October 23,2020
สว.ขับรถตกหลุมกลางถนน เหตุขุดนำสายไฟลงใต้ดิน เทศบาลซ่อมให้ไฟฟ้าจ่าย
โครงการสายไฟฟ้าลงใต้ดินโคราช พบนักศึกษาหนุ่มขับจยย.ล้มหัวฟาดพื้น และรถยนต์อดีต ส.ว.พุ่งลงหลุม ด้านเทศบาลฯ ไม่เชื่อมือผู้รับเหมา ขอซ่อมผิวถนนเอง กฟภ.แจง ไม่นิ่งนอนใจ ขอรับผิดชอบเต็มที่ ยืนยันไม่มีปัญหา ถ้าเทศบาลฯ จะเบิกงบซ่อมถนน ลั่น “พร้อมจ่าย”
ตามที่ ในเขตเทศบาลนครนครราชสีมา มีการก่อสร้างโครงการพัฒนาระบบไฟฟ้าในเมืองใหญ่ ระยะที่ ๑ (คพญ.๑) เพื่อนำสายไฟฟ้าลงใต้ดิน โดยอยู่ในความรับผิดชอบของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ. : PEA) โดยมีการขุดเจาะพื้นผิวถนน ทำให้ถนนไม่เรียบและเสี่ยงเกิดอันตราย และบางจุดมีเพียงการนำเอาป้ายและกรวยจราจรล้อมเพื่อบอกตำแหน่งเท่านั้น ส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุมีผู้ได้รับบาดเจ็บจากการขับขี่รถจักรยานยนต์ ล้มหัวฟาดพื้น ทราบภายหลังว่าเป็นนักศึกษาคณะเภสัชกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และเมื่อช่วงเย็นวันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๖๓ ถนนสุรนารี บริเวณสามแยกโรงแรมโอซาก้า มีฝนตกหนัก น้ำท่วมสูงประมาณ ๕๐ เซนติเมตร ทำให้เกิดอุบัติเหตุรถยนต์ของนายสุเมธ ศรีพงษ์ อายุ ๗๔ ปี อดีตรองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา และอดีตสมาชิกวุฒิสภา ตกลงไปในหลุม เนื่องจากมองไม่เห็นพื้นผิวถนนในบริเวณนั้น
รถอดีต ส.ว.พุ่งลงหลุม
ต่อมา เมื่อวันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๖๓ เวลา ๑๑.๐๐ น. นายสุเมธ ศรีพงษ์ อายุ ๗๔ ปี อดีตรองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา และอดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ร้องเรียนกับผู้สื่อข่าว กรณีเป็นผู้เสียหายจากการดำเนินโครงการพัฒนาระบบไฟฟ้าในเมืองใหญ่ ระยะที่ ๑ ตามแผนการดำเนินงานของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) “โคราช มหานครไร้สาย” โดยก่อสร้างและปรับปรุงระบบไฟฟ้าพร้อมติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มเติมลงใต้ดินในเขตเทศบาลนครนครราชสีมา โดยนายสุเมธ ศรีพงษ์ อดีต ส.ว.นครราชสีมา เปิดเผยว่า เมื่อเวลาประมาณ ๑๘.๐๐ น. วันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๖๓ ตนขับรถเก๋ง ยี่ห้อฮอนด้า รุ่นซิตี้สีบรอนซ์ เลขทะเบียน กฉ ๒๔๙๑ นครราชสีมา มุ่งหน้าไปโรงแรมลีโอซอ เพื่อพบปะกลุ่มเพื่อนอดีตข้าราชการกรมการปกครอง ขณะนั้นฝนตกค่อนข้างหนัก ช่วงจังหวะรถกำลังแล่นอยู่บนถนนสุรนารี หน้าโรงแรมโตเกียว เหลือระยะทางประมาณ ๑ กิโลเมตร ก็ถึงจุดหมาย แต่รถเสียหลักตกหลุมขนาดใหญ่ ลักษณะหัวรถทิ่มลงไปทำให้น้ำฝนไหลเข้าในตัวรถอย่างรวดเร็ว พลเมืองดีรีบมาช่วยเหลือ โดยส่งสัญญาณเคาะกระจกให้เปิดประตูหลังออกมาได้หวุดหวิดในเวลาไม่ถึง ๑ นาที เมื่อจะกลับไปเอาทรัพย์สินในรถก็พบน้ำไหลทะลักเข้ามาท่วมห้องโดยสาร ความเสียหาย เบื้องต้นด้านหน้ารถพังเสียหาย น้ำท่วมเครื่องยนต์และตัวรถ รถคันนี้ได้ทำประกันภัยภาคสมัครใจประเภท ๑ บริษัทได้ดำเนินการยกรถไปซ่อมที่อู่แล้ว
“ส่วนสาเหตุเกิดจากผู้รับเหมาปล่อยปละละเลย เมื่อขุดหลุมแล้วนำแท่งแบริเออร์พลาสติกสีส้มมาวางกั้นไว้ โดยไม่ถ่วงน้ำหนัก เมื่อฝนตกกระแสน้ำก็ไหลพัดแท่งดังกล่าวออกจากจุดที่ขุดหลุมไว้ ผมขับรถมาเพียงลำพังเห็นแต่น้ำท่วมพื้นผิวถนนจึงไม่ทราบว่า ด้านหน้ามีหลุมที่ขุดไว้ เดชะบุญใช้ความเร็วค่อนข้างต่ำและมีสติ จึงสามารถออกมาจากตัวรถได้ก่อนที่น้ำจะไหลมาท่วมตัวรถและไม่ได้รับอันตรายแต่อย่างใด สิ่งสำคัญต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนนเป็นลำดับแรก ต้องติดตั้งป้ายแจ้งเตือนให้มั่นคงแข็งแรง และมีสัญญาณไฟวับวาบหรือกรวยยางวางไว้ก่อนจะถึงพื้นที่ก่อสร้าง ความเสียหายที่เกิดขึ้นขอให้หน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการชดเชยตามสภาพความเป็นจริงและถอดบทเรียน เพื่อมิให้เกิดอุบัติหุเช่นนี้อีก หากเป็นรถจักรยานยนต์ มีโอกาสสูงที่ผู้ขับขี่และผู้ซ้อนท้ายต้องได้รับบาดเจ็บหนัก” นายสุเมธ กล่าวย้ำ
เยี่ยมอดีต ส.ว.โคราช
ต่อมาเวลา ๑๖.๓๐ น. นายณัฐวรรธน์ อัครรุ่งเรืองกุล ผู้อำนวยการไฟฟ้าเขต การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเขต ๓ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (นครราชสีมา) และคณะ เดินทางไปที่บ้านพักเพื่อเยี่ยม นายสุเมธ ศรีพงษ์ โดยนายมนตรี ยันตรวัฒนา เปิดเผยว่า “วันนี้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคมีโอกาสมาเยี่ยมนายสุเมธ ผู้ที่ประสบอุบัติเหตุเมื่อเย็นวานก่อน ทั้งนี้ ในส่วนของโครงการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคที่นำสายไฟฟ้าลงใต้ดินในจุดที่เกิดเหตุขณะนี้ ได้สั่งให้ผู้รับเหมาหยุดและชะลองานแล้ว จนกว่าสภาพฝนจะเป็นปกติ และสั่งให้เจ้าหน้าที่ดูแลเรื่องความปลอดภัย ตรวจสอบความปลอดภัยโดยละเอียด และนำสัญญาณไฟมาติดตั้งเพื่อบอกเตือนว่าจุดดังกล่าวเป็นเขตก่อสร้างและอันตราย ห้ามสัญจรผ่านในช่วงที่ฝนตกหรือพายุเข้าด้วย”
เทศบาลฯ ขอซ่อมถนนเอง
จากนั้นวันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๖๓ เวลา ๑๐.๐๐ น. นายธนาคม วิมลวัตรเวที ประธานสภาเทศบาลนครนครราชสีมา เปิดเผยกับ “โคราชคนอีสาน” ว่า “จากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากโครงการนำสายไฟฟ้าลงใต้ดิน เทศบาลฯ ได้นำมาพูดคุยกันในการประชุมสภาฯ ซึ่งสมาชิกก็แสดงความคิดเห็นจำนวนมาก เนื่องจากเป็นพื้นที่ใจกลางเมือง ผู้ใช้รถใช้ถนนต่างร้องเรียนมาตามที่เป็นข่าว ไม่มีคนชมมีแต่คนด่า ผมจึงปรึกษากับนายบุญเหลือ เจริญวัฒน์ รองนายกเทศมนตรีฯ ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโครงการนี้ จากนั้นนายบุญเหลือจึงประสานงาน เรียกประชุมกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคและผู้รับเหมา ขณะนี้มอบหมายให้สำนักการช่างเทศบาลฯ แบ่งสายงานรับผิดชอบในพื้นที่ทั้งหมด เพื่อสำรวจการทำงานของผู้รับเหมา และมีผู้รับผิดชอบในแต่ละจุด ขอบเขตที่เทศบาลทำได้ คือ การใช้คนของเทศบาลฯ แบ่งพื้นที่ควบคุมงาน สำรวจว่าจุดไหนต้องซ่อม จุดไหนต้องตรวจสอบอันดับแรก หากจุดไหนจะต้องซ่อมก็จะเข้าไปทำทันที แต่ผู้รับเหมาของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคต้องชดเชยค่าวัสดุคืนเทศบาลฯ หากเขาทำไม่ได้ จะทำให้ เพื่อบรรเทาผลกระทบที่ประชาชนได้รับ รวมทั้งลดอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในช่วงฝนตกน้ำท่วมและมีรถล้ม”
“ในกรณีอุบัติเหตุ อดีต ส.ว. บริเวณจุดเกิดเหตุเป็นการทำงานล่าช้า เนื่องจากขุดลงไปเจอระบบงานใต้ดิน ทั้งท่อน้ำ ท่อระบายน้ำ ทำให้บริเวณแยกนั้นล่าช้า ซึ่งจะติดตั้งหม้อแปลงใหญ่บริเวณสี่แยกแต่ติดตั้งไม่ได้ จึงต้องขุดใหม่ เทศบาลฯ ได้สั่งให้นำแผ่นเหล็กปูปิดทับตั้งแต่ช่วงเทศกาลกินเจ แต่เนื่องจากบ่อมีความกว้าง ปิดแบบหมิ่นเหม่ไม่สนิท เมื่อเกิดฝนตก น้ำซัดแผ่นเหล็กขยับ จึงเกิดปัญหาดังกล่าว แต่เทศบาลฯ แจ้งให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคต้องรับผิดชอบ แม้แต่เด็กที่รถจักรยานยนต์ล้ม ก็ประสานให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเข้าไปดูแล มีค่าใช้จ่ายใดที่ช่วยได้บ้างก็ต้องช่วยเหลือ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ที่ประสบอุบัติเหตุ ด้านอดีต ส.ว.หากมีรถยนต์ที่ต้องซ่อมหรือมีอะไรที่นอกเหนือจากนั้น กฟภ.ต้องรับผิดชอบ ซึ่งมีการพูดคุยในเบื้องต้นแล้ว เรื่องที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจะเป็นผู้รับผิดชอบ เป็นเรื่องที่หน่วยงานราชการต้องประสานหน่วยราชการด้วยกัน ต้องใช้เวลา แต่ก็พยายามติดตามให้ดีขึ้น” นายธนาคม กล่าว
กฟภ.ขอรับผิดชอบเต็มที่
นายประสิทธิ์ จันทร์ประสิทธิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิศวกรรมและบริการ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เขต ๓ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (นครราชสีมา) เปิดเผยกับ “โคราชคนอีสาน” เมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๖๓ ว่า “กรณีที่มีนักศึกษาประสบอุบัติเหตุ จากการก่อสร้างโครงการนำสายไฟฟ้าลงใต้ดิน ซึ่งได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย จากที่ข่าวออกไปว่าสมองกระทบกระเทือนไม่ได้เป็นถึงขั้นนั้น ผู้ได้รับบาดเจ็บบอกว่า ตนก็ประมาทด้วยเช่นกัน หลังจากเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น กฟภ.ก็จะไม่นิ่งนอนใจ ขอแสดงความรับผิดชอบอย่างเต็มที่ ส่วนกรณีอดีต ส.ว.นั้น ผู้อำนวยการเขต ๓ กฟภ.ไปเยี่ยมถึงบ้าน พบว่ารถพังเท่านั้นแต่คนไม่เป็นอะไร ซึ่งรถก็นำเข้าศูนย์เรียบร้อย และชดเชยค่าเสียหายในการเช่ารถรายวัน จนกว่าจะซ่อมเสร็จ และให้ค่าทำขวัญเช่นกัน ซึ่งสาเหตุของอุบัติเหตุเกิดจากน้ำท่วม ทำให้แบริเออร์ที่วางกั้นอยู่ลอยน้ำออกจากจุด อีกทั้งเจ้าหน้าที่เข้าไปไม่ได้ เนื่องจากรถติด โดยหลังจากนี้บริเวณแยกอันตรายต่างๆ กฟภ.จะนำแบริเออร์ปูนมาวาง เพื่อป้องกันการลอยเมื่อน้ำท่วม ส่วนแบริเออร์พลาสติกก็นำทรายใส่เพื่อถ่วงน้ำหนัก”
ไม่มีปัญหาพร้อมจ่ายเสมอ
“สำหรับกรณีการซ่อมและปรับปรุงพื้นผิวถนน เบื้องต้นหากนำสายไฟฟ้าและสายสื่อสารลงดินเรียบร้อยแล้ว เทศบาลฯ จะคืนพื้นผิวถนน เพื่อไม่ให้มีอันตรายเกิดขึ้น แต่การคืนพื้นผิวถนนนั้น จะต้องรอทุกหน่วยงานทำงานเสร็จสิ้นแล้ว เช่น ทีโอทีรับผิดชอบนำสายสื่อสารลงใต้ดิน ส่วน กฟภ.นำสายไฟฟ้าลงใต้ดิน ซึ่งต้องจับมือกันอย่างใกล้ชิด เข้มแข็ง บางบริเวณต้องซ่อมดีกว่าเดิมเพื่อไม่ให้เกิดอันตราย และที่เทศบาลฯ จะขอซ่อมแซมผิวถนนชั่วคราวแทนผู้รับเหมานั้น กฟภ.ไม่มีปัญหา เพราะคุยกับนายบุญเหลือ เจริญวัฒน์ รองนายกเทศมนตรีฯ แล้วว่า จุดไหนที่การไฟฟ้าทำเสร็จแล้ว แต่ยังไม่สามารถคืนผิวถนนได้ทั้งหมดนั้น ไม่ว่าใครจะซ่อมก็ตาม การไฟฟ้าพร้อมจ่าย กฟภ.จ่ายอยู่แล้วไม่มีปัญหา และจ่ายให้แน่นอน”
“กฟภ.ลงทุนทำโครงการนี้ทั้งหมด ๔ เมืองใหญ่ งบประมาณกว่า ๑๐,๐๐๐ ล้านบาท ในส่วนของโคราชใช้งบประมาณกว่า ๒,๔๓๓ ล้านบาท ซึ่งการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคทุ่มให้หมด เพื่อต้องการให้ชาวโคราชใช้ไฟฟ้าอย่างสะดวกและปลอดภัย รวมทั้งสร้างความสวยงาม หากทำสำเร็จที่โคราช ก็จะดำเนินการต่อที่อุดรธานี ขอนแก่น เชียงใหญ่ ต่อไป นี่เป็นโครงการนำร่อง หากไม่ประสบผลสำเร็จประเทศไทยก็จะไม่มีสายไฟฟ้าใต้ดิน ต้องช่วยกันฝ่าอุปสรรคไปให้ได้ โดยโครงการจะก่อสร้างแล้วเสร็จทั้งหมดประมาณเดือนมิถุนายน ๒๕๖๔” นายประสิทธิ์ กล่าว
เพิ่มมาตรการป้องกันอุบัติเหตุ
ล่าสุด เมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๖๓ เวลา ๒๐.๓๐ น. นายมนตรี ยัตรวัฒนา ผู้ช่วยผู้ว่าการ กฟภ.เขต ๓ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (นครราชสีมา) พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร กฟภ. ลงพื้นที่ตรวจสอบโครงการพัฒนาระบบไฟฟ้าในเมืองใหญ่ ระยะที่ ๑ ไฟฟ้าใต้ดิน (โคราชมหานครไร้สาย) บริเวณถนนจอมสุรางค์ยาตร์ ซึ่งส่งผลต่อความปลอดภัยด้านการสัญจรของประชาชนในพื้นที่
นายมนตรี ยัตรวัฒนา กล่าวว่า “ขอแสดงความห่วงใยต่อผู้ประสบอุบัติเหตุก่อนหน้านี้ กฟภ.ตระหนักถึงความสำคัญด้านความปลอดภัยในชีวิตเป็นอันดับแรก และออกมาตรการเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งจะกำชับให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบการคืนพื้นผิวจราจรทุกวัน หากพบจุดเสี่ยง กฟภ.จะปิดกั้นพื้นที่และลงมือแก้ไขโดยทันที โดยตลอดระยะเวลา ๖๐ ปี ของการดำเนินงาน กฟภ.มุ่งมั่นพัฒนาระบบจำหน่ายไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง มีโครงการพัฒนาระบบไฟฟ้าในเมืองใหญ่ ระยะที่ ๑ ก่อสร้าง ปรับปรุงระบบไฟฟ้า พร้อมทั้งติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มเติมในพื้นที่ ๔ เมือง ประกอบด้วย เทศบาลนครเชียงใหม่ เทศบาลนครนครราชสีมา เมืองพัทยา และเทศบาลนครหาดใหญ่ ซึ่งในเขตเทศบาลนครนครราชสีมา กฟภ.เริ่มนำสายไฟฟ้าลงใต้ดินเมื่อเดือนกันยายน ๒๕๖๒ บนถนน ๒๑ สาย รวมระยะทาง ๑๗.๓๗ กิโลเมตร ช่วงที่ ๑ บริเวณถนนชุมพล ถนนราชดำเนิน (รอบอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี) ถนนสุรนารี ถนนบุรินทร์ ถนนพิบูลละเอียด ถนนจอมสุรางค์ยาตร์และถนนโพธิ์กลาง แล้วเสร็จเดือนกันยายน ๒๕๖๓”
โคราชมหานครไร้สาย
“สำหรับงานก่อสร้างส่วนที่เหลือ กฟภ.จะทยอยดำเนินการรื้อถอนสายไฟฟ้า สายสื่อสารโทรคมนาคม และเสาไฟฟ้า ที่อยู่เหนือพื้นดินออก ในช่วงที่ ๒ และช่วงที่ ๓ เพื่อช่วยเสริมสร้างความมั่นคงของระบบไฟฟ้า ลดปัญหาไฟฟ้าตกหรือไฟฟ้าดับจากภัยธรรมชาติและอุบัติภัยต่างๆ ที่ทำให้เกิดความเสียหายและอันตราย ปรับปรุงให้มีทัศนียภาพสวยงาม เพิ่มความน่าเชื่อถือและเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีสู่สายตาชาวต่างชาติ และที่สำคัญช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดอย่างยั่งยืน ในการดำเนินการก่อสร้างระบบจำหน่ายไฟฟ้าเป็นเคเบิลใต้ดิน กฟภ.ได้รับความร่วมมือจากจังหวัดฯ เทศบาลนครฯ ตำรวจภูธรเมืองนครราชสีมา คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช) บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และผู้ประกอบการสายสื่อสารโทรคมนาคมในพื้นที่ เพื่อให้สมกับคำว่า โคราชมหานครไร้สาย” นายมนตรี กล่าว
ประธานสภาเทศบาลฯ เดือด
ทั้งนี้ หลังจากเกิดเหตุนักศึกษาคณะเภสัชกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้รับบาดเจ็บจากการขับขี่รถจักรยานยนต์ ล้มหัวฟาดพื้น นายธนาคม วิมลวัตรเวที ประธานสภาเทศบาลนครนครราชสีมา โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า “งานสายไฟฟ้าลงใต้ดิน ทำงานห่วยอย่างนี้ กฟภ.ตรวจรับงานได้อย่างไร???? คนเทศบาลนคร จะไม่ทน”
อนึ่ง โครงการพัฒนาระบบไฟฟ้าในเมืองใหญ่ ระยะที่ ๑ (คพญ.๑) เทศบาลนครนครราชสีมา แบ่งออกเป็น ๘ ล็อต ได้แก่ ล็อต ๑ ถนนชุมพลและถนนราชดำเนิน ระยะทาง ๑.๖๖ กิโลเมตร วงเงิน ๑๖๐.๐๑๘ ล้านบาท ผู้รับจ้าง บริษัท เด็มโก้ จำกัด (มหาชน), ล็อต ๒ ถนนสุรนารี, ถนนบุรินทร์, ถนนพิบูลละเอียด, ถนนจอมสุรางค์ยาตร์, และถนนโพธิ์กลาง ระยะทาง ๒.๕๘ กิโลเมตร วงเงิน ๒๓๕.๕ ล้านบาท ผู้รับจ้าง บริษัท RSS 20108 จำกัด
ล็อต ๓ ถนนจอมสุรางค์ยาตร์, ถนนบัวรอง, ถนนโพธิ์กลาง และถนนโยธา ระยะทาง ๓.๑ กิโลเมตร วงเงิน ๒๗๗.๘ ล้านบาท ผู้รับจ้าง บริษัท เด็มโก้ จำกัด (มหาชน), ล็อต ๔ ถนนราชดำเนิน, ถนนราชนิกูล, ถนนไชยณรงค์, ถนนพลแสน, ถนนยมราช, ถนนอัษฏางค์, ถนนจอมพล, ถนนมหาดไทย และถนนสรรพสิทธิ์ ระยะทาง ๔.๘ กิโลเมตร วงเงิน ๓๑๔ ล้านบาท ผู้รับจ้าง กิจการค้าร่วม ศรีชลธร และโปรเอ็น (บริษัท ศรีชลธร จำกัด และ บริษัท โปรอิมเมจ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอมมูนิเคชั่น จำกัด)
ล็อต ๕ ถนนมนัส, ถนนพลแสน, ถนนยมราช, ถนนอัษฏางค์, ถนนจอมพล, ถนนมหาดไทย และถนนสรรพสิทธิ์ ระยะทาง ๒.๖ กิโลเมตร วงเงิน ๑๘๗ ล้านบาท ผู้รับจ้าง บริษัท ธนวรรณ อีเล็คทริค คอนสตรัคชั่น จำกัด ล็อต ๖ ถนนจักรี, ถนนพลแสน, ถนนยมราช, ถนนอัษฏางค์, ถนนจอมพล, ถนนมหาดไทย, ถนนสรรพสิทธิ์และถนนกำแหงสงคราม ระยะทาง ๒.๖๓ กิโลเมตร วงเงิน ๑๘๓.๗๕ ล้านบาท ผู้รับจ้างบริษัท ฟิวเจอร์ อีเล็คทริคอล คอนโทรล จำกัด
ส่วนในล็อตที่ ๗ เป็นงานจ้างเหมาก่อสร้างสายส่ง ๑๑๕ เควี เคเบิลใต้ดินช่วงโรงแรมสีมาธานีถึงสถานีไฟฟ้านครราชสีมา ๖ (บริเวณสำนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดนครราชสีมา) ระยะทาง ๒.๒ กิโลเมตร วงเงิน ๓๐๘.๔ ล้านบาท ผู้รับจ้าง กลุ่ม Consortium FEC & ETE และล็อตที่ ๘ เป็นงานก่อสร้าง “สถานีไฟฟ้านครราชสีมา ๖” วงเงิน ๑๖๒ ล้านบาท ผู้รับจ้าง บริษัท พรีไซซ ซิสเท็ม แอนด์ โปรเจ็ค จำกัด
นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๖ ฉบับที่ ๒๖๕๐ วันพุธที่ ๒๑ - วันอังคารที่ ๒๗ เดือนตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๓
108 1,702