้านจามจุรี ๗.เทศบาลตำบลบ้านใหม่ และ ๘.โรงพยาบาลเซนต์เมรี่ ซึ่งจังหวัดได้จัดตั้งคณะกรรมการเพื่อให้ความสำคัญทั้ง ๘ จุด โดยเฉพาะจุดที่ ๓ ตลาดเซฟวัน ทิศทางน้ำในจังหวัดนครราชสีมาจะถูกตัดโดยถนน ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ จึงยากต่อการปรับปรุงและพัฒนา หมายความว่า เราต้องไปทำการควบคุมเส้นทางการระบายน้ำลงไปสู่ลำตะคองให้เป็นไปตามระบบ เมื่อฝนตกหนักในเขตเทศบาลตำบลสุรนารี สนามกีฬา ๘๐ พรรษา ตำบลปรุใหญ่ น้ำก็จะไหลรวมกันเป็นมวลน้ำลงมาสู่ตลาดเซฟวัน ซึ่งถนนเส้นคลองส่งน้ำ เป็นอีกเส้นทางหนึ่งที่เราจะตัดเป็นวงแหวน เพื่อตัดยอดน้ำจากด้านบนสนามกีฬา ๘๐ พรรษา ไม่ให้ไหลมาทางตลาดเซฟวัน ซึ่งขณะนี้โครงการยังรอดำเนินการอยู่ ต้องให้รัฐมนตรีช่วยผลักดันและเข้าดำเนินการแก้ไข”

“ขณะนี้การแก้ไขปัญหาเบื้องต้น ได้บูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างอำเภอเมืองฯ เทศบาลนครนครราชสีมา ตำรวจภูธรโพธิ์กลาง และแขวงทางหลวงที่ ๒ โดยเมื่อมีฝนตกลงมา เราจะประเมินว่ามวลน้ำไหลมาถึงจุดไห้แล้ว มีปริมาณน้ำมากเท่าไหร่ หากมวลน้ำมีปริมาณมากพอทำให้เกิดน้ำท่วมขัง ทางตำรวจก็จะลงพื้นที่ปิดการจราจรบริเวณหน้าตลาดเซฟวัน สำหรับการดำเนินงานในส่วนของแขวงทางหลวงที่ ๒ ขณะนี้เทศบาลฯ ได้สนับสนุนงบประมาณให้ก่อสร้างท่อระบายน้ำเพิ่มเติม เพื่อช่วยในการผันน้ำลงสู่ลำตะคองต่อไป” นายฉัตรณรงค์ กล่าว

ผันน้ำเข้าลำตะคอง

จากนั้น นายชยุธพงศ์ อำรุงสุข ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำตะคอง กล่าวรายงานโครงการผันน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มายังอ่างเก็บน้ำลำตะคอง ว่า “อ่างเก็บน้ำลำตะคองก่อสร้างเมื่อปี ๒๕๐๗ แล้วเสร็จปี ๒๕๑๒ จุน้ำได้สูงสุด ๔๔๕ ล้านลบ.ม. โดยกักเก็บน้ำ ๓๑๔.๔๙ ล้านลบ.ม. ตลอดระยะเวลาผ่านมาประมาณ ๕๐ ปี มีเพียง ๕ ปีเท่านั้นที่ปริมาณน้ำไหลลงอ่างเกิน ๓๐๐ ล้านลบ.ม. โดยช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม จะเป็นช่วงที่มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างมากที่สุด โดยรวมแล้วจากปริมาณน้ำในอ่างเฉลี่ย ๒๒๐ ล้านลบ.ม. ต่อปี แต่จังหวัดนครราชสีมามีความต้องการใช้น้ำมากถึง ๒๑๕ ล้านลบ.ม.ต่อปี จึงทำให้เกิดปัญหาน้ำไม่พอใช้ ซึ่งในปีนี้แม้ว่าฝนจะตกลงมาบนต้นทางน้ำจำนวนมาก แต่น้ำที่ไหลลงอ่างก็ยังไม่เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค เนื่องจากมีปัญหาในพื้นที่ต้นน้ำ เช่น การสร้างฝายกักเก็บน้ำไว้ใช้ส่วนตัว ปล่อยน้ำเสียลงลำน้ำ สร้างสิ่งรุกล้ำลำน้ำ นอกจากนี้ เมื่อมีการปล่อยน้ำลงไปยังปลายน้ำ ก็พบปัญหาน้ำไม่เพียงพอ เนื่องจากตามเส้นทางน้ำมีการสูบไปใช้เพื่อการเกษตร อุตสาหกรรม การแย่งชิงน้ำ ทำให้พื้นที่ปลายน้ำมีปัญหาภัยแล้ง และที่สำคัญ ในปัจจุบันหลายอำเภอที่ไม่อยู่ในเส้นทางการไหลของน้ำ ก็ขออนุญาตสูบน้ำไปใช้ด้วย ปัจจุบันลำตะคองเป็นเหมือนเส้นเลือดใหญ่ของโคราชไปแล้ว ดังนั้นจึงเกิดโครงการผันน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มาสู่อ่างเก็บน้ำลำตะคอง ซึ่งขณะนี้กำลังศึกษาความเหมาะสมและออกแบบ เพื่อเสนอของบประมาณ”

รองบศึกษา‘ท่าเรือบก’

ทางด้าน นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวถึงโครงการท่าเรือบก ว่า “จังหวัดมอบหมายให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (มทร.อีสาน) เป็นผู้ศึกษารายละเอียด ซึ่งขณะนี้จังหวัดเสนอของบประมาณ เพื่อศึกษาและออกแบบรายละเอียด รวมถึงการทำข้อเสนอให้ภาคเอกชนมาร่วมลงทุน แต่เรื่องนี้ไปค้างอยู่ที่คณะกรรมการพัฒนาระบบการบริหารจัดการขนส่งสินค้าและบริการของประเทศ (กบส.) ซึ่งมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน จึงต้องการให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ช่วยผลักดันให้ กบส.เห็นชอบโครงการนี้ และส่งเรื่องให้การท่าเรือสนับสนุนงบประมาณ จำนวน ๓๘ ล้านบาท เพื่อนำมาออกแบบรายละเอียด แต่จังหวัดไม่ได้รอ กบส.อย่างเดียว จึงเสนอของบประมาณจากการท่าเรือโดยตรง ในส่วนงบประมาณเงินกู้ ๔๐๐,๐๐๐ ล้านบาท จังหวัดเสนอโครงการท่าเรือบกเข้าไปด้วย หากได้เงินส่วนนี้มา จังหวัดจะได้เริ่มว่าจ้าง มทร.อีสาน ศึกษาและวิจัยเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม ต้องฝากให้รัฐมนตรีฯ ช่วยผลักดันต่อไป”

รถไฟทางคู่คืบหน้า

ต่อมา นายกฤษดา มัชฌิมาภิโรวิ วิศวกรการรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวรายงานความคืบหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ว่า “เส้นทางรถไฟจากมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ เส้นทางนี้การรถไฟแบ่งออกเป็น ๔ สัญญา ดังนี้ สัญญาที่ ๑ เมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๖๐ สัญญาจ้างงานก่อสร้างเลขที่ กส.๑๔/ทค./๒๕๖๐ ผู้ว่าจ้าง การรถไฟแห่งประเทศไทย รับจ้างโดย บริษัท อิตาเลี่ยนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) เริ่มปฏิบัติงานช่วงที่ ๑ วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ วันสิ้นสุดการปฏิบัติงานช่วงที่ ๑ วันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๖๕ รวมระยะเวลา ๔๘ เดือน วงเงินค่าจ้าง  ๗,๕๖๐ ล้านบาท โดยก่อสร้างรถไฟทางคู่ใหม่ในระดับพื้น ระยะทางประมาณ ๓๐ กิโลเมตร, ก่อสร้างรถไฟทางเดี่ยวระดับพื้น เพิ่มขึ้น ๑ ทาง ขนานกับทางรถไฟปัจจุบัน ระยะทางประมาณ ๒๓ กิโลเมตร, ก่อสร้างรถไฟทางคู่ยกระดับ ระยะทางประมาณ ๕ กิโลเมตร,  ก่อสร้างสถานีใหม่ ๔ สถานี ปรับปรุงสถานีเดิม ๓ สถานี, สะพานข้ามทางรถไฟ (Overpass) จำนวน ๑ แห่ง, สะพานกลับรถรูปตัวยูข้ามทางรถไฟ (U-Turn Bridge) จำนวน ๖ แห่ง, ถนนลอดใต้ทางรถไฟ (Underpass) จำนวน ๒ แห่ง, ถนนยกระดับเพื่อเปลี่ยนเส้นทาง (Interchange) ๑ แห่ง, ก่อสร้างสะพานรถไฟ จำนวน ๒๑ แห่ง และก่อสร้างด้านงานโยธาและอื่นๆ เช่น งานระบบระบายน้ำ สะพานลอยคนเดินข้าม และงานรั้ว”

“สัญญาที่ ๒ มูลค่าโครงการ ๑๒,๑๓๔ ล้านบาท ค่าจ้างที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง ๒๖๐ ล้านบาท รวมเป็นเงิน ๑๒,๓๘๘ ล้านบาท การรถไฟฯ ได้จัดทำรายงานขออนุมัติดำเนินโครงการไปที่กรมการขนส่งทางราง เมื่อวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๖๓ กรมการขนส่งทางรางเห็นชอบ และเสนอรายงานให้กระทรวงคมนาคม เมื่อวันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๖๓ และคาดว่าจะประกวดราคาและเริ่มงานก่อสร้างในเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๔ งานก่อสร้างรถไฟทางคู่ใหม่ในระดับพื้น ระยะทางประมาณ ๑๐ กิโลเมตร, ก่อสร้างรถไฟทางเดี่ยวระดับพื้น เพิ่มขึ้น ๑ ทาง ขนานกับทางรถไฟปัจจุบัน ระยะทางประมาณ ๖๐ กิโลเมตร, ก่อสร้างสถานีใหม่ ระดับพื้น ๖ สถานี ปรับปรุงสถานีเดิม ๓ สถานี อาคารควบคุมการเดินรถ (CTC) ๑ แห่ง และสถานีเก็บกองตู้สินค้า (Container Yard: CY) ๑ แห่ง ที่บริเวณสถานีกุดจิก, สะพานข้ามทางรถไฟ (Overpass) จำนวน ๑๐ แห่ง, สะพานกลับรถรูปตัวยู (U-Turn Bridge) ๑๘ แห่ง, ถนนลอดใต้ทางรถไฟใช้ท่อเหลี่ยม (Box Underpass) ๑ แห่ง, ก่อสร้างสะพานรถไฟ จำนวน ๕๖ แห่ง, ก่อสร้างด้านงานโยธาและอื่นๆ  เช่น งานระบบระบายน้ำ สะพานลอยคนเดินข้าม และงานรั้ว”

“สัญญาที่ ๓ เมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๖๐ สัญญาจ้างงานก่อสร้างเลขที่ กส.๑๔/ทค./๒๕๖๐ ผู้ว่าจ้าง การรถไฟแห่งประเทศไทย ผู้รับจ้าง กิจการร่วมค้า ไอทีดี-อาร์ที ประกอบด้วย บริษัท อิตาเลี่ยนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และบริษัทไร้ท์ทันเน็ลลิ่ง จำกัด วันที่เริ่มปฏิบัติงานช่วงที่ ๑ วันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๖๑ วันสิ้นสุดการปฏิบัติงานช่วงที่ ๑ วันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๖๔ รวมระยะเวลา ๔๒ เดือน วงเงินค่าจ้าง  ๙,๒๙๐ ล้านบาท สัญญาจ้างที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง เมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๖๐ เลขที่ กส.๒๒/ทค./๒๕๖๐ ผู้ว่าจ้าง การรถไฟแห่งประเทศไทย ผู้รับจ้าง ๑.บริษัท เอเชี่ยน เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแต้นส์ จำกัด ๒.บริษัท เอ็ม เอ เอ คอนซัลแตนท์ จำกัด ๓.บริษัท วิสิทธิ์ เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนส์ จำกัด และ ๔.บริษัท ดับเบิลยูเอสพี จำกัด วันที่เริ่มปฎิบัติงาน ช่วงที่ ๓ วันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๖๑ วันที่สิ้นสุดการปฎิบัติงาน ช่วงที่ ๓  วันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๖๔ รวมระยะเวลา ๔๒ เดือน วงเงินค่าจ้างเฉพาะสัญญาที่ ๓ เป็นเงิน ๑๘๗,๐๖๖,๒๓๓ บาท ประกอบด้วยอุโมงค์ที่ ๑ เฉพาะโครงสร้างอุโมงค์ ๕.๒ กิโลเมตร ระยะทางทั้งหมด ๕๘๕ กิโลเมตร, อุโมงค์ที่ ๒ เฉพาะโครงสร้างอุโมงค์ ๒๕๐ กิโลเมตร ระยะทางทั้งหมด ๖๕๐ กิโลเมตร และอุโมงค์ที่ ๓ เฉพาะโครงสร้างอุโมงค์ ๑.๑๗ กิโลเมตร ระยะทางทั้งหมด ๑.๔ กิโลเมตร”

“สัญญาที่ ๔ เมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๖๐ สัญญาจ้างงานก่อสร้างเลขที่ กส.๑๔/ทค./๒๕๖๐ ผู้ว่าจ้าง การรถไฟแห่งประเทศไทย ผู้รับจ้าง ITD-LSIS Consortium วันที่เริ่มปฏิบัติงานช่วงที่ ๑ วันที่ ๒๔ มกราคม ๒๕๖๓ วันสิ้นสุดการปฏิบัติงานช่วงที่ ๑ วันที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๕๖๖ รวมระยะเวลา ๔๕ เดือน วงเงินค่าจ้าง ๒,๕๔๙,๘๙๐,๐๐๐ บาท ลักษณะงานติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณและโทรคมนาคมตลอดเส้นทาง” นายกฤษดา กล่าว

เสนอย้ายศูนย์ซ่อมบำรุง

นายกฤษดา กล่าวอีกว่า “เมื่อทางรถไฟลอดใต้สะพานสามแยกปัก รถไฟจะค่อยๆ ไต่ระดับขึ้น เมื่อเราดำเนินการก่อสร้างเส้นทางหน้าโรงแรมสีมาธานีเสร็จสิ้น จะยกระดับเข้าสู่สถานีรถไฟนครราชสีมา บริเวณนี้จะมีทางแยกลงศูนย์ซ่อม โดยฝ่ายช่างกลของการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันกำลังดำเนินงานในส่วนนี้ แต่อาจมีการปรับปรุงทางขึ้นลง จำเป็นที่จะต้องมีทางไต่ระดับลงมาเพื่อซ่อมบำรุงและเติมน้ำมัน ส่วนรถไฟที่มีปลายทางอยู่ที่จังหวัดอุบลราชธานี-หนองคาย มีแผนจะให้เติมน้ำมันและซ่อมบำรุงที่สถานีชุมทางจิระ”

จากนั้น นายวิสิทธิ์ พิทยาภรณ์ ส.ส.นครราช สีมา เขต ๑๓ สอบถามว่า “หากศูนย์ซ่อมบำรุงตั้งอยู่บริเวณดังกล่าว จะทำให้ชุมชนมีความแออัด เป็นไปได้หรือไม่ที่จะย้ายศูนย์ซ่อมบำรุงออกไปไว้นอกเมือง” ซึ่งนายกฤษดา ให้คำตอบว่า “ต้องหารือกับทั้งสามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการปรับเปลี่ยนโครงสร้าง ประกอบด้วย ๑.ฝ่ายช่างกล การรถไฟแห่งประเทศไทย ๒.ฝ่ายอาณัติสัญญาณและโทรคมนาคม และ ๓.ฝ่ายการเดินรถ การรถไฟแห่งประเทศไทย”

เสนอทุบสะพานหัวทะเล

ภายหลังจบการประชุม นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเวทีให้ประชาชนที่มาร่วมรับฟัง ได้แสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพิ่มเติม ซึ่งนายอนันตศักดิ์ ตั้งสิทธิประเสริฐ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ.ที.ไฮ-ไฟ ๒๐๐๓ จำกัด อ้างมีบ้านอยู่ใกล้สะพานหัวทะเล กล่าวว่า “ผมอาศัยอยู่ใกล้กับสะพานหัวทะเล ซึ่งท่านรัฐมนตรีช่วยฯ และ ท่าน ส.ส.ต่างก็เคยผ่านเส้นทางนี้เป็นเวลา ๓๐ ปี คงจะทราบปัญหาดี สมัยก่อนเป็นพื้นที่ที่มีเศรษฐกิจดี แต่เมื่อมีสะพานเข้ามา ตรงนั้นก็เงียบเหงา กลายเป็นพื้นที่ร้าง ต้องการให้รัฐมนตรี ช่วยผลักดันให้ทุบสะพานหัวทะเล เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของคนในพื้นที่และจังหวัดนครราชสีมา”

จากนั้น นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล กล่าวสรุปและให้ข้อเสนอแนะว่า “วันนี้มารับฟังปัญหาความเดือดร้อนของจังหวัดนครราชสีมา แม้ว่าไม่ใช่ส่วนงานที่รับผิดชอบโดยตรง แต่ก็จะรับฟังและไปผลักดันให้ โดยโครงการเร่งด่วนที่สุดคือโรคใบด่างมันสำปะหลัง เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากโรคใบด่างมันสำปะหลังปัจจุบันนี้ได้ค่าชดเชย จากอดีตที่ผ่านมาได้ค่าทำลายไร่ละประมาณ ๓,๐๐๐  และ ๒,๐๐๐ บาท แต่ปัจจุบันนี้ผู้ว่าฯ กับเกษตรกรได้หารือกันว่า จะทำอย่างไรให้ได้ค่าชดเชย และค่าทำลาย รวมกันให้ได้ไร่ละ ๕,๐๐๐ บาท ผมได้นำข้อมูลให้ร้อยเอกธรรมนัสฯ เรียบร้อยแล้ว เพื่อผลักดันให้นายกรัฐมนตรีอนุมัติต่อไป ปัญหาเรื่องน้ำในอนาคตคือ ๑.มีความต้องการมากขึ้นกว่าเดิม ๒.ภาวะโลกร้อนทำให้น้ำน้อยลดลง ในอนาคตคิดว่า ต้องผันน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มายังเขื่อนลำตะคอง นั่นคือสิ่งที่จะช่วยแก้ปัญหา เพราะฝนที่ตกลงมาบนเขาใหญ่ ก็กลายเป็นน้ำบาดาลและไหลออกไป ทำให้ไม่มีน้ำไหลลงเขื่อน เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เร่งด่วน เมื่อมารับฟังแล้วจะไปผลักดันให้ แม้จะเป็นคนละหน่วยงานแต่เมื่อเราประชุมคณะรัฐมนตรีก็สามารถประสานงานกันได้” 

“ส่วนเรื่องการทุบสะพานหัวทะเล ที่มีประชาชนนำเสนอ ต้องหารือกันอีกครั้งกับกระทรวงคมนาคม หากคนส่วนมากได้รับความเดือดร้อน เราต้องฟังคนส่วนมาก และต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้จังหวัดนครราชสีมาเจริญและพัฒนาในด้านดี ทั้งนี้ ปัจจุบันจังหวัดนครราชสีมามีสินค้า GI มากที่สุดในประเทศ แต่ในอนาคตต้องมากกว่านี้ ยกตัวอย่างที่กำลังจะผลักดัน น้อยหน่าปากช่อง ทุเรียนเสิงสาง และทุเรียนปากช่อง รวมถึงผ้าไหมปักธงชัยที่เหลืออีก ๓-๔ ตัว ถ้าได้ขึ้นทะเบียนเป็นสินค้า GI เกษตรกรจะได้รู้ว่า เอกลักษณ์หรือความสำคัญของ GI ต้องเป็นสินค้าที่มีคุณภาพถึงจะได้รับการรับรอง และเมื่อสินค้าได้รับการขึ้นทะเบียนแล้ว ก็ต้องรักษาคุณภาพอย่าให้ตกต่ำ และต้องพัฒนาสินค้า GI ให้ต่อเนื่อง  ไม่อยู่กับที่ เพราะในอนาคตถ้าไม่ได้รับการพัฒนาก็ไม่สามารถส่งออกไปยังต่างประเทศได้ ถ้าสินค้าผ่านการขึ้นทะเบียนแล้ว เกษตรกรก็มีฐานะและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นด้วย” นายวีรศักดิ์ กล่าวสรุป

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๒๖๓๙วันพุธที่ ๕ - วันอังคารที่ ๑๑ เดือนสิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๓

 


953 1360