October 29,2020
ลุยรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-โคราช ลงนามสัญญา 2.3 วงเงิน 50,633.50 ล.
เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2563 เวลา 15.00 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในพิธีลงนามในสัญญาจ้างงานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟและจัดฝึกอบรมบุคลากร (สัญญา 2.3) ของโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง เพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร - หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร - นครราชสีมา) โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่ากระทรวงคมนาคม นายหยาง ซิน อุปทูต รักษาการแทนเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ผู้บริหารจากกระทรวงคมนาคม บริษัท ไชน่า เรลเวย์ อินเตอร์แนชันนัล (CHINA RAILWAY International Co., Ltd.) และบริษัท ไชน่า เรลเวย์ ดีไซน์ คอร์เปอเรชัน (China Railway Design Corporation) เข้าร่วม
นายกรัฐมนตรียืนยันรัฐบาลให้ความสำคัญกับโครงการความร่วมมือฯ นี้ เนื่องจากเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์สำคัญที่จะช่วยเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และเป็นกลไกในการพัฒนาประเทศ และภูมิภาค โดยเฉพาะหัวเมืองหลักตามแนวเส้นทางรถไฟความเร็วสูง ซึ่งจะสามารถต่อยอดและพัฒนาเป็นเมืองศูนย์กลางของภูมิภาค
เส้นทางนี้เปรียบเสมือนสายใยเชื่อมโยงไทยกับจีนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น และสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นระหว่างกันในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อส่งเสริมความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ และความเชื่อมโยงทางคมนาคม ตลอดจนส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างประชาชนกับประชาชนให้มากยิ่งขึ้น
การลงนามนี้เป็นโอกาสในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้พัฒนาเทคโนโลยีระหว่างกัน เชื่อมั่นว่าไทยจะนำองค์ความรู้มาสร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน ประเทศ และภูมิภาคต่อไป
ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีขอบคุณกระทรวงคมนาคม การรถไฟแห่งประเทศไทย ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการ และบริษัทคู่สัญญาของโครงการ ตลอดจนผู้ปฏิบัติงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องในทุกภาคส่วน ที่ล้วนเป็น “กำลังสำคัญ” ในการผลักดันโครงการให้สำเร็จลุล่วงตามเป้าหมาย เพื่อให้ประชาชนได้ใช้บริการรถไฟความเร็วสูง โดยสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย เปรียบดังคำกล่าวที่ว่า “ถง ซิน เสีย ลี่, ซื่อ ซื่อ ซุ่น ลี่” หมายความว่า “น้ำหนึ่งใจเดียว ทุกเรื่องราบรื่น”
ทั้งนี้ สัญญา 2.3 วงเงิน 50,633.50 ล้านบาท โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย ลงนามร่วมกับ บริษัท ไซน่า เรลเวย์ อินเตอร์เนชั่นแนล (CHINA RAILWAY INTERNATIONAL CO., LTD.) และบริษัท ไชน่า เรลเวย์ ดีไซน์ คอร์เปอเรชั่น (CHINA RAILWAY DESIGN CORPORATION) โดยมีขอบเขตงาน คือการวางระบบรางระยะทาง 253 กิโลเมตร งานระบบรถไฟความเร็วสูง ระบบไฟฟ้า ระบบอาณัติสัญญาณ ระบบสื่อสาร งานจัดหาขบวนรถไฟ งานฝึกอบรมบุคลากรเพื่อการเดินรถและซ่อมบำรุง และงานถ่ายทอดเทคโนโลยี ทั้งนี้ ระยะเวลาเริ่มต้นของสัญญาแบ่งเป็น 3 ช่วง ได้แก่ 1.การเริ่มต้นงานออกแบบระบบรถไฟความเร็วสูง และออกแบบระบบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนออกแบบขบวนรถไฟ 2. การเริ่มต้นงานฝึกอบรมบุคลากรเพื่อการเดินรถและซ่อมบำรุง และการถ่ายทอดเทคโนโลยี และ 3. การเริ่มต้นงานก่อสร้าง ติดตั้งงานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล ระบบรถไฟความเร็วสูงที่เกี่ยวข้อง ระยะเวลาสิ้นสุดสัญญา 64 เดือน
สำหรับโครงการความร่วมมือรถไฟความเร็วสูงระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร – นครราชสีมา 253 กิโลเมตร ประกอบด้วย 6 สถานี ประกอบด้วย กรุงเทพ (บางซื่อ) ดอนเมือง อยุธยา สระบุรี ปากช่อง และนครราชสีมา ใช้งบประมาณในการก่อสร้าง 179,412.21 ล้านบาท โดยฝ่ายไทยได้ลงทุนโครงการทั้งหมดและดำเนินการก่อสร้างงานโยธา ส่วนฝ่ายจีนรับผิดชอบการออกแบบรายละเอียดงานโยธา ควบคุมงานการก่อสร้างโยธา ออกแบบและติดตั้งงานระบบรางและระบบไฟฟ้า เครื่องกล ระบบควบคุมการเดินรถและจัดนำขบวนรถไฟความเร็วสูง มีการแบ่งสัญญาก่อสร้างงานโยธาออกเป็น 14 สัญญา ปัจจุบันได้ดำเนินการก่อสร้างงานโยธาแล้วเสร็จ 1 สัญญา ช่วงกลางดง-ปางโศก อยู่ในระหว่างการก่อสร้าง 1 สัญญา ช่วงสีคิ้ว-กุดจิก ซึ่งมีความก้าวหน้าร้อยละ 42 รวมถึงเตรียมลงนามในสัญญาก่อสร้าง 9 สัญญา อยู่ในกระบวนการหาผู้รับจ้างอีก 3 สัญญา คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการรถไฟความเร็วสูงได้ในปี 2569
ข้อมูล/ภาพ : ข่าวทำเนียบรัฐบาล
46 1,584