19thApril

19thApril

19thApril

 

September 12,2020

เล็งตั้งเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ปชช.หวั่นรั่วไหลได้รับอันตราย

ปส.รับฟังประชาชนก่อนอนุญาตก่อตั้งปฏิกรณ์นิวเคลียร์ เล็งใช้พื้นที่ มทส. เป้าหมายเพื่อศึกษาวิจัยและให้บริการเกี่ยวกับรังสีวิทยา หวังหาวิธีรักษามะเร็งท่อน้ำดี ชี้ภาคอีสานพบมากเป็นอันดับ ๑ ของโลก ด้านคนโคราชส่วนใหญ่มองเป็นประโยชน์ แต่กังวลการรั่วไหลและอันตรายจากรังสี

 

วันที่ ๔ กันยายน ๒๕๖๓ เวลา ๐๙.๐๐ น. ที่โรงแรมดิ อิมพีเรียล โคราช สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) จัดเวทีรับฟังความเห็น เพื่อประกอบการพิจารณาอนุญาตให้ใช้พื้นที่เพื่อตั้งสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ : เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี โดยมีนายวิสูตร ชัชวาลวงศ์ ปลัดจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธาน พร้อมด้วยผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ผู้แทนส่วนราชการ และประชาชนที่อยู่อาศัยในบริเวณรอบพื้นที่ตั้งสถานประกอบการนิวเคลียร์ในพื้นที่เป้าหมาย ร่วมรับฟังโดยมีนางสุชิน อุดมสมพร รองเลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ชี้แจงข้อมูลการดำเนินโครงการตั้งสถานประกอบการนิวเคลียร์ 
นางสุชิน อุดมสมพร รองเลขาธิการ ปส. กล่าวว่า “ในสถานการณ์ปัจจุบัน ปฏิเสธไม่ได้ว่าเทคโนโลยีนิวเคลียร์และรังสีได้ก้าวเข้ามาในชีวิตประจำวันมากขึ้น ทั้งการแพทย์ การเกษตร และอุตสาหกรรม ซึ่งการใช้นิวเคลียร์เทคโนโลยีและรังสี สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ จะเข้ามากำกับดูแลให้เกิดความปลอดภัยสูงสุด ทั้งต่อผู้ปฏิบัติงาน ประชาชน และสิ่งแวดล้อม ตามพระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ.๒๕๕๙ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.๒๕๖๒ ทั้งนี้ มทส.เป็นหน่วยงานที่ขอรับใบอนุญาตใช้พื้นที่เพื่อตั้งสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ สำหรับเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัยไปยัง ปส. เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างถูกต้อง ตามกฎกระทรวงให้ใช้พื้นที่ เพื่อตั้งสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ พ.ศ.๒๕๖๓ หมวดที่ ๔ ว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ข้อที่ ๒๐ ได้กำหนดไว้ว่า ในการพิจารณาออกใบอนุญาตให้ใช้พื้นที่เพื่อตั้งสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ ต้องมีการรับฟังความเห็นของประชาชน ที่อยู่อาศัยบริเวณโดยรอบพื้นที่” 

“โดย ปส.จะนำความคิดเห็นเหล่านี้ รวมทั้งข้อเสนอแนะต่างๆ จากประชาชนทุกกลุ่มไปใช้ เพื่อนำเสนอให้คณะกรรมการพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติประกอบการพิจารณาอนุญาตให้ใช้พื้นที่เพื่อตั้งสถานประกอบการทางนิวเคลียร์” นางสุชิน กล่าว

เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัย

จากนั้น ผศ.ดร.ชิโนรัตน์ กอบเดช หัวหน้าโครงการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการวิจัยรังสีรักษาฯ นำเสนอรายละเอียดว่า “โครงการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการวิจัยรังสีรักษาจากโบรอนจับยึดนิวตรอน มีวัตถุประสงค์ เพื่อต้องการช่วยเหลือผู้ป่วยโรคมะเร็ง บางส่วนที่เข้าผ่าตัดต้องใช้เวลาพักฟื้นนาน และบางส่วนไม่สามารถผ่าตัดได้เนื่องจากอยู่ใกล้อวัยวะที่สำคัญ ทำให้ต้องใช้ยาเคมีบำบัด ที่มีผลข้างเคียงหลายอย่าง ถ้าร่างกายไม่แข็งแรง อาจไม่สามารถรับยาได้ครบตามปริมาณที่กำหนด”
“เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัยนี้ จะมีขนาด ๔๕ กิโลวัตต์ ใช้น้ำเป็นตัวหน่วงนิวตรอนและเป็นสารหล่อเย็น สามารถใช้ประโยชน์องค์ความรู้ร่วมกันระหว่างฟิสิกส์นิวเคลียร์ เวชศาสตร์นิวเคลียร์ และสาขาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อประยุกต์ใช้ประโยชน์ทางรังสีได้หลากหลายเทคนิค เช่นการวิเคราะห์ธาตุโดยเทคนิคการอาบรังสีนิวตรอน (Neutron Activation Anatysis; NAA) การถ่ายภาพวัสดุโดยใช้นิวตรอน (Neutron Radiography) และเทคนิคการจับยึดนิวตรอนด้วยโบรอน (Boron Neutron Capture Therapy; BNCT)” ผศ.ดร.ชิโนรัตน์ กล่าว 

BNCT เครื่องแรกในประเทศ

ผศ.ดร.ชิโนรัตน์ กอบเดช กล่าวว่า “การรักษาจากโบรอนจับยึดนิวตรอน (BNCT) เป็นการทำลายเนื้อเยื่อเฉพาะบริเวณเซลล์มะเร็ง โดยทำลายเนื้อเยื่อใกล้เคียงให้น้อยที่สุดต่างจากรังสีรักษาแบบปกติที่เนื้อเยื่อปกติที่อยู่ข้างเคียงถูกทำลายได้มากกว่า สามารถลดความเสี่ยงจากการผ่าตัดและลดการบอบช้ำของผู้ป่วย และ มทส.จะเป็นที่แรกที่จะมีเครื่อง BNCT ในประเทศไทย ซึ่งเป็นเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ที่ใช้หลักฟิสิกส์และเทคนิคทางวิศวกรรม โดยมีเป้าหมายเพื่อต้องการหาวิธีรักษามะเร็งท่อน้ำดี เนื่องจากภาคอีสานเป็นบริเวณที่พบมากเป็นอันดับ ๑ ของโลก พร้อมทั้งช่วยรักษาโรคมะเร็งในอวัยวะสำคัญอื่นๆ และสนับสนุนงานวิจัยด้านรังสีในภาคอุตสาหกรรมและการแพทย์” 

ระบบความปลอดภัยครอบคลุม

“ระบบความปลอดภัยแบ่งเป็น ๔ องค์ประกอบ ได้แก่ ๑.ระบบความปลอดภัยทางน้ำ โครงการจะเลือกใช้เรซินในการกรองรังสีออกจากน้ำ ซึ่งสารรังสีที่ติดกับเรซิน บางส่วนจะสลายไปในระยะเวลาไม่กี่นาที และบางส่วนถูกจัดเก็บอย่างปลอดภัย โดยที่น้ำจะไม่ออกสู่ภายนอก ๒.ระบบความปลอดภัยทางอากาศ จะกรองอากาศด้วยไส้กรองพิเศษ (HEPA) สำหรับสารรังสี พร้อมทั้งมีห้องความดันลบที่ทำให้สารรังสีออกไปภายนอกไม่ได้ ๓.ระบบความปลอดภัยทางอาคาร โดยจะก่อสร้างด้วยคอนกรีตชนิดพิเศษกำบังรังสี ที่มีระบบไฟฟ้าสำรอง ๒ ระบบ มีระบบปั้มน้ำสำรอง และทนทานต่อแผ่นดินไหว ๔.ระบบความปลอดภัยของเครื่องตรวจวัดปริมาณรังสี โดยจะมีเครื่องตรวจวัดรังสี ที่ทำการตรวจวัดตลอดเวลา ซึ่งใช้หน่วยในการวัดเป็นซีเวิร์ตต่อชั่วโมง” 

รังสีกระจายน้อยกว่ารังสีธรรมชาติ

ผศ.ดร.ชิโนรัตน์ กล่าวว่า “ส่วนระยะทางที่รังสีกระจายในกรณีเกิดอุบัติเหตุนั้น ในรัศมี ๑๐ เมตรจากตัวอาคารจะอยู่ที่ ๐.๐๐๐๐๖ ซีเวิร์ต ซึ่งมีปริมาณน้อยมาก และรังสีจะไม่ออกมาภายนอกอาคาร เนื่องจากอาคารมีขนาด ๒๘ x ๓๑ ตารางเมตร เมื่อเปรียบเทียบปริมาณรังสี รังสีตามธรรมชาติที่ได้รับใน ๑ ปี จากนอกโลก จะอยู่ที่ ๐.๐๐๐๓๙ ซีเวิร์ต, จากพื้นโลก ๐.๐๐๐๔๘ ซีเวิร์ต, จากอาหาร ๐.๐๐๐๒๙ ซีเวิร์ต และจากก๊าซเรดอนในอากาศ ๐.๐๐๑๒๖ ซีเวิร์ต รังสีสูงสุดของเครื่องในกรณีเกิดอุบัติเหตุที่วัดได้ในระยะ ๑๐ เมตรจากแกนเครื่อง มีปริมาณน้อยมากเมื่อเทียบกับรังสีตามธรรมชาติ”

กำจัดถูกต้องไม่กระทบ

“การกำจัดกากรังสีนั้น เชื้อเพลิงยูเรเนียมที่นำมาใช้นั้นสามารถใช้งานได้ถึง ๒๐ ปี เมื่อถึงกำหนดประมาณ ๑๕ ปีก็จะส่งคืนให้กับผู้ผลิต เนื่องจากมีกฎหมายควบคุม หากประเทศใดเป็นผู้ผลิต ประเทศนั้นต้องเป็นผู้กำจัดกากรังสี ส่วนเรซินและไส้กรองจะถูกจัดเก็บในถังคอนกรีตบุสแตนเลสเพื่อส่งให้หน่วยรับบริการเป็นผู้กำจัด และของเหลวปนเปื้อนรังสีจะถูกจัดเก็บในแท้งค์อลูมิเนียม เพื่อส่งให้หน่วยรับบริการกำจัดเช่นกัน”  

ที่ตั้งศูนย์ฯ เหมาะสม

จากนั้น ดร.ฉัตรเพชร ยศพล ประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม  มทส. กล่าวเกี่ยวกับความปลอดภัยและความเหมาะสมของสถานที่ตั้งสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ ว่า “ในการเลือกที่ตั้งศูนย์ฯ นั้น จะเลือกตั้งอยู่ในเขตพื้นที่เผื่อขยายในอนาคตตามแผนแม่บทมหาวิทยาลัย ที่ไม่อยู่ในบริเวณชุมชนและที่พักอาศัย มีความหนาแน่นของประชากรน้อย (น้อยกว่า ๕๐๐ คน/ตารางกิโลเมตร) อยู่ใกล้พื้นที่โรงพยาบาล มทส. ที่ง่ายต่อการเชื่อมโยงการรักษาผู้ป่วย มีความสะดวกในด้านการจราจร และเอื้อต่อการใช้ประโยชน์ของโครงการมากที่สุด”

ประเมินผลกระทบบริเวณที่ตั้ง

“ในการประเมินผลกระทบของพื้นที่ตั้งสถานประกอบทางนิวเคลียร์นั้น จะประเมินในด้านต่างๆ ดังนี้ ๑.การสำรวจทางธรณีฟิสิกส์พบว่า ไม่มีผลกระทบต่อแหล่งน้ำบาดาล ๒.น้ำใต้ดิน มีอัตราการซึมผ่านของน้ำ เท่ากับ ๐.๑๙๗ เมตรต่อวัน ๓.ความแข็งแกร่งของดิน ชั้นดินสามารถรับน้ำหนักได้สูงสุด ๒๘๗.๗๙ ตันต่อตารางเมตร ๔.อยู่ไกลจากพื้นที่เกลือหิน ๕.การเกิดอุทกภัย พื้นที่อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเล ๒๔๖ เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ๖.การเกิดแผ่นดินไหวพบว่า อยู่ในพื้นที่ที่มีความถี่ในการเกิดเพียง ๒% ในรอบ ๕๐ ปี และ ๗.การเกิดลมพายุ พบว่า ค่าความเสี่ยงอันตรายของการเกิดลมพายุของโครงการฯ อยู่ที่ ๒%”

ตรวจสอบปริมาณรังสีตลอดเวลา

ดร.ฉัตรเพชร ยศพล กล่าวว่า “ส่วนระบบความปลอดภัยทางรังสีนั้น จะติดตั้งเครื่องตรวจสอบปริมาณรังสีตลอดเวลา โดยมีแนวทางการตรวจสอบปริมาณรังสีประจำวัน ดังนี้ ๑.ก่อนเปิดเครื่อง จะตรวจวัดปริมาณรังสีทั้งในและนอกอาคาร และเช็คความพร้อมของระบบเครื่องทั้งหมด ๒.ขณะใช้เครื่อง จะเก็บอากาศขณะเดินเครื่องไปตรวจสอบคุณภาพรังสี พร้อมทั้งมีเจ้าหน้าที่ประจำการเดินเครื่องอยู่ตลอดเวลาและตรวจวัดปริมาณรังสีทุกๆ ๓๐ นาที และ ๓.หลังปิดเครื่อง จะตรวจวัดปริมาณรังสีทั้งในและนอกอาคาร พร้อมทั้งเก็บอากาศภายในอาคารไปตรวจสอบหาปริมาณรังสี และจัดเก็บน้ำในบ่อปฏิกรณ์ไปตรวจสอบคุณภาพทางรังสี”

“การตรวจวัดปริมาณรังสีในสิ่งแวดล้อม เพื่อเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่กระจายรังสีสู่สิ่งแวดล้อมและประชาชน โดยการจัดเก็บตัวอย่างเพื่อสำรวจผลกระทบ สิ่งที่นำมาวัดรังสี ได้แก่ ๑.ดิน ที่เป็นแหล่งอาหารของพืชทุกชนิด (หมู่บ้านโกรกเดือนห้า ระยะ ๓๐๐ เมตร) ๒.พืชอาหาร เป็นแหล่งอาหารของพืชและสัตว์ (หมู่บ้านโกรกเดือนห้า ระยะ ๓๐๐ เมตร) ๓.หญ้า เป็นแหล่งอาหารของสัตว์เลี้ยงและสัตว์เศรษฐกิจ (หมู่บ้านสะพานหิน ระยะ ๑,๘๐๐ เมตร) ๔.อากาศ สำหรับการหายใจของสิ่งมีชีวิต (บริเวณที่ตั้งโครงการฯ ระยะ ๒๐ เมตร) และ ๕.น้ำ ใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค (อ่างน้ำ รพ.มทส.ระยะ ๓๐๐ เมตร) ซึ่งวิเคราะห์ผลโดยสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ” ดร.ฉัตรเพชร กล่าว

กังวลรังสีรั่วไหล

จากนั้น เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นผู้เข้าร่วมประชุมและทางออนไลน์ โดยมีผู้ส่งคำถามเข้ามาทางออนไลน์ถึงข้อกังวลเกี่ยวกับการรั่วไหลของรังสีที่จะเกิดขึ้น ดร.ฉัตรเพชร ชี้แจงว่า “การรั่วไหลจะแบ่งเป็น ๒ กรณี หากรั่วไหลเกิดจากน้ำก็จะตรวจสอบก่อนว่ามากน้อยขนาดไหน หากมีปริมาณน้อยก็จะทำการจัดเก็บลงแท้งก์ทันทีเพื่อกำจัด แต่หากมีเหตุร้ายแรงคาดการณ์จะสามารถกำจัดได้ไม่เกิน ๖ ชั่วโมง ในรัศมี ๑๐ เมตรจากอาคาร ซึ่งเป็นปริมาณน้อยมากหากเทียบกับรังสีตามธรรมชาติ” 

ทั้งนี้ ดร.ชาตรี ศิริสวัสดิ์ ให้ความเห็นและข้อเสนอแนะว่า “เครื่องปฏิกรณ์วิจัย เป็นเทคโนโลยีที่ล้ำในยุคสมัยปัจจุบัน จะทำให้ประเทศไทยและ มทส.โชคดีในระดับเอเชีย กฎหมายและกระบวนการวิชาการ รวมทั้งการออกแบบทางวิศวกรรม ทั้งภายในและต่างประเทศนั้นรัดกุมและหลายขั้นตอน ทำให้ความปลอดภัยที่หลายคนกังวล สามารถสบายใจได้ อีกทั้งโครงการดังกล่าวจะทำให้โคราชโดดเด่นอีกครั้ง จึงต้องการให้ช่วยกันสนับสนุนเรื่องดังกล่าว เพราะพลังงานนิวเคลียร์นำมาใช้สำหรับการแพทย์เท่านั้น หากมองอีกด้านจะทำให้เศรษฐกิจโคราชดีขึ้น แต่กังวลคนไม่เข้าใจเกี่ยวกับนิวเคลียร์จนทำให้เกิดแรงต้าน ในฐานะคนโคราชขอสนับสนุนให้สร้างให้ได้” 

นางวราภรณ์ วัชรสุรกุล กล่าวว่า “ความกลัวทำให้เราไม่มองบางอย่าง ถ้าได้รับข้อเท็จจริงหรือฟังความจริง จะลดความกลัวไปได้ เรื่องนิวเคลียร์เป็นเรื่องที่ต่อสู้กับความกลัว แต่ไม่ใช่ต่อสู้กับความไม่รู้ ถ้าไม่รู้ก็สามารถอธิบายให้ความรู้ได้ แต่ความกลัวนั้นยาก ดีใจที่หลายคนมาร่วมรับฟัง สำหรับสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ที่เป็นผู้กำกับดูแล ก็มีกระบวนการต่างๆ อย่างรัดกุม ไม่ใช่ขอเพียงครั้งเดียวแล้วจะผ่าน ยังมีอีกหลายขั้นตอนในการขออนุญาต ซึ่งแต่ละขั้นตอนมีเกณฑ์มาตรฐานความปลอดภัยไม่เหมือนกัน จะเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละขั้นตอน ฉะนั้น ประชาชนสามารถมั่นใจในกระบวนการที่ผ่านมานั้น มีการออกแบบกระบวนการที่เป็นไปตามกฎหมาย และจะดูแลความปลอดภัยด้านนิวเคลียร์และรังสีให้กับประชาชนต่อไป” 

ผศ.ดร.ชิโนรัตน์ ย้ำว่า “มทส.ปีนี้ครบรอบ ๓๐ ปี ซึ่งกระแสของคนโคราชกับ มทส.ดีขึ้นกว่าเมื่อก่อนมาก ผมทำงานอยู่กับ มทส.มา ๒๘ ปี มทส.สามารถพิสูจน์ในหลายอย่างกับคนโคราชว่า ‘เราทำได้’”    

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๖ ฉบับที่ ๒๖๔๔ วันอังคารที่ ๙ - วันพุธที่ ๑๕ เดือนกันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๓

 

 


989 1389