23rdSeptember

23rdSeptember

23rdSeptember

 

October 22,2020

‘ฟาร์มปูนาอาเธอร์’ สุ่อุตสาหกรรมอาหารเชิงพาณิชย์

ใครจะไปรู้ว่าสัตว์บ้านๆ อย่างปูนา จะต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น กระทั่งจนไปสู่อุตสาหกรรมอาหารที่สร้างรายได้นับล้านบาทต่อเดือนได้ ด้วยเกษตรกร เจเนอเรชั่นใหม่มีความคิดสร้างสรรค์ที่ไม่เหมือนใคร บวกกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทำให้ผลลัพธ์ที่ได้ ไม่ธรรมดาเลยทีเดียว 

‘วธชสิทธิ์ ศรีสร้อย’ เจ้าของ ‘ฟาร์มปูนาอาเธอร์’ จ.ขอนแก่น

‘วธชสิทธิ์ ศรีสร้อย’ เจ้าของ ‘ฟาร์มปูนาอาเธอร์’ จ.ขอนแก่น อดีตหนุ่มนักการตลาดที่ผันตัวมาเป็นเกษตรกรเต็มตัว เพราะมีความสนใจสัตว์ตัวน้อยๆ อย่างเจ้าปูนาเข้าให้ วธชสิทธิ์ ใช้เวลาศึกษาและตัดสินใจร่วมปี ทั้งเรียนรู้จากฟาร์มปูนารายใหญ่หลายแห่ง กว่าจะก้าวข้ามผ่านความกล้าของตนเอง กระทั่งตัดสินใจทำฟาร์มปูนาแบบครบวงจรขึ้นที่บ้านเกิด

โดยใช้พื้นที่ย่านเศรษฐกิจ ในหมู่บ้านเลคไซค์การ์เด้นวิว ริมบึงหนองโคตร ต.บ้านเป็ด อ.เมือง จ.ขอนแก่น เป็นพื้นที่ทำฟาร์มขนาดพอเหมาะ บริหารจัดการพื้นที่เป็นฟาร์มปูนาแบบครบวงจร แบ่งสัดส่วนเป็นพื้นที่ฟาร์มปูนา ๑๐๐ ตารางวา พื้นที่ปลูกผักอินทรีย์ปลอดสารพิษ ๕๐ ตารางวา และพื้นที่จัดกิจกรรม รวมทั้งพื้นที่ส่วนกลางเพื่อรองรับผู้มาเที่ยวชมฟาร์มอีกกว่า ๕๐ ตารางวา

การออกมาเริ่มต้นและเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ไม่ใช่เรื่องง่ายขนาดนั้น และก็ไม่ได้ยากกระทั่งจะเป็นไปไม่ได้ บวกลบคูณหารกับเศรษฐกิจและสังคมที่เป็นอยู่ ทำให้ได้รับบทเรียนเรื่องใหม่มาเป็นเล่มเลยทีเดียว มิหนำซ้ำโควิดวิกฤตร้ายยังมาซ้ำแบบไม่ให้ได้หยุดหย่อน เส้นทางนี้ยังอีกยาวไกล เลือกแล้วถอยไม่ได้ นำความชอบผสมผลานกับความรู้เดิมที่มี หันมาทำตลาดออนไลน์ผนวกกับเทคโนโลยีปัจจุบัน ซึ่งก็พบว่า ได้รับการตอบรับจากผู้ที่ชื่นชอบปูนา ทั้งในรูปแบบของพ่อพันธุ์-แม่พันธุ์ รวมทั้งการนำไปทำอาหารเป็นอย่างมาก

ฟาร์มปูนาในเมืองแบบกะทัดรัด พัฒนาเป็นภาคการเกษตรแบบผสมผสาน และคงไว้ซึ่งภูมิปัญญญาท้องถิ่น หรือที่เรียกกันว่าหมู่บ้านปู ได้เข้าสู่การบริหารจัดการพื้นที่อย่างเต็มรูปแบบ ด้วยการแบ่งพื้นที่ ๑ งาน ทำเป็นฟาร์มปูนา ที่ เป็นการทำฟาร์มทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ผลิตตามความต้องการของตลาด ๒ สายพันธุ์ คือพันธุ์พระเทพ และพันธุ์กำแพง ทำการเลี้ยงแบบธรรมชาติและกระชังบก แต่ที่ได้รับความสนใจและเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างมาก คือการเลี้ยงแบบดั้งเดิม โดยนำพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์มาเลี้ยงในพื้นที่ ที่จำลองธรรมชาติขึ้นมา และเลี้ยงแบบดั้งเดิมตามสภาพแวดล้อมและสิ่งที่ปูนาต้องการ ให้อาหารวันละ ๑ มื้อ คือมื้อค่ำ หมุนเวียนสับเปลี่ยนกันไปในแต่ละวันที่ไม่ซ้ำกัน ทั้งเม็ดอาหารปลา, เม็ดอาหารกบ และปลาสด รวมทั้งผลไม้ แต่ห้ามใช้สับปะรดเลี้ยงปูนาเด็ดขาด และที่สำคัญในการเลี้ยงนั้นจะต้องระวังงูกับปลาให้ดี สัตว์ ๒ ชนิดนี้ถือเป็นศัตรูร้ายของปูนา ที่เจอเมื่อไหร่ต้องตายกันไปข้าง

ซึ่งการเลี้ยงปูจะแบ่งออกเป็นช่วงอายุ ๓ กลุ่ม คือ กลุ่ม ๓ เดือน เรียกว่าปูดอง, กลุ่ม ๖ เดือน และกลุ่ม ๑ ปี ซึ่งเมื่อเลี้ยงปูตามที่ต้องการในแต่ละช่วงอายุแล้ว ทุกตัวจะต้องถูกจับมาเลี้ยงในกระชังหรือบ่อคอนกรีต หรือในวงการการเลี้ยงปูคือการเลี้ยงแบบน้ำใส อีก ๒ สัปดาห์ เพื่อให้ปูนั้นคลายปรสิตและชำระล้างตัวเองจากดินและสิ่งปฎิกูลต่างๆ ให้หมด จึงจะสามารถจับไปขายได้

แต่บอกให้รู้ไว้นะ ปูที่ตลาดต้องการที่สุด คือปูที่มาจากการเลี้ยงแบบธรรมชาติผสมผสานกับหลักการนิดหน่อย หากระบอกไม้ไผ่มาใส่ ใช้ใบตาลมาคลุม หรือการปลูกผัก-ปลูกข้าวต่างๆ มาไว้ในบ่อก็สามารถที่จะเลี้ยงปูนาแบบจำลองธรรมชาติได้

‘วธชสิทธิ์’ เล่าให้ฟังว่า ‘เมื่อทำการเลี้ยงได้ตามช่วงอายุแล้ว ปูทุกตัวมีราคาหมด’ ไม่ว่าตัวเล็กตัวน้อย รวมไปถึงพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ที่ใช้เพาะเลี้ยงในครั้งต่อไป แต่เมื่อสถานการณ์โควิด-๑๙ เกิดขึ้น จึงได้ทำการตลาดเชิงพาณิชย์ให้กับปูนา และพบว่า ปูนานั้นเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคอย่างมาก และสามารถทำได้มากกว่าปูดองเหมือนที่เกษตรกรดั้งเดิมเคยทำ

จึงกลายเป็นแนวทางของการต่อยอดธุรกิจและ ส่งเสริมการตลาดให้กับเกษตรกรเพิ่มขึ้น เพราะปูนานั้นเพาะเลี้ยงเพียง ๓ เดือนขึ้นไปก็สามารถสร้างเงินได้แล้ว ดังนั้นฟาร์มปูนาอาเธอร์ขอนแก่น จึงเป็นมากกว่าแหล่งเรียนรู้ด้านการเลี้ยงปูนา แต่ยังเป็นสถานที่ถ่ายทอดองค์ความรู้ในเรื่องของการแปรสภาพปูหรือการนำปูไปสู่อุตสาหกรรมอาหาร ที่ประกอบด้วยปูนาทอดกรอบ, น้ำพริกปูนา, อ่องมันปูนา และปูนาสามรส ซึ่งปัจจุบันราคาจำหน่ายปูนานั้น จะตกอยู่ที่กิโลกรัมละ ๘๐-๑๕๐ บาท แต่ถ้านำมาชำแหละ ราคาจะปรับขึ้นเป็นก้ามปู ในกลุ่มรุ่นอายุ ๑ ปีจะอยู่ที่กิโลกรัมละ ๒๐๐-๕๐๐ บาท, มันปู กิโลกรัมละ ๘๐๐-๑๕๐๐ บาท, กระดองปูตากแห้ง ที่เป็นที่ต้องการของตลาดอย่างมากในขณะนี้อยู่ที่กิโลกรัมละ ๓๐๐ บาท และอกปู กิโลกรัมละ ๓๐๐ บาท เมื่อเปรียบเทียบเวลาการเลี้ยงกับต้นทุนแล้ว เป็นอีกหนึ่งช่องทางการเกษตรเชิงพาณิชย์ที่น่าสนใจอย่างมาก เมื่อนำปูนาบ้านๆ มาแปรสภาพเป็นอาหาร ที่ถูกหลักโภชนาการและหลักวิชาการที่ถูกต้อง ผสมผสานกับภูมิปัญาท้องถิ่นที่สืบทอดรสชาติมาตั้งแต่รุ่นคุณปู่ คุณย่า ทำให้ความต้องการของตลาดไม่ขาดหายและยังคงมีผู้ที่ชื่นชอบอยู่จำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม ‘วธชสิทธิ์’ มีความตั้งใจที่จะต่อยอดภูมิปัญญาประจำถิ่นด้วยการทำปูนาสู่อุตสาหกรรมความงาม ในกลุ่มไคโตซาน โดยมีการหารือร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น ในการสกัดสารดังกล่าวจากปูนาในฟาร์มของตน ส่วนผู้ที่สนใจศึกษาดูงานในฟาร์มปูนาอาเธอร์สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ โทรศัพท์ ๐๘๔-๖๕๙๗๘๙๙ หรือไลน์ไอดี : @arthurcrab

 

 

จักรพันธ์ นาทันริ : เรื่อง/ภาพ

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๖ ฉบับที่ ๒๖๕๐ วันพุธที่ ๒๑ - วันอังคารที่ ๒๗ เดือนตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๓


738 1,471