29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

December 30,2020

‘สกายวอล์ค-กระเช้าลอยฟ้า’ ‘วิเชียร’มั่นใจต้องทำได้ เตือนหารือนักอนุรักษ์

เตรียมสร้างจุดชมวิวใหม่ ‘สกายวอล์คลำตะคอง’ พร้อมกระเช้าลอยฟ้าข้ามลำตะคองไปเขาพริก “ผู้ว่าวิเชียร” มั่นใจทำได้ อ้างโรงไฟฟ้ากังหันลมยังสร้างได้ ด้านนักอนุรักษ์ชี้ถ้าเป็นผลประโยชน์ด้านการท่องเที่ยวก็ไม่คัดค้าน “หัสดิน” หวั่นขาดทุน เสนอทำให้น่าสนใจ  มีกิจกรรมรองรับ ลดผลกระทบภายหลัง

ตามที่นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา จัดประชุมคณะกรรมการพิจารณารูปแบบความเหมาะสมและความเป็นไปได้ในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๖๓ โดยเบื้องต้นจะก่อสร้างเป็นจุดชมวิวแห่งใหม่ในรูปแบบกระเช้าลอยฟ้าหรือสกายวอล์คลำตะคอง และกระเช้าลอยฟ้า บริเวณโรงไฟฟ้าละคองชลภาวัฒนา ข้ามอ่างเก็บน้ำลำตะคองไปฝั่งบริเวณเขาพริก อำเภอสีคิ้ว หรือบริเวณใกล้เคียง ซึ่งที่ประชุมมีมติแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณารูปแบบความเหมาะสม และความเป็นไปได้ในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัดนครราชสีมา ประกอบด้วย ๑.ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานกรรมการ ๒.รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาที่ได้รับมอบหมาย เป็นรองประธานกรรมการ ๓.หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการและหัวหน้าส่วนจังหวัดนครราชสีมา เป็นเลขานุการ

ในการประชุมครั้งนี้ นายประสิทธิ์ ศรีภิรมย์ โยธาธิการผังเมืองจังหวัดนครราชสีมา และ ผศ.ดร.ประเทือง จินตสกุล ผู้อำนวยการอุทยานธรณีโคราช นำเสนอความเป็นไปได้ของการก่อสร้าง โดยให้มีการเชื่อมจุดชมวิวในรูปแบบกระเช้าลอยฟ้าตั้งแต่บริเวณโรงไฟฟ้าพลังน้ำลำตะคอง สวนสุรนารี คลองขนานจิต และจุดภูแสนดาว ทั้งนี้ นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา จึงมอบหมายให้ นายประสิทธิ์ ศรีภิรมย์ โยธาธิการผังเมืองจังหวัดนครราชสีมา จัดตั้งคณะทำงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง ส่วนราชการ ภาคเอกชน ลงพื้นที่สำรวจ และนำข้อเสนอแนะ ข้อคิดเห็นของคณะกรรมการ และผู้เข้าร่วมประชุม เพื่อพิจารณาและออกแบบการก่อสร้างที่มีความเป็นไปได้ มานำเสนอในที่ประชุมครั้งต่อไป

มั่นใจสร้างได้แน่

ล่าสุด นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยกับ “โคราชคนอีสาน” ว่า “ขณะนี้กำลังเริ่มศึกษาความเป็นไปได้ ในเบื้องต้นจะต้องหาให้ได้ก่อนว่า คนโคราชต้องการหรือไม่ ซึ่งจากการประชุมที่ผ่านมา ที่ประชุมมีความต้องการ จากนั้นต้องมองหาจุดที่จะสร้างมีอะไรบ้าง จะสร้างอะไร และมีปัญหาอะไร โดยเบื้องต้นต้องการสร้างเป็นกระเช้าลอยฟ้าและสกายวอล์คข้ามไปคลองขนานจิตร ก็ต้องมาดูอีกว่าจะสร้างเริ่มต้นที่จุดใด จะเป็นผาเขายายเที่ยงหรือโรงไฟฟ้าฯ สำหรับปัญหาอุปสรรค คือ สร้างแล้วติดขัดข้อกฎหมายเรื่องใดบ้าง ก็จะต้องมาขออนุญาตตามขั้นตอนต่อไป ซึ่งหลังจากนี้จะเริ่มออกแบบเบื้องต้น เพื่อนำไปเสนอกับที่ประชุมจังหวัด หากทุกคนเห็นด้วยก็จะเริ่มศึกษาออกแบบรายละเอียด และตั้งงบประมาณในการก่อสร้าง โดยงบประมาณที่วางไว้เป็นของยุทธศาสตร์จังหวัดและงบประมาณของสำนักงานท่องเที่ยวและกีฬา แต่ปัญหาคือ การก่อสร้างนี้จะต้องขออนุญาต เนื่องจากลำตะคองเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1A แต่ผมคิดว่า คงจะไม่มีปัญหามากนัก เพราะกรมป่าไม้ฯ ยังอนุญาตให้การไฟฟ้าฯ ขึ้นไปทำโรงไฟฟ้าและติดตั้งกังหันลม โดยงานทั้งหมดจะมอบให้สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดฯ เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก พร้อมกับให้ไปมองหาจุดสร้างจริงและออกแบบมานำเสนอต่อไป”

นักอนุรักษ์ขอร่วมออกแบบ

นายวิชชุ ชุปวา ประธานกลุ่มรักษ์ลำตะคอง เปิดเผยกับ “โคราชคนอีสาน” ว่า “การสร้างสกายวอล์คและกระเช้าลอยฟ้า ถ้าพูดกันในฐานะนักอนุรักษ์ธรรมชาติผมก็ไม่เห็นด้วย แต่ถ้าเรื่องนี้ไปเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ทำเพื่อดึงเงินเข้ามาในจังหวัด ผมก็คงไม่ไปคัดค้านอะไร เพราะถือว่าเป็นสิ่งที่ดี ยิ่งช่วงนี้มีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ ยิ่งควรทำเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจชุมชน อย่างไรก็ตาม ต้องคำนึงถึงธรรมชาติ อย่าทำให้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญควรขออนุญาตหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องก่อน จุดไหนทำได้หรือทำไม่ได้จะได้ทราบ และขอฝากไว้ว่า หากมีการพูดคุยหารือกัน ต้องการให้เชิญชวนนักอนุรักษ์ธรรมชาติกลุ่มต่างๆ ไปร่วมหารือด้วย ซึ่งที่ลำตะคองหรือเขาใหญ่มีนักอนุรักษ์หลายกลุ่ม เพื่อร่วมกันออกแบบและลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด จะได้ไม่มีปัญหาตามมาในภายหลัง”

ต้องสร้างกิจกรรมรองรับ

ด้าน นายหัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฏ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยกับ “โคราชคนอีสาน” ว่า สำหรับเรื่องสกายวอล์ค จะแบ่งเป็น ๒ กรณี คือ จะสร้างเป็นสกายวอล์คหรือกระเช้าลอยฟ้า ผู้ว่าฯ จึงให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษาถึงความเป็นไปได้ ถือเป็นสิ่งที่ดี เป็นความจำเป็นที่ต้องสร้าง ผมคิดว่า ต้องสร้างหลายๆ จุด แต่กรณีของลำตะคองต้องดูเรื่องความคุ้มค่า หากเป็นสกายวอล์คสร้างบริเวณเขายายเที่ยง ความสูงอาจจะไม่พอ ดูไม่แปลกตา แต่ถ้าหาจุดที่ทำให้สกายวอล์คเดินออกไปในน้ำได้ก็เห็นด้วย แต่การบำรุงรักษา ต้องมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแล เพราะถ้าสกายวอล์คเป็นกระจกก็จำเป็นต้องใส่รองเท้าพิเศษ เพื่อป้องกันรอยและให้กระจกใสอยู่ตลอด ผมเคยไปในหลายที่กระจกขุ่นไปหมด เป็นรอยแมว ไม่สวยงาม และจะเกิดความตื่นเต้นก็ต่อเมื่อออกแบบและให้กระจกเป็นแผ่นใหญ่ เพื่อให้เดินแล้วมีความหวาดเสียว”

“ส่วนกระเช้าลอยฟ้าจากเขายายเที่ยงไปยังเขาพริก ผมมองว่า สร้างแล้วต้องเกิดความคุ้มค่าเหมือนที่ฮ่องกง บริเวณเขาพริกอาจจะต้องสร้างเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ เพื่อให้นักท่องเที่ยวยอมเดินทางไปฝั่งนู้น ถ้าหากสร้างกระเช้าลอยฟ้าแล้วไม่มีกิจกรรมรองรับก็จะทำให้เดินทางไปเวลาสั้นๆ ทำให้ไม่เกิดความยั่งยืน คล้ายกับนองปิง ฮ่องกง ต้องสร้างเป็นสถานที่รองรับ สร้างบ้านเรือนไทย บ้านโบราณ หรือชุมชนเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว เป็นสิ่งที่เห็นด้วย แต่จะคุ้มค่าหรือไม่ เพราะกระเช้ามีระยะทางไกลพอสมควร และจุดที่สร้างจะเริ่มจากถนนมิตรภาพหรือบริเวณเขายายเที่ยง ซึ่งหากเป็นเขายายเที่ยงก็จะต้องเดินทางขึ้นไปอีก ก็ไม่รู้ว่านักท่องเที่ยวจะสนใจหรือไม่”

“สิ่งที่ผมต้องการเสนอคือ ทำสัญลักษณ์อะไรสักอย่างที่ลอยอยู่ในน้ำ เช่นแมวสีสวาดตัวใหญ่ ที่คล้ายกับเป็ดลอยน้ำที่หนองประจักษ์ จังหวัดอุดรธานี เพื่อให้เป็นจุดเช็คอิน ค่าใช้จ่ายไม่ได้สูงมาก ใครที่ผ่านมาลำตะคองสามารถถ่ายภาพ สร้างจุดถ่ายรูปและของฝากที่สร้างได้บริเวณถนนมิตรภาพ หรือการจัดทำป้ายยินดีต้อนรับใหญ่ๆ ฝั่งเขาพริกเพื่อเพิ่มจุดถ่ายภาพได้ แต่การสร้างกระเช้าลอยฟ้าต้องดูความคุ้มค่าด้วย ต้องมองว่าเมื่อเดินทางมาแล้วจะข้ามไปฝั่งเขาพริกทำไม ซึ่งแค่ข้ามแล้วกลับมาอาจจะไม่เห็นอะไร เหมือนกับว่าไปลอยอยู่บนอ่างเก็บน้ำเฉยๆ เห็นแต่น้ำ แต่ไม่มีสิ่งที่น่าสนใจในระยะยาว กลัวทำขึ้นมาแล้วจะขาดทุน แต่ถ้าต้องการทำสถานที่ท่องเที่ยวโดยไม่หวังกำไรการลงทุนจะคุ้มค่าหรือไม่ ซึ่งนอกจากจุดลำตะคองแล้ว ต้องการให้เพิ่มในจุดต่างๆ ด้วย เพื่อกระจายรายได้ให้กับชุมชนต่างๆ” นายหัสดิน กล่าว

ยังไม่คุ้มค่า

เมื่อถามว่า “มีความคิดเห็นอย่างไรกับโครงการนี้” นายหัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฏ ตอบว่า “ยังไม่คุ้มค่านัก แต่ต้องลองศึกษาดูว่า จะทำขนาดไหน ทำเป็นแหล่งท่องเที่ยวแล้วฝั่งเขาพริกมีโครงการต่อเนื่องหรือไม่ เช่น อาจจะทำเป็นเรือนไทยโบราณที่นักท่องเที่ยวจะต้องข้ามไปชม หรือทำเป็นแหล่งชุมชนที่มีความน่าสนใจ ต้องสร้างเป็นแหล่งท่องเที่ยวขึ้นมา หากเป็นเพียงกระเช้าลอยไปไม่น่าจะคุ้มค่า คือต้องสร้างแหล่งท่องเที่ยวเขาพริก เพื่อรองรับการเดินทางของนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางจากฝั่งมิตรภาพ แต่อ้อมไปค่อนข้างไกล อาจจะใช้วิธีมาจอดรถที่ลำตะคองแล้วข้ามด้วยกระเช้าลอยฟ้า และกระเช้าลอยฟ้าต้องไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ทำอย่างไรนักท่องเที่ยวจะไม่ไปทิ้งขยะ หรือสิ่งของลงมา ต้องป้องกัน ฉะนั้นกระเช้าลอยฟ้าคุ้มค่าก็ต่อเมื่อมีกิจกรรมรองรับอยู่ฝั่งเขาพริก ทำเป็นชุมชนขึ้นมาใหม่หรือเป็นชุมชนท่องเที่ยว ข้ามไปแล้วต้องมีแหล่งซื้อสินค้า หรือแหล่งเรียนรู้เพื่อทำให้ยั่งยืน ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก หากไม่คุ้มค่าก็ไม่น่าทำ หากจะทำ ต้องทำให้ใหญ่ ส่วนสกายวอล์คจะเน้นเรื่องกระจก ซึ่งทั้ง ๒ กรณีต้องมีหน่วยงานที่ตั้งขึ้นมาเพื่อรองรับ บริหาร จัดการ และดูแล เพราะเรื่องความปลอดภัยมีความสำคัญมาก ต้องตั้งหน่วยงานของจังหวัดขึ้นมาเพื่อดูแลโดยเฉพาะ และต้องดูแลเรื่องระบบความปลอดภัย เพราะหากเกิดปัญหาขัดข้องหรือเกิดอุบัติเหตุขึ้นมาจะลำบาก หากสร้างจุดเด่นหรือสัญลักษณ์อยู่ที่ลำตะคอง เพื่อสร้างเป็นจุดถ่ายภาพ อาจจะมีแมวสีสวาดหลายๆ ตัว ที่มีท่าทางที่แตกต่างกันกระจายอยู่ เพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถถ่ายภาพได้เป็นระยะๆ ซึ่งลงทุนไม่มาก ผมเห็นด้วยนะ แต่มีข้อแม้คือ จะต้องสร้างแหล่งท่องเที่ยวบริเวณเขาพริก ให้สามารถเดินทางไปท่องเที่ยวได้ และต้องมีหน่วยงานที่จะมาบริหารจัดการทั้งกระเช้าลอยฟ้าและสกายวอล์ค ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเขาจะสร้างอะไร ต้องรอดูผลการศึกษาต่อไป”

นายหัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฏ กล่าวท้ายสุดว่า “ที่สำคัญจะต้องดึงนักอนุรักษ์มาร่วมออกแบบด้วย เรื่องนี้จำเป็นมาก เพราะหากออกแบบมาแล้วส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ชาวบ้านก็ไม่ยอม หรือเขียนวิพากษ์วิจารณ์ ก่อสร้างไม่ได้แน่ๆ ฉะนั้น การออกแบบโครงการต้องมีนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเข้ามาดูตั้งแต่แรก ไม่อย่างนั้นก็จะเกิดปัญหาในภายหลัง”

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๖ ฉบับที่ ๒๖๕๘ วันพุธที่ ๓๐ เดือนธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๓ - วันอังคารที่ ๕ เดือนมกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๔


969 1609