September 12,2020
ชาวบุรีรัมย์ค้านสัมปทานเหมืองหิน จี้สอบนายทุนทำถนนผ่าป่าสงวน
ยื่นหนังสือร้องตรวจสอบนายทุนทำถนนตัดผ่านป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาอังคาร พร้อมค้านไม่ให้สัมปทานพื้นที่ป่าทำเหมืองหิน หวั่นทำลายทรัพยากรธรรมชาติ กระทบวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ด้าน ‘ศรีสุวรรณ จรรยา’ จ่อยื่นหนังสือกระทรวงทรัพยฯ รวมทั้ง ป.ป.ช.และผู้ตรวจการแผ่นดิน
เมื่อวันที่ ๖ กันยายน ๒๕๖๓ ตัวแทนราษฎรในหลายอำเภอของจังหวัดบุรีรัมย์ และใกล้เคียง รวมตัวกันยื่นหนังสือ ผ่านนายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ที่บริเวณป่าสงวนแห่งชาติ (ป่าเขาอังคาร) ต.ถนนหัก อ.นางรอง เพื่อขอให้ช่วยเดินเรื่องในการตรวจสอบกรณีที่นายทุนหรือผู้ประกอบการ ทำถนนตัดผ่านป่าพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ (ป่าเขาอังคาร) ตั้งแต่เขตพื้นที่ตำบลเจริญสุข อ.เฉลิมพระเกียรติ, ตำบลถนนถนนหัก-ตำบลสะเดา อำเภอนางรอง รวมระยะทางประมาณ ๕ กิโลเมตร ความกว้างประมาณ ๗-๑๐ เมตร เพื่อใช้เป็นเส้นทางในการขนส่งหินจากแหล่งสัมปทานไปจำหน่ายในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ และวิถีชีวิตของราษฎรในพื้นที่ รวมทั้งการก่อสร้างถนนยังขวางทางน้ำที่เคยไหลจากพื้นที่ป่าเขาอังคารลงไปยังไร่นา ก็ไม่สามารถไหลได้ ทั้งนี้ประชาชนยังร่วมกันคัดค้านไม่ให้ผู้ประกอบการสัมปทานพื้นที่ป่าเขาอังคารเพื่อทำเหมืองหินด้วย เพราะจะเป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ป่า แหล่งทำมาหากิน และทำเลเลี้ยงสัตว์ ที่ประชาชนร่วมกันดูแลอนุรักษ์มาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ
นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน กล่าวว่า หลังจากมีประชาชนร้องเรียนว่า มีนายทุนหรือผู้ประกอบการสร้างถนนตัดผ่าเข้าไปในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ (ป่าเขาอังคาร) และพยายามจะทำให้ป่าดังกล่าวเป็นป่าเสื่อมโทรม เพื่อจะยื่นขอสัมปทานทำเหมืองหิน จึงเดินทางมารับหนังสือร้องจากตัวแทนประชาชน และลงมาดูสภาพพื้นที่จริงด้วยตัวเอง ซึ่งจากการลงพื้นที่ตรวจสอบพบว่า เป็นไปตามที่ชาวบ้านร้องเรียนจริง โดยมีตัวแทนชาวบ้านให้ข้อมูลว่า ถนนสายดังกล่าวเพิ่งก่อสร้างเมื่อประมาณต้นปี ๒๕๖๓ โดยที่ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ที่มีอำนาจที่แท้จริงในการอนุญาต และถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ แต่การก่อสร้างถนนดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าเป็นอย่างมาก เพราะมีการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อก่อสร้างถนน ทั้งในอนาคตก็จะทำให้เกิดการตัดไม้ทำลายป่าได้โดยง่าย เนื่องจากมีการสัญจรที่สะดวก และไม่สามารถควบคุมได้ อีกทั้งถนนดังกล่าวมีการถมดินเป็นคันหนา ทำให้ตัดขวางทางไหลของน้ำตามธรรมชาติ ส่งผลทำให้พื้นที่ป่าด้านล่างของถนนและพื้นที่ทางการเกษตรรอบชายป่าเสื่อมโทรม น้ำจากภูเขาไม่สามารถไหลเข้าสู่พื้นที่ทางการเกษตร อ่างเก็บน้ำ หรือที่นาข้าวของชาวบ้านได้ นอกจากนั้นเมื่อมีการก่อสร้างถนนเสร็จได้มีรถบรรทุกหินขนาดใหญ่ วิ่งสัญจรเข้ามาขนถ่ายหินเข้า-ออกเป็นจำนวนมาก ก่อให้เกิดเสียงดังสนั่นหวั่นไหว เกิดมลภาวะฝุ่นละอองฟุ้งตลอดทั้งวัน รบกวนวิถีชีวิตของสัตว์ป่าและผู้คนในพื้นที่ดังกล่าวเป็นอย่างมาก ซึ่งกรณีดังกล่าวชาวบ้านได้ร้องเรียนไปยังศูนย์ดำรงธรรมเพื่อขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือมีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง ได้ตรวจสอบให้ได้ข้อเท็จจริง และแจ้งให้ประชาชนทราบ แต่ถึงบัดนี้เรื่องก็เงียบหาย ไม่มีหน่วยงานใดออกมาชี้แจงหรือแสดงความรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด
“หลังจากลงพื้นที่มารับหนังสือร้องเรียนจากตัวแทนชาวบ้าน และได้มาเห็นสภาพพื้นที่จริงแล้ว จะทำหนังสือสอบถามและร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งในพื้นที่ คือสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายอำเภอ ผู้ว่าฯ รวมถึงในระดับกระทรวงด้วย เพื่อให้เข้ามาตรวจสอบข้อเท็จจริงว่า ทำไมจึงปล่อยให้ผู้ประกอบการทำถนนผ่าเข้ามาในพื้นที่ป่าเขาอังคาร หากทำไม่ถูกต้องจริงก็ต้องจัดการตามกระบวนการ” นายศรึสุวรรณ กล่าว
นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๖ ฉบับที่ ๒๖๔๔ วันอังคารที่ ๙ - วันพุธที่ ๑๕ เดือนกันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๓
76 1,678