15thOctober

15thOctober

15thOctober

 

October 10,2020

“เซ็นทรัลอุดรธานี”ค้าปลีกอีสานบน สู่ลักซ์ชัวรี ชิงลูกค้า สปป.ลาว

๑ ตุลาคม ๒๕๖๓ ถือเป็นจุดเปลี่ยนของวงการค้าปลีกในภาคอีสาน เมื่อห้างสรรพสินค้าโรบินสัน อุดรธานี ใจกลางเมืองอุดรธานี ที่เปิดให้บริการมานานกว่า ๒๕ ปี เปลี่ยนมาเป็นห้างเซ็นทรัล อุดรธานี สาขาที่ ๒๔ ในไทย

 

๑ ตุลาคม ๒๕๖๓ ถือเป็นจุดเปลี่ยนของวงการค้าปลีกในภาคอีสาน เมื่อห้างสรรพสินค้าโรบินสัน อุดรธานี ใจกลางเมืองอุดรธานี ที่เปิดให้บริการมานานกว่า ๒๕ ปี เปลี่ยนมาเป็นห้างเซ็นทรัล อุดรธานี สาขาที่ ๒๔ ในไทย นับเป็นสาขาที่ ๒ ที่เปลี่ยนจากห้างโรบินสันเป็นเซ็นทรัล และเป็นสาขาที่ ๒ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ต่อจาก ห้างเซ็นทรัล นครราชสีมา ซึ่งเปิดให้บริการพร้อมกับศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา นครราชสีมา เมื่อวันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ แม้จะไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะห้างเซ็นทรัล ของบริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด และห้างโรบินสัน ของบริษัท โรบินสัน จำกัด (มหาชน) จะอยู่ภายใต้ บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ CRC ธุรกิจค้าปลีกของกลุ่มเซ็นทรัล แต่ที่ผ่านมา ค้าปลีกในกลุ่มลักซ์ชัวรี (Luxury) ระดับมิด-เอนด์ถึงไฮ-เอนด์ เจาะกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูง ชื่นชอบความหรูหรา ยังมีน้อย เทียบกับภาคอื่นที่ห้างเซ็นทรัลเปิดสาขาเชียงใหม่ ภูเก็ต พัทยา หาดใหญ่ และสมุย ส่วนห้างโรบินสัน กลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่คือ กลุ่มวัยทำงานและกลุ่มครอบครัวสมัยใหม่ อายุระหว่าง ๒๕-๔๕ ปี ซึ่งมีกำลังซื้อในระดับปานกลางถึงสูง รองลงมาคือ กลุ่มวัยรุ่นและนักศึกษา อายุระหว่าง ๑๘-๒๔ ปี และนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่ผ่านมา โรบินสัน อุดรธานี มียอดขายอันดับ ๑ ในภาคอีสาน โดยเฉพาะสินค้าเพื่อสุขภาพและความงาม โดยมีลูกค้าทั้งชาวอุดรธานีและใกล้เคียงแล้ว ยังมีลูกค้าชาว สปป.ลาว ที่เดินทางมาท่องเที่ยวและชอปปิ้งทุกวันศุกร์-เสาร์-อาทิตย์อีกด้วย

การเปลี่ยนห้างโรบินสันมาเป็นเซ็นทรัล อุดรธานี ใช้งบลงทุนกว่า ๒๐๐ ล้านบาท ปรับปรุงพื้นที่ห้าง ๓ ชั้น กว่า ๒๐,๐๐๐ ตารางเมตร นำสินค้ากว่า ๑,๐๐๐ แบรนด์ ทั้งไทยและต่างประเทศ เสมือนยกห้างจากกรุงเทพฯ มาไว้ที่นี่ ประกอบด้วยชั้น ๑ โซนเครื่องสำอาง แฟชั่น ชุดชั้นในสตรี นาฬิกาและเครื่องประดับ ที่จะมีแบรนด์ดังมาเพิ่ม ได้แก่ ชาแนล (CHANEL) และมาร์ค แอนด์ สเปนเซอร์ (MARKS & SPENCER) แบรนด์สัญชาติอังกฤษที่จะเปิดให้บริการเพิ่มเติม ชั้น ๒ โซนแฟชั่นบุรุษ แฟชั่นแนวสตรีทสำหรับวัยรุ่น กระเป๋าเดินทาง และชั้น ๓ ที่นอน ของใช้ในบ้าน เครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็ก สินค้าเด็ก สินค้าสุขภาพ สินค้าผู้สูงอายุ และโซนมินิ โมโน (MINI MONO) สินค้าราคาเริ่มต้นที่ ๖๐ บาท กลุ่มเป้าหมายนอกจากชาวจังหวัดอุดรธานี ที่มีประชากรมากถึง ๑.๕๘ ล้านคน เป็นอันดับ ๕ ของภาคอีสาน และอันดับ ๗ ของประเทศไทยแล้ว ยังมีจังหวัดใกล้เคียง ได้แก่ กาฬสินธุ์, เลย, หนองบัวลำภู, ขอนแก่น, สกลนคร และหนองคาย รวมทั้งกลุ่มเป้าหมายจากประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ สปป.ลาว ที่จังหวัดอุดรธานี อยู่ห่างจากนครหลวงเวียงจันทน์ ผ่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาว เพียง ๗๓ กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางโดยรถยนต์เพียง ๑ ชั่วโมงครึ่ง

แม้ว่าด่านพรมแดนหนองคายจะยังไม่เปิดให้นักท่องเที่ยวสัญจรไปมาได้ เนื่องจากทางการลาวยังคงมาตรการปิดด่านประเพณีและด่านท้องถิ่นสำหรับการเข้า-ออกของบุคคลทั่วไป เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด ๑๙ ก็ตาม ถึงกระนั้น ยังมีกำลังซื้อส่วนหนึ่งทั้งจากพ่อค้า นักธุรกิจ ข้าราชการ รวมทั้ง “เขยฝรั่ง” หรือชาวต่างชาติที่มาแต่งงานกับสาวอุดร ที่สามารถใช้เงินหมุนเวียนให้เกิดสภาพคล่องในจังหวัดได้ แม้จะมีไม่มากนัก ตามสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันก็ตาม หากย้อนไปในอดีต ห้างโรบินสัน อุดรธานี เปิดให้บริการเมื่อวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๓๘ หรือเมื่อ ๒๕ ปีก่อน สมัยที่ยังเป็นศูนย์การค้าเจริญศรีคอมเพล็กซ์ และโรงแรมเจริญศรีแกรนด์รอยัล อุดรธานี ของตระกูลทีฆธนานนท์ ในยุคนั้นกลุ่มบริษัทเซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น เข้าถือหุ้นรายใหญ่จาก มานิต อุดมคุณธรรม ผู้ก่อตั้งโรบินสัน ร่วมกันจัดตั้ง บริษัท ซีอาร์ (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อร่วมทุนกับห้างสรรพสินค้าต่างจังหวัด เปิดเป็นห้างโรบินสัน ในปี ๒๕๓๘-๒๕๔๐ โดยพบว่า โรบินสัน ร่วมทุนกับ ๓ พี่น้อง ได้แก่ โกมินทร์ ทีฆธนานนท์, หาญชัย ทีฆธนานนท์ และ ธนชัย ทีฆธนานนท์ จัดตั้งบริษัท ซีอาร์ อุดรธานี (ประเทศไทย) จำกัด เปิดห้างโรบินสัน อุดรธานี สาขาแรกในต่างจังหวัด ขณะนั้น ตระกูลทีฆธนานนท์ เป็นผู้บุกเบิก “โครงการเจริญศรีคอมเพล็กซ์” บนพื้นที่ ๔๕ ไร่ ใจกลางเมืองอุดรธานี ประกอบด้วยศูนย์การค้า สูง ๕ ชั้น และโรงแรมเจริญศรีแกรนด์รอยัล อุดรธานี สูง ๑๔ ชั้น

จากนั้น โรบินสันจึงร่วมทุนกับกลุ่มโอเชี่ยน ของ สมพล-รัตนา เซี่ยงเห็น เปิดห้างโรบินสัน โอเชี่ยน ภูเก็ต โดยถือหุ้นสัดส่วนครึ่งต่อครึ่ง ตามมาด้วยโรบินสัน โอเชี่ยน นครศรีธรรมราช ซึ่งมีตระกูลลิ้มอุดมพร จากจังหวัดชุมพร ร่วมลงทุนด้วย นอกจากนี้ ยังมีโรบินสัน หาดใหญ่ ร่วมทุนกับกลุ่มหาดใหญ่ซิตี้, โรบินสัน เชียงใหม่ ร่วมทุนกับนายวรวัชร ตันตรานนท์ ทายาทรุ่นที่ ๓ ของตันตราภัณฑ์ ทุนค้าปลีกเชียงใหม่ ซึ่งขายกิจการศูนย์การค้าแอร์พอร์ตพลาซา ให้กับเซ็นทรัลพัฒนา โรบินสัน ยิ่งยง อุบลราชธานี ร่วมทุนกับ ไพบูลย์ จงสุวัฒน์ เจ้าของห้างยิ่งยงสรรพสินค้า, โรบินสัน เมธาวลัย ราชบุรี ร่วมทุนกับ จงเมธ-วลัยรัตน์ ทรัพย์คีรี เจ้าของโรงแรมเมธาวลัย ชะอำ และโรบินสัน จันทบุรี ร่วมทุนกับกลุ่มเซ็นเตอร์ทาวน์ ผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจปี ๒๕๔๐ มีการลอยตัวของค่าเงินบาท ทำให้ในปี ๒๕๔๑ โรบินสันยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง ต้องหยุดขยายสาขาไป ๗ ปี ปิดสาขาดอนเมือง และอนุสาวรีย์ชัย เพราะผลตอบแทนไม่คุ้มค่า ก่อนที่ในปี ๒๕๔๘ โรบินสันจะกลับมาขยายสาขาอีกครั้ง โดยเน้นไปที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา ของกลุ่มเซ็นทรัลพัฒนาเป็นหลัก พร้อมกับก่อสร้างศูนย์การค้าโรบินสัน ตรัง ในปี ๒๕๕๓ กลายเป็นต้นแบบของไลฟ์สไตล์ เซ็นเตอร์ในปัจจุบัน จุดเปลี่ยนสำคัญของห้างโรบินสัน อุดรธานี เกิดขึ้นเมื่อวันที่ ๘ เมษายน ๒๕๕๒ เมื่อกลุ่มเจริญศรี ตัดสินใจขายกิจการศูนย์การค้าและโรงแรม ให้กับ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) มูลค่าโครงการ ๒,๒๓๖ ล้านบาท

แม้จะไม่ระบุเหตุผลที่กลุ่มเจริญศรีขายกิจการว่าเพราะเหตุใด แต่ในยุคนั้นตระกูลทีฆธนานนท์ ได้เบนเข็มจากตระกูลพ่อค้าเข้าสู่เวทีการเมืองเกือบทุกคน ทั้งสนามเล็กและสนามใหญ่ ในพื้นที่ ๓ จังหวัด ได้แก่ อุดรธานี ขอนแก่น และสกลนคร ถึงกระนั้น บริษัท ซีอาร์ อุดรธานี (ประเทศไทย) จำกัด เจ้าของห้างโรบินสัน อุดรธานี ยังมีตระกูลทีฆธนานนท์ถือหุ้นอยู่ ๒๔% โดยมี “เสี่ยปู” โกเมนทร์ ทีฆธนานนท์ ที่ดูแลบริษัท เจริญศรีการเกษตร จำกัด จ.ขอนแก่น เป็นกรรมการบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา ใช้งบลงทุนกว่า ๕,๕๐๐ ล้านบาท ขยายพื้นที่เป็น ๒๕๐,๐๐๐ ตารางเมตร เปลี่ยนชื่อเป็น ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา อุดรธานี และลงทุนกว่า ๒๐๐ ล้านบาท ปรับปรุงโรงแรมโดยใช้ชื่อ เซ็นทาราและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ อุดรธานี ขณะเดียวกัน เซ็นทรัลพัฒนาได้เปิดศูนย์การค้าในภาคอีสานเพิ่มเติม ได้แก่ เซ็นทรัลพลาซา ขอนแก่น เมื่อวันที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๕๒ ตามมาด้วย เซ็นทรัลพลาซา อุบลราชธานี เมื่อวันที่ ๕ เมษายน ๒๕๕๖ ซึ่งทั้งสองแห่งมีห้างโรบินสันตั้งอยู่ แต่การลงทุนที่ใหญ่ที่สุดในภาคอีสานก็คือ เซ็นทรัลพลาซา นครราชสีมา โดยใช้งบลงทุนกว่า ๗,๐๐๐ ล้านบาท เนรมิตพื้นที่ ๕๒ ไร่ พร้อมกับห้างเซ็นทรัลแห่งแรกในอีสาน ที่มีสินค้าแบรนด์ชั้นนำเทียบเท่ากับห้างเซ็นทรัล ลาดพร้าว ด้านโรบินสัน หันมาลงทุนศูนย์การค้าเป็นของตัวเอง ในรูปแบบไลฟ์สไตล์เซ็นเตอร์ โดยสาขาแรกในภาคอีสานเกิดขึ้นที่สกลนคร เมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๕๖ ตามมาด้วย สุรินทร์ ร้อยเอ็ด มุกดาหาร บุรีรัมย์ และชัยภูมิ อย่างไรก็ตาม แม้ก่อนหน้านี้จะมีชาวลาวที่มีฐานะดี เป็นนักช้อปกระเป๋าหนัก นิยมขับรถไปจับจ่ายซื้อของที่อุดรธานีในช่วงวันศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ เนื่องจากศูนย์การค้าในนครหลวงเวียงจันทน์ ๓-๔ แห่ง ความหลากหลายของสินค้ายังมีน้อย แต่ก็พบว่า มีศูนย์การค้าระดับลักซ์ชัวรี ที่กำลังจะเป็นม้ามืดชิงส่วนแบ่งลูกค้าจากเซ็นทรัลพลาซา อุดรธานี คือ “พาร์คสัน” (PARKSON) ของกลุ่มไลอ้อน กรุ๊ป มาเลเซีย เป็นศูนย์การค้าที่ใหญ่ทันสมัยที่สุดในนครหลวงเวียงจันทน์ขณะนี้ แมกเนตหลักของพาร์คสันก็คือ “พาร์คสัน ซูเปอร์มาร์เก็ต” ที่ทันสมัยเทียบเท่าซูเปอร์มาร์เก็ตในกรุงเทพฯ มีสินค้านำเข้าทั้งจากไทยและจากนานาชาติ ขณะที่ร้านค้าและร้านอาหาร แม้จะยังไม่เยอะแต่ก็ทยอยเปิดให้บริการเช่นกัน ห้างเซ็นทรัล อุดรธานี คาดหวังว่า หลังจากเปิดให้บริการเต็มรูปแบบ จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และสร้างยอดขายเติบโตขึ้น ๑๐% ซึ่งในขณะนี้กำลังซื้อหลักคือ ประชากรที่อยู่ในอุดรธานี และจังหวัดใกล้เคียงเท่านั้น เมื่อถึงเวลาเปิดด่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาวตามปกติ การแข่งขันด้านค้าปลีกช่วงชิงนักช้อป ระหว่างฝั่งไทย ที่อัพเกรดห้างเซ็นทรัล อุดรธานี กับฝั่งลาวที่มีกลุ่มทุนจากมาเลเซียตั้งศูนย์การค้าใจกลางเมือง อาจมีแคมเปญคึกคักมากขึ้น ในอนาคตอันใกล้ อุดรธานีกับนครหลวงเวียงจันทน์อาจจะช่วงชิงจุดหมายปลายทาง (Destination) แห่งการชอปปิ้งในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เพราะฝั่งลาวมีการลงทุนค้าปลีกและศูนย์การค้าจากต่างชาติมาบ้างแล้ว

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๖ ฉบับที่ ๒๖๔๘ วันพุธที่ ๗ - วันอังคารที่ ๑๓ เดือนตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๓

 

97 1,843