August 28,2020
‘ผู้ว่าฯ’ไม่ทอดทิ้งเหยื่อกราดยิง ยังติดตามช่วยเหลือทุกครอบครัว
ไม่ทอดทิ้งผู้ประสบเหตุกราดยิง แม้ผ่านไปกว่า ๖ เดือน ยังติดตามสถานการณ์และช่วยเหลือทุกครอบครัว เผยหลายรายได้รับการดูแล และส่งเสริมอาชีพอย่างดี ล่าสุด รปภ.เสียชีวิตเพิ่ม ๑ ราย พร้อมจัดกิจกรรมเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจโคราชให้ฟื้นตัวในเร็ววัน
สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ ๘-๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ เกิดเหตุกราดยิงกลางเมืองนครราชสีมา เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตจำนวน ๓๐ ศพ และบาดเจ็บหลายราย ซึ่งภายหลังเกิดเหตุจังหวัดนครราชสีมาได้เปิดบัญชีธนาคารเพื่อรับบริจาคเงินช่วยเหลือผู้ประสบเหตุ ผ่านเลขที่บัญชี ๖๗๘-๙-๙๗๙๕๑-๔ ธนาคารกรุงไทย สาขาเซฟวัน ชื่อบัญชี ‘ช่วยเหลือผู้ประสบเหตุเทอร์มินอล ๒๑ โดยจังหวัดนครราชสีมา’ มีผู้ร่วมบริจาคเงินเข้ามาจำนวนมาก ซึ่งนำเงินมอบแก่ผู้ได้รับผลกระทบเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ และจังหวัดนครราชสีมามีนโยบายในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมเรื่อยมานั้น
ต่อมา เมื่อวันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๖๓ นายอุทัย ขันอาสา พนักงานรักษาความปลอดภัย ศูนย์การค้าเทอร์มินอล ๒๑ โคราช ซึ่งได้รับบาดเจ็บสาหัส ถูกยิงบริเวณท้องทะลุผ่านกลางหลัง เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมาเป็นเวลา ๖ เดือน โดยมีการผ่าตัดลำไส้ใหญ่ออกและเจาะเปิดหน้าท้องด้านหน้า กระทั่งอาการดีขึ้น และกลับไปพักรักษาตัวที่จังหวัดสกลนคร แต่ต่อมาแพทย์ตรวจพบพังผืดบริเวณแผลในร่างกาย จึงต้องกลับมาเข้ารับการรักษาอีกครั้ง และเสียชีวิต โดยเป็นผู้เสียชีวิตรายที่ ๓๑ จากเหตุการณ์ในครั้งนี้
ล่าสุด เมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๖๓ เวลา ๑๗.๐๐ น. ที่ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ให้สัมภาษณ์ “โคราชคนอีสาน” ถึงกรณีการติดตามและความคืบหน้าโดยรวมของเหตุการณ์คนร้ายกราดยิงประชาชน โดยเปิดเผยว่า “เหตุการณ์กราดยิงเมื่อวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ แม้เวลาจะผ่านไปหลายเดือน แต่การทำงานของจังหวัดในขณะนี้ยังไม่จบลง ซึ่งช่วงที่ผ่านมาผมได้ประสานงานอยู่ตลอด โดยเฉพาะเคสของนายอุทัย ขันอาสา มีการติดตามการรักษาตลอด กระทั่งเขาเสียชีวิต โดยจังหวัดจะดำเนินการในเรื่องการส่งศพกลับไปยังบ้านเกิด จังหวัดสกลนคร และอีกคนหนึ่ง นายอัฐเศรษฐ์ซึ่งไปพักรักษาอยู่ที่บ้านในตำบลจอหอ จากการที่ผมไปเยี่ยมมาเร็วนี้ๆ อาการยังไม่ดีนัก กระทั่งต้องกลับมาแอดมิดที่โรงพยาบาล ผมกำลังตามเรื่องอยู่ ส่วนคนที่ได้รับผลกระทบที่กลับไปอาศัยอยู่ที่บ้าน ก็มีเจ้าหน้าที่คอยติดตามดูแลเสมอ ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวผู้เสียชีวิต ผู้ได้รับบาดเจ็บ จังหวัดไม่มีการละเลยในการดูแลพวกเขาเหล่านั้น”
“ผมรู้สึกภูมิใจกับดาบกรกต ซึ่งหมอบอกว่า เขาเครียดจากการรักษานาน เมื่อเดือนที่แล้วผมก็ไปพบ เขาบอกว่า อาการถูกยิงที่ขา เป็นแผลใหญ่ ไม่หายสักที แพทย์โรงพยาบาลมหาราชฯ ก็รักษาเขาไม่ได้ เขาจึงค้นหาข้อมูลการรักษา กระทั่งพบว่า ที่โรงพยาบาลพระปิ่นเกล้า มีห้องความดันลบ ที่อัดอากาศเข้าไปในแผลเพื่อรักษา จากนั้นโรงพยาบาลมหาราชฯ จึงติดต่อไปที่โรงพยาบาลพระปิ่นเกล้า แต่มีขั้นตอนที่ซับซ้อน จึงยังไม่สามารถย้ายไปรับการรักษาได้ ผมจึงแจ้งไปยังพล.อ.ท.ภักดี แสงชูโต ขอให้ช่วยย้ายดาบกรกตไปรักษาที่โรงพยาบาลพระปิ่นเกล้า รักษาอยู่สักพักอาการก็ดีขึ้นมาก เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ย้ายกลับมาอยู่ที่โรงพยาบาลค่ายสุรนารีแล้ว และล่าสุดเริ่มฝึกเดินเป็นที่เรียบร้อย คาดว่า อาการน่าจะหายดีในเร็วๆ นี้”
นายวิเชียร จันทรโณทัย กล่าวอีกว่า “เคสของดาบชัชวาลที่เสียชีวิตไป ซึ่งภรรยาของเขาเป็นแม่บ้าน วันนี้ก็ได้บรรจุเป็นข้าราชการตำรวจแล้ว ส่วนน้องไอซ์ ซึ่งแม่เสียชีวิต และพ่อก็เสียชีวิตไปก่อนนี้ โดยน้องไอซ์เวลามาโรงเรียนแม่จะเป็นคนมารับส่งเสมอ แต่หลังจากแม่เสียชีวิต ก็ไม่มีคนมารับส่ง คุณย่าก็อายุมากแล้ว ในช่วงที่ผ่านมาผมจึงไปพูดคุยกับลุงของน้อง ซึ่งทำงานเป็นนายช่าง ที่สำนักงานป่าไม้จังหวัดบุรีรัมย์ หาทางที่จะย้ายมาอยู่ที่โคราช โดยติดต่อไปยังกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม และสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อย้ายลุงของน้องไอซ์กลับมาอยู่โคราช มาช่วยเลี้ยงดูน้องไอซ์ แต่เรื่องการโยกย้ายก็เงียบไป ท้ายที่สุดจึงขอความช่วยเหลือจากอธิบดีกรมทางหลวงชนบท ซึ่งขณะนี้อนุมัติเรียบร้อยแล้ว โดยลุงของน้องไอซ์จะย้ายมาอยู่ที่โคราชในวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๖๓ และอีกเรื่องหนึ่ง กองทัพบกจะรับน้องไอซ์เข้าเป็นทหารเมื่อจบ ม.๖ แต่จะได้รับยศสิบตรี ผมจึงไปพูดคุยกับน้องไอซ์ที่บ้าน พบว่า น้องต้องการเรียนรัฐศาสตร์ และถ้าเรียนมหาวิทยาลัยจบมาก็จะได้รับยศร้อยตรี ผมจึงขอให้มหาวิทยาลัยขอนแก่นช่วยรับน้องไอซ์เข้าเรียนในคณะรัฐศาสตร์ โดยหลังจากนี้จะต้องพูดคุยกับกองทัพบกว่า เรื่องการรับน้องไอซเข้ารับราชการทหาร ขอให้เลื่อนจากจบ ม.๖ ไปเป็นหลังจบ ป.ตรี ได้หรือไม่ เพื่อจะให้ได้ยศร้อยตรี ในเมื่อชีวิตของน้องไอซ์กำลังจะถึงฝั่งแล้ว ผมต้องการช่วยให้เขาไปจนสุดทาง กระทั่งสามารถช่วยเหลือตนเองได้ต่อไป”
ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า “การจัดการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบนั้น บางครอบครัวมีผู้เสียชีวิตทั้ง พ่อ แม่ และลูก จังหวัดจึงต้องหาผู้ที่จะมารับเงินจากการรับบริจาค เพราะเงินบริจาค เกิดขึ้นได้เพราะประชาชนต้องการที่จะบริจาคช่วยเหลือ เมื่อเปิดบัญชีแล้ว ผมเดินทางไปรับเงินจากเสี่ยโป้ ซึ่งเดิมจะบริจาค ๒.๕ ล้านบาท แต่ขอแบ่งให้ตำรวจภูธรภาค ๓ ไป ๑ ล้านบาท จึงเหลือบริจาคให้จังหวัดนำไปช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ ๑.๕ ล้านบาท และในขณะรับบริจาคเงินจากเสี่ยโป้ ผมหันไปถามผู้จัดการธนาคารกรุงไทย ซึ่งเป็นผู้ดูแลบัญชีรับบริจาคว่า ขณะนี้มีเงินเข้าบัญชีหรือไม่ ปรากฏว่ามีเงินเข้าบัญชีมากว่า ๕ ล้านบาท ผมจึงตระหนักขึ้นมา ต้องดูแลเงินส่วนนี้อย่างดีที่สุด ไม่มีใครโทรมาบอกว่าจะบริจาคเงินเข้าบัญชีนี้ ไม่มีใครต้องการรับใบเสร็จ ทุกคนโอนเข้ามาตั้งแต่ ๑๐๐ ถึง ๑๐,๐๐๐ บาท ทุกคนล้วนทำด้วยใจ ไม่ต้องการสิ่งใดตอบแทน ดังนั้นผมจึงต้องดูแลเงินส่วนนี้ให้ดีที่สุด โดยให้จังหวัดคอยชี้แจงจำนวนเงินทุกวัน เวลา ๐๘.๐๐ น. และเวลา ๒๐.๐๐ น. เพื่อป้องกันการสับสน รวมถึงถ่ายภาพบัญชีธนาคารให้ดูด้วยว่า มีเงินเข้าจำนวนเท่าไหร่ มีการอัพเดตอยู่ตลอดเวลา”
“ในการบริหารจัดการ จังหวัดมีการประชุมทุกวัน เวลา ๐๗.๐๐ น. และเวลา ๒๐.๐๐ น. ทุกส่วนราชการเข้าประชุมอย่างพร้อมเพรียง ไม่ต้องทำหนังสือแจ้งล่วงหน้า ทุกคนรู้ว่าเวลาใดต้องมาประชุม ถือเป็นความสามัคคีอย่างหนึ่งของส่วนราชการ ในที่ประชุมพูดถึงการบริหารเงินบริจาค มีข้อเสนอแนะมากมาย เช่น ให้แบ่งเงินส่วนหนึ่งไว้เป็นค่าเล่าเรียนลูกหลานผู้ได้รับผลกระทบ นำเงินส่วนหนึ่งไปสร้างบ้านให้ และนำไปซ่อมแซมสิ่งที่เสียหาย ท้ายที่สุดผมจึงตัดบทว่า เงินส่วนนี้เป็นเงินที่ประชาชนต้องการเห็นว่าไปถึงมือของผู้ได้รับผลกระทบ ในรูปแบบเป็นเงินสด โดยผู้เสียชีวิตจะได้รับคนละ ๑ ล้านบาท เราจึงเชิญครอบครัวมารับไปช่วยจัดงานศพ และในการจ่ายเงินนั้น มีปัญหาที่ละเอียดอ่อนมาก เช่น สามีภรรยาคู่หนึ่ง ซึ่งสามีเป็นผู้เสียชีวิต พักอาศัยอยู่ในห้องเช่าด้วยกัน พร้อมกับลูกอีกหนึ่งคน ทั้งคู่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน หากทำตามข้อกฎหมาย ภรรยาและลูกก็จะไม่มีสิทธิ์ในเงินบริจาค ดังนั้น เงินส่วนนี้จะต้องแบ่งให้ภรรยาเขาด้วย หากพ่อแม่ของฝ่ายชายไม่ตกลง จังหวัดก็จะไม่จ่ายเงินให้ การจ่ายเงินจึงมีความละเอียดอ่อน ผมต้องลงไปพูดคุยกับทุกคนด้วยตนเอง เมื่อถึงวันที่ต้องจ่ายเงิน ผมก็ให้จ่ายเป็นเงินสด โดยในส่วนของน้องไอซ์พบว่า มีปัญหาในการจัดการเงิน เนื่องจากปู่และย่าอาจจะดูแลเงินได้ไม่ทั่วถึง จึงต้องให้เพื่อนคุณแม่และครูประจำชั้นมาช่วยดูแลเงิน และเด็กก็ควรจะมีบัญชีหนึ่งที่เป็นส่วนตัว เพราะผู้ใหญ่อาจจะไม่เข้าใจว่า เด็กก็ต้องมีความต้องการในการใช้จ่ายต่างๆ โดยเงินที่เข้าบัญชีนี้ เป็นเงินบริจาคหลังจากที่ปิดบัญชีของจังหวัดไปแล้ว แต่ยังมีผู้ใจบุญต้องการจะบริจาคอีก ซึ่งผมให้ฝ่ายผู้บริจาคนำเงินไปให้ผู้ได้รับผลกระทบด้วยตนเอง ไม่ต้องบริจาคผ่านจังหวัดแล้ว” นายวิเชียร จันทรโณทัย กล่าว
นายวิเชียร จันทรโณทัย กล่าวท้ายสุดว่า “บทเรียนที่ได้รับจากการทำงานนี้ ผมคิดว่า คนโคราชและคนไทยทั้งประเทศมีน้ำใจ ทุกอย่างเป็นไปได้ง่ายและเป็นไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งเงินในการจัดพิธีศพ ค่าใช้จ่ายในวัดต่างๆ ส่วนหนึ่งมาจากพระมหากรุณาธิคุณ และส่วนหนึ่งผมร่วมทำบุญด้วย ซึ่งหลังจากเกิดเหตุนี้ จังหวัดก็ตระหนักถึงการฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยจะเน้นไปที่การจัดงานกระตุ้นด้านการท่องเที่ยว การจัดงานกีฬา งานวิ่ง และการจัดประชุมสัมมนาต่างๆ แต่ก็โชคไม่มีนัก เพราะโคราชต้องเผชิญกับวิกฤตโควิด-๑๙ กลายเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม โคราชอาจจะกลับมาฟื้นตัวอีกครั้งได้โดยเร็ว เนื่องจากโคราชเป็นจังหวัดแรกๆ ของประเทศไทย ที่มีการปลดล็อกมาตรการต่างๆ อนุญาตให้จัดงานประชุมสัมมนา การแสดงคอนเสิร์ต และงานถนนคนเดิน โดยการจัดงานทั้งหมดให้เริ่มจากภาคราชการก่อน เพื่อเรียกขวัญกำลังใจให้คนโคราชกลับมาเชื่อมั่นในศักยภาพของตัวเองต่อไป”
นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๖ ฉบับที่ ๒๖๔๒ วันพุธที่ ๒๖ สิงหาคม - วันอังคารที่ ๑ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๓
73 1,623