29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

September 12,2020

เสนอ ๙ ข้อแก้น้ำท่วมอุบลฯยั่งยืน ลดความสูญเสียทั้งชีวิต-ทรัพย์สิน

ภาคประชาชนมอบข้อมูลจากเวทีระดมความเห็นการรับมือ แก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก เพราะอุบลฯ เป็นพื้นที่รองรับน้ำทั่วภาคอีสาน หวังลดความสูญเสียทั้งทรัพย์สิน และชีวิต ปี ๒๕๖๒ คนอุบลฯ ตาย ๑๐ ราย นาข้าวพืชไร่ เสียหายกว่าครึ่งล้านไร่

 

คณะทำงานภาคประชาชน ซึ่งจัดเวทีบทเรียนน้ำท่วมใหญ่จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อปี ๒๕๖๒ ได้นำข้อเสนอแนวทางการรับมือและวิธีแก้ปัญหาน้ำท่วมสองฝั่งลุ่มแม่น้ำของจังหวัดอุบลราชธานี เสนอต่อ นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัด ใช้เป็นแนวทางเสนอไปถึงรัฐบาลใช้แก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากในพื้นที่ของจังหวัด เมื่อวันที่ ๔ กันยายน ๒๕๖๓ ที่ห้องประชุมท้าวคำผง ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี

ทั้งนี้ เมื่อเดือนสิงหาคม ๒๕๖๓ ภาคประชาชนของจังหวัดอุบลราชธานี ได้จัดเวทีระดมความเห็นจากประชาชน นักธุรกิจ และภาคราชการทุกภาคส่วน ที่ได้รับผลกระทบและต้องออกช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมใหญ่ในรอบหลายสิบปี กระทั่งได้ข้อสรุปเป็นแนวทางใช้แก้ปัญหาน้ำท่วม ทั้งก่อนเกิดเหตุ ขณะเกิดเหตุ และหลังเกิดน้ำท่วม รวมทั้งด้านวิศวกรรมศาสตร์ของเส้นทางน้ำ ต่อการไหลของน้ำทั้งลุ่มแม่น้ำมูล ลุ่มน้ำชี และลุ่มน้ำโขง รวมทั้งการกำหนดผังเมือง เพื่อใช้แก้ปัญหาน้ำท่วมรวมทั้งสิ้น ๙ ข้อ
โดยภาคประชาชนเห็นจะเกิดประโยชน์หากรัฐบาลใช้เป็นโมเดลใช้วางระบบแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด จึงนำข้อเสนอทั้งหมดมามอบให้กับนายสฤษดิ์ ใช้เป็นข้อมูลเสนอต่อรัฐบาลใช้วางแผนแก้ไขปัญหาน้ำท่วมดังกล่าว เพื่อให้จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นพื้นที่ราบลุ่มรับน้ำจากภาคอีสานทั้งภาค ก่อนน้ำจะไหลออกไปลงทะเลที่ประเทศกัมพูชา จะได้ไม่เกิดเหตุน้ำท่วมใหญ่ ทำให้ชีวิตมนุษย์และทรัพย์สินได้รับความเสียหายเหมือนเมื่อปี ๒๕๖๒ อีกต่อไป

นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องระดับชาติ ซึ่งจะยกจังหวัดอุบลราชธานีเป็นโมเดล ที่ผ่านมามีการร่างแผนแก้ปัญหาจากหน่วยงานไว้บ้างแล้ว จะได้นำข้อเสนอของภาคประชาชนไปปรับใช้ร่วมกับแผนที่มีอยู่แล้วให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับพื้นที่และประชาชน เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากที่เกิดขึ้นทุกปี

สำหรับเหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อปี ๒๕๖๒ ซึ่งน้ำได้ไหลหลากท่วมพื้นที่สองฝั่งแม่น้ำมูล แม่น้ำชี และแม่น้ำโขง ทำให้มีประชาชนเสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ถึง ๑๐ คน พื้นที่เกษตรกรรมถูกน้ำท่วมเสียหายกว่า ๕ แสนไร่ บ้านเรือนประชาชนถูกน้ำท่วมพังเสียหายบางส่วนและเสียหายทั้งหลังกว่า ๔ หมื่นหลังคาเรือน ถนนและสิ่งสาธารณูปโภคอื่นๆ อีกจำนวนมาก คิดมูลค่าความเสียหายน้ำท่วมที่เกิดขึ้นครั้งนี้จำนวนนับหมื่นล้านบาท

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ ๑ กันยายนที่ผ่านมาพลตรีสรชัช สุทธิสนธิ์ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ ๒๒ อุบลราชธานี พร้อมทหารจากหน่วยเสนารักษ์โรงพยาบาลค่ายสรรพสิทธิประสงค์ ทำการซ้อมแผนเคลื่อนย้ายผู้ป่วยติดเตียงที่อาศัยอยู่ตามริมแม่น้ำและพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมในเขตเทศบาลเมืองวารินชำราบและเทศบาลนครอุบลราชธานีออกจากพื้นที่ได้อย่างรวดเร็ว หากเกิดมีน้ำท่วมฉับพลัน ซึ่งทหารหน่วยเสนารักษ์ฯ ได้จัดทำทะเบียนผู้ป่วยติดเตียงที่อาศัยอยู่ตามพื้นที่เสี่ยงตามชุมชนต่างๆ ในปีนี้ไว้ทั้งหมด พร้อมแบ่งผู้ป่วยเป็นกลุ่มต้องได้รับการช่วยเหลือเร่งด่วนลำดับแรก ลำดับปานกลาง และอื่นๆ โดยเมื่อเกิดภาวะเสี่ยงจากอุทกภัยทหารจะเข้าทำการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยและสิ่งของเครื่องใช้ออกจากจุดเสี่ยงภัยมาอยู่ในศูนย์อพยพชั่วคราวที่มีการจัดเตรียมไว้

การซ้อมเคลื่อนย้ายผู้ป่วยครั้งนี้ มีการเคลื่อนย้ายทั้งแบบทางบกและทางน้ำตามสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงต่อการสูญเสียชีวิตของผู้ป่วย หากเกิดน้ำท่วมฉับพลันจากภาวะฝนตกหนักเหมือนที่เกิดขึ้นในภาคเหนือเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๖ ฉบับที่ ๒๖๔๔ วันอังคารที่ ๙ - วันพุธที่ ๑๕ เดือนกันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๓

 

 


941 1591