30thOctober

30thOctober

30thOctober

 

September 15,2020

ลุงก้านเกษตรกรวัยเกษียณ เปลี่ยนหญ้าให้เป็นเงิน

หากพูดถึงเนื้อย่าง สเต็ก ชาบู สำหรับผู้ที่หลงใหลในการรับประทานเนื้อ การได้เนื้อคุณภาพแทรกไขมันชั้นเลิศ ไม่ว่าจะย่างหรือจุ่มลงหม้อพร้อมรับประทานคงเหมือนได้ขึ้นสวรรค์ และคงจะดีไม่น้อยหากต้องจ่ายในราคาไม่แพง ‘โคราชคนอีสาน’ ฉบับพิเศษ ชวนไปพูดคุยกับเกษตรกรชาวโคราช “ก้าน ชามขุนทด” เจ้าของ “ลุงก้าน ไร่หญ้าเนเปียร์” ผู้ทำไร่หญ้าเนเปียร์โปรตีนสูงสำหรับเลี้ยงสัตว์ และฟาร์มเลี้ยงโคเนื้อพรีเมี่ยม สายพันธุ์แองกัส ชาร์โรเล่ส์ และวากิว สำหรับใครที่อยากลองทานเนื้อคุณภาพของเกษตรกรโคราช รวมถึงเกษตรกรหรือผู้ที่สนใจต้องการทำเป็นอาชีพสร้างรายได้

 • หลังเกษียณสู่การทำเกษตร

สำหรับคนที่ทำงานมาทั้งชีวิต วัยเกษียณคงเป็นช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านอีกครั้ง จากต้องทำงานเป็นกิจวัตรพอได้พักคงรู้สึกแปลกไม่น้อย เช่นเดียวกับ “ลุงก้าน” อดีตพนักงานธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่ไม่ยอมหยุดการทำงาน แต่ใช้ชีวิตวัยเกษียณหันมาปลูกหญ้าเนเปียร์  และเลี้ยงโคเนื้อพรีเมี่ยม เมื่อปี ๒๕๖๐ ด้วยความคิดแรกเริ่มต้องการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรลดต้นทุนการเลี้ยงสัตว์ ไม่ว่าจะโคเนื้อ โคนม กระบือ แพะ แกะฯ โดยนำน้ำเสียจากโรงงานแป้งมันสำปะหลังมาบำบัดเพื่อใช้ในการเกษตรจนเกิดการรวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชนไร่หญ้าเนเปียร์ และขยายพื้นที่ปลูก จำนวนกว่า ๕๐๐ ไร่ ในระยะเวลา ๓ ปี ผลิตหญ้าเนเปียร์ได้วันละ ๔๐ ตัน สำหรับจำหน่าย และเป็นอาหารสัตว์

ด้วยโรงงานแป้งมันสำปะหลังในบริเวณพื้นที่ใกล้เคียง ที่เคยปล่อยน้ำเสียเป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม และชุมชน ลุงก้านเริ่มต้นจากการเก็บตัวอย่างน้ำ ส่งให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) วิเคราะห์ ซึ่งผลที่ได้กลับมามีมูลค่ามหาศาล สามารถใช้รดหญ้าได้ แถมโรงงานยังใจดีลงทุนกว่า ๑๐ ล้านบาท ในการต่อท่อให้เกษตรกรในกลุ่ม ทำให้ได้หญ้าที่มีคุณภาพ ส่วนโรงงานก็ได้บำบัดน้ำเสียโดยไม่ต้องไปปล่อยทิ้งเป็นมลภาวะ  ได้ประโยชน์กันทั้งสองฝ่าย ก่อนจะนำหญ้าโปรตีนสูงไปเลี้ยงโคเนื้อพรีเมี่ยม ที่ได้รับการส่งเสริมจากปศุสัตว์จังหวัดฯ เลือกคัดสายพันธุ์โคเนื้อลูกผสมยุโรป สายเลือดไม่เกิน ๖๒.๕% ในพันธุ์แองกัสชาร์โรเล่ส์ และวากิว ผลิตโคเนื้อพรีเมี่ยมออกสู่ตลาดในราคาที่ถูกกว่า โดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง เพื่อชาวโคราชได้ลิ้มรสเนื้อคุณภาพ หรือใช้เป็นวัตถุดิบประกอบอาหารหลากหลายเมนู

ลุงก้านเล่าถึงกลุ่มวิสาหกิจชุมชนไร่หญ้าเนเปียร์ และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเนื้อโคราชวากิวขามทะเลสอ เกิดจากความตั้งใจกับแนวคิดที่ว่า การทำงานคนเดียวนั้นขับเคลื่อนไปได้ยาก การรวมกลุ่มเกษตรกรที่มีอุดมการณ์เดียวกัน มีแนวคิดเดียวกัน พร้อมช่วยกันพัฒนาโคเนื้อที่มีคุณภาพ จากกลุ่มคนที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเกษตรกร นักวิชาการ นักการตลาดฯ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรอย่างแท้จริง โดยไม่เอาประโยชน์ส่วนตัวมาเป็นที่ตั้ง และแบ่งกันทำในแต่ละหน้าที่อย่างชัดเจน

• พืชเศรษฐกิจใหม่หญ้าเนเปียร์ 

กว่าจะประสบผลสำเร็จในแต่ละอย่างแน่นอนต้องมีปัญหา ลุงก้านถึงเล่าปัญหาการปลูกหญ้าเนเปียร์ ด้วยความที่ยังใหม่ไม่มีความรู้ความชำนาญ มีแค่ศึกษาตามตำราบ้าง ดูงานจากเกษตรกรในหลายพื้นที่บ้าง เมื่อมาปลูกจริงกลับเจอปัญหาหลายอย่าง โดยเฉพาะต้นทุนการผลิตแรงงานจากเดิมใช้คนเป็นหลัก เช่น การตัดหญ้า ๔๐ ตัน ใช้แรงงาน ๑๖๐ คนต่อวัน ค่าจ้างไม่ต้องพูดถึงเพราะมากมายมหาศาล ลุงก้านจึงปรับเปลี่ยนวิธีการปลูก จากเดิมระยะร่อง ๑ เมตร ระยะห่างต้น ๘๐ เซนติเมตร เปลี่ยนเป็น ๑.๕๐ เมตร และ ๑ เมตร เปลี่ยนปุ๊บรถเกี่ยวหญ้าเข้าได้ปั๊บจากแรงงาน ๑๖๐ คน ลดมาเหลือ ๑๑ คน ทำให้ลดต้นทุนได้จำนวนมาก งานปลูกหญ้าดำเนินต่อไปได้ถึงปัจจุบัน ลุงก้านให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า หญ้าที่ปลูกนั้นเป็นหญ้าเนเปียร์พันธุ์ปากช่อง ๑ ลูกผสมระหว่างหญ้าเนเปียร์ยักษ์ และหญ้าไข่มุก ซึ่งเป็นพืชอาหารสัตว์คุณค่าสูง

หากมาดูตลาดอาหารสัตว์ในโคราช เกษตรกรที่อยากเปลี่ยนการปลูกพืชใหม่อาจจะต้องตกใจ เพราะมีความต้องการหญ้าอาหารสัตว์ถึง ๖๐๐ ตันต่อวัน สำหรับโคเลี้ยงกว่า ๒ แสนตัว แต่กำลังการผลิตมีเพียง ๓๐๐ ตันต่อวันเท่านั้น ด้วยความพิเศษของหญ้าเนเปียร์ซึ่งมีโปรตีนประมาณ ๑๐-๑๔% ต่างจากหญ้าธรรมชาติที่อยู่ประมาณ ๘% ทำให้มีความต้องการของตลาดจำนวนมาก ทั้งยังดูแลไม่ยาก แถมปลูกครั้งเดียวเก็บเกี่ยวได้หลายครั้ง ผลผลิตต่อไร่ประมาณ ๑๐ ตัน หนึ่งปีตัดได้ถึง ๔ ครั้ง ราคาขายไร่ลุงก้าน ตกตันละ ๙๕๐ บาท และอาจจะต้องทึ่งไปอีก เมื่อในอนาคตจะมีการนำหญ้าเนเปียร์มาผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้ในชุมชน ซึ่งต้องใช้หญ้าเนเปียร์อีกจำนวนมหาศาล ยกตัวอย่างการผลิตไฟฟ้า ๑ เมกะวัตต์ ต้องใช้หญ้าเนเปียร์ถึง ๑๐๐ ตัน ผ่านขั้นตอนต่างๆ การนำไปบ่มและปั่นให้เกิดกระแสไฟฟ้าให้ชุมชุน การปลูกหญ้าเนเปียร์จึงถือว่าเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ ที่น่าสนใจไม่น้อย

• โคเนื้อพรีเมี่ยม

สายพันธุ์โคเนื้อพรีเมี่ยมจากกลุ่มเกษตรกร ไม่ว่าจะเป็นพันธุ์แองกัส วากิว และชาร์โรเล่ส์ เป็นสายพันธุ์จากต่างประเทศที่มีอยู่ในประเทศทั้งหมด แต่พัฒนาขึ้นมาผ่านการผสมพันธุ์ ๒ ครั้ง จากแม่พันธุ์พื้นฐาน จนได้เลือดประมาณ ๖๐% และสามารถนำเข้าตลาดพรีเมี่ยมได้ โดยโคที่ผ่านการผสมจะทนทานต่อโรค ทนสภาพอากาศร้อน ตกลูกได้ปีละ ๑ ตัว สูงเกือบ ๑๐๐% เนื้อดีมีความนุ่มและมีไขมันแทรก เป็นที่นิยมของผู้บริโภคลุงก้านบอกว่า “เป้าหมายคือผลิตเพื่อให้คนโคราชได้รับประทานเนื้อพรีเมี่ยมในราคาถูก”

ส่วนรายได้เกษตรกรแบ่งออกเป็น ๓ กลุ่ม ช่วงระยะการเลี้ยงประมาณกลุ่มละ ๘ เดือน คือ ๑.กลุ่มต้นน้ำ เลี้ยงตั้งแต่ในท้อง คลอดออกมาจนหย่านม จนถึงน้ำหนัก ๒๐๐ กิโลกรัม ๒.กลุ่มกลางน้ำ ช่วงน้ำหนัก ๒๐๐-๔๐๐ กิโลกรัม และ ๓.กลุ่มปลายน้ำ น้ำหนัก ๔๐๐-๖๐๐ กิโลกรัม ถือเป็นช่วงเวลาที่เรียกว่าขุน หรือนิยมเรียกกันว่า “โคขุน” นั่นเอง คือช่วงเวลาที่ให้อาหารที่มีคุณภาพเพื่อให้ได้เนื้อที่มีคุณภาพมากที่สุด และเมื่อถึงเวลาซื้อขายกลุ่มจะรับซื้อกลับมาทั้งหมด เชือดประมาณเดือนละ ๘ ตัว โดยโรงเชือดหลักอยู่ที่จังหวัดสุรินทร์และแล่เก็บเนื้อไว้ ๗ วัน ก่อนนำมาบ่มที่ มทส. อีก ๗ วัน และนำมาคัดคุณภาพว่าอยู่ในเกรดใด พร้อมกำหนดราคารับซื้อ อย่างเกรด ๓ จะขายกิโลกรัมละ ๑๑๔ บาท เกษตรกรจะมีรายได้เพิ่มต่อเดือนละ ๑,๕๐๐ บาท ต่อการเลี้ยง ๑ ตัว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ด้วย

สำหรับน้ำเชื้อพ่อพันธุ์ได้รับการส่งเสริมจากปศุสัตว์จังหวัดฯ นอกจากนั้นยังสนับสนุนในเรื่องการรักษาโรค ดูแลสุขภาพสัตว์ทั่วไป มีการเข้ามาตรวจโรคตรวจสุขภาพสัตว์ ฉีดวัคซีนทุก ๖ เดือน พร้อมสนับสนุนปัจจัยด้านการผลิต เช่น เครื่องอัดฟาง เครื่องบดหญ้า รวมถึง มทส. เข้ามาช่วยดูแลด้านวิชาการ งานวิจัยต่างๆ เช่น สูตรในการผสมอาหารสัตว์ เครื่องมือผสมอาหาร และสำนักงานเกษตรจังหวัดฯ เข้ามาดูแลเรื่องพืชไร่ ดูแลกระบวนการปลูกตัด 

• ลุงก้าน Restaurant

จากฟาร์มโคเนื้อพรีเมี่ยมขามทะเลสอ สู่ “ลุงก้าน Restaurant” ที่ชั้น ๓ เดอะมอลล์โคราช ลุงก้านเล่าว่า เกิดจากทีมการตลาด อยากให้มีร้านเพื่อเป็นจุดกระจายสินค้า ให้พี่น้องชาวโคราชได้รับความสะดวกในการบริโภค ไม่ต้องบึ่งรถไปไกล แต่ขับรถมาหารับประทานได้ง่ายๆ ใจกลางเมือง และสำหรับคนที่ไม่ชอบทำอาหารเองให้ได้รับประทานเมนูที่หลากหลาย จากเกษตรชาวโคราชโดยตรง ส่วนอีกสองสถานที่อยู่ใน อ.สีคิ้ว และ อ.ขามทะเลสอสองจุดนี้ เนื้อจะเป็นการขายเนื้อโคสด มีการควบคุมราคาจากทีมการตลาด เพื่อไม่เอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค ซึ่งหลังจากเปิดร้านมา มีการตอบรับที่ดี คนเข้ามาอุดหนุนตลอด 

ส่วนปัญหาหลักของกลุ่มในปัจจุบัน เนื้อไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ซึ่งในอนาคตจะส่งเสริมให้สมาชิกปรับเปลี่ยนจากการเลี้ยงโคเนื้อส่งเขียง มาเป็นโคเนื้อพรีเมี่ยมเพิ่มขึ้น โดยมีเป้าหมายต้องเชือดให้ได้เดือนละ ๑๐ ตัว ในปี ๒๕๖๔ และเพิ่มเป็นเดือนละ ๒๐ ตัวในปี ๒๕๖๕ เพื่อให้มีสินค้าเพียงพอต่อความต้องการ และคนโคราชได้กินเนื้อคุณภาพดีราคาถูก รวมถึงต่อยอดการตลาดให้มีแหล่งซื้อประจำอำเภอ เพื่อกระจายสินค้าไปตามอำเภอต่างๆ ในโคราช

สำหรับเกษตรกรที่ต้องการปลูกหญ้าเนเปียร์หรือเลี้ยงโคเนื้อพรีเมี่ยม ลุงก้านให้คำแนะนำว่า ต้องศึกษาข้อมูลให้มาก พร้อมบอกเคล็ดลับ ปัจจัยหลัก ๔ ข้อ ได้แก่ ๑.เน้นเรื่องการตลาดนำการผลิต จะขายให้ใคร ที่ไหน อย่างไร เงินลงทุน กำไรจากการขาย จะผลิตโคเนื้อตลาดอยู่ที่ไหน ๒.เน้นการพัฒนาสายพันธุ์โคเนื้อตามที่ตลาดต้องการ โดยเฉพาะสายพันธุ์ลูกผสมยุโรป สายเลือดไม่เกิน ๖๒.๕% ลูกผสมพันธุ์แองกัส ชาร์โรเลส์ และวากิว ๓.เน้นการลดต้นทุนการผลิตโคเนื้อ เกษตรกรต้องมาเรียนรู้เรื่องการผลิตอาหาร การปลูกหญ้าเนเปียร์เอง เพื่อลดต้นทุน และ ๔.เน้นการจัดการฟาร์มที่ดี เพื่อลดต้นทุน เลี้ยงโคเนื้อให้ได้คุณภาพตามที่ตลาดต้องการ มีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยทำการเกษตร

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๖ ฉบับที่ ๒๖๔๔ วันอังคารที่ ๙ - วันพุธที่ ๑๕ เดือนกันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๓

 

105 1,766