29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

August 21,2020

วรรณรัตน์’เห็นควรแก้ รธน. เลิกให้อำนาจ‘ส.ว.’ล้นฟ้า

ลั่นรัฐธรรมนูญพิการต้องแก้ไข ไม่ให้ประเทศถอยหลัง ยื่น ๘ ประเด็นให้ กมธ.พิจารณา  ใช้การเลือกตั้งแบบเดิม ลดอำนาจ ส.ว. เพิ่มอำนาจ ส.ส. องค์กรอิสระต้องตรวจสอบได้แก้มาตรา ๒๕๖ เปิดทางปรับรัฐธรรมนูญ ผู้นำท้องถิ่นต้องมาจากประชาชน

นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล ที่ปรึกษาพรรคชาติพัฒนา อดีต รมว.พลังงาน และในฐานะคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน และข้อเสนอที่พรรคชาติพัฒนาเสนอต่อกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จำนวน ๘ ประเด็นให้สมาชิกพรรคชาติพัฒนาที่มาร่วมประชุมใหญ่สามัญประจำปี ๒๕๖๓ เมื่อวันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๖๓ ณ ศูนย์การค้าเทอร์มินอล ๒๑ โคราช โดยมีใจความ ดังนี้  
การเมืองล้มลุกคลุกคลาน

“ทุกคนทราบกันดีอยู่แล้วว่า รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดและสำคัญของประเทศ ใช้ในการปกครองแผ่นดิน รัฐธรรมนูญดีไม่ดีส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชน ระบบเศรษฐกิจ และสังคม ซึ่งประเทศไทยตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี ๒๔๗๕ ปัจจุบันก็ประมาณ ๘๗ ปี มีรัฐธรรมนูญมาแล้ว ๒๐ ฉบับ มีคนกล่าวว่า ประเทศไทยใช้รัฐธรรมนูญเปลืองที่สุดในโลก คงไม่มีใครปฏิเสธได้ เฉลี่ยแล้ว ๑ ฉบับมีอายุเพียง ๔ ปี เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะว่า การเมืองไม่มั่นคง ล้มลุกคลุกคลานอยู่ตลอด มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนสลับกับรัฐบาลที่มาจากรัฐประหารอยู่เสมอ เมื่อรัฐประหารก็ฉีกรัฐธรรมนูญทิ้ง แล้วร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมา เมื่อใช้ไปสักพักก็รัฐประหารอีก เป็นแบบนี้อยู่เรื่อยมา”

“รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันประกาศใช้ในปี ๒๕๖๑ เมื่อประกาศใช้แล้วก็มีการเลือกตั้งในปี ๒๕๖๒ หลังการเลือกตั้งหลายคนทราบว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีปัญหา หลายคนบอกว่า เป็นการถอยหลังลงคลอง ในการหาเสียงเลือกตั้งจึงมีหลายพรรคการเมืองที่มีนโยบายแก้ไขรัฐธรรมนูญ หลายคนคงคิดว่า รัฐธรรมนูญเพิ่งคลอดทำไมต้องรีบแก้ไข ทำไมไม่ใช้ไปก่อน ยกตัวอย่างง่ายๆ หากเราคลอดลูกออกมา แล้วพบว่าเด็กพิการ เราต้องรีบรักษาก่อนที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ต้องรีบแก้ไขความพิการนั้น ซึ่งรัฐธรรมนูญเปรียบแล้วก็คล้ายๆ แบบนี้ เมื่อพบว่ามีปัญหาก็ต้องรีบแก้ไข หลังจากที่จัดตั้งรัฐบาลเสร็จสิ้น ทุกพรรคการเมืองเห็นตรงกันว่า ควรจะต้องแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ซึ่งพรรคชาติพัฒนาก็เป็นหนึ่งในนั้นที่เห็นด้วย ในเดือนธันวาคม ๒๕๖๒ รัฐสภามีมติให้จัดตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางในการแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นมา ทั้งหมด ๔๙ คน รวมผมด้วย เป็นตัวแทนพรรคชาติพัฒนา ประชุมครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๖๓ โดยมีเวลาในการศึกษาทั้งหมด ๑๒๐ วัน แต่เมื่อมีปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-๑๙ จึงต้องหยุดชั่วคราว แล้วเริ่มประชุมใหม่เมื่อเดือนกรกฎาคม ซึ่งรัฐธรรมนูญมีทั้งหมด ๑๖ หมวด ๒๗๙ มาตรา คณะกรรมาธิการฯ ศึกษาตั้งแต่หมวดที่ ๓ โดยไม่ไปยุ่งกับหมวดที่ ๑ หมวดทั่วไป และหมวดที่ ๒ หมวดพระมหากษัตริย์ กรรมาธิการฯ พิจารณาแล้วเสร็จเมื่อวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๖๓ และจัดตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อรวบรวมประเด็นปัญหาที่ได้จากการศึกษา และจัดตั้งอนุกรรมาธิการฯ ขึ้นมา ๒ คณะ คือ ๑.อนุกรรมาธิการฯ รับฟังความคิดเห็นของประชาชน และ ๒.อนุกรรมาธิการฯ พิจารณาข้อกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูก ซึ่งทั้ง ๒ คณะรวบรวมข้อมูลเสร็จแล้ว และกำลังเสนอต่อคณะกรรมาธิการฯ ชุดใหญ่ เพื่อรวบรวมข้อมูล คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคมนี้ สำหรับประเด็นการศึกษา คณะกรรมาธิการฯ จะสรุปว่า ประชาชนทุกอาชีพ เยาวชน ข้าราชการ รวมถึงพรรคการเมือง ส่วนใหญ่มีความคิดเห็นอย่างไรในประเด็นต่างๆ ที่สำคัญ แต่เสียงส่วนน้อยก็จะเก็บข้อมูลและรายงานต่อสภาฯ คิดว่าจะสามารถรายงานต่อสภาฯ ประมาณต้นเดือนกันยายน และจะบรรจุเข้าไปในวาระการประชุมสภาฯ ในสมัยการประชุมนี้ และคาดหวังว่า สภาฯ จะมีการพูดถึงการพิจารณา ศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางในการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าจะดำเนินการอย่างไร จะดำเนินการแก้ไขหรือไม่ จะแก้อย่างไรแก้แล้วจะเป็นอย่างไร ก็ต้องขึ้นอยู่กับสภา” นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล กล่าว

รธน.ให้ ส.ว.มีอำนาจล้นฟ้า

นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล กล่าวอีกว่า “ในประเด็นที่พรรคชาติพัฒนาเสนอต่อกรรมาธิการฯ ทั้ง ๘ ข้อ คือ ๑.เนื่องจากในรัฐธรรมนูญนั้น ต้องกำหนดกฎหมายยุทธศาสตร์ชาติขึ้นมา ซึ่งในกฎหมายลูกของ พ.ร.บ.นี้มีข้อกำหนดว่า จะต้องมีการแก้ไขทุก ๕ ปี เว้นแต่มีความจำเป็นเร่งด่วน อาจจะมีการปรับปรุงแก้ไขก่อนครบกำหนด ๕ ปีก็ได้ เนื่องจากปัจจุบันเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา จึงอาจจะต้องเปลี่ยนแปลงกฎหมายตามยุคสมัย ยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี พรรคชาติพัฒนาจึงเสนอว่า ควรเปลี่ยนแปลงทุกปี เพื่อให้ก้าวทันโลก ๒.ระบบการเลือกตั้งที่ผ่านมามีปัญหาอย่างชัดเจน เมื่อก่อนเลือกตั้งด้วยบัตร ๒ ใบ บัตรหนึ่งเลือกพรรค บัตรหนึ่งเลือกคน แต่การเลือกตั้งครั้งนี้มีบัตรให้เพียง ๑ ใบ บังคับให้เราเลือกพรรคและผู้สมัครในหมายเลขเดียวกัน จึงมีนักการเมืองบางคนมาลงสมัครเพื่อหวังคะแนนให้พรรคได้ที่นั่ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ส่งผลให้การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา จากเดิมเคยมีผู้ลงสมัคร ส.ส.เขตรวมทั้งประเทศประมาณ ๔,๐๐๐ คน แต่ครั้งนี้มีมากถึง ๑๐,๐๐๐ คน เป็นภาระยุ่งยากต่อ กกต.เป็นอย่างมากในการดำเนินการเลือกตั้ง ผลสุดท้าย ส.ส.แต่ละพรรคได้คะแนนเบี้ยหัวแตก ไม่มีพรรคไหนได้เกินกึ่งหนึ่งที่จะจัดตั้งรัฐบาลเดียวได้ ปัจจุบันจึงกลายเป็นรัฐบาลผสมที่มีพรรคการเมืองมากที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย ทำให้รัฐบาลไม่มีเสถียรภาพ เพราะรัฐบาลมีพรรคการเมืองที่มีความคิดเห็นต่างกัน ส่งผลให้รัฐบาลไม่สามารถทำประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน รัฐบาลก็ง่อนแง่น ผลเสียจึงเกิดขึ้นกับประชาชน ดังนั้นพรรคชาติพัฒนาจึงเสนอให้กลับไปใช้บัตรเลือกตั้งแบบเดิม ๓.เกี่ยวกับที่มาของ ส.ว. เพราะ ส.ว.ชุดปัจจุบันไม่ได้มาจากเสียงของประชาชน แต่มีอำนาจล้นฟ้า เช่น อำนาจในการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งเดิมการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีกระทำเพียงในสภาผู้แทนราษฎร ในประเทศที่เจริญแล้ว ส.ว.มีหน้าที่กลั่นกรองกฎหมาย และเป็นสภาที่ปรึกษา ไม่มีอำนาจมากกว่า ส.ส. แต่ประเทศไทยกลับไม่ใช่อย่างนั้น แต่ถ้า ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้งแล้วมีอำนาจเท่า ส.ส. อย่างนั้นชอบด้วยประชาธิปไตย แต่ ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งไม่ควรมีอำนาจมากกว่า ส.ส. ควรจะมีฐานะแค่สภาที่ปรึกษา คัดค้านกฎหมายบางฉบับที่สภาฯ ร่างออกมาแล้วไม่เหมาะสม ดังนั้นพรรคชาติพัฒนาจึงเห็นว่า ส.ว.ควรจะมาจากการเลือกตั้งของประชาชน เหมือนครั้งในอดีตที่ผ่านมา”

องค์กรอิสระต้องตรวจสอบได้

๔.การมีองค์กรอิสระต่างๆ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน และอื่นๆ ตั้งขึ้นมาแล้วไม่มีการตรวจสอบ องค์กรเหล่านี้จะทำผิดทำถูกก็ไม่สามารถตรวจสอบได้ ดังนั้นพรรคชาติพัฒนาเห็นว่า ควรจะมีการตรวจสอบ หากจัดตั้งขึ้นมาได้ก็ต้องถอดถอนได้เช่นกัน เพื่อเป็นการถ่วงดุลอำนาจ ๕.มาตรา ๑๑๔ ของรัฐธรรมนูญ เดิมทีสภาฯ จะมีอำนาจพิจารณางบประมาณที่จะนำไปใช้แก้ไขปัญหาประเทศหรือพัฒนาประเทศ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน สามารถผลักดันงบประมาณต่างๆ มาสู่ประชาชนได้โดยตรง แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้กลับห้ามไม่ให้ ส.ส., ส.ว. และคณะรัฐมนตรี พิจารณาปรับลดงบประมาณ ถึงแม้จะสามารถทำได้แต่ก็ไม่สามารถนำงบประมาณที่ถูกปรับลดไปใช้อย่างอื่นได้ หากใครทำก็ถือว่าผิดกฎหมายและพ้นจากตำแหน่งทันที แต่คนที่มีอำนาจใช้งบประมาณที่ถูกตัดทอนลงคือ ข้าราชการ ซึ่งถือว่าผิดหลักการ พรรคชาติพัฒนาเห็นว่า ควรให้ ส.ส.มีอำนาจในการใช้งบประมาณเหมือนเดิม ๖.ในการเสนอกฎหมาย เดิมทีผู้ที่มีอำนาจในการเสนอกฎหมายคือ ครม. ส.ส.จากพรรคการเมือง และประชาชน แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไปให้อำนาจองค์กรอื่นที่ไม่ได้มาจากประชาชน สามารถเสนอกฎหมายได้ เช่น ศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระต่างๆ สามารถเสนอกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับตัวเอง ซึ่งองค์กรเหล่านี้มาจากการสรรหา ไม่ได้มาจากการเลือกของประชาชน แต่มีอำนาจเท่ากับ ส.ส.ที่มาจากประชาชน ดังนั้นไม่ควรที่จะให้อำนาจกับองค์กรเหล่านี้ ควรจะให้สภาฯ เข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้ และให้ อำนาจสภาฯ ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้

ต้องแก้มาตรา ๒๕๖ 

๗.การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๕๖ ว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การแก้ไขรัฐธรรมนูญควรแก้ไขยากหรือง่ายนั้น หากแก้ไขยากกว่ากฎหมายทั่วไปก็ถือเป็นเรื่องธรรมดา รัฐธรรมนูญประเทศต่างๆ ที่เจริญแล้วก็สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ตลอด แต่ประเทศเหล่านี้แก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ยากนัก สามารถแก้ไขได้ทุกเมื่อที่มีความจำเป็น ซึ่งประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญมาแล้ว ๒๐ ฉบับ โดย ๑๙ ฉบับก่อนหน้านี้มีการแก้ไขที่ไม่ยากนัก กระทำเพียง ๓ วาระ คือ วาระที่ ๑ ขั้นรับหลักการ ก็ใช้คะแนนเสียงข้างมากเป็นหลักเกณฑ์ ในวาระที่ ๒ ก็ยังใช้คะแนนเสียงข้างมากเช่นกันในการพิจารณาแต่ละมาตรา และวาระที่ ๓ ใช้เกณฑ์ คะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของ ส.ส.ในสภาฯ แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้สร้างเงื่อนไขไว้ ทำให้แก้ไขได้ยากมาก เงื่อนไขนั้นคือ วาระที่ ๑ และ ๒ ใช้เสียงข้างมาก แต่วาระที่ ๓ ต้องได้รับเสียงข้างมากของรัฐสภา ทั้ง ส.ว. และ ส.ส. รวมกัน รวมถึงให้ประธานรัฐสภาฯ และรองประธานรัฐสภาฯ ต้องเห็นชอบด้วย ทำให้มีอำนาจยับยั้งกฎหมายได้ ซึ่งในประวัติศาสตร์ไทยไม่เคยมีมาก่อน และยังกำหนดอีกว่า ส.ส.ฝ่ายค้านต้องเห็นชอบด้วยมากกว่า ๒๐ เปอร์เซ็นต์ และสำคัญที่สุด ส.ว.จำนวน ๑ ใน ๓ ต้องเห็นชอบด้วย หากไม่เห็นชอบก็ให้ผ่านไม่ได้ ลองคิดดูว่า ส.ว.สมัยนี้ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แล้วจะมีความอิสระในการตัดสินใจหรือไม่ การตัดสินใจนั้นจะอยู่ภายใต้อำนาจอื่นหรือไม่ หากจะแก้ไขมาตรา ๒๕๖ ก็ต้องรับฟังเสียงของประชาชนทั้งประเทศว่าเห็นด้วยหรือไม่ ต่อให้มีเสียงข้างมากในรัฐสภาก็ยังต้องทำประชามติด้วย ในการทำประชามติก็ต้องใช้งบประมาณหลายพันล้านบาทในแต่ละครั้ง นี่ก็เป็นด่านสุดท้าย เพราะถ้าทำประชามติไม่ผ่าน ก็ถูกปัดตกเช่นเดิม จึงเป็นความยากของการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ดังนั้นพรรคชาติพัฒนาจึงเห็นว่า การจะแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องปลดล็อกมาตรา ๒๕๖ ก่อน เพื่อให้การแก้ไขกระทำได้ไม่ยากนัก

ผู้นำท้องถิ่นต้องมาจาก ปชช.

๘.เรื่องท้องถิ่น เดิมทีการเลือกตั้งท้องถิ่น เมื่อประชาชนเลือกสมาชิกสภาท้องถิ่นนั้นๆ ไปแล้ว สภาฯ ก็จะไปเลือกนายกต่อครั้งหนึ่ง ทำให้การบริหารงานท้องถิ่นขาดเสถียรภาพในการทำงาน สภาฯ จะยกมืออนุมัติอะไรก็ยาก ทำให้เกิดการ  ต่อรองแลกผลประโยชน์ที่นำไปสู่ปัญหาการทุจริต ดังนั้นหากให้มีการเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง จะทำให้ฝ่ายบริหารมีความมั่นคง แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ยังไปเปิดช่องไว้ว่า การเลือกผู้บริหารท้องถิ่นจะมาจากการเลือกตั้งของประชาชน หรือจะมาจากการคัดเลือกของสภาฯ ก็ได้ ซึ่งพรรคชาติพัฒนาเห็นว่า นี่เป็นการถอยหลังลงคลอง ปัญหาการทุจริตก็จะไม่หมดไป รวมถึงการจัดสรรงบประมาณให้ท้องถิ่นจัดการ ท้องถิ่นไม่กล้าใช้งบประมาณในการจัดสรรทำกิจกรรมต่างๆ ทำได้เพียงแค่การก่อสร้างถนนหนทาง การประปา และไฟฟ้า แต่จะทำงานที่เป็นการพัฒนา ท้องถิ่น สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ กลับทำไม่ได้ เพราะกลัวว่าจะถูกตรวจสอบและถูกดำเนินคดี พรรคชาติพัฒนาเห็นว่า กฎหมายควรมีข้อกำหนดอำนาจของท้องถิ่นไว้อย่างชัดเจน ให้ท้องถิ่นมีความอิสระในการพัฒนาท้องถิ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นพ.วรรณรัตน์ กล่าวท้ายสุดว่า ทั้งหมดนี้คือข้อเสนอพรรคชาติพัฒนา ที่เสนอต่อกรรมาธิการฯ ซึ่งกรรมาธิการฯ ได้รับข้อเสนอของเราและพรรคอื่นๆ ไปเรียบร้อยแล้ว”

 


947 1606