29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

November 14,2020

‘รองนายก-ที่ปรึกษา’ครบ แต่อ้างยังไม่ถึงเวลาเปิดตัว ‘แก้ว’ยืนยันลุยเดี่ยวไร้พรรคหนุน

สนามเลือกตั้งนายก อบจ.โคราชต้องระอุ เมื่อทุกคนเตรียมเปิดตัวทีมบริหารและที่ปรึกษา ‘ดร.สาธิต’ มีครบแต่ขอกั้กไว้ก่อน ‘หมอแหยง’ ชู ‘สมชัย-พิเชฐ’ นั่งที่ปรึกษาตามคาด ส่วน ‘แก้วด๊ะดาด’ ยืนยันไม่สังกัดพรรค และขอลุยเดี่ยว ส่วน ‘ตรีเพชร’ เล็งไว้แล้ว แต่ขอสู้ด้วยตัวเองก่อน 

ตามที่ “โคราชคนอีสาน” เสนอข่าวการรับสมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา (นายก อบจ.นครราชสีมา) และสมาชิกสภา อบจ.นครราชสีมา ระหว่างวันที่ ๒-๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ และเลือกตั้งในวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๖๓ โดยจังหวัดนครราชสีมา มีผู้สมัครนายก อบจ.ทั้งหมด ๕ คน ได้แก่ เบอร์ ๑ ดร.สาธิต ปิติวรา สมัครในนามคณะก้าวหน้า เบอร์ ๒ นางยลดา (หน่อย) หวังศุภกิจโกศล ภริยานายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล (กำนันป้อ) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (พรรคภูมิใจไทย) เจ้าของโรงงานแป้งมันเอี่ยวเฮง อำเภอเสิงสาง ในนามกลุ่มโคราชโฉมใหม่ เบอร์ ๓ นพ.สำเริง แหยงกระโทก หรือหมอแหยง อดีตนายก อบจ.นครราชสีมา ลงสมัครในนามกลุ่มรักษ์โคราช เบอร์ ๔ นายวิฑูรย์ ชาติปฏิมาพงษ์ ลงสมัครอิสระ และเบอร์ ๕ ดร.ตรีเพชร พรหมนิติพันธุ์ ลงสมัครอิสระ ซึ่งในส่วนของผู้สมัคร ส.อบจ.ทั้ง ๔๘ เขตเลือกตั้ง มีผู้มาสมัครทั้งหมด ๑๗๓ คน

เปิดนโยบาย นายก อบจ.โคราช

ล่าสุดเมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ ‘โคราชคนอีสาน’ ติดต่อไปยังผู้สมัครนายก อบจ.นครราชสีมา ทั้ง ๕ คน เพื่อสัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าในการหาเสียง รวมทั้งการวางตัวทีมผู้บริหาร ทั้งรองนายก อบจ.และที่ปรึกษานายก อบจ. ซึ่ง ดร.สาธิต ปิติวรา ผู้สมัครนายก อบจ.นครราชสีมา เบอร์ ๑ เปิดเผยว่า “ขณะนี้เรามีนโยบายออกมาทั้งหมด ๑๓ เรื่อง แต่ที่เน้นมีดังนี้ เรื่องท้องถิ่นและเยาวชน เนื่องจาก อบจ.มีโรงเรียนในสังกัดมากถึง ๕๘ แห่ง มีนักเรียนประมาณ ๓ หมื่นคน โดยจะเน้นในการพัฒนาหลักสูตรให้ตรงตามศักยภาพ หรือความต้องการของนักเรียน เช่น โรงเรียนบางแห่ง นักเรียนมีความต้องการและศักยภาพด้านใดด้านหนึ่ง ก็จะไปส่งเสริมหลักสูตรให้ตรงตามที่นักเรียนต้องการ โดยนำคนในชุมชนมามีส่วนเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น ผู้อำนวยการ ผู้ปกครอง ผู้ประกอบการ ทุกฝ่ายจะต้องมาหารือกัน และเน้นไปในเรื่องการกระจายอำนาจและงบประมาณ เพื่อให้มีอุปกรณ์การเรียนการสอนอย่างทั่วถึง ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม แต่ทั้งหมดนี้ก็ต้องมีตัวชี้วัดในการพัฒนาต่างๆ โดยงบประมาณของ อบจ.รวมทั้งหมดต่อปีประมาณ ๓-๔ พันล้าน ซึ่งผมจะให้น้ำหนักมาทางด้านการศึกษามากถึง ๒๐% นอกจากนี้ยังต้องให้ความสำคัญเยาวชนด้วย โดยส่งเสริมให้มี U-Space ให้มีเวทีสำหรับคนทุกกลุ่ม มีพื้นที่ในการแสดงออก เช่น การเล่นกีฬา เล่นอีสปอร์ต และเต้นบีบอย”

แก้น้ำท่วม-น้ำแล้ง

“นโยบายเรื่องต่อมาคือ การจัดการน้ำทั้งน้ำท่วมและน้ำแล้ง ซึ่งการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ไม่สามารถทำได้เพียงองค์กรเดียว แต่จะต้องประสานงานกับ อปท.ในพื้นที่ต่างๆ มาบูรณาการด้วยกัน ซึ่งต้องหาว่า ปัญหาที่ทำให้เกิดน้ำท่วมคืออะไร เช่น เกิดจากการอุดตันของขยะตามทางระบายน้ำ ทำให้การระบายน้ำลงลำคลองหลักล่าช้า และเกิดน้ำท่วมในที่สุด หรือจะต้องมองหาพื้นที่รับน้ำในฤดูฝน ซึ่งที่ผ่านมายังไม่มีการทำอย่างจริงจัง ทุกวันนี้ฝนตกไม่กี่นาทีน้ำก็ท่วมแล้ว ส่วนเรื่องน้ำแล้ง ในบริเวณอำเภอที่อยู่ใกล้กับเขื่อนขนาดใหญ่ อาจจะไม่ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้เท่าไหร่ แต่ผมเป็นห่วงพื้นที่อำเภอตอนบนของจังหวัด เช่น อำเภอบ้านเหลื่อม คง แก้งสนามนาง บัวใหญ่ โนนแดง และประทาย โดยจะไปร่วมกับ อทป.ในพื้นที่ ส่งเสริมให้หาพื้นที่รับน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้ง ทำทั้งขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ จากนั้นก็วางระบบท่อส่งน้ำ ให้เชื่อมต่อกันระหว่างแหล่งเก็บน้ำ ซึ่งอาจจะเชื่อมกันในพื้นที่เท่านั้น”

ลดขยะเมืองโคราช

ดร.สาธิต กล่าวอีกว่า “ในส่วนของนโยบายที่ผมต้องการทำคือ การจัดการขยะ ซึ่งมีหลายคนแสดงความคิดเห็นว่า การจัดการขยะไม่ใช่หน้าที่ของ อบจ. แต่สำหรับผมมองว่า ในฐานะที่เป็นนายก อบจ. จะต้องเป็นพี่ใหญ่ในการจัดการขยะ หากให้ทุกฝ่ายไปจัดการเองและงบประมาณไม่เพียงพอ ก็อาจจะส่งผลให้เกิดปัญหาตามมาได้ โดยปัจจุบันมีการกำจัดขยะด้วยวิธีการฝังกลบ ซึ่งวิธีนี้ทำเท่าไหร่พื้นที่ก็ไม่เพียงพอ แต่ต้องมีการจัดการตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง โดยต้นทาง คือ การลดปริมาณขยะ ซึ่งขณะนี้มีการรณรงค์งดใช้ถุงพลาสติกอยู่แล้ว แต่สิ่งที่จะต้องทำต่อคือ สร้างความรับรู้ให้ประชาชนแยกขยะ เมื่อมีการแยกขยะแล้ว ก็เข้าไปส่งเสริมให้มีการรีไซเคิล สร้างรายได้เข้ามาในชุมชน เพื่อนำเงินมาใช้พัฒนาคุณภาพชีวิตต่อไป สำหรับกลางทาง อปท.ขนาดเล็ก ต้องมีระบบโลจิสติกส์ในขณะเก็บขยะ เช่น วันจันทร์รับขยะพลาสติก วันอังคารรับขยะสด หากมีการจัดการเรื่องนี้ก็จะสามารถช่วยแยกขยะตามแนวทางแรกได้ และปลายทาง เมื่อรับขยะมาแล้ว ต้องมีโรงงานที่จะเปลี่ยนให้ขยะกลายเป็นเงิน หรือนำไปทำเป็นวัตถุดิบด้านพลังงาน เช่น ผลิตไฟฟ้าจากขยะ โดยโรงงานขยะนี้ จะต้องเป็นโรงงานไร้มลพิษและมีมาตรฐานด้วย หากทำได้ทั้งหมด อาจจะกำจัดขยะได้มากถึง ๕๐๐ ตันต่อวัน ซึ่งขณะนี้โคราชมีขยะ ๓,๐๐๐ ตันต่อวัน และไม่มีการจัดการอย่างเป็นระบบ ซึ่งนโยบายการจัดการขยะ อาจจะทำให้ไม่มีคะแนนเสียง เพราะเป็นเรื่องไกลตัว แต่นี่เป็นสิ่งที่ผมต้องการจะทำ”

ส่งเสริมขนส่งมวลชน

“นโยบายที่สำคัญอีกเรื่องคือ การขนส่งสาธารณะ ขณะนี้มีโครงการรถไฟฟ้ารางเบาสายสีเขียว หากมีการผลักดันไปได้ ผมก็ต้องการที่จะส่งเสริมและสนับสนุนจัดตั้งบริษัทร่วม PPP กับภาครัฐ เพื่อเข้าไปบริหารจัดการด้านการขนส่งมวลชน ขณะนี้มีรถเมย์วิ่งอยู่ แต่ในเรื่องความปลอดภัยต่างๆ อาจจะไม่มากพอ หากมีรถเมย์ไฟฟ้าก็อาจจะแก้ปัญหาได้ เก็บค่าบริการเพียง ๑๐-๑๕ บาทตลอดสาย แต่การจะเกิดรถไฟฟ้า จะต้องมีการทำ PPP ภาครัฐและเอกชนมาร่วมมือกัน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนโคราช ไม่ฉะนั้นปัญหาฝุ่น PM ๒.๕ ความปลอดภัยต่างๆ ก็จะไม่หายไป นอกจากนี้ ต้องเชื่อมโยงรถไฟฟ้าไปยังอำเภอรอบนอกด้วย เชื่อมโยงกับแหล่งท่องเที่ยวที่มีอยู่แล้ว เวลารถออกก็จะต้องชัดเจน ในการทำนโยบายนี้ ระยะแรกอาจจะมีปัญหาเรื่องจำนวนคน แต่เมื่อทำไปแล้วผมคิดว่า คนจะสนใจกันมากขึ้น โดยนโยบายทั้งหมดที่กล่าวมานั้น เป็นเพียงส่วนหนึ่ง ผมยังให้ความสำคัญในเรื่องการท่องเที่ยว สาธารณสุข เกษตร เศรษฐกิจ และการป้องกันสาธารณภัยด้วย”

หาเสียงในโซเชียล

“สำหรับยุทธศาสตร์ที่ผมจะใช้หาเสียง จะเน้นในสิ่งที่เราถนัดคือ โซเชียลมีเดีย ซึ่งขณะนี้กำลังถ่ายทำนโยบายเพื่อเผยแพร่ โดยผมจะขายนโยบายให้คนโคราชได้รับรู้ว่า วันนี้ผมอาสาเข้ามาพัฒนาจังหวัด โดยการหาเสียงจะมีทั้งใน Facebook Twitter และทุกแพลตฟอร์ม ซึ่งต้องยอมรับว่าคนติดตามโซเชียลกันมาก แต่ก็ใช่ว่าผมจะไม่ลงพื้นที่ การลงพื้นที่ก็ยังทำอยู่เช่นเดิม ซึ่งผมและสจ. รวม ๒๕ คน จะเข้าไปพบคนโคราชทุกอำเภอ ทุกหมู่บ้าน เพื่อให้ทราบว่า เราพร้อมที่จะเสนอตัว เข้ามาเป็นนายก อบจ.และ ส.อบจ.โคราช หากเราได้เข้าไปจริงๆ ก็พร้อมที่จะไปขับเคลื่อนและพัฒนาตามนโยบายที่บอกไว้ต่อไป และจากกระแสการเมืองใหญ่ขณะนี้ ต้องชี้แจงว่า คณะก้าวหน้ากับพรรคก้าวไกลนั้นไม่เกี่ยวข้องกัน ซึ่งคณะก้าวหน้าเข้ามาทำการเมืองท้องถิ่นรูปแบบใหม่ ทุกคนที่สมัครนายก อบจ.และ ส.อบจ.ทุกจังหวัด จะไม่มีการซื้อเสียงขายเสียงแน่นอน” ดร.สาธิต กล่าว

ดร.สาธิต ปิติวรา กล่าวท้ายสุดว่า “ส่วนเรื่องทีมบริหารขณะนี้มีการวางตัวไว้แล้ว ทั้งรองนายก อบจ. ๔ ท่าน และที่ปรึกษา ๕ ท่าน ซึ่งจะขอเปิดตัวในเร็วๆ นี้ เนื่องจากบางท่านยังรับราชการอยู่ ต้องรอทำเรื่องการลาออกเสียก่อน”

‘แหยง’ จะย้ายที่ทำการ อบจ.

ทางด้าน นพ.สำเริง แหยงกระโทก หรือ “หมอแหยง” ผู้สมัครนายก อบจ.นครราชสีมา เบอร์ ๓ กล่าวว่า “นโยบายของผมมี ๓ กระบวนการ ๑๒ กิจกรรม โดย ๓ กระบวนการคือ ๑.สภาประชาชน ๒.โคราชสีเขียว และ ๓.การเมืองสีขาว ไม่มีการซื้อสิทธิ์ขายเสียง ๓ ส่วนนี้จะทำกิจกรรม ๑๒ ด้าน ตามสภาพปัญหาของแต่ละพื้นที่ ได้แก่ เรื่องการพัฒนาคน สาธารณสุข เกษตร การศึกษา เศรษฐกิจ ท่องเที่ยวกีฬา โครงสร้างพื้นฐาน ศาสนา วัฒนธรรมประเพณี ความมั่นคงของมนุษย์ และเรื่องที่สำคัญคือ เยาวชน เพราะเป็นวัยที่มีสิทธิ์มีเสียง เป็นอนาคตของชาติ ต้องให้เขามีส่วนร่วมในสภาประชาชน ร่วมคิดและแก้ไขปัญหาต่างๆ โดยจะมีพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยการย้ายสำนักงาน อบจ.ออกไป ซึ่งพื้นที่แห่งนี้เรียกว่า พื้นที่สีเขียว สามารถใช้เล่นกีฬา จัดงานย่าโม และทำกิจกรรมต่างๆ พร้อมกับส่งเสริมการท่องเที่ยว ทั้ง ๕ เขา ๕ เขื่อน ทั้งหมดนี้คือนโยบายที่สั่นๆ ง่ายๆ”

“สำหรับยุทธศาสตร์ในการหาเสียง เราเน้นไปที่การเมืองสีขาว ทำอย่างไรจะให้ความรู้ความเข้าใจไปถึงประชาชน ต้องขยันในการลงพื้นที่ตามอำเภอต่างๆ ทุกอำเภอ รวมทั้งหน่วยงานและชุมชนทุกแห่ง ต้องไปทำความเข้าใจและสร้างการมีส่วนร่วมในการดำเนินงาน ที่สำคัญต้องต่อสู้กับเรื่องเงินให้ได้ โดยใช้อุดมการณ์หรือคติเตือนใจของหลวงพ่อคูณที่ว่า ใครให้เงินก็รับไว้ ถือว่าเขาได้ทำบุญกับเรา สนองความศรัทธาของเขาแล้ว แล้วนำเงินไปซื้อของกินของใช้ แต่เมื่อถึงเวลาเลือก ก็เลือกคนดี คนที่ชอบ” นพ.สำเริง กล่าว

ตั้งอดีตส.ส.-ส.ว.เป็นที่ปรึกษา

นพ.สำเริง แหยงกระโทก กล่าวท้ายสุดว่า “ขณะนี้มีการวางตัวทีมผู้บริหารไว้แล้ว ๒ คน แต่รับรองว่ามีครบทุกด้านแน่นอน โดยเฉพาะเยาวชน ซึ่งคนที่เปิดเผยได้ขณะนี้คือ นายสมชัย ฉัตรพัฒนศิริ อดีต ส.ส.จังหวัดนครราชสีมา และนายพิเชฐ พัฒนโชติ อดีต ส.ว.จังหวัดนครราชสีมา จะเข้ามาเป็นที่ปรึกษาด้านการเมือง”

‘นายกแก้ว’สู้ด้วยตัวเอง

นายวิฑูรย์ ชาติปฏิมาพงษ์ ผู้สมัครนายก อบจ.นครราชสีมา เบอร์ ๔ กล่าวว่า “ในการวางตัวทีมบริหารทั้งรองนายก อบจ.และที่ปรึกษานายก อบจ. ขณะนี้ยังไม่ได้คิดว่าจะต้องเป็นใคร แต่ผู้ที่จะมาทำงานนี้จะต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขา เช่น ด้านสังคม ด้านกีฬา ด้านกฎหมาย ด้านชุมชน ด้านครอบครัว เป็นต้น คนเหล่านี้จะต้องมีความรู้ความสามารถอย่างแท้จริง เพราะผมไม่ต้องการคนที่มาลงทุนร่วม จะทำให้สั่งการไม่ได้ ผมต้องการมาบริหารงานอย่างแท้จริง เป็นคนของท้องถิ่น ซึ่งผมไม่ได้มีนายทุนสนับสนุน ขณะนี้จึงไม่จำเป็นต้องรีบแต่งตั้งใคร แต่เมื่อได้เข้าไปทำหน้าที่ จึงจะเลือกหรือเฟ้นหาผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านต่างๆ เบอร์ ๔ นายกแก้ว ไม่มีทีมงานสนับสนุน ไม่มีกองทุนสนับสนุน และไม่มีพรรคการเมืองผลักดัน ผมไม่เหมือนกับคนอื่นๆ ที่จะต้องมีพรรคการเมืองสนับสนุน เมื่อได้เป็นก็ต้องให้คนจากพรรคการเมืองมาเป็นรองนายก อบจ. แต่ก็ขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละคน หากเป็นอย่างนั้นจริง ผู้สมัครก็คงไม่สามารถทำตามนโยบายของตนได้อย่างจริงจัง”

‘ตรีเพชร’ยกระดับการศึกษา

ในขณะที่ ดร.ตรีเพชร พรหมนิติพันธุ์ ผู้สมัครนายก อบจ.นครราชสีมา เบอร์ ๕ กล่าวว่า “นโยบายหลักของผมคือ การสร้างโคราชเป็นศูนย์กลางของภาคอีสาน โดยใช้การพัฒนาคนให้มีคุณภาพ ซึ่งหากคนมีคุณภาพแล้ว การพัฒนาอะไรก็จะง่ายขึ้น แต่ถ้าคนยังขาดคุณภาพจะทำอะไรก็ยาก ซึ่งกลไกหลักในการพัฒนาคน คือ การศึกษา เมื่อมีการศึกษา ก็จะทำให้มีภาวะผู้นำในการพัฒนาตัวเอง พัฒนาสังคม มีความเข้มแข็งในตนเอง และสามารถต่อยอดหาความรู้ได้เรื่อยๆ หากทำให้คนมีคุณภาพ การพัฒนาอย่างอื่นก็จะทำได้ง่าย เหมือนกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจสังคมแห่งชาติฉบับที่ ๘ ระบุไว้ว่า ให้คนเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาประเทศ ซึ่งที่ผ่านมายังไม่มีใครทำอย่างจริงจัง โดยผมตั้งเป้าว่า โคราชต้องเป็นศูนย์กลางของการศึกษา เพื่อให้ประชากรของจังหวัดมีความเข้มแข็ง เมื่อเข้มแข็งแล้วการพัฒนาเรื่องอื่นๆ ก็จะทำได้ง่าย รวมถึงเรื่องศิลปวัฒนธรรม เพราะคนที่มีความรู้มีการศึกษาจะทราบดีว่า อะไรดีอะไรชั่ว ซึ่งโคราชมีโรงเรียนมัธยมในสังกัดของ อบจ. ทั้งหมด ๕๘ แห่ง นักเรียนที่จบชั้น ม.๓ จะต้องมีทักษะ มีความรู้ที่จะนำไปต่อยอดด้วยตนเอง สามารถนำไปสร้างอาชีพได้ และรวมถึงโรงเรียนต่างๆ ที่ไม่ใช่ของ อบจ. ก็จะต้องได้รับการสนับสนุนและพัฒนาอย่างทั่วถึง เพราะเงินที่นำมาใช้ทุกบาทคือเงินที่มาจากภาษีประชาชน ดังนั้นจะทำอะไรต้องทำให้คุ้มค่า ส่วนด้านวัตถุ รัฐบาลหรือส่วนท้องถิ่นที่ย่อยลงไปดำเนินการอยู่แล้ว ดังนั้นจึงต้องนำงบประมาณส่วนมากมาพัฒนาคน หากโคราชทำได้ ก็จะเป็นตัวอย่างในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของ อปท.ด้วย”

“สำหรับยุทธศาสตร์ในการหาเสียง ผมยืนยันว่าจะไม่มีการซื้อเสียงขายเสียง โดยจะเน้นการสื่อสารในโซเชียลมีเดีย และให้แนวคิดต่างๆ ผ่านทางบุคลากรทางการศึกษา เช่น ครู เนื่องจากผมเป็นข้าราชการครูมาก่อน รวมทั้งให้เครือข่ายต่างๆ ให้ช่วยกระจายแนวคิดดังกล่าวไปสู่ประชาชน ซึ่งการหาเสียงครั้งนี้ไม่เหมือนกับ ส.ส.หรือ อบต. เพราะการหาเสียงของนายก อบจ.นั้นกว้าง ครอบคลุมทั้งจังหวัด ซึ่งการหาเสียงแบบไปแจกใบปลิวคงลำบาก ดังนั้นจึงหันมาขายนโยบายและแนวคิดในโซเชียลมีเดียต่างๆ” ดร.ตรีเพชร กล่าว

ดร.ตรีเพชร กล่าวท้ายสุดว่า “ส่วนเรื่องทีมบริหารนั้น ผมกำลังดูอยู่ มีคนเสนอตัวเข้ามาบ้าง กำลังพิจารณาอยู่ ขณะนี้ขอขายตัวผมคนเดียวก่อน ส่วนเรื่องทีมบริหารจะต้องพิจารณาหลายฝ่าย ผมจะไม่ตัดสินใจคนเดียว”

‘ยลดา’ยังเงียบ

ทางด้านผู้สมัครนายก อบจ.นครราชสีมา เบอร์ ๒ นางยลดา หวังศุภกิจโกศล กลุ่มโคราชโฉมใหม่นั้น “โคราชคนอีสาน” พยายามติดต่อหลายครั้งแต่ยังไม่สามารถติดต่อได้ โดยเลขานุการแจ้งว่า อยู่ในระหว่างลงพื้นที่พบปะประชาชน 

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๖ ฉบับที่ ๒๖๕๓ วันพุธที่ ๑๑ - วันอังคารที่ ๑๗ เดือนพฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๓

 

963 1587