December 11,2020
‘มอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช’ เสร็จแล้ว ๙๒% ยังไม่ได้เปิด ต้องปรับแบบอีก ๖.๘ พันล.
มอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช ก่อสร้างแล้วเสร็จ ๙๒% แต่ต้องรื้อปรับแบบ ชง ครม.ของบเพิ่มอีก ๖,๘๐๐ ล้านบาท อ้าง ๔ สาเหตุ ออกแบบไม่ตรงสภาพหน้างาน ปัญหาสภาพชั้นดิน ลืมเยียวยาผลกระทบ และข้อจำกัดแนวเส้นทาง ด้าน ผอ.ทางหลวงที่ ๑๐ เผยทดลองวิ่งช่วงลำตะคองปลายปี ๒๕๖๕ ยังไม่ชัดเจน ชี้เปิดใช้งานจริงต้นปี ๒๕๖๖
ตามที่ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๕๘ อนุมัติให้กระทรวงคมนาคม โดยกรมทางหลวง ดำเนินโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองระยะเร่งด่วน ๓ สายทาง ซึ่งหมายรวมโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง หมายเลข ๖ (Motorway M6) สายบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา ระยะทาง ๑๙๖ กิโลเมตร โดยเป็นหนึ่งในโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองระยะเร่งด่วน ภายใต้แผนแม่บททางหลวงพิเศษระหว่างเมือง พ.ศ.๒๕๖๐-๒๕๗๙ มูลค่าก่อสร้างประมาณ ๘๔,๖๐๐ ล้านบาท โดยแบ่งการก่อสร้างออกเป็น ๔๐ ช่วง เพื่อให้สามารถดำเนินการก่อสร้างได้แล้วเสร็จในภายในปี ๒๕๖๓ นั้น
ต่อมา เมื่อวันที่ ๗ ธันวาคม ๒๕๖๓ เวลา ๐๗.๐๖ น. แฟนเพจเฟซบุ๊ก “ข่าวนวัตกรรมขนส่ง เดลินิวส์” โพสต์ข้อความพาดหัวว่า “๖,๘๐๐ ล้าน เปิดตำนานค่าโง่มอเตอร์เวย์กรมทางหลวง เตรียมชง ครม.เพิ่มงบรื้อแบบสายบางปะอิน-โคราช ที่สร้างเสร็จ ๙๒% ทางลอยฟ้าเขื่อนลำตะคองไม่ทุบทิ้ง ส่วนการเอาผิดคนไม่ฉลาด (หรือไม่?) ขึ้นกับผลสอบ” โดยมีรายละเอียดช่าวว่า นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า การตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องการปรับแบบโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สายบางปะอิน-นครราชสีมา (M6) ระยะทาง ๑๙๖ กม. วงเงินลงทุน ๘๔,๖๐๐ ล้านบาท (ค่าก่อสร้าง ๗๗,๙๗๐ ล้านบาท และค่าเวนคืน ๖,๖๓๐ ล้านบาท) ทั้ง ๑๗ ตอน จาก ๔๐ ตอน ของคณะกรรมการตรวจสอบฯ ที่ ทล.ได้เชิญอาจารย์จากสถาบันการศึกษา สภาสภาวิศวกรและวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) มาร่วมตรวจสอบจะได้ข้อสรุปและเสนอนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม พิจารณาภายในกลางเดือนธันวาคมนี้ ตามกรอบเวลาที่นายศักดิ์สยามให้นโยบายไว้แน่นอน จากนั้นจะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เดือนมกราคม ๒๕๖๔ เพื่อพิจารณาเพิ่มวงเงินในการปรับแบบ
นายสราวุธ กล่าวต่อว่า เบื้องต้นคาดว่า ต้องเสนอขอเพิ่มวงเงินค่าปรับแบบก่อสร้างไม่เกิน ๖,๘๐๐ ล้านบาท แต่จะไม่กระทบต่องบฯ โครงการ เพราะเอกชนยื่นประมูลราคาราว ๖๐,๐๐๐ ล้านบาท เหลือส่วนต่างราว ๑๐,๐๐๐ ล้านบาท ในการปรับแบบจะไม่กระทบกับจุดที่ก่อสร้างเสร็จและได้ผลงานรวมแล้ว ๙๒% เช่น ช่วงที่เป็นทางยกระดับผ่านเขื่อนลำตะคองประชาชนไม่ต้องกังวลว่า ต้องรื้อทุบทิ้งโครงสร้างที่เสร็จแล้ว พร้อมยืนยันว่า จะเปิดบริการให้ประชาชนทดลองวิ่งมอเตอร์เวย์สายนี้ได้ช่วงปลายปี ๖๕ ตามเป้าหมายเดิม โดยหารือกลุ่มกิจการร่วมค้า BGSR เพื่อยืนราคาดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) ออกไปก่อนหากติดปัญหาเรื่องการปรับแบบยังไม่แล้วเสร็จสามารถขยายเวลาการยืนราคาประมูลได้ไม่มีกำหนด เบื้องต้นจะยืนราคาถึงสิ้นเดือนมกราคม ๒๕๖๔ ก่อน ส่วนความคืบหน้ามอเตอร์เวย์สายบางใหญ่–กาญจนบุรี M9 ระยะทาง ๙๖ กม. งานโยธาก่อสร้างคืบหน้ากว่า ๔๐% การร่างสัญญางาน O&M อยู่ระหว่างรออัยการตรวจสอบ คาดว่าจะแล้วเสร็จและนัดลงนามสัญญากับกิจการร่วมค้า BGSR ได้ภายในต้นปี ๖๔ และวางเป้าหมายเปิดบริการภายในปี ๖๖
นายสราวุธ กล่าวด้วยว่า สำหรับ ๔ สาเหตุที่ต้องปรับแบบมอเตอร์เวย์บางปะอิน-นครราชสีมา คือ ๑.โครงการออกแบบไว้ปี ๒๕๕๕ ใช้แบบประกวดราคาปี ๒๕๕๙ ทำให้สภาพพื้นที่เปลี่ยนไป ๒.ตอนออกแบบไม่เจาะสำรวจละเอียดถึงสภาพชั้นหินหรือชั้นดิน เมื่อก่อสร้างสำรวจพบว่า ออกแบบไว้เป็นดินถมต้องสร้างเสาเข็ม หรือสร้างโครงสร้างเพิ่ม ๓.การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ เช่น สร้างทางขนาน ทางบริการ และทางลอด ตอนออกแบบครั้งแรกไม่ทราบข้อมูลว่าต้องดำเนินการทั้งหมด และ ๔.ข้อจำกัดหน่วยงานที่แนวเส้นทางมอเตอร์เวย์ผ่าน เช่น กรมชลประทาน ต้องสร้างสะพานข้ามคลองชลประทานเพิ่ม ตอนออกแบบไว้มีความสูงจากระดับผิวน้ำ ๓ เมตร เมื่อลงพื้นที่ก่อสร้างจริงต้องเพิ่มความสูงเป็น ๔ เมตร ทั้งนี้ ในการเอาผิดผู้เกี่ยวข้องที่ทำงานพลาดหรือไม่นั้นขอให้การตรวจสอบข้อเท็จจริงเสร็จสิ้นก่อน
รายงานข่าวแจ้งว่า สำนักสำรวจและออกแบบ ทล.ได้ว่าจ้างเอกชน ๒ กลุ่มสำรวจและออกแบบก่อสร้างโครงการนี้รวม ๗๐ ล้านบาทคือ ๑.กลุ่มบริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์จำกัด บริษัท วิศวกรรมธรณีและฐานราก จำกัด และบริษัท ดาวฤกษ์ คอมมูนิเคชั่นส์ จำกัด ช่วงบางปะอิน-ปากช่อง วงเงิน ๓๕ ล้านบาท และ ๒.กลุ่มบริษัทเอ็ม เอ เอ คอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัทเทสโก จำกัด ช่วงปากช่อง-นครราชสีมา วงเงิน ๓๕ ล้านบาท
แฟนเพจเฟซบุ๊ก “ข่าวนวัตกรรมขนส่ง เดลินิวส์” ระบุท้ายสุดว่า “นายศักดิ์สยาม เคยประกาศไว้ตอนที่เข้ามารับตำแหน่งรมว. คมนาคมเมื่อเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๒ ว่าในช่วงรับตำแหน่งจะไม่มีค่าโง่เกิดขึ้นเด็ดขาด”
ล่าสุด เมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๖๓ เวลา ๑๕.๔๕ น. “โคราชคนอีสาน” ติดต่อสัมภาษณ์์นายพรชัย ศิลารมย์ รองผู้อำนวยการสำนักก่อสร้างสะพาน กรมทางหลวง อดีตผู้อำนวยการแขวงทางหลวงนครราชสีมาที่ ๒ ซึ่งเปิดเผยว่า “ในการปรับแบบมอเตอร์เวย์ ไม่ใช่ว่ากรมทางหลวงทำแล้วอยากจะปรับแบบกันเอง ซึ่งทุกตอนมีที่มาที่ไป ที่แตกต่างกัน เช่น บางตอนก็เป็นเรื่องประชาชนร้องเรียน บางตอนก็เป็นเรื่องมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม ในส่วนของ ๔ สาเหตุหลัก เช่น สภาพหน้างานไม่ตรงกับที่ออกแบบไว้เมื่อ ๑๐ ปีที่แล้ว แต่ถ้าถามว่าแต่ละตัวเปลี่ยนไปอย่างไร ตรงนี้เป็นเรื่องของรายละเอียด และเมื่อก่อสร้างเรียบร้อยแล้วส่งผลกระทบต่อหน่วยงานข้างเคียง เรื่องนี้ก็มีรายละเอียดอีกว่า ส่งผลกระทบต่อใคร ซึ่งปัญหาเหล่านี้เป็น ๔ กลุ่มหลัก โดยแต่ละกลุ่มก็มีปัญหาหลายเรื่องหลายตอน สำหรับพื้นที่ที่เกิดปัญหามากที่สุดคาดว่า จะเป็นบริเวณแถวจังหวัดอยุธยาและสระบุรี แต่ไม่แน่ใจว่าเป็นตอนใดของโครงการ”
นายจิระพงศ์ เทพพิทักษ์ ผู้อำนวยการสำนักทางหลวงที่ ๑๐ นครราชสีมา เปิดเผยว่า “เรื่องการปรับแบบที่ผมทราบ เป็นเพราะแบบที่ทำนั้นออกแบบไว้นานแล้ว เมื่อมาหน้างานจริงก็พบว่า สภาพหน้างานเปลี่ยนไป เช่น ชาวบ้านบางรายซึ่งเป็นเจ้าของที่ดิน เมื่อทราบว่าโครงการจะผ่านมาก็ขุดดินไปขาย ทำให้เกิดหลุมลึก ซึ่งทำให้สภาพหน้างานจริงไม่ตรงกับที่ออกแบบไว้ จึงต้องกลับมาทบทวนปรับแบบเรื่องโครงสร้างใหม่”
เมื่อถามว่า “มีความเป็นไปได้หรือไม่ ที่จะเปิดทดลองใช้งานมอเตอร์เวย์ช่วงลำตะคอง” นายจิระพงศ์ เทพพิทักษ์ ตอบว่า “ขณะนี้มีแต่ข่าวออกมา แต่ยังไม่มีความชัดเจน เพราะว่า มอเตอร์เวย์เมื่อกรมทางหลวงสร้างเป็นโครงสร้างเสร็จแล้ว จะต้องมีผู้รับจ้างเข้ามาดูแลต่อ เป็นสัญญา PPP คือ เขารับเก็บเงิน และต้องดูแลสภาพถนน แต่ถ้าเปิดให้ทดลองใช้งาน สภาพถนนก็ผ่านการใช้งานแล้ว แต่ในสัญญาระบุไว้ว่า จะต้องเปิดถนนใหม่ให้เขา ถ้าเปิดให้ทดลองวิ่งก็จะขัดกับสัญญา แล้วจะไปชดเชยเขาอย่างไร เหมือนเขาต้องมาดูแลของที่ผ่านการใช้งานไปแล้ว ประชาชนก็ต้องการให้เปิดใช้งานถนนช่วงลำตะคอง แต่ถนนบางตอนก็ยังไม่แล้วเสร็จ เป็นจุดที่ประชาชนไม่ทราบ จึงยังไม่สามารถเปิดให้ทดลองใช้ได้ ส่วนการเปิดเป็นทางการ ขณะนี้ยังยืนยันว่า เป็นช่วงต้นปี ๒๕๖๖ แต่ความชัดเจนก็ต้องรอเรื่องการปรับแบบว่า จะมีการอนุมัติและแก้ไขปรับแบบได้เมื่อใด ดังนั้น การเปิดใช้งานจริง ณ วันนี้ยังเป็นต้นปี ๒๕๖๖”
นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๖ ฉบับที่ ๒๖๕๖ วันพุธที่ ๙ - วันอังคารที่ ๑๕ เดือนธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๓
103 1,674