27thDecember

27thDecember

27thDecember

 

September 16,2020

มาตรฐาน SHA ยกระดับท่องเที่ยวไทย เพื่อความปลอดภัยในยุค New Normal

“โควิด-๑๙” สถานการณ์ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงมากที่สุดเท่าที่เคยเจอมา เรียกว่ามาเพื่อกวาดล้าง การเดินทางข้ามประเทศ ข้ามภูมิภาค ทุกเส้นทางถูกปิด ธุรกิจหยุดชะงัก หลายคนต่างเฝ้าติดตามข่าวจากศูนย์ควบคุมโรคติดต่อในพื้นที่ มีความวิตกกังวล กระทบทุกกิจกรรม ทั้งการวางแผนอนาคต การวางแผนท่องเที่ยว กิจกรรมทุกอย่างถูกเปลี่ยนให้ทำที่บ้าน เรียกได้ว่า ใครที่กำลังจะเริ่มต้นชีวิตใหม่...ชีวิตก็น่าจบตั้งแต่ยังไม่เริ่มแล้ว

วิกฤตที่รุนแรงเช่นนี้ เป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องรับมือให้รวดเร็วที่สุด ซึ่งแต่ละพื้นที่สามารถทำได้ดีมากจนสถานการณ์เริ่มผ่อนคลายลง แต่เป็นปกติในรูปแบบวิถีใหม่หรือ New Normal รัฐออกมาตรการต่างๆ ภายใต้การควบคุมของกระทรวงสาธารณสุขที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในทุกภาคส่วน การท่องเที่ยวเองก็ร่วมด้วย นำมาตรการสาธารณสุขมายกระดับกาท่องเที่ยวและบริการ “มาตรฐาน SHA” หรือ Amazing Thailand Safety and Health Administration ท่องเที่ยวปลอดภัยห่างไกลโควิด-๑๙

แม้สถานการณ์จะดีขึ้น แต่วิกฤตยังไม่สามารถนิ่งนอนใจได้ หากประเทศยังไม่สามารถมีวัคซีนมายับยั้งการแพร่ระบาด ย่อมเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นอีก ในภาคอีสานก็เช่นกัน จากปี ๒๕๖๐-๒๕๖๒ ที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กำลังจะทำโปรเจกต์ต่อเนื่องให้คนมาท่องเที่ยวภาคอีสานมากขึ้น กลับต้องหยุดลงก่อน “รุ่งทิพย์ บุกขุนทด” ผู้อำนวยการ ททท. สำนักงานนครราชสีมา เล่าให้ ‘โคราชคนอีสาน’ ฟังว่า “สถานการณ์ในภาคอีสาน เริ่มตั้งแต่ช่วงต้นเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคมนั้นเท่ากับศูนย์ โรงแรมบางแห่งถูกปรับเป็นสถานที่ให้บุคลากรทางการแพทย์เข้าพักตามความร้ายแรงของแต่ละจังหวัด ในส่วนของโคราชนั้น เดือนมีนาคมยังรับมือได้ แต่เดือนเมษายนถึงพฤษภาคมเท่ากับศูนย์ ยกเว้นบางพื้นที่ใช้เป็นสถานที่ Local Quarantine สำหรับกักตัว ๑๔ วัน”    

พื้นที่ภาคอีสาน ส่วนใหญ่จะเป็นแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ วัฒนธรรมและวิถีชีวิต ซึ่งสอดคล้องกับ “ฮีตสิบสอง คองสิบสี่” ความโดดเด่นของประเพณีวัฒนธรรมอีสานนั้น แสดงออกอย่างชัดเจน เช่น ประเพณีในแต่ละเดือน รวมทั้งอาหารอีสานที่นำขึ้นเสิร์ฟบนสายการบินอย่าง ‘ส้มตำ’ อีกผลิตภัณฑ์หนึ่งที่ยืนยันความเป็นภาคอีสานได้เป็นอย่างดี คือ ‘ปลาร้า’ ที่มีการแปรรูป ส่งออกทั้งในและต่างประเทศ และ ‘เส้นหมี่โคราช’ ที่นำมาพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ ผลิตเส้นหมี่แห้งพร้อมน้ำปรุง เป็นที่นิยมในอเมริกา, ยุโรป, เอเชีย และอาเซียน นี่คือตัวอย่างของเสน่ห์อีสานที่โดดเด่นและแสดงถึงการพัฒนาสู่ระดับโลก เป็นเสน่ห์ที่ถ้าใครมีโอกาสก็อยากจะชักชวนมาท่องเที่ยวให้ “ม่วนซื่นถึงใจ หลงใหลไปกับอีสานบ้านเฮา” แต่จะดีกว่าไหมถ้าเราท่องเที่ยวอย่างมีมาตรฐานที่จะทำให้ท่องเที่ยวอย่างสนุกสนานและปลอดภัยจากสถานการณ์น่าเป็นห่วง

‘วิถีใหม่’ ทำให้การท่องเที่ยวเปลี่ยน ‘มาตรฐาน SHA’ ดูจะเป็นทางเลือกหลักที่นักท่องเที่ยวมองหาก่อนที่จะเดินทางท่องเที่ยวหรือใช้บริการ สัญลักษณ์สีฟ้าที่จะสร้างความปลอดภัย มั่นใจว่า แหล่งท่องเที่ยวหรือร้านอาหารที่กำลังจะเดินทางไปนั้น ได้รับมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข อย่างสถานประกอบการบางแห่งที่ได้มีโอกาสเดินทางไปเยี่ยมชมมาแล้ว

ในขณะที่ศูนย์การค้า “เดอะมอลล์โคราช” จัดระบบคัดกรองทางเข้าและออกอย่างเข้มข้น มีทั้งระบบสแกนแอปพลิเคชัน “ไทยชนะ” โดย “ชินาพัฒน์ พิมพ์ศรีแก้ว” ผู้จัดการทั่วไปปฏิบัติการ บริษัท เดอะมอลล์ราชสีมา จำกัด เล่าว่า “เดอะมอลล์ผนวกรวมระหว่างมาตรการของเดอะมอลล์กรุ๊ป รวมเป็น ๑๐๐ ข้อ พร้อมทั้งปรับเวลาการทำความสะอาดให้ถี่ขึ้น เพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับผู้มาใช้บริการของมาตรการสาธารณสุข” ซึ่ง ๑๐๐ ข้อของเดอะมอลล์นั้น จะแบ่งเป็นมาตรการหลัก ๕ ข้อ คือ คัดกรองเข้มงวด, ลดความแออัด, ลดการสัมผัส, สุขอนามัยเชิงรุก และเฝ้าระวังติดตาม ซึ่งดำเนินการอย่างเข้มงวดและจริงจัง เพื่อให้ผู้ใช้บริการมั่นใจ และพร้อมดูแลทุกสถานการณ์  

ส่วน “เซ็นทรัลพลาซานครราชสีมา” ซึ่ง “เศรษฐวุฒิ ทัตสุระ” ผู้จัดการทั่วไปศูนย์การค้าฯ  เล่าว่า “เซ็นทรัลมี ๗๕ มาตรการ แต่เมื่อเกิดโควิด-๑๙ ศูนย์การค้าฯ ก็ปรับรูปแบบให้เข้มข้นและจริงจังมากขึ้น  เพื่อรับรองการท่องเที่ยวของจังหวัด นอกจากนี้ ยังสนับสนุนเกษตรกร และกระตุ้นเศรษฐกิจ ภายใต้การควบคุมของกระทรวงสาธารณสุข พร้อมนำกิจกรรมเข้ามามีส่วนในการกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของโคราชมากขึ้น” จาก ๗๕ มาตรการ สู่แผนแม่บท ๕ ข้อ ทั้งคัดกรองเข้มงวด, จัด Social Distancing, ติดตาม, ใส่ใจความสะอาดทุกสัมผัส และลดการสัมผัส ทำให้เซ็นทรัล สะอาด มั่นใจ พร้อมให้บริการอย่างแน่นอน  

ในขณะที่ “เทอร์มินอล ๒๑ โคราช” ศูนย์การค้าที่ได้รับรางวัลเรื่องห้องน้ำสะอาด จัดอบรมโดยมีทีมงานสาธารณสุขจังหวัดมาให้ความรู้และแนะนำ เพื่อให้มั่นใจว่าเป็นสถานที่ที่ปลอดภัย เปรียบเหมือนบ้านหลังที่สอง ที่จะชวนมากินข้าว ดูหนัง หรือหาประสบการณ์ที่นำมารวมไว้ที่นี่ที่เดียว ทั้งบันไดเลื่อนที่ยาวที่สุดฝาห้องน้ำอัตโนมัติที่พบได้ที่ต่างประเทศ แต่ที่เทอร์มินอลได้รวบรวมมาให้ทุกคนได้เรียนรู้ และเก็บประสบการณ์ด้วยตนเอง “ปูเป้” ปพิชญา ณ นครพนม ผู้อำนวยการ ศูนย์การค้าฯ เล่าว่า “จากสถานการณ์ที่เทอร์มินอลผ่านมาถึง ๒ เหตุการณ์ใหญ่ ทำให้ต้องคิดและทำใหม่อยู่เสมอ เมื่อล้มต้องรีบลุก ทำให้เทอร์มินอลสามารถผ่านพ้นไปได้ทุกสถานการณ์”

มาตรการหลักของศูนย์การค้าเทอร์มินอล ๒๑ โคราชมี ๕ มาตรการ เพื่อให้ทุกคนที่เดินทางมามีสุขอนามัย และความปลอดภัยจากเชื้อไวรัสโควิด-๑๙ ได้แก่ ๑.คัดกรองเพื่อสุขอนามัย ๒.ติดตามเพื่อความปลอดภัย ๓.ความสะอาด ๔.การเว้นระยะห่าง ลดความแออัด และ ๕.ลดการสัมผัส มาตรการที่ได้มาตรฐานของการที่มีสินค้าและบริการให้กับผู้บริโภค ซึ่งศูนย์การค้ามีมาตรฐานเป็นปกติ จึงรวมมาตรการของสาธารณสุขมาประกอบกัน เน้นสิ่งที่พบจากการแพร่เชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ เพื่อให้ทุกคนมีความไว้ใจ มั่นใจ และปลอดภัย เมื่อมาซื้อสินค้าและบริการที่ “เทอร์มินอล ๒๑ โคราช” 

สำหรับมาตรฐานสุขอนามัยต่อสถานที่สาธารณชนนั้น เป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ ซึ่งยกระดับคุณภาพชีวิต และยกระดับมาตรฐานของศูนย์การค้าที่เห็นเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ ปกติศูนย์การค้าจะเน้นเรื่องความสะอาดและ สุขอนามัยมาตั้งแต่ต้น “ศูนย์การค้าที่เปิดมานานนั้นมีสุขอนามัย เรื่องของห้องน้ำอย่างดี พร้อมทั้งพัฒนาในเรื่องของสุขภัณฑ์ในห้องน้ำเพิ่มเติมด้วย เช่น การมีฝาอัตโนมัติรายแรกของศูนย์การค้าฯ และนี่เป็นเพียงหนึ่งตัวอย่างในสุขอนามัยที่มีมายาวนานแล้ว และเป็นรากฐานทางแนวคิดของศูนย์การค้าและบริษัทในเครือ” คุณปูเป้เล่าด้วยความภาคภูมิใจ

ศูนย์การค้าเทอร์มินอลนั้น ทำเรื่องมาตรฐาน SHA ไม่นาน เพราะก่อนที่จะเปิดศูนย์การค้า ภาครัฐและสาธารณสุขจังหวัดก็เข้าตรวจสอบแล้ว สามารถที่จะนำเสนอต่อสาธารณชนได้เสมอ ไม่ว่าจะเข้ามาตรวจแบบเป็นทางการและสุ่มตรวจ และมาตรฐานเป็นสิ่งที่จับต้องได้ “มาเมื่อไหร่ก็เห็นมาตรฐานอยู่เสมอ” 

มาตรฐานของศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้า ถือเป็นมาตรฐานระดับสากลทุกสาขาในเครือที่จะต้องทำเป็นประจำ แม้ไม่มีสถานการณ์ เพื่อสร้างความมั่นใจและรองรับจำนวนลูกค้าในปริมาณมาก แต่ถ้าเป็นสถานประกอบการไม่ได้อยู่ในห้างสรรพสินค้า เขารับมือกันอย่างไรหลังสถานการณ์โควิด-๑๙ 

มาถึงร้านอาหาร “เบย์ มารีน่า” บ้าง ซึ่งตั้งอยู่ภายในโรงแรมชุนหลีแกรนด์ ปริษา แซ่เตียว “คุณเบย์” ยอมรับว่า สถานการณ์โควิดที่ผ่านมานั้น ได้รับผลกระทบอย่างหนัก ทุกอย่างหยุดชะงักทั้งหมด แต่ทางร้านดูแลพนักงานทุกคน เพื่อให้ผ่านวิกฤตไปด้วยกัน กระทั่งสถานการณ์ดีขึ้นก็เริ่มกลับมาเปิดอีกครั้ง ก่อนเปิดก็ทำความสะอาดชุดใหญ่ ฆ่าเชื้อเพื่อสุขอนามัยของทั้งผู้ประกอบการและลูกค้า ตามที่สาธารณสุขกำหนด เมื่อได้รับมาตรฐาน SHA ร้านอาหารก็เริ่มกลับมาดีขึ้น ส่วนใหญ่จะเป็นลูกค้าจากงานสัมมนาที่มารับประทานอาหารที่ร้านและลูกค้ามั่นใจได้ว่า “เบย์มารีน่า ทำความสะอาดด้วยน้ำยาที่ใช้กับแลปโรงพยาบาล เพื่อความสะอาดและสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้า ในส่วนของการทำความสะอาดชะล้าง จะแยกล้างทุกส่วน ไม่มีปะปน น้ำแข็งก็ผลิตเอง ฉะนั้นเมื่อลูกค้าเข้ามาใช้บริการ สามารถมั่นใจในทุกกระบวนการได้”

ก่อนหน้านี้ ประเทศไทยต้อนรับนักท่องเที่ยวเข้ามาหลากหลายกลุ่ม แต่ไม่มีมาตรฐานที่จะแสดงถึงความปลอดภัย ทั้งการเดินทาง, สาธารณสุข และอุปโภคบริโภค ที่เรียกว่า ‘สะดวก สะอาด ปลอดภัย’ เป็นสิ่งที่ต้องทำให้เป็นมาตรฐานสากล ซึ่งขณะนั้น สามารถทำได้ระดับหนึ่ง แต่เมื่อเกิดสถานการณ์โควิด-๑๙ กลับเป็นการแสดงให้เห็นว่า มาตรฐานสาธารณสุขต้องมาเป็นอันดับหนึ่ง

“SHA” ที่หวังยกระดับมาตรฐานการท่องเที่ยว เปรียบเสมือนเป็นมาตรการที่ทำเพื่อรอวันที่วัคซีนจะเข้ามายับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ หรือ โควิด-๑๙ จึงต้องการสร้างขวัญกำลังใจ เรียกความมั่นใจให้กับสถานประกอบการที่กำลังเผชิญกับวิกฤตใหญ่ในครั้งนี้หวังกระตุ้นทุกภาคส่วนให้เห็นถึงความสำคัญเกี่ยวกับสาธารณสุข ในอนาคตหากสถานการณ์ดีขึ้นจนถึงปกติ และยังรักษามาตรฐานด้านสาธารณสุขต่อไป ประเทศไทยจะสามารถชูมาตรฐานสาธารณสุขเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวทั่วโลกได้อย่างดีเยี่ยม

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๖ ฉบับที่ ๒๖๔๔ วันอังคารที่ ๙ - วันพุธที่ ๑๕ เดือนกันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๓

 

78 1,612