December 19,2020
พัฒนา ๑๗ คูเมืองโคราช พลิกสู่‘สวนป่าในเมือง’ คาด ๒-๓ ปีเริ่มเห็นรูปร่าง
ศึกษาแผนแม่บทพัฒนาสวนริมคูเมืองทั้ง ๑๗ ลูก เสนอแนวคิดใช้ประโยชน์พื้นที่ ๖ กลุ่ม สร้างพื้นที่ลานวัฒนธรรม พื้นที่ป่าแห่งการเรียนรู้ พื้นที่ป่าในเมือง ลานกิจกรรมหลังบ้าน พื้นที่เพื่อกิจกรรมนิเวศเมือง เชื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจ และยกระดับคุณภาพชีวิตคนเมือง
สืบเนื่องจากเมื่อปี ๒๕๖๑ เทศบาลนครนครราชสีมา ลงนามความร่วมมือกับคณะสถาปัตยกรรมและผังเมือง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (มทร.อีสาน) เพื่อออกแบบโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์รอบคูเมือง โดยมี ผศ.ดร.นิคม บุญญานุสิทธิ์ คณบดี คณะศิลปกรรมและออกแบบอุตสาหกรรม มทร.อีสาน นำทีมศึกษาและออกแบบเรื่อยมานั้น
ต่อมา เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๖๓ เวลา ๑๓.๓๒ น. ผศ.ดร.นิคม บุญญานุสิทธ์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ด้วยภาพที่ระบุเนื้อหาเกี่ยวกับโครงการแผนและผังบทการพัฒนาพื้นที่สวนริมคูเมือง เมืองเก่านครราชสีมา โดยมีแนวคิดและรายละเอียด ดังนี้ การใช้ประโยชน์พื้นที่ แบ่งพื้นที่ออกเป็น ๖ กลุ่มย่อยที่มีการใช้ประโยชน์แตกต่างกันออกไปตามบริบทเดิมของพื้นที่ ดังนี้ ๑.ลานวัฒนธรรม (Cultural Park) ได้แก่ บริเวณคูเมืองปลัดเมืองเกรียงไกร คูเมืองพิชัยชุมพล ต่อเนื่องมาถึงคูเมืองสัมฤทธิ์รณอริพ่าย บริเวณนี้มีการใช้ประโยชน์เป็นลานสาธารณะ โดยมีลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีเป็นจุดสําคัญ มีผู้ใช้งานพื้นที่ตลอดเวลาทั้งในช่วงกลางวันและกลางคืน กิจกรรมในพื้นที่มีความหลากหลายทั้งการสักการะอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี โดยคนในพื้นที่และผู้มาเยือนจากต่างถิ่นต่อเนื่องกันทั้งวันตลอด ๒๔ ชั่วโมง กิจกรรมชั่วคราวทั้งหลายหน่วยงาน และองค์กรเอกชน ขอใช้พื้นที่ผ่านเทศบาลนครนครราชสีมา หมุนเวียนกันจัดกิจกรรมตามแต่ละช่วงเวลาต่อเนื่องกันตลอดทั้งปี ดังนั้น ในบริเวณนี้จึงควรจัดภูมิทัศน์ในรูปแบบของการเป็นลานวัฒนธรรม ในลักษณะของการสอดแทรกความรู้เกี่ยวกับบุคคลสําคัญและประวัติศาสตร์ที่เป็นความภาคภูมิใจของชาวนครราชสีมา พร้อมทั้งควรมีมาตรการในการจัดการกิจกรรมในพื้นที่เพื่อให้เกิดความสะอาดและเป็นระเบียบ
๒.พื้นที่ป่าแห่งการเรียนรู้ (Knowledge Jungle) คือบริเวณคูเมืองนารายณ์รังสฤษดิ์ คูเมืองมหิศราธิบดี คูเมืองเศวตหัตถีคู่แดน เนื่องจากบริเวณเหล่านี้อยู่ตรงข้ามกับพื้นที่สถานศึกษา การใช้ประโยชน์เดิมในพื้นที่ประกอบไปด้วยอาคารศูนย์การเรียนรู้ Art Gallery และห้องสมุดประชาชน มีการใช้งานพื้นที่อย่างหนาแน่นโดยเฉพาะในช่วงเช้าและเย็นของแต่ละวัน เพื่อให้สอดคล้องกับประโยชน์ใช้สอยเดิม จึงออกแบบภูมิทัศน์เป็นพื้นที่เพื่อการเรียนรู้พืชพรรณ ไม้พื้นดิน สวนสมุนไพร เพื่อสนับสนุนกิจกรรมเดิมให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
๓.พื้นที่ป่าในเมือง (Urban Forest) บริเวณคูเมืองพลแสนฮึกหาญและคูเมืองอีสานชาญชัย ต่อเนื่องไปถึงคูเมืองชูไท ศาลาลอย บริเวณนี้มีไม้ยืนต้นดั้งเดิมเป็นจํานวนมากกว่าคูเมืองอื่นทั้งหมด ความหนาแน่นของไม้ยืนต้นเหล่านี้เมื่อมองจากถนนด้านนอกเมืองเก่านครราชสีมาจะมีลักษณะของการเป็นป่าในเมืองอย่างชัดเจน แต่การจัดภูมิทัศน์ในระดับพื้นดินยังมีลักษณะของการใช้พืชพรรณตกแต่งพุ่มและรูปทรงที่เป็นลักษณะของสวนประดิษฐ์ จึงควรมีการเปลี่ยนแปลงให้เป็นการจัดภูมิทัศน์ระดับพื้นดินให้เป็นแบบสวนธรรมชาติ เพื่อส่งเสริมอัตลักษณ์ความเป็นป่าในเมืองของพื้นที่ให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
๔.ลานกิจกรรมหลังบ้าน (Digital Backyard) ได้แก่ บริเวณคูเมืองพลล้านต้านปัจจา บูรพารวมพล พหลไกรเกริกหาญ และชลธารเทพสถิตย์ อยู่ทางทิศตะวันออกของเมืองเก่านครราชสีมา สภาพปัจจุบันเป็นอาคารพักอาศัย อาคารสํานักงานของหน่วยงานราชการเดิมยังไม่มีการย้ายออกจากพื้นที่ จึงเสนอแนะให้มีการรื้อและเปลี่ยนประโยชน์ใช้สอยของอาคารบางส่วน และจัดทําเป็นลานเพื่อการสันทนาการของคนท้องถิ่น ให้ต่อเนื่องกับพื้นที่ตลาดกลางคืนข้างวัดบูรพ์ เป็นเหมือนพื้นที่หลังบ้านของเมืองเมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่ด้านทิศตะวันตกคือลานวัฒนธรรมที่เป็นหน้าบ้านสำหรับต้อนรับผู้ที่มาจากต่างถิ่น โดยพื้นที่บริเวณนี้จะถูกออกแบบภูมิทัศน์ให้ส่งเสริมการเป็นแหล่งรวมตัวกันของวัยรุ่นในพื้นที่ สําหรับกิจกรรมการออกกําลังกาย การส่งเสริมความรู้ด้านดิจิทัลและประวัติศาสตร์เมืองเก่านครราชสีมา
๕.พื้นที่เพื่อกิจกรรมนิเวศเมือง (Korat Eco-Frontier) บริเวณคูเมืองนิรมิตชลเขตและคูเมืองสาคเรศบุรีรักษ์ จะปรับเปลี่ยนเป็นพื้นที่เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และกิจกรรมนิเวศเมือง มีการออกแบบภูมิทัศน์สนับสนุนการจัดทําสวนครัวคนเมือง ลานพักผ่อน และสันทนาการสนามเด็กเล่นในบริเวณสวนสาธารณะเดิม รื้อย้ายอาคารบางส่วนออกไป และเปลี่ยนประโยชน์ใช้สอยอาคารเดิมเป็นอาคารกิจกรรมสนับสนุนการเรียนรู้ระบบนิเวศสําหรับชุมชนที่อยู่ใกล้เคียง
๖.พื้นที่สวนเพื่อการเชื่อมต่อ (The Garden Seen) บริเวณคูเมืองพิทักษ์สีมารัฐ เป็นพื้นที่อาคารชุดพักอาศัยของ ข้าราชการตํารวจภูธรภาค ๓ เสนอแนะให้มีการสร้างทางเดินเชื่อมต่อกันในระหว่างพื้นที่ริมคูเมืองตลอดแนว และมีการเปิดที่ว่างด้านตรงกับสระแก้วให้สามารถมองเห็นสระแก้วได้จากด้านฝั่งคูเมือง ส่วนบริเวณคูเมืองยกกระบัติลือเลื่องที่ปัจจุบันเป็นอาคารสํานักงานของส่วนราชการ เสนอแนะให้ทําทางเดินเท้าด้านหลังอาคารทั้งหมดเพื่อการเชื่อมต่อกิจกรรมและสร้างความต่อเนื่องกับทางเท้าจากพื้นที่บริเวณด้านข้างคูเมืองพิทักษ์สีมารัฐ
ทั้งนี้ ยังมีการระบุถึงแนวคิดการใช้ประโยชน์อาคารเดิม ที่ว่างและลานสาธารณะ ลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี พืชพรรณ ทางเดินเท้าและทางจักรยาน ทางร่วมและทางข้าม การจัดการน้ำผิวดิน ระบบไฟฟ้าส่องสว่าง การส่งเสริมกิจกรรมอาหารสมัครเมือง รวมทั้งกิจกรรมและงานศิลปะประดับพื้นที่ ด้วย
พัฒนาคูเมืองโคราช
ล่าสุดเมื่อวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๖๓ เวลา ๑๕.๓๐ น. “โคราชคนอีสาน” ติดต่อ ผศ.ดร.นิคม บุญญานุสิทธ์ คณบดี คณะศิลปกรรมและการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (มทร.อีสาน) เพื่อสัมภาษณ์รายละเอียดกรณีการศึกษาโครงการแผนและผังบทการพัฒนาพื้นที่สวนริมคูเมือง เมืองเก่านครราชสีมา ซึ่งเปิดเผยว่า “โครงการนี้เป็นงานต่อเนื่องจากปี ๒๕๖๐ ตามที่คณะรัฐมนตรีประกาศให้เขตคูเมืองและในเมืองโคราชเป็นเมืองเก่าของประเทศไทย เมื่อมีการรับรองว่า เป็นเมืองเก่า จึงต้องมีแผนการพัฒนาพื้นที่ ทำให้เกิดการศึกษาแผนแม่บทพัฒนาพื้นที่ขึ้นมา ซึ่งศึกษามากระทั่งปี ๒๕๖๒ ในแผนแม่บทก็มีการระบุให้ทำหลายเรื่อง ซึ่งการปรับปรุงคูเมืองก็เป็นโปรเจ็กต์ย่อยตัวหนึ่งที่ระบุไว้ เทศบาลนครนครราชสีมา จึงให้ มทร.อีสาน ดำเนินการศึกษาต่อจากแผนแม่บทฉบับใหญ่ของทั้งเมือง โดยทำเป็นข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ โดยงบการศึกษาจะรวมถึงการออกแบบก่อสร้างด้วย รวมแล้วประมาณ ๔ ล้านบาท”
ที่มาของโครงการ
“หลังจากที่รับงานมาจากเทศบาลฯ มทร.อีสานก็ได้รวบรวมข้อมูลที่มาที่ไปของพื้นที่ และเนื่องจากเป็นสถานศึกษาในพื้นที่ก็ทราบข้อมูลอยู่บ้างแล้ว จากนั้นจึงสำรวจข้อมูลและหารือกันในกลุ่มที่ปรึกษาว่า พื้นที่สวนรอบคูเมืองเกิดขึ้นจากการรื้อกำแพงเมืองเก่า ซึ่งหลังจากการรื้อกำแพงเมืองมาถึงปัจจุบัน พบว่าเป็นการตีความว่า พื้นที่ตรงนั้นควรจะเป็นสวน โดยเริ่มจากเมื่อปี ๒๔๗๕ สมัยเปลี่ยนแปลงการปกครอง และปี ๒๔๗๖ เกิดกบฏบวรเดช ซึ่งกบฏบวรเดชแพ้ จึงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองโคราช มีการนำการพัฒนาเมืองใหม่เข้ามาในโคราช โดยเริ่มจากการมีตลาดเทศบาล ๑ และสวนรักษ์ เมื่อเป็นเช่นนี้ ทางกรุงเทพมหานครจึงส่งส่วนราชการมาเพื่อควบคุมโคราชไว้ จึงต้องมีสถานที่ราชการที่อยู่ใกล้ศาลากลาง จึงทำให้เกิดการรื้อกำแพงเมืองเก่าและสร้างเป็นสถานที่ราชการขึ้นมาแทน ต่อมาเมืองโคราชเจริญขึ้น ที่ดินภายนอกเมืองเกิดการพัฒนา ทำให้สถานที่ราชการบางส่วนไปได้ที่ดินใหม่นอกเมือง และต้องส่งคืนอาคารเก่า เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นสมัยนายโยธิน เมธชนัน เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดฯ ซึ่งมีนโยบายเกี่ยวกับพื้นที่สีเขียวและการอนุรักษ์ โดยมีเป้าหมายว่า จะทำพื้นที่รอบคูเมืองทั้งหมดให้กลายเป็นสวน มีการทำ MOU กันระหว่างหน่วยงานราชการในจังหวัดว่า เมื่อหน่วยงานใดหาพื้นที่นอกเมืองได้ ก็จะมีการคืนพื้นที่ให้กับทางราชการ ซึ่งหน่วยงานที่ดูแลพื้นที่คือ เทศบาลฯ จากนั้นก็มีการรื้อตลาดประตูน้ำ และทำเป็นสวนขึ้นมา”
สร้างป่าในเมือง
ผศ.ดร.นิคม เปิดเผยอีกว่า “เนื่องจากยุคนั้นมีการตีความว่า ต้องการให้พื้นที่รอบคูเมืองเป็นสวน จึงคิดไปในแง่ที่ว่า จะต้องเป็นสวนสวย มีทางเดินสะดวก ในยุคต่อมา สมัย รศ.เชิดชัย โชครัตนชัย เป็นนายกเทศมนตรีฯ จึงเพิ่มไฟกะพริบเข้าไปให้ดูสวยงาม เมื่อมีการสืบสาวเรื่องราวเช่นนี้ มาถึงปัจจุบันสมัยนายสุรวุฒิ เชิดชัย เป็นนายกเทศมนตรีฯ จะพบว่า สิ่งที่ รศ.เชิดชัยฯ ทำไว้ทรุดโทรมหมด ไม่มีการดูแล ทีมผู้ศึกษาจึงตั้งคำถามว่า ทำไมไม่มีการดูแล และพบว่า สิ่งที่ทำขึ้นมานั้น ใช้งบประมาณจำนวนมาก เทศบาลฯ ยุคปัจจุบันจึงไม่สามารถตั้งงบประมาณไปดูแลในส่วนนี้ได้ ทีมผู้ศึกษาจึงเสนอความคิดว่า ที่ผ่านมาเราไปตีความว่า ต้องเป็นสวน ทั้งที่จริงๆ แล้วควรใช้คำว่า ป่าในเมือง ต้นไม้ที่ปลูกไป ควรจะปลูกในลักษณะว่า ปลูกแล้วให้โตตามธรรมชาติ ไม่ต้องเสียเวลาไปตัดแต่ง แต่ที่ทำคือ ปลูกต้นไม้เป็นพุ่ม จะต้องมีคนคอยดูแลและตัดแต่ง เมื่อไม่มีงบดูแลไม่มีการตัดแต่ง ก็ทำให้ดูรกและไม่สวย ดังนั้นควรจะทำเป็นป่าในเมือง ซึ่งที่ต่างประเทศก็มีการทำเช่นนี้อยู่มาก”
“คำว่า ป่าในเมือง เป็นคำใหญ่ ซึ่งมีคำย่อยว่า Local Impact Development เป็นการพัฒนาแบบกระบะต้นไม้ ทำหน้าที่ในเชิงวิศวกรรม ช่วยในการเก็บน้ำผิวดิน ซึ่งปัญหาของเมืองเก่าโคราช คือ เมื่อฝนตกแล้วทำให้มีปริมาณน้ำขังจำนวนมาก เนื่องจากตัวระบายน้ำรับไม่ไหว จึงมีแนวคิดที่จะพัฒนาคูเมืองด้วยการใส่กระบะต้นไม้นี้เข้าไปด้วย ให้กลายเป็นพื้นที่กักเก็บน้ำใต้ดิน อีกทั้งจะมีการสร้างกลุ่มชุมชนต่างๆ ให้เป็นจิตอาสา มีพื้นที่สวนครัวในเมือง สามารถปลูกพืชต่างๆ โดยเฉพาะพืชสมุนไพร โดยนำมาปลูกแทรกตามต้นไม้ขนาดใหญ่ นี่คือแนวทางหลักๆ” ผศ.ดร.นิคม กล่าว
ปรับลานย่าโมทำยาก
ผศ.ดร.นิคม กล่าวท้ายสุดว่า “ในส่วนของพื้นที่ลานย่าโม ซึ่งได้นำเสนอรวมไปด้วย เนื่องจากจะทำการพัฒนาแบบฉับพลันไม่ได้ เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องหลายส่วน และบริเวณลานย่าโมมีกิจกรรมที่ค่อนข้างจะซับซ้อน ทั้งกิจกรรมการออกกำลังกาย แก้บน และกิจกรรมทางการเมือง ดังนั้นในข้อเสนอคือว่า ในเบื้องต้นของการพัฒนา จะต้องค่อยๆ แทรกพื้นที่สีเขียวเข้าไป ทำเป็นกระถางต้นไม้ขนาดใหญ่ อย่างที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลโคราชทำตามทางเดินออกกำลังกาย ซึ่งต้องทำแทรกๆ ไปก่อนตามผิวหน้าเดิม จากนั้นก็ค่อยๆ เพิ่มสีเขียวเข้าไปตามพื้น และเมื่อทำได้แล้ว ก็ค่อยกลับมาคุยเรื่องการเปลี่ยนผิวหน้าทั้งหมด ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องใหญ่ เพราะเกี่ยวข้องกับหลายส่วน”
๓ ปีเป็นรูปเป็นร่าง
เมื่อถามว่า “โครงการนี้มีความเป็นไปได้เพียงใด” ซึ่ง ผศ.ดร.นิคม ตอบว่า ตามรูปแบบในแผนพัฒนา ซึ่งในแต่ละคูเมืองจะไม่มีความเปลี่ยนแปลงของเดิมนัก เนื่องจากติดเงื่อนไขที่ว่า หากขุดดินลงไปมากกว่า ๕๐ เซนติเมตร จะต้องให้กรมศิลปากรเป็นผู้อนุญาต แต่ในกระบวนการก็จะต้องมีการชี้แจงต่อกรมศิลปากรด้วยว่า จะเป็นอย่างไร มีการทำลายของเก่าหรือไม่ ซึ่งโครงการนี้น่าจะเป็นโครงการหนึ่งที่จะแสดงให้เห็นว่า ไม่ได้มุ่งหวังที่จะพัฒนาทางกายภาพอย่างเดียว แต่เมื่อทำออกมาแล้ว จะทำให้เกิดการพัฒนาในด้านอื่นๆ ของเมืองด้วย ทำให้เกิดระบบเศรษฐกิจตามมา และทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น ในการเชื่อมสวนทั้งหมดรอบคูเมืองให้คนสามารถเดินต่อกันได้ ออกกำลังกายได้ นั่นคือการทำให้คุณภาพชีวิตของคนดีขึ้น และในการมองอีกมุมว่า ทำไมต้องไปปลูกต้นไม้ที่มีราคาแพง และเสียงบประมาณในการรักษา หากหันมาปลูกไม้สมุนไพร และมีการดูแลโดยชุมชน ชุมชนก็ได้รับประโยชน์จากต้นไม้ด้วย แนวคิดนี้น่าจะเป็นสิ่งที่ดีกว่า โดยผมได้จัดทำแฟนเพจ ‘เรารักษ์คูเมือง’ ขึ้นมา เพื่อต้องการความคิดเห็นจากหลายๆ ส่วน เพื่อให้การพัฒนากว้างขวางขึ้น รวมทั้งเป็นการเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการศึกษาไปในตัวด้วย ทั้งนี้ ภายในสิ้นปีนี้ผมจะต้องส่งผลการศึกษาแล้ว จากนั้นโครงการก็คงจะเริ่มดำเนินการ เนื่องจากตรงกับงานมหกรรมศิลปะนานาชาติ (Thailand Biennale Korat 2021) ซึ่งมีพื้นที่ส่วนหนึ่งที่งานนี้มาจัดแสดงด้วย ก็คงไม่นานมาก ประมาณ ๒-๓ ปี คงได้เห็นรูปร่าง”
อนึ่ง คูเมืองโคราชมีทั้งหมด ๑๗ ลูก และให้ประชาชนร่วมส่งชื่อเข้าประกวด โดยคณะเทศมนตรีชุดบริหาร พ.ศ.๒๕๒๖ ร่วมกับอาจารย์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา นำชื่อที่เข้าอันดับมาไล่เรียงให้คล้องจองกัน โดยยึดถือความสอดคล้องทางประวัติศาสตร์โคราชและเกี่ยวกับท้าวสุรนารี (คุณย่าโม) ซึ่งแต่ละคูมีชื่อที่คล้องจองกัน ดังนี้ ๑.นารายณ์รังสฤษดิ์ ๒.มหิศราธิบดี ๓.เศวตหัตถีคู่แดน ๔.พลแสนฮึกหาญ ๕.อีสานชาญชัย ๖.ชูไทเทิดหล้าน ๗.พลล้านต้านปัญจา ๘.บูรพารวมพล ๙.พหลไกรเกริกหาญ ๑๐.ชลธารเทพสถิต ๑๑.นิรมิตชลเขต ๑๒.สาครเรศบุรารักษ์ ๑๓.พิทักษ์สีมารัฐ ๑๔.ยกกระบัตรลือเลื่อง ๑๕.ปลัดเมืองเกรียงไกร ๑๖.พิชัยชุมพล และ ๑๗.สัมฤทธิ์รณอริพ่าย
นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๖ ฉบับที่ ๒๖๕๘ วันพุธที่ ๑๖ - วันอังคารที่ ๒๒ เดือนธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๓
152 2,073